ชีวิตที่พอเพียง 4083. พัฒนาประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy)


 

นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๖  ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนได้ที่ (๑),  (๒)  (๓)  (๔) (๕)

มองภาพกว้าง ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือพัฒนาในประเทศตะวันตกตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ   และในประเทศตะวันตกยุคปัจจุบันก็มีการพัฒนาแนวความคิด    แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นประชาธิปไตยแบบแยกค่าย แข่งขัน เอาชนะ   เนื่องจากวัฒนธรรมปัจเจกนิยมและเสรีนิยม    เน้นการแข่งขันและยับยั้งชั่งใจซึ่งกันและกัน 

ในประเทศจีนเขาเอ่ยถึงประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือยุคเก่า ตั้งแต่ยุคก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จะเข้าปกครองประเทศในปี 1949    แต่ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือยุคใหม่เริ่มในปี 1979    และค่อยๆ เข้มแข็งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ     และเป็นรูปแบบหลักของประชาธิปไตยแบบจีน    ในขณะที่ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือของตะวันตกเป็นรูปแบบเสริม 

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือแบบจีนมีรากฐานมาจากลัทธิมาร์กซ์    อยู่บนแนวคิดของความรักชาติ  การรวมกลุ่ม และวัฒนธรรมประเพณีของจีน  มีการสนับสนุนและรับฟังร่วมกัน  มีความสามัคคีแต่แตกต่างกันได้  มีใจกว้าง และสนับสนุนการปรึกษาหารือ     

นัยยะในหนังสือ ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตก   ได้สร้างการแบ่งค่ายผลประโยชน์   มีการโจมตียับยั้งซึ่งกันและกัน   หรือแลกเปลี่ยนแบ่งปันผลประโยชน์    จึงเกิดกลไกจำกัดอำนาจ  และมีการตัดสินใจแบบหลายศูนย์ หลายระดับ   ส่งผลให้มีการลดทอนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร    “ในอีกด้านหนึ่ง เป็นเรื่องง่ายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของกลุ่มกับผลประโยชน์โดยรวม    ซึ่งส่งผลให้มีแนวโน้มนโยบายระยะสั้น   ไม่สามารถมีนโยบายระยะยาวได้    และเป็นการมุ่งผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก”   

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จึงรู้ว่าจีนมีหลายพรรคการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร จนปัจจุบัน   คำโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายโลกตะวันตกว่าประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์มีพรรคการเมืองเดียวนั้นจึงไม่จริง    ที่เป็นความจริงคือพรรคคอมมิวนิสต์ผูกขาดการเป็นรัฐบาล    โดยที่เขาเปิดกว้างรับฟังพรรคอื่น และรับฟังความเห็นต่าง มากขึ้นเรื่อยๆ   

เขาบอกว่า การปรึกษาหารือในการเมืองจีนมี ๓ ระดับ คือ (๑) ในการปกครองตนเองระดับรากหญ้า  (๒) ระดับนโยบายสาธารณะ  (๓) ปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยภายในพรรค          

ลักษณะเฉพาะที่โดเด่นของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือของจีนมี ๓ ประการคือ 

  1. มีต้นตอจากทฤษฎีและแนวปฏิบัติของแนวร่วมทางการเมือง    ที่จีนใหม่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ใช้และพัฒนาเรื่อยมา   
  2. มีการสืบหาและต่อยอดวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน    ที่มีมายาวนานในประวัติศาสตร์    ที่ให้คุณค่าของความสามัคคี และเคารพความแตกต่าง
  3. บูรณาการอยู่ในเศรษฐกิจระบบตลาด    ซึ่งเป็นของใหม่   และมีการพัฒนาควบคู่กันระหว่างเศรษฐกิจระบบบตลาด กับประชาธิปไตยแนวปรึกษาหารือ     

สองข้อแรกเป็นพลังแห่งอดีต  ข้อที่สามเป็นพลังแห่งปัจจุบันและอนาคต   

ขอขอบคุณ คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้ 

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๖๔

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 693166เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2021 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2021 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท