การศึกษากับความรุ่งโรจน์ของชาติ


 

บทสะท้อนคิด (reflection) ในบันทึกนี้เกิดขึ้นระหว่างอ่านหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในตลาดหนังสือช่วงนี้ คือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน ที่สาระสำคัญที่สุดคือการปกครองแบบประชาธิปไตยมีได้หลายแบบ   ไม่ใช่มีแค่แบบที่โลกตะวันตกกล่าวอ้างหรือโฆษณาเท่านั้น    แต่ผมเพิ่งอ่านได้ ๙๒ หน้า จาก ๕๒๐ หน้าเท่านั้น   จึงขอสะท้อนคิดในประเด็นที่หนังสือไม่ได้กล่าวถึง    คือเรื่องการศึกษากับความเจริญก้าวหน้าของชาติ   

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องการปกครอง ที่เชื่อมโยงกับระบอบการเมือง    และข้อความใน ๙๒ หน้าแรกของหนังสือบอกว่า การเมืองการปกครองของประเทศ เป็นสิ่งที่ ผุดบังเกิด (emerge) หรือวิวัฒนาการขึ้นมาจากองค์ประกอบด้าน สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์  ขนาดของประเทศ  จำนวนประชากร พัฒนาการของสังคม  และพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ก่อส่วนเกินทางเศรษฐกิจ    กระตุกให้ผมเถียง     เพราะเขามองประชากรเฉพาะด้านจำนวน   

ผมเถียงว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อบ้านเมืองคือคนหรือพลเมือง   ปัจจัยอื่นเป็นองค์ประกอบ   และแน่นอนว่าสภาพแวดล้อมส่งผลต่อคน หรือต่อคุณภาพของคน    แต่มนุษย์มีธรรมชาติสร้างสรรค์และก่อการเปลี่ยนแปลงให้แก่ธรรมชาติ    นำไปสู่ข้อเถียงของผมว่า    วิธีคิดของคนเมื่อสองร้อยปีก่อนไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญต่อการศึกษาในฐานะเครื่องมือพัฒนามนุษย์    ที่จะส่งผลต่อการเมืองการปกครองของประเทศในระบอบประชาธิปไตย     

ข้อเถียงของผมมาจากการค้นพบด้านประสาทวิทยาศาสตร์ และวิทยาการด้านการเรียนรู้   ในช่วงเวลา ๑๐ - ๒๐ ปีที่ผ่านมา    ที่บอกเราว่ามนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่สูงส่งในการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา     และการศึกษาหรือการเรียนรู้คือปัจจัยสำคัญในการหล่อหลอมคุณภาพพลเมือง    ให้พลเมืองเกิดพัฒนาการในมิติ ASKV และ competency อย่างซับซ้อน    เพื่อเป็นพลเมืองคุณภาพสูง   

A = attitude, S = skills, K = knowledge, V = values  ผสานเข้าด้วยกันเป็นสมรรถนะ (competency)    ประเทศต้องมีพลเมืองสมรรถนะสูง จึงจะเจริญได้อย่างยั่งยืน   

คำว่าเจริญในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเป็นประเทศมหาอำนาจ   แต่หมายถึงประเทศที่ผู้คนอยู่กันอย่างมีความสุข มีชีวิตที่ดี    มีความสามัคคีกลมเกียวกัน  ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาของประเทศ     และที่สำคัญ มีความเหลื่อมล้ำน้อย         

ในอุดมคติ ระบอบประชาธิปไตยดั้งเดิม มีเป้าหมายเพื่อเสรีภาพ  ภราดรภาพ  และเสมอภาค   แต่เราจะเห็นว่า โลกเราไม่ได้มีระบอบการปกครองที่สมบูรณ์แบบ   ต้องการฝีมือมนุษย์ที่เป็นพลเมืองในการปรับแต่งและพัฒนาระบอบการปกครองประเทศ และระบอบการเมืองให้สนองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และสนองการพัฒนาภาพรวมของประเทศ   

เราจึงต้องการคุณภาพของพลเมือง    และต้องการคุณภาพการศึกษา    ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ   นี่คือข้อสะท้อนคิดจากการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง 

ประชาธิปไตยที่ดีเกิดขึ้นไม่ได้ หากพลเมืองคุณภาพต่ำ   พลเมืองมีคุณภาพสูงไม่ได้ หากการศึกษาคุณภาพต่ำ 

  ขอขอบคุณ คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้ 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.ย. ๖๔

         

หมายเลขบันทึก: 692689เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2021 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2021 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การปกครองที่ดีคือไม่ปกครองการศึกษาที่ดีคือแต่ละคนมีองค์ความรู้ของตัวเองความเสมอภาคคือการไม่มีชนชั้น ซึ่งแต่ละคนรับผิดชอบหน้าที่ตัวเอง(ในอุดมคติ)

ตอนแรกก็เปิดโลกทัศน์แล้วครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท