ชีวิตที่พอเพียง 4089. สิทธิในมุมมองสังคมนิยม


 

นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๗  ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนหน้านี้ได้ที่  (๑),  (๒)  (๓)  (๔) (๕) (๖)

สาระในหนังสือบทที่ ๖ ทำให้ผมเลื่อมใสว่า จีนมีภูมิปัญญาตีความสิ่งที่เรียกว่าสิทธิตามแบบของตน    ไม่เชื่อตามฝรั่ง    ที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน    คือมนุษย์มีสิทธิเหนือสิ่งอื่นๆ ทั้งปวง    ที่เป็นแนวคิดสุดโต่งแบบหนึ่ง    และหลายครั้งฝรั่งใช้ลัทธินี้เล่นงานประเทศอื่น ที่ไม่ดำเนินตามที่ตนกำหนด   แต่จีนไม่สนใจ   น่านับถือจริงๆ   

สิทธิแบบจีน (ตามที่อธิบายในหนังสือเล่มนี้) ไม่ได้ติดตัวมากับคน    เป็นสิ่งที่ได้จากสังคม ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตามธรรมชาติ   ตรงตามแนวลัทธิสังคมนิยมเผงทีเดียว   ซึ่งตรงกันข้ามกับสิทธิในลัทธิเสรีนิยม ที่ถือว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับสิทธิที่เกิดจากความเป็นมนุษย์ เป็นเสรีชน    ไม่มีใครถูกใครผิด เพราะต่างก็เป็นสมมติ หรือหลักการที่มนุษย์สร้างขึ้น   

เนื่องจากสิทธิของประชาชนจีนมาจากสังคม   ทางการจีนจึงพัฒนาสิทธิแบบค่อยเป็นค่อยไป    โดยเชื่อว่า ไม่เป็นการพัฒนาแบบเป็นเส้นตรง    เพราะเป็นระบบที่ซับซ้อน   

จีนใช้หลักการว่า สิทธิของประชาชนเกิดจากปัจจัยทางประวัติศาสตร์   แต่ละประเทศต่างก็มีประวัติศาสตร์ของตน   การพัฒนาสิทธิพลเมืองจึงเลียนแบบกันไม่ได้   จีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าห้าพันปี   จึงมีที่มาของเรื่องสิทธิที่ซับซ้อนตามแบบจีน    อังกฤษก็มีประวัติศาสตร์ของตน และมีที่มาของเรื่องสิทธิตามแบบของตนยาวนาน ๗๐๐ ปี   

ข้อความในหน้า ๓๑๙ – ๓๒๑  ชี้ให้เห็นว่า  ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ลอกเอาระบบประชาธิปไตยของยุโรปและสหรัฐอเมริกามาใช้แบบไม่ลืมหูลืมตา (ไร้ปัญญา)    ผลคือเกิดการรัฐประหารและสังคมวนเวียนอยู่ในความยากจน และความแตกต่างทางชนชั้น   ต่างจากจีนที่สามารถพัฒนาก้าวกระโดดได้   เพราะกล้าคิดสร้างระบบของตนเอง  จากการเรียนรู้ของตนเอง    ซึ่งบางช่วงก็ลองผิด และต้องประสบความยุ่งยาก    ผมจึงเกิดคำถามว่า ประเทศไทยตกอยู่ในกลุ่มประเทศตามที่เขาพูดถึงหรือไม่   

ผมชอบที่เขาบอกว่า สำนึกแห่งสิทธิเป็นเหรียญสองด้าน   ด้านเป็นคุณ ทำให้ผู้คนมีความกระตือรือร้น    ด้านที่เป็นโทษ ทำให้เป็นคนมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตน มุ่งแต่จะเรียกร้องผลประโยชน์    จีนจึงมองเรื่องการพัฒนาสิทธิว่าต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างเป็นวิทยาศาสตร์   คือหาทางทำให้สองหน้าของเหรียญเดียวกันเป็นหนึ่งเดียวกัน   ประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งเดียวกัน    ประโยชน์เฉพาะหน้ากับประโยชน์ระยะยาวเป็นสิ่งเดียวกัน    ฟังดูเป็นอุดมคติ แต่เมื่อปฏิบัติแบบทำไปปรับไป ก็บรรลุได้จริง   

ผมตีความว่า สังคมต้องมีการจัดการเรื่องสิทธิ   เพื่อให้ส่งผลด้านบวก และควบคุมผลด้านลบ                      

ขอขอบคุณ คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้ 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ย. ๖๔

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 693326เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2021 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2021 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท