ชีวิตที่พอเพียง 4098. เส้นทางประชาธิปไตยโลก


  

นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๙  ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนหน้านี้ได้ที่ (๑),  (๒)  (๓)  (๔) (๕)  (๖)   (๗)  (๘)   

สาระในหนังสือบทที่ ๘ การศึกษาเปรียบเทียบประสบการณ์ประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ    บอกเราว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่หยุดนิ่งตายตัว   แต่มีการพัฒนาปรับตัวอยู่ตลอดเวลา   แต่ละประเทศต่างก็มีเส้นทางและรูปแบบของตนเอง     โดยที่หากพลาด พัฒนาการของประชาธิปไตยก็กลายเป็นระบอบเผด็จการได้    และเกิดบ่อยเสียด้วยในประเทศกำลังพัฒนา   

การพัฒนาประชาธิปไตยเป็นปรากฏการณ์สากลของการพัฒนาการเมืองของมนุษยชาติ    เป็นผลผลิตของการพัฒนาสังคม    เชื่อมโยงกับพัฒนาการทางสังคมของการพัฒนาอุตสาหกรรม  การพัฒนาเมือง และการพัฒนาความทันสมัย        

หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่ ๓ ประการคือ (๑) การคุ้มครองสิทธิ (๒) การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ  (๓) การใช้อำนาจตัดสินใจด้วยเสียงส่วนใหญ่   

สรุปยุคการพัฒนาประชาธิปไตยโลกได้เป็น ๔ ยุค  คือ ยุค ๘๐๐ ปี   ยุค ๔๐๐ ปี  ยุค ๒๐๐ ปี   และยุค ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา    เริ่มจากยุค ๘๐๐ ปี อังกฤษมีรัฐธรรมนูญ Magna Carta  ในปี ค.ศ. 1215    ยุค ๔๐๐ ปี ก็เริ่มที่อังกฤษ โดยการปฏิวัติในปี 1688    ช่วง ๔๐๐ ปีแรกในอังกฤษเต็มไปด้วยการต่อสู้แย่งชิงทางการเมืองระหว่างเจ้ากับขุนนาง    แม้จะมีรัฐธรรมนูญแล้ว   

ยุค ๒๐๐ ปี เริ่ม ค.ศ. 1848 เกิดการปฏิวัติของชนชั้นกลางในยุโรป    และสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา (1860)      ก้าวสู่ประชาธิปไตยทุนนิยม     โดยที่ในช่วง ๒๐๐ ปีก่อนหน้า ได้เกิดประเทศสหรัฐอเมริกา (1776)   และเกิดการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส (1789)     ยุค ๑๐๐ ปี ก่อน เป็นช่วงที่ประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง     ซึ่งผมคิดว่า ทำให้นำสู่ความประมาท    คิดว่าระบอบประชาธิปไตยของตนเลอเลิศแล้ว    เกิด fixed mindset ว่าด้วยประชาธิปไตย    ไม่คิดพัฒนาต่อเนื่องไปอีก    หรือเขาพัฒนาอย่างลับๆ แต่เรียกร้องให้ประเทศอื่นเลียนรูปแบบหลักของเขา ที่จะเอื้อประโยชน์แก่เขา   

จีนจึงได้เปรียบ เพราะมี growth mindset ในเรื่องประชาธิปไตย   คิดหาวิธีการและหลักการที่ดีกว่าในบริบทของตนอยู่ตลอดเวลา   โดยไม่มีเจตนาส่งออกหรือบีบบังคับให้ประเทศอื่นคิดแบบตนอย่างประเทศมหาอำนาจโลก     

ในการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ปี 1789 ได้เกิดคำขวัญประชาธิปไตย ๓ คำคือ  เสรีภาพ  เสมอภาค  ภราดรภาพ    แต่ในทางปฏิบัติแล้ว หลักการที่ทรงคุณค่านี้ได้ค่อยๆ พัฒนาขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน    ดังจะเห็นว่าในสหรัฐอเมริกา พี่เบิ้มของประชาธิปไตยโลกในขณะนี้ ความเสมอภาคที่แท้จริงในสังคมก็ยังไม่เกิดแม้ในปัจจุบัน    และการให้สิทธิคนดำในการเลือกตั้งก็เพิ่งชัดเจนในทางปฏิบัติเมื่อราวๆ ห้าสิบปีมานี้เอง (๘) 

บทที่ ๘ ของหนังสือ บรรยายเส้นทางประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ไว้ค่อนข้างละเอียด ทั้งของยุโรป  สหรัฐอเมริกา และละเอียดที่สุดที่การล่มสลายของโซเวียตรัสเซีย    โดยส่วนที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผมคือ “โมเดลเอเซียตะวันออก”      

โมเดลเอเชียตะวันออกของการพัฒนาประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม    ที่หลายประเทศดำเนินการอย่างได้ผล    โดยที่ในบางช่วง ประชาธิปไตยถูกบิดไปในทางพฤติกรรมเผด็จการ   ไม่ว่าโมเดลใด ประชาธิปไตยไม่ได้หยุดนิ่ง    มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่ซับซ้อน    ที่อยู่บนฐานผลประโยชน์ และอุดมการณ์    เขามีข้อมูลของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกว่า   ประชาธิปไตยที่เริ่มต้นด้วยการสร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม     จะดำรงความเป็นประชาธิปไตยแท้อยู่ราวๆ ๑๕ ปี    หลังจากนั้นจะค่อนไปทางเผด็จการ 

นำไปสู่จุดอ่อนของประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งแบบเปิด เน้นการแข่งขัน   ที่ในที่สุดก็จะเผชิญจุดอ่อน ที่การเลือกตั้งต้องใช้เงินมากขึ้นๆ เรื่อยๆ    เกิดประชาธิปไตยซื้อเสียง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม    และเราจะเห็นว่าในยุคใหม่ มีการใช้ข้อมูลและสื่อเพื่อเอาชนะด้วยกโลบาย   ไม่ใช่เอาชนะกันด้วยนโยบาย     

ขอขอบคุณ คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้ 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ก.ย. ๖๔

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 693629เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2021 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2021 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท