ใช้อุเบกขาอย่างไรใจจึงจะสุข ?


การที่ผู้บริหารมีอุเบกขา วางตัวเป็นกลาง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพาะอาจจะทำให้เสียการปกครอง หรือ เสียความเป็นผู้มีความยุติธรรมของผู้บริหารเนื่องจากอาจจะถูกเพ่งเล็งว่าขาดความยุติธรรม ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จะละเลยไม่ได้ในการแสดงออกของผู้บริหาร เพราะถ้าวางตัวไม่ถูกอุเบกขาธรรม อาจจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตัวเราได้ จำต้องใช้อุเบกขาธรรม ให้ถูกต้องเหมาะสม จึงจะเกิดสุข

ใช้อุเบกขาอย่างไรใจจึงจะสุข ?

 

ใช้อุเบกขาอย่างไรใจจึงจะสุข ?

ดร. ถวิล  อรัญเวศ

อุเบกขา เป็นธรรมข้อหนึ่งใน พรหมวิหาร 4 ซึ่งเป็นหลักธรรมสำหรับผู้บริหาร ผู้เป็นใหญ่ หัวหน้าหน่วยงาน หรือผู้นำองค์กร พรหมวิหาร 4 คือ

เมตตา ความรัก ความปรารถนาจะให้เป็นสุข

กรุณา ความสงสาร เป็นห่วงเป็นใยต่อผู้ใต้บังคับบัญชา

มุทิตา ความพลอยยินดี รู้จักแสดงความยินดีชื่นชมเมื่อคนในหน่วยงานประสบความสำเร็จได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งหรือมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และ

         อุเบกขา  คือวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

บางคนอาจจะคิดว่า อุเบกขา คือวางเฉย  นิ่งเฉย ไม่ใยดี หรือนิ่งอยู่เฉย ๆ จึงทำให้ความหมายที่แท้จริงของอุเบกขาผิดเพี้ยนไป ซึ่งส่งผลทำให้มองคำสอนของศาสนาผิดไปด้วย  และซ้ำร้ายยังมองว่า อุเบกขาและธรรมที่มีอุเบกขาเข้าไปเกี่ยวข้องนี้ว่า เป็นส่วนที่ทำอะไรไม่ได้  ได้แต่นิ่งเฉย ไม่ปรากฏผลใด ๆ ทำให้หลายคนปฏิเสธไม่ยอมรับการใช้อุเบกขา  เพราะมองดูว่า เห็นแก่ตัว ไม่ทำอะไรเลย เพราะวางเฉย อยู่เฉย ๆ ไม่มีส่วนช่วยเหลืออะไร

คำว่า วางเฉย นิ่งเฉย  เฉยเมย  หรือ อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ไม่ทำอะไร  ในภาษาบาลีใช้คำว่า  ตุณฺหี (ให้อ่านว่า ตุณฮี นะครับ เพราะภาษาบาลีไม่เสีย ห.หีบ ต้องอ่านเป็นเสียง ฮ.) หรือ

ตุณฺหีภาวะ ทั้งสองคำนี้ แปลว่า นิ่งเฉย  วางเฉย  เฉยเมย หรือ  อยู่นิ่ง ๆ เหมือนกัน ในการนำอุเบกขา ไปใช้ คือเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้นำคนในองค์กร ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพราะมิเช่นนั้น จะทำให้เสียความเป็นกลาง หรือเสียความเป็นผู้นำได้

          เป็นผู้ใหญ่หรือเป็นผู้นำ ต้องแยกแยะ และพยายามทำให้บุคคลสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายสามารถเข้าอกเข้าใจกันได้ และไม่ทะเลาะกัน นี่แหละคือความเป็นผู้มีอุเบกขา วางตัวเป็นกลาง เหมือนกับที่ว่า เป็นกลางทางการเมือง โดยเฉพาะข้าราชการ ผู้ปฏิบัติ จะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง มิเช่นนั้น จะถือว่าผิดวินัยข้าราชการก็ได้

         อุเบกขา จึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าอยู่ในสถานการณ์จะช่วยอะไรไม่ได้ เพราะบางครั้ง ผลที่เกิดอาจเกิดแต่กรรมของคนนั้น ๆ เอง เช่น ถ้าเข้าข้างคนผิด  ก็ถือว่า ไม่มีอุเบกขาธรรม แต่ถ้าได้รับคำตัดสินจากผู้มีอำนาจหรือศาลสถิติยุติธรรมแล้ว จะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม นี้คือการนำอุเบกขาไปใช้ตามนัยของหลักธรรม

          การที่ผู้บริหารมีอุเบกขา วางตัวเป็นกลาง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพาะอาจจะทำให้เสียการปกครอง หรือเสียความเป็นผู้มีความยุติธรรมของผู้บริหารเนื่องจากอาจจะถูกเพ่งเล็งว่าขาดความยุติธรรม ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จะละเลยไม่ได้ในการแสดงออกของผู้บริหาร เพราะถ้าวางตัวไม่ถูกอุเบกขาธรรมอาจจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตัวเราได้ จำต้องใช้อุเบกขาธรรมให้ถูกต้องเหมาะสม

           การใช้อุเบกขา จึงอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม ถูกต้อง และเหมาะกับสภาพแห่งผลของกรรมแต่ละบุคคลที่ได้สร้างสมมาไม่เหมือนกัน ไม่เช่นนั้นอาจจะเข้าทำนองที่ว่า “เอ็นดูเขา เอ็นเราอาจขาดได้”


 


 


 


 

 


 

หมายเลขบันทึก: 693625เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2021 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2021 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท