การศึกษาทั่วไปกับการพัฒนามนุษย์


 

หนังสือ การศึกษาทั่วไปกับการพัฒนามนุษย์ จัดพิมพ์โดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อปี ๒๕๕๒  จากปาฐกถาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เรื่อง การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต หรือ การศึกษาเพื่อสร้างผลผลิต เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๘ ที่ทบวงมหาวิทยาลัย (ในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง วิชาศึกษาทั่วไปของการศึกษาระดับปริญญาตรี)     และเรื่อง ศิลปศาสตร์แนวพุทธ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๒  ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    ทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนามิติของความเป็นมนุษย์   

อ่านแล้วมองเห็นความคิดของคนในวงการศึกษาเมื่อสามสิบปีก่อน   ที่มองเป้าหมายหลักของการศึกษาที่การมีอาชีพหรือมีงานทำเป็นหลัก ผ่านการมีปริญญาหรือมีวุฒิ  ส่วนการมีปัญญาแท้จริงและเป็นคนดีเป็นเรื่องรองหรือของแถม   จึงมีการแยกวิชาการศึกษาทั่วไป กับการศึกษาวิชาชีพ

เดี๋ยวนี้เราไม่มองอย่างนั้นแล้ว    เรามองว่า การศึกษาต้องเอื้อให้คนได้รับการพัฒนาทุกด้านไปพร้อมๆ กัน    ตรงกับที่พระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้บรรยายไว้    ว่าการศึกษามีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เป็นคน เก่ง ดี และมีความสุข   ที่สมัยนี้บอกว่าเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาคือ สุขภาวะ (well-being) ของบุคคล สังคม และโลก   

การศึกษาสมัยใหม่ มุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณค่า    บูรณาการกันเป็นการพัฒนาสมรรถนะ สู่ความเป็นคนเก่ง ดี มีความสุข   ไม่ว่าเรียนด้านไหน ระดับใด ต้องเรียนให้ได้การพัฒนาครบด้าน (holistic) เช่นนี้เสมอ

 ทำให้ผมหวนคิดถึงคณะกรรมการวางแผนจัดตั้งวิทยาเขตศาลายาของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี ๒๕๑๔   มี ศ. นพ. กษาน จาติกวนิช รองอธิการบดี เป็นประธาน,  ศ. นพ. สวัสดิ์ สกุลไทย์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย เป็นรองประธาน, กรรมการมี ศ. ดร. กำจร มนุญปิจุ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์, ศ. นพ. ประเวศ วะสี, ศ. ดร. อมร รักษาสัตย์, ผมเป็นกรรมการและเลขานุการ    ชักชวนกันไปกราบท่านพุทธทาส เพื่อขอคำแนะนำว่า ควรจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยอย่างไรดี

เท่าที่ผมจำได้ ท่านบอกว่าการศึกษาที่ใช้กันอยู่เป็น “การศึกษาหมาหางด้วน” คือเป็นไปเพื่อเพิ่มพูนกิเลสตัณหา     ขาดมิติด้านการเรียนรู้ด้านใน เพื่อให้มีปัญญารู้เท่าทันกิเลส ไม่ตกเป็นเหยื่อ   

เวลาผ่านไป ๕๐ ปี   บัดนี้ การศึกษาที่ดีของทั้งโลกหันเหมาทำอย่างที่ปราชญ์ทั้งสองท่านของไทยสอนไว้   คือการศึกษาต้องเอื้อความงอกงามอย่างเป็นองค์รวม ทั้งปัญญาภายนอก และปัญญาภายใน 

บันทึกนี้เป็นการสะท้นคิดจากการอ่านหนังสือเล่มดังกล่าว     

ขอขอบคุณ อ. นพ. ปรีดา มาลาสิทธิ์ ที่มอบ พระเครื่อง (พระในเครื่องแสดงธรรม) ช่วยให้ผมเข้าถีงหนังสือเล่มนี้   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ต.ค. ๖๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 693628เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2021 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2021 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท