nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

​อ่านหนังสือ : The Boy in the Striped Pyjamas มิตรภาพซึ่งงอกงามขึ้นในสถานที่เหนือความคาดหมาย*


เด็กชายในชุดนอนลายทาง(The Boy in the Striped Pyjamas) บอกเล่ามิตรภาพของเด็กชายวัย ๙ ขวบ ๒ คน บรูโน ลูกชายนายทหารนาซีที่ฮิตเลอร์ส่งมาคุมค่ายเอาชวิตซ์ในโปแลนด์ กับชมูเอล เด็กยิวในค่าย

เมื่อพ่อของบรูโนถูกส่งไปทำงานที่ค่ายเอาชวิตซ์ ครอบครัวทุกคนต้องไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่นั่น บรูโนบอกว่าเขาเกลียดบ้านหลังนี้

จากหน้าต่างห้องนอนชั้นบนของบ้าน บรูโนเห็น "หมู่บ้านเล็กๆ ที่ดูแห้งแล้ง" อยู่ไกลๆ วันหนึ่งเขาเดินไปจนถึงเขตแดนที่กั้นด้วยรั้วลวดหนามสูง ที่นั่นเขาได้พบและสร้างมิตรภาพกับเพื่อนใหม่ ทุกบ่ายหลังเลิกเรียนบรูโนเดินไปที่นั่น นั่งลงคุยกับชมูเอลโดยมีรั้วสูงกั้นกลาง มิตรภาพงอกงาม บรูโนลืมบ้านแสนสุขที่เบอลิน

จุดพลิกผันของมิตรภาพบริสุทธิ์เกิดขึ้นในวันที่ชมูเอลถูกนำตัวไปทำงานที่บ้านบรูโน

หลังจากวันนั้นบรูโนแบกรับความรู้สึกผิดไว้เนิ่นนาน จนถึงวันที่ชมูเอลออกมานั่งรอที่ริมรั้วอีกครั้ง ในวันนั้นชมูเอลไม่มีร่องรอยความขุ่นเคือง มีเพียงความดีใจที่ได้พบบรูโนและความเศร้าสร้อยเช่นที่เขาเป็น

เมื่อชมูเอลเล่าว่า พ่อของเขาหายไป บรูโนอาสาลอดรั้วเข้าไปเพื่อช่วยตามหาในวันรุ่งขึ้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมอันรันทดที่ผู้อ่านต้องจินตนาการเอาเอง

หนังสือไม่บอกเล่าเหตุการณ์สังหารใดๆ แม้แต่อักษรเดียว ในวันที่เด็กชายสองคนจับมือกันแน่นบอกถึงมิตรภาพกับความรู้สึกอันบริสุทธิ์มิรับรู้เหตุการณ์โหดเหี้ยมเกินมนุษย์ที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดกับเขาทั้งสอง

"และแล้วห้องก็มืดสนิท แต่แม้ว่าจะเกิดความโกลาหลวุ่นวายตามมาด้วยวิธีใดไม่รู้ได้ บรูโนพบว่าตนเองยังคมกุมมือของชมูเอลอยู่ และไม่มีอะไรในโลกนี้จะทำให้เขาปล่อยมือนั้นไปได้" (หน้า ๑๙๙ - อันเป็นฉากจบของเรื่อง)

................................

การดูหนังเรื่องนี้ก่อนอ่านหนังสือเป็นผลเสียอย่างที่สุดเพราะขณะที่ตัวหนังสือผ่านตา ภาพในหนังก็ปรากฏขึ้นทีละฉาก เพราะจังหวะภาพในหนังเล่าเรื่องเรียงลำดับตามหนังสือ ยกเว้นฉากจบของเรื่องที่หนังเติมภาพให้เต็มและสะเทือนความรู้สึกผู้ชมอย่างรุนแรง

คาดเดาได้ไม่ยากว่า ผู้เขียน ตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้สำหรับเยาวชน ภาษาในการเล่าเรื่องจึงออกมาเรียบง่ายจากมุมของเด็กชายบรูโน

อยากแนะนำเด็กๆ และทุกท่านให้อ่านหนังสือเล่มนี้ เชื่อว่าจะกระตุ้นความสนใจให้ตามไปอ่านเรื่องราวฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่สอง

เป็นหนังสือที่ขัดเกลาจิตใจให้หลุดไปจากอคติทางเชื้อชาติ และอบอุ่นอ่อนโยนจากมิตรภาพ "ซึ่งงอกงามขึ้นในสถานที่เหนือความคาดหมาย".

จันทร์ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘

บันทึกเพิ่มเติม

เกี่ยวกับหนังสือ

* ชื่อบันทึกนี้คัดลอกมาจากคำโปรยบนปกหนังสือ

หนังสือ The Boy in the Striped Pyjamas เขียนโดย จอห์น บอยน์ นักเขียนชาวไอร์แลนด์ ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๔๙ แปลเป็นภาษาไทยชื่อ เด็กชายในชุดนอนลายทาง โดย วารี ตัณฑุลากร ด้วยสำนวนแปลที่อ่านไม่สะดุด จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน พิมพ์ครั้งแรกปี ๒๕๕๑ และ พิมพ์มาแล้ว ๔ ครั้ง

The Boy in the Striped Pyjamas แปลไปแล้ว ๔๖ ภาษาทั่วโลก

ถูกนำไปสร้างเป็นหนังชื่อเดียวกันในปี ๒๕๕๑

ฉันดูหนังเรื่องนี้ ๒ รอบ และเพิ่งอ่านหนังสือรอบที่ ๒ จบเมื่อสักครู่ ก่อนเขียนบันทึกโดยลืมไปแล้วว่าเขียนเรื่องนี้ไปแล้ว ๒ บันทึก!!

.............................

เกี่ยวกับ "เอาท์วิธ" (ตามที่บรูโนเรียก)

ค่ายกักกันยิวทั้งในเยอรมันและยุโรปประเทศอื่นมีกว่า ๓๐๐ แห่ง แต่ที่ใหญ่และเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ เอาชวิตซ์-เบียร์เคเนา (Auschwitz-Birkenau) เรียกสั้นๆ ว่า "เอาชวิตซ์" อยู่ในประเทศโปแลนด์ มีพื้นที่ ๕๐,๐๐๐ ไร่ ตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.๑๙๔๐ ปีที่สองของสงคราม นักโทษ ๑.๓ ล้านคน ถูกนำตัวมาที่นี่ ๑.๑ ล้านคนเป็นชาวยิว ถูกฆ่าโดยส่งเข้าห้องอบแก๊สพิษ ๑.๑ ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นยิว

บุคคลที่ถูกจารึกชื่อคู่กับค่ายนรกเอาชวิตซ์ ชื่อ นายแพทย์โจเซฟ รูดอล์ฟ เมนเกเล (Josef Rudolf Mengele, 1911-1979) ฉายาของเขาคือ "ทูตมรณะ"

ค่ายเอาชวิตซ์ ถูกปลดปล่อยโดยกองทัพรัสเซียเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ก่อนสงครามยุติ ๓ เดือน

ปัจจุบันค่ายเอาชวิตซ์ เป็นสถานที่ที่มีคนเข้าชมมากที่สุดในโปแลนด์.

……………………………..

เอกสารอ้างอิง

นฤนารท พระปัญญา. Hitler's War : กำเนิด จุดจบ และโศกนาฏกรรมของฮิตเลอร์. กรุงเทพ : สยามปริทัศน์ , ๒๕๕๗.

John Cornwell. นักวิทยาศาสตร์ ของฮิตเลอร์. (นภดล เวชสวัสดิ์ ผู้แปล). กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน , ๒๕๕๔.

หมายเลขบันทึก: 590351เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2015 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2015 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

...เคยดูนานมาแล้ว...จำได้ว่าเด็กสองคนนี้แลกเสื้อผ้ากันใส่...ตอนจบลูกนายทหารก็เดินอยู่ในแถวของผู้ที่จะเข้าห้องพ่นแก๊ส...

ยังไม่ได้ดูและยังไม่ได้อ่าน ต้องหามาอ่านแล้วล่ะครับ

ขอบคุณครับ

ขำได้ว่าเคยดูหนังตัวอย่างเรื่องนี้

น่าสนใจมากๆๆ

ชอบมากครับ ทั้งหนังสือ และหนัง จนแอบคิดว่า เราสองคนชอบอ่านและดูหนังเกี่ยวกับยิว...เหมือนกัน....อ่านไปร้องไห้และยิ้มพร้อมๆ กันครับ

...ไม่แน่ใจว่าในภาพยนตร์จะเป็นการพ่น Cyanide หรือรม gas นะคะคุณ nui ...การถ่ายทอดในภาพยนตร์อาจแตกต่างจากรายละเอียดในหนังสือ...แต่สะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายความสูญเสียที่ย้อนกลับมาถึงผู้ที่กระทำด้วยนะคะ...

ขอบคุณค่ะอาจารย์ Pojana Yeamnaiyana Ed.D.

ดูหนังจบดิฉันก็คิดแบบอาจารย์ค่ะว่ามันคือ "กรรม" ที่ย้อนกลับไปยังคนกระทำ ทำให้ชื่นชมคนคิดพล็อตเรื่อง แต่พอตัวละครเป็นเด็กไร้เดียงสานี่มันช็อคมาก

ในหนังเพิ่มฉากในห้องแก๊สพิษที่พ่นแก๊สไซโคลน-บี ลงจากส่วนบนของห้อง เป็นฉากสะเทือนขวัญค่ะ แต่ในหนังสือไม่มี

ห้องๆ หนึ่งฆ่าคนได้ครั้งละ ๑๕๐๐ คน ใช้เวลา ๑๕ นาที ปัญหาของนาซีคือการกำจัดศพมากกว่าการฆ่า

อ่านก่อน แล้วค่อยดูหนังนะคะคุณ พ.แจ่มจำรัส

หาไม่ยากทั้งหนังสือและหนังค่ะ

อาจารย์ขจิต ขจิต ฝอยทอง หาไม่ได้บอกนะคะพี่ไปแถวลิโด้ทุกเสาร์

ขอบคุณน้อง ทิมดาบ พี่ก็คิดแบบนี้ค่ะ เวลาอ่านบันทึกของน้องว่าเราน่าจะชอบอ่านแนวเดียวกัน

ประมาณนั้นจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณทุกท่านนะคะที่เข้ามาให้กำลังใจ

คุณ sr

ลุงวอ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

อาจารย์อร อร วรรณดา

คุณ วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์


ขอบคุณท่านที่แวะมาอ่านและให้กำลังใจค่ะ

อ. ธวัชชัย

คุณ aingfar

พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท