จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ยกระดับการศึกษาอิสลามผ่านการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางอิสลามศึกษา


ยกระดับการศึกษาอิสลามผ่านการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางอิสลามศึกษา

ผศ.ดร.จารุวัจน์ สองเมือง

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาแล้วในการนำเอาหลักคำสอนของอิสลามที่จำเป็นต้องสอนให้กับเยาวชนมุสลิมเข้าสู่ระบบโรงเรียน ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า อิสลามศึกษา โดยเป็นการสอนควบคู่ ร่วมกับการจัดการศึกษาหลักของชาติ การนำอิสลามศึกษาเข้ามาอยู่ในระบบโรงเรียนมีสาเหตุหลายประการ โดยในระดับประถมศึกษาจะมีสาเหตุสำคัญมาจากเพื่อลดภาระการเรียนของเด็ก เนื่องจากอิสลามศึกษาเดิมนั้นเป็นการจัดการศึกษาโดยชุมชนแยกต่างหากจากการจัดการศึกษาของรัฐ ทำให้เด็กๆ ต้องเรียนกัน 7 วันในแต่ละสัปดาห์ คือเรียนในโรงเรียนรัฐ 5 วันและเรียนอิสลามศึกษาในสถานศึกษาชุมชนอีก 2 วัน จากจุดเริ่มดังกล่าวจึงมีการจัดให้นำอิสลามศึกษาเข้ามาในโรงเรียน ในขณะที่ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้นเดิมทีสอนเฉพาะศาสนา เมื่อรัฐส่งเสริมให้นำวิชาสามัญเข้ามาสอนในโรงเรียน จึงมีการจัดรายวิชาอิสลามศึกษาควบคู่กับวิชาสามัญที่รัฐกำหนด

ถึงแม้บริบทสังคม ความต้องการในการจัดการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไป แต่บทบาทความสำคัญของการจัดการศึกษาอิสลามสำหรับเยาวชนมุสลิมไม่ได้เปลี่ยนตามไปด้วย แต่กลับยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากอิสลามเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของมุสลิมซึ่งต้องอาศัยการจัดการศึกษาเป็นเครื่องมือในการหล่อหลอมเยาวชนคนรุ่นหลังเพื่อสืบทอดต่อไป ประเด็นสำคัญจึงต้องมีการออกแบบการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทย์ของการจัดการศึกษาที่มีดุลยภาพระหว่างวิชาสามัญและวิชาอิสลามศึกษา ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางอิสลามอิสลามจะเป็นคำตอบหนึ่งที่จะทำให้เห็นทิศทางการพัฒนาการจัดการศึกษาอิสลามได้เป็นอย่างดี เนื่องจากหลักสูตรแกนกลางอิสลามศึกษาจะทำหน้าที่เป็นแผนแม่บทสำหรับอิสลามศึกษาในการเชื่อมโยงกับการจัดการศึกษาหลักของชาติ ขณะเดียวกันจะทำหน้าที่ในการสร้างการยอมรับในระหว่างประเทศ ซึ่ง ณ ปัจจุบันการสร้างการยอมรับการจัดการศึกษาอิสลามระหว่างประเทศนั้นทำได้เป็นรายสถาบันไม่สามารถสร้างให้เป็นมาตรฐานรวมของประเทศได้

จุดเด่นประการหนึ่งของการจัดทำหลักสูตรแกนกลางอิสลามศึกษาคือ การเปิดโอกาสให้แต่ละโรงเรียนสามารถสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการอิสลามศึกษาของตนเองได้ ทำให้โรงเรียนมีช่องทางสร้างความโดดเด่น สร้างอัตลักษณ์จากการออกแบบรายวิชาและการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเองได้ หลักสูตรแกนกลางจะไม่ใช่แม่พิมพ์เดียวสำหรับให้ทุกโรงเรียนดำเนินการ แต่จะเป็นเพียงการกำหนดมาตรฐานหลักขั้นต่ำไว้ โดยโรงเรียนสามารถเสริมแต่งได้ตามศักยภาพของตนเอง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียน

แต่ทั้งนี้การจะทำให้หลักสูตรอิสลามศึกษามีความเป็นเอกภาพ ทุกฝ่ายให้การยอมรับนั้นเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อความสำเร็จในการนำไปใช้จริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากในปัจจุบันการจัดการศึกษาอิสลามศึกษามีอยู่ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ มีหลักสูตรที่นำไปใช้ในการจัดการศึกษาอยู่มากมายจากหลายหน่วยงาน องค์กรที่รับผิดชอบ ถึงแม้หลักสูตรส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ขณะเดียวกันการกำหนดช่องทางการเชื่อมต่อ เทียบโอนการศึกษาในแต่ละระบบและในแต่ละช่วงชั้นก็จะกลายเป็นเงื่อนไขในการสร้างการยอมรับต่อหลักสูตรแกนกลางอิสลามศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งความท้าทายของหลักสูตรแกนกลางอิสลามศึกษาคือ หลักสูตรจะต้องสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ หลักสูตรจะต้องเอื้อให้เกิดการบูรณาการการจัดการเรียนรู้ ทั้งการบูรณาการภายในรายวิชาอิสลามศึกษา หรือการบูรณาการระหว่างวิชาศาสนากับวิชาสามัญ ซึ่งการบูรณาการจะเป็นคำตอบหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งประเด็นนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งความคาดหวังว่าจะมีความแตกต่างระหว่างหลักสูตรแกนกลางอิสลามศึกษากับหลักสูตรอิสลามศึกษาฉบับอื่นๆ ที่มีมา หลักสูตรแกนกลางอิสลามศึกษาจะต้องสร้างมาตรฐานและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ไม่ผูกติดกับเนื้อหาวิชา แต่มุ่งกำหนดทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ชัดเจน และการกำหนดสาระการเรียนรู้ในแต่ละสาระวิชาที่มีความสอดรับระหว่างกัน ไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้การเรียน การค้นคว้าของผู้เรียนมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

การจัดการศึกษาเป็นสร้างอนาคตที่มั่นคงของสังคม และการกำหนดหลักสูตรจึงเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวในการสร้างอนาคต ด้วยเหตุนี้กระบวนการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางอิสลามศึกษาจึงจำเป็นต้องอาศัยมุมมองที่ยาวไกลจากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในสังคม

หมายเลขบันทึก: 590348เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2015 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2015 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาติดตามครับ

น่าสนใจ

มีอะไรพอช่วยได้บอกนะครับ

อย่าหายไปนาน

คิดถึงๆๆๆๆๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท