ทำไมยังให้หนูเรียนดนตรีไม่ได้ ตอน2 (จบ)


งานวิจัย

เจมส์ อัพฮอฟ ศาสตราจารย์ด้านศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยไรท์ ชาวอเมริกัน ได้ศึกษาทำงานวิจัยเปรียบเทียบเด็กที่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่ออายุ 6 ขวบ 3 เดือน กับ 7 ขวบ 3 เดือน แล้วพบว่า
1. เด็กที่อายุมากกว่ามักได้รับคะแนนสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมากกว่าเด็กที่วัยอ่อนกว่าในระดับชั้นเดียวกัน
2. เด็กที่อายุน้อยกว่ามีแนวโน้มที่จะสอบตกซ้ำชั้นสูงกว่าเด็กโตในระดับชั้นเดียวกัน
3. เด็กที่อายุน้อยกว่ามีแนวโน้มที่จะถูกจัดเป็นเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (LD) สูงกว่าเด็กโต
4. ปัญหาทางวิชาการของเด็กที่อายุน้อยซึ่งพัฒนาการยังไม่พร้อมเมื่อชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 มักดำรงต่อเนื่องไปตลอดวัยเรียน และบางครั้งสืบไปกระทั่งในวัยผู้ใหญ่
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่สำรวจนักเรียน 278 คนในโรงเรียนประถมนีแบรสกาเมื่อปี ค.ศ. 1985 พบว่าแม้เด็กที่อายุอ่อนกว่าจะมี IQ เฉลี่ยสูงกว่าเด็กที่โตกว่าเมื่อเริ่มเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เด้กกลุ่มที่อายุมากกว่าซึ่งมี IQ ต่ำกว่า กลับมีคะแนนการทดสอบทักษะพื้นฐานเทียบเท่าหรือสูงกว่าเด็กกลุ่มแรก นอกจากนั้น เด็กที่อายุอ่อนกว่ามักขาดสมาธิในการเรียนมากกว่าเด็กที่โตกว่าถึง 2-3 เท่า




ดนตรี
ในความเป็นจริง เราสามารถให้การศึกษาทางดนตรีแก่เด็กได้ตั้งแต่เด็กยังอยุ่ในวัยทารก โดยการร้องเพลงกล่อม เล่นดนตรีให้เด็กฟังให้บรรยากาศในบ้านเต็มไปด้วยเสียงดนตรี พ่อแม่หลายคนหวังจะสร้างเสริมความสามารถทางดนตรีให้แก่เด็กจึงนิยมให้ลูกเรียนดนตรีตั้งแต่เล็ก ทว่าที่จริงแล้วการสร้างการศึกษาดนตรีให้กับเด็กในช่วงต้นของชีวิตนั้น การที่เด็กสร้างดนตรีออกมาสู่โลกภายนอกไม่สำคัญเท่ากับการสร้างดนตรีให้เกิดขึ้นภายในตัวเด็ก

ไมเคิล โฮว นักจิตวิทยาได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมสาร์ท (หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆว่า โมสาร์ท) นักดนตรีที่เรายกย่องกันว่าเป็นสุดยอดอัจฉริยะบุคคลของโลก ไว้ในหนังสือชื่อ Genius Explained ว่า เมื่อพิจารณาตามมาตรฐานของนักประพันธ์เพลงวัยผู้ใหญ่แล้ว ผลงานในช่วงแรกของโมสาร์ทถือว่ายังไม่โดดเด่นนัก งานชิ้นแรกๆของเขาอาจจะเป็นฝีมือการประพันธ์ของบิดาของเขาด้วยซ้ำไป จากนั้นฝีมือของเขาก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง งานประพันธ์เพลงหลายชิ้นในวัยเด็กของโมสาร์ท อย่างเช่นผลงานคอนแชร์โต 7 ชิ้นแรกสำหรับเปียโนและวงออร์เคสตรา เกิดจากการเรียบเรียงผลงานของนักประพันธ์เพลงท่านอื่นเสียเป็นส่วนใหญ่ ในบรรดาผลงานคอนแชร์โตที่เป็นฝีมือการประพันธ์ของโมสาร์ทจริงๆนั้น ผลงานชิ้นแรกที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันว่าเป็นผลงานชิ้นเอก (อันดับ 9 K.271) ถูกประพันธ์ขึ้นตอนที่เขาอายุได้ 21 ปี ในวัยนั้นโมสาร์ทได้ประพันธ์คอนแชร์โตอย่างต่อเนื่องยาวนานมามากกว่า 10 ปีแล้ว

นักวิจารณ์ดนตรีชื่อ แฮโรลด์ โชนเบิร์ก กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆแล้ว โมสาร์ทอาจเป็นคนที่มี "พัฒนาการช้า" ด้วยซ้ำไป
เพราะโมสาร์ทประพันทธ์เพลงมานานกว่า 20 ปีก่อนที่จะสร้างสรรค์ผลงานชิ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดออกมาได้

เราอาจโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องการเรียนของโมสาร์ทได้ว่า หากสุดท้ายผลลัพธ์ของเขาก็ยังเป็นที่ยอมรับและยิ่งใหญ่ได้แม้โมสาร์ทอาจจะเริ่มเรียนดนตรีก่อนเกณฑ์อายุ
ตามที่สมควร หากแต่กระบวนการเรียนดนตรีของโมสาร์ทนั้น
เริ่มต้นที่บ้าน โดยมีบิดาที่เป็นนักดนตรีอยู่ก่อนแล้วเป็นผู้สอนและจัดสภาพแวดล้อมทางดนตรีให้
ตลอดจนถึงช่วงวัยรุ่นก็ใช้ชีวิตนักดนตรีแสดงดนตรีกับบิดาเป็นส่วนใหญ่ จัดได้ว่าโมสาร์ทได้รับการเรียนรู้นอกระบบการศึกษามาโดยตลอด
การเริ่มต้นเรียนดนตรีที่แท้จริงจึงควรเริ่มต้นจากภายใน ภายในตัวของเด็กๆ สภาพแวดล้อมทางดนตรีของครอบครัว ความรักในดนตรี ความกล้าแสดงออก ตลอดจนถึงบิดามารดาที่เอาใจใส่ในการรับรู้ดนตรีของลูก
การพาไปรับชมดนตรีที่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่จะทำให้เด็กๆประสบความสำเร็จในการเรียนดนตรี ได้มากกว่าความคาดหวังในการแข่งขันทางการเรียนดนตรี หรือเริ่มต้นเรียนอย่างรีบร้อน โดยไม่คำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญอื่นๆและผลเสียที่ตามมา



"ผู้ที่ก้าวอย่างละมุนละไมจะเดินได้ไกลกว่า"

สุภาษิตจีน

หมายเลขบันทึก: 590350เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2015 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2015 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท