หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เสียงจากนิสิต ...(คืออะไร-ไปทำอะไร)


นิสิตอาจจะไม่ใช่คนที่ตกผลึกในเรื่องที่จะไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้านเสียทั้งหมด จึงอยู่ในสถานะของการไปเรียนรู้ ทั้งเรียนรู้บริบทชุมชน เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านควบคู่ไปกับการเรียนรู้กระบวนการถ่ายทอดความรู้ของอาจารย์ตามแนวคิด “เรียนรู้คู่บริการ”



หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คืออะไร ?

 

             ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมไม่ได้ทำ BAR เหมือนเวทีอื่นๆ ที่หมายถึงการถามถึง “ความคาดหวัง” หรือ “สิ่งที่อยากได้” จากการเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้

หากแต่พลิกคำถามมาเป็น “ในมุมมองของนิสิต โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คืออะไร”

ครับ, ผมถามเช่นนั้นจริงๆ ถามเพื่อประเมินว่านิสิตที่เป็นแกนนำโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการงานที่กำลังจะไปทำ-หรือการงานที่ทำ (บ้างแล้ว) อย่างไรบ้าง




การถามทักเช่นนี้ ถือเป็นการประเมินสภาวะความเข้าใจของนิสิตได้เป็นอย่างดี ประเมินทะลุไปถึงกระทั่งกระบวนการที่อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักในแต่ละหลักสูตรว่าสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่นิสิตของตนเองอย่างไร มีการอธิบาย ทำความเข้าใจกี่มากน้อย หรือยังไม่ได้ขยับอะไรเลย หรือแม้แต่ลงมือทำงานแล้ว แต่ก็ไม่ได้สร้างความเข้าใจในเรื่องนี้แก่นิสิต

เช่นเดียวกับประเด็นว่า แท้จริงนั้น อาจารย์ชี้แจงทำความเข้าใจ (ปฐมนิเทศ) แล้ว แต่นิสิตก็เพิกเฉย ยังไม่ใส่ใจ-หรือใส่ใจ แต่ยังไม่ตกผลึก ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ผมวางหมุดหมายแห่งคำตอบไว้หลวมๆ เพียงแต่ตัดสินใจถามทักเช่นนั้น หลักๆ เพื่อกระตุ้นให้นิสิตแต่ละคนได้หันกลับมา “ทบทวนตัวเอง-ทบทวนในสิ่งที่กำลังทำ” ให้แน่นหนัก จริงจัง และจริงใจอีกรอบเท่านั้นเอง






ครับ และนี่คือส่วนหนึ่งในมุมมองของ “นิสิตที่มีต่อโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” (หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คืออะไร)


  • การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับชุมชน 
  • การเรียนรู้พัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม 
  • การเข้าไปพัฒนาชุมชน  
  • การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น  
  • การสำรวจข้อมูลชุมชน เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรม การศึกษาอาชีพ  
  • การสร้างองค์ความรู้ใหม่ร่วมกับชุมชนบนฐานการบูรณาการระหว่างความรู้จากมหาวิทยาลัยกับความรู้ของชาวบ้าน  
  • การไปเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน  




ครับ, นั่นคือมุมมองความคิดที่นิสิตมีต่อโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ซึ่งถือเป็นนโยบายเชิงรุกของภารกิจการบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จะเห็นได้ว่ามุมมองอันเป็นทัศนะเหล่านั้น สะท้อนถึงภาวะที่นิสิตมีความเข้าใจดีว่าโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คืออะไร สัมพันธ์กับการเรียนรู้ของนิสิตอย่างไร และสัมพันธ์กับภารกิจการเรียนรู้และการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไรอยู่ไม่ใช่ย่อย

จะมีบ้างที่นิสิตในบางส่วน (ซึ่งก็น้อยมาก) มองในมุมเชิงเดี่ยวแบบสมัยก่อนว่าโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนคือการไป “พัฒนาชุมชน” หรือไป “ถ่ายทอดความรู้” แก่ชุมชน โดยไม่ยึดมั่นในหลักคิดของการเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาร่วมกันตามแนวทาง “เรียนรู้คู่บริการ”






จะไปทำอะไร... จะไปเรียนรู้อะไร?

        

          ถัดจากนั้น ผมจึงขยับสู่คำถามใหม่อีก ๓ คำถาม แต่คำถามที่สำคัญๆ ที่ผมถามนิสิตนั้นคือ “มุ่งหวังที่จะได้อะไร หรือมุ่งหวังที่จะทำอะไรในกิจกรรมหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” ซึ่งคำถามที่ว่านี้เป็นการประเมินว่าถึงบทบาทและสถานะของนิสิตที่มีต่อโครงการโดยตรงว่าตนเองได้รับมอบหมายไปทำอะไร หรือนิสิต สนใจที่จะไปเรียนรู้อะไรจากโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน

ในอีกมิติคำถามนี้ ผมมีเจตนาประเมินว่านิสิตเข้าใจในสิ่งที่ตนเองกำลังจะไปทำ (เรียนรู้) แค่ไหน รวมถึงประเมินดูว่า โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของแต่ละหลักสูตร กิจกรรมยังคงเดิมจากที่เคยนำเสนอต่อกรรมการกลั่นกรองหรือไม่





และนี้คือส่วนหนึ่งที่นิสิตได้สะท้อนคืนกลับมา

  • การไปเรียนรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากดินโพน  
  • การไปเรียนรู้เรื่องสมุนไพรไทย  
  • การไปถ่ายทอดเรื่องการจัดการขยะในชุมชน   
  • การไปถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพสัตว์และบริการการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่สัตว์  
  • การไปถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดในสมอง  
  • การไปร่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน  
  • การไปเรียนรู้และร่วมขับเคลื่อนการผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวอินทรีย์  
  • การไปประเมินสุขภาวะ/โภชนาการอาหารของนักเรียน   
  • การไปอบรมทักษะการใช้คอมพิวเตอร์แก่โรงเรียนและสร้างเว็บไซด์   
  • การไปจัดห้องสมุดการเรียนรู้แก่โรงเรียนและชุมชน   
  • การไปอบรมความรู้แก่มัคคุเทศก์น้อยในชุมชน   
  • การไปสอนทักษะการใช้ภาษาเกาหลี
  • การไปจัดค่ายการเรียนรู้คณิตศาสตร์แก่เด็กนักเรียน  
  • การไปเรียนรู้เรื่องกฎหมายและวัฒนธรรมการดูแลป่าของชาวบ้าน  
  • การไปเรียนรู้บริบทชุมชนและหลักการดำรงชีวิตของชาวบ้าน  
  • การไปเขียนสารคดีชีวประวัติปราชญ์ในเขตทุ่งทุลาร้องไห้  
  • การไปทำหนังสือและสื่อประชาสัมพันธ์ชุมชนเพื่อการเรียนรู้และการท่องเที่ยวของชุมชน  
  • การไปรวบรวมองค์ความรู้ของชุมชนในเขตทุ่งกุลาร้องไห้   
  • การไปศึกษาเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเรื่องโบราณคดีอีสานใต้  
  • การไปสอนหนังสือเด็กๆ ในชุมชน  
  • ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตกับชาวบ้าน   

ฯลฯ






นี่เป็นส่วนหนึ่งที่นิสิตสะท้อนออกมา  ทำให้ผมมองเห็นว่ากิจกรรมที่นิสิตกำลังจะไปทำมีอะไรบ้าง รวมถึงสิ่งที่นิสิตคาดหวังว่าจะไปเรียนรู้คืออะไรบ้าง  ซึ่งมีทั้งที่ชัดเจนในวิชาชีพโดยตรง  และมีทั้งที่นิสิตยังไม่ชัดเจน โดยส่วนหนึ่งอาจจำกัดด้วยบทบาทที่นิสิตไม่สามารถกำหนดได้เองทุกเรื่อง เนื่องจากโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คืองานบริการวิชาการแก่สังคม  นิสิตอาจจะไม่ใช่คนที่ตกผลึกในเรื่องที่จะไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้านเสียทั้งหมด จึงอยู่ในสถานะของการไปเรียนรู้  ทั้งเรียนรู้บริบทชุมชน เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านควบคู่ไปกับการเรียนรู้กระบวนการถ่ายทอดความรู้ของอาจารย์ตามแนวคิด “เรียนรู้คู่บริการ”

แต่อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าถึงแม้นิสิตจะไม่ใช่ผู้ที่ถ่ายทอดความรู้โดยตรง แต่จะเป็นผู้ช่วยอาจารย์อยู่ในเนื้องานเหล่านั้นอย่างไม่ต้องสงสัย  และนิสิตจะมีบทบาทในการออกแบบการเรียนรู้อื่นๆ หนุนเสริมเข้าไปอย่างแน่นอน  ขึ้นอยู่กับว่านิสิตจะเห็นความสำคัญกับเวทีแห่งการเรียนรู้ตรงนั้นแค่ไหน   รวมถึงอาจารย์เห็นความสำคัญต่อการเรียนรู้โดยนิสิตเป็นศูนย์กลางแค่ไหน....

หรือกระทั่ง อาจารย์เข้าใจในแนวทางของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (CBL&PBL) – แค่ไหน   (ซึ่งผมเชื่อว่าอาจารย์รู้และเข้าใจดี แต่จะขับเคลื่อนได้แค่ไหน นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

แต่ที่แน่ๆ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คือกระบวนการปฏิรูปการเรียนการสอนที่มีพลัง  ห้องเรียนไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยอีกแล้ว  ผู้เรียนเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางการเรียนรู้ - เป็นการกำหนดบนหลักคิดร่วมระหว่างผู้เรียน ผู้สอนและชุมชน  รวมถึงการเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริง ... เรียนรู้ด้วยการทำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ  ฯลฯ

ถึงแม้ในบางโครงการฯ  จะยังไม่ตอบโจทย์ครบแบบ ๔ In ๑  ทั้งนี้ยังก็ปิเสธไม่ได้ว่าโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  คือกระบวนการเรียนรู้ใหม่ที่เป็นช่องทางแห่งการบ่มเพาะ  "นิสิตสู่การเรียนรู้และรับใช้สังคม"  (จิตสาธารณะ)  ได้อย่างไม่กังขา ..สอดรับกับปรัชญา (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)   เอกลักษณ์ (มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน)   และอัตลักษณ์ของการเป็นนิสิต "มมส"  (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน)  อย่างไม่ผิดเพี้ยน

...

เวที ลปรร.หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  (กลุ่มนิสิต)
๑๖  สิงหาคม ๒๕๕๗
ณ กองกิจการนิสิต มมส.

หมายเลขบันทึก: 574842เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2014 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

หน้าตาจริงจังนะครับนั่น

ระวังความดันขึ้นนะครับ ;)...

เอาภาพเด็ก ๆ มาฝาก ;)...

ครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

ประเภทจริงจัง จริงใจ...
ช่วงนั้นเป็นช่วงผ่อนพักตระหนักรู้
พลอยให้ต้องนั่งคุมระบบเสียงเอง
เนื่องจากพลพรรคทั้งปวงมีภารกิจ...

ฝากความระลึกถึงเด็กๆ  ด้วยนะครับ

มาร่วมชื่นชมโครงการดีๆเช่นนี้ ที่อยากให้ขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปค่ะ...

"จากประสพการณ์..ในชีวิต..ที่มีมา".. ทำให้เห็นได้ว่า(กับตัวเอง)...การเรียนรู้..การใช้ประโยชน์กับความรู้..(หากไม่ใช่เพียงเรียนรู้..เพื่อหาผลประโยชน์..แก่ตน.แต่ผู้เดียว..หรือเพียงปริญญา..เพื่อเป็นเพียงขวัญกำลังใจแด่ผู้ส่งเสีย)..การสร้างค่านิยามใหม่..ให้กับองค์ความรู่้การ..จัดสรรค์แบ่งปัน..ดึงความต่างระดับมาหารหาความเท่าเทียมกัน..ระหว่างเก่ากับใหม่..ไม่ยึดติดแต่เพียงทฤษฎี..หากปฏิบัติ..ควบคู่กันไป..ยอมรับ..กับ..ภูมิปัญญา..(ชาวบ้าน)...การศึกษาคือวงจรแห่งชีวิต..ไม่ใช่การเรียนรู้จบด้วยปริญญา..(ราคา..ของปริญญา..ที่เฟ้อไปกับค่าของเงิน..เยี่ยงปัจจุบัน)..น่าจะเป็นทางออกที่..น่าเป็นไปได้..ระหว่างผู้เรียน..ผู้สอน..ที่อ่อนล้าอยู่เวลานี้...กับผู้กำกับเวทีการศึกษาอยู่เวลานี้...

มาเป็นกำลังใจให้กับเวทีนี้..เจ้าค่ะ

.... น่าสนุก  กับการเรียนรู้นี้นะคะ

เริ่มต้นด้วยแนวคิดดี  ชีวีนิสิตก็ไปได้สวยแล้วค่ะ  ^_,^

หากน้อง  ๆ นิสิต สืบทอดกิจกรรมและความคิดดี ๆ นี้ต่อไป  เชื่อว่า  สังคมไทยจะน่าอยู่ขึ้นมากมายนะจ๊ะ

ครับ, พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ตอนนี้ หลายๆ โครงการกำลังขับเคลื่อนในระดับพื้นที่  และบูรณาการกลับมายังชั้นเรียนอีกรอบ
หลายโครงการ พัฒนาไปสุ่การงานวิจัย - แลบะแผนการพัฒฯาในระดับจังหวัด
กำลังคิดและวางระบบสู่การเปิดวิชานี้โดยตรงเหมือนกัน

ครับ คุณยายธี

ทั้งปวงนั้น เรายึดมั่น "เรียนรู้คู่บริการ"  เป็นหัวใจหลัก  อันหมายถึง  บูรณาการร่วมกันระหว่างความรู้ของมหาวิทยาลัยกับชุมชน  มิใช่การแยกส่วน หรือจัดกระบวนการให้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับวิทยาการต่างๆ จากมหาวิทยาลัย

หลายอย่างยังต้องปรับแก้ ต่อไปครับ
กระบวนการเรียนรู้แบบทำไปเรียนรู้ไป คือสิ่งที่เรากำลังเรียนรู้..

ขอบพระคุณครับ

ครับ พี่ Dr. Ple

ผมเองก็พยายามแทรกกิจกรรมให้รื่นรมย์ครับ
นำวีดีทัศน์มาประกอบคั่นเวลา - ให้ผ่อนพักตระหนักรู้...
ฯลฯ...

เสียดาย ไม่ได้ทำกระบวนการเชิงปฏิบัติอย่างที่ควรจะเป็น
แต่จากการประเมิน ก็ถือว่า สอบผ่าน 
นิสิตมีปฏิกริยาที่ดีกับการเรียนรู้
ครั้งต่อไป  คงมีเวลามากกว่านี้ ครับ

ครับ พี่หมอ ธิรัมภา

กระบวนการเหล่านี้
เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการไปสู่ชุมชน
,ได้แต่หวังว่า นิสิตจะนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
หรืออย่างน้อยก็มีแรงบันดาลใจในการที่จะเรียนรู้อย่างมีคุณค่า
ทั้งต่ตนเองและสังคม ครับ

ครับ คุณมะเดื่อ

กิจกรรมเหล่านี้  คือการเปลี่ยนห้องเรียนจากมหาวิทยาลัยไปสู่ชุมชน
กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้  คงช่วยให้นิสิตมีโลกทัศน์ที่ดีต่อการเรียนรู้และเติบโต
การได้ไปพบเจอสิ่งต่างๆ ในชุมชน  คงพอให้นิสิตหวนกลับทบทวนตัวเอง-ทบทวนบ้านเกิด
การได้ไปเผชิญสถานการณ์จริงในชุมชนและกิจกรรม  คงได้สร้างทักษะชีวิตหลายๆ อย่างได้เป็นอย่างดี ทั้งความเป็นทีม  การวางแผน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฯลฯ

ขอบคุณครับ

ชอบกิจกรรมแบบนี้

ได้ทำกิจกรรมดีๆมากเลย

นิสิตได้ทบทวนตัวเองจากกิจกรรมด้วย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท