บทเรียนการจัดตั้งคลินิกโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลชุมชน 30 เตียง (ตอนที่ 1)


บทเรียนการจัดตั้งคลินิกโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลชุมชน 30 เตียง (ตอนที่ 1)

1. คนไข้เข้าถึงบริการฉุกเฉินเร่งด่วนช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทั้ง ๆ ที่เราพยายามประชาสัมพันธ์มาโดยตลอด ทั้งกลุ่มที่เคยป่วยแล้ว และกลุ่มเสี่ยงสูง ให้รีบมาโรงพยาบาล ภายในเวลา 3.5 ชั่วโมง เมื่อมาช้า ก็เลยต้องเสียทรัพยากรในการดูแลตามมา

2.ถ้าระบบดูแลฉุกเฉิน Acute stroke ทำได้ดี จะเท่ากับพัฒนาระบบ emergency care อื่นๆ ตามไปด้วย เช่น บริหารจัดการอัตรากำลัง รถ และเครื่องมือได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ทีมฉุกเฉินเก่งขึ้น เพราะต้อง active ตลอดเวลา โดยรวมคนไข้ high risk อื่นๆ ก็จะปลอดภัยมากขึ้น

3.ควรมีทีมดูแล stroke (ที่เขาเรียกว่า สหสาขาวิชาชีพ) และต้องทำงานด้วยกัน จะต้องไม่แยกส่วนกันชัดเจน ทุกจุดควรมีส่วนร่วมในการดูแล เช่น พยาบาล ER Ward ต้องออกเยี่ยมบ้านด้วย เพราะความรู้และทักษะทั้งหมดที่ได้เรียนจากทุกทุกจุด จะทำให้ทีมเก่งขึ้นเรื่อยๆ และจะเกิดกระบวนการดูแลต่อยอดไปเรื่อย ๆ

4.คลินิกโรคหลอดเลือดสมอง ไม่จำเป็นต้องอลังการงานสร้าง แค่ให้มีคนรับผิดชอบ เป้าหมายหลัก น่าจะเป็น ทำอย่างไรให้คนไข้ปรับตัวให้เข้ากับโรค(ที่เกิดความพิการ) แล้วได้ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วยและญาติ เป็นเรื่องที่เรามักลืมนึก เรามักแค่ต้องการให้เดินได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เดินได้ก็สำคัญ แต่มีเรื่องที่ต้องทำก่อนหน้านั้นอีก เช่น การกิน และการงาน

5.คนไข้ stroke ไม่เท่ากับ ASA + Simvastatin ซึ่งหน้าที่หมอทุกคน ก็ต้องจ่ายยาตัวนี้อยู่แล้ว แต่ควรทำให้ครบถ้วน ทั้งหาและรักษาสาเหตุ, control comorbid, prevent complication/recurrent

6. เรื่องการฟื้นฟูสภาพ เป็นเรื่องของคนไข้และญาติที่ต้องช่วยกันทำต่อเนื่องที่บ้าน เพราะถ้าไม่ทำ มันก็ยากที่จะมี outcome ที่ดี โดยหน้าที่ของเราคือต้อง สร้างระบบให้เขาเข้าถึง rehab ให้ได้ และควรคุยกับนักกายภาพบำบัดว่า เป้าหมายเราคืออะไร เป้าหมายของเขาคืออะไร จัดความสำคัญตามลำดับ ก่อน-หลัง และให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

7.ควรนัดติดตามอาการทุกราย ไม่ว่าจะเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ ไม่ควรให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิต ตามมีตามเกิด และก่อนถึงวันนัด follow up ถ้ามีทีมไปเยี่ยมที่บ้าน จะได้ "ใจ" ผู้ป่วยไปเต็มๆ เราแคร์เขา เขาก็แคร์เรา เขาก็มีกำลังใจอยากมารอเราตั้งแต่เช้าตรู่ นั่งรอเราแม้จะกลับบ้านเที่ยงๆ บ่ายๆ ก็ไม่บ่น

8.ปัญหาการกิน การพูด การขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ ก็สำคัญไม่น้อยกว่าปัญหาอ่อนแรง บางครั้งคนไข้ก็มัวแต่สนใจเรื่องไม่มีแรงมากจนลืมไปว่า ปัญหาอื่นๆ ก็ต้องจัดการ หรือไม่บางคนก็มีปัญหากลืนไม่ได้ กลั่นปัสสาวะอุจจาระไม่อยู่ ก็เป็นหน้าที่ของหมอที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม และบอกให้คนไข้รู้ถึงระยะเวลาที่จะฟื้นตัว และแก้ไขให้ถ้าสามารถแก้ไขได้

9.คนที่สำคัญที่สุดของโรคนี้ น่าจะเป็น caregiver ชีวิตหลังจากป่วยจะดีขึ้นหรือแย่ลงขึ้นอยู่กับ "บุญเก่า" กับ "ผู้ดูแล" เนี่ยแหละ และอย่าลืมว่า depression ก็เป็นปัญหาที่พบบ่อยทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง และผู้ดูแลที่อยู่ดูแลทุกวันนี่แหละ อีกเรื่องที่อย่าลืมถามคือ ปัญหาคนไกล-คนใกล้ เป็นปัญหาที่ caregiver ต้องเผชิญ ก็ควรให้กำลังใจอยู่เรื่อยๆ

10.หมอเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่สำคัญ ถ้าไม่มีหมอ ก็ไม่เกิดการรักษา ถ้าหมอบอกให้ทำอะไร คนไข้ก็ทำ ญาติก็ทำ พยาบาลก็ทำ กายภาพบำบัดก็ทำ แต่ถ้าหมอไม่บอกไม่พูดอะไร คนไข้ก็ต้องรอผลบุญนำพา หรือไม่ก็ตามมีตามเกิดเท่าที่เขาจะขวนขวายได้

ไว้จะมาเล่าให้ฟังอีกครับ

คำสำคัญ (Tags): #stroke
หมายเลขบันทึก: 574837เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2014 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2014 08:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท