​คณะทำงานศึกษาแนวทางการช่วยเหลือคนพิการที่ไม่มีสถานการณ์ทะเบียนราษฎร : จุดเริ่มต้นแห่งความหวังของคนพิการไร้รัฐในประเทศไทย


คณะทำงานศึกษาแนวทางการช่วยเหลือคนพิการที่ไม่มีสถานการณ์ทะเบียนราษฎร

: จุดเริ่มต้นแห่งความหวังของคนพิการไร้รัฐในประเทศไทย

โดย นางสาวศิวนุช สร้อยทอง ผู้จัดทำรายงานบูรณาการองค์ความรู้สู่สังคม ภายใต้โครงการชายแดนไทยพม่าศึกษา

เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๗

-----------------------------------------
ที่มาของงานเขียน

-----------------------------------------

ด้วยวันนี้ (๑๙ ส.ค. ๕๗) ผู้เขียนมีโอกาสติดตามอาจารย์แหวว (รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร) เข้าร่วมประชุมคณะทำงานศึกษาแนวทางการช่วยเหลือคนพิการที่ไม่มีสถานะการทะเบียนราษฎร ครั้งที่ ๑/๒๕๕๗ ณ ห้องประชุม ชั้น ๓ APCD บ้านราชวิถี ถนนราชวิถี เขตราชวิถี กรุงเทพฯ และผู้เขียนได้เห็นประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับ “ข้อกฎหมายในการจัดการสิทธิคนพิการซึ่งไร้รัฐในประเทศไทย” ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และ “บทบาทอันสำคัญต่อประเทศไทยของคณะกรรมการชุดนี้”

ผู้เขียนจึงคิดว่าเป็นการดีที่จะเขียนบันทึกเพื่อเผยแพร่/แลกเปลี่ยนกับมวลมิตร และเพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปเขียนในรายงานบูรณาการองค์ความรู้สู่สังคม ภายใต้โครงการชายแดนไทยพม่าศึกษา ซึ่งผู้เขียนรับผิดชอบจัดทำรายงานอยู่นั่นเอง

-----------------------------------------
คณะกรรมการเหล่านี้เป็นใคร
?

-----------------------------------------

คณะกรรการนี้มีขื่อว่า “คณะทำงานศึกษาแนวทางการช่วยเหลือคนพิการที่ไม่มีสถานการณ์ทะเบียนราษฎร” ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยคำสั่งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ที่ ๑๖๙/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ซึ่งมีภารกิจในการ “จัดทำแนวทางในการส่งเสริมให้คนพิการซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากรัฐ และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและให้สัตยาบันไว้”

กล่าวโดยง่าย คือ “ยกร่างระเบียบแนวทางการให้ความช่วยเหลือคนพิการซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ตามมาตรา ๑๙/๑[๑] แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ นั่นเอง

-----------------------------------------
คณะกรรมการชุดนี้เป็นความหวังของคนพิการไร้รัฐอย่างไร
?

-----------------------------------------

เมื่อพิจารณาชื่อคณะกรรมการชุดนี้ และที่มาของคณะกรรมการ (มาตรา ๑๙/๑) ย่อมชัดเจนว่า คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นเพื่อเข้ามาจัดการปัญหา “คนพิการ” ซึ่ง “ไม่มีสถานะการทะเบียนราษฎร” นั่นหมายถึง คนพิการซึ่งตกอยู่ในความไร้รัฐ (statelessness) หรือคนพิการซึ่งไม่มีเอกสารประจำตัว/เอกสารพิสูจน์ตนใด ๆ (undocumented) หรือคนพิการซึ่งไม่ได้รับการรับรองในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลกใบนี้

ภารกิจของคณะกรรมการชุดนี้จึงเป็นการประกันอย่างชัดเจนว่า รัฐไทย พยายามอย่างยิ่งที่จะรับรองและส่งเสริมสิทธิของ “คนพิการทุกคน” ในประเทศไทย ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีสถานะเป็นราษฎรไทยหรือไม่ เขาเหล่านั้นก็จะไม่ตกหล่นจากการดูแลของรัฐไทย ข้อเท็จจริงเพียงว่าเป็น “มนุษย์ซึ่งประสบปัญหาความพิการ” ก็เพียงพอแล้วที่จะได้รับการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตามกฎหมายนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียกร้องเอกสารใด ๆ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ค.ศ. ๒๐๐๗ ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ และมีผลบังคับเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ นั่นเอง

ดังนั้น ระเบียบนี้จึงเป็นความหวังสำคัญของคนพิการหลายคนในประเทศไทย อาทิ น้องผักกาด (ดูเพิ่มเติม) น้องเก้วา (ดูเพิ่มเติม) น้องบิวตี้ (ดูเพิ่มเติม) น้องนาแฮ (ดูเพิ่มเติม) ซึ่งยังประสบปัญหาความไร้รัฐ เพราะไม่ได้รับการบันทึกรับรองทางทะเบียนราษฎร แม้กระทั่งว่าบางคนมีสิทธิในสัญชาติไทย เพราะมีพ่อไทยแม่ไทยก็ตาม และประการสำคัญคนเหล่านี้ก็ตกหล่นจากการรับรองและส่งเสริมสิทธิตามระเบียบภายใต้มาตรา ๑๙[๒]

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการหลายท่านยังคงมีความห่วงใยเป็นพิเศษถึงคนพิการบางกลุ่ม ซึ่งแม้ว่าจะมีสถานะทางทะเบียนราษฎร (กล่าวคือ เป็นราษฎรไทย) แต่ก็ไม่ได้รับการรับรองและส่งเสริมสิทธิตามมาตรา ๑๙ เนื่องจากระเบียบตามมาตรา ๑๙ นี้ ระบุว่าจะดูแลเฉพาะคนพิการซึ่งมีสัญชาติไทยเท่านั้น

-----------------------------------------
ความห่วงใยที่ส่งถึงคณะกรรมการชุดนี้ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
?

-----------------------------------------

  • §หลักการประการสำคัญในการยกร่างระเบียบ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกบท ย่อมต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายแม่บท คือ มาตราแห่งพระราชบัญญัตินั้น ๆ
  • §เมื่อกฎหมายแม่บทมาตรา ๑๙/๑ ระบุถึง “คนพิการซึ่งไม่มีสถานะการทะเบียนราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร” ร่างระเบียบฉบับนี้ก็ต้องพิจารณาถึง “คนพิการซึ่งไร้รัฐ” การนิยามความหมายไกลไปถึงคนพิการกลุ่มอื่น ๆ อาทิ คนพิการซึ่งมีใบสำคัญประจำคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว, คนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร, คนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร (บัตรเลข ๐) ซึ่งเป็น “คนพิการที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” ก็ย่อมขัดต่อกฎหมายแม่บทอย่างชัดแจ้ง
  • §เมื่อกฎหมายแม่บทมาตรา ๑๙ ระบุถึง “คนพิการ” แต่ระเบียบภายใต้มาตรานี้บัญญัติรับรองสิทธิเพียงคนพิการซึ่งมีสัญชาติไทย[๓]ย่อมเป็นการออกระเบียบที่ขัดต่อกฎหมายแม่บทอย่างชัดแจ้ง และขัดต่อหลักการห้ามเลือกปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ (ICCPR, CERD, CRPD)
  • §ดังนั้น การแก้ไขปัญหาควรแก้ที่สาเหตุ
  • (๑) เมื่อมาตรา ๑๙/๑ ระบุถึง คนพิการซึ่งไร้รัฐ การยกร่างระเบียบก็สมควรพิจารณาตามกรอบกฎหมายแม่บทที่วางไว้ และควรมีมาตรการในการส่งเสริมให้คนพิการเหล่านี้ได้รับการรับรองทางทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้อง เพราะความไร้รัฐย่อมส่งผลให้คนพิการยิ่งตกอยู่ในความด้อยโอกาสและเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • (๒) และเมื่อปรากฏว่ามีคนพิการซึ่งมีสถานะทางทะเบียน (ราษฎรไทย) จำนวนมากยังตกหล่นจากการรับรองสิทธิตามมาตรา ๑๙ เพราะระเบียบตามมาตรา ๑๙ ระบุว่าจะดูแลเฉพาะคนสัญชาติไทย ก็ต้องตระหนักว่าระเบียบตามมาตรา ๑๙ ขัดต่อกฎหมายแม่บท และเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ จึงย่อมเป็นภารกิจของกระทรวงพม.ที่ต้องแก้ไขระเบียบให้ถูกต้อง กล่าวคือ ทั้งคนสัญชาติไทย และคนต่างด้าวซึ่งเป็นราษฎรไทยเมื่อประสบความพิการก็ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิตามระเบียบนี้

[๑] มาตรา ๑๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ บัญญัติว่า “คนพิการซึ่งไม่มีสถานะการทะเบียนราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร อาจได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากรัฐ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ”

[๒]มาตรา ๑๙แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการได้รับสิทธิตามมาตรา ๒๐ คนพิการอาจยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการต่อนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัด ณ สำนักงานทะเบียนกลาง สำนักงานทะเบียนจังหวัด หรือสถานที่อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ในกรณีที่คนพิการเป็นผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือคนไร้ความสามารถหรือในกรณีที่คนพิการมีสภาพความพิการถึงขั้นไม่สามารถไปยื่นคำขอด้วยตนเองได้ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลหรือผู้ดูแลคนพิการ แล้วแต่กรณี จะยื่นคำขอแทนก็ได้ แต่ต้องนำหลักฐานว่าเป็นคนพิการไปแสดงต่อนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัด แล้วแต่กรณี ด้วย

การยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ การออกบัตร การกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการ การกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ การขอสละสิทธิของคนพิการ และอายุบัตรประจำตัวคนพิการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ในกรณีที่บัตรประจำตัวประชาชนสามารถบรรจุข้อมูลคนพิการได้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรประจำตัวคนพิการ

[๓] ข้อ ๖ แห่ง ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ การออกบัตร และการกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวคนพิการ การกำหนดสิทธิ หรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ และการขอสละสิทธิของคนพิการ และอายุบัตรประจำตัวคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๖ บัญญัติว่า “คนพิการซึ่งมีสัญชาติไทยไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่นอาจยื่นคำขอมีบัตรต่อสำนักงาน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด หรือหน่วยงานของรัฐ ตามที่ผู้อำนวยการหรือผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด แล้วแต่กรณี”

หมายเลขบันทึก: 574831เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2014 04:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2014 04:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท