บทความกิจกรรมบำบัดสำหรับผู้สูงอายุ : เปลี่ยนแต่กาย ใจเกินร้อย


           

             คุณยายแหวงอายุ 87 ปี อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆที่ประกอบไปด้วยลูกสาว 1 คน และหลานอีก 2 คน คุณยายสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว คุณยายเล่าให้ฟัง ว่า แต่ก่อนนั้นคุณยายเป็นหมอนวด โดยเอาวิชาความรู้สืบทอดมาจากญาติ แม่ของคุณยายนั้นเป็นหมอตำแย หรือที่เรียกกันว่า คนทำคลอด และหมอนวดชาวบ้าน คุณแม่ของคุณยายได้สอนและมีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา โดยคุณยายนวดมาประมาณ 20 กว่าปี รายได้จากการนวดเมื่อก่อนนั้นได้ ครั้งละ 20 – 30 บาท หรือในบางครั้งก็แล้วแต่ผู้รับบริการจะให้ แต่ในปัจจุบันคุณยายไม่ได้นวดแล้วเนื่องจาก สายตาพร่ามัวทั้งสองข้าง และไม่มีเรี่ยวแรงเหมือนเมื่อก่อน ทำให้คุณยายเลิกการนวดอย่างจริงจัง และใช้ชีวิตอยู่บ้าน โดยในการทำกิจวัตรประจำวันนั้น คุณยายได้ช่วยเหลือตนเอง ตั้งแต่อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร แต่มีหลานชายที่ช่วยดูแลความเรียบร้อยทั้งหมด และเป็นคนเตรียมกับข้าวให้คุณยาย 

           ในปัจจุบันนี้นั้นคุณยายมีการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต แบ่งได้ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ผิวหนังเหี่ยวย่น สายตาพร่ามัว เริ่มมองไม่เห็น มีการเสื่อมสลายของแคลเซียม ในกระดูก ข้อต่อต่างๆเสียความยืดหยุ่น ยากต่อการเคลื่อนย้ายตนเอง เดินได้แต่ช้า ขนาดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้ไม่มีเรี่ยวแรง หูเริ่มตึง  ความอยากอาหารลดน้อยลง การรับรส รับกลิ่นลดลง

การเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ การรับรู้ ผู้สูงอายุจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ยาก เพราะไม่มั่นใจในการปรับตัว มักยึดติดกับความคิดและเหตุผลของตนเอง การแสดงออกทางอารมณ์ น้อยใจลูกหลาน หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ความสนใจสิ่งแวดล้อมน้อยลง โดยจะสนใจเรื่องของตนเอง มากกว่า เรื่องของผู้อื่น

การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม ภาระหน้าที่และบทบาททางสังคมเปลี่ยนแปลงไป และลดน้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุห่างไปจากสังคม บทบาทในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป  จากผู้ที่ต้องดูแลครอบครัวนั้น เปลี่ยนเป็นผู้ถูกดูแลแทน บทบาทผู้มีรายได้เปลี่ยนเป็นผู้ไม่มีรายได้ เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายนั้นส่งผลให้ไม่มีกำลังในการทำงานหารายได้เหมือนแต่ก่อนและจากบทบาทเป็นผู้นำครอบครัวของคุณยายเปลี่ยนแปลงไปเป็น ผู้ตาม

           ซึ่งการไปพูดคุยกับคุณยายครั้งนี้ ดิฉันได้มีการตรวจประเมินความซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว คุณยายไม่มีสภาวะซึมเศร้า คุณยายเป็นคนอารมณ์ดี เนื่องมาจากได้รับความรักและการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างนี้ของคนในครอบครัว

           นอกจากนั้นได้ประเมินคุณภาพการนอนหลับของคุณยาย โดยใช้แบบประเมิน Thai version of the Pittsburgh Sleep Quality Index: (T-PSQI)   คุณยายเข้านอน 1 ทุ่ม และตื่นตอนเช้าแปดโมงเช้าในทุกวัน ไม่มีปัญหาการนอนหลับ หรือต้องใช้ยานอนหลับแต่อย่างใด

            ประเมินด้านความคิดความเข้าใจ โดยแบบประเมินที่ใช้ คือ TMSE (Thai Mental state Examination) จากการประเมินนั้นคุณยายไม่มีภาวะสมองเสื่อม คุณยายสามารถตอบได้ถึงการรับรู้วัน เวลา สถานที่ สามารถพูดตาม และทำตามคำสั่งได้ แต่เนื่องด้วยคุณยายไม่ได้เรียนหนังสือและมีปัญหาในการมองเห็น จึงไม่สามารถคิดเลขและอ่านข้อความ ได้

            คุณยายท่านนี้ตรงตามทฤษฎีพัฒนาของเพค (Peck’s Developmental Theory ) ที่กล่าวถึงผู้สูงอายุที่มีความแตกต่างใน 3 ลักษณะ โดยที่คุณยายท่านนี้นั้นอยู่ในลักษณะที่รู้สึกยอมรับว่าสภาพร่างกายของตนถดถอยลงและชีวิตจะมีความสุขถ้าสามารถยอมรับและปรับความรู้สึกนี้ได้ ในทางกิจกรรมบำบัดนั้นเราสามารถใช้  Person-Environment-Occupation-Performance (PEOP) Model มาอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุได้ดังนี้

P (Person)  ปัจจัยภายใน  ซึ่งมีทั้งความเชื่อ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ รวมถึงสภาพร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงของคุณยาย เช่น สายตาพร่ามัว หูไม่ค่อยได้ยิน ส่งผลต่อการทำกิจวัตรประจำวันของคุณยาย กิจวัตรประจำวันบางอย่างต้องมีคนช่วยทำ

E (Environment) ปัจจัยภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งทางสังคม (เช่น ศาสนา สถาบัน การเมือง) ทางกายภาพ (สิ่งก่อสร้าง) ทางธรรมชาติ (ดิน ฟ้า อากาศ) โดยลักษณะบ้านของคุณยายนั้นไม่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายตัว หรือการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ มีการจัดวางของขวางทางเดินและไม่เป็นระเบียบ อาจทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มของคุณยาย

O (Occupation)  กิจกรรมการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย 4 ประเภท ได้แก่ Activities กิจกรรมต่างๆที่คุณยายทำในแต่ละวันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน , Value มองถึงคุณค่าของกิจกรรมที่คุณยายทำ, Role บทบาทของผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงไป กิจกรรมก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย และ Tasks ขั้นตอนของการทำกิจกรรมมีความยากลำบากขึ้น

P (Performance ) ความสามารถในการทำกิจกรรม การเปลี่ยนแปลงของคุณยายนั้น ส่งผลให้ความสามารถในการทำกิจกรรมลดน้อยลง เนื่องจากมีปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรมนั้นๆ

ซึ่งหากปรับให้ทั้งสี่ด้าน สมดุลกันจะส่งผลให้คุณยายมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขมากยิ่งขึ้น

         บทบาททางกิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุนั้น จะมีการประเมินความสนใจ ความต้องการและความสามารถ รวมถึงประเมินสภาพบ้านของผู้สูงอายุ วิเคราะห์ ออกแบบการฝึกทักษะและองค์ประกอบในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ นอกจากนั้นยังส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เวลาว่างอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยได้แนะนำให้คุณยายมีการปรับสภาพบ้าน การจัดวางสิ่งของไม่ให้กีดขวางทางเดิน

        คุณยายกล่าวไว้ว่า “ในเมื่อขาและมือเรายังมีเรี่ยวแรง ถึงมันจะมีน้อยก็ตามแต่ ถ้าทำอะไรได้ ก็ทำไป ใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้เต็มที่ที่สุด” คุณยายพูดพร้อมกับยิ้ม ทำให้ดิฉันเห็นถึง พลังทางจิตใจที่เกินร้อยของคุณยาย

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.การเปลี่ยนแปลงและเตรียมตัวเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ. [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ:กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ;2557 [เข้าถึงเมื่อ2557 มกราคม 13]เข้าถึงจาก: http://hp.anamai.moph.go.th/soongwai/statics/health/prepared/index.php

 

บทความกิจกรรมบำบัดสำหรับผู้สูงอายุอื่นๆ :

http://www.gotoknow.org/posts/559079

http://www.gotoknow.org/posts/559070

http://www.gotoknow.org/posts/559069

http://www.gotoknow.org/posts/559042

http://www.gotoknow.org/posts/559118

http://www.gotoknow.org/posts/559120

http://www.gotoknow.org/posts/559141

http://www.gotoknow.org/posts/559125

หมายเลขบันทึก: 559081เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2014 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2014 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นกำลังใจให้กับงานดีๆเพื่อผู้สูงอายุเช่นนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท