ตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบซี


ไวรัสตับอักเสบซี

 

ไวรัสตับอักเสบซี

ถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้คนมานานโดยไม่รู้ตัว ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการจนกว่าจะมีการเสื่อมของตับมาก ๆ ซึ่งอาจใช้เวลานาน 10– 20 ปี หลังจากติดเชื้อจึงจะเริ่มมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ อ่อนเพลียซึ่งตอนนั้นก็มักเกิดตับแข็งหรืออาจเป็นมะเร็งตับแล้วก็ได้

 

ในปัจจุบันพบมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ประมาณ 180 ล้านคนทั่วโลกโดยเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในเขตเอเชียแปซิฟิกถึง 30-35 ล้านคน ในประเทศไทยได้มีการสำรวจจากผู้บริจาคโลหิตพบมีอุบัติการณ์ของการติด เชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ (คิดเป็น 6 แสนคนจากประชากร 60 ล้านคน)

 

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังนี้ จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ได้มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีอัตราของผู้ป่วยโรคตับแข็งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 20 ในอีก 10 ปีข้างหน้า รวมถึงมีการเพิ่มขึ้นของภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง มะเร็งตับและอัตราตายจากโรคตับมากกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว

 

 

การติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบซีส่วนใหญ่ติดต่อผ่านทางเลือด ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่ได้รับเลือดหรือสาร ประกอบของเลือดก่อนปี พ.ศ. 2535 ผู้ที่ฉีดยาเสพติดเข้าทางเส้นเลือด ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ นอกจากนี้ยังพบในผู้ที่สักตามร่างกาย เจาะหู ฝังเข็มรักษาโรคหรือแม้กระทั่งการขริบอวัยวะเพศ หากเครื่องมือไม่ได้รับการฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง ก็อาจเป็นสาเหตุของการติดต่อได้รวมถึงผู้ที่ได้รับเชื้อ ผ่านทางการรักษาเช่น การฟอกไต เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าร้อยละ 15-30 ของผู้ป่วยก็ไม่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ

 

ไวรัสตับอักเสบซี คืออะไร ไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิดได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ, ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี, ไวรัสตับอักเสบดี และไวรัสตับอักเสบอี ซึ่งมีลักษณะการติดเชื้อที่แตกต่างกัน

ไวรัสตับอักเสบซี เป็นเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายโดยเลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดที่มีเชื้อ ปะปนอยู่แล้วเข้าไปเจริญเติบโตในเนื้อตับและทำให้ตับอักเสบเรื้อรังได้

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีอาการจึงมักจะตรวจพบเมื่อมาตรวจร่างกายประจำปี พบการอักเสบของตับหรือทราบจากการบริจาคโลหิตแล้วไม่สามารถให้เลือดได้บางคน อาจจะรู้ว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เมื่อเป็นตับแข็งแล้ว

 

 

 

ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินโรค

ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินโรคของผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสซี เช่น เพศ อายุของผู้ป่วยขณะติดเชื้อ การดื่มสุรา การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือ ไวรัสเอชไอวี (เอดส์) ร่วมด้วย เช่นผู้ชายและการดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 50 กรัม/วัน จะมีการดำเนินโรคจนเกิดตับแข็งได้เร็วกว่าในผู้หญิงที่ดื่มสุราน้อยกว่า 50 กรัม/วัน การติดเชื้อไวรัสซีในผู้ป่วยอายุมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งมากกว่า 40 ปีจะมีโอกาสการดำเนินโรคตับแข็งได้เร็วกว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อในอายุน้อย

 

ใครที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

ผู้ที่เคยได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดโดยเฉพาะในช่วงก่อน ปี พ.ศ. 2535

ผู้ที่ใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้น

ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ใช้เครื่องฟอกไต

เด็กที่เกิดจากมารดาที่ติด เชื้อไวรัสตับอักเสบซี

คู่นอนของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี หรือ

ผู้ที่มีประวัติเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆผู้ที่สูดโคเคนทางจมูก

บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุจากการดูแลรักษา ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี เช่น เข็มตำ

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซี เรื้อรัง

ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงและมีการทำงานของตับผิดปกติแพทย์ ก็จะทำการตรวจร่างกายเพื่อหาอาการแสดงของโรคตับเรื้อรัง และเจาะเลือดเพื่อดูการอักเสบของตับโดยดูจากค่า AST และ AST พร้อมกับตรวจหา anti-HCV เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี หรือไม่ ถ้าผลการตรวจ anti-HCV เป็นบวกก็จะตรวจยืนยันผลโดยการเจาะเลือดส่งตรวจปริมาณเชื้อไวรัสว่ามีปริมาณ มากน้อยนอกจากนี้แพทย์จะตรวจหาชนิดของไวรัสตับอักเสบซี (Genotype) เพื่อประโยชน์ในการบ่งบอกถึงโอกาสที่จะตอบสนองต่อการรักษา

 

 

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี เรื้อรัง

การรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบันนี้คือการรักษาด้วย PegylatedInterferon ฉีดเข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละ 1 ครั้งร่วมกับยารับประทาน Ribavirin 4-5 เม็ด/วัน เป็นเวลานาน 24-48 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ชนิดไหน ถ้าเป็น Genotype 1 ซึ่งเป็นชนิดที่รักษายากก็ต้องใช้ระยะเวลารักษานานถึง 48 สัปดาห์ โดยผลการรักษามีโอกาสหาย 50-60%  แต่ถ้าเป็น Genotype 2, 3 ก็สามารถรักษาให้หายในระยะเวลา 24 สัปดาห์ โดยได้ผลประมาณ 80%

 

ผลข้างเคียงของยา : การรักษาด้วยยา Interferon อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้หลายอย่างเช่น อาจมีไข้ต่ำ ๆ หลังฉีดยาปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ ผมร่วง ซึมเศร้าอารมณ์แปรปรวน ส่วน Ribavirin ที่ต้องรับประทานร่วมกันก็ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกจนมีอาการซีดลงได้มาก อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว

 

 

 

ซึ่งผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงแรกหลังเริ่มรักษา หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้น ดังนั้น การรักษาไวรัสตับอักเสบซี จึงต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดเพื่อแพทย์จะได้ปรับ ขนาดยาตามความเหมาะสมและให้การรักษาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

 

ปัญหาที่สำคัญของการรักษาคือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี เรื้อรังยังมีราคาแพงรวมแล้วประมาณ 360,000 ถึง 720,000 บาทขึ้นกับระยะเวลาในการรักษาและอาจต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจเลือดและ ยาที่ใช้รักษาผลข้างเคียงจากยาด้วยแต่ในปัจจุบันราคายาถูกลงมากและมีโครงการ ในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้นทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น

 

การป้องกัน

เนื่องจากยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันตนเองโดย

หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน

หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.อภิญญา ลีรพันธ์ หน่วยระบบทางเดินอาหาร

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

 

* ขอบคุณ ไวรัสตับอักเสบซีโดย ผศ.พญ.อภิญญา ลีรพันธ์ จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี

วันอังคารที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ ๒๕๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 559076เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2014 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2014 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...เรื่องของโรคไวรัสซี...น่ากลัวนะคะ...เนื่องจากยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ...

น้องสาวคนสุดทัองของพี่ใหญ่ เพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคนี้ค่ะ...ขอบคุณที่ช่วยเผยแพร่สาระดีๆนี้ :

http://www.gotoknow.org/posts/554200

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท