การพูดภาษาอังกฤษของคนไทย Thai identities in English communication: listen between the lines


ดิฉันต้องรีบเขียนบทความนี้ ก่อนจะลืมไอเดียไปก่อน  เนื่องจากเมื่อวันที่ 17-18 กรกฎาคม ได้ไปเข้าร่วมการประชุมวิชาการเรื่อง Innovation in Teaching Languages and Cultures ที่จัดโดย สถาบันภาษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มีประเด็นที่น่าแบ่งปันมากๆ จากการฟังบรรยายวันแรกโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาและวัฒนธรรมของผู้พูดภาษาอังกฤษที่มีพืนเพต่างกัน ท่านคือ Professor Farzad Sharifian of Monash University, Australia.

 สรุปคร่าวๆ ได้ว่า ลักษณะการใช้ภาษาอังกฤษเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนตอนเราเรียนหนังสือก็มีแต่ความคิดที่ว่าฉันจะต้องพูดต้องใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับฝรั่งให้ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราใช้ภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับ ใครก็ได้ ที่เข้ามาเมืองไทยแล้วจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเพื่อความอยู่รอด คนที่เราใช้ภาษาอังกฤษด้วย อาจเป็นชาวต่างชาติจากประเทศอาเซียนที่มาทำงานในหน่วยงานของเรา ที่คณะมนุษยศาสตร์นี่มีทั้ง พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส
....ถ้าอาจารย์เหล่านั้นพูดไทยไม่ได้ แน่นอนภาษาที่เราต้องใช้ให้เข้าใจกันให้ได้ คือ ภาษาอังกฤษ....

แต่ละคนก็ต้องการสื่อความหมายที่ตนเองต้องการออกมา โดยใช้ภาษาอังกฤษนั้นเป็นเครื่องมือ แต่เนื่องจากผู้พูดมาจากวัฒนธรรมที่ต่างกัน ดังนั้น ภาษาที่พูดออกมาจากแก่นของความหมายที่ต่างกัน การที่เราสามารถเข้าใจคู่สนทนาของเราว่าจริงๆ แล้วเขาพูดอย่างนี้หมายความว่าอย่างไรจากพื้นเพวัฒนธรรมของเขา จะทำให้ประสบความสำเร็จในการสื่อสารไม่น้อย ดังนั้น ดิฉันจึงอยากจะแบ่งปันมุมมองในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยผ่านตัวอย่างบางอย่าง ดังต่อไปนี้

การทักทาย

คนไทยเวลาทักทายกัน มักจะเป็นห่วงเรื่องปากท้อง การเดินทาง เราเจอหน้ากันเราก็มักจะถามว่า กินข้าวรึยัง ไปไหนมา จะไปไหน  ส่วนการทักทายว่า สวัสดี คุณเป็นอย่างไรบ้าง สบายดีไหม คิดดูดีๆ แล้ว มันห่างไกลธรรมชาติในการทักทายของคนไทยเรา ดังนั้น อยากให้รู้ว่า คงไม่แปลกที่เราจะทักเป็นภาษาอังกฤษว่า
Have you eaten yet?
Have you had your breakfast/lunch/dinner?
What did you have for lunch?

Where are you going/Where have you been?

เมื่อก่อนครูสอนภาษาอังกฤษอาจบอกว่า อย่าไปทักฝรั่งอย่างนี้ อายเขา จะไปถามเขาทำไมว่ากินข้าวหรือยัง หรือจะไปถามทำไมว่าเขาจะไปไหน หรือไปไหนมา  แต่เดี๋ยวนี้ ดิฉันมั่นใจว่า เราสามารถทักทายแบบไทยๆ นี้ได้ เพราะเราคือ คนไทย ที่ใช้ภาษาอังกฤษ ในประเทศไทย
สาบานได้ว่าดิฉันทักอาจารย์ฝรั่งแบบนี้ตั้งแต่เริ่มทำงานไหม่ๆ ตอนนั้นฝรั่งอึ้งไปเหมือนกัน แต่ตอนนี้ดิฉันอยากให้ฝรั่งหรือใครก็ตามรู้ว่า ที่ทักไปอย่างนี้ คือ การทักทายแบบไทยๆ ไม่ได้อยากรู้หรอกว่าใครจะทานอะไร ทานข้าวหรือยัง จะไปไหน ก็คือถามเพื่อเป็นการทักทายนั่นเอง

การเรียกชื่อแทนบุคคลที่สามหรือบุคคลที่สองในการสนทนา

ยกตัวอย่างใกล้ตัว นักเรียน นิสิตไทยเราจะไม่เรียกครูอาจารย์ด้วยขื่อต้น เราจะมีคำว่า ครู ติดหน้าชื่ออยู่เสมอ เช่น ครูอ้อย ครูนิตยา อาจารย์วินัย ส่วนฝรั่งจะเรียกนามสกุล เช่น Mr.Obama/ Mrs Clinton  ดังนั้น นักเรียนไทยจะเรียกอาจารย์สอนภาษาอังกฤษว่า teacher/ professor ขอยกตัวอย่างดิฉันเองที่ไม่บังอาจเรียกชื่อตัวอาจารย์ที่ปรึกษาที่นิวซีแลนด์ จะเรียกแต่ Professor ตามด้วยนามสกุลของท่าน 
ไปอยู่กับโฮสแฟมิลี่ ใจก็ตะหงิดๆ อยากเรียกป้าโจนว่า Aunite Joan แต่ในสังคมนั้นป้าคงทะแม่งๆ จึงเรียกชื่อ Joan เฉยๆ มันมาจากว่าคนไทยเราเห็นใครอายุรุ่นราวคราวเดียวกับญาติ ไม่จำเป็นต้องมีสายเลือดเดียวกัน เราก็เรียกเขาด้วยสรรพนามนับญาติกันได้  เช่น ลุงแจ่ม ป้าไพ น้าเน็ก อาเหลิม 

เวลาให้นิสิตเขียนภาษาอังกฤษบรรยายเกี่ยวกับคนที่รู้จักอาจจะมีบ้างที่นิสิตใช้ Uncle James/ Auntie Pat เล่าถึงร้านอาหารโปรดแถวมหาวิทยาลัยก็ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้นับญาติกันแต่อย่างใด นี่หล่ะ ที่อยากให้ชาวต่างชาติที่อีกหน่อยเข้ามาพูดภาษาอังกฤษกับเราๆ ท่านๆ ได้รู้ไว้ว่า ไม่ใช่ญาตินะคะ แค่เรานับถืออาวุโส

การใส่คำลงท้ายแสดงความสุภาพ ในการทักทาย

Thank you kha.

Good Morning kha.

เราใช้กันจริงๆ นะคะ ไม่ว่าจะจะในโพสออนไลน์ หรือเวลาเราพูด แต่อาจไม่ทุกครั้ง  ใส่ลงไปนิด เหมือนเหยาะน้ำปลาเวลาทานสเต๊ก ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

---- ไว้แค่นี้ก่อนเนอะ ------

ถึงตอนนี้ดิฉันควรจะเขียนบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษเสียที ต่างชาติจะได้รู้เสียทีว่า speaking English in the Thai way เป็นอย่างไร เราไม่ได้พูดผิด นะคะ แต่เราเอาวัฒนธรรมของเราแสดงออกไปตะหาก

หมายเลขบันทึก: 543710เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ชอบจังเลยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

จะแวะมาอ่านบ่อยๆ นะคะ

ค่ะฝรั่งจะงงมากๆค่ะ...ถ้าเจอคำถามแบบไทยนะคะ

ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตนะคะ

การสื่อสารระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคน มีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นคือ ่เพื่อให้กิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ก่อนนี้ก็เรียนรู้มาว่า การเรียนรู้ภาษาอังกฤษจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษด้วย เพราะภาษาคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เมื่อจะสื่อสารกับชนชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษ เราก็ควรจะใช้ภาษาให้เหมาะกับวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน  

ในกรณีที่ผู้สื่อสารภาษาอังกฤษต่างก็ไม่ใช่เจ้าของภาษา แล้วถ้าต่างก็จะเอาวัฒนธรรมของชาติตนเป็นหลัก เช่น คนพม่าจะใช้วัฒนธรรมพม่า คนบรูไนจะใช้วัฒนธรรมบรูไน คนไทยจะใช้วัฒนธรรมไทย ฯลฯ  ก็คงจะสร้างความสับสนน่าดู เพราะฉะนั้น น่าจะใช้วัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งเป็นหลัก และวัฒนธรรมที่จะไม่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบ ก็คือวัฒนธรรมของชาติเจ้าของภาษา หรือย่างไร ตั้งเป็นประเด็นคำถามไว้นะคะ

จากงานวิจัยที่ได้ผ่านตามาล่าสุดนี้อ้างว่าปัจจุบันมีจำนวนคนที่ใช้ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ใช่เจ้าของภาษา คนส่วนใหญ่เหล่านั้นมีความรู้สึกว่าฉันก็เป็นผู้ใช้ภาษาอังกฤษคนหนึ่ง เส้นแบ่งระหว่าง เจ้าของภาษา และ ไม่ใช่เจ้าของภาษา มันเลือนลงมาก 
คนเหล่านี้มักจะสอดแทรกวั
ฒนธรรมตนเองใส่ลงไปในภาษาด้วย ตัวอย่างเป็นที่รู้จักดีคือ ภาษาอังกฤษแบบสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือในประเทศอาณานิคมอื่นๆ ทั้งออสซี่ กีวี ดังนั้น การเรียนการสอนภาษาอังกฤษปัจจุบันก็ควรสอดแทรกความรู้ไปด้วยว่า ถ้าไปเจอภาษาอังกฤษที่เป็น varieties ต่างๆ จะได้เข้าใจว่าควรจะทำความเข้าใจและสื่อสารอย่างไรค่ะ เช่นเดียวกับเวลาที่ต่างชาติเข้ามาประเทศเรา และใช้ภาษาอังกฤษกับเรา

คนไทยจะทักทายกันด้วยประโยค ไปไหนมา กินข้าวหรือยัง ต้องเป็นคนที่สนิทกันพอควร เช่นเป็นญาติกัน เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นศิษย์ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อสื่อสารกับชาวต่างชาติด้วยภาษาอังกฤษ ถ้าเขายังไม่รู้จักวัฒนธรรมของเราก็ควรจะใช้วัฒนธรรมของเจ้าของภาษาก่อน หลังจากรู้จักกันดีแล้วเราก็มักจะสอนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน หลังจากนั้นก็คงไม่แปลกที่จะทักทายด้วยวัฒนธรรมของใคร นอกจากนี้ยังขึ้นกับโอกาสด้วย เช่นในการประชุมที่มีหลายชาติหลายภาษาผู้คนก็ระมัดระวังที่จะใช้ภาษาที่ถูกต้องตามวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา แต่ในงานเลี้ยงสังสรรค์ก็ใช้ภาษาที่สอดแทรกวัฒนธรรมกันเป็นที่สนุกสนาน 

I did what you described too but after we'd known each other for quite a while. I think we can express our Thai way of using English in Australia because of the multi-cultural nature of this country. It may not be applied to the other side of the continent but we can try.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท