อีกมุมหนึ่งของ flipped classroom(ตอนที่ 1)


 อีกมุมหนึ่งของ Flipped Classroom  (ตอนที่ 1) 

        ตอนนี้ในวงการศึกษาไปทางไหนก็จะได้ยินแต่คำว่า Flipped Classroom หรือ “ห้องเรียน  กลับด้าน”  ใครๆก็พูดถึงคำๆนี้ พูดแล้วก็ยิ้มเจื่อนๆ  แต่พอถามถึงรายละเอียดลึกๆก็จะทำหน้างงๆ  น่าเอ็นดูพอสมควรละครับ……….

        ผมค่อนข้างจะคุ้นเคยกับ Flipped Classroom มานานพอสมควร เพราะเคยอยู่ในคณะทำงานศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ แต่ตอนนั้นเราใช้คำเรียกขานว่า Ubiquitous Learning เป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบเน้นที่การเรียนมากกว่าการสอน แล้วใน Ubiquitous Learning ก็มีประโยคหนึ่งที่เป็นคำสำคัญคือคำว่า “learn at home, Homework at classroom”  เป็นการเรียนที่เน้นให้เด็กเรียนที่บ้าน แล้วเอาการบ้านมาทำที่โรงเรียน ดูเหมือนว่าคำพูดนี้ก็จะเป็นคำสำคัญของ Flipped classroom เช่นกัน

         ล่วงมาถึงปี 2004 สิงคโปร์ก็ได้ประกาศหลักการจัดการศึกษาของประเทศของเขา โดยยึดหลักคิด “Teach less but Learn more” คือสอนแต่น้อยแต่เรียนรู้ได้มากๆ  อันนี้ก็เป็นหลักการเดียวกับ flipped classroom เช่นกัน

          นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบเดียวกันนี้ แต่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น Flipped Teaching, Reverse Classroom, Backward Teaching หรือชื่ออะไรทำนองกลับหลัง  กลับหัว กลับด้านหรือพลิกกลับ ซึ่งก็เป็นรูปแบบเดียวกัน คือการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยเน้นเรื่องการเรียนการสอนโดยครูเป็นผู้ “บอกต่อ”ในห้องเรียน เวลาในห้องเรียนส่วนใหญ่หมดไปกับการสอนของครู กลับมาเป็นแบบให้นักเรียนได้อยู่ใน “กิจกรรมการเรียนรู้” ให้มากขึ้น ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยสำหรับให้ครู “สอน”ในห้อง แต่การสอนจริงๆให้ไปอยู่ที่บ้านโดยอาศัยเทคโนโลยีหรือเครื่องมือนวัตกรรมที่มีอยู่ในยุคปัจจุบัน

          แต่อย่างที่ผมได้กล่าวแต่ต้น จากการได้สัมผัสอย่างต่อเนื่องมาหลายปี พบว่าบุคลากรทางการศึกษาในระดับสถานศึกษาส่วนใหญ่ของไทยยังไม่กระจ่างในเรื่องแนวคิดและกระบวนการของ flipped classroom ส่วนใหญ่ยังงงๆอยู่ อย่าว่าแต่บรรดาบุคลากรในระดับสถานศึกษาเลย ส่วนใหญ่ของบรรดาศึกษานิเทศก์ หรือผู้บริหารระดับเขตการศึกษาก็ยังมีอีกไม่น้อยที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้เช่นกัน

           ในฐานะเป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาและจับงานด้านนี้ อีกทั้งมีประสบการณ์การจัดทำห้องเรียนทดลองแบบ Ubiquitous Learning มานานปี จึงขอแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นโดยสังเขปในเรื่องจุดแข็งจุดอ่อนของการจัดการเรียนการสอนแบบ “สอนแต่น้อย เรียนรู้มากๆ” นี้ เพื่อว่าท่านที่สนใจจะได้นำไปประกอบการศึกษาวิธีการจัดการเรียนแบบห้องเรียนกลับด้านหรือ flipped classroom ต่อไป

Flipped….” เป็นการพลิกกลับ  พลิกจากอะไร..ไปสู่อะไร...?

            การจัดการเรียนการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน ครูผู้สอนหรือโรงเรียนจะต้องเข้าใจหลักคิดอย่างถ่องแท้ก่อนว่า ห้องเรียนกลับด้านนั้นคืออะไร เป็นการกลับด้านจากด้านใดไปสู่ด้านใด มันดี(กว่าการเรียนการสอนที่ใช้กันอยู่)อย่างไร  ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี  ได้เคยพูดไว้ว่าห้องเรียนกลับด้านเป็นการพลิกจาก........ไปสู่.................

1.  จากการเรียนสอนตามสิ่งที่ครูกำหนดทั้งหมด ไปสู่   การเรียนการสอนตามสิ่งที่ครูและนักเรียนร่วมกันกำหนด

2.  จากการสอนที่กลัวว่านักเรียนจะไม่เข้าใจ      ไปสู่   การสอนที่มุ่งสร้างความตื่นเต้น เร้าใจ

3.  จากการสอนที่ครูมุ่งเน้นให้ข้อมูล                  ไปสู่   การสอนที่ครูมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจ

4.  จากการที่ครูสอนให้เด็กต้องตอบคำถามได้   ไปสู่    การสอนที่มุ่งให้นักเรียนตั้งคำถามเป็น

5.  จากการสอนที่ครูมุ่งเน้นให้นักเรียนทำ           ไปสู่    การสอนที่มุ่งให้ครู-นักเรียนร่วมกันทำ

6.  จากการสอนที่มุ่งทดสอบความรู้                    ไปสู่   การสอนที่มุ่งประเมินความคิด-เข้าใจ

7.   จากการสอนที่ดูเฉพาะความสามารถด้านวิชา ไปสู่   การสอนที่มองดูความสำเร็จรอบด้าน

8.  จากการสอนที่ครูมุ่งเน้นที่การให้เกรด            ไปสู่   การสอนที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงของนักเรียน

การเตรียมครูสำหรับการเรียนการสอน Flipped Classroom

       อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนกลับด้านคือ ตัวครูผู้สอน  ครูผู้สอนส่วนใหญ่กังวลว่าถ้าตัวเองไม่ได้พูด ไม่ได้ยืนสอนอยู่หน้าชั้นแล้ว เด็กจะไม่ได้รับความรู้  ขาดความมั่นใจว่าถ้าให้นักเรียนไปเรียนเองที่บ้านแล้ว เด็กจะไม่เรียน หรือเรียนรู้ไม่ได้ และที่สำคัญคือครูไม่เข้าใจหัวใจสำคัญ 2 อย่างของการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ คือ

        1.  ไม่เข้าใจหัวใจของการเรียนการสอนที่ว่า เรียนที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน ความจริงสาระสำคัญของรูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้คือ “Teach at home, Learn at classroom” คือการเรียนการสอนให้ทำที่บ้าน แทนที่ครูจะใช้เวลาสอนหรือ lecture ในห้องเรียน ก็จัดการสอนหรือ lecture ใส่ในสื่อเช่น Video , CD หรืออาจจะเป็นเอกสารให้นักเรียนเอากลับไปเรียนหรือศึกษาที่บ้าน หรือแม้แต่การให้หัวข้อเรื่องที่จะเรียนรวมทั้งให้ชื่อกลุ่ม website ที่นักเรียนจะไปค้นคว้า แล้ววันต่อมาในชั่วโมงวิชานั้นๆ ก็ให้นักเรียนนำข้อมูลและความคิดในเรื่องที่ได้รับ “การสอน” ที่บ้านมา “เรียนรู้” ร่วมกันในห้องเรียน ซึ่งถึงตอนนี้ครูจะเปลี่ยนบทบาทจาก “teacher” มาเป็น “Coach” แทน ซึ่งหน้าที่ของ coach คือ “continue if effective, modify if necessary” ตรงไหนที่นักเรียนเรียนรู้แล้วก็ก้าวหน้าต่อไป  ตรงไหนที่ยังติดขัดก็ร่วมกันทบทวนหรือ “re-learn” จนกว่าจะเข้าใจ

         2.  ไม่เข้าใจเรื่องการ “เรียนที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน” คำพูดนี้ ครูและนักการศึกษาที่พูดถึงการเรียนการสอนแบบ flipped classroom จะต้องได้ยินและกำลังพยายามทำความเข้าใจอยู่ แต่  ไม่มีทางเข้าใจเพราะคำว่า “เรียน” ในความหมายและบริบทของชาติตะวันตก (ที่เขาบอกว่าเป็นต้นคิดของ flipped classroom) กับคำว่า “เรียน” ในความหมายหรือความเข้าใจของครูบ้านเรา ไม่แน่ใจว่าเหมือนกันหรือเปล่า  นั่นยังไม่รวมถึงคำว่า “การบ้าน”  คำนี้ต่างกันมากในความเข้าใจและการปฏิบัติระหว่างครูในชาติตะวันตกกับครูบ้านเรา  การบ้านของเขานั้น ครูเขาให้นักเรียนกลับไปทำงานเพื่อเพิ่มพูนสมอง ความคิดและประสบการณ์ เป็นงานที่ผ่านการคัดกรองอย่างดีจากครูก่อนที่จะให้เด็กไปทำที่บ้าน เพราะเขาถือว่าเวลาของเด็กหลังเลิกเรียนสำคัญมาก ถ้าจะขอแบ่งปันมาจากครอบครัวจะต้องแน่ใจว่าเด็กได้ประโยชน์จริงๆ แต่การบ้านที่ครูไทยมอบให้นักเรียนไปทำ...เป็นการบ้านแบบใด

          ยังมีประเด็นที่น่าจะพูดคุยกันอีกหลายด้าน ทั้งด้านความพร้อมของเด็กซึ่งสำคัญมากโดยเฉพาะเด็กจะต้องมีความพร้อมในเรื่องของ “สำนึกและความเข้าใจของรูปแบบการเรียน” พร้อมในเรื่องของการมี “กระบวนการคิด” คือเด็กต้องพร้อมที่จะคิดอย่างเป็นกระบวนการและต้องคิดแบบกระบวนการเป็น อย่างน้อยที่สุดต้องรู้และเข้าใจ Mind map ต้องรู้จักการเรียนรู้ด้วยวิธีระดมสมอง (Brainstorming) และต้องสามารถคิดเชิงบูรณาการ (Integrative Thinking)ได้ เพราะการเรียนการสอนแบบนี้ ปลายทางเน้นที่ให้นักเรียนคิดได้ คิดเป็น

         นอกจากความพร้อมของครูและของเด็กแล้ว เราจะมาคุยกันเรื่องความพร้อมของชุมชน ผู้ปกครองและทรัพยากรซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องมี หากต้องการให้ flipped classroom ประสพผลสัมฤทธิ์ในเมืองไทย

แล้วจะมาคุยให้ฟังอีกในเร็ววัน

บำรุง


หมายเลขบันทึก: 543709เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาติดตามอ่านค่ะอาจารย์

ถ้าเป็นระดับมหาวิทยาลัยที่จำนวนวิชาที่เรียนในแต่ละวันไม่มากนัก (1-2) อาจใช้วิธีนี้ได้ แต่ระดับการศึกษาพื้นฐานเท่าที่เคยเห็นตารางสอนเรียนวันละหลายวิชาคงไม่ได้นอนกันแน่ นอกจากนี้คงเหมาะสมกับบางวิชาเท่านั้น

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท