ชุมชนควรเป็นเจ้าของโรงเรียนขนาดเล็ก


ปกติผมไม่อยากเขียนบันทึกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเพราะผมเห็นว่าคนไทยนั้นใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการคุยกันเรื่องการเมืองครับ แม้หลายคนอาจจะเถียงว่าเขาใช้เหตุผลแต่ที่ผมเห็นก็คือเขาใช้เหตุผลเพื่อสนับสนุนอารมณ์ของเขาทั้งนั้นครับ

เขาบอกว่าเมื่อไหร่พบคนใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ให้หลีกหนีไปเสีย เพราะอย่างแรกสุดคือเขาจะไม่ยอมรับว่าเขาใช้อารมณ์ครับ

แต่ช่วงนี้มีข่าวใหญ่เรื่องการจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ผมก็ขอร่วมบันทึกความคิดเห็นของผมไว้เสียหน่อย

ปัญหาใหญ่สุดของการศึกษาไทยคือประเทศไทยใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการดำเนินการการศึกษาเมื่อเทียบกับนานาชาติ แต่ในขณะเดียวกันผลลัพธ์ทางการศึกษาเรากลับตกต่ำรั้งท้ายเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ ครับ

ปัญหานี้คือปัญหาที่ต้องแก้ไขปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ แต่การจะแก้ไขอย่างไรให้ได้ผลนั้นเป็นเรื่องยากมาก ผมเองนึกไม่ออกว่าจะแก้อย่างไร และเท่าที่ผมเคยอ่านเคยฟังความคิดเห็นของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาหลายคนก็ไม่เห็นว่าวิธีการที่เขาเหล่านั้นบอกมาจะแก้ปัญหาได้แน่นอนจริงๆ เพราะปัญหานี้เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของผู้คนมากมายทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ดังนั้นผมเชื่อว่าการแก้ไขไม่ว่าวิธีไหนก็ตามจะต้องมีคนเสียผลประโยชน์และได้ผลประโยชน์ไม่น้อยและก็คงกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ดึงรั้งความพยายามแก้ไขไม่ให้เดินหน้าไปได้ และในที่สุดไม่ว่าใครจะพยายามแก้ไขในรูปแบบไหนก็คงจะไม่ประสบความสำเร็จไปได้แน่นอนครับ

ทุกความพยายามจะล้มเหลวนั่นเอง!!

ผมคงไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายเกินไปนะครับ

ถ้าอย่างนั้นมาเขียนในประเด็นดีๆ ของการศึกษาที่ผมเห็นดีกว่า

ผมอยู่ภาคใต้และเป็นนักปั่นจักรยาน ดังนั้นผมจะมีโอกาสเห็นโรงเรียนขนาดเล็กเยอะมาก โรงเรียนคือพื้นที่ที่ผมจะใช้ในการพักดื่มน้ำ เพราะโรงเรียนในต่างจังหวัดนั้นโดยส่วนใหญ่น่ารัก สวยงาม ใกล้ชิดธรรมชาติ ปั่นจักรยานเข้าไปแล้วสบายใจ

โรงเรียนขนาดใหญ่นั้นปั่นเข้าไปไม่ได้นะครับ เขามียามกั้นไว้ แต่โรงเรียนขนาดเล็กนั้นเข้าได้ครับ

แต่เข้าไปในโรงเรียนขนาดเล็กเมื่อไหร่ก็เห็นว่าโรงเรียนเหล่านี้น่าจะใช้ "ต้นทุนในการดำเนินงาน" (Operation Costs) สูงเมื่อเทียบต่อหัวต่อจำนวนนักเรียนอย่างที่เขาว่าจริงๆ เรื่องนี้เป็นความจริงที่คงปฎิเสธไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องคิดกันคือ ถ้าไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เราจะทำอย่างไรให้โรงเรียนขนาดเล็กอยู่รอด?

ในกลุ่มชุมชนมุสลิมนั้นเขาตั้งโรงเรียนปอเนาะซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนได้โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่จริงแล้วเมื่อมีปัญหาความไม่รุนแรงในภาคใต้ตอนล่างในปัจจุบัน โรงเรียนปอเนาะถูกมองในแง่ลบและกลับกลายเป็นเป้าที่ภาครัฐเข้มงวดอย่างมากแต่ชุมชนที่เข้มแข็งก็สามารถเลี้ยงโรงเรียนอยู่ไว้ได้

ผมเคยคุยกับเพื่อนมุสลิม เขาบอกสั้นๆ ว่าสำหรับมุสลิมนั้นใครเรียนโรงเรียนปอเนาะก็เหมือนกับคนไทยพุทธไปเรียน "โรงเรียนเตรียมสามเณร" นั่นเอง โรงเรียนเตรียมสามเณรได้รับการยกย่องจากชาวพุทธอย่างไรโรงเรียนปอเนาะก็ได้รับการยกย่องจากชาวมุสลิมเช่นนั้นครับ

บางทีการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนนั้น เราควรเรียนรู้จากโรงเรียนปอเนาะนะครับ

แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า "เมืองไทย เมืองพุทธ" จะยอมรับและทำได้แค่ไหน ผมอยากเห็นพระดังๆ ออกมาประกาศว่า "สร้างโรงเรียนได้บุญมากกว่าสร้างวัด" เหลือเกินครับ

นอกจากตัวอย่างจากโรงเรียนปอเนาะแล้ว ในฝั่งยุโรปและอเมริกานั้นก็มีโรงเรียนที่บริหารจัดการโดยพระโรมันแคทอลิคอยู่มาก โรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กโดยมีโบสถ์เป็นเจ้าของครับ

ที่จริงแล้ว "โรงเรียนเอกชนคริสต์" นั้นก็มีอยู่ไม่น้อยในประเทศไทยและหลายแห่งเป็นโรงเรียนคุณภาพดีมากทีเดียวครับ ผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศไทยเราที่จบการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนคริสต์นั้นมีจำนวนไม่น้อย ชุมชนชาวคริสต์นั้นไม่ใช่แค่สร้างโรงเรียนแต่ยังสร้างไปถึงระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย และผมกำลังนึกว่ามหาวิทยาลัยเหล่านั้นอีกไม่นานน่าจะมีคุณภาพการเรียนการสอนดีกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐเสียอีก

หา? ตอนนี้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นก็มีคุณภาพดีกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐแล้ว? แหม ผมตกข่าว....

โรงเรียนขนาดเล็กโดยส่วนใหญ่มักจะมีชื่อเป็น "โรงเรียนวัด" ซึ่งสะท้อนความเป็นเจ้าของของวัดอยู่แล้ว ดังนั้นชุมชนและวัดก็ต้องแสดงความเป็นเจ้าของแปลงสภาพโรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนเอกชนแล้วบริหารจัดการโดยชุมชน

แน่นอนครับ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้น ปัญหานี้ไม่ว่าจะแก้อย่างไรก็ไม่ง่ายครับ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้ววัด (และชุมชน) จะมีเงินในการบริหารจัดการโรงเรียนหรือ? ผมคิดว่าคนที่ถามเช่นนี้อาจจะไม่เคยไปวัดดังๆ วัดนั้นไม่ต้องดังแค่พอมีชื่อเสียงพอประมาณก็เห็นได้ชัดว่ามีงบประมาณเหลือเฟือ ยิ่งวัดดังยิ่งไม่ต้องพูดถึงครับ

เรื่องงบประมาณนั้นไม่ใช่ประเด็นปัญหา แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาคือเรื่องบริหารจัดการให้ได้ผลดี การบริหารจัดการโรงเรียนเอกชนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่นี่คือโอกาสของครูมือดีในปัจจุบันที่จะได้ทำงานเต็มที่และมีรายได้สูงโดยไม่ต้องทำงานพิเศษอย่างอื่น (โดยเฉพาะสอนพิเศษ) ครับ

อย่างที่บอกครับ เรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหานี้เป็นเรื่องท้าทาย เราช่วยคิดกันได้แต่การแก้ปัญหาจริงไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตามล้วนแล้วแต่ไม่ง่ายทั้งสิ้น

การทำงานจริงนั้นยากกว่าการแสดงความคิดเห็นมากนักครับ

หมายเลขบันทึก: 535975เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ลูกสาวผมเรียนโรงเรียนวัดครับ  โชคดีที่มีนักเรียนเกือบ 200 คน  เลยไม่ต้องถูกยุบรวมกับโรงเรียนอื่น

แต่ตรงกันข้าม มีอีกโรงเรียนหนึ่งที่อยู่ในตำบลเดียวกัน มีนักเรียน 7 คน มีครู 4 คน ปีนี้ก็เลยยุบมารวมกับโรงเรียนที่ลูกสาวผมเรียนอยู่  แล้วก็ย้ายคุณครูตามมาด้วย  ทำให้โรงเรียนนี้มีกำลังครูเพิ่มมากขึ้นและสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง

การศึกษา..สำคัญยิ่งครับ
คือ ความดี ความงาม ความจริง...
หลากหลาย สมดุล และทรงคุณค่า 

ทำจริงยากมากๆๆ ครับ ถ้าไม่ได้ระเบิดออกมาจากภายใน เข้าใจ และมีวินัย

ขอบคุณครับอาจารย์

ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงเพื่อ...ร่วมอุดมการณ์ค่ะอาจารย์

ตอนประถม ผมเรียนโรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดขี้หนอน) จ.สงขลา  มัธยมต้น เรียนโรงเรียน (วัด) แจ้งวิทยา จ.สงขลา  เพราะความเป็นโรงเรียนวัดเล็ก ๆ  เด็กไม่มาก ครูดูแล พูดคุยทั่วถึง ทำให้ผมรัก และผูกพันกับโรงเรียน และได้รับการปลูกฝังให้เป็นคนที่ไม่ก่อปัญหาสังคมต่อสังคม แล้วอย่างนี้ โรงเรียนวัดเล็ก ๆ  จะไม่ดีได้อย่างไรครับ 

โรงเรียนเล็กๆ ที่ครูดูแลนักเรียนได้ทั่วถึงนั้นดีแน่ๆ ครับ โรงเรียนวัดที่ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครองต่างเป็นคนในชุมชนเดียวกันนั้นยิ่งดีมากครับ

แต่ปัญหาที่ระบบการศึกษาไทย (ในภาพรวม) เจออยู่ตอนนี้คือต้นทุนในการดำเนินงานทั้งระบบนั้นสูงมากและมีประสิทธิภาพต่ำเมื่อเทียบกับตัวชี้วัดสัมฤทธิผลทางการศึกษานานาชาติครับ ปัญหานี้คือสิ่งที่ต้องแก้ไข เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้อีกไม่นานระบบก็ล่ม แล้วถ้าระบบการศึกษาล่มระบบอื่นๆ ทุกระบบของประเทศก็จะล่มตามไปด้วยครับ

แต่ผมก็ไม่รู้วิธีการแก้ไขนะครับ โจทย์มันยากมากครับ สิ่งหนึ่งที่ผมพอจะคิดออกก็คือโรงเรียนวัดต่างๆ ควรจะกลายเป็นของชุมชน (โรงเรียนเอกชนของวัดนั่นเอง) ด้วยเหตุผลตามที่ผมเขียนในบันทึกนี้ครับ แต่ทำอย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเหมือนกันครับ

โรงเรียนเล็กบางโรงเรียนมีศักยภาพมาก ต้องดูในหลายๆๆบริบท วันนี้ได้ไม่พบอาจารย์เลยครับ

ถ้าทำงานจริง ยอมทำงานหนักขึ้นบ้าง ปัญหาคงไม่เกิด เราพูดกันมากกว่าทำ เช่นเขตพื้นที่จัดอบรม ซ้ำซาก แทนที่จะนิเทศติดตามช่วยเหลืองานวิชาการอย่างจริงจัง ภาพโรงเรียนเล็ก จึงดูแย่ ทางที่ดีถ้าทำจริง และยอมกันบ้าง ยกโรงเรียนให้ชุมชนเขาได้มีส่วนร่วม มันมีแต่ได้กับดี ครับ

คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม... 

ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ เกือบทุกโรง
ล้วนแล้วแต่มีปัญหาเกือบทั้งนั้นครับ
(ยังไม่รวมถึงต้นตอของปัญหา คือตัวกระทรวงศึกษาเอง ที่ปัญหาก็หนักหนาสาหัสเช่นกันครับ)

โรงเรียนขนาดใหญ่ ตึกสวย ที่มีชื่อเสียงหลายโรง ในกรุงเทพและปริมณฑล
ได้คะแนนจากการประเมินภายนอก ในระดับดีมาก
ได้รับรางวัลโน้นนี่ ตลอด
ได้งบประมาณสนับสนุนจากในระบบและนอกระบบ เหลือเฟือ
ลองเข้าไปสัมผัสความจริงภายใน จะพบว่า
โรงเรียนคุณภาพเหล่านี้ ล้วนสร้างภาพ ความสำเร็จมีไม่ถึง 20-40 %

ที่เหลือ 60-80% ยังมีปัญหา ความล้มเหลว ปิดบัง Make up 
ทั้งเรื่องเอกสาร คุณภาพผู้บริหาร ครู และนักเรียน การจัดการศึกษา ยาเสพติด... ครับ

เงินเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการจัดการศึกษา
แต่คุณภาพการศึกษาที่แท้จริง ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน
หรือมีเงินมาก ก็ไม่ได้หมายความจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีเลิศได้เสมอไปครับ

ลองพิจารณา.. ข้ามก้าว“การยุบ การควบรวม” แล้วพัฒนาให้ตรงจุดดีไหม?

http://www.gotoknow.org/posts/536073

การจัดการศึกษาที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันไม่ง่ายทั้งการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาเลยนะครับ
อาจารย์ชยันต์ เพชรศรีจันทร์ ท่านคงทราบเรื่องนี้ดีครับ

ขอบคุณครับ...

ผมว่าชุมชนทุกแห่ง(โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเทศบาลหรือ อบต.)มีศักยภาพพอที่จะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กของชุมชนได้ ดูอย่างศูนย์เด็กเล็กซิครับคุณภาพเขาใช้ได้ทีเดียว ถ้าจะดูแลเพิ่มนักเรียนระดับอนุบาลไปจนถึงชั้นป.3 เอาแบบอ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น ก็น่าจะพอไหวนะครับ(เฉลี่ยทั้งประเทศ) แล้วหากสามารถถ่ายโอนมาได้(ตามกฎหมาย)เรื่องของงบประมาณก็จะเป็นภาระน้อยลง

แต่เด็กระดับ ป.4-ป.6 (ประถมปลาย)ถ้าให้ชุมชนทั่วประเทศทำผมว่าหนักเกินไป น่าจะแยกไปให้สพฐ.ดำเนินการ โดยให้ไปรวมกันในโรงเรียนที่มีความพร้อมระดับตำบลแล้วยกระดับให้เป็นโรงเรียนเตรียมมัธยม การจัดการเรื่องงบประมาณ เรื่องครู เรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอน ห้องพิเศษหรือแม้แต่โรงฝึกงานยังมีความเป็นไปได้ทุกแห่ง เพราะถ้าเป็นแบบนี้ โรงเรียนระดับปลายเส้นเลือดฝอยของ สพฐ.ก็จะลดลงเหลือไม่ถึงหนึ่งหมื่นโรง คุณภาพของนักเรียนก็จะดีขึ้น เมื่อขึ้นชั้นมัธยมก็ไม่ต้องไปเสียเวลาปรับพื้นฐานกันอีก เด็กก็โตพอที่จะเดินทางไกลบ้านอีกสักหน่อย หรือหากมีเรื่องของการสนับสนุนรถรับส่งก็ไม่น่าจะเพิ่ม cost มากขึ้นจนรับไม่ไหว

ที่สำคัญคือต้องปรับหลักสูตรกันใหม่ไม่ใช่เอาทุกอย่างพร้อมกันแบบกินแอปเปิลทั้งลูกคำเดียวอย่างที่เป็นอยู่ หรือมุ่งหวังให้ทุกคนเป็นอัจฉริยะพร้อมกัน เด็กจบป.3เอาแค่อ่านคล่องเขียนคล่องจับใจความได้ก็พอแล้วครับแล้วค่อยไปต่อยอดที่เตรียมมัธยม(ประถมปลาย)อีกที เลิก o-net ระดับประถมต้นนี้เสียให้โรงเรียนประเมินผลเองโดยมี ศน.รับรองก็พอแล้วครับ

ส่วนประถมปลายที่ตั้งเป้าให้เป็นเตรียมมัธยมก็ใช้เกณฑ์ระดับประเทศไป

ที่สำคัญต้องแก้กฎหมายให้แยกชั้นประถมเป็นสองระดับเสียก่อนครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ดร.ธวัชชัย ...

              ความสอดคล้องของแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็กกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่กระทรวงศึกษาธิการที่มีการดำเนินการมานานหลายปีแล้วนั้น เมื่อนักการเมืองหยิบมาเป็นประเด็นก็ทำให้เกิดแนวคิดเห็นมากมาย ถึงทางออกและความน่าจะเป็นไปได้ ...การที่จะให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษานั้น สามารถทำได้เพราะเป็นไปตามความมุ่งหมายและหลักการของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช ๒๕๔๒  ที่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ในหมวด1 มาตรา 8 (2) ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา  

             กับแนวคิดที่จะโอนโรงเรียนขนาดเล็กให้วัดและชุมชนบริหารจัดการศึกษาซึ่งก็สามารถทำได้เพราะมีระบุไว้ในกฏหมายเช่นกันในหมวด 3 มาตรา 18 (2) โรงเรียน ได้แก่โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนที่สังกัดสถาบันพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่น 

             อีกทั้งในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.๒๕๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 5 มาตรา ๓๘ ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ให้มีคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีอำนาจหน้าที่การกำ กับดูแล จัดตั้ง ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษา ประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนสถานศึกษาเอกชนในเขตพื้นที่การศึกษา ประสานและส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถจัดการศึกษาสอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นที่จัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายในเขตพื้นที่การศึกษาคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพบริหารการศึกษาผู้แทนสมาคมผู้ปกครองและครู และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ศาสนา ศิลป และวัฒนธรรมจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการวาระการดำ รงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา

 

         ...เรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก...เป็นประเด็นทางการเมืองที่ทำให้รู้ว่านักการเมืองนั้น 'รอบจัด' กว่าข้าราชการประจำและประชาชนมาก...หากหลงประเด็นทั้งข้าราชการประจำและประชาชนอาจตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองwfhโดยไม่รู้ตัว...

            และความไม่ชัดเจนของกฎหมายหมวด 5 มาตรา ๓๘ ที่ได้ให้อำนาจหน้่าที่คณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในขอบเขตที่กว้างมาก?...มากจนเกิดความสับสนและความขัดแย้งในเกณฑ์พิจารณา?...เพราะ

            มีทั้งการกำกับดูแล จัดตั้ง ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษา

            มีทั้งการประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนสถานศึกษาเอกชนในเขตพื้นที่การศึกษา ประสานและส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถจัดการศึกษาสอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการศึกษา

            และมีทั้งการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นที่จัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายในเขตพื้นที่การศึกษา...

 

"การทำงานจริงนั้นยากกว่าการแสดงความคิดเห็นมากนักครับ" จริงที่สุดค่ะ

สิ่งเล็กๆ..ในธรรมชาติ..สิ่งมีชีวิต..ไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์ต้นไม้..จะมีระยะการเติบโต..กล้าแข็ง..งอกงามดี..รวมเป็น มวล..เป็นต้นว่า..ป่าไม้ที่มีอายุยาวนานเป็นปอดโลกที่มีคุณภาพ..(ปอดโลก..ถูกทำลายลง..ด้วยความ เห็นแก่ได้..ถ่ายเดียว(ของคน)..เป็นตัวอย่างที่ดี..และเห็นได้ชัดเจน..เป็นประจักษ์อยู่ทุกวันนี้..)..ถ้าเราไม่..ให้คุณภาพ..การเริ่มต้น..ที่ดีและพอเพียง..กับเด็กๆ..ของเรา...อะไรจะเกิดขึ้น..ในภายภาคหน้า..น่าจะเดาได้..ว่า"ความเห็นแก่ได้..นั้นคืออะไร..".....(ฝรั่ง)ได้ดูลิงเป็นตัวอย่าง..ลิงมีความสามารถในการเรียนรู้ลอกเลียนในระยะแปดปี..ติดอยู่กับอกแม่และครอบครัว.กับญาติพี่น้อง..ที่ลิงยังเป็นอยู่..."คน"ไม่อยากมีวิถี "อยู่"กับความเป็นมาดั้งเดิมแบบ"ลิง"(ทั้งๆที่มีความเหมือนๆกันกัน..ทางร่างกายและจิตใจ)..เป็นเรื่องที่(ฝรั่ง)ให้ความสนใจ..และย้อนกลับมาเรียนรู้..(ฝรั่ง)เริ่มเปลี่ยนแนวทางเดินความคิดเดิมในยุคสมัยใหม่ว่า..ความเจริญทางเทคนิคที่ใช้อนุภาพทางเศรษฐกิจการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราและผลกำไร นั้น..จะเป็น..ความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นกว่าเดิม.(.ในยุคกลางที่เคยมีมา...)....ปัจจุบัน..คือ..อนาคต....อดีต..คือการเรียนรู้...

ความคิดเห็นเป็นฐานที่ดี..กับ..คำว่า..ประชาธิปไตย..(ยายธี)

จากความเห็นของ อ.พจนา แสดงว่าชุมชนมีโอกาสสร้างโรงเรียนได้อยู่แล้ว เพียงแต่สังคมไม่ได้รับรู้นั่นเองครับ ถ้าชุมชนคนไทยเข้มแข็งปัญหาต่างๆ ก็แก้ไขได้โดยง่าย แต่ก็กลับมาปัญหาเดิม คือทำอย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็งครับ

สวัสดีอาจารย์ดร.ธวัชชัยอีกครั้งค่ะ

                'ทำอย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็ง' เป็นปัญหาหนึ่งที่ทุกคนจะต้องเข้าใจและสามารถเข้าไปเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steak Holder) ในโรงเรียน ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นผู้สนับสนุนการจัดการศึกษาในชุมชนของตนเองอยู่แล้ว...และก็มีหลายชุมชนที่ทำได้...

                จากเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จึงมีทั้งเข้าทาง (เข้าประเด็น) และหลงประเด็น

                เข้าทางก็คือหลายๆชุมชน ก็ยื่นอกออกมารับว่าจะต้องเข้าไปรับผิดชอบ ดูแลโรงเรียนของชุมชนเอง ไม่ต้องการให้มีการยุบโรงเรียน ซึ่งตรงกับความต้องการของกระทรวงศึกษาธิการ ...แต่ถ้าเป็นลักษณะนี้...เรื่องต่อไปก็จะยาวไปถึงองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ที่จะเข้าฯลฯ... เพื่อนำไปดูแลในเรื่องการศึกษา

                แต่หลายชุมชนก็ยินดีที่จะให้ยุบโรงเรียน เพราะไม่รู้ว่าตนเองต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาอย่างไรบ้าง ?

               หลายชุมชนก็มีทั้งต้องการ และไม่ต้องการ ...หรือไม่รับรู้ และไม่สนใจ ฉันมาจากที่อื่น...ฉันไม่ใช่คนที่นี่...อะไร?ประมาณนั้น

               ความพอใจ พอเหมาะ พอดีไม่มี......จึงทำให้ต้องพัฒนาคนเพื่อพัฒนาการศึกษา...และต้องพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาคนต่อไป

               อย่างไรก็ตามความขัดแย้งทางความคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่างๆนั้นสามารถใช้กฎหมายคือพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาเป็นตัวชี้ชัด ในการพิจารณาได้  จึงไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ความคิดเห็นตามความพอใจของแต่ละคน เพราะทุกคนต้องรู้กฎหมายรู้หน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองว่า รัฐมีหน้าที่ความรับผิดชอบในเรื่องอะไร? ทำอะไร?ได้บ้าง...ประชาชนมีหน้าที่และความรับผิดในเรื่องใด?และทำอะไร?ได้บ้าง...

               แต่เรื่องมันไม่จบง่ายอย่างคิดเพราะตอนนี้ หลายคนหลงประเด็น...เกิดความขัดแย้งกัน...ในเรื่องของผลประโยชน์...ทั้งข้าราชการ...ประชาชน...และนักการเมือง...แต่เชื่อว่าเรื่องนี้นักการเมืองมีแต่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง...

             

               

 

 เรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหานี้เป็นเรื่องท้าทาย เราช่วยคิดกันได้แต่การแก้ปัญหาจริงไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตามล้วนแล้วแต่ไม่ ง่ายทั้งสิ้น

การทำงานจริงนั้นยากกว่าการแสดงความคิดเห็นมากนัก


ประโยคสำคัญของอาจารย์อยู่ตรงนี้ค่ะ  "การทำงานจริงนั้นยากกว่าการแสดงความคิดเห็นมากนัก" 

สมัยพี่อายุตั้งต้นที่เลขสี่ชอบคิดโจทย์ยากๆ โจทย์หลายมิติ  คิดออกเป็นฉากๆ เขียนออกมาเป็นหน้าๆ พอตัวเลขอายุเพิ่มขึ้นๆ เวลาคิดทีไรก็มีอะไรก็ไม่รู็้มานุงนังพันตู  ไม่ใช่ไม่คิดนอกกรอบนะคะ  แต่มันเป็นข้อจำกัดในบริบทของเราล้วนๆ  

นึกไม่ออกจริงๆ ค่ะ ว่าเราจะแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กยังไงดี  เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดไหนก็ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ   ถ้าเราวัดการ "คิดเป็น" ดิฉันว่าโรงเรียนะดับแถวหน้าก็ยังมีปัญหาอยู่ดี

บางทีพอเราลงมือทำไปสักระยะ ก็จะพอเห็นทางออก  ที่สำคัญกว่า คือการคิดที่ยืดหยุ่นและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท