ข้ามก้าว“การยุบ การควบรวม” แล้วพัฒนาให้ตรงจุดดีไหม?


ยุบ รวม เลิก โรงเรียนขนาดเล็ก ดีหรือไม่? บอกหน่อย

ข้ามก้าว“การยุบ การควบรวม” แล้วพัฒนาให้ตรงจุดดีไหม?

กระแสการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นในนโยบายรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในยุคนี้ แต่เกิดขึ้นมาแล้วเป็นช่วงๆ ตั้งแต่หลายปีก่อน เป็นต้นมา คล้ายกับขว้างหินถามทางว่าพร้อมที่จะยุบหรือควบรวมหรือไม่? เพื่อประหยัดงบประมาณให้สมดุลคุ้มค่า ตามนโยบายที่ตั้งไว้ โดยให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ทั้งออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง รวมหรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2550 มีการสำรวจข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กที่ควรรวม ควรยุบ หรือมีลักษณะพิเศษ ที่ไม่สามารถรวมกับโรงเรียนอื่นได้ ทำให้ครู ผู้บริหารต้องตื่นตระหนก เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในการปฏิบัติงานให้เกิดคุณภาพตามอุดมการณ์แบบคละชั้นหรือรวมชั้น  นั่นเท่ากับผลักดันให้โรงเรียนขนาดเล็กต้องอยู่ด้วยคุณภาพ(แบบเดี่ยว) หรือต้องสร้างเครือข่ายคุณภาพกับโรงเรียนใกล้เคียง(ที่เราคุ้นเคยว่า.....โมเดล นั่นเอง) ดังนั้นทุกครั้งที่เกิดกระแสการยุบ การรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จึงมีทั้งผู้คัดค้าน และผู้เห็นด้วย ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน

ผู้เห็นด้วย

- เด็กๆได้เรียนกับครูในโรงเรียนที่มีมาตรฐานสูงกว่าเดิมมีสื่อ มีแหล่งเรียนรู้พร้อม

-ประหยัดงบประมาณในการบริหารจัดการ(แต่ต้องลงทุนซื้อรถตู้)

- เห็นว่าได้ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กแบบใหม่

- การตัดสินใจยุบ เลิกต้องฟังเสียงชุมชนอยู่แล้ว

ผู้ไม่เห็นด้วย

- โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยมีการบริหารจัดการที่ดีมีคุณภาพ (จิ๋วแต่แจ๋ว) อยู่แล้ว

- เด็กที่ขาดโอกาส เด็กพิเศษเรียนร่วม ได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดมากกว่า

- สภาพภูมิศาสตร์บางพื้นที่ไม่เอื้อต่อการควบรวมโรงเรียน

- ที่จริงเรื่องขนาดเล็ก หรือครูไม่ครบชั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะโรงเรียนรับรู้สภาพข้อจำกัด และได้แก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้ได้ลงตัวอยู่แล้วเช่น สอนแบบคละชั้น สอนแบบบูรณาการ สอนแบบฐานการเรียนรู้ ฯลฯ การเรียนรู้ของเด็กในปัจจุบันขึ้นอยู่กับการออกแบบวิธีเรียนวิธีสอน ครู ในความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือสามารถใช้สื่อการสอนทางไกลรายการโทรทัศน์ obec channel เป็นสื่อช่วยครูได้

- โรงเรียนถือเป็นสถาบันหลักของชุมชนอันเป็นที่รักและหวงแหนของผู้คนในชุมชนหากจะยุบต้องไม่เหลือเด็กแล้ว และต้องใช้ประโยชน์กับอาคารสถานที่อย่างคุ้มค่า

ในสภาพที่เป็นจริง การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็กนั้นหลายโรงเรียน ครูสอนเด็กควบชั้นโดยครูคนเดียวแม้จะมีแนวปฏิบัติชัดเจนในการสอนคละชั้น สอนบูรณาการหลักสูตร หรือวิธีการอื่นๆ ที่คิดขึ้นให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกับโรงเรียนทั่วไป หลายโรงเรียนสามารถทำได้ดี หลายโรงเรียนทำได้วิเศษกว่าที่หลายคนคาดคิดเสียด้วยซ้ำ ซึ่งน่าจะยืนหยัดอยู่ด้วยคุณภาพ สามารถก้าวข้าม"การยุบ การควบรวม" ไปได้ โรงเรียนเหล่านี้พอจำแนกตามลักษณะการบริหารจัดการได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 โรงเรียนที่ผู้บริหารโรงเรียนมีภาวะผู้นำทางวิชาการสูงกล้าคิดนอกกรอบ ใส่ใจ ก้าวข้ามข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่มีอยู่ บริหารจัดการอย่างมุ่งมั่นอดทน เสียสละ จนเกิดรูปธรรมแห่งคุณภาพให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ปกครอง ชุมชน ได้รับการยอมรับ

กลุ่มที่ 2 โรงเรียนที่มีเครือข่ายเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการร่วมกันได้โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ อย่างเป็นระบบเหมาะสม สามารถรวมพลังเครือข่ายเป็นอำนาจต่อรองในการระดมทรัพยากรภายนอกมาพัฒนาคุณภาพเครือข่าย โดยครูและผู้ปกครองเป็นพลังสำคัญ และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

กลุ่มที่ 3 โรงเรียนที่เคยเป็นโรงเรียนขนาดกลาง แต่ยุบมาเป็นขนาดเล็กด้วยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ มีการพัฒนาที่ยั่งยืนมาแต่เดิม มีครูครบชั้น มีการบริหารจัดการเป็นระบบที่ดีมาก่อนอย่างสม่ำเสมอและได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรส่วนท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศกว่า 16,000 โรง ที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ต่างก็มีข้อจำกัดทั้งทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม ชุมชน ครู ผู้บริหาร ที่แตกต่างกัน แต่เมื่อโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน การเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงต้องยึดความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ไม่ใช่การใช้ปริมาณนักเรียนเป็นเกณฑ์ตัดสิน อย่างเดียว

อย่าลืมว่า เด็กที่ด้อยโอกาสจำนวนมากก็อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก  ครูที่ทำงานด้วยความเสียสละ อุทิศทุ่มเทก็มีอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก หลายชุมชนก็ยังรักและหวงแหนโรงเรียนของเขา แม้จะไม่เป็นโรงเรียนเด่น โรงเรียนดัง ก็ตาม โรงเรียนขนาดเล็กที่ด้อยคุณภาพก็ต้องถูกยุบโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ให้โรงเรียนขนาดเล็กที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์คุณภาพการศึกษาร่วมกับชุมชนอย่างมีภาคภูมิต่อไป เอางบประมาณที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์มาสนับสนุนการจัดการศึกษาในโรงเรียนเหล่านี้ให้มากๆ ....คุ้มค่ากว่าไหม? ในเมื่อการพัฒนาคุณภาพคนนั้น คือ หัวใจของการจัดการศึกษา



 

หมายเลขบันทึก: 536073เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณ และเห็นด้วยอย่างยิ่ง ครับ

ฟังมุมมองของผู้ประเมินภายนอก  และนักวิชาการหลายท่าน
ที่พยายามเสนอมุมมอง ความเข้าใจ และให้ความสำคัญกับปัญหาการศึกษา แต่ภายนอก

ในขณะที่การศึกษาที่แท้จริง เป็นเรื่องของคุณค่า..ความดี ความงาม และความจริง

ดีใจครับ ที่พบคนที่เข้าใจเรื่องคุณภาพ และหัวใจของการจัดการศึกษาจริง
ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินงบประมาณ สิ่งปลูกสร้าง สื่อ จำนวนนักเรียน และ...

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท