การประเมินผลจำเป็นครับ! เพื่อการพัฒนาตน คน และงาน


การประเมินผลยังเป็นการเรียนรู้ที่จดจำได้ดีด้วยวิธีหนึ่ง คล้าย ๆ กับการให้สุขศึกษาโดยการทำแบบทดสอบความรู้ ซึ่งเราพบว่าได้ผลมากกว่าการบรรยายให้กลุ่มเป้าหมายฟังเฉย ๆ

     ได้อ่านบันทึก “การประเมิน” ส่วนเกิน หรือ ความจำเป็น? ของ อ.ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด อดไม่ได้ที่จะให้ ความเห็นไป ทั้ง ๆ ที่เกรง ๆ อยู่ แต่ก็ด้วยใช่ว่าจะไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นออกไป หรือ เป็นเพราะ อ.ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด แล้วไม่กล้าให้ความเห็นใด ๆ แต่กลัวการเข้าใจผิดจากคนที่ไม่เข้าใจเสียมากกว่า เช่นเข้าใจว่า กล้าดีอย่างไร? เป็นต้น แต่โดยสรุป (ยิ้ม ๆ) เลิกกลัวหมดแล้วครับ

     ครั้งหนึ่งเป็นระยะเวลาที่ติดต่อกันหลายปี ผมมักจะเป็นผู้ถูกประเมินเสมอ เพราะทำงานระดับสถานีอนามัย ครานั้นผมเกลียดการมาประเมินมาก ทั้ง ๆ ที่ใช้ชื่อสวยหรูว่ามานิเทศงาน เพราะให้ความรู้สึกกับผม พี่ ๆ ที่สถานีอนามัย ว่าเราโง่เป็นนิสัย และเหมือนถูกย่ำยีทางความคิด เสร็จแล้วเขาก็กลับ เมื่อเรา 3 คน ที่รับนิเทศ (ถูกประเมิน) นั่งทบทวนหลังการนิเทศ/ประเมิน พร้อมทั้งทำรายงานส่งตามข้อแนะนำ/เสนอแนะ นอกจากเราไม่เห็นอะไรเลยที่เป็นเชิงรูปธรรมแล้ว เรามักจะสูญเสียความมั่นใจ/แรงใจไปอย่างน้อย 1-2 เดือนเสมอ หากผมมีโอกาสได้เป็นผู้ประเมินบ้าง ผมจะไม่ทำอย่างนี้เด็ดขาด เคยเป็นความคิดเมื่อครั้งเป็นผู้ถูกประเมิน

     ต่อมาผมมีโอกาสได้เป็นผู้ประเมินบ้าง เมื่อขยับมาอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ภาพเดิม ๆ อันทรงจำที่ติดตาอยู่เสมอ พร้อม ๆ กับคำปฏิญาณของตนที่ว่า “หากผมมีโอกาสได้เป็นผู้ประเมินบ้าง ผมจะไม่ทำอย่างนี้เด็ดขาด” วันนี้ผมจึงคิดว่าการประเมินน่าจะเป็นเครื่องมือของการพัฒนา ทั้งตัวผู้ประเมิน ผู้รับการประเมิน และองค์กรของเราเอง

     ผมจึงเลือกเทคนิค Empowerment Approach โดยให้เกิดบรรยากาศที่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจริง ๆ มักจะพบว่าหากไม่อคติใด ๆ ต่อกันจนเกินไป ผลจะออกมาเป็นกัลยณมิตรต่อกันดีมาก และดีต่อการประสานงานในห้วงเวลาต่อมาด้วย เช่นที่กำลังดำเนินการอยู่ 2 เรื่องในขณะนี้ คือ 1) ประเมินการจัดการงบ P&P ปี 2549 (งบประมาณส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค) งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพ ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ ประเมินหน่วยบริการเพื่อขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพ ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (แล้วจะมีบันทึกทยอยให้อ่านเป็นระยะ ๆ)

     ยังยืนยันครับว่าการประเมินผลจำเป็นเพื่อการพัฒนาโดยเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนก่อนดำเนินงานจริง (ประเมินความเป็นไปได้) จนถึงเสร็จสิ้นตามแผนงาน/โครงการแล้วครับ การประเมินผลยังเป็นการเรียนรู้ที่จดจำได้ดีด้วยวิธีหนึ่ง คล้าย ๆ กับการให้สุขศึกษาโดยการทำแบบทดสอบความรู้ ซึ่งเราพบว่าได้ผลมากกว่าการบรรยายให้กลุ่มเป้าหมายฟังเฉย ๆ เสียอีกครับ อ่านเพิ่มเติมเรื่องการประเมินได้ที่ Monitoring, Assessment, Appraisal, Evaluation 

หมายเลขบันทึก: 50324เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2006 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ถ้าผู้ประเมินทุกคน มีแนวคิดเดียวกับคุณชายขอบ ก็ดีสิคะ คนถูกประเมิน หรือ หน่วยงานรับการประเมิน จะได้ไม่ต้องมุ่งเน้น การกังวลเรื่องการจัดทำเอกสารกันมากเกินไป

 คุณ รัตติยา ครับ

     ตัวอย่างหนึ่งที่ผมออกประเมินแล้วผู้รับการประเมินต้องเตรียมตัว เพียงนิดเดียวจริง ๆ ตามบันทึกนี้ครับ  R2R: พัฒนาคน ด้วยการวิจัย เพื่อไปพัฒนางาน P&P

  • หายเงียบไปครับ
  • งานย่งหรือเปล่า

ประเมินให้เป็นกลางเพื่อการพัฒนาก็ดีค่ะแต่ถ้าประเมินตามอำเภอใจไม่ได้ผลเท่าไหร่นักนะค่ะ ดังนั้นต้องมีการวางระบบการประเมินให้ดีไม่ไห้เกิดการเลือกที่รักมักที่ชัง

คุณรัชนีวรรณครับ

     การประเมินอะไรก็แล้วแต่ ต้องเป็นกลางครับ หากสูญเสียสิ่งนี้ไป ก็จะออกมาไม่ดีแน่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท