R2R: พัฒนาคน ด้วยการวิจัย เพื่อไปพัฒนางาน P&P


งานวิจัยในงานประจำตามทัศนะผมต้องเนียนอยู่ในเนื้องาน ทำเพื่อ “พัฒนางาน” และได้การ “พัฒนาคน” ด้วย

     วันนี้เป็นวันแรกที่ผมและนาฏ ออกไปประเมินการจัดการงบ P&P ปี 2549 (งบประมาณส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค) งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพ ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการทำวิจัยในงานประจำ (R2R: Routine to Research) อีกชิ้นหนึ่ง ในปีนี้ งานนี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งต้องทำอยู่แล้วตามปกติ แต่เราได้ปรับให้เป็นงานวิจัยไปด้วย โดยเฉพาะหากตามแผนแล้ววันที่ 5 ต.ค 2549 เมื่อสรุปประเด็นได้แล้วหยาบ ๆ ก่อน ก็จะจัดเวทีให้ผู้ให้ข้อมูลจากแต่ละ CUP (เครือข่ายหน่วยบริการ) แห่งละ 2 คน มา ลปรร.ร่วมกันเพื่อตักตวงเอาส่วนเทคนิคการจัดการที่ดี ๆ ของกันและกันไปปรับใช้ในปี 2550

     อันที่จริงงานวิจัยในงานประจำตามทัศนะผมต้องเนียนอยู่ในเนื้องาน ทำเพื่อ “พัฒนางาน” ซึ่งชิ้นนี้ได้แถมคือนาฎ ได้เรียนรู้การทำงวิจัยชิ้นแรกในชีวิตไปด้วย หากประเมินที่นาฎวันนี้ นาฎทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมมากตรงที่เมื่อผมลืมประเด็นคำถาม (ข้ามไป) นาฎสามารถส่งสัญญาณและ Note น้อย ๆ ให้ผมได้เติมต่อจนครบ เรียกว่ามีความอิ่มของข้อมูลได้จากในแต่ละ CUP ทั้ง 2 CUP ผมเลยมองว่าการ Train ด้วยการแบ่งปันความรู้กันก่อนออกมาได้ผลระดับหนึ่งแล้ว และตรงนี้ก็ได้การ “พัฒนาคน” เห็น ๆ ยังมีประเด็นที่ต้องถอดอีกมาก แต่พึงพอใจมากทั้ง CUP เขาชัยสน และ CUP บางแก้ว สำหรับวันนี้ เป็นการประเมินโดยใช้ Empowerment Approach Technic เน้นที่การสร้างเสริมพลังให้แก่คนทำงาน

     สำหรับรายละเอียดคร่าว ๆ ของการประเมินคือจะใช้แหล่งข้อมูลประกอบด้วย Key Persons แต่ละ CUP ซึ่งเป็นเลขาฯ คปสอ./CUP Board และผู้รับผิดชอบงาน P&P ของ CUP ในส่วนเอกสาร/หลักฐานที่ใช้ก็จะมีสำเนารายงานการประชุม คปสอ./CUP Board และแบบสรุปแผนงาน/โครงการ P&P Com ปี 2547-2549 ใช้รูปแบบการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ จากสำเนารายงาน และ แบบสรุปแผนงาน/โครงการ และการสัมภาษณ์เชิงลึกด้วยข้อคำถาม กึ่งโครงสร้าง การทำ AAR ของ Key Persons ใช้เวที AAR การจัดการงบ P&P ของ CUP ทั้งนี้จะมีแผนฯ การออกประเมินดังนี้ 11 ก.ย.49 (วันนี้) เช้า CUP เขาชัยสน บ่าย CUP บางแก้ว, 18 ก.ย.49 เช้า CUP ป่าพะยอม บ่าย CUP ศรีบรรพต, 21 ก.ย.49 เช้า CUP ป่าบอน บ่าย CUP ปากพะยูน, 22 ก.ย.49 เช้า CUP ควนขนุน บ่าย CUP เมือง (รวมกิ่ง อ.ศรีนครินทร์), 27 ก.ย.49 เช้า CUP กงหรา บ่าย CUP ตะโหมด และวันที่ 5 ต.ค.49 จะได้สรุป/วิเคราะห์ผลการประเมิน และการสังเคราะห์ร่วมกันกับ CUP ต่าง ๆ

     ในเบื้องต้นวันนี้ทั้ง 2 แห่ง ก็พบจุดเด่น ๆ ที่ไม่เหมือนกัน หากในมุมมองผมแล้ว เพียงได้เรียนรู้กันและทั้ง 2 แห่งนี้นำไปใช้ จะแก้จุดปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างดี คือประเด็นการเบิกจ่ายงบฯ ล่าช้า และการพิจารณาโครงการล้าช้ากว่าจะได้ดำเนินการ หากทำได้ครบทั้ง 10 แห่ง คือค้นหาจุดดี ๆ ของเขาได้ แล้วเวทีวันที่ 5 ต.ค.49 นี้ใช้กระตุ้นให้เขาเล่ากันออกมาอีกครั้ง ก็จะเป็นการพัฒนางานสำหรับปี 2550 ได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้นแน่ ๆ



ความเห็น (15)
  • ให้กำลังใจสร้างสรรค์งานดีๆ นะคะ

   อยากให้อ.ชายขอบช่วยกรุณานำเสนอผลงานวิจัยนี้ในการประชุม ของโครงการของสปสช.ครั้งต่อๆไปตามที่ได้เรียนเชิญมาครั้งแรก วันที่ 4 ต.ค.นี้นะคะ   ความรู้นี้จะมีประโยชน์มากในการหารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับงาน P&P ต่อไป    แล้วดิฉันจะนัดอีกทีค่ะ

   ลัดดา

   ขอบคุณกับบันทึกที่ดี มีคุณค่า ที่ช่วยเพิ่มการเรียนรู้การทำวิจัยในงานประจำและขอเป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆต่อไปค่ะ
  • ดิฉันไม่ได้จับงานวิจัยโดยตรง ได้แต่เฉียดไปเฉียดมา แต่ได้อ่านบันทึกแล้วก็ทำให้เห็นภาพผู้ที่ทำงานอย่างตั้งใจจริง
  • ขอชื่นชมค่ะ

       มาดักเอาความรู้จากบันทึกของอาจารย์ชายขอบครับ  ผมก็ใช้แนวคิดเดียวกันครับ คือทำทุกเรื่องให้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะทุกเรื่องสามารถต่อท่อเชื่อมถึงกันได้เสมอ

  • ขอบคุณที่นำเสนอสิ่งที่ดีๆ มาให้เราๆ ได้อ่าน ได้รู้กันค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับการประเมิน แบบกัลยาณมิตร
  • และขอบคุณสำหรับการ ลปรร. เพื่อการพัฒนา
  • ว่าแต่ CUP ต่างๆ มีจุดดี จุดเด่น อะไรบ้างคะ อย่าลืมเล่าสู่กันฟังบ้าง
  • ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ (ยิ้มๆ)
  • แวะมาเก็บเกี่ยวแนวทางทำ R2R ครับ
  • ขอบคุณ

คุณพี่ Bright Lily

     ขอบพระคุณมาก ๆ ครับ สำหรับแรงใจ

ท่าน พ.ญ.ลัดดา ครับ

     ด้วยความยินดีครับ สำหรับวันที่ 4 ต.ค.ที่นัดไว้ ผมได้ลงบันทึกในสมุดนัดหมายไว้แล้วครับ
     สำหรับงานชิ้นนี้ ก็ใช้เวลาไม่นานนักครับจะเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าเดือนตุลาคม 49 ก็จะเรียบร้อย จริง ๆ ตอนนี้ผมกำลังเขียน Report อีกหลายเรื่องที่ได้รวบรวมข้อมูลไว้แล้ว เพียงแต่ก่อนนี้หากเวลาจัดการยาก เลยยังไม่เรียบร้อยครับ
     เรื่องที่คาดว่าจะเรียบร้อยในเดือนตุลาคมนี้เช่นกันคือ "ผลการอยู่เวรฯ นอกเวลาราชการของสถานีอนามัยในจังหวัดพัทลุง ปี 2549" ครับ

คุณ Laddawan wipoosanapan ครับ

     ขอบพระคุณมากนะครับ สำหรับกำลังใจ งานวิจัยในงานประจำ เป็นเรื่องเก่าก่อนครับ จริง ๆ คนที่เห็นเช่นเดียวกับผมคือคุณพี่สิงห์ป่าสักที่ได้ให้ คห.ไว้ด้านล่าง คห.คุณนะครับ "ทำทุกเรื่องให้เป็นเรื่องเดียวกัน"
     การพัฒนาตน และ งาน ผมมองว่ามีหลายวิธีที่แล้วแต่ใครจะถนัด และแต่ละวิธีนั้นก็นำมา ลปรร.กันได้เสมอ สำหรับผมอาจจะชอบและถนัดที่จะทำอย่างนี้ครับ

คุณพี่ศุภลักษณ์ ครับ

     ขอบพระคุณมากนะครับ สำหรับกำลังใจ วันนี้ตั้งใจมาเฉพาะตอบ คห.เลยครับ ก่อนหน้านี้หากไม่ได้ตอบในทันทีก็ไม่ว่ากันนะครับ ภารกิจยังพอหนาแน่นอยู่ครับผม

พี่สิงห์ป่าสัก ครับ

     ครูนงฯ กับพี่ชาญวิทย์ จะเรียกว่า "ดักไซ" ครับ
     ผมว่าหากเราแยกกันทำ มันดังจริงนะครับ แต่คนทำจะเหนื่อยและอาจจะเครียดด้วยครับ บูรณาการเข้าด้วยกันอย่าง "เนียนเข้าไปในเนื้อชีวิต" ดีกว่าครับ

น้องไออุ่น ครับ

     วันที่ออกประเมิน CUP เขาชัยสน เขานัดที่ สสอ. พี่หลงไปที่ รพ.จนได้เจอน้อง นั่นแหละครับ แล้วก็ได้เจอน้องปูด้วยจนได้รู้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ทีมงานเขาชัยสนนัดเครือข่ายคนพิการมาบูรณาการงานของปี 50 กัน ชื่นใจมากเลยครับ
     สำหรับจุดดี จุดเด่นของ CUP ต่าง ๆ รออ่านนะครับ จะทยอยนำเสนอออกมาเร็ว ๆ นี้ครับ ได้ไปเพียงแค่ 2 แห่ง ก็พบว่าแตกต่างกันมาก แต่ละแห่งมีดีกันเยอะมาก หากได้นำมา ลปรร.กันรับรอง พัทลุงไปโลดครับ

อาจารย์ Panda

     ขอบคุณนะครับ และยินดีมาก ๆ ครับ เพื่อ ลปรร.กันต่อ ๆ ไป

ติดตามงานวิจัย pp ของคุณชายขอบ อยู่ค่ะ เมื่อไหร่จะมีให้อ่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท