หลักสูตรแกน: สิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็น


แกนกลางคือแกนชีวิตที่บูรณาการสู่โลกรอบตัวของผู้เรียน

หลักสูตรแกน: สิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็น

 

 

 

เฉลิมลาภ  ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

          เมื่อครั้งที่เริ่มประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในราวปี พ.ศ. 2551-2553 นั้น  ความเข้าใจบุคคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่เกี่ยวกับคำว่า “หลักสูตรแกนกลาง” ซึ่งแปลจากคำว่า “core curriculum” นั้น ค่อนข้างจะเห็นสอดคล้องไปในทำนองว่า  หลักสูตรแกน หมายถึง ชุดของความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักเรียนทุกคน  ที่จะต้องทราบหรือปฏิบัติได้ (should know and be able to do) เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร  จากความเข้าใจดังกล่าว หลักสูตรแกนจึงมีฐานะเป็นกลุ่มหรือชุดของวิชาความรู้ต่างๆ ที่ผู้เรียนทุกคนจำเป็นจะ “ต้อง” เรียนเหมือนกัน  (required for all students) เพื่อให้สำเร็จการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน 

 

          ที่จริงแล้ว ความเข้าใจดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง  เนื่องจากแนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรแกนที่แท้จริงนั้น ค่อนข้างเชื่อมโยงกับแนวทางการจัดการศึกษาทั่วไปและการจัดการศึกษาเสรี (liberal education) ซึ่งมิได้มีมุมมองต่อหลักสูตรแกนว่าเป็นแต่เฉพาะชุดของวิชาหรือความรู้พื้นฐานเท่านั้น 

 

          สำหรับแนวคิดเรื่องการจัดการศึกษาทั่วไปสำหรับผู้เรียนทุกคน (general education) เป็น     การจัดการศึกษาที่มีเป้าหมายในเชิงปรัชญาว่า ผู้เรียนต้องสามารถแสวงหาอิสรภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเองได้ (free human being) ดังนั้น ผู้เรียนจึงควรที่จะได้ศึกษาหาความรู้ต่างๆ อย่างกว้างขวาง  ฝึกปฏิบัติเพื่อถ่ายโอนทักษะ เช่น  การสื่อสาร  การวิเคราะห์และการแก้ปัญหาไปสู่สถานการณ์ต่างๆ ในการดำเนินชีวิตจริง และสร้างความรู้สึก ค่านิยม คุณธรรมและสำนึกพลเมืองและการรับผิดชอบต่อสังคม  (social responsibility)  ผ่านกระบวนการการเผชิญประเด็นปัญหาต่างๆ  ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา ด้วยวิธีการศึกษาที่หลากหลายมากกว่าการใช้ความรู้จากเพียงวิชาเดียว (The Association of American Colleges and Universities, 2012: online) หลักสูตรแกนจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของการศึกษาทั่วไปและการศึกษาเสรี  ด้วยเหตุนี้ การมองว่าหลักสูตรแกนคือหลักสูตรที่รวมชุดความรู้และทักษะพื้นฐานต่างๆ ซึ่งมีนัยถึงการแยกออกจากกันเป็นเอกเทศ  จึงยังไม่ครอบคลุมความหมายของหลักสูตรแกนที่แท้จริง และทำให้เกิดสมมติฐานเกี่ยวกับหลักสูตรแกนว่าประกอบด้วยรายวิชาต่างๆ ที่เป็นพื้นฐาน 

 

          นักหลักสูตรในยุคหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มพิพัฒนาการนิยม (1896-) ได้ใช้กระบวนทัศน์ใหม่ในการพิจารณาหลักสูตรแกน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักการศึกษาเสรี ที่เห็นว่า หลักสูตรแกนคือหลักสูตรที่ใช้ปัญหาหรือบทบาทหน้าที่เชิงสังคมของการมีชีวิตอยู่ของผู้เรียน (social functions of  living) หรือก็คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงๆ ของผู้เรียนมาเป็นหลักในการสร้างหลักสูตร ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมไม่มีแยกเป็นรายวิชา ดังนั้น ความรู้และทักษะที่ผู้เรียนจะได้เรียน ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดจากการผสมผสานองค์ความรู้จากศาสตร์สาขาต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน (blending of knowledge)  แกนในที่นี้ จึงมิใช่แกนจากศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เป็นแกนอันได้แก่ ความรู้ ทักษะ ค่านิยมหลักๆ ที่ควรจะเกิดขึ้นจากการศึกษาปัญหาต่างๆ  ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน  ซึ่งรูปแบบหรือประเภทของหลักสูตรในปัจจุบัน ที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนก็คือ หลักสูตรบูรณาการ (integrated curriculum)  นั่นเอง

 

          จากมโนทัศน์ของหลักสูตรแกนข้างต้น เมื่อนำมาวินิจฉัยคำกล่าวที่ว่า หลักสูตรแกน ประกอบด้วยสาระการเรียนรู้ หรือองค์ความรู้แยกเป็น 8 สาระการเรียนรู้นั้น ก็จะเห็นได้ว่า มีความ  คลาดเคลื่อนไปมาก เพราะกระบวนทัศน์ของนักหลักสูตรในปัจจุบัน กล่าวถึงหลักสูตรแกนในลักษณะหลักสูตรแบบบูรณาการที่ได้หลอมรวมองค์ความรู้จากการวิชาต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  และองค์ความรู้เหล่านั้น จะใช้ไปเพื่อศึกษาและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้เรียน  หากกล่าวให้ชัดเจนขึ้น หลักสูตรแกนจึงมีลักษณะสำคัญ คือ  เป็นหลักสูตรแบบบูรณาการ เน้นไปที่การบูรณาการในลักษณะสหสาขาวิชา (interdisciplinary) ที่มีการผสมผสานหรือสอดแทรกความรู้ต่างๆ ข้ามวิชา โดยมุ่งศึกษาประเด็นต่างๆ (theme/issue) ที่ต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขาวิชามาใช้แก้ปัญหาหรือสร้างความเข้าใจ  ลดการกำหนดช่วงเวลาเรียนที่ตายตัวและแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดมาเป็นการศึกษาร่วมกันด้วยการใช้ช่วงเวลาที่มากขึ้น  และอาจใช้บุคลากรผู้สอนซึ่งได้แก่ ครูวิชาต่างๆ และผู้เกี่ยวข้องภายนอกเข้ามาร่วมกิจกรรมการศึกษาหรือแก้ปัญหากับผู้เรียน ดังที่กล่าวมานี้  กระบวนทัศน์ใหม่ที่มีต่อหลักสูตรแกน คือ การพิจารณาว่า หลักสูตรแกนมิใช่หลักสูตรที่ประกอบด้วยความรู้และทักษะในรายวิชาต่างๆ ที่แยกกัน (แยกสอน แยกประเมิน)  แต่หลักสูตรแกนที่ “ควรจะเป็น”  คือ การบูรณาการความรู้และทักษะที่เป็นแกนหลักในทุกๆ สาขาวิชามาใช้ในการแก้ปัญหาหนึ่งๆ ในชีวิตจริงของผู้เรียน  (ร่วมสอน  ร่วมประเมิน)


          เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาหลักสูตรแกนที่ใช้ในปัจจุบันจะพบว่า  มีลักษณะเป็นแกนแบบแยกวิชา ภายใต้อุดมการณ์และเป้าหมายของแต่ละวิชาที่ไม่เชื่อมโยงกัน  มากว่าจะเป็นแกนที่เกิดจากการ    หลอมรวมวิชาภายใต้บริบทปัญหาจริงในชีวิต ผลที่ตามมาก็คือ ผู้เรียนไม่สามารถที่จะประยุกต์ความรู้ในลักษณะ “ข้ามศาสตร์ ”ได้  และความรู้ที่เรียนไปไม่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาในชีวิต เพราะเป็นการเรียนจากตัวองค์ความรู้และพยายามที่จะ  “ลากเข้าความ”   ซึ่งมีข้อจำกัดอยู่มาก  เห็นได้ว่า  ผู้เรียนจะตั้งคำถามทันทีว่า “เรียนเรื่องนี้ไปทำไม” หรือ  “เรียนแล้วนำไปใช้อะไรได้”  ทั้งนี้ก็เป็นเพราะการศึกษาที่ใช้ตัวศาสตร์หรือตัวองค์ความรู้เป็นตัวตั้ง  โดยธรรมชาติจะมิได้มุ่งเน้นการนำไปใช้  ซึ่งต่างจากการนำปัญหาหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคมที่อยู่รอบตัวผู้เรียนมาเป็นตัวตั้งหรือเป็นแกน แล้วนำศาสตร์สาขาต่างๆ มาใช้ศึกษาหรือแก้ปัญหา เช่นนี้ ผู้เรียนย่อมจะเกิดความเข้าใจเพราะสิ่งที่ศึกษานั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิต คือ  เชื่อมโยงกับปัญหาที่ตนเองเผชิญอยู่ได้  ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัญหาชีวิตในช่วงวัยต่างๆ ปัญหาการปรับตัวหรือความสัมพันธ์ในครอบครัว  ปัญหาด้านเศรษฐกิจ  ความสัมพันธ์เชิง            พหุวัฒนธรรม  สุขภาพ  หรือแม้แต่กระทั่งปัญหาในระดับชาติ เป็นต้น 

 

          ข้อควรวิพากษ์สำหรับหลักสูตรแกนที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนักหลักสูตรและบุคลากรฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรที่จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ  เรายังจำเป็นจะต้องพัฒนาหลักสูตรตาม      กระบวนทัศน์ใหม่ อันเป็นกระบวนทัศน์ที่จะนำไปสู่การสร้างแกนกลางที่แท้จริงหรือไม่ และการที่เราใช้แกนจากวิชามากำหนดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน ให้มีความรู้หนึ่ง ทักษะหนึ่ง แยกกันไปตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 สาระการเรียนรู้เช่นนี้ จะก่อผลอย่างไรต่อผู้เรียนของเรา  อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรแกนตามกระบวนทัศน์ใหม่ว่า จะต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนความคิดของครูในฐานะผู้ใช้หลักสูตรแกนจากเดิมที่เชื่อว่า หลักสูตรแกนคือหลักสูตรที่ประกอบด้วยรายวิชาต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานและจำเป็นสำหรับผู้เรียน มาเป็นความคิดว่า หลักสูตรแกนคือหลักสูตรที่ประกอบด้วยประสบการณ์ต่างๆ ที่ผู้เรียนได้จากการศึกษาปัญหาทั้งของตนเองและชุมชน ผ่านการบูรณาการศาสตร์สาขาต่างๆ ด้วยเหตุนี้ 

 

          1.  ความเป็นรายวิชาต่างๆ จะสิ้นสุดลง  ชื่อวิชาตามศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น ชีววิทยา คณิตศาสตร์  ประวัติศาสตร์  ฯลฯ  ที่เป็นแบบตรงตัวจะหายไป และจะมีชื่อวิชา เช่น พลังงานทดแทน  คุณภาพชีวิต  ภาวะโลกร้อน  เอดส์และโรคติดต่อ  ฯลฯ จะเข้ามาแทนในลักษณะหัวเรื่อง (theme) ที่จะเชื่อมโยงกับศาสตร์หรือวิทยาการต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางแทน 

 

          2. ตารางเรียนแบบแยกช่วงเวลาในแต่ละรายวิชาจะสิ้นสุดลง  กลายเป็นตารางเรียนที่มีความยืดหยุ่น และแสดงการใช้เวลาในแต่ละหัวเรื่องที่มากขึ้น เช่น ศึกษาหัวเรื่องหนึ่งอาจต้องใช้เวลาศึกษา  2 สัปดาห์ เป็นต้น 

 

          3.  การวัดประเมินผลแบบแยกรายวิชาจะสิ้นสุดลง  แต่มุ่งเน้นการประเมินความสามารถในการประยุกต์ความรู้และทักษะจากวิชาต่างๆ มาแทนขณะที่ปฏิบัติกิจกรรมภายใต้หัวเรื่องหนึ่งๆ  ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ผู้ประเมินหลายคน และมิได้ใช้แต่เฉพาะแบบทดสอบในการประเมินเท่านั้น  

 

          4.  บทบาทในการแสดงความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาที่ตนเองรับผิดชอบเพียงลำพังจะ    สิ้นสุดลง แต่จะต้องเพิ่มบทบาทของผู้ช่วยเหลือและเชื่อมโยงศาสตร์ของตนเองเข้ากับวิทยาการ      สาขาอื่นๆ  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ครูจะเป็นผู้  “รู้ลึก”  อย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป แต่จะต้องเป็นผู้ “รู้รอบ” และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ ได้อย่างไม่ลำบากใจ

 

          คำถามคือ เมื่อหลักสูตรแกนตามกระบวนทัศน์ใหม่เป็นเช่นนี้  แล้วสังคมไทย ผู้จัดการศึกษากระแสหลักของไทยจะยอมรับได้หรือไม่  จะสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อปฏิบัติทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่  จะมีใครบ้างที่ยอมปรับเปลี่ยน จะมีใครบ้างที่จะยอมลดบทบาทในแกนหรือศาสตร์ของตนเองไป  เหล่านี้ล้วนแต่เป็นโจทย์ที่อาจจะยากในการแก้  แต่อย่างไรเสียก็เป็นโจทย์ที่มีคำตอบ  ซึ่งจะถูกหรือผิดนั้น ก็จะต้องผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักหลักสูตร ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ต่างๆ  ของหลักสูตร และตั้งคำถามในทันทีที่เห็นสัญญาณของมายาภาพบางอย่างของหลักสูตรเกิดขึ้น  

______________________________________________________

รายการอ้างอิง

The Association of American Colleges and Universities.  2012.  What is Liberal       Education?[Online]. Available from: http://www.aacu.org/leap/What_is_liberal          _education.cfm[2012, April 11].

 

หมายเลขบันทึก: 487506เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผู้น้อยขอคารวะ ความคิดท่านล้ำลึกจริงๆ หลักสูตรแกน ต้องการบูรณาการ แต่แท้จริงเป็นสาระ ที่แยกใครแยกมัน หรือคิดมาให้แบบเป็นดุ้นๆ หรือท่อนๆ อย่างนั้นใช่ไหม ซึ่งครูจะต้องไปปรุงแต่งอรรถรสในการสอนเอง หรือเปล่า

ชอบมากค่ะ โดนใจ เมื่อไหร่ก็จัดบูรณาการองค์รวม จัดกันเอง ตีกันเองใน รร. ก็มันขัดแย้งกับหลักสูตรแกนกลางที่จัดเป็นกลุ่มนี่แหละ คงต้องรอ พ.ศ. ไหน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท