บทรำพึงรำพัน "วันนี้..บนฐานรากของอดีต"


(๑)

ความกล้าหาญ
และความเสียสละของวันนี้
ย่อมพลิบานในวันพรุ่ง

...ในห้วงวันที่หวนกลับมาเยี่ยมเยียนน้องๆ ที่สำนักงานเก่า  พลอยได้หวนคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ที่ตรงนี้  จนกลั่นความคิดออกมาเป็นวาทกรรม หรือลำนำสั้นๆ ดังข้างต้น

 

(๒)
 
ในวันที่แดดร้อนอย่างไม่เป็นมิตรเช่นนี้  ผมมีเวลาได้นั่งสนทนากับตัวเองอย่างช้าๆ ภายใต้บริบทและสถานะของการงานใหม่ที่ตนเองได้ก้าวเข้ามารับผิดชอบ

หลายๆ ปีที่ผ่านมา  ผมคิดและขายฝันเกี่ยวกับกิจกรรมของนิสิตอยู่หลายอย่าง และหลายสิ่งอย่างที่ว่านั้น หลายคนก็ตั้งคำถามอย่างแจ่มชัดกับผมว่า "ยากยิ่งที่จะเป็นไปได้"

แน่นอนครับ ผมรู้เช่นนั้น รู้สึกว่า "มันยากมาก แต่ก็ไม่เชื่อว่ามันจะเป็นไปไม่ได้..."

ผมบอกเล่ากับทีมงานฉะฉานเสมอมาว่า "ทุกอย่างล้วนต้องลงมือทำ... สำเร็จ หรือไม่สำเร็จเป็นเพียงผลพวงของการลงมือทำ สำคัญว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่ทำ และสิ่งที่เราทำนั้น ส่งผลให้มีการเติบโตในตัวตนของเรากี่มากน้อย..."

ไม่แต่เฉพาะเท่านั้นหรอก- ผมยังบอกเล่าอย่างถี่ครั้งว่า "อุปสรรคที่ตระหง่านอยู่ตรงหน้านั้น เรามองเห็นมันแจ่มชัดกว่าปลายทางที่เราปรารถนาจะไปให้ถึง...แต่นั่นก็มิใช่หมายความว่า ผมจะจำนนต่อปัญหาที่ว่านั้น ตรงกันข้ามผมกลับยังมุ่งมั่นที่จะดุ่มเดินไปยังปลายทางแห่งความฝัน..."

ครับ-

ผมเป็นคนทำงานประเภท "นักเลงลูกทุ่ง"
ทำงานประเภท "ใจนำพา..ศรัทธานำทาง"
ทำงานประเภท "ถึงลูกถึงคน..จริงจัง จริงใจ"
และสำคัญคือ "ใส่ใจกับการถอดบทเรียนชีวิต"

 

(๓)

ความกล้าหาญ และความเสียสละของวันนี้ ย่อมพลิบานในวันพรุ่ง

ครับ-วาทกรรมข้างต้น เป็นสิ่งที่ผมและทีมงานได้กลับมาครุุ่นคิดกันอีกรอบ สิ่งที่คิดและวางระบบไว้เมื่อหลายปีที่แล้ว กลับกลายออกดอกออกผลอยู่หลายอย่าง  มันเหมือนคำตอบของการยืนยันได้ว่า "สิ่งที่ลงมือทำนั้น ไม่เคยมีอะไรสูญเปล่า ถึงแม้จะเห็นผลช้าไปหน่อย แต่สุดท้ายก็ผลิบานเป็นของขวัญให้กับเราและระบบที่เกี่ยวข้องกับเราอยู่ดี"

วันนี้ สิ่งที่เรากล้าคิด กล้าทำ กล้าเจ็บปวดในวิถีแห่งอดีตนั้น ก่อเกิดเป็น "ผลึกแห่งปัญญา" อยู่หลายอย่าง อย่างน้อยในความเป็นทีมก็ชัดเจนว่าระบบคิด "สอนงาน..สร้างทีม" ได้หยั่งรากลงในจิตใจของแต่ละคน  บนพื้นฐานของการ "จัดการความรักก่อนจัดการความรู้"

วันนี้ทีมงานดูจะมีความเป็นปึกแผ่น แน่นแฟ้น รักและเข้าใจกันมากกว่าที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด  ไปไหนไปกัน แบกรับร่วมกัน ยิ่งในวันที่ผมไม่ได้อยู่กับพวกเขา ยิ่งเห็นได้ชัดว่าพวกเขาทำงานด้วยกระบวนการแบบ "มีส่วนร่วม" มากขึ้น  และที่สำคัญคือกล้าที่จะปกป้ององค์กรด้วยตนเอง กล้าที่จะเสียสละด้วยการแบกรับความเจ็บปวด เพื่อรักษาระบบและธรรมเนียมอันดีงามขององค์กรไว้

 

(๔)

วันนี้-หลายสิ่งหลายอย่างผลิบานบนฐานคิดอันเป็น "ทุนในอดีต" ที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสียสละแบกรับและทานทนต่อสภาวะต่างๆ อย่างออกรสออกชาติ  อาทิ

       กิจกรรมนิสิต กลายเป็นหนึ่งใน "ยุทธศาสตร์" หลักของมหาวิทยาลัย
       กิจกรรมนิสิต ถูกยอมรับในมิติของการเป็น "บริการวิชาการแก่สังคม"
       นิสิตเริ่มคุ้นเคยกับกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้กลไกของ "การจัดการความรู้" (KM) มากขึ้น
       ทีมงาน หรือแม้แต่นิสิตบางกลุ่ม  เริ่มหาญกล้าในการเป็น "วิทยากรกระบวนการ" ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมากขึ้น
       กระบวนการพัฒนานิสิต (นอกชั้นเรียน) เติบโตไปสู่การเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างเป็นทางการในภาพของ "วิชาพัฒนานิสิต"
       การถอดบทเรียนสู่การเป็น "เรื่องเล่าเร้าพลัง" และ "การจัดการความรู้ผ่านภาพถ่าย" และถูกยอมรับเป็น "นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส"
       กิจกรรม "1 คณะ 1 หมู่บ้าน" กลายเป็นกระบวนการนำร่องสู่วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ว่าด้วยการบริการวิชาการแก่สังคม ภายใต้นโยบาย "1 คณะ 1 ชุมชน" และ "1 หลักสูตร 1 ชุมชน"
       
กิจกรรมนิสิต เป็น "สะพานใจ" เชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนรอบมหาวิทยาลัย เกิดเป็น "ลูกฮัก พ่อฮัก และแม่ฮัก" ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องในมิติต่างๆ
       การออกค่ายในแต่ละครั้ง เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ด้วยแนวคิด "ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า...ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้"  ดังจะเห็นได้จากการทำค่ายในแต่ละครั้ง นิสิต หรือองค์กรจะกลับมาพร้อมกับเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับ "บริบทชุมชน" อันหมายถึง ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯลฯ
      กองกิจการนิสิต มีกิจกรรมเชิงรุกด้านจิตสำนึกสาธารณะและเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง (โดยมหาวิทยาลัยเพื่อนิสิต) เช่น โครงการจดหมายจากมหาวิทยาลัยถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน,โครงการกฐินโบราณ

 

(๕)


นี่คือภาพสะท้อนเล็กๆ ที่เป็นผลพวงของการทำงานด้วยแก่นคิดที่ว่า

ความกล้าหาญ
และความเสียสละของวันนี้
ย่อมพลิบานในวันพรุ่ง

 

 

...
๑๕.๑๐ น.
บ้านหลังเดิม
ที่เป็นปัจจุบันในดวงใจ

 


 

หมายเลขบันทึก: 481163เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2012 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ขอชื่นชมการ..กล้าคิด ..กล้าริเริ่ม ..กล้าขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ค่ะ..ได้เคยเห็นผลงานจากกิจกรรมดีๆของเยาวชนของมหาวิทยาลัยมหาสารคามมากมายค่ะ..ขอให้กำลังใจในการช่วยกันสนับสนุนต่อไป

ผมได้ติดตามงานของคุณแผ่นดินผ่านเรื่องเล่ามาตลอด ขอชื่นชมและขอเป็นกำลังใจครับ

ผลึกก้อนใหญ่ทรงคุณค่า

ได้เรียนรู้ว่า  คิด  ทำ  บันทึก  ไตร่ตรอง  ย้อนมอง  เชื่อมโยง...ก้าวไป  ไม่หยุดนิ่ง

ชื่นชมและศรัทธาค่ะ

เห็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืนครับ น้องแผ่นดิน เยี่ยมมากๆ คงมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันอีก...

  • สวัสดีครับ อ.แผ่นดิน
  • แวะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจครับ

มีความสุขค่ะที่ได้เห็นบันทึกจากคุณแผ่นดินอีกครั้ง ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ค่ะ :)

ชื่นชมในความกล้าหาญ แต่อ่อนโยนต่อโลก ในแบบฉบับอาจารย์ค่ะ

ดีใจกับสิ่งที่อาจารย์คิด ทำ ในที่สุด ก็ได้รับการพิสูจน์คุณค่า

เชื่อเสมอว่า

สิ่งที่เหมาะควร ถึงเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ต้องปรากฎเติบโต

สิ่งที่ลวงตา แม้เริ่มต้นยิ่งใหญ่เพียงไร เวลาผ่านไปก็หดหายไร้ตัวตนในที่สุด

ประทับใจในประโยคนี้ ""ทุกอย่างล้วนต้องลงมือทำ... สำเร็จ หรือไม่สำเร็จเป็นเพียงผลพวงของการลงมือทำ สำคัญว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่ทำ และสิ่งที่เราทำนั้น ส่งผลให้มีการเติบโตในตัวตนของเรากี่มากน้อย..."

เหนื่อยแต่สู้เพราะหัวใจนำพา

เหนื่อยแต่ยังคงกล้าเพราะศรัทธานำทาง

เหนื่อยแต่ยังสร้างเพราะหนทางยังมี

เหนื่อยแต่ทนแรงเสียดสีเพราะมีคนรอความหวัง

เหนื่อยแต่ไม่ได้เดินลำพังเพราะพลังของหัวใจ

....ขอคารวะด้วยความรัก เคารพ และชื่นชมสุดหัวใจ..ครับ....

ผมกำลังฝึกฝนตนเองให้ใกล้สู่ คำหนึ่งที่ผู้รู้ท่านกล่าวไว้ว่าเป็นไปได้แน่นอน นั่นคือ "การทำงานคือการปฏิบัติธรรม"

ผมก็ไม่รู้ว่า พี่พนัสอายุมากหรือน้อยกว่าผม.... แต่หลังจากที่สัมผัสถึงผลงาน อุดมการณ์และความมุ่งมั่น ไม่กี่วันผมก็เรียกว่า "พี่พนัส" โดยไม่รู้ตัว

สุดยอดครับ

อ.ต๋อย

สวัสดีครับพี่นงนาท สนธิสุวรรณ

ก่อนหน้านี้หลายปีใครๆ ทักและเสนอแนะ หรือแม้แต่วิพากษ์ว่ากิจกรรมนิสิตของ มมส ไร้ทิศไร้ทาง แต่ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมียุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนานิสิตโดยตรงนั้น คือบทพิสูจน์หนึ่งว่าเรามาถูกทิศถูกทาง..พิสูจน์ว่ามหาวิทยาลัยเองก็ให้ความสำคัญต่อการพัฒนานิสิต ไม่น้อยไปกว่าการผลิตบัณฑิต

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

ขอสารภาพตามตรงครับ หลายสิ่งหลายอย่างในตัวผม หรือแม้แต่องค์กรต้นสังกัดของผมนั้น ก็เปลี่ยนแปลงมาจากการได้เรียนรู้จาก gotoknow.org  นั่นเอง

ด้วยความยินดีครับ GotoKnow เติบโตได้ทุกวันนี้ก็เพราะบันทึกดีๆ จากสมาชิกนี่เองครับ ผมนึกเสมอว่า GotoKnow คิดดูแล้วก็เหมือนร้านกาแฟ (แบบในอดีต) ที่ลูกค้ามีความสุขเพราะกาแฟอร่อย แต่กาแฟอร่อยก็เพราะลูกค้า อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขครับ

ที่จริงแล้วเปรียบเทียบไม่น้อยไปเลยครับ เพราะตอนนี้ GotoKnow ก็แปดปีแล้ว ผ่านการเปลี่ยนแปลงของอินเทอร์เน็ตมามากมาย แต่เราก็ยังอยู่เช่นเดิมครับ เหมือนร้านกาแฟจริงๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท