จากการที่ได้รับผิดชอบผลิตครูมา 34 ปีเต็ม ผู้เขียนมักจะได้ยินคำพูดว่า "จงทำตามคำที่ครูสอน แต่อย่าทำตามอย่างที่ครูทำ" ซึ่งเป็นคำกล่าวเหน็บแนมอาจารย์ที่สอนรายวิชาเกี่ยวกับวิธีการสอน (ในอดีต) หรือวิชาการจัดการเรียนรู้ (ในปัจจุบัน) ว่า เวลาสอนวิชาดังกล่าว อาจารย์จะบอกกับนักศึกษาว่า เมื่อพวกเธอไปสอนนักเรียนให้พวกเธอทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ตัวอาจารย์เองกลับใช้แต่วิธีการสอนแบบบรรยาย ไม่เคยสอนในแบบที่ได้แนะนำไปให้นักศึกษาดูเเป็นตัวอย่างเลย เมื่อนักศึกษาออกไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูที่โรงเรียน เขาและเธอจึงสอนแบบบรรยายตามอย่างที่เห็นอาจารย์สอนพวกตนมา เพราะสิ่งที่อาจารย์ทำให้ดูจะทำให้นักศึกษาจดจำและนำไปใช้ ถ้าอาจารย์ต้องการให้นักศึกษาจัดการเรียนรู้โดยวิธีที่อาจารย์บอกไป อาจารย์จะต้องให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ดังแนวคิดด้านการเรียนรู้ที่ "ขงจื๊อ (Confucius)" ล่าวไว้ว่า "ถ้าฉันเพียงแค่ได้ยิน ฉันจะลืม แต่ถ้าฉันเห็น ฉันจะจำได้ และยิ่งถ้าฉันได้ลงมือทำ ฉันก็จะยิ่งเข้าใจ"
Source : http://garr.posterous.com/i-hear-and-i-forget-i-see-and-i-remember-i-do
ผู้เขียนเองไม่ได้สอนในรายวิชาดังกล่าว ในปีการศึกษา 2550 ได้รับมอบหมายจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ให้ทำตำราและเป็นผู้ประสานงานการสอนวิชา "จิตวิทยาสำหรับครู" ซึ่งเป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาหลักสูตร "ครุศาสตรบัณฑิต (5 ปี)" ผู้เขียนได้เขียนและปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมตำราที่เขียนขึ้นทุกปีจากปี 2550-2553 โดยยึดสาระความรู้และสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพครูตามมาตรฐานความรู้ด้าน “จิตวิทยาสำหรับครู” ตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา ซึ่งได้กำหนด "สาระความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับครู" ไว้ 3 ประการ ได้แก่ 1) จิตวิทยาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการมนุษย์ 2) จิตวิทยาการศึกษา 3) จิตวิทยาการแนะแนวและให้คำปรึกษา และกำหนด "สมรรถนะทางจิตวิทยาสำหรับครู" ไว้ 4 ประการ ได้แก่ 1) เข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน 2) สามารถช่วยเหลือผู้เรียนให้เรียนรู้และพัฒนาได้ตามศักยภาพของตน 3) สามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือผู้เรียน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 4) สามารถส่งเสริมความถนัดและความสนใจของผู้เรียน (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. 2553: 107) ฉบับปี 2553 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดมีปกนอก และปกใน ดังนี้
ในภาคเรียนที่ 1/2554 ผู้เขียนได้รับผิดชอบสอนวิชาจิตวิทยาสำหรับครู 3 Section คือ Section 01, 02, และ 03 การจัดการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นวิชาใดก็ตาม ผู้เขียนจะบูรณาการ "การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้" ให้กับผู้เรียน ลงไปในวัตถุประสงค์เฉพาะของวิชานั้นๆ เพราะผลการวิจัยที่ผู้เขียนได้ทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) มาจากปี 2545-2552 ชี้ว่า การจัดการเรียนรู้ในลักษณะดังกล่าว จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง (Self-directed Learning) ได้อย่างยั่งยืนและเป็นผลดีต่อการเรียนรู้ทุกรายวิชา การพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ทำได้โดย 1) การกระตุ้นให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ 2) การเสริมสร้างพฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการอ่าน และ 3) การพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้จากการฟัง การอ่าน การคิดและการเขียนสื่อความ การสืบค้นทาง Internet การลงมือปฏิบัติจริง และการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น ในการจัดการเรียนรู้รายวิชา "จิตวิทยาสำหรับครู" ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เฉพาะที่จะให้นักศึกษาเรียนรู้ว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดทางจิตวิทยานั้น มีลักษณะการดำเนินการเป็นอย่างไร ผู้เขียนจึงได้แสดงให้นักศึกษาดูและให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ตั้งแต่สัปดาห์แรกถึงสัปดาห์สุดท้าย จึงไม่ต้องบอกกับนักศึกษาว่า "จงทำตามคำที่ครูสอน แต่อย่าทำตามอย่างที่ครูทำ" การจัดการเรียนรู้ในสัปดาห์แรก ซึ่งเป็น "กิจกรรมเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน" ตามกฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness) ของ Thorndike นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่มีว่า "เมื่อผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเรียน จะทำให้เรียนรู้ได้ดีกว่าเมื่อไม่มีความพร้อม" ผู้เขียนได้จัดกิจกรรมโดยกำหนดผลลัพธ์ที่คาดหวังเฉพาะวิชา ไว้ดังนี้
1. ผู้เรียนและอาจารย์ประจำวิชา และผู้เรียนด้วยกันได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในตัวตนของกันและกันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน อันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเรียนรู้ร่วมกัน
2. ผู้เรียนได้มีโอกาสพินิจพิจารณาและทดสอบตนเองในด้านต่างๆ ทำให้มีความเข้าใจในตนเองมากขึ้น และการมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนเรียน จะทำให้เรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
3. อาจารย์ประจำวิชา มีข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลที่ได้จากผลการทดสอบผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ การส่งเสริมการเรียนรู้ และการพัฒนาผู้เรียนให้ถึงขีดสูงสุดตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน
4. ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาทางวิชาชีพ และการได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ทำให้มีทักษะในการนำหลักการและแนวปฏิบัติทางจิตวิทยาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ การรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล การเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ การจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะการฟัง การตั้งคำถาม การรับรู้และการจำ การคิด และการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น
นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนกับผู้เขียนในภาคเรียนนี้ ร้อยละ 92.71 เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่เหลือเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 84.38) เรียนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ที่เหลือเรียนสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ ผู้เขียนเริ่มกิจกรรมด้วยการจัดให้ผู้เรียนนั่งเป็นคู่ โดยเลขที่ 1 คู่กับเลขที่ 2 เลขที่ 3 คู่กับเลขที่ 4 ไปตามลำดับ คนที่คูู่กันจะนั่งคู่กันตามแถวตอนเพื่อไม่ให้ชำเลืองดูว่าคู่ของตนเขียนอะไร ต่อจากนั้นแจกกระดาษเขียนตอบให้คนละแผ่น และบอกว่า ต่อไปจะเป็นการทดสอบการฟังเพื่อดูว่าใครจะมีสมาธิและปฏิบัติตามข้อกำหนดได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ให้ถามเพื่อน ถ้าฟังไม่ทันหรือไม่เข้าใจให้ยกมือถามอาจารย์
เมื่อผู้เรียนพร้อมแล้ว ก็บอกให้ทำไปตามลำดับ เริ่มจากบอกให้เขียนคำว่า Section 01 (02, 03) ในกรอบสี่เหลี่ยมที่หัวกระดาษ และเขียนหมายเลขคู่เป็นเลขไทยถัดลงมาในกรอบสี่เหลี่ยมนั้น ต่อจากนั้นให้กรอกข้อความที่หัวกระดาษให้ครบถ้วน เสร็จแล้วให้เขียนเลขข้อนอกเส้นกั้นหน้าเป็นเลขอารบิก และเติมข้อความในแต่ละข้อ เริ่มจาก
1. ข้าพเจ้าเรียนในสาขาวิชา.....จบ ม.ปลายจากโรงเรียน.....(หมู่เรียน และวิชาอยู่ที่หัวกระดาษ)
2. อาจารย์ประจำวิชานี้ ชื่อ..............................(นักศึกษาจะรู้ชื่อวิชาและชื่ออาจารย์ประจำวิชาจากการลงทะเบียนออนไลน์แล้ว เพราะในการลงทะเบียนนักศึกษาแต่ละคนจะเลือกว่าจะลงทะเบียนเรียนวิชาใดในวัน-เวลาใด ที่มีใครเป็นผู้สอน) ตามด้วยข้อความว่า 1 คำถามที่ขอถามเพื่อให้รู้จักอาจารย์มากขึ้นคือ..............................เสร็จแล้วก็ให้แลกกันตรวจให้คะแนนการฟังและปฏิบัติตามข้อกำหนดกับคู่ของตน ถ้าที่ใดกรอกถูกต้องจะได้ที่ละ 1 คะแนน รวม 15 แห่ง เต็ม 15 คะแนน ถ้าที่ใดไม่ได้กรอกหรือกรอกไม่ถูกต้องก็จะไม่ได้คะแนน แล้วแปลความหมายคะแนนรวมที่ได้ตามเกณฑ์ ว่าเป็นผู้มีสมาธิและทักษะการฟังในระดับใด สำหรับคำถามที่ต้องการถามอาจารย์ นั้นวัดทักษะการตั้งคำถาม ว่าถามได้เจาะจงและชัดเจนหรือไม่ เช่น ถ้าถามว่า "อาจารย์จบการศึกษาสูงสุดจากมหาวิทยาลัยใด" จะถือว่าเป็นคำถามที่ชัดเจนและเจาะจง แต่ถ้าถามว่า "อาจารย์จบจากมหาวิทยาลัยใด" ถือว่าไม่ชัดเจน เพราะไม่ชัดว่าเป็นการจบการศึกษาระดับใด (อาจารย์จะตรวจเองภายหลัง) จากนั้นให้ผู้ตรวจบอกตามลำดับเลขที่ว่า เลขที่นั้นๆ ถามคำถามว่าอย่างไร ถ้าเลขที่อื่นๆ ถามคำถามเดียวกันก็ให้บอกได้เลย โดยอาจารย์จะบันทึกคำถามทั้งหมดอย่างรวดเร็ว
ข้อที่ 3-4 เป็นการทดสอบการติดตามข้อมูลข่าวสารในวงวิชาชีพครูที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ข่าวแรกเป็นข่าวเกี่ยวกับการซื้อขายวุฒิป.บัณฑิตวิชาชีพครู ซึ่งเป็นข่าวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนมาจนถึงปัจจุบัน โดยให้เขียนว่ารู้หรือไม่รู้ข่าวที่ระบุ ถ้ารู้ให้เขียนย่อๆ ว่า รู้ว่าอย่างไร และข่าวที่สองเป็นข่าวเกี่ยวกับผลการสอบวัดเพื่อประเมินการจัดการศึกษาของชาติ (ONET : Ordinary National Education Test) ในปีการศึกษา 2553 ในระดับชั้น ป. 6, ม. 3 และ ม. 6 โดยให้ระบุว่า 3 กลุ่มสาระใดที่มีผลการสอบต่ำสุดในระดับม.ปลาย
ข้อ 5 วัดทักษะการอ่านเชิงวิเคราะห์ (ให้วิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยให้เลือกบทกวีบูชาครูของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 1-2 บาทที่ติดกัน ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับบทบาทของครูตามที่กำหนดให้) เสร็จแล้วให้ส่งกระดาษคำตอบที่อาจารย์เป็นคู่ แล้วให้พัก 15 นาที ช่วงที่นักศึกษาพักอาจารย์ก็จะตรวจคำตอบข้อ 3-5 อย่างคร่าวๆ
เมื่อนักศึกษากลับเข้าชั้น อาจารย์จะให้ทุกคนยืนเป็นครึ่งวงกลมใหญ่ 1 วง โดยยืนตามลำดับเลขที่ แล้วอาจารย์ตอบคำถามที่นักศึกษาถามเกี่ยวกับอาจารย์ (วิเคราะห์การตั้งคำถามให้ฟังด้วยว่า ถามอย่างไรถือว่ามีความชัดเจน เจาะจง อย่างไรไม่ชัดเจน หรือไม่เจาะจง) รวมทั้งแสดงหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเวลาติดต่ออาจารย์ (05.00-07.00 และ 21.00-24.00 น.) email-address ห้องทำงานและวิธีส่งงาน จากนั้นให้ผู้เรียนพิจารณาว่า ตนมีอะไรเป็นลักษณะเด่น และลักษณะนั้นๆ จะแทนด้วยสัญลักษณ์ใด แล้วอาจารย์เรียกชื่อในลักษณะสุ่มแบบกระจาย ผู้ที่ถูกเรียกชื่อให้ยกมือ เมื่ออาจารย์พยักหน้า ให้บอกว่าตนเองมีอะไรเป็นสัญลักษณ์พร้อมด้วยแสดงท่าประกอบสัญลักษณ์นั้นไปในเวลาเดียวกันกับที่พูดคำหรือข้อความนั้น ทั้งนี้เพื่อให้เพื่อนๆ รับรู้ด้วยสมองทั้งสองซีก (ซีกซ้ายรับรู้เป็นภาษา ซีกขวารับรู้เป็นภาพ) และอาจารย์บันทึกภาพเป็นภาพเคลื่อนไหวไว้ให้นักศึกษาดูบุคลิกภาพด้านการพูดจาและกิริยาท่าทางของตน ในสัปดาห์ถัดไป
เมื่อผู้เรียนบอกและแสดงสัญลักษณ์ของตนครบทุกคนแล้ว ให้แต่ละคู่ไปรับกระดาษคำตอบคืน แล้วกลับไปนั่งที่เดิม และเขียนตอบข้อที่ 6
6. สัญลักษณ์ของเพื่อนๆ ที่ข้าพเจ้าจำได้ มีดังนี้ 1).........2).........3)............ (ให้เวลา 5 นาที)
7. สัญลักษณ์ของข้าพเจ้าคือ...........หมายความว่า............... (3 นาที)
8. ให้ผู้เรียนทุกคนเขียนความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นจริงๆ ทั้งในขณะที่ทำกิจกรรมและหลังทำกิจกรรม โดยเขียนได้ไม่จำกัดทั้งทางบวกและทางลบ (ให้เวลา 3 นาที) โดยชี้แจงไม่ให้กังวลว่าถ้าเขียนทางลบจะเป็นผลเสียต่อผลการเรียนในวิชานี้ เพราะอาจารย์เพียงต้องการข้อมูลย้อนกลับเพื่อนำไปใช้พิจารณาปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ในวิชานี้เท่านั้น และการวัดประเมินทุกๆ ด้านที่ให้นักศึกษาทำ เป็นเพียงต้องการรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และพื้นฐานในด้านต่างๆ ของผู้เรียแต่ละคน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ ให้แต่ละกลุ่มไม่มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกัน และนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาผู้เรียนตามพื้นฐานแต่ละด้านของแต่ละคน และจะให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนรู้จักและเข้าใจตนเองในแต่ละด้าน ในสัปดาห์ถัดไป
หลังจากที่ผู้เขียนได้นำกระดาษคำตอบของผู้เรียนไปตรวจเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ทำตารางวิเคราะห์ข้อมูลผู้เรียนเป็นรายบุคคลดังตัวอย่างที่แสดงผลการวิเคราะห์นักศึกษา Section 01 จำนวน 7 คน จากทั้งหมด 45 คน ข้างล่าง
ผศ.วิไล แพงศรี วิชา 1052101 จิตวิทยาสำหรับครู 3 (2-2-5) พฤ. (08.00-11.20) Section 01 ห้อง 32.602
No/Na CG |
Bra |
Sch |
Sym |
M 5 |
L3 |
R 3 |
W 3 |
F 3 |
C 3 |
T20 |
Questions |
2 คมสันต์ Q๑ |
SS |
กันทรลักษณ์ฯ |
เลข 1 |
4 |
3 |
2 |
3 |
1 |
2 |
15 |
วิธีสอนเป็นอย่างไร |
3 วุฒินันท์ Q๒ |
SS |
ศรีเมืองวิทยาฯ |
ปลาไหล |
4 |
2 |
3 |
2 |
2 |
1 |
14 |
มีอุปนิสัยแบบไหน |
5 พรณะรินทร์ Q๓ |
S |
หนองขอนวิทยาฯ |
แก้วน้ำ |
4 |
2 |
3 |
3 |
1 |
2 |
15 |
เกณฑ์การให้คะแนน |
6 ชยาภรณ์ M๑ |
S |
เขื่องในพิทยาฯ |
ดอกไม้ |
4 |
1 |
3 |
3 |
1 |
3 |
15 |
เกณฑ์การให้คะแนน |
7 ณัฐรดา C๒ |
S |
เขื่องในพิทยาฯ |
นก |
4 |
1 |
3 |
2 |
2 |
3 |
15 |
เป็นอาจารย์ที่นี่กี่ปี |
8 ธารดา Q๔ |
S |
กันทรลักษณ์ฯ |
ไม้ไผ่ |
4 |
1 |
1 |
1 |
1 |
2 |
10 |
เทคนิคการสอน |
9 บุญเนตร Q๕ |
S |
พิบูลมังสาหาร |
นก |
4 |
2 |
1 |
3 |
2 |
2 |
14 |
ความรู้สึกต่อผศ. |
ช่องที่ 1 กรอกเลขที่ ชื่อ รหัส (ตามผลการวัดด้านที่คะแนนดี/ข้อมูลทางชีวสังคม เช่น M๑ คือผู้ที่มีได้คะแแนความจำสูงของกลุ่ม ๑) หมายเลขกลุ่ม ช่องที่ 2 สาขา ช่องที่ 3 จบม.ปลายจาก ช่องที่ 4 สัญลักษณ์ประจำตัว ช่องที่ 5 ระดับความสามารถในการจำ (5 คือ ระดับสูงที่สุด 4 สูง 3 ปานกลาง 2 ต่ำ และ 1 ระดับต่ำที่สุด) ช่องที่ 6 การฟัง ช่องที่ 7 การอ่านเชิงวิเคราะห์ ช่องที่ 8 การเขียนสื่อความ ช่องที่ 9 การติดตามข้อมูลข่าวสาร ช่องที่ 10 การสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ช่องที่ 6-10 ให้คะแนนโดยใช้ Rubrics มีเกณฑ์การประเมิน 3 ระดับ (3 หมายถึง ระดับดี 2 พอใช้ และ 1 ระดับต้องปรับปรุง) ช่องที่ 11 คะแนนรวม เต็ม 20 คะแนน และช่องที่ 12 คำถามเพื่อให้รู้จักอาจารย์มากขึ้น
ตัวอย่างสัญลักษณ์และความหมาย (ผู้เขียนได้ปรับคำอธิบายของบางคนให้ข้อความกระชับขึ้น)
"สัญลักษณ์ (Symbol)" เป็น "ภาพลักษณ์ (Image)" ที่นักศึกษาใช้แทน "ตัวตน (Self)" ของตัวเอง ดังตัวอย่างสัญลักษณ์และความหมายที่รวบรวมจากนักศึกษาทุก Section : "เลข 1" หมายความว่า ข้าพเจ้าไม่เหมือนใคร และไม่อยากให้ใครเหมือน ทำอะไรก็ต้องแตกต่างจากคนอื่น ..."ปลาไหล" หมายถึง การเคลื่อนที่รวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง เหมือนข้าพเจ้าที่ต้องการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ..."แก้วน้ำ" ซึ่งสามารถนำอะไรมาเติมเต็มได้ตลอด เหมือนข้าพเจ้าที่พร้อมจะรับความรู้-ประสบการณ์ใหม่ๆ เสมอ...."เสื้อยืดฟรีไซส์" เพราะเข้าได้กับทุกคน..."Z" เพราะชอบง่วงในห้องที่ครูสอนน่าเบื่อ หรือเรียนไม่เข้าใจ..."ไส้เดือนที่กำลังเคลื่อนที่ในพื้นดินแห้งๆ อย่างช้าๆ เพื่อที่จะไปหาความชุ่มชื้น แล้วยังให้ประโยชน์แก่สิ่งอื่นๆ เช่น การพรวนดินให้ต้น เปรียบกับข้าพเจ้าที่ทำอะไรช้าแต่ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด จนประสบความสำเร็จ และสามารถช่วยเหลือคนอื่นไปด้วย..."หนังสือที่ถูกปิดไว้" ในหนังสือหนึ่งเล่มมีความรู้และเรื่องราวมากมาย แต่ถ้าไม่มีใครมาเปิดอ่านมันก็ไม่มีประโยชน์ เหมือนข้าพเจ้าที่ผ่านประสบการณ์มาไม่น้อย รอคนสนใจมาเปิดอ่าน เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง..."กล้องถ่ายรูป" ข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบเก็บความทรงจำดีๆ ไว้กับตัว เปรียบเหมือนกล้องถ่ายรูปที่เลือกถ่ายสิ่งดีๆ เก็บไว้ และข้าพเจ้ายังสามารถจดจำผู้คนหรือสถานที่ต่างๆ ได้ดี..."แท่งสี" เพราะข้าพเจ้าชอบความสนุกสนาน มีสีสัน..."รูปสี่เหลี่ยม" เพราะข้าพเจ้าชอบทำอะไรอยู่ในกรอบ รวมถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วย รักสันโดษ ..."ก้อนหิน" เป็นคนปากแข็ง ใจแข็ง ไม่ยอมใครง่ายๆ..."ไม้บรรทัดเก่าที่เห็นสเกลบ้างไม่เห็นบ้าง" เหมือนข้าพเจ้าที่ถ้าอยากให้ตัวเองมีระเบียบก็จะใช้บรรทัดนั้นค่อยๆ วัดค่อยๆ ดูสเกล แต่บางครั้งชีวิตก็ใช้ไม้บรรทัดด้วยความไม่รอบคอบ วัดอย่างรวดเร็ว ..."พัดลม" เพราะใครมาอยู่ใกล้ผมจะมีความสุขสบายเย็นใจดี "สมุดบันทึก" เพราะชอบรับฟังประสบการณ์ของคนอื่นโดยไม่โต้แย้ง และ..."สีม่วง" เป็นสีที่เข้ากับสีอื่น ดูสวยงาม หมายถึง เข้ากับคนอื่นได้ง่าย บางมุมก็ดูอ่อนหวาน บางมุมก็ดูเคร่งขรึม ฯลฯ
ตัวอย่างการเขียนสะท้อนความรู้สึกนึกคิด (ย่อหน้าที่ 1-2 ยกมาทุกตัวอักษร ย่อนหน้าที่ 3 ยกข้อความที่ไม่ซ้ำมา)
ผู้เข้าเรียนในสัปดาห์แรกมีจำนวน 94 คน (จากจำนวนเต็ม 96 คน) ใน 94 คน มีเพียง 1 คน (ร้อยละ 1.06) ที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดทางลบ (Negative Reflection) จากประสบการณ์การเรียนรู้ ที่เหลือ 93 คน (ร้อยละ 98.94) สะท้อนความรู้สึกนึกคิดเชิงบวก (Positive Reflection) ตัวอย่างเช่น (ระบายสีความเห็นที่ไม่ซ้ำ)
...เท่าที่ข้าพเจ้าได้เข้ามาเรียน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ไม่เคยมีอาจารย์ท่านไหนให้ข้าพเจ้าได้ทำกิจกรรมแบบนี้ ข้าพเจ้าประทับใจในกิจกรรมที่ทำวันนี้มาก ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และฝึกความมีระเบียบความรอบคอบในการทำสิ่งต่างๆ และที่สำคัญได้ฝึกคิดอย่างลึกซึ้ง และได้รู้จักตัวตนของเพื่อนๆ ค่ะ...เป็นวิชาที่ฝึกให้ใช้ความคิด การวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อข้าพเจ้าและนักศึกษาทุกคนที่จะนำไปใช้ในวิชาอื่นๆ หรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ …สนุกกับการเรียนวันนี้ค่ะ เพราะอาจารย์มีการสอนที่หลากหลาย ผู้สอนก็อัธยาศัยดีกับนักศึกษา สามารถทำให้นักศึกษารู้จักกันในห้อง มีการบูรณาการไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย มีความคิดสร้างสรรค์ …ข้าพเจ้าไม่ชอบการบีบบังคับ แต่เรียนวิชานี้แล้วรู้สึกว่าข้าพเจ้ามีวินัยมากขึ้น แม้จะเป็นการเรียนเพียงเริ่มต้นเท่านั้น วิชานี้ทำให้ข้าพเจ้ารอบคอบขึ้นมาอีกระดับหนึ่งจากที่เคยทำงานอย่างปล่อยปละละเลย (คำที่ขีดเส้นใต้ควรใช้คำว่า "สุกเอาเผากิน" : ผู้เขียน) ชื่นชอบอาจารย์อีกอย่างหนึ่ง คือ อาจารย์จัดกฎควบคุมมาก แต่อาจารย์ก็สามารถทำให้นักศึกษารู้สึกผ่อนคลายและสนุกสนานได้ ซึ่งนั่นเป็นหลักอย่างหนึ่งที่ผู้เป็นครูต้องมีในจิตวิญญาณ…
...เพียงคาบแรกก็ทำให้รู้สึกประทับใจในรายวิชาและอาจารย์ผู้สอน ทำให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักเพื่อนๆ รู้ว่าตอนนี้เราคิดอะไรอยู่ และอาจารย์ก็เอาใจใส่กับนักเรียนทุกคน (คำที่ขีดเส้นใต้ควรใช้คำว่า "นักศึกษา" : ผู้เขียน) โดยเฉพาะกิจกรรมสุดท้าย ประทับใจมากๆ...อาจารย์มีแบบการสอนที่แตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ นักศึกษาได้พูด อ่าน เขียน ฟัง และคิดวิเคราะห์ในเวลาเดียวกัน ไม่ได้นั่งเรียนตลอด ทำให้ไม่รู้สึกเบื่อแม้จะเรียนหลายชั่วโมงก็ตาม...ข้าพเจ้ามีความตื่นเต้นเล็กน้อย และรู้สึกว่า วิชานี้มีความท้าทาย สนุกสนานกับการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นความคิดเป็นอย่างมาก และรู้สึกเกร็งเล็กน้อยที่ต้องนั่งเรียนกับรุ่นพี่ แต่ก็มีความสุขในการเรียนวิชานี้... ในการเรียนครั้งนี้ รู้สึกว่าได้เรียนอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่จำเจ ได้ฝึกทักษะในการฟัง การอ่าน การวิเคราะห์ ในรูปแบบที่แตกต่างจากที่เคยเรียนมา...ดิฉันรู้สึกว่า อาจารย์สอนแบบให้ได้คิด ให้เรารู้จักประเมินผู้อื่น การเข้าเรียนครั้งนี้ทำให้ดิฉันรู้สึกอยากเรียน ไม่น่าเบื่อ เพราะวิชานี้น่าจะมีประสบการณ์จากอาจารย์อีกมากมายที่จะสอนให้ดิฉันนำไปใช้กับชีวิตประจำวัน และในการประกอบวิชาชีพครู...ก่อนเรียนวิชานี้ ข้าพเจ้าคิดว่าต้องเป็นวิชาที่น่าเบื่อและเนื้อหาเยอะ แต่พอได้เรียนในครั้งนี้สนุกดีค่ะ อาจารย์ได้นำกิจกรรมมาช่วย ทำให้ไม่น่าเบื่อ แถมยังทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักกับเพื่อนๆ อีกด้วย...ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า เป็นการสอนในแนวทางแบบเป็นอะไรที่แปลกใหม่ ทำให้เรามีความกระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้น ทำให้เรารู้ว่าสิ่งเล็กๆ เราก็ไม่ควรที่จะมองข้ามไป ทำให้เรารักวิชาชีพครูมากขึ้น ...อาจารย์เดินเข้ามาตอนแรกเหมือนจะใจร้าย แต่จริงๆ แล้วอาจารย์ใจดีมากๆ มีความกระตือรอร้นกับวิชานี้มาก เพราะอาจารย์มีสิ่งกระตุ้นตลอด ทำให้ไม่ง่วงนอนเลย...
...หวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิชานี้จะทำให้ข้าพเจ้าพัฒนาขึ้น มีลักษณะเป็นครูอย่างแท้จริง อาจารย์ผู้สอนเป็นกันเองดี...รู้สึกตื่นเต้นเนื่องจากเพิ่งเปิดเทอมและได้เรียนวิชานี้เป็นวิชาแรก (เป็นวันที่ 4 ของการเปิดเรียน : ผู้เขียน) ได้เรียนในรูปแบบที่แปลกใหม่ เรียนสนุก และมีความท้าทาย ฝึกให้กล้าแสดงออก...รู้สึกประทับใจที่อาจารย์พูดสื่อสารกับนักศึกษาด้วยรอยยิ้ม ...เป็นวิชาที่สอนเราจริงๆ เกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวเราและคนรอบข้าง...อาจารย์สอนให้รู้ถึงเหตุการณ์ปัจจุบันทำให้เป็นคนทันเหตุการณ์ และได้ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า...วิชานี้สอนให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด กล้าแสดงออกซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก...ได้เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ สนุกสนานดี และอาจารย์เป็นคนที่เอาใจใส่ในทุกเรื่องแบบจริงจังครับ...รู้สึกตื่นเต้นท้าทายในการเรียนอยู่ตลอดเวลาเพราะอาจารย์สอนสนุกมาก มีเนื้อหาสาระปนในกิจกรรมตลอด ไม่เครียด...เรียนวิชานี้ข้าพเจ้ารู้สึกสนุกสนานมากๆ ...เป็นวิชาที่ทำให้เรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นวิชาที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเป็นครู
เปรียบเทียบเสียงสะท้อนทางลบและทางบวกของนักศึกษาสองคนในการเรียนครั้งเดียวกัน
ทางลบ : ร้อนมากๆ ทำให้หงุดหงิดไม่มีสมาธิในการเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอนดูเหมือนจะพร้อมแต่กลับไม่พร้อมที่จะเรียนเลย อยากให้อาจารย์หาประสบการณ์ต่างๆ มาพูดแทรกบ้างในเวลาเรียน จะได้ไม่เครียดมากเวลาเรียน
ทางบวก : บรรยากาศก็เย็นดี (คำที่ขีดเส้นใต้ควรใช้คำว่า "อากาศ" : ผู้เขียน) อาจารย์ผู้สอนพูดจาไพเราะ เสียงดัง ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง ไม่ซีเรียส ให้เรานั่งกับเพื่อนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกัน อาจารย์ไม่ดุด่าว่านักศึกษา ชอบการสอนของท่านมากเลยค่ะ ท่านแต่งตัวสุภาพเรียบร้อยมาก สอนให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริงของเราด้วย
จากการที่มีผู้เรียนเพียง 1 จาก 94 คน ที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดทางลบ อาจารย์บางท่านอาจจะไม่ให้ความสำคัญและไม่ใส่ใจ เพราะเห็นว่าเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย (ร้อยละ 1.06) ที่มีอัตราส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับเสียงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 98.94) แต่ถ้าอาจารย์ใช้ "หลักจิตวิทยาในการเป็นครู" คือ หลักการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนทุกคน และหลักการยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคล อาจารย์จะไม่ตีตรา (Label) ว่านักศึกษาที่เป็นเสียงส่วนน้อยคนนั้น เป็นคนมีปัญหา (Deviated) แล้วยังจะหาทางช่วยให้เธอได้เรียนรู้อย่างมีความสุขมากขึ้นอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง
เลขาธิการคุรุสภา, สำนักงาน. (2553). รวมกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ สำหรับ
ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: ยงพลเทรดดิ้ง.
ขอเอาไปทดลองใช้ดูบ้างนะครับท่านอาจารย์ ขอบพระคุณมากครับที่ให้รายละเอียดไว้เป็นอย่างดี อ่านแล้วผมก็อยากยกมือตอบ
ท่านอาจารย์บ้างครับว่า...สัญลักษณ์ของผมคือ นักเรียน ....เพราะเป็นอาชีพที่ทำถนัดที่สุดแล้วครับผม (ฮ่าๆ)
อรุณสวัสดิ์ครับท่านอาจารย์
แวะมาทักทายยามเช้าก่อนตะลุยทำคะแนนปลายภาคส่งคณะฯวันนี้ครับผม
สวัสดีครับ อาจารย์
แวะมาอ่านมาเรียนรู้ วิชาครู รู้จักเพื่อน รู้จักตัวเอง จะได้ไม่หลง
ด้วยความเคารพรักค่ะ
วิไล
อรุณสวัสดิ์ครับอาจารย์
เช้านี้ผมกลับมาที่ห้องเรียนของอาจารย์อีกครั้งครับ...หลังจากที่ได้ศึกษาและจินตนาการตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น...พบว่าผมมีปัญหาด้านการวัดและประเมินอย่างร้ายแรง...จึงอยากขอเรียนรู้กับท่านอาจารย์(ทีแรกจะฝากตัวเป็นนักเรียน แต่ท่านอาจารย์ไม่รับลงทะเบียน) ดังนี้ครับ
ผมมีปัญหามากมายเหลือเกิน (7 ข้อ) ด้วยเพราะไม่เคยเรียนมาทางวิธีการสอน หรือวัดประเมินผลเลยครับ..."ยอมอายแต่อยากรู้และอยากเข้าใจจริงๆ"ครับท่านอาจารย์...
ปล. วิธีการสอนของผมนั้นที่ผ่านมาก็"จำมาจากครู"ทั้งนั้นครับ เพียงแต่ผมเลือกในสิ่งที่ผมชอบเวลาครูสอน มาใช้น่ะครับ...ส่วนอะไรที่ตอนเป็นนักเรียนแล้วไม่ชอบ ก็จะไม่เอามาใช้เลย...ฟังถึงดูไม่เป็น"ศาสตร์"สักเท่าไหร่ แต่ที่ผ่านมา ก็พอเอาตัวรอดมาได้ครับผม (สะท้อนจากที่นศ.เขียนประเมินการสอนครับ)... ผมกลับไทยอาทิตย์หน้าครับท่านอาจารย์ หวังว่าถึงตอนนั้น จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านอาจารย์อย่างเข้มข้นกว่านี้ครับ
อรุณสวัสดิ์ครับ อาจารย์แม่... (ผมอยากเรียกแบบนี้เช่นกันครับผม)
อ่านคำตอบจากอ.แม่แล้วก็ให้สะท้อนใจ... ผมไม่น่าตั้งคำถามมากมาย ในวันทำงานเช่นนี้เลยนะครับ รู้สึกเสียใจที่ทำให้อาจารย์แม่ที่สู้อุตส่าห์เขียนตอบในเวลาที่ควรจะได้พักผ่อน...ไปอย่างเปล่าดาย... ผมรู้ว่าอ.แม่ จะตอบว่าอะไร แต่ความรู้สึกตอนนี้ของผมคือ รู้สึกผิดจริงๆ ยิ่งท่านให้ผมเรียกว่าอ.แม่ ก็ยิ่งรู้สึกทราบซึ้งและคิดว่าตัวเองนี้ช่างใจร้ายกับผู้มีพระคุณต่อตัวเองจริงๆ...ขอกราบขออภัยอีกครั้งนะครับ.... และผมอยากให้อ.แม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ก่อน งานเขียนแบ่งปันนี้ ค่อยเขียนในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ได้ครับผม
ด้วยความห่วงใยครับ
สวัสดีค่ะ
ยังพิมพ์ไม่ถนัดค่ะ แวะมามอบดอกไม้ก่อนนะคะ จะติดตามมาอีกค่ะ
เมื่อเช้าได้แนะนำให้นักศึกษารู้จักลูกหนานวัฒน์ ทาง Blog และให้ข้อมูลว่า เป็นอาจารย์สังกัดคณะใด ที่มหาวิทยาลัยไหน ได้ไปอยู่ที่คุณหมิงช่วงเวลาที่นานพอสมควร แล้วให้นักศึกษาทายว่าอาจารย์ไปทำอะไร ปรากฏว่า นักศึกษาคนแรกที่ยกมือตอบ ตอบได้ถูกต้องว่า "ไปสอนภาษาไทยค่ะ"
อาจารย์แม่กลับเสียใจที่ทำให้ลูกหนานวัฒน์บอกว่า "รู้สึกผิดจริงๆ" และ "กราบขออภัย" ขออย่าได้รู้สึกเช่นนั้นเลย เพราะลูกหนานวัฒน์ทำให้อาจารย์แม่มีความสุขมาก ที่เห็นอาจารย์รุ่นหลังมีความใส่ใจที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน และมีความสุขที่ได้ให้การส่งเสริมสนับสนุน ยิ่งถามมากก็ยิ่งแสดงว่าต้องการเรียนรู้มาก และก็ยิ่งทำให้อาจารย์แม่มีความสุขมากตามไปด้วย รู้ไหมคะความดีความชอบพิเศษไม่อยู่ในสายตาของอาจารย์แม่ แต่ความสุขของผู้เรียนในการเรียนรู้และการแสดงออกถึงความต้องการที่จะเรียนรู้ต่างหากที่เป็นแรงจูงใจให้อาจารย์แม่ทุ่มเทให้กับการจัดการเรียนรู้ จนพ่อใหญ่สอบอกว่าอ.แม่เป็นบ้าที่เอาจริงเอาจังขนาดนี้ ปัญหามันอยู่ที่อาจารย์แม่ประมาทเองที่ไม่พิมพ์ใน Word ก่อน และอาจารย์แม่ก็พิมพ์ช้าด้วย (ไม่ได้พมพ์สัมผัสค่ะ)
เมื่อคืนนี้อาจารย์แม่มีปัญหาท้องร่วงด้วย เลยทำให้ตอนนี้ยังเพลียๆ อยู่ แล้วตอนนี้ระบบ Gotoknow ก็ดูยังไม่ปกติ เรียกเครื่องมือจัดการข้อความก็ไม่ได้ ข้อความท้ายบันทึกนี้ก็ยังไม่สามารถเติมได้เหมือนเดิม คงจะเป็นพรุ่งนี้เช้าที่อาจารย์แม่จะตอบคำถามนะคะ
ดีใจค่ะ ที่น้องคิมแวะมา เป็นไรเหรอคะ ถึงบอกว่า ยังพิมพ์ไม่ถนัด
อรุณสวัสดิ์ครับอ.แม่
รู้สึกเขินน้อยๆครับ ...ที่อ.แม่ (เอาจริง) แนะนำผมให้กับนักศึกษา หากความ"ใคร่รู้"ของผมจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเด็กๆบ้าง ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับผม และคงจะดีกว่านี้นะครับ หากพวกเขามีบล็อกหรือเข้ามาแชร์ประสบการณ์การเรียนรู้ในนี้ด้วย...หรือเผื่อบางทีจะได้มีโอกาสเสวนาวิชาการด้วยกันครับผม.. เพราะไหนๆตอนนี้ก็เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันไปแล้ว(...แน่ล่ะ ผมต้องได้เป็นรุ่นน้องนะครับ เพราะได้เรียนรู้กะอ.แม่ ทีหลังเขา...ฮ่าๆ)
ด้วยความระลึกถึงครับ
เด็กโข่ง
ปล. ครูพี่คิมท่านลื่นหกล้มครับผม...ถึงกับเข้าเฝือกกันเลยทีเดียว...นึกทีไรก็เคืองท่านเจ้าที่อยู่ไม่หายนะครับ
- แวะมารับความรู้เพิ่มเติมจากท่านอาจารย์ค่ะ
- ขอบคุณอย่างยิ่งค่ะ ที่แวะไปให้กำลังใจ
สวัสดีค่ะอาจารย์
*** ชอบบรรทัดนี้มากและขอนำไปใช้ ขอบคุณทุกบันทึกของอาจารย์ที่ทำให้ดิฉันได้เรียนอย่างรู้อย่างต่อเนื่องค่ะ
ครับอาจารย์ สร้างแพลนเน็ตได้แล้ว และมาส่งข่าวว่า ทางการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการคัดเลือกครูสอนดี
ก็ต้องมาฟังความคิดมุมมองคำว่า ครูสอนดี จากบรรด้พี่น้อง แวดวงทางการศึกษา ไปประกอบการพิจารณาครับ อาจารย์
ขอตอบคำถาม "ลูกหนานวัฒน์ " อาจารย์ม.ราชภัฏลำปางรุ่นใหม่ ผู้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้
Source : Jewelryfancub.com
ลูกขจิต คะ
ขอบคุณ "คุณครูกิติยา" ที่เขียนบันทึกเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง และอนุญาตให้ ผศ.วิไล นำไปใช้เป็นกรณีศึกษาในการอบรมครูแนะแนวจาก 5 จังหวัดจำนวน 894 คน (10 รุ่น รุ่นละ 3 วัน) โดยอบรมใน Module ที่ 4 การจัดกิจกรรมแนะแนวตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และใช้เป็นกรณีตัวอย่างในการจัดการเรียนรู้ "วิชาจิตวิทยาสำหรับครู" หน่วยที่ 3 การเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน (จิตวิทยาการศึกษา)
สวัสดีครับอ.แม่
ได้รับคำอธิบายนี้แล้วผมมีความมั่นใจในการนำกิจกรรมไปใช้มากขึ้น(เยอะ)เลยครับ ขอบพระคุณอ.แม่มากครับผม
ปล.ผมเจอเด็กๆในชม.เรียนวันจันทร์หน้า ได้ผลแล้วจะเอามาแบ่งปัน(สอบถาม)อีกครั้งครับผม
ขอบคุณอีกครั้งนะครับ หวังว่าอาจารย์ มีความสุขสบายดี นะครับ
แอบเข้ามาอ่านอีกครั้ง จะเอาไปปรับใช้บ้างครับ
อาจารย์ขาอ่านแล้วรู้จักการพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นค่ะ หนูจะนำไปใช้ค่ะ "ถ้าฉันเพียงแค่ได้ยิน ฉันจะลืม แต่ถ้าฉันเห็น ฉันจะจำได้ และยิ่งถ้าฉันได้ลงมือทำ ฉันก็จะยิ่งเข้าใจ"