เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการเขียนบล็อก


ดิฉันได้อ่านบันทึกของพี่จิ๊บเมตตาในวง Share (http://share.psu.ac.th/blog/metta-psu/18766) แล้วอยากเขียนแลกเปลี่ยนข้อความบางส่วนในบันทึกค่ะ 

"มีคนรักแชร์มากมายแต่มีความรู้สึกหนึ่งซ่อนเร้น ในภาวะที่งานมากๆ เขียนก็ได้ไม่เขียนก็ได้ เขียนก็ไม่ได้อะไร ไม่เขียนก็ไม่เสียอะไร"

 

1) เขียนก็ได้ไม่เขียนก็ได้

เห็นด้วยค่ะ ดิฉันคิดว่าการไม่บังคับให้เขียนเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วค่ะ อะไรที่บังคับคนจะไม่ค่อยอยากทำค่ะ ต้องทำให้เขาได้รู้ได้เห็นได้คิดเองค่ะ สร้างแรงจูงใจสมำ่เสมอ เขาจึงจะเปิดใจเพื่อการเขียนบันทึกแลกเปลี่ยนค่ะ

2) เขียนก็ไม่ได้อะไร

ดิฉันไม่เห็นด้วยค่ะ พิสูจน์ได้ค่ะว่าการเขียนผ่านบล็อกอย่างเป็นกิจวัตร ทำให้เกิดการพัฒนาคน พัฒนาเครือข่าย พัฒนาองค์กร และ พัฒนาสังคมได้ค่ะ ลองอ่านบันทึกนี้ค่ะ http://gotoknow.org/blog/tutorial4u/427774 

3) ไม่เขียนก็ไม่เสียอะไร 

ดิฉันไม่เห็นด้วยค่ะ การไม่เขียนทำให้เสียโอกาสของชีวิตในหลายๆ ด้านค่ะ เช่น เสียโอกาสในการฝึกฝนตนเองให้รู้จักทบทวนบทเรียนชีวิต เสียโอกาสในการเขียนตำนานชีวิตบอกเล่าลูกหลาน เสียโอกาสในการสร้างกัลยาณมิตร และ เสียโอกาสในการตอบแทนสังคมและประเทศได้ง่ายๆ ด้วยการเขียนค่ะ

ไม่ต้องเขียนทุกวัน ไม่ต้องเขียนทุกอาทิตย์ เขียนเมื่อไรก็ได้ที่อยากเขียน เพียงขอให้สุขใจและเห็นคุณค่าในการเขียนค่ะ

คิดเห็นอย่างไรต่อยอดกันได้นะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

จันทวรรณ

หมายเลขบันทึก: 430076เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2011 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2014 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

เห็นด้วยกับเรื่องการเขียน

การแชร์อะไรก็ตามที่เราคิด เขียนทุกวัน มันคือการกลั่นกรองสิ่งที่เราทำ ทั้งที่เราตั้งใจและบางอย่างที่ทำจากความไม่ตั้งใจ

 

แน่นอนสิ่งทีเกิดในวันนั้นมันคงไมได้ถูกต้องทุกอย่าง แต่ถ้าเราปล่อยมันไปไม่ได้ทบทวนมันก็จะผ่านไป

 

ผมเชื่อว่าการเขียนคือการทบทวนอะไรๆ อย่างน้อยการระลึกได้ว่าวันนี้มีสิ่งที่ไม่น่าทำระหว่างวันก็คือการเรียนอย่างหนึ่ง

 

และสิ่งที่ได้ตามมาแน่ๆ ...การรวมความประทับใจที่เกิดขึ้นทุกวันให้เป็นฟืนต่อไปในวันข้างหน้าคับ

ผมชอบเขียนสั้นๆ อธิบายผ่านรูปมากกว่าครับ

ในความคิดผมคิดว่า จำเป็นภาพ จำได้นานกว่าเป็นตัวอักษรครับ

ในอดีตผมชอบอ่านหนังสือ นวนิยายจีนกำลังภายใน อ่านแล้วอิน จินตนาการเป็นภาพ

ตอนนี้เรื่องยากๆอย่างเรื่อง เกษตร ก็เลยต้องถอดออกมาเป็นภาพ เป็นตัวอย่างการปฏิบัติให้เห็นเป็นภาพ ง่ายต่อการสื่อสาร และเพิ่มพูนความเข้าใจ  มากยิ่งขึ้นครับ

ขอบคุณครับ

พี่แก้ว พิสูจน์แล้วค่ะ

  • การเขียนทำให้เราพัฒนาความคิด
  • การเขียนทำให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและคนทั้งในและนอกวิชาชีพ
  • การเขียนทำให้เรารู้จักกัลยาณมิตร มาร่วมทำสิ่งดีดีร่วมกัน
  • ที่สำคัญทำให้เราสามารถปรับมุมมองใหม่ได้ เช่น มองโลกในแง่ดี
  • ฯลฯ

การเขียน..ได้พัฒนาสมอง..

เขียน..ย่อมได้อะไรมากกว่า

เขียนแล้วได้แน่นอน อย่างน้อยก็ได้เขียนนะ 

คิดได้แล้วถึงเขียน การได้เขียนก็ผ่านการได้คิด

สุ จิ ปุ ลิ

  • หมอสุข

สวัสดีค่ะอาจารย์

1)เขียนก็ได้ไม่เขียนก็ได้

เห็นด้วยค่ะ ดิฉันคิดว่าการไม่บังคับให้เขียนเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วค่ะ อะไรที่บังคับคนจะไม่ค่อยอยากทำค่ะ ต้องทำให้เขาได้รู้ได้เห็นได้คิดเองค่ะ สร้างแรงจูงใจสม่ำเสมอ เขาจึงจะเปิดใจเพื่อการเขียนบันทึกแลกเปลี่ยนค่ะ

การที่บังคับเป็นเรื่องที่เขียนยากจริง ๆ ค่ะ  เพราะกลัวไม่ตรงใจและไม่มีอิสระในทางความคิดค่ะ

แรงจูงใจ  ที่สำคัญน่าจะเกิดจากผู้เขียนสร้างขึ้นเองจากการใฝ่เรียนรู้  จากประสบการณ์  การดำเนินชีวิต  เมื่อมีเรื่องโดนใจจึงอยากเล่าอยากเขียนค่ะ

2) เขียนก็ไม่ได้อะไร

ดิฉันไม่เห็นด้วยค่ะ พิสูจน์ได้ค่ะว่าการเขียนผ่านบล็อกอย่างเป็นกิจวัตร ทำให้เกิดการพัฒนาคน พัฒนาเครือข่าย พัฒนาองค์กร และ พัฒนาสังคมได้ค่ะ ลองอ่านบันทึกนี้ค่ะ http://gotoknow.org/blog/tutorial4u/427774 

ตอนแรก  ดิฉันไม่เขียน  ก็เขียนไม่ได้สักที  ภายหลังที่เขียนแล้ว  ทำให้ความรู้และประสบการณ์ต่อยอดได้เอง

ได้บำบัดสิ่งที่ไม่รู้  ได้ประสบการณ์จากการแลกเปลี่ยน ได้เพื่อน ได้แนวคิดใหม่ ๆ และเกิดความคิดต่อยอดไปในทางที่สร้างสรรค์และเป็นจริง

ทำให้ทราบว่าได้ก้าวออกไปยังโลกแห่งการเรียนรู้มากขึ้น  ทำให้ได้รับการช่วยเหลือดูแลจากเพื่อน ๆ มีความผูกพันกันเป็นชุมชนเล็ก ๆ ของเราในการทำกิจกรรมร่วมกัน  แต่เติบใหญ่ด้วยเครือข่ายออนไลน์

มีโอกาสได้อ่านบันทึกของเพื่อน ๆ ที่เขียนได้ดี ใช้ภาษาไทยได้สละสลวยและเขียนกลอนหรือคำประพันธ์ได้สุดยอด ฝีมือชั้นบรมครู  ทำให้ได้เรียนรู้ไปด้วย

บางท่านได้แนะนำกิจกรรม  หรือการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ให้ทราบอย่างหลากหลาย

3) ไม่เขียนก็ไม่เสียอะไร 

ดิฉันไม่เห็นด้วยค่ะ การไม่เขียนทำให้เสียโอกาสของชีวิตในหลายๆ ด้านค่ะ เช่น เสียโอกาสในการฝึกฝนตนเองให้รู้จักทบทวนบทเรียนชีวิต เสียโอกาสในการเขียนตำนานชีวิตบอกเล่าลูกหลาน เสียโอกาสในการสร้างกัลยาณมิตร และ เสียโอกาสในการตอบแทนสังคมและประเทศได้ง่ายๆ ด้วยการเขียนค่ะ

ข้อนี้ไม่เห็นด้วยค่ะ  ไม่เขียนก็เขียนไม่ได้ซึ่งเป็นข้อเสีย  เสียโอกาสของการเรียนรู้  เพราะคนเราทุกคนจะมีความรู้หรือประสบการณ์ที่ฝังลึก  ในหลากหลยแง่มุม  หากไม่นำมาถ่าทอด บอกเล่า ก็จะสูญหายไปตามกาลเวลา 

ข้อดีของการนำมาถ่ายทอด  ทำให้คนอ่านเกิดความคิดใหม่  หรือเกิดพลังใจในการต่อสู้หรือแก้ปัญหาในเรื่องที่คล้ายกัน  เพราะความสำเร็จหรือความล้มเหลวของบุคคลหนึ่ง  เป็นบทเรียนที่มีคุณค่าของอีกคนหนึ่ง

การตอบแทนสังคมและประเทศชาติ นับเป็นหน้าที่ของพลเมืองดีที่มีต่อสังคมและพลโลก   น้อยมากที่เราจะไปทำด้วยตนเองตามลำพังได้  แต่หากมีการรวมกลุ่ม การร่วมมือกันหลาย ๆ คน หลาย ๆ ฝ่าย  จะทำให้กิจกรรมที่ทำดำเนินไปได้ดีกว่า ดังเช่นมีจำนวนบันทึกมากมายที่เขียนให้อ่าน

       การที่จะเขียนประจำทุกวันหรือไม่ทุกวัน  ขึ้นอยู่กับความเป็นอิสระและวิถีชีวิตส่วนตัวของผู้เขียน  เพราะแต่ละคนมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวและต่อตนเองที่อาจแตกต่างกัน

       หากได้อ่านบันทึกของเพื่อน ๆ หรืออ่านเม้นท์ มักจะเกิดความรู้ที่ต่อยอดทำให้เกิดความคิดที่อยากเขียน

       หากได้อ่านหนังสือแล้ว  อยากถ่ายทอดเรื่องดี ๆ สู่ผู้อ่าน

       หากได้รับประสบการณ์แม้เพียงเล็กน้อย แต่เป็นแนวคิดให้เขียนเล่าได้

       หากเขียนเรื่องเกี่ยวกับตนเอง ประสบการณ์ของตนเอง  โดยการเล่าเป็นความเรียง  เป็นเรื่องที่ไม่ยาก หมั่นทบทวนแก้ไข  จากเพื่อนสะกิดบ้าง  เพราะเราไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ

       ทั้งหมดคือประสบการณ์จริงของดิฉันค่ะ

สวัสดีค่ะ น้องอาจารย์

ครูอ้อย ขอเอ่ยสั้นๆๆ ไม่ยาวว่า  การเขียนบันทึก ในบล็อก คือชีวิต  จบ

ขอบคุณมากค่ะ  คิดถึงเสมอค่ะ

สวัสดีค่ะ...

การเขียนเป็นสิ่งที่บังคับกันไม่ได้นั้นเป็นจริงที่สุด

เพราะอารมณ์และมุมมองของคนเรานั้นต่างกัน 

สิ่งที่ถูกบังคับให้เขียนกับสิ่งที่เต็มใจและตั้งใจเขียนนั้น คนอ่านจะรู้สึกได้ทันทีที่สัมผัส

เพราะความเต็มใจและตั้งใจจะถ่ายทอดออกมาแบบคนมีประสบการณ์

และมักจะสอดแทรกแนวคิดดีๆ แปลกๆใหม่ๆเอาไว้ด้วยเสมอ  ทำให้คนอ่านเกิดการ

เรียนรู้และพัฒนาความคิดต่อได้ไม่ยาก....


สวัสดีครับ

ผมรู้สึกว่าการเขียนเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ไม่รู้จบจริงๆ ส่วนตัวผมเองมีความรู้สึกแบบนี้ครับ

อ่านแล้วทำให้อยากทำ ทำได้แล้วทำให้อยากเขียน (แบ่งปัน) เขียนแล้วทำให้อยากอ่าน(เรียนรู้) เรียนรู้แล้วทำให้อยากทำ ทำแล้วทำให้อยากเขียน (แบ่งปัน)............

โดยส่วนตัวแล้ว การเขียนบล็อกสื่อการถ่ายทอดประสบการณ์..แนวคิด..และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน..ได้ทั้งกัลยาณมิตร..และการเก็บสาระดีๆไว้ในบล็อกเพื่อเป็นมรดกทางปัญญาอีกด้วย..

ขอขอบคุณ G2K ที่เปิดพื้นที่ให้ ลปรร.ค่ะ..

บล็อกทั้งหมด: กรุณาเลือกบล็อกจากรายการที่แสดง

                 

                       Large_971deab04c65c5b98ec6fc25be11015ab 

 

ขอบคุณทุกท่านมากคะที่ช่วยต่อยอดในครั้งนี้

เมื่อได้เริ่มเขียนอย่างที่หลายๆท่านแนะนำ ก็จะเขียนต่อไปเรื่อยๆ

อาจไม่บ่อยเรียกว่านาน... มาที ไม่มีสาระ

แต่ที่ได้คือกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะยอมรับความคิดของผู้อื่น

นั้นมั้งค่ะที่ยังวนเวียนอยู่เถวนี้ ^__^

บันทึกใน blog เป็นการ

  • บันทึกเหตุการประจำวัน หรือเรื่องราวที่เราเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เห็นต่าง สงสัย ตั้งคำถาม ความฝัน เสนอแนะ สรุปบทเรียน หรือบันทึกปรากฎการณ์เฉยๆที่เราสนใจ
  • สิ่งเหล่านั้นมีประโยชน์ต่อตัวเอง และผู้อื่นที่สนใจ และอาจจะไปเติมเต็มให้กับใครสักคนก็ได้
  • หากบันทึกปรากฏการณ์แต่ละวันไว้ มันคือประวัติศาสตร์บอกเล่าที่ในอดีตบ้านเมืองเราขาดมากๆ เช่นหากย้อนไปเมื่อปี 2516 ที่มีการเปลี่ยนแปลงสังคม หากเด็กรุ่นหลังสนใจอยากเรียนรู้ ก็อาจหาได้จากหนังสือพิมพ์ และหนังสือวิชาการ แต่การบอกเล่าจากประชาชนทั่วไปที่สัมผัสจริงๆล่ะ มันมักขาดไป
  • บาวทีบันทึก blog มันเหมือนกับการที่รัฐไปร้องขอให้ชาวบ้านทำบัญชีครัวเรือน ว่าวันนี้มีรายรับอะไรบ้างรายจ่ายอะไรบ้าง เพื่อสิ้นเดือนมาสรุปว่าภาพรวมเป็นอย่างไร แต่บันทึก blog มันมากกว่าบันทึกรายรับรายจ่ายแต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่มีเหตุผล ความรู้สึก...ฯลฯ ประกอบลงไปด้วยมากกว่าเพียงรายการเฉยๆ คุณค่าตรงนี้มากนะครับ

นานๆ มาที ก็ไม่เป็นไรค่ะ ดีใจที่ยังคิดถึงกันค่ะ :)

ผมว่าถูกทุกข้อ ขึ้นกับสถานการณ์และข้อจำกัดซึ่งบางทีคาดไม่ได้  สำหรับผมนั้น เห็นว่าเมื่อได้เขียนแล้ว ควรเขียนต่อไป ไม่ควรหยุดโดยไม่จำเป็น ผมเองไม่ได้เขียนมาเกือบเดือน รู้สึกเหมือนเป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยทบต้นมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้พร้อมใช้หนี้แล้วครับ 

"การไม่เขียน คือ การเสียโอกาส, การทิ้งโอกาส"

จริงด้วยการพิสูจน์มา 4 ปีครับอาจารย์ ;)

ควรเขียนค่ะ เพราะการเขียนจะช่วยพัฒนาความคิด และควรคิดก่อนเขียนแล้วผู้อ่านจะได้ประโยชน์ ควรเริ่มเมื่อพร้อมอย่าบังคับตนเองและเขียนภายใต้ความมีคุณธรรมและจริธรรมที่ดีงามอย่าบิดเบือนความจริงสิ่งเขียนหรือบันทึกจึงจะมีคุณค่า

คำว่า  ....โอกาส... ได้มาจากการเขียน Blog ครั้งแรกในชีวิต  ที่ทำให้ไม่มีวันลืมไปได้เลยค่ะ อยากบอกว่า ขอขอบคุณนะคะ  ที่ทำให้คนตัวเล็กๆคนหนึ่งได้มีเนื้อที่ในการทำสิ่งดีดี เพื่อตอบแทนองค์กรที่รักค่ะ

สวัสดีครับ ดร.จันทวรรณ

ผมเริ่มติด blog แล้วครับ วันไหนไม่ได้เปิดดูรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง เมื่อก่อนก็ดูเฉพาะ blog ของคนในเครือข่ายเดียวกัน เดี๋ยวนี้เริ่มเข้าไปอ่านของท่านอื่นๆที่ไม่เคยรู้จัก ส่วนการเขียน มีสองชนิดคือเขียนแสดงความคิดเห็นใน blog ของท่านอื่น และการเขียนใน blog ที่ผมสร้างขึ้นมา การจะสร้างบันทึกใหม่ขึ้นมาขึ้นอยู่กับอารมย์และเวลาที่มีในขณะนั้น แต่ถ้ามีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นใน blog ของผมๆจะรีบตอบทุกครั้ง ถือว่าคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นใน blog ของเราเขาให้เกียรติเรา และมักจะตามไปดู blog ของท่านนั้น เท่ากับเป็นการสร้างเครือข่ายและได้รู้จักคนใหม่ๆ

เห็นด้วยกับการเขียนนะครับ เขียนอะไรก็ได้  อย่างของผมเอง เขียนไปเขียนมา กลายเป็นเว็บไซต์ไปซะงั้น  ได้เพื่อนออนไลน์อีกต่างหาก

มีท้ังเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทุกประเด็น

เพราะการเขียนทำให้เราพัฒนาเรื่องการถ่ายทอดสิ่งที่อยากให้ผู้อื่นรู้ได้อ่าน

และผู้อ่านก็ได้ประโยชน์จากเรื่องที่เราเขียนเล่าเรื่อง (ถ้าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องดีๆ)

ดีค่ะ เห็นด้วยอย่างยิ่ง ค่ะดอกเตอร์

เห็นเหมือนอาจารย์ จันทวรรณค่ะ

การเขียนทำให้มีความรู้ในเรื่องที่เราเขียนมากขึ้นค่ะ  และยังเป็นการฝึกจิตเราด้วยเพราะเรื่องที่เราเขียนมีทั้งคนสนใจและคนไม่สนใจ  

คนสนใจอ่านมากก็ดีใจ   คนสนใจอ่านน้อยก็หดหู่ใจ 

ฝึกสติเวลาอ่านบล็อกตัวเองค่ะ

 

 

เขียนมากๆยิ่งดี เพราะชอบอ่าน สาระน่ารู้ที่ก้าวหน้า

สุวัฒนา ดำริห์กุล

บล็อก เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ฝึกฝน  ได้เรียนรู้ส่วนการเขียนช่วยฝึกฝนตนเอง  ช่วยให้เข้าใจงานดียิ่งขึ้น 

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • บางครั้งการเขียนก็ต้องใช้เวลา อารมณ์เปลี่ยน คารมก็เปลี่ยนด้วยน่ะค่ะ เลยต้องเขียนเมื่ออยากจะเขียน อยากเล่าให้ฟังค่ะ
  • ---
  • ขอบคุณอาจารย์ค่ะ 
  • วันทีี่่่่ 16 นี้จะแวะไปร่วมกิจกรรมค่ะ 

สวัสดีค่ะ...

  • การเขียนบล็อก ขึ้นอยู่กับใจ + กายของเรามีความพร้อมค่ะ...
  • เต็มใจเขียน มีเวลาพร้อมที่จะลงมือเขียน
  • การฝึกเขียนเป็นการฝึกใช้ภาษาไทยไปด้วยค่ะ...จากภาษาพูดจะกลับกลายมาเป็นภาษาเขียน
  • การที่คนเราไม่เริ่มต้นเลย ทำให้เสียโอกาสที่ดี ๆ ที่เพื่อน ๆ คนอื่นเขาเริ่ม เช่น เพื่อนได้เริ่มต้นนับ 1,2,3...ไปแล้ว แต่เรายังนิ่งอยู่กับที่ คือ 0 ค่ะ
  • การเขียนบล็อกเป็นการฝึกสติ ฝึกสมาธิ ให้นิ่งอยู่กับเนื้อหาที่จะเขียน
  • ส่วนใหญ่ในการเขียนบล็อกของพี่ พี่จะชอบใช้สติ + สมาธิ แล้วก็เริ่มต้นเขียนในบล็อกเลยค่ะ ไม่ต้องแต่งข้างนอกบล็อก (แต่ข้อเสีย net ล่มครั้งใด อารมณ์เสียทุกครั้ง นี่คือ ข้อเสียที่ไม่แต่งลงใน Word ก่อนค่ะ)...แต่ถ้า net ดี ๆ ก็ไม่มีปัญหาค่ะ...
  • การเขียนบล็อกได้ ทำให้เราทราบนะค่ะว่าตัวเราเองเก่งด้านภาษาขึ้น แม้กระทั่งสำนวน การใช้คำ ภาษาวิชาการค่ะ...
  • เรียกได้ว่าเป็นการฝึกการใช้ภาษาไทยไปในตัวด้วยนะค่ะ
  • สรุปแล้ว...พี่ว่า คนเรา ได้ฝึกหัดเขียนบล็อกจะได้ประโยชน์มากกว่า การที่เราไม่ได้เริ่มต้นเขียนบล็อกค่ะ...
  • ขอบคุณนะค่ะ...และเป็นกำลังใจให้กับทีมงานด้วยค่ะ...

การเขียนเป็นการแสดงถึงแนวคิดที่ได้รับรู้และการจินตนาการขึ้นอยู่กับอารมย์ ที่มีข้อมูลเป็นแรงเสริม

สวัสดีครับอาจารย์

ผมเคยเขียนบล็อคเกี่ยวกับการมาเปิดกิจการที่ประเทศโอมาน ด้วยหวังว่าบันทึกการเปิดกิจการผมจะเป็นประโยชน์กับคนไทยที่จะออกมาทำกิจการที่ตะวันออกกลาง ด้วยว่าที่ผ่านมายังไม่มีใครสามารถเปิดกิจการเป็นของคนไทยได้มาก่อน

แต่การเขียนบล็อคได้ไปพาดพิงถึงผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเขาเองประกาศกับคนไทยทุกคนว่าเป็นเมียน้อยของเชคอับดุลมาลิค(ซึ่งเขาใช้จุดนี้เป็นจุดขายในการเรียกความสนใจจากนักลงทุน) ผมเดินทางกลับไทยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ถูกตำรวจ ตม.จับที่สนามบิน ข้อหาหมิ่นประมาท ทราบภายหลังว่าเป็นเพราะระบุว่าผู้หญิงคนนี้เป็นเมียน้อยเชคอับดุลมาลิก เมื่อตำรวจมารับตัว เขาจับผมใส่กุญแจมือและถ่ายรูปการจับกุมผมที่สนามบินโดยแจ้งว่าเป็นคดีอาญาจากพรบ.คอมพิวเตอร์ ต้องโทษจำคุก 5 ปี ผมตกเป็นอาชญากรทันที โดยผมต้องเอาดอลลาร์ไปแลกแล้วประกันตัวเองออกมาในวันนั้นไม่งั้นต้องติดคุกครับ อัยการมาร่วมสอบสวนด้วยเนื่องจากตัวผมอยู่ต่างประเทศ อัยการให้ความเห็นว่าการเขียนอะไรก็ตามลงบนคอมพิวเตอร์แม้ว่าเป็นเรื่องจริงแต่ถ้าผู้เสียหายร้องเรียนขึ้นมาก็มีความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ แม้ว่าได้รับเมล์มาแล้วเอามาโพส คนโพสมีความผิดแล้วคนที่ส่งมาก็มีความผิดไปด้วย อายุความคดีอาญา 10 ปี เขาจะส่งหมายจับเวียนไปทุกหน่วยงานทั่วประเทศ

ผมเองต้องเดินทางกลับไปรายงานตัววันที่ 31 มีนาคมนี้ มิฉะนั้นตำรวจจะยึดเงินประกัน 7.5 หมื่นบาท และถ้าเป็นคดีเสื้อแดงต้องประกันตัวที่สองแสนบาท

ผมยังไม่รู้ว่าจะหาทนายที่ไหนมาช่วย เพราะอัยการบอกเองว่าลำบากหน่อย ข้อหาหมิ่นประมาทนั้นเล็กน้อย แต่พรบ.คอมพิวเตอร์ที่ออกมานั้น โทษหนักมาก แม้ว่าจะลบบล็อคออกไปนานแล้วก็ตาม

ทุกวันนี้มีความเกลียด โกรธ แค้น มากๆ ผมถูกจับใส่กุญแจมือด้วยข้อหาเพียงเท่านี้ ตำรวจเจ้าของคดีบอกว่า เช็คข้อมูลผมมาหมดแล้ว จบ ป.โท วิศวะจุฬาฯ เคยเป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย และตอนนี้เป็นเจ้าของกิจการอยู่ประเทศโอมาน แต่ระเบียบต้องจับใส่กุญแจมือและพิมพ์ลายนิ้วมือ บันทึกเป็นอาชญากร แม้ว่าผมวางเงินประกันแล้ว เดินเข้าห้องน้ำยังต้องมีตำรวจคุมตัวไปเลยครับ มันร้ายแรงมากเลยครับ

ผมปิดการสื่อสารทั้งหมดกับที่ติดต่อกับประเทศไทย บล็อคที่ผมเขียนที่นี่ยังเป็นบล็อคสุดท้ายที่ยังไม่ได้ปิด

มาเจอบทความของอาจารย์เข้าเสียก่อน เลยขอถือโอกาสระบายความในใจหน่อยนะครับ

หากผิดพลาดประการใดก็หวังว่าคงไม่ถูกฟ้องอีก

....เจ็บใจจริงๆครับ...ปิดสนามบิน ยึดทำเนียบ ยิงคนตาย ยังไม่ร้ายแรงเท่าโทษที่ผมได้รับเลยนะ...ผมเป็นอาชญากร

ขอแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยครับ แต่ต้องสั้น กระชับ ไม่ยืดยาว ครับ

เกษตรศาสตร์ ศานตสงเคราะห์

การเขียนเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง โดยเฉพาะประสบการณ์ในชีวิตของตนในโอกาสต่างๆ เป็นเรื่องๆ ไป เพื่อเป็นการบอกคนหลังให้รู้เหมือนที่เราเคยรู้ เคยผ่าน และเคยระลึกถึง เมื่อไม่เขียน เราจะลืมสิ่งที่ประทับใจในอดีตที่เราเคยทำความดี หรือทำไม่ดีมา ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเรามีค่า ผู้รู้กล่าวว่าทำความดีไม่ต้องให้ใครรู้ก็ได้ แต่เมื่อเราต้องการให้ลูกของเรารู้จักพ่อของเขาดีขึ้นกว่าที่เขาเคยคิดว่า พ่อ แม่ ไม่มีอะไรน่าสนใจ เรียนมาน้อยกว่าเรา เราจบ ป.ตรี ป.โท พ่อแม่ไม่ได้เรียนจะรู้เท่าเราได้อย่างไร แต่เมื่อเราเขียนเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมาแสนนาน แล้วเก็บไว้ให้ลูกเรามาอ่านพบในภายหลัง โดยเฉพาะความรู้สึกของเราเมื่อรู้ว่า วันนี้เราเป็นพ่อคนแล้วนะ มีอะไรเกิดขึ้นในวันที่สมาชิกใหม่ลืมตามาดูโลก ความรู้สึกที่เราไม่เคยบอกใคร เราก็เขียนไว้ เมื่อเราเกษียณอายุ เรามานั่งเปิดอ่านดู มันยืดอายุเราได้นะคุณ ม้นอาจทำให้ลูกเห็นคุณค่าของพ่อโง่ๆ คนหนึ่งขึ้นมาก็ได้นะ

ขอบคุณที่ให้โอกาสในการเขียน แล้วเราจะเขียนมาใหม่

กษศ.

 

เขียนก็ได้ไม่เขียนก็ได้ น่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่ขอให้อ่านบล็อกก็แล้ว คนอ่านอย่างเดียวแล้วไม่แสดงความคิดเห็นอะไร ก็คงไม่เสียหาย แต่ไม่เรียกว่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มารับข้อมูลและไปจัดกระทำเอาเอง ถ้าคนเขียนคิดว่าเป็นการแบ่งปันความรู้ ก็น่าจะได้บุญ ถ้าคนอ่านชอบหรือชื่นชมก็คงขอบคุณกันไปตามวัฒนธรรมอันดีงาม แต่ถ้าไม่เห็นด้วยและไม่สะท้อน คนเขียนหรือคนอ่านอื่นๆก็คงได้ความรู้ไม่เต็มองค์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท