การสอนอ่านเวลา...ไม่ยากอย่างที่คิด


"การสอนอ่านเวลา....ไม่ยากอย่างที่คิด"  :  ครูจักจั่น     ก่ายโนนสูง 

         มีใครเคยสอนเด็ก ๆ ให้อ่านเวลาจากนาฬิการะบบเข็มสั้น-เข็มยาว(ไม่ใช่ดิจิตอล) กันไหม?   "ครูจั่น"  ประสบปัญหาในการสอนมาแล้ว โดยเฉพาะเนื้อหาในบทเรียนคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ ตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกามีแค่ 12 ตัว แต่เด็ก ๆ ต้องอ่านตัวเลขเหล่านั้นให้เป็น 24 นาฬิกา ต้องอ่านให้เป็น 50-60 นาที  พยายามใจเย็น ค่อย ๆ อธิบาย ค่อย ๆ ยกตัวอย่าง  ยากมากที่จะมีเด็กที่เข้าใจและอ่านได้จริง ๆ   เพราะเด็กบางคนแยกความคิดรวบยอดไม่ออก  เด็กนักเรียนชนบท พ่อแม่ไม่มีเงินซื้อนาฬิกาให้สวมใส่  เด็กไม่คุ้นเคย ไม่ได้สัมผัสในชีวิตประจำวัน  ก็ยากที่จะเข้าใจ  นาฬิกาสมัยนี้ก็เป็นระบบตัวเลขหมดแล้ว  ไม่เห็นต้องเสียเวลาอ่านเข็มสั้น เข็มยาวเลย  เห็นตัวเลขก็อ่านได้แล้ว  ครั้นจะจ้ำจี้จำไชสอนแต่เรื่องการอ่านเวลา  เดี๋ยวเนื้อหาอื่นก็ไม่ได้สอนอีก  พอดีพอร้ายสอนไม่จบเนื้อหาตามหลักสูตรกันพอดี  "ครูจั่น"  พยายามหาวิธีที่จะให้เด็กอ่านเวลาให้ได้ก่อน ความเข้าใจค่อยให้เขาเข้าใจทีหลัง  ด้วยแนะนำดังนี้ (คร่าว ๆ นะคะ) 

          ขั้นที่ 1.  เราต้องอธิบายเด็ก ๆ ก่อนค่ะว่า 1 วัน มี 24 ชั่วโมง  เป็นกลางวัน 12 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ 6 นาฬิกาถึง 17 นาฬิกา กลางคืน 12 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ 18 นาฬิกา ถึง 24 นาฬิกา อธิบายเสริมเด็ก ๆ ด้วยนะคะว่าเราจะนับชั่วโมงแรกเมื่อเวลา 1 นาฬิกา หรือที่บ้านเราเรียนตีหนึ่งกัน  เด็กหลายคนเข้าใจว่าเริ่มวันใหม่เมื่อเวลา 6 นาฬิกา หรือ 6 โมงเช้า

          ขั้นที่ 2.  การอ่านเวลา  เข็มสั้นมีหน่วยในการอ่านเป็นนาฬิกา  เข็มยาวมีหน่วยในการอ่านเป็นนาที

          ขั้นที่ 3.  การอ่านเข็มสั้นใช้เทคนิค "เข็มสั้นจับคู่"  ด้วยการจับคู่ตัวเลขให้เด็กท่องดังนี้  ถ้าเข็มชี้เลข 1 อ่านได้สองเวลา คือ 1 นาฬิกา กับ 13 นาฬิกา  เพราะเข็มนาฬิกาต้องวนครบสองรอบจึงจะครบ 24 ชั่วโมงหรือ 1 วัน  เมื่อเข็มสั้นวนมาที่เลข 1 อีกครั้งจึงต้องอ่านเป็น 12+1 กับ 13 นาฬิกา  เข็มชี้เลข 2 อ่านได้คือ 2 นาฬิกา กับ 14 นาฬิกา  ...จับคู่ไล่ไปจนถึงเลข 12 อ่านได้สองเวลา คือ 12 นาฬิกา กับ 24 นาฬิกา  แล้วแยกให้เด็กเห็นนะคะว่า กลางวันเริ่มที่ 6 นาฬิกาถึง 17 นาฬิกา ที่เหลือคือกลางคืน  เพราะฉะนั้นที่ตัวที่ให้จับคู่ไว้ก็จะมีทั้งกลางวันกลางคืน เช่น เข็มชี้เลข 8 เวลากลางวันก็คือ 8 นาฬิกา ส่วน 20 นาฬิกาก็เป็นกลางคืนไป

          ขั้นที่ 4.  การอ่านเข็มยาว  ใช้เทคนิค "เข็มยาวคูณ 5"  ถ้าเข็มยาวชี้ตัวเลขใดให้คูณด้วย เพราะใน 1 ช่องตัวเลขจะแบ่งเป็น 5 ช่องเล็ก ๆ ซึ่งนั่นคือ 1 นาที  หน้าปัดมี 12 ช่องใหญ่ หรือ 60 ช่องเล็ก ก็หมายถึง 60 นาที หนึ่งช่องใหญ่ก็คือ 5 นาที  เพราะฉะนั้นเข็มยาวชี้เลขไหน ก็จับคูณ 5   เช่น เข็มยาวชี้เลข 8 ก็จะได้ 5×8 = 40  จึงอ่านว่า 40 นาที

         ขั้นที่ 5  จับหลักการในขั้นที่ 3 และขั้นที่ 4 มารวมกัน  จะได้เทคนิค "เข็มสั้นจับคู่ เข็มยาวคูณ 5"  แค่นี้เด็ก ๆ ก็เริ่มอ่านได้แล้ว  ตัวอย่างการอ่าน เช่น ให้เด็ก ๆ อ่านเวลากลางวัน เมื่อเข็มสั้นชี้เลข 4  เข็มยาวชี้เลข 4 ผู้เขียนก็จะให้เด็ก ๆ อ่านเข็มสั้นก่อน โดยพิจารณาว่าเลข 4 อ่านคู่กับเลขอะไร  ซึ่งก็คือ 16 เวลากลางวันต้องเลือกอ่านที่ 16 นาฬิกา  ทีนี้ไปดูเข็มยาว จะเห็นว่าชี้ที่ 4 ก็จับ 5 คูณเลย จะได้ 20 นาที  ก็จะอ่านรวมกันได้ว่า เวลา 16 นาฬิกา 20 นาที  หรือจะให้อ่านเป็นเวลากลางคืน  ก็เปลี่ยนแค่การอ่านเข็มสั้น ส่วนเข็มยาวก็อ่านเหมือนเดิม  จะอ่านว่าเวลา 4 นาฬิกา 20 นาที

         ส่วนอื่น ๆ ท่านผู้สนใจต้องเพิ่มเติมเทคนิคสอนเองนะคะ เช่นเวลาที่คาบเกี่ยวกลางวันกับกลางคืนอย่าง 6 นาฬิกา กับ 18 นาฬิกา อ่านอย่างไรเป็นกลางวัน-กลางคืน  หรือเวลาหลัง 24 นาฬิกาไปแล้ว ทำไมไม่อ่าน 24 นาฬิกา 1,2,3......59 นาที  ทำไมต้องอ่าน 0 นาฬิกา 1,2,3...59 นาที  และข้อควรระวังในการอ่านเมื่อเข็มยาวไปชี้อยู่แถว ๆ เลข 9-12

         นี่คือประสบการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คิดว่าพอจะเป็นประโยชน์บ้าง ลองปรับใช้ดูนะคะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 430071เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2011 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท