drapichart
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิชาติ สนธิสมบัติ

ความรู้ที่ได้รับจากการสัมมนา Mini_UKM6 ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง


บัดดี้ เลิร์นนิ่ง, Buddy Learning

เนื่องจาก อ.สุทธิชัย ภิญโญภาวศุทธิ และผมได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยฯ ให้ไปร่วมสัมมนาในโครงการเครือข่ายองค์กรการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษา ระดับอุดมศึกษา ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 23 – 25 ตุลาคม 2553 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ขอรายงานย่อๆ ว่าได้เข้าไปในกลุ่มที่ 1 การเรียนรู้โดยเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง (Student Center Learning) ซึ่งผมคิดว่า Buddy Learning เป็นแนวคิดที่ดีมาก สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมเคมีสิ่งทอ แขนงเคมีสิ่งทอ  จึงนำมาทดลองใช้งานจริงกับนักศึกษากลุ่มนี้ก่อน โดยเลือกใช้กับนักศึกษารหัส 50145TCE (ปี 4) จำนวน 12 คน ในวิชา Textile Auxillaries และรหัส 51145TCE (ปี 3) จำนวน 31 คน ในวิชา Advanced Textile Dyeing Processing และ Advanced Textile Printing Processing ซึ่งผมรับผิดชอบก่อน

 

 

 

ผมขอสรุปก่อนว่าความรู้ที่ได้จาก Buddy Learning มีอะไรบ้าง จากสมาชิกที่ได้ ลปรร. ให้นะครับ  (อ. ชัชชัย ดีสุหล้า ม.ราชมงคลล้านนา น่าน)

กิจกรรมการดูแลกัน* 

1. เพื่อนที่ดีควรพาเพื่อนทำในสิ่งที่ดี พูดเตือนเพื่อนเมื่อทำไม่ถูกต้อง

2. เพื่อนที่ดีควรเกื้อกูลในสิ่งที่ดี เช่น ติวให้เพื่อน ช่วยกันเรียน ช่วยกันอภิปรายผล ร่วมกันทำรายงาน เป็นต้น แต่ไม่ควรช่วยเหลือในทางที่ผิด เช่น ให้เพื่อนลอกการบ้าน ให้เพื่อนลอกข้อสอบ เป็นต้น

3. เพื่อนที่ดีไม่ซ้ำเติมเพื่อนเมื่อพลาด

4. เพื่อนที่ดีควรให้กำลังใจเพื่อน และเป็นที่พึ่งในยามที่เพื่อนมีปัญหา

-------------------------------------------------------

*ที่มา: สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน

 

ผมลองทำตามที่อาจารย์ชัชชัยแนะนำ โดยการตั้งกติกา

1. เปิดภาคการศึกษา 2-2553 ผมจะจัดคู่บัดดี้ให้ โดยพิจารณาจาก GPA ของนักศึกษา โดยจัดให้คนที่เกรดต่ำสุด จับกับคนที่เกรดสูงสุดของห้อง และลดหลั่นลงมา

2. เมื่อได้คู่บัดดี้แล้ว จะแจ้งให้นักศึกษาทราบ (อย่างไรก็ตาม ผมต้องดูว่านักศึกษาคู่นั้นไม่มีเรื่องบาดหมางกัน หรือไม่ได้มีเรื่องกันมาก่อน ถ้ามีกรณีนี้ ให้หลีกเลี่ยง)

3. ตั้งกติกาว่า ให้นักศึกษาคู่บัดดี้นี้ ต้องมาเรียนพร้อมกัน ช่วยเหลือกัน และหากนักศึกษามาคนเดียว คู่บัดดี้ไม่มา จะไม่เช็คเวลาเรียนให้ เพราะสมัยก่อน ผมเช็คเวลาเรียนเป็นรายบุคคล จะพบว่าต่างคนต่างรับผิดชอบ ไม่สนใจกัน แต่ถ้าจับคู่บัดดี้ ต้องสนใจกัน ต้องตามกัน ไม่โทรตามกันก็จะไม่เช็คชื่อให้ (นักศึกษาค่อนข้างกระตือรือล้นมาก)

4. การจัดนักศึกษาเข้ากลุ่มทำแลป เช่นกัน จะให้นักศึกษาที่เป็นคู่บัดดี้กัน อยู่กลุ่มแลปเดียวกัน (2, 4, 6 คน แล้วแต่กรณี) 2 คน ก็คือ 1 กลุ่มบัดดี้ 4 คน ก็คือ นำเอา 2 กลุ่มบัดดี้มารวมกัน เป็นต้น

5. เนื่องจากจุดอ่อนของระบบบัดดี้ ก็คือ ยังไม่มีแรงจูงใจ ผมก็เลยควักทุนส่วนตัว ประกาศให้นักศึกษาปี 3 และปี 4 หากคู่ใดทำให้เพื่อนมีเกรดพัฒนาสูงที่สุด จะได้รับทุนการศึกษา 5,000 บาท (ทั้งนี้เคยทดลองกระตุ้นเมื่อ 5 ปีก่อนว่า ใครได้เกียรตินิยมอันดับ 1 จะให้ทองคำ 1 บาท แต่ตอนนี้ทองคำแพงมาก (บาทละสองหมื่นกว่าบาท) จึงไม่ไหวเหมือนกัน อย่างไรก็ตามตั้งแต่ 13 ปีมาแล้ว ยังไม่มีนักศึกษาคนใดได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เลย)

6. ใช้ยุทธวิธีให้รางวัลสำหรับการตอบคำถาม เช่น คำถามละ 5 บาท คำถามละ 20 บาท หรือถ้ายากมากให้คำถามละ 100 บาท เป็นต้น หรือบางครั้งใช้วิธีให้เกียรติเพื่อน เช่น ปรบมือให้ หรือชมเชยหน้าชั้นเรียน เป็นต้น สลับกันไป เพื่อมิให้นักศึกษาเคยชินกับเงินอย่างเดียว

รายงานผลการปฏิบัติระยะเวลา 3 เดือน

1. พบว่านักศึกษาที่เป็นคู่บัดดี้กัน มีความรักใคร่กลมเกลียว และมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (ไม่มีปัญหาเรื่องชู้สาวแต่อย่างใด)

2. พบว่านักศึกษามีความพึงพอใจมากในการจับคู่บัดดี้ โดยมีการตั้งกลุ่มติวกันเป็นคู่บัดดี้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

3. จากการสังเกต พฤติกรรมของนักศึกษา จะพบว่ามาเรียนบ่อยครั้งขึ้น จากเดิมบางคนไม่เคยมาเรียนตรงเวลา เริ่มมีการมาเรียนตรงเวลามากขึ้น

มาตรการเสริม

1. ตอนเช็คเวลาเข้าชั้นเรียน จะบวกคะแนนจริยธรรมเพิ่มให้ เช่น ถ้าคู่บัดดี้มา จะบวกให้คนละ 4 คะแนน ส่วนถ้าคู่ไม่มาไม่ให้คะแนน หรือให้คะแนน 2 คะแนน จนกว่าจะติดตามคู่บัดดี้มาได้ เป็นต้น

2. เช็คเวลาเข้าชั้นเรียน 2 ครั้ง (เริ่ม - ใกล้จะหมดเวลาสอน) เพื่อรีเช็คนักศึกษา ป้องกันนักศึกษาเข้ามาเช็คเวลาแล้วออกไปข้างนอก

3. จะสอบวัดความเข้าใจเป็นระยะๆ เช่น ถามว่าวันนี้ที่สอนๆ อะไรไป ได้ประโยชน์อย่างไร เป็นต้น หรือสุ่มเรียกชื่อนักศึกษา หากใครถูกเรียกชื่อให้นำคู่บัดดี้มาช่วยกันตอบ หรือทบทวนบทเรียน (เป็นการเรียนแบบ Two Way Communication แทนที่จะเป็น One Way Communucation (อาจารย์สอนอย่างเดียว))

ผลการดำเนินการ

กำลังอยู่ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล

คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2554 ครับ

**********************

หมายเลขบันทึก: 423920เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2011 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ดร.อภิชาติ สนธิสมบัติ กับนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเคมีสิ่งทอ ชั้นปีที่ 3

ดร.อภิชาติ สนธิสมบัติ กับนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเคมีสิ่งทอ ชั้นปีที่ 4

กำลังให้คู่บัดดี้ทบทวนบทเรียนให้เพื่อนๆ ฟังครับ

ทำแลปย้อมกันอยู่ ต้องย้อมแบบป๋องแป๋งไปก่อน จะได้เก่งๆ อิอิ

สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงาน Mini_KM6 ฉบับเต็ม (139 หน้า)ได้ที่นี่ครับ

http://qa.mfu.ac.th/QADep/mfuqa/KM/2553/1_11_2553/Mini_UKM6.pdf

  • มาเชียร์และรอดูกิจกรรมครับ
  • ชอบ mini KM ผลมาจาก ทรืร UKM ใช่ไหมครับ
  • ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับ จะพยายามรายงานให้ทราบเป็นระยะๆ ครับ

เพราะเด็กสมัยนี้ เขาสมาธิสั้นมาก และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากครับ

ก็เลยอาจจะไม่ค่อยสนใจเรียนสักเท่าไหร่ครับ

วันนี้ก็ได้รับประโยชน์จากการอบรมและการลงมือปฎิบัติจริงในส่วนของ KM ทำให้เข้าใจมากขึ้นได้ความรู้มากขึ้นและผมคิดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดครับ

ครับๆ เช่นกันครับ แต่จริงๆ วันนั้นผมแนะนำค่อนข้างมาก เพราะเวลาไม่เพียงพอครับ แต่ถ้าครั้งหน้าต้องใช้หลักสุนทรีย์สนทนา แบบง่ายๆ คือ กำหนดหัวข้อ แล้วแบ่งเวลากันพูด พูดให้ตรงประเด็น เมื่อคิดว่าพูดมากเกินไป ก็ควรให้คนอื่นพูดบ้าง ไม่แย่งกันพูด ควรสนใจในคำพูด และจดจำคำพูดที่เพื่อนพูด เป็นต้น

ขอบคุณทุกท่านนะครับ ผมกำลังจะประเมินผล วิจัย (มินิงานวิจัย) เรื่อง การจับคู่บัดดี้ และการกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยวิธีนี้นะครับ ถ้ายังไงรอสักนิดครับ เพราะกำลังสร้างแบบสอบถาม และจะวิเคราะห์มาแจ้งให้ทราบนะครับ

ตอนนี้เกรดนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมบัดดี้นี้ เริ่มจะออกแต่ยังไม่ครบถ้วน ขอเวลาเล็กน้อยที่จะสรุปงานโครงการครับ

ตอนนี้จ้างคนวิเคราะห์อยู่ครับ แต่ผลงานดีน่าพอใจ เพราะทุกๆ คนได้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เข้าใจเพื่อนมากขึ้น และรู้จักเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน อย่างพึ่งพาอาศัยกัน และเข้าใจซึ่งกันและกันได้ดีขึ้น (เดิมไม่มี)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท