ความเห็นต่อหนังสือ "การวิจัยเชิงปฏิบัติการ การพัฒนากระบวนการคิด ชุมชนแห่งการเรียนรู้"


ต้องใช้ 2 ปัจจัยมาเป็นปุ๋ยอารมณ์ คือ (1) การปฏิบัติ (2) การเอาผลสำเร็จจากการปฏิบัติมาเล่า ทำความเข้าใจ ตีความ และชื่นชมกัน ตรงนี้คือส่วนสำคัญที่สุดของชุมชนแห่งการเรียนรู้

         เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.49   รศ. ดร. บุบผา  อนันต์สุชาติกุล แห่งคณะศึกษาศาสตร์ มช.   มอบหนังสือเล่มเล็กชื่อ "การวิจัยเชิงปฏิบัติการ  การพัฒนากระบวนการคิด  ชุมชนแห่งการเรียนรู้ : รวมสาระจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ" แก่ผม   และบอกว่า "ขอคำแนะนำ"   ผมรับปากว่าจะมาวิพากษ์ลงบล็อก

         หนังสือเล่มนี้เท่ากับเป็นบทสังเคราะห์หรือเป็นบทสะท้อนความคิดหรือบทเรียนรู้จากการทำงานวิจัยในโครงการ "โรงเรียนแห่งการเรียนรู้"  ผมจึงมองว่าชื่อหนังสือน่าจะเป็น "จากปฏิบัติสู่ทฤษฎี" มากกว่า

         ผมชื่นชมที่โครงการวิจัยปฏิบัติการชุดนี้เน้นการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของผู้ปฏิบัติงาน   คือต้องการสร้างความเป็น Learning Organization ขึ้นในโรงเรียนนั่นเอง   วัตถุประสงค์นี้ตรงกับวัตถุประสงค์ของ สคส.   ทีมของ ดร. บุบผาจึงเป็นแนวร่วมของ สคส. โดยปริยาย

         เป็นการสร้าง LO โดยใช้ Action Research เป็นเครื่องมือ

         รศ. ดร. บุบผา บ่นกับผมและเขียนไว้ในหนังสือ   เรื่องการใช้วิธีวิทยาการวิจัยด้านการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใน action research ว่าผลงานไม่เป็นที่ยอมรับ   เอาผลงานไปขอตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้   ซึ่งผมคิดว่าทั้งจริงและไม่จริง

         ที่ไม่จริงก็คือ "ตักกสิลา" แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพอยู่ที่ มช. นั่นเอง   คือที่คณะสังคมศาสตร์   ได้แก่กลุ่ม รศ. ดร. ชยันต์  วัฒนภูติ,  ศ. ดร. ยศ  สันตสมบัติ,  ศ. ดร. อานันท์  กาญจนพันธุ์  เป็นต้น   ซึ่งจะเห็นว่าเป็นที่ยอมรับกันดีมาก

         ดังนั้น  หากวงการด้านการศึกษายังไม่ยอมรับวิธีวิทยาการวิจัยเชิงคุณภาพ   ก็ต้องจัดกระบวนการเพื่อสร้างการยอมรับ   สร้างเกณฑ์คุณภาพของงานวิจัยเชิงคุณภาพด้านการศึกษาขึ้น   โดยน่าจะได้เชิญนักวิจัยทางสังคมศาสตร์มาร่วมให้ความเห็น

         ผมเชื่อในคุณค่าของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   การมีปฏิสัมพันธ์ข้ามศาสตร์

         ในหน้า 27 สรุปเรื่องชุมชนแห่งการเรียนรู้ว่า "ชุมชนแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อมีคนจำนวนหนึ่งที่สนใจตรงกันและนำปัญหามาแบ่งปัน  ช่วยกันคิด  และหาทางตอบคำถาม   ซึ่งนักวิชาการด้านการจัดการความรู้เรียกว่าชุมชนปฏิบัติ"    ข้อความนี้ตกหรือขาดองค์ประกอบสำคัญของชุมชนแห่งการเรียนรู้คือการปฏิบัติ/การกระทำ   ชุมชนแห่งการเรียนรู้หากหมกมุ่นอยู่แค่การคิดและหาทางตอบคำถาม   มุ่งแก้ปัญหา   ชุมชนนั้นจะไม่งอกงาม  ไม่เติบโต   เพราะขาดปุ๋ย  ขาดตัวกระตุ้นทางอารมณ์   ต้องใช้ 2 ปัจจัยมาเป็นปุ๋ยอารมณ์ คือ
 (1) การปฏิบัติ
 (2) การเอาผลสำเร็จจากการปฏิบัติมาเล่า  ทำความเข้าใจ  ตีความ  และชื่นชมกัน   ตรงนี้คือส่วนสำคัญที่สุดของชุมชนแห่งการเรียนรู้

         ชุมชนแห่งการเรียนรู้งอกงามด้วยการมุ่งขยายความสำเร็จมากกว่างอกงามด้วยการมุ่งแก้ปัญหาครับ

         จริง ๆ แล้วเราไม่ยึดถึงแนว either - or   แต่เรายึดแนว both - and   ดังนั้นต้องดำเนินการทั้งแก้ปัญหาและขยายความสำเร็จ   แต่กิจกรรมขยายความสำเร็จควรเป็นตัวนำ

         ผมไม่รับรองว่าความเห็นของผมจะถูกต้อง   แต่รับรองได้ว่าไม่ครบถ้วนแน่นอนครับ

วิจารณ์  พานิช
 4 ก.ค.49

หมายเลขบันทึก: 36878เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2006 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
เรียน ศ.นพ.วิจารณ์....ทำอย่างไรจึงจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้บ้างคะ....ต้องติดต่อ หรือ ไปค้นคว้าได้ที่ไหนบ้างคะ
คณัสนันท์ ภู่ระหงษ์

เรียน ศ.นพ.วิจารณ์

อยากจะอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนกันคะไม่ทราบว่าจะไปหาอ่านได้ที่ไหนคะ ที่ห้องสมุดกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้หรือเปล่า

เพราะตอนนี้เรียนป.โทอยู่ที่ม.ชคะ ทำในหัวข้อเรื่องโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพโดยการประยุกต์ทฤษฎีองค์กรแห่งการเรียนรู้เพื่อควบคุมระดับไขมันในเลือดสูง ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร และไม่รู้ว่าจะทำให้เป็นกิจกรรมให้ชุมชนทำอย่างไร จึงอยากจะค้นคว้าเพิ่มเติมคะ

 

บุบผา อนันต์สุชาติกุล

เรียนอาจารย์คุณหมอวิจารณ์ที่นับถือ

ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงในข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อหนังสือเล่มเล็กนะคะ เห็นด้วยกับอาจารย์ที่ชื่อหนังสือควรเป็น "การวิจัยเชิงปฏิบัติการ การพัฒนากระบวนการคิด  ชุมชนแห่งการเรียนรู้: รวมสาระจากปฏิบัติสู่ทฤษฎี" เพราะเป็นเช่นนั้นจริงๆ และขอน้อมรับข้อเสนอแนะในรายละเอียดเกี่ยวกับชุมชนแห่งการเรียนรู้และการใช้การวิจัยเชิงคุณภาพในการวิจัยเชิงปฏิบัติการไปปรับปรุง และเปิดพื้นที่ในทางการศึกษาให้มากขึ้นค่ะ และขอประชาสัมพันธ์หนังสือเล่มนี้ ว่าสามารถหาอ่านได้ที่สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ห้องสมุดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

บุบผา อนันต์สุชาติกุล

เรียน อ.บุบผา อนันต์สุชาติกุล

ผมมีความสนใจหนังสือเล่มนี้อยากอ่านมาก แต่อยู่ต่างจังหวัดไม่ทราบจะมีวิธีใดที่จะได้อ่านได้ครับ

ขอความเมตตา แก่ผู้อวิชชาด้วยคนครับ 

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

คมสัน 

บุบผา อนันต์สุชาติกุล

สวัสดีค่ะคุณคมสัน

กรุณาแจ้งที่อยู่ของห้องสมุดประจำจังหวัดหรือสถานศึกษาที่คุณสามารถใช้บริการได้สะดวกมาให้สิคะ ทางโครงการฯ จะจัดส่งหนังสือไปให้อ่าน ขอบคุณที่ให้ความสนใจค่ะ

บุบผา

 

อาจารย์คะ พอได้อ่านบทวิพากษ์ของ  ผอ.วิจารณ์ แล้วทำให้อยากอ่านหนังสือเล่มนี้เลยค่ะ จะทำอย่างไรจึงจะได้อ่านดีคะ

เรียน อ.บุบผา อนันต์สุชาติกุล

ผมมีความสนใจงานวิจัยฉบับนี้เพื่อศึกษาหน่อยครับไม่ทราบว่าจะเป็นการรบกวนหรือไม่ครับ จากโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จ.ตราด

ครูคมสัน 039-591043

เรียน อ.บุบผา อนันต์สุชาติกุล

ผมได้อ่านบทวิพากษ์ของ  ผอ.วิจารณ์ แล้วยากอ่านฉบับเต็มและมีความสนใจงานวิจัยฉบับนี้ขอรบกวนอาจารย์ได้ไหมครับ จากธิติพนธ์  ระลอกแก้ว ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอฑัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 15240 

เรียน อ.บุบผา อนันต์สุชาติกุล

ดิฉันได้อ่านบทวิพากษ์ของ อาจารย์หมอ.วิจารณ์ แล้วยากอ่านฉบับเต็มและมีความสนใจงานวิจัยฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องนำไปสู่การปฏิบัติ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ได้ไหมค่ะ เพื่อเอาไว้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 9/9 หมู่9 ต. บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

จาก ณ ฤดี ฐิติธราดล มสธ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท