การพัฒนาสื่อรณรงค์ด้านสุขภาพแนว CBD:Community-Based Development


การพัฒนาสื่อเพื่อรณรงค์เลิกบุหรี่ในชุมชน มีบทบาทสำคัญต่อการปฏิบัติการเชิงสังคมเชิงรุกเพื่อสร้างภาวะสังคมไทยปลอดบุหรี่และเป็นโอกาสสร้างความเข้มแข็งของสังคมขึ้นมาจากชุมชนฐานรากของสังคม รูปแบบสื่อเพื่อนำไปใช้สนับสนุนการดำเนินงานที่สำคัญ ประกอบด้วยสื่อเพื่อให้สุขศึกษาในหน่วยบริการสุขภาพและในชุมชน ที่ดำเนินการโดยแพทย์และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ สื่อเพื่อประกอบการบรรยาย สอน และถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจโดยผู้เชี่ยวชาญ สื่อเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ซึ่งมีความเบ็ดเสร็จอยู่ในตนเอง สื่อเพื่อส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนและกลุ่มการรวมตัวกันของประชาชนในชุมชน สื่อเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า และสื่อเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ซึ่งสื่อรูปแบบต่างๆ จะมีแนวการพิจารณาแตกต่างกันออกไป        

ในการเลือกดำเนินการนั้น ควรมุ่งเน้นการพัฒนาการจัดการความเป็นส่วนรวมและการปฏิบัติการทางสื่อเพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพในขอบเขตต่างๆที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนในระยะยาว โดยเน้นสื่อราคาถูกใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ตลอดจนการใช้ภูมิปัญญา เทคโนโลยี และทรัพยากรในท้องถิ่น ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีและวิทยาการจากภายนอกที่ก้าวหน้าอย่างเหมาะสม รวมทั้งพัฒนาสื่อให้มีคุณภาพครอบคลุม  ทั้งความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัด ความมีศิลปะและสุนทรียภาพ การสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างเสริมศักยภาพการบริหารจัดการของชุมชน

ในการพัฒนาสื่อเพื่อรณรงรงค์เลิกบุหรี่ในชุมชน มีขั้นตอนที่ผสมผสานกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขึ้นตอน เพื่อให้ได้สื่อที่สะท้อนความจำเป็นของชุมชนและมีนัยยะต่อการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อก่อเกิดองค์กรและเครือข่ายการจัดการความเป็นส่วนรวมที่เข้มแข็ง สามารถดำเนินการด้านสื่อและปฏิบัติการเชิงสังคมทางสื่อด้วยตนเองต่อไปได้ในระยะยาว

เครือข่ายวิชาชีพเวชนิทัศน์ เป็นแหล่งทรัพยากรและความเชี่ยวชาญด้านสื่อ เพื่อทำให้การสื่อสารด้านการแพทย์และด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับบุหรี่และสุขภาพมีความง่ายและส่งเสริมความสามารถในการเรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันของชุมชนและประชาชนทั่วไป ซึ่งในการพัฒนาสื่อเพื่อการรณรงค์เลิกบุหรี่ในชุมชน ของชุมชน โดยชุมชนให้บรรลุจุดหมายที่ต้องการของชุมชนนั้น จะต้องทำงานข้อมูลและทำงานความคิดโดยเรียนรู้ผสมผสาน ที่สำคัญคือ ข้อมูลด้านเนื้อหา ข้อมูลชุมชน ข้อมูลในการวิเคราะห์และพิจารณาสื่อที่เหมาะสม การพัฒนาสื่อมีการดำเนินการหลายขั้นตอน และผสมผสานทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและรูปแบบทางวิชาการที่เหมาะสม พัฒนาแนวคิด ภาพร่างความคิด การทำความคิดให้เป็นรูปธรรมที่รวบรวมข้อมูลทำการปรับปรุงแก้ไขได้ เช่น การทำภาพสตอรี่บอร์ด การทำภาพฉายความคิด การทำหุ่นจำลอง การเสก๊ตช์ภาพต้นแบบ

                     อธิบายภาพ : ขั้นตอนการทำภาพสตอรี่บอร์ดและนำมาใช้เป็นเครื่องมือ Visualization ของกลุ่มประชุมระดมสมองกลุ่มย่อย เพื่อทำภาพยนต์รณรงค์เลิกบุหรี่ในโรงภาพยนต์ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ บทบาทเครือข่ายวิชาชีพเวชนิทัศน์กับเครือข่ายวิชาชีพเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๐ เมษายน ๒๕๕๓ ณ โรงแรมรอยัลปรินส์เซส ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร

 จากนั้น จึงพัฒนาสื่อต้นแบบ ทดลองใช้และปรับปรุงให้ได้คุณภาพสื่อตามที่ต้องการแล้วจึงดำเนินการผลิต เผยแพร่แก่ผู้ใช้และกลุ่มเป้าหมายในชุมชน ติดตามประเมินผลโดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ สะสมองค์ความรู้จากการปฏิบัติ สร้างบทเรียนและสะท้อนกลับสู่การวางแผน เพื่อยกระดับการพัฒนาสื่อเพื่อการรณรงค์เลิกบุหรี่ในชุมชนให้พอเพียงและเหมาะสมมากยิ่งๆขึ้น ต่อไป.

  อ่านเนื้อหาบทความต่อในรายละเอียด   [Click Here]

........................................................................................................................................................................

บรรณานุกรมและเอกสารอ้างอิง

[๑][๓] Gebbie Kristine,Rosenstock Linda and Hermandez Lyla M. Editor. (2003) Who Will Keep the Public Healthy? : Educating Public Health Professionals for 21st Century. Institute of Medicine of National Academies. Washington,D.C. The National Academies Press.(72-78)

[๒] กองสุขศึกษา  (๒๕๕๑)  แนวทางการดำเนินงานการสื่อสารด้านสุขภาพในชุมชน โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย  กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (๒-๖)

 [๔] http://www.willatworklearning.com/2006/05/people_remember.html ( เมื่อ 25 เมษายน 2553)

 [๕] การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ บทบาทเครือข่ายวิชาชีพเวชนิทัศน์กับเครือข่ายวิชาชีพเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๐ เมษายน ๒๕๕๓ ณ โรงแรมรอยัลปรินส์เซส ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร

[๖] การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ บทบาทเครือข่ายวิชาชีพเวชนิทัศน์กับเครือข่ายวิชาชีพเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ณ โรงแรมรอยัลปรินส์เซส ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร

หมายเลขบันทึก: 355453เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

สวัสดีค่ะ

  • เท่าที่สังเกตดู  คนที่อยู่ในชุมชนบ้านนอกจะนิยมสูบบุหรี่มากกว่าคนที่อยู่ในเมืองนะคะ
  • บางคน  หากเราไปบอกเรื่องผลร้ายของการสูบบุหรี่ เขาจะพูดต่อต้านแบบน้ำขุ่น ๆ มีผู้ปกครองคนหนึ่งบอกกับครูอีกท่านว่า..ไม่สูบบุหรี่ก็ตายได้
  • มีข้อสนเทศไหมคะว่า เท่าที่รณรงค์ไปแล้วนั้น ได้ผลมากน้อยแค่ไหนคะ
  • จะเห็นว่าเด็กรุ่นเล็กชายหญิงริสูบบุหรี่กันแล้ว 
  • การที่ห้ามขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี อีกอย่าง...คนขายน้อยคนที่จะเคารพต่อข้อบังคับ  ที่บ้านนอกเด็กซื้อเหล้า ซื้อบุหรี่ได้ค่ะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

 

  สวัสดีวันหยุดครับคุณครูคิมครับ 

  • ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย) นำข้อมูลทุติยภูมิจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาวิเคราะห์สถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยในช่วง พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๕๐ รายงานว่าอัตราการสูบบุหรี่ของกลุ่มประชากรโดยรวม ในท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ สูงกว่าในกรุงเทพมหานครครับ (ร้อยละ ๑๓.๐๙) และภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่และบริโภคยาสูบสูงที่สุดของประเทศ (ร้อยละ ๒๕.๐๒) ข้อสังเกตของคุณครูคิมจึงสอดคล้องกับการสำรวจสภาวการณ์ในห้วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมามากครับ
  • ในประเทศไทย พบว่ามีอัตราการบริโภคบุหรี่และยาสูบลดลงทุกกลุ่มอายุครับ แต่กลุ่มที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็มีครับ คือกลุ่มเยาวชนและกลุ่มสตรี
  • การวิจัย ประเมินผล และการวิเคราะห์สถานการณ์ของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆ เห็นว่า มาตรการที่สร้างผลกระทบและให้ผลสืบเนื่องต่อการปฏิบัติมากในกรณีบทเรียนของสังคมไทยก็คือ มาตรการเชิงนโยบายและมาตรการทางกฏหมาย
  • กระนั้นก็ตาม สื่อและการรณรงค์เป็นองค์ประกอบส่งเสริมและสนับสนุนให้สังคมตื่นตัวและได้รับความร่วมมืออย่างกว้างขวางครับ จึงทำให้ปฏิบัติการที่ได้ผลทางด้านอื่นๆ สามารถทำได้ในสังคมไทย
  • กลวิธีที่ดำเนินการ และวิธีปฏิบัติการเชิงสังคมทางสื่อในสังคมไทย โดยมากเป็นการเคลื่อนไหวสังคมในภาพกว้าง และเป็นการสร้างกระแสสังคม เพื่อให้เกิดภาคปฏิบัติการลงไปที่กลไกที่รับผิดชอบทางกฏหมายมากกว่าครับ การส่งผลต่อการปฏิบัติของชุมชน ปัจเจก และกลุ่มเป้าหมายทางการปฏิบัติในระดับย่อยๆ จะเกิดจากปัจจัยและองค์ประกอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสูบบุหรี่อีกทีหนึ่งและเป็นผลจากการบังคับใช้กฏหมายครับ เช่น หน่วยงานและองค์กร ตลอดจนสถานประกอบการต่างๆ มีกฏหมายและกฏระเบียบควบคุมการสูบหรี่ แล้วส่งผลให้โอกาสการสูบบุหรี่ลดลงในทางอ้อม อย่างนี้เป็นต้นครับ
  • แต่วิธีนี้ ได้ผลในแง่การป้องกันและควบคุมการบริโภคยาสูบ ทว่า ไม่ได้เกิดจากวิธีคิด การตัดสินใจ และการปฏิบัติ ที่ออกมาจากปัจเจกและชุมชนเอง ศักยภาพของชุมชนและคุณภาพพลเมืองประชากร ที่จะเกิดจากการเรียนรู้แก้ปัญหาบุหรี่ แล้วถ่ายเทไปสู่ความสามารถริเริ่มและแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆจึงไม่ค่อยมี
  • การปฏิบัติการเชิงสังคมในระดับชุมชน ก็จะเป็นทั้งการเข้าถึงการแก้ปัญหาเรื่องบุหรี่ที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคม พร้อมกับเป็นการแปรวิกฤติปัญหาไปสู่การสร้างคนและพัฒนาศักยภาพชุมชนครับ
  • เสริมต่อการดำเนินงานที่มีอยู่แต่เดิมในระดับสังคมเป็นส่วนใหญ่ ให้ครอบคลุมลงไปถึงความหลากหลายในชุมชนท้องถิ่นต่างๆมากขึ้น และทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้พัฒนาความเข้มแข็งของสังคมจากชุมชนระดับฐานรากได้อีกเรื่องหนึ่งครับ

เรียนท่านอ.ที่เคารพ

ได้ตามไปเติมเต็มความรู้ให้ตัวเองที่นี่ค่ะ [Click Here]

ประทับใจ ภาพสื่อหน้า25 ภาพที่ 8 หากสามารถทำให้ทารกดิ้นรนหนีควันบุหรี่

ในท้องแม่ แล้วส่งสื่อนี้ไปไว้ในที่ชุมชน ในสถานบริการ สวนสาธารณะ

 รถประจำทาง ฯลฯ ตั้งโชว์ให้เห็นตำตานะคะ จะได้สะกิดให้คนติดเลิกบุหรี่เสียที

หากผู้รับผิดชอบภาครัฐได้มาอ่าน มาเห็นความพยายามของอ.และกลุ่มแพทย์ด้วยจิตสำนึก และเกิดตระหนักในพิษภัยของบุหรีด้วยใจเป็นธรรม ไม่เห็นแก่รายได้บนกองทุกข์ของประชาชน คำนึงถึงการสูญเสียงบในการรักษาผู้ป่วยเรื้อรังถุงลมโป่งพอง มะเร็งและผลข้างเคียงของผู้คนเคราะห์ร้ายที่ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องดมควันบุรีแล้วน่าจะทำให้รัฐยกเลิกโรงงานยาสูบสักทีนะคะ

เคยมีนักเรียนนตัวน้อยถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงผลิตยาสูบส่งเสริมให้คนเป็นมะเร็ง

ก็ยอมรับว่าตอบไม่ได้นะคะ รู้สึกอายเด็กน้อย และติดค้างคำตอบ

จะตอบอย่างไรให้เด็กน้อยไม่เกิดอคติกับสิ่งที่พวกเขาถามถึง

 ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดี ยามเช้า ครับ อาจารย์วิรัตน์

นำอาหารเช้ามาเสริฟ์ อาจารย์ ครับ

ไม่ทราบว่า อาจารย์ทานกาแฟหรือเปล่าครับ

การพัฒนาสื่อเพื่อรณรงค์เลิกบุหรี่ในชุมชน มีบทบาทสำคัญต่อการปฏิบัติการเชิงสังคมเชิงรุกเพื่อสร้างภาวะสังคมไทยปลอดบุหรี่และเป็นโอกาสสร้างความเข้มแข็งของสังคมขึ้นมาจากชุมชนฐานรากของสังคม

ผมเห็นด้วย นะครับกับบันทึกนี้

ขอบคุณ บันทึก ดี ดี ยามเช้านี้ นะครับ

 

 

  สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่งครับ 

  • ภาพสื่อหุ่นจำลองปอดและทารกที่อยู่ในครรภ์ ที่คุณครูต้อยติ่งชอบนั้น เป็นผลงานกลุ่มย่อยของการประชุมเชิงปฏิบัติการของเครือข่ายนักวิชาชีพเวชนิทัศน์กับกลุ่มอาจารย์และนักวิชาชีพเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ สมาชิกของกลุ่ม ที่รับเอา Brief ในทุกด้านที่ได้จากกลุ่มไปทำเป็นหุ่นจำลอง คือ คุณองอาจ ศิลปะ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูแล้วก็น่าประทับใจและเป็นกระบวนการพัฒนาสื่อที่เข้มข้นมากครับ
  • ในแง่ที่เป็นการขับเคลื่อนชุมชนทางวิชาการเพื่อผสมผสานทรัพยากรความรู้และได้ความสร้างสรรค์ที่ข้ามกรอบจำกัดหลายๆด้านแล้วก็ยิ่งน่าสนใจมากเข้าไปอีกครับ เพราะเกิดการเสวนา ถกแถลง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบบข้ามศาสตร์-ข้ามสาขาความเชี่ยวชาญ เพื่อแปรผลงานจากความร่วมมือกันระดับเครือข่ายไปสู่การทำงานที่เชื่อมกับภาคปฏิบัติของชุมชนได้
  • ที่เห็นว่าดีมากแล้วนี้ ก็มีการรวบรวมข้อมูล เพื่อที่จะนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไปอีกครับ เช่น หากนำไปสอนและใช้เป็นสื่อประกอบการให้ความรู้เสริมพลังการปฏิบัติของประชาชน จะจัดกับเรื่องควันที่ออกมาจริงๆได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นโจทย์การวิจัยและพัฒนา ที่ต้องกลับไปทำกันต่อไปอีก ในแง่กระบวนการเรียนรู้และการสร้างกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีความบูรณาการนั้น มีพลังมากจริงๆครับ
  • ผมกำลังลงไปถอดบทเรียน และรวบรวมประสบการณ์ของปัจเจกและการรวมตัวกันเป็นกลุ่มของประชาชนในระดับชุมชนท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆทั้ง ๔ ภาค เพื่อสะท้อนกลับไปลองขยายผลอีกรอบ แล้วก็จะตามไปถอดบทเรียนให้เป็นองค์ความรู้จากการทำงานของชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ ซึ่งก็จะสามารถเชื่อมโยงขึ้นมาถึงเครือข่ายของนักวิชาชีพที่ก็มีส่วนหนึ่งที่มุ่งเรียนรู้และก้าวออกจากความเฉพาะทางของตนแล้วเชื่อมโยงลงไปหาชุมชนด้วย ไม่รู้ว่าจะได้ถึงไหนนะครับ แต่เชื่อว่าจะเห็นพลังสร้างสรรค์อีกมากมายในสังคม โดยเฉพาะในระดับชุมชนและกลุ่มผู้ปฏิบัติต่างๆ คงมีโอกาสได้นำมาเล่าถ่ายทอดสู่กันไว้นะครับ

  สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ 

  • ให้บรรยากาศความรื่นรมย์ยามเช้าดีจังเลยนะครับ หอมกรุ่นกาแฟชงเลย
  • เห็นแล้วทำให้ผมรำลึกไปถึงการเริ่มต้นชีวิตทำงานหลังจบมหาวิทยาลัยของผมเลย ผมเคยชงกาแฟแบบนี้ช่วยพี่ในที่ทำงานของผมต้อนรับแขกเพราะเคยเห็นแต่กาแฟแบบนี้ ซึ่งกลายเป็นว่า พอเห็นแล้ว แขกที่ผมชงกาแฟแบบนี้ต้อนรับ ให้มีอันขำแหลก กินไม่ลง แต่ทำให้ได้ความเป็นมิตรและความเมตตาแทนครับ
  • ทำให้นึกถึงเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่นครศรีธรรมราชหลายกลุ่มด้วยครับ โดยเฉพาะจากศูนย์สนับสนุนสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ กับน้องๆที่เมื่อแวะไปเยี่ยมหากันก็มักจะพาไปที่ร้านโกปิ๊
  • ต้องพูดอย่างนี้เลยละครับว่า 'ไม่ได้ชอบกินกาแฟ แต่ชอบบรรยากาศ การพูดคุย ความสันถาวะไมตรี และความสร้างสรรค์ของผู้คน บนโต๊ะกาแฟ'
  • ขอบคุณครูแสงแห่งความดีมากเลยครับ

สวัสดีวันอาทิตย์คะ อาจารย์วิรัตน์

  • นักรณรงค์บางท่านบอกว่า " ... ให้มองว่า การรณรงค์ทั้งมวลวางอยู่บนฐานของความเข้าใจชีวิต ความเชื่อ และทัศนคติของชาวบ้าน รวมทั้งปัจจัยทางสังคมๆ ที่มีส่วนกำหนดวิถีชีวิตของเขา ... "
  • เห็นด้วยเลยคะ เพราะการจัดทำชุดรณรงค์สักชิ้นนึง แน่นอนว่าเราต้องมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change Agents) ..
  • ในฐานะที่อาจารย์เป็นหนึ่งใน เครือข่ายวิชาชีพเวชนิทัศน์ เป็นแหล่งทรัพยากรและความเชี่ยวชาญด้านสื่อ และในฐานะปัจเจก หรือพลเมืองคนนึง ก็หวังว่าคณะทำงานของอาจารย์จะพัฒนาสื่อรณรงค์ที่สวยๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นนะคะ
  • ((เมื่อคืนดูรายการ ดนตรี กวี ศิลป์ ทางช่อง ไทย พี บี เอส แล้วนึกถึงอาจารย์เลยคะ))
  • ขอบคุณคะ ที่อาจารย์ไปสะท้อนไว้ที่บันทึก ชีวิตจิตอาสา (๑) อาจารย์คิดถึงถูกคนเลยคะ แล้วจะนำข้อความชื่นชมของอาจารย์ไปยังผู้เขียนนะคะ (ที่จริง e-mail ไปบอกผู้เขียนตั้งแต่วันที่เขียนบันทึกแล้วหล่ะคะ) ...

 สวัสดียามเช้าวันอาทิตย์ครับอาจารย์ณัฐพัชร์

  • ขอบคุณครับ เป็นการตกผลึกและให้บทสรุปจากการทำงาน ที่ให้หลักคิดดีมากเลยนะครับ
  • บทสรุปอย่างนี้ ส่วนหนึ่งเป็นทรรศนะของการทำงานแนว Community-Based Development และส่วนหนึ่งก็เป็นทรรศนะการทำงานแนว Buttom-up Development ซึ่งเป็นแนวที่สอดคล้องกับแนว Popularistic หรือแนวประชานิยมครับ
  • ในทรรศนะผมแล้ว ๒ เรื่องเดียวกันนี้ กล่าวถึงสิ่งเดียวกัน คือ ชุมชน แต่ทรรศนะเกี่ยวกับ ความเป็นชุมชน และ จุดเน้นกับแง่มุมการเข้าถึงชุมชน แตกต่างกันครับ ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเป็นการช่วยกันผุดประเด็นและทำหมายเหตุไว้ไปในตัวนะครับ
  • การทำงานแนว Community-Based Development เน้นความเป็นชุมชนเป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติการเชิงสังคม ส่วนแนว Buttom-up Development มุ่งเน้นโครงสร้างที่มุ่งลงด้านชุมชนที่มีความไร้โอกาสเชิงเปรียบเทียบทางด้านต่างๆที่สนใจเป็นศูนย์กลาง
  • การวางอยู่บนความเชื่อ ความเข้าใจ และทัศนคติ ของชาวบ้าน เป็นแนวที่สอดคล้องกับแนว Popularistic หรือแนวประชานิยม กลับขั้วลง แทนที่จะถือไปตามคนส่วนน้อยที่อยู่ด้านบนของโครงสร้างเชิงอำนาจ ก็กลับไปอิงคนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ด้านล่างของโครงสร้างเชิงอำนาจของสังคม
  • ส่วนการวางอยู่บนปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆทางสังคมที่มีส่วนกำหนดวิถีชีวิตของเขา(รวมทั้งด้านสุขภาพ) เป็นแนวที่สอดคล้องกับแนว Community-Based Development ซึ่งบางเรื่องอาจจะไม่มีความเป็นประชานิยม
  • ฝากรำลึกถึงน้องๆ บอก.ทุกคนเลยนะครับ โดยเฉพาะเจ้าใหญ่ที่เขียน ชีวิตจิตอาสา (๑) ในบันทึกของอาจารย์ณัฐพัชร์
  • งานเขียนของใหญ่บอกถึงความเป็นคนลุ่มลึกและสร้างบทสรุปจากประสบการณ์ที่เป็นตัวของตัวเองได้ดีมากเลยนะครับ ผมเห็นแต่บุคลิกความเป็นนักกิจกรรม เปิดเผย คุยสนุกสนาน จริงใจ แต่ความละเอียดลึกซึ้งจากกระแสความคิดและการถ่ายทอดอารมณ์ตัวหนังสือของเขาเป็นอีกด้านหนึ่ง ที่ไม่ค่อยได้เห็นอย่างนี้เลยนะครับ
  • เพิ่งว่างมาครับ
  • ไปอบรมให้ฝรั่งมา
  • เพิ่งสังเกตว่าฝรั่งก็ยิ้มและหัวเราะนะครับ
  • อ่านบันทึกอาจารย์แล้วคิดถึงนายแพทย์วีกิจ วีรานุวัตติ์ครับ

  สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ  

  • บักโจนาส, อีนางคริสตี้ ซึ่งร้องเพลงลูกทุ่งทั้งลูกคอและท่ารำที่คนไทยต้องนั่งฟังและชมจนตาค้าง คุณแอนดรู บริ๊ก ที่เป็นสื่อมวลชนและสุภาพอย่างออสเตรเลียผสมไทย จนผมรู้สึกว่าการสนทนาของเขาในทีวีนั้นมันให้อารมณ์เหมือนชานเรือน หรือ ฝรั่งสามีสตรีอีสานทำนา กระทั่งตกผลึกประสบการณ์มาคุยให้คนไทยเมืองคนทำนาฟังเรื่องปรัชญาชีวิตและการดำเนินชีวิตที่พอเพียงในวิถีชาวนา เหล่านี้นี่ ทำให้ไม่แปลกใจเลยละครับที่อาจารย์เอารูปฝรั่งยิ้มและหัวเราะมาแบ่งปันกันดู ดูสะท้อนความเป็นจิตใจมากอีกด้วยนะครับ เรียกว่าต้องปรับความเชื่อแบบเดิมๆไปเลยว่าฝรั่งยิ้มไม่เป็น ไม่สนใจจิตใจ และด้านที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์
  • บันทึกนี้อาจารย์คิดถึงศาสตราจารย์นายแพทย์วีกิจ วีรานุวัตติ์ไปด้วยได้อย่างไรละครับเนี่ย ตื่นเต้นครับ
  • ผมเรียนเวชนิทัศน์ ในยุคอาจารย์หมอวีกิจเป็นคณบดีพอดีละครับ คนศิริราชรักและเคารพอาจารย์ทั้งความเก่ง ความเป็นครู หมอ ความเป็นนักบริหารแบบ Humanized ที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม รวมไปจนถึงพวกผมในขณะยังเป็นนักศึกษากันเลยทีเดียว
  • ผมจำท่านและรอยยิ้มอย่างผู้ใหญ่ที่เมตตาเด็กๆของท่านได้อย่างแม่นยำเมื่อร่วมกับเพื่อนไปหาท่านในห้องคณบดีและท่านให้รถของคณะแพทย์ศิริราชแก่พวกผมไปทำกิจกรรมแนะนำหลักสูตรเวชนิทัศน์เพื่อหาคนเก่งๆมาสอบเข้าเรียนเวชนิทัศน์ที่ศิริราช ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสมเด็จเจ้าพระยา  มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี

ไม่ค่อยได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกับพี่อาจารย์เลยค่ะ...เอาเป็นว่าแวะมาทักทายก่อนนะคะ....ระลึกถึงเสมอค่ะ...

อาจารย์แวะไปเขียนถ่ายทอดบทเรียนและฝากความคิดไว้ให้เวทีคนหนองบัวบ้างนะครับ วันนี้คาดว่าจะได้เฉลิมฉลองที่มีคนคลิ๊กเข้าไปเกิน ๑๐,๐๐๐ คลิ๊กเป็นแน่

น้องคุณครูอ้อยเล็กด้วยนะครับ ต้องถือว่าเป็นครูและลูกหลานของชาวบ้านหนองบัวไปด้วยนะครับ ตอนนี้คุ้นกับที่ทำงานใหม่แล้วหรือยังครับ

ไม่ค่อยได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกับพี่อาจารย์เลยค่ะ...เอาเป็นว่าแวะมาทักทายก่อนนะคะ....ระลึกถึงเสมอค่ะ...

P..คุ้นมากมายเลยค่ะน้องๆเหมือนต้องการพี่เลี้ยง...ทุกงานทุกโครงการทางวิชาการต้องช่วยพวกน้องๆตลอดเช่นกัน และน้องๆก็น่ารักที่รู้ว่าต้องเรียนรู้กันอย่างจริงจังแล้วค่ะ...

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบคุณมากเลยค่ะที่แวะไปเยี่ยม

ชอบภาพลายเส้นของอาจารย์ค่ะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพเด็กๆค่ะ (อาจารย์วาดรอยยิ้มเด็กได้เป็นเด็กจริงๆค่ะ ซึ่งคนโตๆมักจะวาดเด็กออกมาเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ หรือไม่ก็เด็กหน้าแก่ แต่อาจารย์วาดเด็กได้น่ารักมากๆค่ะ)

  สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก 

  • ขอแสดงความยินดีกับที่ทำงานใหม่และเพื่อนร่วมงานใหม่ครับ
  • หลายคนก็มองทางน้องคุณครูอ้อยเล็กอยู่เสมอละครับ
  • ตอนนี้คงวุ่น ทั้งต้องปรับตัวและทำภารกิจรอบข้างที่ต้องจดจ่อมากเลยใช่ไหมครับ โดยเฉพาะต้องทำวิทยานิพนธ์และวางแผนริเริ่มการทำงานในองค์กรใหม่

สวัสดีค่ะ

แวะมาเยี่ยมอาจารย์อีกครั้ง

มีกุหลาบมอญมาฝากด้วยค่ะ (อุ่นๆจากเตาเลย)

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ เขียนรูปมาแบ่งกันดูทีไรก็ได้ความเพลิดเพลินใจไปด้วยทุกทีเลยนะครับ ไล่สายตาไปตามทีแปรงและมองการคุมน้ำหนักแล้ว ก็รู้สึกเป็นสมาธิ ได้ความนิ่ง สะอาด ต่อเนื่อง มั่นคงแน่นอน ให้ความสงบในใจมากเลยละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท