เป็นไทยในต่างแดน (๓) : ทำไมต้องไป "อินเดีย"


ผมไม่ปรารถนาให้นิสิตมาในสไตล์ของการ “เผยแพร่” ที่คล้ายกับการทำตัวเป็น “ผู้ให้” อย่างเต็มสูบ ไม่อยากให้ทำตัวเหมือนการมาเปิดวิกเล่น พอเล่นเสร็จก็เก็บของกลับบ้าน.

ตอนนี้ผมกำลังใช้ชีวิตอยู่ที่ University 0f  Hyderabad ในประเทศอินเดีย

...

ผมเดินทางมาที่นี่พร้อมกับนิสิตและบุคลากร จำนวน 30 ชีวิต  ภายใต้ชื่อโครงการ “แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมสานสัมพันธ์นิสิตนักศึกษาสู่การเปิดโลกทัศน์ใหม่”  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-22  มีนาคม 2553

 

 

การนำพาเอาศิลปะการแสดงของไทยข้ามน้ำข้ามทะเล (หรือแม้แต่ภูเขา-ก็ไม่เว้น)  มาเผยแพร่ยังต่างประเทศนั้น  ถือเป็นความใฝ่ฝันที่ผมซ่อนซุกไว้มานานหลายแรมปี  โดยพยายามสื่อและสะท้อนความคิดเหล่านี้ออกมาเป็นระยะๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป


ปีประมาณปี 2549 ผมชวนผู้นำนิสิตพลิกฟื้นการศึกษาดูงานขึ้นอีกครั้ง  ก่อนกระบวนการเช่นนี้จะถูกปล่อยวางให้กาลเวลากลบทิ้งไป  ครั้งนั้น-เป็นการศึกษาดูงานในประเทศไทย  ด้วยการสัญจรไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ  พร้อมๆ กับการกล่าวย้ำอย่างฉะฉานว่า ครั้งต่อไปก็ยากให้ไปต่างประเทศกันบ้าง

 

ปีถัดมา,  เมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร  ผมก็นำเสนอเรื่องดังกล่าวอีกรอบ โดยผูกโยงถึงเรื่องราวการไปต่างประเทศอย่างชัดแจ้ง  จนท้ายที่สุดผู้นำนิสิตก็ได้มีโอกาสไปสัมผัสกับการศึกษาและวิถีชีวิตของผู้คน ณ ประเทศสิงคโปร์  และฟิลิปปินส์ตามลำดับ

 

และล่าสุดนั้น  เมื่อครั้งไปฟิลิปปินส์  ผมถอดตัวเองออกจากการร่วมเดินทางในครั้งนั้น  เพราะต้องการมอบโควตาของตัวเองให้กับนิสิต  ซึ่งครั้งนั้นผมใช้ชื่อโครงการว่า “พัฒนาศักยภาพนิสิตและบุคลากรฝ่ายพัฒนานิสิตสู่การเปิดโลกทัศน์ใหม่”  

 

 

 

การไปในครั้งนั้น  ผมให้โจทย์การเรียนรู้ที่นิสิตและบุคลากรต้องเก็บข้อมูลกลับมาสะท้อนผลการเรียนรู้หลากหัวข้อเลยทีเดียว  ซึ่งก็ถือว่า นั่นคือครั้งแรกที่มีกระบวนการศึกษาดูงานแล้วนำกลับมาสู่การถอดบทเรียนและสะท้อนบทเรียนกันอย่างจริงจัง...

 

ครั้งนั้น- ผมไม่ละเลยที่จะตั้งโจทย์ให้ศึกษาวิถีชีวิตอันเป็นประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ ไปในตัว  ... หลายคนอาจขัดเคืองกระบวนการของผมอยู่บ้าง  ซึ่งก็เป็นธรรมดา  เพราะหลายต่อหลายคนก็ปรารถนาที่จะไปเปิดหูเปิดตาแบบเอ็นเตอร์เทนมากกว่าต้องพะวงอยู่กับสารัตถะทางชีวิตและวิชาการใดๆ –แต่นั่นก็ไม่อาจทำให้ผมละทิ้งกระบวนการของผมเลยสักนิด  ผมยังประกาศเดินหน้าในเรื่องนั้นอย่างไม่หวั่นไหว

 

 

 

ครั้งนี้, ผมแปรเปลี่ยนแนวทางจากผู้นำนิสิตมาเป็นนิสิตด้าน “ศิลปวัฒนธรรม”  เพราะต้องการที่จะให้นิสิตที่อุทิศตนให้กับมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่องได้รับ “รางวัลชีวิต” กับเขาบ้าง  ซึ่งผมก็ย้ำแล้วว่าอย่างน้อยกลุ่มบุคคลเหล่านี้ต้องมีโอกาสได้มาเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมยังต่างประเทศกับเขาบ้าง  ...อย่างน้อยก็ปีละครั้ง ถึงสองครั้ง

ครั้งนี้, ผมไม่ได้เจาะจงแต่เฉพาะการแสดง “วงโปงลาง”  ของนิสิตโควตาศิลปวัฒนธรรม (ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพืนเมือง หรือวงแคน) ที่สังกัดกองกิจการนิสิตเท่านั้น  แต่ยังเรียนเชิญคณะศิลปกรรมศาสตร์และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มาร่วมกับเราด้วย  และแน่นอน งานครั้งนี้จึงไม่ได้มาเผยแพร่แค่ความเป็นดนตรีและนาฏศิลป์ “อีสาน” เท่านั้น แต่ยังรวมเอาดนตรีและนาฏศิลป์ภาคกลาง-เหนือ-ใต้ มาด้วย เรียกได้ว่าเอาความเป็นไทยมาอย่างครบครัน


 

มีคำถามมากมายเกี่ยวกับงานในครั้งนี้  ซึ่งหลักๆ แล้ว  ผมก็ตอบ หรืออธิบายไปอย่างไม่งอแง  โดยเฉพาะสองถึงสามคำถามหลักๆ  นั่นคือ...

 

1.    ทำไมต้องเป็น “อินเดีย”

ผมตอบอย่างชัดแจ้งว่า อินเดียคือเมืองแห่งศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆ ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้ชาติอื่นๆ  ยิ่งในศาสตร์แห่งการแสดงนั้น  ต้องยอมรับว่าที่นี่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่ามาก  การนำเอานิสิตที่มีความรู้ความสามารถในทางดนตรีและนาฏศิลป์มาเผยแพร่ที่นี่  จึงน่าจะเกิดประโยชน์ทั้งต่อนิสิตและมหาวิทยาลัยอย่างมหาศาล..

 

 

2.    ทำไมต้องเป็น “University 0f  Hyderabad”

ผมไม่อายที่จะตอบว่า “ไม่รู้”  ผมรู้แต่เพียงว่าผมอยากพานิสิตมา “อินเดีย”  ผมหลงรักความเป็นอินเดียผ่านเรื่องราวของแม่น้ำคงคา  เทวสถาน ศาสนา  ลัทธิ  พระราม พระลักษณ์ หนุมาน โค  นักบวช  ฤาษี  ป่าหิมพานต์  ลีลาการเต้นที่ชอบวิ่งวนรอบต้นไม้ หรือไม่ก็วิ่งไล่ข้ามเขาลูกนั้นทีลูกนี้ที  หรือแม้แต่ความเป็นมนุษย์และสังคมที่ดูเหมือนจะเป็นทั้งสวรรค์และนรกในตัวของมันเอง  
ดังนั้นผมจึงเรียนกับผู้บริหารแต่เพียงว่าอยากมา “อินเดีย”  ส่วนสถานที่ใดนั้น ขอให้ท่านพิจารณาตามเห็นสมควร  ซึ่งท่านก็สะท้อนข้อมูลกลับมาว่า “University 0f  Hyderabad” คือสถานศึกษาที่เป็นเครือข่ายกับเรา  และเมื่อผมสืบค้นข้อมูลในระยะเวลาอันจำกัด  ผมก็ไม่ลังเลที่จะมา
ที่นี่  เพราะมันน่าจะช่วยให้เรื่องการจัดการต่างๆ ง่ายขึ้นนั่นเอง

3.    ทำไมต้อง “แลกเปลี่ยน”  ทำไมไม่ “เผยแพร่”

ผมย้ำชัดเจนว่า  ทุกคนเป็นเสมือนทูตวัฒนธรรมอยู่แล้ว  การมาที่นี่มาเพื่อการเผยแพร่อย่างไม่ต้องกังขา  แต่ผมไม่ปรารถนาให้นิสิตมาในสไตล์ของการ “เผยแพร่”  ที่คล้ายกับการทำตัวเป็น
“ผู้ให้” อย่างเต็มสูบ  ไม่อยากให้ทำตัวเหมือนการมาเปิดวิกเล่น พอเล่นเสร็จก็เก็บของกลับบ้าน...หรือไม่ก็ทดเวลาที่เหลือทั้งหมดไว้กับการ “ช็อปปิ้ง” สถานเดียว  ดังนั้นการมาครั้งนี้จึงมีโจทย์ให้นิสิตได้ทำการแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาและผู้บริหารของที่นี่ ทั้งเรื่องการศึกษา  สังคม ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน  รวมถึงการจัดแบ่งกลุ่มเพื่อเรียนรู้ตามอัธยาศัยไปในตัว  อีกทั้งยังรวมถึงการพยายามฝึกให้พวกเขาเรียนรู้การปรับตัวกับสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ และฝึกทักษะการทำงานอย่างเป็นระบบให้มากยิ่งขึ้น

 

ครับ, ฟังดูอาจเหมือนการมาที่นี่ดูเคร่งเครียดอยู่บ้าง  ไหนจะทั้งโปรแกรมการแสดง  ไหนจะทั้งโจทย์การเรียนรู้ในวิถีแห่งการ “แลกเปลี่ยน” และ “ถอดความรู้” ไปสู่การ “สะท้อน” ความรู้สู่กันและกัน (ทั้งคนที่มา และไม่ได้มา แต่รอดูรอฟังอยู่ที่ ม.มหาสารคาม)  และไหนจะต้องปรับตัวในเรื่องการกิน...การนอน...อากาศ..ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่คุ้นเคยเอาเสียเลย

 

ผมรู้ดีว่านิสิตจะรู้สึกเช่นนั้นอยู่มาก  แต่จะมาแบบ “บันเทิง” แล้วไม่ “เริงปัญญา”นั้น ผมถือว่าผมคงละเลยไม่ได้  งบประมาณแต่ละบาท จะต้องถูกใช้และแปรรูปกลับไปเป็นทุนชีวิตในตัวของนิสิตให้ได้มากที่สุดเท่าที่คนนำกระบวนการอย่างผมพึงจะกระทำได้

 

 

 

ในวันแรก ผมบอกเขาแต่เพียงสั้นๆ ว่า...

 

  • จงกินเพื่อการเรียนรู้  หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ก็จงกินเพื่อให้มีชีวิตรอด
  • ทุกชาติ มีวัฒนธรรมอันเป็นความงดงามของมันเอง  จงอย่าพิพากษาเพื่อบ่งชี้ว่า งดงาม  อัปลักษณ์  สูงส่ง หรือต่ำต้อยไปกว่ากัน
  • จงเรียนรู้ที่จะยกระดับการแสดงของตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการยกระดับการบริหารจัดการชีวิตและความเป็นทีมของตัวเอง
  • จงกิน จงฟัง  จงดู  และจดจำเผื่อเพื่อนที่ไม่ได้มา  และนำพาสิ่งทั้งปวงไปบอกเล่ากับพวกเขาให้ได้มากที่สุด
  • การเดินทาง จะทำให้เราค้นพบสิ่งแปลกใหม่ และที่สำคัญก็คือการเดินทางจะทำให้เราค้นพบคุณค่าในตัวตนของเรา
  • การเดินทางไปในที่ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย  ย่อมช่วยให้ชีวิตของคนเรากล้าและแกร่งขึ้น
  • จงอย่าลืมว่าเราเป็นคนไทย..

 

 

คิดถึงบ้าน

17.56 น.
อินเดีย

22 มี.ค.53

 

หมายเลขบันทึก: 346293เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2010 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

อาหารอินเดีย ต้องกินด้วยมือ ฝึกกินก็จะทำให้ประทับใจค่ะ

ผ้าอินเดียสวยงามมาก

ถ้ามีโอกาสเห็นถ่ายมาให้ชมด้วยนะคะ

อาจารย์มาอินเดียเมืองแห่งวํฒนธรรม

นิสิตคงได้เรียนรู้มากมายและเป็นประสบการณ์ชีวิตนะคะ

  • สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน
  • มาอ่านบันทึกที่เข้าถึงแก่นชีวิตและแก่นธรรม
  • อินเดียคงให้อะไรมากมายแก่ผู้ไปเยือน
    เมืองแห่งอารยธรรม ศูนย์รวมของสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดและยอดแย่ที่สุด
    ค้นพบได้ที่นี่...
  • ชื่นชมยินดีกับคณะที่ไปเผยแพร่วัฒนธรรม
  • ขอบพระคุณบันทึกดี ๆ ที่อ่านแล้วประเทืองปัญญาค่ะ

เรียนอาจารย์ แผ่นดิน

โก อินเตอร์ อีสานมีสิ่งดี ที่งดงามมากมาย อวดได้สบายมากครับ

มีความสุขกับการแสวงหาความรู้ใหม่ครับ

สวัสดีครับ อาจารย์

ขอตามอาจารย์และนิสิตเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในอินเดียด้วยคนครับ

ชื่นชมและยินดีด้วยครับ เดินทางปลอดภัยครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

 

         ช่างเป็นบันทึกที่ดิฉันอ่านแล้วมีความสุขที่สุดในวันนี้

         อินเดียเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองรองจากแผ่นดินแม่

         ทุกถ้อยคำที่อาจารย์บันทึกนั้นบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า

         อินเดียคือเมืองแห่งศาสตร์และศิลป์ การไปเยือนเสมือนทูตวัฒนธรรม

        ทำให้นิสิตได้ทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งเรื่องการ

        ศึกษา  สังคม ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน สุดยอดมาก

        ดิฉันประทับใจที่ท่านบันทึกว่า "ผมหลงรักความเป็นอินเดียผ่านเรื่องราวของแม่น้ำคงคา  เทวสถาน ศาสนา  ลัทธิ  พระราม พระลักษณ์ หนุมาน โค  นักบวช  ฤาษี  ป่าหิมพานต์  ลีลาการเต้นที่ชอบวิ่งวนรอบต้นไม้ หรือไม่ก็วิ่งไล่ข้ามเขาลูกนั้นทีลูกนี้ที  หรือแม้แต่ความเป็นมนุษย์และสังคมที่ดูเหมือนจะเป็นทั้งสวรรค์และนรกในตัวของมันเอง"  ซึ่งไม่ต่างจากความรู้สึกของดิฉันค่ะ....ขอให้มีความสุขทุกการเดินทางนะคะ

                                                       ครูกระเเต

                

 

 

นมัสเต้ค่ะ

ดีจังได้ไปอินเดีย

ขอให้ประสมความสำเร็จ

ในสิ่งหวังตั้งใจทุกประการนะคะ

คิดถึงอินเดีย

ยังระลึกถึงเสมอครับ...ขออวยพรสำหรับการทำหน้าที่ในต่างแดนครับ

สวัสดีค่ะ

 7 ข้อ  ที่บอกสั้นๆในวันแรกนั้น เยี่ยมมากค่ะ น่าภูมิใจนะคะที่มีอาจารย์ที่เตรียมพร้อม ทุกอย่าง เพื่อนักศึกษา และที่ได้ไปและไม่ได้ไป  อินเดียเป็นอย่างๆที่อาจารย์เอ่ย และเรื่องสมุนไพร ยา ก็ยอดเยี่ยมค่ะ ฯลฯ

                      

      

สวัสดีค่ะอาจารย์

เป็นสิ่งที่พอลล่าอยากรู้มานานแล้วค่ะ กับหลายๆ เรื่องที่ เห็นใคร ต่อใคร ก็ไปอินเดียกัน มาอ่านบันทึกอาจารย์ ก็ได้คำตอบค่ะ

ทางบ้านเรา ...ตื่นเต้น...โดยเฉพาะวันนี้ที่กระทรวงสาธารณสุขค่ะ อาจารย์ ข่าวคราวทางนั้น เกี่ยวกับบ้านเราเป็นอย่างไรบ้างคะ

เป็นกำลังใจค่ะ เดินทางปลอดภัยนะคะ

ดอกไม้บ้านเราค่ะ

ดนตรี...ศิลปะ เข้าถึงทุกอย่าง

เป็นโครงการที่ดีมั่กมาก

ขอให้โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องนะคะ

รีบตามมาชม อินเดีย ในมุมมองคุณแผ่นดินเลยค่ะมิผิดหวังทุกคราครั้งกับถ้อยร้อยรส

  • ทุกชาติ มีวัฒนธรรมอันความงดงามของมันเอง  จงอย่าพิพากษาเพื่อบ่งชี้ว่า งดงาม  อัปลักษณ์  สูงส่ง หรือต่ำต้อยไปกว่ากัน
  • ชื่นชมและเป็นกำลังใจ ให้อีกฝันดีๆนี้สำเร็จราบรื่น ดั่งใจปรารถนาเช่นเคยนะคะ และน้องนิสิตคงได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ในพื้นที่อันเป็นเอกลักษณ์และหลากหลาย ขอบคุณค่ะ

    • สวัสดีค่ะ
    • แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ สบายดีนะค่ะ มาพร้อมกับภาพสายฝนมาฝากเพื่อจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้บ้าง .........
    • มีความสุขมาก ๆ นะค่ะ

                  

    ขอชื่นชมแนวคิดและความคาดหวังค่ะ..เสียดายที่เวลาน้อยไป..อินเดียมีเรื่องราวน่าศึกษามากมายนะคะ..

     

     

    Dsc_1379-1

    สวัสดีครับ พี่แก้วแก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

    เห็นจริงด้วยครับ การกินอาหารอินเดียให้อร่อยต้องใช้มือเปิปด้วยกันทั้งนั้น  ฝรั่งมังค่าที่ไปใช้ชีวิตในอินเดีย ก็เห็นใช้มือมืบจับอาหารส่งเข้าปากล้วนๆ ซึ่งดูแล้วก็ได้รสชาติและสะท้อนถึงการน้อมรับวัฒนธรรมของชาวอินเดียได้เป็นอย่างดี...

    ผมไม่ค่อยได้ถ่ายภาพเท่าใดนัก, ส่วนหนึ่งมาจากโปรแกรมกิจกรรมจำกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยมากไม่ใช่ย่อย  จึงไม่มีโอกาสถ่ายภาพผ้าสวยๆ จากอินเดียมาฝาก กระนั้น,ก็ขอฝากด้วยภาพข้างต้นแทน..นะครับ

     

    สวัสดีค่ะ

    ดีใจด้วยนะคะที่ความฝัน ความตั้งใจเป็นจริง และดีใจกับนิสิตที่เลือกมาเรียน มมส. ไม่ผิดหวังเลย เพราะผู้บริหารมีวิสัยทัศน์กว้างไกล...

     

    สวัสดีครับ พี่มณีวรรณ ตั้งขจรศักดิ์

    อินเดียเป็นเมืองแห่งอารยธรรมโดยแท้ครับ เป็นบ่อเกิดแห่งศาสตร์และศิลป์หลากแขนง  เห็นความสดใสของชีวิตและความหดหู่ของชีวิตในตัวของมันเองอย่างไม่ยากเย็น...

    ผมมีความสุขกับการเรียนรู้ครั้งนี้มาก และเชื่อว่านิสิต ก็คงมีความรู้สึกที่ไม่ต่างกัน

     

    สวัสดีครับ..พี่ธรรมทิพย์

    สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามสื่อสารกับนิสิตในครั้งนี้ก็คือ  เห็นอะไร ก็อย่าลืมนำมาเทียบเคียงกับเมืองเรา แต่ไม่ได้หมายถึงการเทียบเคียงเพื่อประเมินค่าความแตกต่าง สูงส่ง หรือต่ำต้อย แต่ให้ศึกษาในเชิงเปรียบเทียบคุณค่าที่มีต่อชาติพันธุ์นั้นๆ เพื่อให้เขารู้สึกว่า แท้ที่จริงนั้น เมืองไทยก็น่าอยู่ และมีค่ามากมายต่อการที่จะต้อง "รักเมืองไทย" ด้วย "ใจ" กันจริงๆ

    ขอบคุณครับ

    สวัสดีครับ อ.พรชัย

    ครั้งนี้ ไปต่างแดน เพื่อสอนให้เขาเห็นว่าเขามีศักยภาพ และศิลปะของไทยก็มีค่าพอที่จะเผยแพร่ต่อต่างชาติ  รวมถึงการกระตุ้นให้เขาเรียนรู้การยกระดับการแสดงให้มีมาตรฐานขึ้นด้วยนั่นเอง...

    ขอบคุณครับ

    สวัสดีครับ คุณcapuchino

    การเดินทางไกล ทำให้เราได้ค้นพบตัวเอง...

    นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อ

    และการค้นพบนั้น จะยิ่งทำให้เรารักตัวเอง และบ้านเกิดมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

    ...

    ขอบคุณครับ

    สวัสดีครับ คุณมาตายี

    ไปครั้งนี้ ผมไม่ได้ไปเพียงเผยแพร่ หรือแลกเปลี่ยนเรื่องศิลปะการแสดงเท่านั้น  แต่ยังแบ่งกลุ่มให้นิสิตได้ศึกษาในเรื่องประเพณี วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ไปในตัว โดยกำหนดให้นิสิตได้เก็บข้อมูลด้วยตัวเอง  แต่ไม่ถึงกับให้เครียดลงรายละเอียดมาก  เพราะรู้ดีว่ามีข้อจำกัดหลายอย่างทั้ง เวลาและภาษาที่ต้องใช้ 

    กระนั้นผมก็ไม่ละเลยเสียทั้งหมด  โดยได้เตรียมข้อมูลต่างๆ ไว้พอสมควร  เมื่อนิสิตสะท้อนผลการเรียนรู้ออกมา ข้อมูลที่ผมค้นคว้าไว้ก็จะผนวกเข้าด้วยกัน และผลิตออกมาให้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น นิสิตก็จะได้อ่านเพิ่มเติมได้จากที่เราเตรียมไว้ให้-แต่พวกเขาไม่รู้นะครับว่าผมวางกลอุบายเช่นนั้นไว้ เพราะถ้ารู้เขาก็อาจจะไม่ทุ่มเท หรือใส่ใจต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองสักเท่าไหร่...

    ขอบคุณครับ

    สวัสดีครับ พี่รุ่งตันติราพันธ์

    • อินเดียเป็นเมืองที่น่าทึ่งมากครับ
    • เมืองที่ไป กำลังมีชื่อในเรื่องไอที-ไข่มุก
    • มีหลักสูตรระยะสั้นเรื่อง "อินเดีย"  ให้เข้าไปเรียนด้วย...
    • ค่าครองชีพ ไม่สูง...
    • ผมว่าท้าทายต่อการเรียนรู้ในทางสังคมวิทยาและมนุษยวิทยามากเลยทีเดียว
    • ...ขอบคุณครับ...

    สวัสดีครับ อ.เสียงเล็กๆ فؤاد

    ผมมีความสุขกับการทำงานในต่างแดนมากครับ  ทั้งในมิติการเรียนรู้และมิติของการสะท้อนความเป็นไทยในต่างแดน...

    ภูมิใจกับนิสิตที่ทำหน้าที่ฑูตวัฒนธรรมได้อย่างดีเยี่ยม....

    ขอบคุณครับ

    สวัสดีครับ คุณกานดา น้ำมันมะพร้าว

    ไปอินเดียคราวนี้ เสียดายอยู่อย่างหนึ่งก็คือไม่มีโอกาสได้เห็นแม่น้ำคงคา...
    เพราะแค่ตำนานการเกิดจากป่าหิมพานต์ในหิมาลัย และยังไหลผ่านแมกไม้สมุนไพรหลากชนิดจนกลายเป็นแม่น้ำแห่งชีวิตนั้น เป็นเรื่องน่าทึ่งยิ่งนัก...

    ขอบคุณครับ

    ตามมาเที่ยวอินเดียค่ะ ไม่ได้เเวะมาเสียนาน พึ่งทราบว่าอาจารย์พนัสไปเที่ยวอินเดีย ชื่นชมชาวมมส. ค่ะโปงลางคือวัฒนธรรมทางดนตรีที่คนอิสานอย่างเราภาคภูมิใจที่สุด ดีใจค่ะที่มีโอกาสไปเผยเเพร่ในเมืองไกล

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท