ความดีในนิทาน : อีกกระบวนการแห่งการบ่มเพาะเรื่องธรรมะในค่ายของหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัย


สัตว์ที่ผมและทีมงานเลือกมาเป็นบทเรียน “ความดีในนิทาน” ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ช้าง ลิง ไก่ คางคก โดยสัตว์แต่ละชนิดก็ผูกโยงไปถึงนิทานต่างๆ ที่มีสาระเกี่ยวกับคติธรรมที่มุ่งสอนให้รู้ถึงความดีงามแห่งโลกและชีวิต

บันทึกที่แล้ว ผมได้เขียนถึงกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด “เพราะทุกที่มีเรื่องเล่า” ในโครงการค่ายปฏิบัติธรรมในสถานศึกษาเมื่อวันที่ 15-17 สิงหาคม 2552 ณ วัดป่าวังเลิง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

ครานี้ก็ยังคิดว่าน่าจะเขียนบันทึกอีกสักบันทึกเพื่อบอกเล่าถึงกิจกรรมที่ผมและทีมงานได้จัดวางไว้ให้นิสิตได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อปิดประเด็นเกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งกิจกรรมที่ว่านี้ ผมตั้งชื่อว่า “ความดีในนิทาน”




เป็นที่รู้กันดีว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นกิจกรรม “ค่ายธรรมะ” หากแต่ในวัยหนุ่มสาวเช่นนี้ คงต้องละเอียดพอสมควรกับการรังสรรค์รูปแบบกิจกรรมให้พวกเขาเรียนรู้และซึมซับอย่างแนบเนียนที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการระมัดระวังไม่ให้พวกเขาเกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียดให้ต้องฟัง ต้องคิด หรือแม้แต่การต้องฝืนทนข่มใจปฏิบัติในสิ่งนั้นๆ มากจนเกินเหตุ

ด้วยความที่ว่าค่ายครั้งนี้เป็นค่ายเกี่ยวกับการบ่มเพาะเรื่องธรรมะให้แก่นิสิต ดังนั้นเราจึงไม่อาจหลีกหลบไปจากการสื่อสารเรื่องราวแห่งธรรมะ หรือความดีไปสู่นิสิตได้ ถึงแม้คณะพระวิทยากรจะบรรยายธรรม และเน้นการปฏิบัติอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ทั้งผมและทีมงานก็ยังไม่วายที่จะจัดแต่งกิจกรรมเข้าไปเสริมการเรียนรู้อยู่ดี ด้วยหวังว่า ไม่เพียงจะก่อเกิดความรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการผูกเชื่อมให้นิสิตเกิดความผ่อนคลายและรื่นรมย์ในการเรียนรู้นั้นๆ



ชานชะลาความฝันของแต่ละคนที่มีนิสิตสัญจรมาเยี่ยมชนไม่รู้เบื่อ


ผมอธิบายให้ทีมงานเข้าใจถึงแนวคิดของกิจกรรม “ความดีในนิทาน” แบบง่ายๆ ในทำนองว่า “ผมเชื่อว่า คนเราล้วนเติบโตมาจากคำสอนด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า หนึ่งในคำสอนที่ช่วยขัดเกลาให้เราเติบใหญ่นั้นก็มาจากนิทานอันหลากหลายรส บ้างก็มาจากการเล่าของพ่อแม่ปู่ย่าตาทวด หรือไม่ก็มาจากการเรียนในโรงเรียน ...และนิทานเหล่านั้น ก็ล้วนแล้วแต่ สอนเรื่องอันดีงามให้เราได้คิดและเตือนใจสืบมาจนบัดนี้”

แน่นอนครับ สิ่งที่ผมเกริ่นกล่าวกับทีมงานนั้น อีกนัยยะหนึ่ง ผมก็กำลังบอกกับเขาว่า แทนที่เราจะพูดถึงเรื่องธรรมะ หรือความดีตรงๆ เราก็สามารถบอกเล่า หรือสอนแง่คิดอันดีงามนั้นผ่าน “นิทาน” ด้วยก็ได้ เพราะไม่เพียงชวนให้เขาถอดความรู้ในนิทานเพียงอย่างเดียว แต่ยังจะช่วยให้เขาได้หวนคิดถึงเรื่องราวนานาประการที่หนุนเคลื่อนให้ชีวิตเติบใหญ่มาสู่วันนี้ด้วยก็เป็นได้ อย่างน้อยเขาก็คงได้คิดถึงที่มาของนิทาน คิดถึงคนเล่าและบรรยากาศของการเล่าที่เขาเองได้ฟังอย่างรื่นรมย์-จนหลับฝันดีมาแล้วในวัยอันเยาว์ของชีวิต

แต่แทนที่ผมจะเลือกเล่านิทานให้นิสิตฟังแบบตรงไปตรงมา ผมก็เลือกที่จะแบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ
โดยกำหนดให้แต่ละกลุ่ม “ปั้นรูปสัตว์” ต่างๆ
พร้อมๆ กับการกำหนดเงื่อนไขว่า ให้ผูกโยงเรื่องราวของสัตว์ชนิดนั้นเป็นนิทาน ทั้งในมิติทางธรรมและทางโลก...
เสร็จแล้วก็ให้ส่งตัวแทนมานำเสนอต่อเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างกระบวนการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกรอบ



บรรยากาศการแบ่งงานและถกคิดถึงกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย


กิจกรรมดังกล่าว ไม่เพียงชวนให้ร่ำรำลึกถึงเรื่องราวของชีวิตตนเองที่เคยร้อยรัดไปด้วยนิทานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสำรวจความรู้ในเรื่องเหล่านี้ไปในตัว ว่าบัดนี้ พวกเขาได้คืนความรู้ดังกล่าวกลับไปยังพ่อแม่ปู่ย่าตาทวด หรือแม้แต่ครูบาอาจารย์หมดแล้ว หรือยัง-.......

หรือแม้แต่การหลงลืมซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นของตัวเองในรูปของนิทานพื้นบ้าน และตำนานเรื่องเล่าของชุมชนตัวเองไปจนสิ้นแล้ว





ครับ, สัตว์ที่ผมและทีมงานเลือกมาเป็นบทเรียน “ความดีในนิทาน” ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ช้าง ลิง ไก่ คางคก โดยสัตว์แต่ละชนิดก็ผูกโยงไปถึงนิทานต่างๆ ที่มีสาระเกี่ยวกับคติธรรมที่มุ่งสอนให้รู้ถึงความดีงามแห่งโลกและชีวิต อันได้แก่

  • ช้าง ...ผูกเรื่องกับนิทานเรื่อง “ตำนานลูกช้างเผือก” และ “นางผมหอม”
  • ลิง ... ผูกเรื่องกับนิทานเรื่อง “เทวดา คน ลิง ควาย หมา” ที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งอายุของสรรพสิ่งข้างต้น และยังเชื่อมถึงเรื่อง “ตำนานหมาเก้าหางและควายที่ปลูกข้าวให้คนกิน”
  • ไก่ ...ผูกเรื่องกับนิทานเรื่อง “ดาวลูกไก่”
  • คางคก ...ผูกเรื่องกับมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ของ “พญาคันคากที่ทำสงครามกับพญาแถน” จนเป็นตำนานบั้งไฟอันเลื่องชื่อ



รูปปั้นช้าง...แต่ไม่ใช่ช้างเผือก เพราะติดขัดด้วยอุปกรณ์


จากการสังเกตพฤติกรรมของนิสิตในการทำกิจกรรมครั้งนี้ เป็นที่น่าชื่นใจเป็นที่สุด เพราะแต่ละคนดูกระชุ่มกระชวย มีชีวิตชีวาในการร่วมเรียนรู้กับเพื่อนในกลุ่มมากเป็นพิเศษ มีการแบ่งงานกันอย่างน่ารักและมีระบบ มีการขบคิดแลกเปลี่ยนทัศนะกันอย่างเป็นกันเอง บางคนถึงขั้นถือโอกาสเล่านิทานอื่นๆ ให้เพื่อนฟังไปในตัว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการนำเสนอของนิสิตยุติลง เราต่างเปิดโอกาสให้นิสิตร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็น “ความดีในนิทาน” อีกรอบ โดยหวังว่าเวทีดังกล่าวจะสะท้อนความรู้ หรือแนวคิดต่างๆ ออกมาอย่างหลากหลาย

ถัดจากนั้น ทีมงานของผมก็ออกไปสรุปบทเรียนนี้แบบกรายๆ โดยไม่เจาะจงบอกในทำนองว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า....” แต่เลือกที่จะเล่านิทานดังกล่าวอย่างละเอียด ผ่านกระบวนการกึ่งเล่าและกึ่งทอล์คโชว์ไปในที ซึ่งเรื่องที่เราเล่านั้น บางเรื่องก็ตรงกับที่นิสิตนำเสนอ แต่บางเรื่องก็ไม่ตรงกันเลยก็มี แต่ทั้งปวงนั้น ก็ไม่มีถูกไม่มีผิด มีแต่ได้กับได้เท่าทบทวีคูณขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เฉกเช่นกับพระวิทยากร ก็ได้เติมเต็มเรื่องราวของสัตว์เหล่านี้ในตำนานพุทธศาสนาอีกรอบ ช่วยให้การเรียนรู้ในครั้งนี้ แจ่มชัดและน่าสนใจอย่างล้นเหลือ




ลิง..สัตว์ที่เลือกมีอายุเพียง 30 ปี โดยยกอายุที่เหลืออีก 20 ปีให้กับมนุษย์


นี่ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผมและทีมงานสอดแทรกเข้าสู่การเรียนรู้ในค่ายธรรมะ หรือค่ายปฏิบัติธรรมในสถานศึกษา ถ้าไม่มองว่าเข้าข้างตัวเองจนเกินไป ผมก็กล้าพอที่จะพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “เราทำได้...และนิสิตก็ไม่เบื่อกับค่ายครั้งนี้” ...

แล้วท่านล่ะครับ มีนิทานใดบ้างที่เคยเป็นพลังหนุนนำชีวิตของท่านบ้าง-

ยังจดจำ หรือหลงลืมไปจนสิ้นแล้ว...

หมายเลขบันทึก: 300925เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2009 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2015 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (44)

นิทาน ที่ดี มีข้อคิด ครับ ท่าน แผ่นดิน

  • สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน
  • กา่รทำคนให้เป็นคนเป็นยากไม่น้อยเลยนะคะ
  • เป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ

สวัสดีครับ อ.JJ

ผมสร้างบทเรียนนี้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง  เพราะเชื่อว่าหลายเรื่องในชีวิต ก็ได้นิทานนี่แหละหล่อหลอมมาจนเติบใหญ่...

กิจกรรมนี้หากไม่นับเรื่องแนวคิดของนิทานและกลวิธีสอนธรรมะแก่คนหนุ่มสาวนั้น  ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า  มันช่วยให้เกิดกระบวนการคิดและทำงานร่วมกัน พร้อมๆ กับการชวนให้แต่ละคนได้สืบค้นสำรวจร่องรอยชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองไปในตัวด้วยเช่นกัน

...

เทอมหน้า ผมตั้งใจจะจัดประชุมวิชาการการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนานักเรียน นิสิต นักศึกษา...

คงได้เรียนหารือท่านอาจารย์อีกรอบ ...

...

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ ป้าแดง pa_daeng

จริงดังที่ป้าแดงว่า ครับ "กา่รทำคนให้เป็นคนเป็นยากไม่น้อยเลย"

แต่เราก็ต้องไม่สิ้นหวังนะครับ  โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมบ่มเพาะเรื่องคุณธรรมจริยธรรมแก่นิสิตนักศึกษาที่เป็นคนหนุ่มคนสาวนั้น  จะให้บรรยายอย่างเดียว  คงไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้เป็นแน่ครับ  ต้องมีกิกรรมปฏิบัติการต่างๆ มาเสริมเติมแต่ง และต่อเนื่องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ตอนนี้ผมก็กำลังคิดอยู่เหมือนกันว่า จะใช้รูปแบบใดดี...
มีคำแนะนำดีๆ ...ก็เชิญนะครับ, ป้าแดง

 

สวัสดีค่ะ น้องชาย

  • ครูอ้อยมาทักทาย บล็อกของน้องชาย คุณภาพเต็มเปี่ยม ไม่เสื่อมถอย  ชมเชยเสมอมาค่ะ

รักษาสุขภาพนะคะ

สวัสดีครับ พี่ครูอ้อย แซ่เฮ

สำหรับปีนี้ ในวิถีการงาน อะไรๆ ก็เป็นรูปเป็นร่างมากกว่าที่เคยเป็นมา  ตอนนี้ เลยพยายามลงรายละเอียดให้มากขึ้นและเน้นให้มีการสร้างกระบวนการที่เข้มข้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนของกิจกรรมต่างๆ...

สุขภาพแข็งแรงๆ...นะครับ...

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

มาปฏิบัติธรรม

มาเยี่ยมชมด้วยความนึกถึง ที่ห่างหายไปนาน

นิทานคุณธรรม ของเราแต่งเองจ้ะ

นิทานคุณธรรมอิงวิชาการ(ความแตกต่างของการนินทา)

ยังมีอีกหลายเรื่องจ้ะ เิปิดอ่านได้

สวัสดีครับ..ครูจิ๋ว

ผมกำลังจะเดินทางไปร่วมเป็นวิทยากรนอกสถานที่พอดีเลยครับ..
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม นะครับ
พร้อมๆ กับการนำพานิทานดีๆ มาฝาก

เดี๋ยวผมแวะไปเก็บเกี่ยวตอนนี้เลย แล้วกัน

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

  • การสอน ผ่านนิทานเป็นเรื่องราวที่คลาสสิกดีนะคะ
  • เด็กได้เรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้สึกและเห็นความแตกต่างระหว่างกันและกัน สร้างความเข้มแข็งของจิตใจ (กำลังเรียนรู้อยู่ค่ะ) อย่างไม่รู้ตัวและสนุกสนานด้วย ชอบวิธีการสอนแบบนี้จังค่ะ
  • การเล่านิทาน นำมาใช้ในการสอนหลาน  ๆ อยู่เหมือนกัน..สร้างจิตนาการ และการเรียนรู้
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณพนัส

ผมได้รับหนังสือเเล้ว..

ขอให้งานเป็นความรื่นรมย์ของชีวิต และขอให้ผ่านพ้นมรสุมครั้งนี้ไปให้ได้นะครับ

ผมให้กำลังใจ

มาชม

มีทั้งภาพกิจกรรมและสาระน่ารู้ดีจังนะครับ...

สวัสดีค่ะ

แวะมาชื่นชมกิจกรรมดีๆค่ะ

ขอบคุณค่ะ

แอบมาอ่านเรื่องราวดีๆผ่านการเล่านิทาน

ปัจจุบันกรมอนามัยก็มีการเอานิทานมาเล่า มาอ่านให้เด็กฟัง

ตั้งแต่ยังเป็นทารกเช่นกันค่ะ

สวัสดีครับ..สีตะวัน

เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ  นิทานไม่เพียงสอนคติธรรมดีๆ สำหรับการดำรงชีวิต แต่ยังหมายถึงการสร้างเสริมจินตนาการให้กับเด็กๆ ไปในตัว...
ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนิทานมาก  กำลังมุ่งให้นิสิตสนใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น และเพิ่มไว้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้เวลาไปออกค่าย...ทั้งการศึกษานิทานในชุมชน และการนำนิทานจากการเรียนรู้ต่างๆ ไปเล่าให้เด็กๆ ในหมู่บ้านได้รับฟัง...

นั่นแหละครับ  ผมถึงบอกว่า  เราล้วนเติบโตมาจากนิทานด้วยกันทั้งนั้น...ไม่มากก็น้อย แต่นิทานเป็นต้นทุนที่ดีสำหรับชีวิตเลยทีเดียว

 

สวัสดีครับ คุณเอกจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ขอบคุณสำหรับกำลังใจของวันนี้ในคำที่เอ่ยบอกว่า "มีมา-ก็ผ่านไป"

ขอบคุณอีกครั้งนะครับ

สวัสดีครับ อ.umi

ผมเพิ่งกลับมาจากขอนแก่น  เตรียมตัวเดินทางกลับบ้านที่กาฬสินธุ์ แต่ฝนก็ตกหนักจนไปไหนยังไม่ได้..

พักนี้จัดกิจกรรมอะไรๆ ก็เน้นให้ทีมงานได้ทำกันเป็นทีม และเน้นกระบวนการถอดบทเรียนไปในตัวครับ หวังจะเป็นทีมที่แกร่ง  เพื่อจะได้รับงานรับทรัพย์ไปในเวทีต่างๆ...

อิอิ..

 

สวัสดีครับ.อ.mena

ขอบคุณสำหรับกำลังใจนะครับ..

กิจกรรมเหล่านี้ ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเลยทีเดียว มีบางคนบอกว่า กิจกรรมนี้ทำให้คิดถึงพ่อกับแม่ที่เคยเล่านิทานให้ฟัง...

แค่นี้ ผมก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วครับ

สวัสดีครับ พี่เขี้ยวมนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)

บางทีบันทึกนี้ ก็คงชวนให้เราได้นึกถึงนิทานที่กล่อมเรานอนด้วยก็เป็นได้ หรือไม่ก็คิดถึงภาพที่คุณแม่เปิดเทปเสียงนิทานให้ลูกในครรภ์ได้ฟังไปพร้อมๆ กัน..

สิ่งเหล่านี้เป็นสายสัมพันธ์ที่ดีของชีวิต
ผมเองก็ชอบนิทานนะครับ ถึงแม้ไม่สันทัดเรื่องการเล่า แต่ก็ชอบฟัง  ดังนั้นระยะหลังจึงพยายามนำนิทานมาสอดแทรกไว้ในกิจกรรมต่างๆ...บางเรื่องเป็นตำนานพื้นบ้านที่น่าสนใจ บางเรื่องมีความเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาด้วยเช่นกัน...

...

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีค่ะ พี่แผ่นดิน

  • เด็กๆแป๋มชอบให้พ่อเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน
  • โตขึ้นเป็นพี่สาวที่รับหน้าที่แทนพ่อมาเล่านิทานให้น้องชายฟัง
  • ซึ่งแป๋มเชื่อว่าการใช้นิทานหรือหนังสืออ่านนอกเวลาจะกล่อมเกลาแนวคิดเด็กได้
  • นิทานที่ชอบโดยมากเป็นนิทานอีสป ส่วนหนังสืออ่านนอกเวลามีหลายเล่มค่ะ..
  • เช่น..อยู่กับก๋ง  ลูกอีสาน  หางว่าว  อุดมการณ์บนเส้นขนานหรือสามก๊ก ก็ดี..
  • ขณะนี้ก็ยังอ่านอยู่...และขอเป็นกำลังใจให้พี่อีกคนนะคะ...พี่แผ่นดิน สู้ๆๆ.!!!!

ชอบกิจกรรมและการทำงานของอาจารย์มากครับ...อยากสัมผัสและเรียนรู้ครับ

ยังคงระลึกถึงเสมอครับ

เป็นกิจกรรมที่ดีค่ะ เด็กๆได้พัก และได้ประโยชน์ค่ะ

สวัสดีครับ ครูแป๋ม

  • ลูกอีสาน
  • อุดมการณ์บนเส้นขนาน
  • ครูบ้านนอก
  • เขาชื่อกานต์
  • สร้อยทอง
  • คำอ้าย
  • ม้าก้านกล้วย ฯลฯ...

เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาที่พี่ชอบมาก รวมถึงงานเขียนของศรีบูรพาด้วยเช่นกันครับ

ทุกวันนี้ แก่แล้ว เลยหันมาอ่านประเภทสารคดีและความเรียงเสียมากกว่า..(จบเร็วดี) ..

 

สวัสดีครับ..อ.เสียงเล็กๆ فؤاد

เช่นกันนะครับ  ผมก็ยังส่งแรงใจไปสู่การงานของอาจารย์ฯ อย่างไม่เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

สวัสดีครับ พี่ใบบุญ

ก็เหมือนกับที่บอกนะครับ กิจกรรมนี้นอกจากสาระความรู้ในกระบวนการของการทบทวนตัวเองแล้วนั้น นิสิตยังได้ความบันเทิง เป็นการพักผ่อนและผ่อนคลายจากการปฏิบัติธรรมไปในตัวด้วยเช่นกัน

ครับ-เป็นอีกกิจกรรมที่ได้รสชาติของความบันเทิงเริงปัญญาไปพร้อมๆ กัน

ขอบคุณครับ

  • ชอบวิธีคิดกิจกรรมของ ครูแผ่นดิน ค่ะ
  • ขออนุญาตหยิบยืมไปปรับประยุกต์ใช้บ้าง
  • การใช้นิทานสอนเด็กโต กลายเป็นเรื่องที่ห่างไกลความคิดไปนานแล้ว
  • แต่..พอเห็นก็ทำให้ คำว่า "ปัดฝุ่น" คงต้องเริ่มขึ้นบ้างแล้ว
  • ขอบคุณค่ะ ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ.

สวัสดีครับ pis.ratana

ผมเห็นด้วยกับข้อสังเกตนี้มากนะครับ

  • การใช้นิทานสอนเด็กโต กลายเป็นเรื่องที่ห่างไกลความคิดไปนานแล้ว
  • แต่..พอเห็นก็ทำให้ คำว่า "ปัดฝุ่น" คงต้องเริ่มขึ้นบ้างแล้ว
  • ...

    เรามีสื่อการเรียนรู้มากมาย  สื่อบางสื่อไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเสมอไป  เพราะมันทำให้จินตนาการของเราไม่โบยบิน

    ผมยังยืนยันนะครับ อย่างน้อยกิจกรรมนี้ก็เป็นการสำรวจตรวจค้นความทรงจำของตัวเองนั่นแหละ...บางทีเราก็หลงลืมบางอย่างไปอย่างน่าใจหาย, บางครั้งก็หลงลืมที่มาที่ไปของความรู้จนสิ้นแล้ว ก็มี

    ขอบคุณครับ

     

    สวัสดีครับ..สามสัก

    ขอบพระคุณที่แวะมาเรียนรู้นะครับ
    ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง..
    มีนิทานมากมายครับที่เป็นยิ่งกว่านิทาน...
    บางเรื่องเป็นลมหายใจของท้องถิ่นเลยก็มี..

    ขอบคุณครับ

    สวัสดีค่ะ

    • ไม่ว่าโลกจะวิวัฒนาการไปถึงไหน
    • แต่นิทานก็จังคงเป็นสื่อการสอนที่อยู่ในความสนใจของเด็ก ๆ
    • เพียงแต่การนำเสนอนิทาน อาจจะต้องพัฒนาการให้เหมาะสมกับกาลสมัย และเหมาะสมกับวัย
    • ครูอิงยังคงใช้นิทานเป็นสื่อ โดยเฉพาะการกล่อมเกลาด้านคุณธรรม ค่ะ
    • ขอบพระคุณค่ะที่แวะไปทักทายกัน ที่ "ลานพุทธบุตร"
    • มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ

    เรียนคุณคนแผ่นดิน

    อยากได้รายละเอียดนิทานแต่ละเรืองไปเล่าให้เด็กฟังครับ

    ขอเป็นบล็อคเฉพาะครับ จะตามไปดูครับ

    บรรยากาศคงจะขลังน่าดู อนุโมทนาครับ

    นิทานแทรกซึมได้ในทุกศาสตร์วิชา นิทานมีคุณงามความดีอย่างคาดไม่ถึง ที่ใช้เปิดเรื่อง เดินเรื่อง และปิดท้าย ใครเข้าไม่ถึงธรรมะ เพราะรู้สึกยาก ก็ได้นิทานทำให้เกิดความเข้าใจและเต็มใจปฏิบัติ เหมือนวิชาวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ก็เอานิทานหรือภาพการ์ตูนมาผูกโยง ทำให้อยากเรียนรู้นะคะ

    สวัสดีครับ แผ่นดิน

    • ถึงเวลาขอสารภาพว่า
    • แอบรักแอบชอบแอบชื่นชม
    • ท่านอาจารย์มานานมาก
    • โชคดีของนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
    • ที่มีบุคลกรที่มีคุณภาพจริงๆ ระดับมืออาชีพ
    • การเปิดใจทำให้ท่านเข้าใจธรรมชาติของนิสิต
    • การใช้ธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัวเขาเป็นสื่อ
    • ในการจัดกระบวนการเรียนรู้
    • เป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิต เรียนรู้อย่างมีความสุข
    • ขอได้โปรดรักษาสุขภาพนะครับ
    • เพราะคนลักษณะแบบนี้จะได้เป็นใหญ่เป็นโตอย่างแน่นอน
    • ขอให้ประสบความสำเร็จ จำเริญรุ่งเรืองสืบไป

    • "ความดีในนิทาน"
    • มาชื่นชมรับรู้กิจกรรมดี ๆ ที่มีคุณค่าค่ะ
    • ในชีวิตจดจำเรื่องสั้น และนิทานดี ๆ ไว้หลายเรื่อง  เลือกเล่าให้เหมาะสมกับสถานการณ์และปัญหา   พบว่านักเรียนเกิดความตระหนัก
      ตระหนกในสิ่งที่ผิดพลาดได้ดีกว่าการสอน
      โดยตรง
    • โชคดีของนักศึกษาที่มีผู้ใหญ่ใจดีคอยชี้แนวทางของชีวิตสู่ทิศทางที่มีประโยชน์
    • ขอใจมีพลังกายพลังใจที่หนักแน่นดุจ
      "แผ่นดิน" ต่อไปค่ะ

    • สวัสดีครับ อ.แผ่นดิน
    • ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ
    • ที่นำมาแบ่งปันครับ

    ขอบคุณแนวความคิดค่ะ

    เอานิทานหนูเป็นเด็กดีมาแจมค่ะ

    paint

     

    เกือบลืม อ.แผ่นดิน ซะแล้วค่ะ

    แวะมาเยี่ยมทักทายค่ะ

    ยังเป็นบันทึกที่ดีค่ะ

    สวัสดีครับ ครูอิงจันทร์

    ผมตัดสินใจใช้กิจกรรม "ความดีในนิทาน"  ในกิจกรรมนี้  เพราะเชื่อว่า  นิสิต หรือคนหนุ่มสาวไม่โตเกินกว่าจะฟังนิทาน และการใช้นิทานบอกเล่าเกร็ดความคิดด้านธรรมะนั้นน่าจะชวนน่าสนใจมากกว่าการบอกเล่าโดยตรง  โดยก่อนนั้นผมก็ประเมินเจ้าหน้าที่แล้วด้วยเช่นกัน  สรุปว่าเจ้าหน้าที่ หรือลูกทีมผมก็แทบจะหลงลืมไปจนสิ้นแล้วเหมือนกัน  ดังนั้น ผมจึงรับอาสาไปขุดค้นเรื่องต่างๆ มาให้  เสร็จแล้วก็นำมาให้เขาเลือกและผูกโยงเข้ากับทุนทางปัญญาที่เขามีอยู่ เพื่อให้เขาสามารถนำไปสื่อสารในกระบวนการเรียนรู้นั้นๆ ได้...

    ดังนั้น  กิจกรรมนี้ไม่เพียงทำให้นิสิตเรียนรู้เรื่องธรรมะผ่านนิทานเท่านั้น  แต่ทีมงานของผมก็เจอโจทย์นี้ด้วยเหมือนกัน

    ขอบคุณครับ

    สวัสดีครับ อ.พรชัย

    ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ..
    ก่อนอื่นต้องเรียนว่า  ผมเองก็ยังไม่ได้จัดเก็บนิทานอย่างเป็นทางการ  ที่นำเสนอในกิจกรรมนั้น ก็เป็นทุนเดิมที่มีในตัวเองเป็นหลัก  ไว้ผมจะพยายามจัดเก็บและส่งให้ทางเมลนะครับ หรือเราอาจจะขอให้ชาวโกทูโนทุกคนเขียนบอกเล่านิทานคนละเรื่องๆ ด้วยก็เป็นได้ เพื่อให้กัลยาณมิตรทั้งปวงสามารถนำไปใช้กับนักเรียนต่อไป

    อีกอย่างหนังสือเรื่อง "นิทานพื้นบ้านและตำนานเรื่องเล่า"  ที่เขียนโดยคุณไชยา วรรณศรี ก็เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คที่น่าสนใจนะครับ...

    ..ขอบคุณครับ...

    คางคก ...ผูกเรื่องกับมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ของ “พญาคันคากที่ทำสงครามกับพญาแถน”  จนเป็นตำนานบั้งไฟอันเลื่องชื่อ

    ***                                 ***

    เรื่องนี้เป็นเรื่องโปรดของลูกชาย ค่ะ

    ใช้นิทานเล่าเรื่องกับลูกชายบ่อย ๆ เมื่อเขาเล็กกว่านี้

     

    บางทีก็ให้เขาแต่งเอง เล่าเอง

    .....ได้รับรู้ มุมมอง ความคิดเขา ด้วยค่ะ.....

    สวัสดีค่ะ

    แวะมาขอบคุณสำหรับกำลังใจยามดึก แต่บล็อกนี้น่าสนใจมาก ขออนุญาตนำเข้าแพลนเน็ตนะคะ

    เสร็จงานแล้วจะมาเก็บเกี่ยวเรื่องราวดีๆค่ะ

    ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

    สวัสดีครับ พี่ ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี

    ในทุกครั้งที่จัดกิจกรรมกับชุมชน  สิ่งแรกๆ ที่ผมมักให้ความสำคัญเสมอๆ นั่นคือนิทาน ซึ่งมักจะเน้นย้ำถึงนิทานที่มีในชุมชน บางทีก็ค้นพบเรื่องราวของชุมชนผ่านนิทาน จากนั้นก็นำมาสู่การรื้อฟื้นทั้งในด้านของเนื้อหาและตัวตนของผู้เล่า ซึ่งนับว่าเป็นปราชญ์ของชาวบ้านนั่นเอง  โดยหวังว่า  จะให้นิทานนั้นๆ เป็นตัวเชื่อมโยงการเรียนรู้ของผู้คนในชุมชน...

    แต่กิจกรรมล่าสุดที่เพิ่งจัดมาเมื่อวันเสาร์อาทิตย์ที่แล้วนั้น  เห็นได้ชัดว่า นิทานของต่างชาติ ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญมาก..เด็กและเยาวชน แทบจะมองว่านิทานแบบไทยๆ ตกยุคกันไปแล้วเลยทีเดียว

    ขอบคุณครับ

    สวัสดีครับ..อ.ประจักษ์ ปานอินทร์

    ได้รับทั้งคำชมและคำพรจากท่านอาจารย์ฯ
    พลอยให้ชีวิตได้ยิ้มอย่างสดใสและสดชื่น..
    ผมเทใจให้กับงานเสมอ...
    งานมักมาก่อนเรื่องอื่นๆ..
    ตอนนี้ ทำงานอย่างมีความสุข
    เพราะรู้สึกว่า ได้ตอบแทนสถาบันการศึกษาที่เป็นเสมือนบ้าน
    อีกหลังของชีวิต
    กำลังวางโครงสร้างเพื่อผลักดันให้กิจกรรมนอกหลักสูตร
    กลายเป็นวิชาศึกษาทั่วไป..
    ถ้าทำได้..ผมคงมีความสุขมากเลยทีเดียว

    ขอบพระคุณครับ

     

    นำสื่อมาฝากครับ
    สื่อเหล่านี้นอกจากจะทำให้รู้ว่าใครทำอะไรแล้ว ยังมีมิติของบุญกุศล และองค์ความรู้หรือวิธีการ กระบวนการที่ทำด้วย
    แต่ก็นั่นละครับ ในยุคโมหะภูมิเช่นนี้
    สื่อดีๆพวกนี้ไม่มีโอกาสออกช่วง prime time พอที่จะให้คุณครูกับเด็กๆได้ชมหรอก
    เป็นเสียงที่ไม่ได้ยิน.....และเป็นแสงที่มองไม่เห็น
    น้อยคนที่จะมีบุญได้ชม..
    .
    สื่อชั่วๆออกฟรี สื่อดีๆ เสียสตางค์..... แถมยังวางอยู่หน้า1
    คนในชาติเสพอยู่กับสื่อประโลมโลก มีพวกตลกหยาบคายเป็นผู้ผลิต
    กับพวกขายเนื้อหนัง บริโภคนิยม สื่อแดงเหลืองกระตุ้นโทสะ โมหะ โลภะ
    สังคมไทย จึงดุจดั่งจมอยู่ในบ่ออุจจาระเน่าเหม็น.. ยากจะสัมผัสกับอะไรสะอาดๆ
    ช่างน่าสะอิดสะเอียน เวทนาเป็นอย่างยิ่ง 
    น่าสงสาร...ประเทศไทย สังคมไทยเสียจริงๆ...
    เรามาช่วยกันปฎิวัติวงการสื่อบ้านเรากันเถอะครับ


     

    สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน หลงเข้ามาใน blog เนื่องจากมี อ.ขจิต ฝอยทอง เป็นกัลยาณมิตร ต้องบอกว่าดีใจที่หลงเข้ามาในครั้งนี้

    นาม แผ่นดิน สะดุดตา อ่านแล้วสะดุดหู ทำให้อยากรู้เขาคือใคร

    เพราะอาจารย์มีทุนทางสังคมที่เติบโตอย่างแข็งแรงในสังคมอุดมการณ์ล้อมด้วยรักของครอบครัว ชุมชนและสังคมที่อบอุ่น เพราะอาจารย์มีทุนทางปัญญา ทำให้สิ่งเหล่านี้แผ่ซ่านและฉายรังสีไปยังผู้ที่อยู่รอบตัวอาจารย์

    อ่านแล้วให้หวลนึกถึงเมื่อครั้งเยาว์วัย ที่เติบใหญ่มาในสังคมชนบท ป่าเขาลำเนาไพร สิงห์สาลาสัตว์ในน้ำ บนบก และท้องฟ้า มีให้เห็นมากมาย มีเพื่อนบ้านที่อบอุ่น เสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียว เติบโตได้เพราะการอ่านนิทาน นิยาย ฟังวิทยุทรานซิสเตอร์ เสมือนสีสันที่เข้าไปแต่งแต้มชีวิต และช่วยเติมเต็มบางอย่างที่ขาดหาย ที่ขาดไม่ได้ช่วยสร้างจินตนาการ

    ขอบคุณแทนนักศึกษา ณ ที่แห่งนี้ กับกิจกรรมที่สร้างสรร และขออนุญาตแอบเก็บบางอย่าง บางตอน ไปใช้ในองค์บ้าง

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท