ครูแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ ครู "ผู้ให้" เพื่ออนาคตของชาติ


มันไม่ใช่เรื่องง่ายจริง ๆ ที่เราจะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเดิม ๆ เพราะตั้งแต่เราเกิดมา หรือพอจดจำอะไรรู้เรื่องบ้าง เราก็เห็นว่าเราเป็นแบบนี้แล้ว...แม้คุณครูในที่นี้ไม่อาจนำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่คุณครูมีคือความ "อด" และ "ทน" อย่างสูงสุด

กว่าจะเขียนเรื่องเล่า “ครูแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ ครู "ผู้ให้" เพื่ออนาคตของชาติ” นี้ออกมาได้ ศิลาทำใจอยู่พอสมควร อาจจะเป็นเพราะเพิ่งกลับจากการเยี่ยมชมโรงเรียนนี้มาใหม่ ๆ อารมณ์สะเทือนใจที่ติดกลับมายังไม่เลือนหาย

 

ศิลาอยากรีบลงมือเขียนเพื่อถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ความรู้สึกที่ได้รับจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ  หวังว่าจะเป็นอนุสรณ์เตือนใจให้เราทุกคนเชื่อมั่นในความดีงามและการสร้างคุณค่าเพื่อสังคมประเทศชาติ

 

 

ระหว่างวันที่ 17 - 19 กันยายน 2552 ศิลามีโอกาสได้ไปร่วมงานประเพณี “โดนตา” ซึ่งเป็นพิธีทำบุญไหว้บรรพบุรุษของชาวอีสานแถบจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ …ในช่วงเวลาสั้น ๆ 3 วัน ไม่ได้ไปในฐานะนักท่องเที่ยว แต่ไปในฐานะนักเรียนรู้ชีวิต

 

นับว่าเป็นบุญอย่างมากที่ได้ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโลกสังคมออนไลน์ของคุณครูเพื่อศิษย์อย่าง GOTOKNOW  ซึ่งสอนให้ศิลามองโลกหลายมิติ  ทำให้การไปที่ไหนก็ตาม ได้มองเห็นสรรพสิ่งอย่างมึคุณค่า  เมื่อศิลาได้ไปร่วมงานประเพณีครั้งนี้ ก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนในหมู่บ้าน “บ้านตานบ”  โรงเรียนนี้มีชื่อเดียวกับหมู่บ้านชื่อ “โรงเรียนบ้านตานบ” เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ตั้งอยู่หมู่ 4 ตำบลทุ่งกุลา อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์  มีนักเรียนทั้งหมด 96 คน  คุณครู 7 คน (รวมผู้อำนวยการโรงเรียน)

 

โรงเรียนบ้านตานบก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2483 เดิมทีอาศัยสถานที่ของวัดในหมู่บ้านเป็นห้องเรียน ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2519 ครู นักเรียนและผู้ปกครองได้ร่วมแรงร่วมใจบริจาคที่ดินและวัสดุอุปกรณ์สร้างโรงเรียนบ้านตานบนี้ขึ้นมา จึงเป็นครั้งแรกที่มีพื้นที่โรงเรียนเป็นของตนเอง

 

           โรงเรียนอยู่ในหัวใจ ไร้อาณาเขต

         

ข้อสังเกตที่ศิลามองเห็นก็คือการเป็นโรงเรียนครั้งแรกของโรงเรียนบ้านตานบมีมานานถึง 69 ปีแล้ว… นั่นคือความรู้สึกว่าเป็นโรงเรียนโดยยังไม่มีพื้นที่มีรั้วโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ   คำว่า “โรงเรียน” ณ ที่นี้ จึงมีความหมายเฉพาะการมีครูและลูกศิษย์เท่านั้น  ส่วน “ห้องเรียน”  จะอาศัยบริเวณวัดเป็นห้องเรียน  หรือทุ่งนา หรือใต้ต้นไม้ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

        

            

โรงเรียนบ้านตานบจากวันที่มีพื้นที่โรงเรียนเป็นของตนเองใน พ.ศ. 2519 จนถึงวันนี้ พ.ศ. 2552 รวมระยะเวลา 33 ปีแล้ว  ขอใช้ภาพบรรยายแทนคำเขียนใด ๆ แล้วกันนะคะ

      

 

 

 

 

  

ศิลาได้พบ “ผู้ใหญ่” ท่านหนึ่ง นั่งเอามือกุมศรีษะปิดตาตนเองอยู่ข้างหนึ่ง ศิลาจึงเข้าไปไหว้และแนะนำตนเองว่ามาร่วมงานประเพณี “โดนตา” ของหมู่บ้านตานบและอยากแวะเยี่ยมชมโรงเรียน โดยมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนี้และมีคุณครูที่เคยสอนเขาชื่อคุณครูพรรษา แก้วจรัญ ไม่ทราบว่าคุณครูท่านนี้ยังอยู่ที่โรงเรียนนี้หรือเปล่า

 

“ผู้ใหญ่” ท่านนี้แนะนำตนเองว่าคือผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตานบ  ชื่อสมุห์  มาลีหวล  ท่านบอกว่าคุณครูพรรษาอยู่ที่บ้าน กำลังทำอาหารเพื่อเตรียมไหว้บรรพบุรุษตามประเพณี

 

วันที่ศิลาไปเยี่ยมชมโรงเรียนบ้านตานบเป็นวันศุกร์ เวลาใกล้เที่ยง ซึ่งปกติโรงเรียนทั่วไปจะต้องมีการเรียนการสอน  แต่สำหรับที่นี่ วันนี้ถือว่าเป็นวันประเพณีท้องถิ่น จึงเป็นที่ทราบกันดีว่าโรงเรียนจะปิดการเรียนช่วงบ่าย

     

พอดีนักเรียนคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซด์กำลังจะจอดข้างโรงเรียน             ท่าน ผ.อ. สมุห์จึงตะโกนให้เด็กนักเรียนคนนั้นไปตามคุณครูพรรษามาพบที่นี่  ศิลาก็เกรงใจเป็นอย่างมาก แต่ท่านก็เต็มใจที่จะให้คุณครูพรรษามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับศิษย์เก่าที่มาด้วยกันและบอกว่าบ้านคุณครูพรรษาอยู่ไม่ไกลโรงเรียน

 

ระหว่างที่รอคุณครูพรรษามาที่โรงเรียน ท่าน ผ.อ. ก็เล่าเรื่องโรงเรียนให้ฟังคร่าว ๆ

 

ศิลาทราบว่าเมื่อเดือนก่อนเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งวิ่งบนอาคารเรียนชั้นบนอยู่ดี ๆ พื้นไม้ก็แตกเป็นร่อง ขาเด็กนักเรียนข้างหนึ่งตกร่องไปกว่าครึ่งขา โชคดีที่ช่วยกันดึงขึ้นมาไม่ให้ตกลงมาชั้นล่าง  ไม่เช่นนั้น ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง

 

 โรงเรียนแห่งนี้เก่าแก่และอยู่แบบตายฝัง ยังเลี้ยง?

                                      

คุณครูพรรษามาถึง ศิลาและศิษย์ของท่านที่มาด้วยกันก็ไหว้แสดงความเคารพและยิ้มแย้มให้ท่าน คุณครูถามว่า “มาถึงนี่ ไกลมาก รู้สึกว่าโรงเรียนนี้ไกลกันดารไหมคะ”

 

ศิลาตอบว่า “ไม่ได้รู้สึกว่าห่างไกลกันดารเลยค่ะ แต่รู้สึกว่าเป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ถูกละเลย ไม่ได้รับการเหลียวแลมากกว่าค่ะคุณครู”

 

ศิลาเองก็นึกไม่ถึงว่าตนเองจะตอบตามความรู้สึกได้รวดเร็วปานนั้น เป็นความรู้สึกที่หดหู่ ห่อเหี่ยวและสิ้นหวังกับสิ่งที่พบเห็น

                 

ศิลาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับท่าน ผ.อ. และคุณครูพรรษาอย่างมีความสุขท่ามกลางฝนที่ตกพรำ ๆ  สุขที่ได้เจอ    คุณครูที่เปรียบเสมือนพ่อแม่เด็ก

 

อย่างไรหรือคะ  ลองมาฟังกันดู เผื่อหลาย ๆ ท่านจะได้มีกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่แล้ว

 

โรงเรียนนี้มีพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ มีบ่อเลี้ยงปลา มีเล้าเป็ด  และคอกหมู   ข้าง ๆ โรงเรียนก็มีนาข้าวเขียวขจี

     

ศิลามองไปที่ทุ่งนาและถามภาษาซื่อ “ที่นี่ สอนทำนาด้วยหรือคะ”

ผ.อ. ท่านกลับทำหน้างง ๆ ซื่อ ๆ ยิ่งกว่า “ทำไมต้องสอนทำนา เด็ก ๆ เป็นลูกชาวนา ที่บ้านมีนาของตนเองและช่วยพ่อแม่ทำนาเป็นประจำอยู่แล้ว”

 

ท่านกล่าวต่อไปว่า คุณครูและนักเรียนช่วยกันทำนาของโรงเรียนเพื่อจะได้เป็นข้าวกลางวัน และคุณครูก็จะทำกับข้าวให้เสร็จตั้งแต่เช้าก่อนเริ่มสอนหนังสือ เพื่อให้เด็กนักเรียนมีกับข้าวไว้ทานเป็นอาหารกลางวัน

 

ท่าน ผ.อ. เล่าต่อว่า “เด็ก ๆ ช่วยกันเลี้ยงปลา บางครั้งก็ซนตามประสาเด็ก ลงไปเล่นน้ำกับปลาในบ่อ เกือบจมน้ำตาย หยุดหายใจไปแล้ว กว่าจะปั๊มหัวใจให้ฟื้นได้  ครูไม่พอดูเด็ก ครูบางคนก็ลาคลอด บางคนก็ต้องเข้าไปประชุมในอำเภอ”

 

 

ศิลานิ่งอึ้ง อาจจะมีอีกหลายโรงเรียนที่มีสภาพโรงเรียน ความทรุดโทรมและความขาดแคลนเช่นนี้ทั่วประเทศ แต่ศิลาเองอาจจะ “รู้” แบบไม่เคยเห็นกับตามาก่อนอย่างโรงเรียนนี้

      

ท่าน ผ.อ. ขยายความต่อไปว่าโรงเรียนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  โรงเรียนในเขตจังหวัดสุรินทร์เรียกว่าเขต 2 มีทั้งหมด 246 โรงเรียน  ประมาณ 80 กว่าโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก ขาดงบประมาณ จึงไม่มีเงินมาซ่อมบำรุงอาคารโรงเรียนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย  แม้กระทั่งอุปกรณ์การเรียน หรืออุปกรณ์กีฬาก็ใช้งานไม่ได้ หรือไม่มีในแบบที่เราคิดว่าควรจะมี

            

              

         

          

           โรงเรียนที่ขาดแคลนเกือบทุกสิ่ง

     ยกเว้นไม่ขาดความรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกัน

 

    

เด็ก ๆ รู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้าน ช่วยกันเลี้ยงสัตว์

 

 

  

  

ปลูกผักสวนครัว สมุนไพร เมื่อถึงฤดูทำนา ก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปช่วยทำนาที่บ้าน ทั้งนาโรงเรียน และนาบ้านเสมือนนาของส่วนรวมที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ

 

ศิลาขอเบอร์โทรศัพท์ของโรงเรียน เผื่อว่าจะรวบรวมหนังสือหรืออุปกรณ์การเรียนที่มีการบริจาค  ส่งมาให้ทางโรงเรียน  ท่าน ผ.อ. บอกว่า “โรงเรียนนี้ไม่มีเบอร์โทรศัพท์มานานเป็นปีแล้ว เพราะมีขโมยซึ่งเป็นคนหมู่บ้านอื่นมาลักเอาสายทองแดงไป ส่วนปลอกสายโทรศัพท์โยนทิ้งไว้ในบ่อปลาให้เราปวดใจเล่น ๆ”  แล้วท่านก็ให้เบอร์โทรศัพท์มือถือของคุณครูท่านอื่นในโรงเรียนไว้ให้ศิลา ส่วนตัวท่าน ผ.อ. จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้แล้ว

 

ศิลาอดสังเกตไม่ได้ว่าสายตาของท่าน ผ.อ. ที่กำลังเกษียณอายุราชการเต็มไปด้วยความห่วงใยอนาคตของชาติ  แลในบางครั้งของการสนทนาแววตาท่านว่างเปล่าและวางเฉย

   

             

ห้องสมุดที่ถูกปิดตาย เพราะนักเรียนใช้เวลาไปกับการ "ลงมือทำ" เสมือนการละเล่น มากกว่าการอ่านหนังสือ  ได้แก่ การปลูกผัก เลี้ยงสัตว์และทำนา

 

 

ศิลาได้ไปทานอาหารค่ำบ้านคุณครูพรรษา ซึ่งท่านได้เล่าถึง ผ.อ.สมุห์อย่างชื่นชมว่าทำงานแทนที่ภารโรงเกือบทุกอย่าง  ปิดห้องเรียน ปิดประตูโรงเรียน และออกจากโรงเรียนเป็นคนสุดท้าย  ในวันหยุด ท่านก็จะแวะมาให้อาหารปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู ไม่ให้สัตว์เลี้ยงอดอยาก  

 

แม้แต่คุณครูพรรษาเอง ก็ถือว่าเป็นแม่ครูคนหนึ่ง สอนอยู่ที่โรงเรียนนี้มาสามสิบกว่าปี สอนตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นหลาน…คุณครูยังไม่แก่มาก อายุประมาณห้าสิบปีเท่านั้น แต่คนที่นี่มีลูกกันเร็ว…คุณครูช่วยสอนหนังสือผู้เฒ่าผู้แก่ในยามว่างจากสอนหนังสือที่โรงเรียนและว่างจากทำนาของตนเอง

 

คุณครูช่วยอ่านจดหมายของลูกหลานที่เขียนมาหาพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่แก่เฒ่าในชนบท  นาน ๆ ทีลูกหลานจะกลับมา หรือบางครอบครัว ก็ไม่เคยเห็นลูกหลานเลยจนกระทั่งตายจากโลกนี้ไป

       

                  

มองออกไปนอกหน้าต่างห้องเรียน ดูไร้ซึ่งความหวัง?

 

 

มันไม่ใช่เรื่องง่ายจริง ๆ ที่เราจะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเดิม ๆ  เพราะตั้งแต่เราเกิดมา หรือพอจดจำอะไรรู้เรื่องบ้าง  เราก็เห็นว่าเราเป็นแบบนี้แล้ว

 

และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดและความไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน

 

เมื่อถามไถ่พ่อแม่เด็กว่าในอนาคต อยากเห็นลูกหลานทำมาหากินอะไร

 

หลายคนนึกคำตอบไม่ออก เสมือนว่าไม่เคยรู้ว่ามีคำถามนี้ในโลก เพราะชีวิตของพวกเขาคือ “วันนี้”  ไม่มีอนาคต

 

            อนาคตของเด็กไทยในทุกหัวระแหง

          

 เด็กนักเรียนคนหนึ่งใช้กล้องส่องให้ไกล แม้ไปไม่ถึง

 เด็กทุ่งกุลาร้องไห้หลายคนมีแววตาและสีหน้าว่างเปล่า

    

    

ถามเด็กว่าอยากเป็นอะไร  เด็กส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นอะไรก็ได้ที่เหมือนพ่อแม่ปู่ย่าตายาย

 

แต่ภาพที่ศิลาเห็นรุ่นปู่ย่าตายาย คือยายคนนี้ ท่านชื่อว่ายายริง อายุ 72 ปี เลี้ยงวัวมาตั้งแต่จำความได้ 

 

ศิลาถามว่าไม่มีใครช่วยยายเลี้ยงวัวหรือคะ  ท่านก็ตอบว่า “บ่มี หนุ่ม ๆ มันไปเฮ็ดงานอยู่ในเมืองหมดแล้ว”

 

ศิลาถามต่อ  “วัวทั้งหมดมีกี่ตัวคะ”

 

“22 ตัวจ้า” 

 

 

ครูเพื่อศิษย์ที่ศิลานำเสนอในบันทึกนี้ ไม่ใช่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงก็จริงอยู่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น “มันเป็นเช่นนั้นเอง” มานานหลายสิบปีตั้งแต่คุณครูพรรษาสอนอยู่ในโรงเรียนนี้มาตั้งแต่โรงเรียนมีรั้วเป็นของโรงเรียนเอง

 

สิ่งที่คุณครูทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน คือ การ “อด” และ “ทน” 

 

"อด" ในสิ่งที่เราอยากได้แต่ไม่ได้  และ "ทน" ในสิ่งที่ไม่อยากจะให้เป็นแต่ต้องเห็นว่ามันเป็น

 

คุณครูมีโอกาสย้ายไปอยู่ในโรงเรียน ในที่ที่ดีกว่านี้ แต่ไม่ไป เพราะคำเดียวสั้น ๆ ที่คุณครูตอบศิลาภาษาซื่อ ๆ ว่า “สงสารเด็ก ๆ บ้านตานบ” 

 

                   คุณครูมีความหวังค่ะ

 

“ขอเพียงลูกศิษย์หนึ่งในร้อยคนก็ยังดี ที่จะกลับมาช่วยกันพัฒนาชุมชน”

  

 

                 เด็ก ๆ ลุยฝนกลับบ้าน

มันไม่ง่ายเลยค่ะที่จะเขียนบันทึกจากประสบการณ์ที่เห็นด้วยตาครั้งนี้โดยไม่มีน้ำตา….

      

 ขอเป็นส่วนหนึ่งของพลังและกำลังใจที่มีให้แด่คุณครูเพื่อศิษย์ทุกท่านค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 299146เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2009 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (60)

สุดยอดเลยค่ะพี่ศิลา ถ่ายทอดได้ดีมากๆ ไม่คิดว่าภาพโรงเรียนเก่าผุพังจะยังมีให้เห็นในทุกวันนี้ เเต่สิ่งหนึ่งที่เห็นมากกว่านั้นคือความเป็นชนบทที่เเท้จริง เเละความเป็นครอบครัวเดียวกันของคนในโรงเรียนนี้ กุ้งเเวะมาทักทายให้หายคิดถึงค่ะ

โรงเรียนบ้านตานบมีมานานถึง 69 ปีแล้ว…
โอ..มีอายุนานมากทีเดียวนะคะ เรื่องนี้ ทางครูใหญ่น่าจะไปเสนอของบปรับปรุงจากทางจังหวัดนะคะ เพราะเห็นว่ามีครูไปประชุม ไปอบรมที่จังหวัดกันอยู่ และยังได้มีการทำวิสัยทัศน์กันด้วย
คือโรงเรียนที่ยังขาดแคลนแบบนี้ ก็มีสิทธิ์ได้รับการอุดหนุนนะคะ คงต้องทำเรื่องเป็นขั้นตอน และครูใหญ่คงต้องเดินเรื่องเองด้วย
อ่านแล้ว เห็นใจโรงเรียนมากๆค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • ความรู้สึก..เกิดขึ้นตามทุกตัวอักษรที่อ่านค่ะ
  • ประทับใจค่ะ  “ขอเพียงลูกศิษย์หนึ่งในร้อยคนก็ยังดี ที่จะกลับมาช่วยกันพัฒนาชุมชน”
  • ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูค่ะ
  • ขอขอบพระคุณน้องศิลาค่ะ  ที่ได้ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องนี้
  • http://gotoknow.org/blog/krukim/299071

เก็บเป็นความทรงจำที่งดงาม รอบุตรหลานรุ่นหลังมาดำเนินการต่อไป ก็ขอได้แต่เพียงผู้ส่งข่าวสารให้คนที่มีอำนาจและความสามารถ..................................

  • สวัสดีค่ะ น้อง กุ้งนาง สุธีรา ถ่ายทอดยากจริง ๆ ค่ะ เพราะภาพที่ติดตาคือความขาดแคลนและความไม่ปลอดภัยใด ๆ เลย
  • หลายเรื่องที่เราสื่อสะท้อนออกมาไม่ได้มาก เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องย่อมรู้แก่ใจดี สิ่งทำได้คือการเป็นสื่อกลางและรอโอกาสธรรมะจัดสรรให้กลับไปทำบุญกุศลให้กับท้องถิ่นนี้อีกครั้ง
  • ดีใจมากค่ะ ที่มาเยือน เพิ่งกลับมาได้ไม่นาน ยังเพลีย ๆ อยู่ แต่ก็อยากรีบเเขียน เพราะกลัวว่าตนเองจะติดสบายแล้วลืมความลำบากที่ได้สัมผัสด้วยสายตามาค่ะ
  • ขอบพระคุณมากค่ะที่มาร่วมแสดงความปรารถนาดีและเป็นกำลังใจให้คุณครูทั้งประเทศ
  • ขอบพระคุณพี่ Sasinand  มากค่ะที่เป็นห่วง  เรื่องหน่วยงานที่รับผิดชอบกับการของบประมาณเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็มักจะถาม และผู้ตอบก็อึดอัดใจที่จะตอบอย่างมาก เท่าที่ทราบท่านก็ขอจนท้อและจะเกษียณอยู่แล้ว จึงไม่อยากรื้อฟื้นอะไร
  • โรงเรียนนี้มีความเป็นโรงเรียนตั้งแต่ 69 ปีที่แล้ว แต่มีอาคารเรียนและรั้วโรงเรียนอย่างที่เห็นสามสิบกว่าปีมานี้ค่ะ ยังไม่ได้รื้อแล้วปรับปรุงใหม่ ทำเพียงปะผุเท่านั้น
  • ศิลาเห็นแล้วก็อึ้ง สิ่งที่ทำได้คือการเป็นเพียงคนช่วยประกอบจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพของตัวอย่างโรงเรียนที่ขาดแคลนและถูกหลงลืมไปเท่านั้น
  • เชื่อว่าแรงกระเพื่อมคงส่งต่อถึงผู้เกี่ยวข้องได้มองเห็นและเห็นใจ ส่วนอยากจะโทษว่าผู้ใหญ่ในโรงเรียนไม่เสนอของบมาก็สุดแล้วแต่พวกเขา  ขอเพียงให้ท่านผู้มีอำนาจช่วยเหลือมาบ้างก็ยังดี แลกกับการกล่าวโทษผู้ที่กำลังเกษียณอายุราชการอย่างท่าน ผ.อ. ท่านก็บอกว่าคุ้มค่ะ ท่านยอมรับผิดเอง...แต่ของบมาหน่อยได้ไหม...อะไรประมาณนี้ค่ะ

ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีมากค่ะ..ครูอ้อยเล็กว่าจุดเด่นของโรงเรียนนี้อยู่ที่ความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ ธรรมชาตินี่แหล่ะที่จะฝึกให้เขาแข็งแกร่งและนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน..สิ่งที่ควรพัฒนาคืออาคารเรียน ห้องเรียน สื่อและอุปกรณ์อื่นๆที่เด็กสามารถใช้สืบค้นได้..และมีความทันสมัยก้าวทันโลกภายนอก..น่าจะมีคนเห็นความสำคัญนะคะ..ขอให้ความคิดเห็นที่ว่า...

เชื่อว่าแรงกระเพื่อมคงส่งต่อถึงผู้เกี่ยวข้องได้มองเห็นและเห็นใจ ส่วนอยากจะโทษว่าผู้ใหญ่ในโรงเรียนไม่เสนอของบมาก็สุดแล้วแต่พวกเขา  ขอเพียงให้ท่านผู้มีอำนาจช่วยเหลือมาบ้างก็ยังดี แลกกับการกล่าวโทษผู้ที่กำลังเกษียณอายุราชการอย่างท่าน ผ.อ. ท่านก็บอกว่าคุ้มค่ะ ท่านยอมรับผิดเอง...แต่ของบมาหน่อยได้ไหม...อะไรประมาณนี้ค่ะ

ขอให้มีผลเป็นจริงโดยเร็ววันะคะน้องศิลา...เป็นกำลังใจให้ค่ัะ...

สวัสดีค่ะคุณศิลาที่คิดถึง

 

  • บรรยากาศแบบนี้ในชนบทภาคอิสานมีเยอะค่ะ

 

"อด" ในสิ่งที่เราอยากได้แต่ไม่ได้  และ "ทน" ในสิ่งที่ไม่อยากจะให้เป็นแต่ต้องเห็นว่ามันเป็น

  • อยู่ให้มีความสุขในสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่นะคะ

  • ขอบคุณค่ะ

  • ในซอกของสังคม ยังมีสิ่งที่ซ่อนเร้นที่ต้องได้รับดูแลมากมายเกินจะคิด
  • ต้องพยายามสู้..เอาส่วนที่เกินเหลือเฟือ/เหลือล้น..ไปสู่ส่วนที่ขาด  ช่างยากลำบากเสียจริงหนอ...
  • ให้กำลังใจกัน ก็ยังดีครับ..

ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมโลกของคนรักเห้ดครับ

เป็นกำลังใจให้ครับ

มาหยุดไว้ที่...บันทึกนี้

เพื่อจองคิว..ไว้ก่อน ครับ

เอาเพื่อนคุณศิลามานั่งคุยก่อน

ด้วยความระลึกถึง ครับ

  • ขอบพระคุณพี่ครูคิม ที่กรุณาแวะมาอ่านและซึมซับความงดงามของคุณครูร่วมกัน ทั้งที่จริง ๆ แล้วก็คงผ่านความเหนื่อยยากมาเช่นกันมิใช่น้อย เข้าใจจริง ๆ ค่ะว่ากว่าจะถึงวันนี้ของพี่ครูคิม มันไม่ง่ายเลย

สวัสดีค่ะอ.ศิลา เหมือนการย้อนไปดูสมัยที่เป็นนักเรียนประถม แม้อาคารสถานที่จะผุพังตามกาลเวลา แต่ยังมีสิ่งที่ดีๆ คือการที่สอนให้นักเรียน ช่วยตัวเอง ...ไม่ทิ้งรากเหง้าของตัวเอง....

 

 

  • ขอบพระคุณคุณ วิญญาณเสรี ที่นำสิ่งดี ๆ มาให้พบพาอยู่เสมอค่ะ

หลายโรงเรียนที่มีความเป็นอยู่ที่แย่กว่านี้อีก

หวังว่าโรงเรียนนี้จะมีผู้ที่อาสาเข้าไปเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนได้มาดูบ้าง

แต่ก็อดดีใจไม่ได้ที่นักเรียนโรงเรียนบ้านตานบ”ได้มีชุดนักเรียนให้โดยไม่เรียกการปฏิบัติ

เป็นกำลังใจช่วย

สวัสดีคะอาจารย์ศิลาไม่ได้ทักทายกันนานแล้วนะคะ หากันไม่เจอ

คิดถึงนะคะ อ่านเรื่องจากน้องสาวพอลล่าแล้วอยากเรียนด้วย

อ.ศิลา ครับ

ผมตามอ่านบันทึกนี้มาสองสามรอบแล้ว และมีโอกาสคุยกับพี่วิญญาณเสรี กับ อ.ศิลา วันก่อน เลยมาดูรูปอีกครั้ง ...

โรงเรียนทรุกโทรมมากเลยครับ น่าเห็นใจ นี่หละหนา ความเเตกต่างทางโอกาสของคนชนบทกับคนเมือง ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยเหมือนกันแต่แตกต่างกันราว ฟ้า และ ดิน

ให้กำลังใจครู ทุกท่านที่ทำงานเพื่อศิษย์ ครับ

ขอบคุณ อ.ศิลา ที่นำเรื่องราวความจริงเหล่านี้ออกมาเผยเเพร่ คิดว่า จากนี้ไป จะมีการเปลี่ยนแปลงนะครับ

สวัสดีครับ

เมือสามปีก่อนผมมีโอกาสไปแวะเวียนเยี่ยมเยียนโรงเรียนในแถบ จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ หลายแห่ง

มีสภาพเดียวกันกับในบันทึก

หลายแห่งเลวร้ายยิ่งกว่า

จะลองค้นเอางานเก่า ๆ บันทึกมาแลกเปลี่ยนครับ

  • ขอบพระคุณคุณครู อ้อยเล็ก มากค่ะที่มองเห็นความไม่พอดีตรงนี้ รอการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ค่ะ หวังว่าจะมีคลื่นแห่งความเมตตาหลั่งไหลไปถึงเด็กน้อยตาดำ ๆ อีกหลายคนทั่วประเทศไทยค่ะ
  • ศิลาเชื่อว่ามีอยู่มากมายเกินคำบรรยายจริง ๆ
  • ใช่ค่ะ คุณ สีตะวัน บรรยากาศทุ่งข้าวเขียวขจีมีอยู่ทั่วอีสาน และความขาดแคลนก็กระจายอยู่ทุ่งหย่อมหญ้า เห็นใจมากเลยค่ะกับการอดทนของคนทำงานในพื้นที่ที่ห่างไกล
  • เหมือนคนละโลกเดียวกันค่ะ
     

สวัสดีครับอาจารย์ น่าภาคภูมิสำหรับคุณครู  ที่ศิษย์เก่ายังระลึกถึงกลับมาเยี่ยมพร้อมกับกัลยาณมิตร  ทำให้ได้เห็นสภาพที่แท้จริงของโรงเรียนในชนบทซึ่งมีมายาวนานแล้ว...เรื่อง งบประมาณ ต้องฝากไปยังสภาผู้ทรงเกียรติ ครับอาจารย์

  • มันมากมายเกินบรรยายจริง ๆ ค่ะ คุณ สามสัก สิ่งที่ศิลาเป็นห่วงที่สุดคือการมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา...ไม่อยากเห็นเลยว่าในประเทศชาติเดียวกัน จะต้องแบ่งคนออกเป็นคนรวย คนชนชั้นกลาง และคนจน เพราะเมื่อแบ่งแล้ว ก็จะทำให้มองคนจนต้องทนเช่นนั้นต่อไปตามชนชั้นของสังคม
  • อยากให้มองว่าฐานะทางสังคมที่แม้จะแตกต่าง แต่จิตใจเราหลอมรวมช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้อย่างที่คุณสามสักกล่าวมาเลยค่ะ เอาส่วนที่เกินเหลือเฟือ/เหลือล้น..ไปสู่ส่วนที่ขาด ...
  • เชื่อว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสักวัน

จงทำงานให้ประสบความสำเร็จท่ามกลางความขาดแคลน

ครูที่ลำบากยังมีอยู่มากมาย แต่ครูจะภูมิใจที่ทำให้สังคมอยู่ได้

ยิ่งอยู่ในที่กันดารเท่าใด ค่าของครูยิ่งสูงมากตามไปด้วย

ยิ่งโรงเรียนขาดแคลนมากเท่าใด ชุมชนย่อมรักและหวงแหนโรงเรียนมีความเป็นเจ้าของ

เคยอยู่โรงเรียนที่มีครู 4 คน ผู้บริหารต้องสอนอนุบาลและทำงานธุรการ สวมวิญญาณเสมียน

กลัวอะไรกับงานหนักถ้ารักอาชีพครู

จงภูมิใจเถิดหนาที่ที่ได้มาเป็นครู

สว้สดีค่ะคุณศิลา

ไม่ได้มาทักทาย แต่ยังคิดถึงเหมือนเดิมค่ะ

เข้าใจว่าโรงเรียนนี้น่าจะอยู่ในสังกัดของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมีหน่วยงานย่อยในจังหวัดคือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดูแลอีกทีหนี่งค่ะ แต่เดิมจะเป็น สำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) เป็นหน่วยงานดูแล ต่อมาสปช.รวมเข้ากับ กรมสามัญ (ดูแลระดับมัธยมศึกษา) เปลี่ยนชื่อเป็น สพฐ.

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เป็นชื่อเดิมของ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีหน้าที่จัดทำนโยบายการศึกษาชาติ (ไม่มีหน้าที่ดูแลโรงเรียน) ซึ่งคนไม่มีรากสังกัดอยู่ค่ะ

ขอบคุณที่คุณศิลานำภาพมาให้ชม เล่าเรื่องให้ได้รู้ ... ยังมีโรงเรียนอีกมากมายที่ไม่ได้รับการเหลียวแลเลย

(^___^)

  • ขอบพระคุณคุณ เจษฎา ที่แวะมามอบกำลังใจดี ๆ ค่ะ
  • แวะมาทิ้งหนุ่มหล่อพร้อมรอยยิ้มแล้วก็จากไป อิอิ อย่าลืมแวะมาไว ๆ นะคะ คุณ แสงแห่งความดี
  • เด็กน่ารัก และน่าสงสาร
  • โอกาสควรจะครอบคลุมถึงพวกเขามากกว่านี้
  • ชื่นชมคุณครูทุกคนที่นี่ค่ะ

สวัสดีค่ะ  มาส่งความคิดถึงค่ะ

ไม่ค่อยดีเวลาแต่ก็คิดอยู่เสมอ  แล้วจะแวะมาใหม่นะคะ

ไม่ได้เจอกันซะนาน คิดถึง

มาอ่านทุกตัวอักษรแล้วให้สะเทือนใจพลอยน้ำตาคลอไปด้วย

คนไทยเราชอบมองตัวเองว่าดีแล้ว  พัฒนาแล้ว  เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

จนบางครั้งไปเวทนาเขาที่ช่างขาดแคลน  ไร้การพัฒนา...

แต่จริงๆ แล้ว  โรงเรียนในบ้านเรานี่แหละที่น่าสงสารมากกว่า

เพราะมันมีความแตกต่างและเหลื่อมล้ำกันเห็นได้อย่างชัดเจน

อยากให้หลายๆ ท่านนำเรื่องราวมาบอกกล่าว  เพื่อสะท้อนภาพให้สังคมร่วมกันรับรู้

อย่างน้อยๆ  ลูกศิษย์ที่ได้เคยร่ำเรียนมา...จะได้กลับมาช่วยกันพัฒนาเท่าที่กำลังแรงมี

แต่จะหวังให้รัฐเข้าไปดูแลนั้น  คงต้องรอ....ตอนบ่ายกระมังคะ  น้องศิลา

 

 

  • มองเห็นภาพงามขนาดอย่างนี้ ปลื้มใจจังค่ะ ท่านอาจารย์ Wasawat Deemarn 
  • คราวหน้าจะถ่ายให้น่าเห็นใจกว่านี้ เผื่อจะเรียกน้ำตาผู้ชายได้บ้าง อิอิอิ

แวะมาเยี่ยมพี่ศิลาครับ

และมาชื่นขมความอดทนของคุณครู

สงสัยงานจะยุ่งเหรอครับ

บันทึกพี่ศิลาเงียบๆไป หรือ ว่าระบบใหม่หากันยากหรือเปล่าครับ

เลยไม่ค่อยเห็นความเคลื่อนไหว

ขอบคุณครับ

น่าสรรเสริญน้ำใจคุณครูท่านจังค่ะ

สวัสดีค่ะคุณศิลา..อ่านแล้วตื้นตันอดไม่ได้ที่จะมีน้ำตาบ้างเล็กน้อย..ขอบคุณค่ะสำหรับโอกาสที่อาจารย์เห็นและนำมาเสนอมันน่าจะมีอีกมากมายหลายแห่งแต่เราไม่มีโอกาสไปเห็นเท่านั้นเอง“มันเป็นเช่นนั้นเอง”จริงๆนะคะ

สวัสดีค่ะ

แวะมาทักทายวันหยุดค่ะ

คงอยู่ในช่วงของการ "ทำการบ้าน" ส่งครูบาอาจารย์ ....

ไม่กวนนะคะ

แต่มาส่งความระลึกถึงไว้ค่ะ

(^___^)

  • ใช่ค่ะ พี่แดง การสอนเด็กให้ช่วยเหลือตนเอง และไม่ทิ้งรากเหง้าที่มาของตนเอง ทำให้เกิดความรักถิ่นฐานบ้านเกิด
  • คงไม่มีความสุขใดเท่ากับการได้อยู่ในที่ที่มีความรัก ความอบอุ่นอย่างแท้จริง แน่นอนค่ะ 
  • ค่ะ ท่านมหาเหรียญชัย เหรียญชัย มาวงษ์ โชคดีที่นักเรียนโรงเรียนบ้านตานบมีชุดนักเรียนใส่ แต่ก็โชคไม่ดีที่ไม่มีรองเท้า...คงมีหลาย ๆ โรงเรียนทั่วประเทศที่เป็นแบบนี้
  • มีเรื่องราวคล้าย ๆ กัน แย่กว่านี้ ก็นำมาช่วยกันเผยแพร่ได้เลยนะคะ สะท้อนความเป็นจริงของการศึกษาไทย จะได้มองเห็นว่า "อนาคตของชาติ" จะเป็นอย่างไร หากสิ่งที่เป็นอยู่ ยังเป็นอย่างที่เราเห็นเช่นนี้
  • จากคำพูดของคุณเอก "ขอบคุณ อ.ศิลา ที่นำ เรื่องราวความจริงเหล่านี้ออกมาเผยเเพร่ คิดว่า จากนี้ไป จะมีการเปลี่ยนแปลงนะครับ"
  • เชื่อว่า จะมีหนุ่มมหัศจรรย์มาเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ค่ะ

มาอ่านเรื่องดีๆ จรรโลงใจค่ะพี่หญิง ...

ในความขัดเขินที่มองเห็น เป็นวิถีประชาที่มีสีสัน รอยยิ้มจริงใจเปี่ยมชีวาค่ะ

เป็นกำลังใจให้ครูเพื่อเด็กน้อยค่ะ ถ้าค่านิยมสังคม ปรับเปลี่ยนใหม่ไปได้

ทุกสถาบันล้วนเท่าเทียม ผู้เรียนได้ค้นพบตนเอง เรียนรู้อย่างเต็มใจ สุขใจ ภาคภูมิกับสิ่งที่ตนเลือก

มาดูรร.ในเมือง ได้อย่างเสียอย่างนะคะ พท.เล่นแทบไม่มี เด็กๆ หน้าตาคร่ำเคร่งเกินวัยแข่งขันกันติว ครูไม่ค่อยมีเวลาให้ หรือเน้นวิชาการเกินไป

... ความแตกต่าง ที่ต้องทบทวน ...  ชอบทุกๆ ภาพค่ะพี่หญิง ชมวนไปมาหลายรอบ ขอบคุณค่ะ

 

  • ค่ะ คุณ หนานเกียรติP  มาร่วมกันแลกเปลี่ยนนำเสนอสภาพความเป็นจริงของโรงเรียนกันเถอะค่ะ  เชื่อว่าแย่กว่านี้ก็มีอย่างแน่นอน ทั่วประเทศไทยเราค่ะ
  • ความเหลื่อมล้ำทางความรู้มันมีอยู่แล้ว  แต่ที่อยากจะเติมเต็มคือการแสดงความรัก ความเมตตาที่มีให้แก่กัน แม้เพียงคนละน้อยนิดที่แบ่งปันออกไป หลาย ๆ คนช่วยกันก็คงเป็นพลังมหาศาลที่เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยได้ค่ะ
  • ทำอะไรก็ได้ที่เราถนัด  เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมค่ะ
  • สิ่งที่ศิลานำเสนอเป็นเพียงภาพเสี้ยวเล็ก ๆ ของโรงเรียนห่งหนึ่งภายใต้ระบบการศึกษาไทยค่ะ คุณ หนุ่ม กร~natadee  แต่ศิลาเชื่อว่ามันสะท้อนภาพใหญ่ทั้งหมดของการบริหารจัดการค่ะ
  • "ทำอะไรกันอยู่"
  • "การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เงินงบประมาณไปจมอยู่กับเทคโนโลยี"
  • "ความเจริญอยู่ที่คน ไม่ใช่สิ่งของ" ใช่หรือไม่

ขอใช้เสียงบ้างค่ะ แม้ไม่ดัง แต่ก็ตั้งใจค่ะ

1.

P
Sila Phu-Chaya
เมื่อ ศ. 02 ต.ค. 2552 @ 14:49
#1586519 [ ลบ ]

ค่ะ คนล้มไม่ข้ามค่ะ จะช่วยหาเบาะรองไว้ให้แน่นอนค่ะ

ใกล้วันหยุด เที่ยวให้สนุกนะคะ พี่ศิลาทำงานเหนื่อยจังเลยค่ะ สงสัยหลับคืนนี้ ตื่นอีกทีวันจันทร์ อิอิ

แสดงว่าพี่ศิลาเหนื่อยมากจริง ๆ ค่ะ ดูแลสุขภาพด้วยน่ะค่ะ

มาชม

มาชมทุ่งท้องนาหลังคาโรงเรียนเก่าแก่...

นึกแวบเห็นโรงเรียนศาลาวัดบ้านนอกที่ตนเองเคยเรียนมาเมื่อยังเยาว์...

สวัสดี่ค่ะ

- แวะมาเยี่ยมค่ะ

- สุขกายสุขใจนะคะ

ติดตามอ่านบันทึกของคุณศิลามาหลายๆครั้งประทับใจลีการถ่ายทอดมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เคยเม้นท์สักที
อ่านบันทึกนี้อดไม่ได้ที่จะชื่นชมคุณเป็นพิเศษคุณเขียนและถ่ายทอดได้รายละเอียดที่กินใจครูอย่างผม
ผมคงเก็บความรู้สึกนี้ไม่ได้จึงต้องลงมือแสดงความเห็นเพื่อชื่นชมคุณในครั้งนี้
บันทึกนี้เป็นบันทึกที่ดีที่สุดที่ผมประทับใจ
การเขียนบันทึกยาวๆและได้รายละเอียดที่ถึงแก่นเห็นภาพเช่นนี้หายาก
อีกประการหนึ่งคุณใช้ภาษาสำนวนการเขียนง่ายๆ เข้าใจง่าย ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย
ถ่ายทอดสภาพโรงเรียนชนบทที่ห่างไกลได้ตรงใจผมเหลือเกิน
ผมจึงประทับใจคุณที่สุดครับ

 

 

  • ขอบพระคุณค่ะ ท่าน
    P
    พรชัย  ชื่นชมค่ะ สำหรับถ้อยคำของท่านต่อไปนี้

จงทำงานให้ประสบความสำเร็จท่ามกลางความขาดแคลน

ครูที่ลำบากยังมีอยู่มากมาย แต่ครูจะภูมิใจที่ทำให้สังคมอยู่ได้

ยิ่งอยู่ในที่กันดารเท่าใด ค่าของครูยิ่งสูงมากตามไปด้วย

ยิ่งโรงเรียนขาดแคลนมากเท่าใด ชุมชนย่อมรักและหวงแหนโรงเรียนมีความเป็นเจ้าของ

เคยอยู่โรงเรียนที่มีครู 4 คน ผู้บริหารต้องสอนอนุบาลและทำงานธุรการ สวมวิญญาณเสมียน

กลัวอะไรกับงานหนักถ้ารักอาชีพครู   จงภูมิใจเถิดหนาที่ที่ได้มาเป็นครู

  • ขอบพระคุณค่ะ
    P
    คนไม่มีราก สำหรับข้อมูล ต้องเรียนตามตรงว่าผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วยนะคะ ทำตัวเป็นสื่อกลางถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็นและได้ยินมา อาจจะมีความคลาดเคลื่อนใด ๆ ไปบ้าง ทั้งนี้ ก็หวังเพียงใครก็ได้ที่เกี่ยวข้องลองเก็บไปพิจารณาดู หากท่านใด ไม่มีหน้าที่ แต่ช่วยส่งต่อความห่วงใยกันไปเรื่อย ๆ ก็หวังจะมีการเปลี่ยนแปลงค่ะ
  • ช่วงนี้ งานเข้ากันหลายท่านเลย เป็นกำลังใจให้คุณคนไม่มีรากให้ฟันฝ่าความเหนื่อยยาก อุปสรรคทั้งปวงนะคะ
  • ขอบพระคุณค่ะ คุณ
    P
    เกด เกศนี บุณยวัฒนางกุล  ที่กรุณาเป็นกำลังใจให้คุณครูผู้ต่อสู้ชีวิตทุกท่านค่ะ แม้เราอยู่คนละวงการ แต่ก็เข้าใจกันและกันได้เสมอนะคะ
  • ---------
  • จริง ๆด้วยค่ะ คุณ krupom   
    P เราไม่ได้ทักทายกันนานแล้ว คิดถึงเช่นกัน จะหาเวลาไปเยี่ยมนะคะ
  • พี่อรวรรณ
    P คิดเหมือนศิลาเลยค่ะ อยากให้หลาย ๆ ท่านนำเรื่องราวความเหลื่อมล้ำมาบอกกล่าว โดยไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นแล้วเราก็ยอมรับในสิ่งที่เป็น  จริง ๆ แล้วเสียงสะท้อนของคนหลาย ๆ คนที่ช่วยกันกระจายออกไปมีพลังมหาศาลมาก ศิลาเองก็จะเชื่อมั่นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แม้จะนานเพียงไร ลูกหลานของเราเอง คนในชาติเดียวกัน ถ้าไม่ช่วยกันแล้วจะเหลืออะไร
  • นานทีเอาเรื่องเศร้ามาเล่า คงไม่เป็นไรนะคะ ถือว่าเป็นการสะท้อนความจริงแล้วช่วยเป็นกำลังใจให้คนดีที่อยู่ห่างไกลและขาดแคลนค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ ที่เห็นความสำคัญของครู และได้นำมาบอกเล่าบนโลกอินเตอร์เน็ต

และความดีของครูที่พี่ศิลาได้กล่าวถึงจะเป็นที่จดจำของนักเรียนต่อไป

ท่านผอ. ท่านได้หลับสบายแล้วคะ

จากลูกสาว ผอ.สมุห์ มาลีหวล

ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งด้วยนะครับ คุณ ศุภรี มาลีหวล และท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๙

ความดีของท่านได้ปรากฎสู่สายตาคนทั้งหลายแล้วครับ

  • ตามท่านอาจารย์นพลักษณ์ 10 มาช้าไปหน่อย เพราะกำลังทำใจอยู่ค่ะ
  • พี่ขอแสดงความเสียใจกับน้องศุภรีด้วยนะคะ
  • ความดีที่ท่านสร้างจะเป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ศิลา

อ่านบันทึกแล้ว...รู้สึกได้ว่า...ความแตกต่าง คลาดแขลน ความเท่าเทียม

ยังขาด...แต่สิ่งที่ไม่ขาดคือความผูกพันธ์ระหว่างครู นักเรียน ชุมชน

ครูต้องมีทั้งน้ำอด และน้ำทน  ให้มาก...สู้ๆค่ะครูไทย..เพื่อศิษย์

เทียนน้อยมาส่งกำลังใจให้ค่ะ...^_^พี่ศิลาสบายดีนะคะ

  • ขอบคุณครูเทียนน้อยมากค่ะ พี่เองคงต้องขอกล่าวคำสรรเสริญยกย่องจากใจในการทำหน้าที่ของคุณครูครูและอาจารย์ทุกท่านบนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ค่ะ 
  • ความหวัง คือแรงบันดาลใจการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ต่อไปค่ะ แม้ไม่ได้มีโอกาสเห็นความหวังเป็นจริงในยุคสมัยเรา ก็ขอให้มีความหวังต่อ ๆ ไป ว่าจะมีสภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ค่ะ
  • รักษาตัวด้วยนะคะคุณครูเทียนน้อย ส่วนพี่ก็สบายดีค่ะ เป็นกำลังใจในการทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของคุณครูเทียนน้อยด้วยค่ะ 

มหา แวะมาอ่าน

ครูแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ ครู "ผู้ให้" เพื่ออนาคตของชาติ

ยังมีอีกหลายโรงเรียนที่อยู่ในสภาพเดียวกับโรงเรียนบ้านตานบ

ขอให้มีความสุขกับการทำงาน

ครับ..

จะลองคุยกับนิสิตดู เผื่อลงพื้นที่โรงเรียนสักครั้ง..

...ขอบคุณครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท