โรงความรู้ของ “คนพลัดถิ่น”


แม้คุณครูที่มาสอนที่โรงเรียนเผยเต๊อะ ไม่ได้ร่ำเรียนจากสถาบันที่ผลิตครูที่ชำนาญด้านการถ่ายทอด แต่ด้วยจิตวิญญาณ ของการเป็นผู้ให้ การรักและหวงแหนในวิถีวัฒนธรรมของพวกเขาเอง ทำให้คุณครูทุ่มเท ทั้งกายและใจเต็มที่ ในการเป็นแม่พิมพ์ให้สำหรับเด็กๆในชุมชน “คนพลัดถิ่น” แห่งนี้

          หากได้มีโอกาสพักค้างคืนที่บ้านจีนยูนนาน “รุ่งอรุณ”  เราจะสังเกตว่า ในช่วงเช้ามากๆและเย็นของวัน จะเห็นเด็กๆ ตี๋ หมวยกลุ่มใหญ่  เดินทางเป็นกลุ่มๆ  ไม่รู้ว่าไปทำอะไรที่ไหน 


          อาเหลียง คุยกับผมเรื่องราวเกี่ยวกับ “โรงเรียนเพยเต๊อะ” ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน

          ใช่แล้วครับ! เด็ก เดินทางไปโรงเรียนเพื่อไปเรียนภาษาจีน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์(Ethnic identity) แสดงถึงความเป็นตัวตนของคนพลัดถิ่น (Diaspora) อย่างพวกเขา 


          โรงเรียนเผยเต๊อะ มีคุณครูอยู่ประมาณ ๑๐ คน  เกือบทั้งหมดเป็นชาวบ้านที่มีโอกาสได้เรียน มีความรู้เชี่ยวชาญด้านภาษาพอที่จะถ่ายทอดสู่เยาวชนได้ การบริหารจัดการโรงเรียนขึ้นอยู่การบริหารของชุมชน ในรูปของคณะกรรมการชุมชน น่าสนใจตรงที่ ชุมชนเล็กๆชุมชนหนึ่ง ที่เป็นชุมชนที่ถูกเบียดให้เป็นคนชายขอบ(Marginalization) ถูกละเลยจากภาครัฐในอดีต เป็นความพยายามในการบริหารจัดการชุมชนภายใต้บริบทที่ซับซ้อนหลากหลาย จะมีสักกี่ชุมชนที่ไม่มีผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการ ไม่มีสมาชิก อบต. เพียงเพราะเป็นเหตุผล ว่าเป็นหมู่บ้านบริวาร และประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนอพยพถือบัตร “จีนฮ่ออพยพ” 


          โรงเรียนได้รายได้จาก ๒ แหล่ง ด้วยกันจาก ประเทศสิงค์โปร์ผ่านมิชชันนารีสอนศาสนา และส่วนหนึ่งเก็บจากผู้ปกครองเด็กนักเรียนที่ถัวเฉลี่ยจ่ายกันเอง มีนักเรียนประมาณ ๑๑๐ คน สอนตั้งแต่ระดับ อนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เวลาเรียนก็จะต้องแตกต่างจากโรงเรียนของรัฐ(ไทย) คือ เรียนช่วงเช้าที่เวลา ๐๖.๐๐ น – ๐๗.๐๐ และช่วงเย็น เวลา ๑๘.๐๐ น.- ๒๐.๐๐ น.  เพราะช่วงกลางวันปกติเด็กนักเรียนทั้งหมดจะต้องเรียนที่โรงเรียนไทยนั่นเอง การจัดระบบการภาคการเรียนเหมือนกับโรงเรียนทั่วไป คือ ๒ ภาคเรียน พร้อมมีการสอบการเลื่อนชั้น
          ด้วยความจำกัดเรื่อง “งบประมาณ” การใช้จ่าย หมวดเงินเดือนของครูจะไม่สูงมากนัก ครูใหญ่ มีเงินเดือน ๘,๐๐๐ บาท ส่วนครูน้อยก็อยู่ที่ ๓,๐๐๐- ๕,๐๐๐ บาท
          “แต่ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่ที่ทางสิงค์โปร์ จะอุดหนุนงบประมาณบางส่วนให้ทางโรงเรียนอย่างนี้ ต่อไปอีก”     อาฉั่ง ครูใหญ่วัย ๕๐เศษบอกกับผม ในวันนั้น
          อาเหลียง บอกต่อว่า คงจะต้องใช้จ่ายอย่างจำเป็นจริงๆและทางคณะกรรมการชุมชน คงจะมีการประชุมปรึกษา หารือกันว่า จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร
         
          เท่าที่ผมสังเกตทั้งคุณครูและนักเรียน ต่างให้ความสนใจ ใส่ใจกับการเรียนรู้และการถ่ายทอดเป็นอย่าง นับแต่ผมก้าวเข้าไปในเขตโรงเรียน ก็ได้ยินเสียงเด็กนักเรียนท่องภาษาจีนกัน โทนเสียงแหลมสูงที่ไม่เคยจางหายไปจากบรรยากาศของโรงเรียนทั่วๆไป


          แม้คุณครูที่มาสอนที่โรงเรียนเผยเต๊อะ ไม่ได้ร่ำเรียนจากสถาบันที่ผลิตครูที่ชำนาญด้านการถ่ายทอด แต่ด้วยจิตวิญญาณ ของการเป็นผู้ให้ การรักและหวงแหนในวิถีวัฒนธรรมของพวกเขาเอง ทำให้คุณครูทุ่มเท ทั้งกายและใจเต็มที่ ในการเป็นแม่พิมพ์ให้สำหรับเด็กๆในชุมชน “คนพลัดถิ่น” แห่งนี้


ชุมชนจีนยูนนาน บ้านรุ่งอรุณ หมู่ ๕ ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จ.แม่อ่องสอน

สัมภาษณ์  คุณอาเหลียง ,คุณอาฉั่ง,ผู้นำเลาไก่

หมายเลขบันทึก: 29684เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2006 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
แปลว่าเรามีบุคลากรในชาติที่สามารถใช้ภาษาจีน และภาษาไทย ได้ดีพอๆกันจำนวนหนึ่งถึงจำนวนมาก แต่อยู่ที่จะมีหน่วยงานใด ทั้งทางภาครัฐ และเอกชน ที่จะนำต้นทุนที่เรามีมาแปรผลให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมเราได้อย่างมากมาย....

ถ้าเราสามารถเปลี่ยนฅนพลัดถิ่น ให้กลับมาเป็นบุคลากรที่สำคัญของรัฐไทย เราก็จะมีต้นทุนทางปัญญาอีกมากมายที่รายล้อมอยู่รอบๆ รัฐไทยนี้ จนข้ามรัฐเข้าไปในรัฐเพื่อนบ้านด้วย..

การเปิดใจให้กว้างเพื่อมิตรภาพ และความรู้ คงจะดีไม่น้อย..

        มีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ "คนพลัดถิ่น" เป็นพลเมืองชั้นสองอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นด้วยประเด็นความมั่นคง หรือประเด็นอื่นๆ ไม่อาจจะทราบได้...ทำให้ คนพลัดถิ่นเอง ไม่มีทางเลือกมากนักในการ "อยู่"

          ปัญหายาเสพติด ปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้องตามกฏหมาย ตลอดจนปัญหาอื่นๆที่ถูกผลักว่า เป็น "ผลผลิต" ของ คนเหล่านี้

          ความลำเอียง (Bias) แหล่งผลประโยชน์ ยังคงเข้มข้น ...ปัญหาที่ซับซ้อนก็กลายเป็นปมที่ยากเกินกว่าจะแก้ไข

          การที่นักพัฒนา "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" จึงเป็นดั่งยุทธวิธี ในการทำงานกับชุมชนให้สำเร็จและยั่งยืน

           "การเปิดใจให้กว้างเพื่อมิตรภาพ และความรู้ คงจะดีไม่น้อย.." ...

ขอบคุณครับ naigod ที่เข้ามาให้ข้อคิดเห็น

       เห็นด้วยกับคุณ naigod และคุณจตุพรนะครับ เพราะนี่คือความหลากหลายที่เราต้องยอมรับ  ชุมชนหรือผู้เรียนคือศูนย์กลาง ไม่ใช่เราจะหนดว่าจะต้องมีแบบเดียวเหมือนกันหมด อีกไม่นานเราก็จะพบปัญหาที่ยากที่จะแก้ได้ เพราะทุกอย่างเหมือนกันหมด เช่น ความต้องการทำงาน  วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ

       เหมือนกับในชนบทปัจจุบัน ภาษา/วัฒนธรรม/วิถีชีวิต ฯลฯถูกกลืน....ที่เราได้เห็นวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมเพียงการนำมาแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือคนต่างถิ่นได้ดู ได้ชมเท่านั้น แล้วก็พูดอย่างภาคภูมิใจว่า "ในอดีตเราเคยมี.....ที่ดีงานเช่นที่นำมาแสดงนี้"

      แต่ชุมชนในบันทึกนี้ หากเขารักษาสมบัติทุกด้านของสังคมของเขาไว้ได้ เราน่าจะยินดีและสนับสนุนนะครับ

      ขอบพระคุณ คุณจตุพรสำหรับบันทึกดีๆ ที่นำมา ลปรร.ครับ

พี่สิงห์ป่าสัก

        กล่าวอีกนัยก็คือ การแสดงความเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ ครับ โดยเฉพาะ ในเมืองไทย กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ พยายามจะหาจุดยืนในสังคมที่มีชนชั้นวรรณะ และ Bias อย่างชัดเจนเช่นปัจจุบัน ...

เมื่อได้ร่วมทำงานกับชุมชเป็นคนใน (Insider)เราพบ "ความเจ็บปวด" หลายอย่างที่เกิดจากคนในสังคมเดียวกัน

อยากให้โอกาสพวกเขาครับ อยากจะสนับสนุน...อยากให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ เอื้ออาทร

ความรู้สึกและกิจกรรมต่างๆที่พานพบ ผมพยายามเรียงร้อยผ่านทางบันทึกใน Blog ครับ ...ขอบคุณครับที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้กันครับ

 

เราเชื่อได้แค่ไหนว่ารัฐไทยจะเปิดโอกาสให้พลเมืองชั้นสองของประเทศได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้เท่าเทียมกับ "คนไทย" ทั่วไป

ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า เป็นไปแทบไม่ได้เลย เพราะแนวคิดของรัฐทุกรัฐต้องกดหัวคนที่เป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยไว้อยู่แล้ว

ส่วนหนึ่ง เพื่อความมั่นคงของรัฐ คือถ้าปล่อยให้มีความหลากหลาย รัฐจะรวมศูนย์อำนาจสั่งการลำบาก

อีกประการคือเพื่อความมั่งคั่งของผู้ที่เสวยประโยชน์จากอำนาจรัฐเอง ถ้าเอาชนชั้นมาจับ ก็คือชนชั้นปกครอง นักการเมือง และนายทุน

อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ทุกรัฐในโลกเขาก็ทำกันอย่างนี้ เพียงแต่ดีกรีความเข้มอาจแตกต่างกันไปบ้าง

ดังนั้น ผมคิดว่าจะโฆษณาชวนเชื่อให้รัฐใจกว้างอย่างไรก็ไร้ผล เพราะรากฐานความคิดของรัฐมันไม่เอื้อ

อาจจะมีข้าราชการผ่าเหล่าอย่างคุณจตุพร แต่ก็จะถูกข้าราชการด้วยกันมองอย่างเคลือบแคลง

เหมือนพวก X-Mens ในหนัง ที่ถูกแอนตี้โดยรัฐบาล ทั้งๆที่พวกเขาเป็นฮีโร่อย่างในหนัง ยังไงยังงั้น

ผมคิดว่าต้องสร้างทางเลือกใหม่ในการพัฒนา ให้กับคนชายขอบเหล่านี้ เช่น การสร้างเครือข่ายใหม่ๆข้ามพรมแดนผ่านโลกไซเบอร์ การผลิตสื่อทีสะท้อนตัวตนความคิดของพวกเขาให้ประชาชนพื้นราบได้รับรู้ สร้างสรรค์รูปแบบให้ชนชั้นกลางและ "นายทุนกลับใจ" ที่มีหัวคิดก้าวหน้าได้สื่อสารกับพวกเขา

และในส่วนของนักวิจัย นักพัฒนา ก็ต้องตั้งคำถามอยู่เสมอว่า การพัฒนาที่เราทำอยู่ แท้จริงแล้ว เป็นตัวหมากที่ใครชักใยอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า

ประวัติศาสตร์สอนว่า รัฐเองจะให้คุณค่ากับคนเมืองหลวงมากกว่าคนชายขอบเหล่านี้เสมอ

พูดง่ายๆก็คือ ในสายตาของรัฐบาล ชีวิตคนกรุงเทพสำคัญกว่าคนจีนยูนนาน คนลีซู คนกะเหรี่ยง

ถ้าคุณจะอยู่เคียงข้างคนจนเหล่านี้ คุณก็ย่อมถูกเหยียดโดยรัฐและเหล่าบรรดาสาวกเป็นธรรมดา

ร้ายขึ้นมาหน่อย ก็ถูกกำจัดออกจากพื้นที่ จากหน่วยงาน หรือแม้แต่จากประเทศนี้ โลกนี้

นี่เป็นเรื่องความรุนแรงที่ไม่เพียงเกิดขึ้นกับคนชายขอบนะครับ แต่ยังลามไปถึงคนที่อยู่ต่อสู้ร่วมกับพวกเขาอีกด้วย

อันนี้ ผมเข้าใจความอึดอัดของคุณจตุพรดี และค่อนข้างเป็นห่วงคุณจตุพรอยู่ลึกๆ

แต่ยังไง ก็จะร่วมให้กำลังใจเสมอครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท