ไม่มีที่ใดไม่ใช่ "ห้องเรียน" ของ "ชีวิต"


การปลูกฝังเรื่อง “จิตอาสา” หรือ “จิตสำนึกสาธารณะ” ให้แก่นิสิต

บ่ายสองโมงเศษของเมื่อวาน  หลังเซ็นแฟ้มจำนวนมากเสร็จสิ้นลง  ผมถือโอกาสพาตัวเองออกมาจากโต๊ะทำงานและห้องหับอันจำเจ  
       -
โดยมีวัดสุธรรมารามของบ้านหนองแข้  เป็นจุดหมายปลายทาง

วัดสุธรรมาราม, เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านหนองแข้  ต.ขามเรียง  อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม  ครอบคลุมพื้นที่ทางใจและทางสังคมของชาวบ้านหนองแข้ หมู่ที่ 4 และ 21  จำนวนประมาณ 105 ครัวเรือน

ระยะทางจากมหาวิทยาลัยไปจนถึงวัดฯ  ไม่ห่างไกลนัก  แต่คะเนได้ว่าคงไม่เกิน 5  กิโลเมตร
       ผมเลือกที่จะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหลังจากรู้ว่ารถตู้ของหน่วยงานไม่ว่างให้บริการ  โดยแรกเริ่มเดิมทีกะจะชวนน้องๆ ในทีมงานลงพื้นที่ไปด้วย แต่เห็นว่าหลายคนกำลังก้มๆ เงยๆ อยู่กับงานเฉพาะหน้าอย่างสาหัส  เลยจำต้องล้มเลิกความตั้งใจนั้นทันที  
       -
และเลือกที่จะ “บินเดี่ยว”  แบบเก๋ๆ แทน

(ซ้าย)  กุฏิสงฆ์ที่สร้างเมื่อปี ๒๕๑๘   (ขวา)  ศาลาที่สร้างขึ้นเพื่อจัดเก็บสิ่งของเครื่องใช้ของวัด

การลงพื้นที่ของผมในครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์หลัก ๒  ประการ
ประการแรกคือการไปพบปะเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม  (พูดราวกับเป็นนักการเมือง-เลยใช่ไหมครับ) 
รวมถึงการไปดูสภาพพื้นที่หลังภัยน้ำท่วม (เผื่อช่วยอะไรได้บ้าง)
และที่สำคัญประการที่สองเลยก็คือ  การไปสำรวจพื้นที่ในการจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ของวัดวาอาราม

จะว่าไปแล้ว  ภารกิจทั้งสองประการนั้น ก็หาใช่หน้าที่โดยตรงของผม หรือแม้แต่หน่วยงานของผมที่ต้องรับผิดชอบ  หากแต่เป็น “ภารกิจทางใจ”  ที่ผมคิดอยากจะทำ  และปรารถนาที่จะต่อยอดความคิดของตัวเองอีกครั้ง  หลังจากก่อนหน้านั้น เคยได้ตะลุยออกไปจัดกิจกรรมในทำนองนี้มาแล้วเป็นระยะๆ

โดยส่วนตัวนั้น  ผมปรารถนาที่จะเห็นมหาวิทยาลัยให้บริการด้านต่างๆ ต่อชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ  ร่วมประสานใจสร้างชุมชนให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้”  ร่วมกันระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย  พร้อมๆ กับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนได้ยืนหยัดด้วยรากฐานอันเป็นภูมิปัญญาของชุมชน  มากกว่าการเคลื่อนไหลไปตามกระแสทุนนิยม  จนไม่หลงเหลือ “รากเหง้า”  ให้แตะต้องสัมผัส

 

ดังนั้น  ในระยะหลายปีมานี้  ผมจึงดิ้นรนหางบประมาณจากแหล่งต่างๆ  ไปจัดกิจกรรมกับชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยเป็นระยะๆ  ผ่านมิติของ “ค่ายอาสาพัฒนา” ในรูปแบบต่างๆ  ทั้งค่ายสร้าง-ค่ายสอน-ค่ายเรียนรู้แบบบูรณาการ  โดยหวังให้ชุมชนเกิดความตระหนักในคุณค่าและศักยภาพของตนเอง  และเชื่อมโยงไปสู่การเปิดพื้นเป็น “ห้องเรียน”  ให้นิสิตได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งในหมู่นิสิตกับนิสิต และนิสิตกับชาวบ้าน

-  มิติการเรียนรู้ที่ผมว่านั้น  อาจหมายถึงมิติแห่งการเปิดตนเปิดใจสู่กระบวนการต่างๆ  เป็นต้นว่า

·         การทำงานเป็นทีม

·         การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี

·         การวางแผนงานและบริหารจัดการ

·         การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

·         การซึมซับวิถีวัฒนธรรมของชุมชนด้วยการฝังตัวอยู่ในชุมชน ฯลฯ

และที่สำคัญอีกอย่างที่ผมให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เลยก็คือ การปลูกฝังเรื่อง “จิตอาสา” หรือ “จิตสำนึกสาธารณะ”  ให้แก่นิสิต  เพื่อให้ความตระหนักถึงความรับผิดชอบทั้งต่อ “ตนเอง” และ”สังคม” เป็นที่ตั้ง  ซึ่งกระบวนการทั้งปวงนั้น  บางครั้ง ลำพังการเรียนรู้จากห้องเรียน ก็ไม่สามารถเชื่อมโยงมาสู่เรื่องเหล่านี้ได้เสียทั้งหมด

ส่วนเหตุผลของการเลือกพื้นที่ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยนั้น  ผมก็ตอบอย่างชัดเจนมาในทุกยุคสมัย  ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการแก่ชุมชนอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย  ความสะดวกในเรื่องระยะทาง ทั้งการริเริมและต่อเนื่อง 
      
รวมถึงความสะดวกของการในเรื่องระยะทางและเวลาของการลงสู่การศึกษาเรียนรู้ของนิสิตกับชุมชน 
      
ซึ่งไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไปไกลแสนไกล ข้ามวันข้ามคืน  จนเหนื่อยหนักคอพับคออ่อนอย่างที่พบเจออยู่ในปัจจุบัน

แต่นั่นก็ไม่ใช่ว่าจะปิดประตูตายสำหรับการเดินทางไปยังที่อื่นๆ  เสียทั้งหมด  เพราะแนวคิดที่ว่านี้เพียงต้องการให้นิสิตมี “ห้องเรียนชีวิต”  ในอีกนิยามหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัย  ไปมาสะดวก..และเชื่อมความเป็นชุมชนกับมหาวิทยาลัยอย่างสนิทแน่นเท่านั้นเอง


ศาลาวัดที่เริ่มเสื่อมโทรมรอการซ่อมแซมปรับปรุง

และสำหรับครั้งนี้..
การมาเยือนวัดสุธรรมาราม  จึงเป็นแต่เพียงการสำรวจพื้นที่ของการให้บริการชุมชนเท่านั้น ยังไม่หลงหลักปักใจว่าจะเลือกพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ของการให้บริการทางสังคมและผูกโยงเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ หรือ “ห้องเรียนชีวิต” ของนิสิตและชาวบ้านแต่อย่างใด

โดยก่อนหน้านี้สักเล็กน้อย  ผมได้รับข้อมูลข่าวสารจากชาวบ้านว่า “ศาลาวัด”  กำลังผุกร่อน  หลังคาเสื่อมโทรม  มีรูรั่วกระจายเต็มไปหมด  หน้าฝนคราใดน้ำเจิ่งนองทั่วพื้นศาลา ลำบากขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของกันจ้าละหวั่น  อีกทั้งพื้นที่ก็เริ่มคับแคบ  งานบุญงานทานคนล้นศาลากันทุกปี –

ด้วยเหตุนี้แหละ  ผมถึงจำต้องลากสังขารดุ่มเดินลงพื้นที่ด้วยตนเอง  เพียงเพื่อมาดูให้เห็นกับตาว่าสภาพที่ว่านั้น จริงเท็จอย่างไร ?  และเร่งด่วนแค่ไหน ?  หรือพอจะช่วยอะไรได้บ้าง ?  
    - 
ซึ่งก่อนหน้านั้น  ผมก็ประสานเรื่องงบประมาณบ้างแล้ว  คาดว่าอย่างน้อย  ก็คงพอมีทุนรอนให้ช่วยเหลือได้บ้างในระดับหนึ่ง

 



จากสภาพที่พบเจอนั้น
ศาลาหลังที่ว่านี้สร้างขึ้นในราวๆ ปี ๒๕๑๖   ตอนนี้สภาพผุพังอย่างเห็นได้ชัด  หลังคามีรูรั่วเต็มไปหมด  พื้นศาลาเริ่มมีอาการทรุด  ผนังศาลาที่ก่อด้วยอิฐเอนทรุดรอทะลายตัวลงทุกขณะ  จำต้องใช้ลวดขึงยึดไว้ในแน่นหนากับเสาไม้ที่หยัดยืนเป็นแกนหลักของศาลา

จากการพูดคุยกับแกนนำชาวบ้านรวมถึงพระเจ้าอาวาสนั้น  ทำให้รู้ว่าเดิมทีลูกหลานที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ จะนำผ้าป่ามาทอดถวายในห้วงสงกรานต์  แต่พอเจอพิษเศรษฐกิจแบบจังๆ  เลยจำต้องชะล่าถอยออกไปอย่างน่าเห็นใจ  พลอยให้แผนการซ่อมแซมนี้ชะงักลงอย่างไม่มีข้อแม้ 
      -
ส่วนทุนรอนที่มีอยู่ในมือหลายหมื่นบาทนั้น  ก็ไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมเป็นแน่แท้  จึงจำต้อง “รอศรัทธา”  และ “ปาฏิหาริย์”  มาเกื้อหนุน


ด้านหลังของศาลาที่คาดว่าเป็นจุดที่ต้องทุบเพื่อขยายพื้นที่การใช้สอยให้กว้างขวาง

สิ่งที่ผมค้นพบข้อเท็จจริงบางประการก็คือ
ขณะนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะซ่อมแซม ด้วยการมุงหลังคาและขยายห้องหับให้กว้างขวางขึ้น  หรือไม่ก็รื้อออกให้หมด จากนั้นก็ยกเสาให้สูง เทคานใหม่และมุงหลังคาใหม่ไว้ก่อน  ทีเหลือค่อนระดมทุนทำให้แล้วเสร็จ

       ซึ่งแนวคิดหลังนั้น เรียกได้ว่าเป็นการทำใหม่ หรือสร้างใหม่เลยก็ว่าได้  
       
และนั่นก็หมายถึงเงินก้อนโตไมใช่ย่อยเลยทีเดียว 

เพียงเพราะความต้องการที่ยังไม่แจ่มชัดนั้น  ผมจึงร้องขอให้ชาวบ้านได้พูดคุยกันอีกสักรอบว่าต้องการอะไร ? มีแผนระยะสั้นระยะยาวรองรับหรือไม่ ? และงบประมาณต้องใช้เท่าไหร่ .?.มีทุนอยู่แล้วกี่บาท  ? ฯลฯ  เสร็จแล้วค่อยหวนกลับมาหารือกันอีกรอบก็ยังไม่สาย..

สิ่งเหล่านั้น  คือทางออกที่ผมเชื่อว่าเหมาะสมที่สุด  ทั้งการกลับไปสู่การถามตัวตนของชุมชนเองว่าต้องการอะไร ..และมีต้นทุนอะไรแค่ไหน  ทุกอย่างที่มีอยู่สอดรับกับความเป็นไปได้กี่มากน้อยกันแน่ แต่ถึงกระนั้นก็เป็นที่น่ายินดีว่าชาวบ้านเปิดเผยข้อมูลว่า  ขณะนี้มีเงินอยู่กี่หมื่น และจำนวนเงินที่ว่านั้น ก็พร้อมที่จะนำมาสมทบแบบไม่เกี่ยงงอน  ขอเพียงมหาวิทยาลัยเข้ามาเกื้อหนุนอีกแรงหนึ่ง

อย่างน้อยเจตนารมณ์เช่นนั้น ก็พลอยทำให้ผมอุ่นใจถึงความเป็น “ส่วนร่วม”  ของชุมชนอยู่มาก  เพราะนั่นคือการยืนยันได้ว่า  เราได้เริ่มต้นด้วยกัน  และชุมชนก็รู้สึกถึงการเป็น “เจ้าของ” ในสิ่งที่เรากำลังจะให้บริการ

แต่ด้วยความที่ยังไม่ชัดเจนในสิ่งที่ต้องลงมือทำ  ผมจึงยังคงไม่ให้ความหวังใดกับชาวบ้านมากนัก  แต่รับปากว่าจะกลับมาพูดคุยกันอีกรอบ  โดยเก็บงำแนวคิดของการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน (ห้องเรียนชีวิต)  ไว้เงียบๆ

ไว้ให้ชาวบ้านชัดเจนในสิ่งที่ต้องการ ค่อยมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือขายฝันร่วมกันอีกครั้ง 
บางทีศาลาหลังที่ว่านี้  อาจไม่แต่เฉพาะเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมในทางศาสนาเท่านั้น  หากแต่บางที  อาจเป็น “ห้องเรียนชีวิต  อีกห้องหนึ่งเลยก็ได้ …

แต่ตอนนี้คงยังไม่ถึงเวลาที่ผมต้องสื่อสารอะไรไปมากกว่านี้..กระมัง !
แต่อย่างน้อยก็ยืนยันได้ว่า  ผมจะยังคงเดินทางเพื่อสร้างห้องเรียนชีวิตให้เกิดขึ้นในชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยให้จงได้
- เพราะผมเชื่อว่า  ในโลกใบนี้  ไม่มีที่ใดที่ไม่ใช่ “ห้องเรียน”   ของ “ชีวิต

๑๖ ก.พ.๕๒
บ่ายคล้อยของวันทำงาน

หมายเลขบันทึก: 242762เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2009 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (31)

ดีมากมากครับ นิสิต ได้จะเรียนรู้ พื้นที่ใกล้ มมส

  • ตามมาดูบ้านหนองแข้
  • เป็นบทเรียนชีวิตจริงๆๆด้วย
  • สบายดีไหม
  • คิดฮอดหลานน้อยสองคน

สวัสดีค่ะมาชื่นชมและร่วมยินดีกับกิจกรรมดีๆค่ะ

ขอบคุณนะคะที่ให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน

" ในโลกใบนี้ ไม่มีที่ใดที่ไม่ใช่ “ห้องเรียน” ของ “ชีวิต ^_^

  • สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน
  • หน่วยงานป้าแดงเอง ระดับผู้ปฏิบัติก็ชวนกันทำกิจกรรมคล้ายๆแบบนี้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนระดัีบผู้บริหารค่ะ
  • แต่การทำอะไรที่ไม่เป็นทางการ ก็ดูเหมือนสบายใจมากกว่านะคะ
  • ขอบคุณค่ะ หวังว่าคงมีโอกาสได้ร่วมบุญกันนะคะ

สวัสดีครับ

ความจริง "บวร = บ้าน วัด โรงเรียน" โดยเฉราะ  ร ตัวนี้ คือ สถาบันอุดมศึกษาแห่งภูมิปัญญา ซึ่งห่างกันแค่ 5 กม.

เป็นกำลังใจให้ครับ

สวัสดีค่ะ

  • ชื่อบันทึก
  • ได้ใจความและความหมายค่ะ
  • ขอขอบคุณค่ะ

สวัสดีคะ อาจารย์พนัส

มาเรียนรู้จากอารย์เพิ่มนะคะ

ภาพและตัวหนังสืออธบายได้ชัดเจนนะคะ

พี่ประกายโหวตให้รับรางวัลคะ

  • สวัสดีอาจารย์
  • เป็นกิจกรรมที่ดี นิสิตจะได้รักถิ่นบ้าง และได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนอีกด้วย
  • ขอบคุณ

สวัสดีครับ อ.JJ

ช่วงนี้มาแรงใจและพลังกลับมาเขียนบันทึกอีกรอบ  นั่นคงเป็นเพราะผมมีงานรับผิดชอบมากขึ้น  กลับมายังที่เดิม ตำแหน่งเดิม และพ่วงแถมงานใหม่มาให้ทำ

เป็นธรรมดาที่ผมจะรู้สึกเสมอว่า  ในเวลาที่งานหนักๆ นั้น ผมจะมีพลังเป็นที่สุด  ซึ่งต่างจากช่วงว่างงานสิ้นเชิง  ช่วงนั้น จิตใจจะเหี่ยวเฉา ไร้พลังชีวิต

นี่กระมังครับที่เขาว่า "เปลี่ยนงานหนัก...เป็นพลังชีวิต"

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ..อ.ขจิต ฝอยทอง

  • วันที่ 27 ก.พ.นี้จะไปสวนป่า...
  • อ.ขจิต  ไปร่วมวงด้วยหรือเปล่าครับ
  • ...
  • ช่วงนี้คงเริ่มตรวจการบ้านเรื่องรางวัลสุดคะนึงแล้วกระมัง...
  • หนักหน่อยครับ
  • เป็นกรรมการไม่ค่อยสบายใจกันนักหรอก ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามเถอะ  เพราะผลการตัดสิน ก็คงไม่สามารถถูกใจใครทั้งหมด  แต่สำคัญคือ ..กรรมการได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว  (เป็นกำลังใจให้..นะครับ)
  • ....
  • บ้านหนองแข้...
  • หลายปีมาแล้ว  ผมเคยได้รับงบประมาณมาก้อนหนึ่ง  ผมเป็นเจ้าของโครงการเองนะครับ  แต่มอบเงินให้นิสิตไปออกค่ายสร้างลานกีฬาให้ชาวบ้าน  เพราะในหมู่บ้านไม่มีสนามกีฬาเลย  เล่นแอโรบิคและเล่นกีฬากันตามทุ่งนา..และลานบ้านของคนอื่น
  • ...
  • นั่นคือเรื่องราวที่ผ่านมา
  • วันนี้ ..ทุกอย่างยังคงมีรอยต่อที่แตะต้องและสัมผัสได้
  • ...
  • ขอบคุณครับ
  • ขอให้มีความสุขมากๆ ...

ความเป็น “ส่วนร่วม”  ของชุมชน

ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

เปลี่ยนงานหนัก...เป็นพลังชีวิต"

พลิกวิกฤติ เป็นโอกาส  ค่ะ

 

มาชื่นชมสำหรับความคิดอันมีคุณค่า

สวัสดีค่ะ อาจารย์แผ่นดิน

  • อ่านบันทึกของอาจารย์แล้วให้หวนนึกถึงบรรยากาศในอดีต (คนแก่มักนึกถึงอดีต)
  • สมัยที่เป็นนักศึกษา (ศิษย์เก่า มศว.มหาสารคาม)
  • ได้รับการปลูกฝังในเรื่องการออกค่ายอาสาพัฒนาตั้งแต่เรียนปี1
  • เริ่มต้นด้วยการหาทุนกันเองค่ะ อาทิ ขายส้มตำไก่ย่าง ในงาน  มรดกอิสาน ขายหมูสะเต๊ะและอาหารตามสั่งในงานกาชาด  ขายดอกกุหลาบริบบิ้นในงานบอลอาจารย์  จัดฟุตบอลทีมเยาวชนไทย จัดฉายภาพยนต์การกุศล ฯลฯ  รวมแล้วได้เงินหลายแสนเลยค่ะในสมัยนั้น (ปี 2521)
  • ประเดิมค่ายแรกคือไปสราอาคารเรียนที่บ้านแดงน้อย อ.บรบือ
  • ค่ายต่อๆ ไป  เราได้งบประมาณจากทบวงมาช่วย  ไปหลายค่ายค่ะ  มีทั้งสร้างศาลาประชาคมให้หมู่บ้านห้วยผึ้ง ที่อุตรดิตถ์  เชียงใหม่ และ ฯลฯ  เรียกว่าปิดเทอมไม่ค่อยได้กลับบ้าน
  • แต่ละค่ายมีความสุข สนุกสนาน  และทุกข์ทรมานที่แตกต่างกัน  มีทั้งที่ต้องลุยน้ำเพียงคอเข้าหมู่บ้าน ยังจำได้ดีคือบ้านแดงน้อย  รถติดโคลน ต้นไม้ล้มทับถนนที่บนเขาทั้งคืน แถมกลัวสุนัขจิ้งจอก  ดีทีเป็นรถดั๊มใหญ่ของ กอรมน. ต้องนั่งกอดปืนทั้งคืน ที่ จ.อุตรดิตถ์  ทางบ้านไม่รู้เลย  ตอนนั้น มันมากค่ะ
  • ชีวิตที่ได้เรียนรู้  มิตรภาพจากเพื่อน...น้ำใจจากชาวบ้าน...เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของเด็กๆ...เป็นพลังใจให้เราไม่ท้อ
  • ที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นคือ  เราได้เรียนรู้การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี  ทุกคืนเราต้องมีการสรุปงานและวางแผนกันอย่างเคร่งครัด
  • ดิฉันถนัดเป็นผู้ตามค่ะ  ไม่ค่อยใช้หัววางแผน  ชอบเป็นแผนกล้างจานชาม  ขายบัตร  ขายอาหาร  ยื่นของ  ชิมอาหาร  และเก็บเงิน
  • การนับเงินของดิฉัน จะนับไม่ค่อยถูกต้องทำให้เพื่อนปวดหัวบ่อยๆ  สมัยนั้นไม่มีเอทีเอ็ม  มีเงินสองแสนกหอบใส่ถุงกระดาษถือเอาไว้กับตัว
  • ที่ประทับใจไม่ลืมเลือน...นั่นคือบรรยากาศค่ะ  เสียงเพลงซึ้งๆ  เสียงกีตาร์  เดือนดาว  และพระจันทร์ ในยามค่ำคืน  หลังจากที่แบกถังปูนมาทั้งวัน  (คิดถึงใครด้วยก็ไม่รู้)
  • อาจารย์คะ...นั่นคือห้องเรียนชีวิตจริงๆ 
  • ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคมตลอดไปนะคะ
  • จากคนแก่ที่ยังไม่อยากแก่ (อิๆๆๆๆ) รุ่นเสือดาว 2

สวัสดีครับ เทียนน้อย

ผมมีความเชื่อว่าห้องเรียนของชีวิตอยู่รายรอบตัวเราเสมือนสายลมที่โอบล้อมเราอยู่ด้วยนั่นเอง

ในสมัยที่ยังเด็ก ผมมองว่านอกชานบ้านและสวนหลังบ้านเป็นห้องเรียนที่สนุกและตื่นเต้นมากที่สุดที่ผมหลงรัก  นอนนับดาวและฟังเรื่องราวเกี่ยวกับท้องฟ้า,ดวงดาว,ดวงจันทร์ ..เมขลาล่อแก้ว...ฯลฯ  ขณะที่สวนหลังบ้านก็มีเรื่องราวของใบหม่อน, ต้นมะเขือ, ต้นมะม่วง  คอยหยอกล้อให้เข้าไปวิ่งเล่น..อย่างเป็นมิตร

นั่นแหละครับ  ผมถึงเชื่อว่าทุกๆ ที่ ไม่มีที่ใดที่ไม่ใช่ห้องเรียนของชีวิต

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ  pa_daeng [มณีแดง คนสวย แซ่เฮ]

ผมเข้าใจข้อจำกัดของการทำงานในระบบสายงานของป้าแดงนะครับ แต่กิจกรรมออกหน่วยให้บริการชุมชนของชาวหมอ,พยาบาลก็เป็นเรื่องที่ชวนยกย่องอยู่แล้ว 

ในอดีตผมเป็นคนแรกเลยนะครับที่ทำค่ายในลักษณะสุขภาพ  โดยประสานโรงพยาบาลในเขตพื้นที่ที่ออกค่ายมาช่วยตรวจสุขภาพและแจกจ่ายยาให้ชาวบ้าน  ซึ่งในขณะนั้น ที่ "มมส" ยังไม่มีคณะแพทย์ ไม่มีคณะพยาบาล ไม่มีคณะเภสัช  ไม่มีคณะสาธารณสุข ...

กิจกรรมในทำนองนั้น  มาจากแรงบันดาลใจที่ตนเองอยู่บ้านนอกแล้วไม่ค่อยได้รับโอกาสทางสังคมในเรื่องนี้ ประกอบกับการอ่านนวนยิยเรื่องเขาชื่อกานต์ ...ก็เลยตั้งใจว่าถ้ามีโอกาส จะทำค่ายแบบนี้ให้ได้

....

สำหรับผมแล้ว, ...
ผมเป็นคนไม่ติดยึดกรอบจนเกินไปนัก  ยึดเป้าหมายเป็นที่ตั้ง  และเรียนรู้ที่จะใช้วิธีการต่างๆ  ไปสู่เป้าหมาย  บางครั้งอิงกรอบ บางครั้งนอกกรอบบ้าง...

แต่ทั้งปวงนั้น, ผมสบายใจที่ได้ทำ  อยู่เฉยๆ เป็นทุกข์มากกว่า  และที่สำคัญ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดเราก็บรรลุเป้าหมายภายใต้กติกาที่ว่านั่นแหละ

...

ขอบคุณครับ
รักษาสุขภาพคักๆ เด้อ...

 

สวัสดีครับ อาจารย์แผ่นดิน

ขอเชียร์เต็มที่เลยครับกับโครงการดีๆ

ที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน

ผมเคยมีความคิดส่วนตัวเสมอว่า
สถาบันการศึกษาทุกแห่ง
น่าจะมีการตอบสนอง
และเอื้อประโยชน์ให้กับชุมชน
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

มิใช่เพียงผลิตบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์
ของสังคมเมืองใหญ่

นานๆ ไป ชุมชนก็จะล่มสลาย

สวัสดีค่ะอาจารย์ผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์

    ศรัทธาการทำงานของอาจารย์ที่บอกว่า  "มีการอิงกรอบบ้าง  บางครั้งต้องออกนอกกรอบบ้าง"  ครูแป๋มว่าบางทีการทำอะไรในกรอบมักจะขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  จึงขอทำเพื่อความสบายใจ

อาจารย์ชอบ"เขาชื่อกานต์"  ครูแป๋มชอบ "ครูบันนอก"ค่ะ

 

สวัสดีครับ กัมปนาท อาชา (แจ๊ค)

วัด,บ้าน และโรงเรียน ... คือ โรงเรือนแห่งการเพาะชำชีวิตของชุมชนโดยแท้เลยครับ

ตอนนี้พี่ออกพื้นที่ทำงานลักษณะนี้บ่อยมาก  จนบางคนแซวว่า  ย้ายไปอยู่ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์แล้วหรือไร

การทำงานในทำนองนี้  เป็นเสมือนการตอบโจทย์รากเหง้าความเป็นเด็กชนบทของพี่เอง, ...  ในอดีตต้องไปวัดทุกเช้า  ถวายภัตตาหารเช้าเสร็จ ก็กินข้าวก้นบาตรค่อยมาโรงเรียน  พอถึงเทศกาลสำคัญๆ ก็ขนน้ำเข้าวัด  เป็นต้นง

ทั้งสามส่วน, เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งสำหรับพี่ -

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ  ครูคิม

  • ขอบคุณคำชมที่ช่วยให้ชีวิตดูแช่มชื่นขึ้นมากโข
  • ผมเขียนบันทึกนี้แบบด่วนๆ ..
  • ไม่รู้จะเสนออะไรดี  เลยเน้นเรื่องการเล่าเรื่องในสิ่งที่ทำ และสิ่งที่คิด
  • พร้อมๆ กับการเสนอภาพความเป็นจริง อันหมายถึงศักยภาพ หรือความต้องการอันแท้จริงของชุมชน
  • ซึ่งตอนนี้ ก็ยังต้องรอให้ชาวบ้านได้คุยกันอีกรอบ..
  • ....
  • งานนี้ ยังไม่ถือว่าเริ่มต้น
  • ระยะทาง ยังอีกยาวไกลนัก
  • ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ พี่ ประกาย~natachoei ที่~natadee

ภาพและตัวหนังสืออธิบายได้ชัดเจนนะคะ

พี่ประกายโหวตให้รับรางวัลคะ

...
ขอบคุณครับ  ว่าแต่โหวตให้คะแนนที่ว่านี้  โหวตทางใจ ไม่เกี่ยวกับรางวัลสุดคะนึงใช่ไหมครับ...

วิถีการโหวตรางวัลสุดคะนึงดูคึกคักมากเลย  นั่นคือบทพิสูจน์เครือข่ายแต่ละคนเหมือนกัน  ส่วนผมนั้น, ถอยมาสังเกตการณ์จะดีกว่า  และปล่อยให้บันทึกของตัวเอง ได้บอกเล่าเรื่องราวของมันเอง  ส่วนจะก่เกิดประโนชน์อันใดหรือไม่นั้น  ก็คงขึ้นอยู่กับผู้อ่านเป็นสำคัญครับ,

....

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ . ศรีกมล

การทำงานกับชุมชน จะช่วยให้นิสิตเกิดความตระหนักถึงการช่วยเหลือสังคม และที่สำคัญก็คือ การฝากถึงนัยยะทางบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง โดยหวังว่า กิจกรรมเหล่านี้ จะสะกิดเตือนให้เขาได้หัวกลับไปถึงบ้านเกิดของตนเอง  อย่างน้อยก็ให้มีความรู้สึกผูกพัน และพร้อมที่จะพัฒนา หรือช่วยเหลือตามโอกาสตามความเหมาะสม ต่อไป

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ  กระติก~natachoei ที่ ~natadee

งานนี้เป็นเรื่องท้าทายมากเลยครับ โดยเฉพาะการกระตุ้นให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาวางแผน บริหารจัดการสาธารณะประโยชน์ของตัวเองร่วมกัน  ศาลาที่จะสร้างขึ้นมานี้ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ชาวบ้านจะต้องถกคิดร่วมกันอย่างจริงจังว่า แผนระยะสั้นระยะยาวเป็นอย่างไร  จะซ่อมแซม หรือวางโครงขึ้นใหม่ สิ่งเหล่านี้ ผมถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย และน่าสนใจมาก

ตอนนี้, ผมจึงสนใจวิธีคิดของชาวบ้าน ว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ... ผมคงไม่ลงไปกำหนดอะไร  อยากฟังเสียงของชาวบ้านเป็นที่ตั้ง

ขอบคุณครับ

 

อยากบอกอาจารย์ว่าถ้าจำไม่ผิดเคยไปวัดนี้ค่ะสมัยเป็นนักศึกษามีศึกษาศาสตร์ มข.กับ ม.มหาสารคาม สัมพันธ์ buddy พาไปไหว้พระที่วัดนี้ แต่ตอนนั้นเล็กกว่านี้มากๆ สมัยก่อนนั่งรถมอเตอร์ไวด์ไปค่ะ ไปทานแจ่วฮ้อนริมแม่นำที่ขามเรียงด้วยนะคะ

อ่านบันทึกและข้อความคิดเห็นที่ต่อๆ กันมาแล้วมีความรู้สึกดีค่ะ

ไม่ยึดติดกรอบ กลับไปทวนเรื่องราวในอดีต และเลือกทำดีที่สุดที่ทำได้เพื่อตอบแทนบุญคุณที่ให้เรามี เป็น ได้ในวันนี้ ทำให้ใจของเราเบิกบาน ยินดี เท่าที่เรารู้สึกได้ด้วยตัว และใจเราเอง

และชอบประโยคนี้ของคุณแผ่นดิน "ทุกๆ ที่ ไม่มีที่ใดที่ไม่ใช่ห้องเรียนของชีวิต"

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ  อรวรรณ

ได้อ่านบันทึกแล้ว  เสมือนได้พบเจอรุ่นพี่ร่วมสถาบันโดยแท้เลยครับ

  • ผมเข้าเรียน มศว.มหาสารคาม ปี 2534 แต่จบในนาม มมส เมื่อปี 2538
  • มีบันทึกหลายเรื่องมากเลยทีเดียวที่เขียนถึงงานอาสาพัฒนาของมหาวิทยาลัย  ลองค้นหาดูนะครับ อาจใช้คำสำคัญว่า "อาสาพัฒนา หรือ กิจกรรมนิสิต"  ของ "แผ่นดิน"  ก็ได้
  • ตอนนี้การออกค่ายอาจดิ้นรนเรื่องเงินทองน้อยกว่าอดีต เพราะมีแหล่งทุนให้ขอรับการสนับสนุนค่อนข้างเยอะ
  • ส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยก็มีงบประมาณสนับสนุนพอประมาณบ้างเหมือนกัน
  • ปีนี้ มีชมรมสังกัดองค์การนิสิตเกือบๆ จะ 70 ชมรมเลยก็ว่าได้  ซึ่งนั่นยังไม่รวมถึงชมรมในสังกัดสโมสรนิสิต ซึ่งมี 18 สโมสร
  • งานฉายหนัง กลายมาเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของชาวค่าย ลงทุนน้อย ได้ผลตอบแทนค่อยข้างดี  ดังนั้นที่หมาวิทยาลัยจึงมักฉายหนังกลางแปลงกันทุกวันศุกร์และวันเสาร์  ส่วนช่วงนี้พักเพราะอยู่ในช่วงของการเตรียมสอบ
  • เดือนมีนาคม,  จะมีค่ายมากมายหลายค่าย...
  • เชิญติดตามผ่านบันทึกของผมได้นะครับ... เผื่อว่า  จะได้รับรู้ความเคลื่อนไหวในมิติกิจกรรมของน้องๆ
  • และรวมถึงการฝากข้อเสนอแนะไปถึงพวกเขาด้วยเช่นกัน
  • ....
  • ขอบคุณครับ, ยินดีที่ได้พบเจอ

 

ไดไปงานมข. มศว. สารคามสัมพันธ์ปี 35 เราน่าจะเรียนรุ่นใกล้เคียงกันนะคะอาจารย์

สวัสดีครับ  ณภัทร๙

ด้วยความที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในภูมิภาค  จึงไม่ละทิ้งเรื่องของการช่วยเหลือชุมชน ตามพันธกิจของการบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  ดังจะเห็นได้จาก  การจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนในหลายๆ มิติ  ทั้งโดยมหาวิทยาลัย และทั้งโดยนิสิต  ยกตัวอย่างเช่น

  • เทศน์มหาชาติเมื่อเดือนที่แล้ว มหาวิทยาลัยก็จัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน ในวงเงินเป็นแสนๆ บาท
  • เปิดสนามกีฬาให้ชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์
  • เปิดให้ชุมชนมาใช้สถานที่จัดอบรมสัมมนา
  • จัดวันเด็กให้เด็กๆ ในชุมชนเข้ามาเรียนรู้
  • ลงพื้นที่พัฒนาชุมชนในรูปแบบค่ายและงานวิจัย โดยมีพื้นที่นำร่อง
  • ฯลฯ
  • เห็นว่าตอนนี้  เรากำลังทำความร่วมมือให้ชุมชนได้หยิบยืมเงินไปสร้างหอพักของชุมชนแล้วให้นิสิตเข้าไปอยู่ และเก็บเงินเข้าชุมชน เป็นต้น
  • อันที่จริงมีกิจกรรมที่เอื้อต่อชุมชนหลายโครงการมากนะครับ  เพราะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
  • แต่สำหรับผมนั้น  เป็น "ขาจร"  ไปจัดกิจกรรมซะส่วนใหญ่  ยิ่งระยะหลักท่านอธิการบดี กำหนดเป็นนโยบายชัดเจนเลยครับ  ยกตัวอย่างง่าย  ต้องจัดกฐินทอดถวายที่วัดในชุมชนใกล้ๆ ทุกปี
  • ....
  • ขอบคุณครับ

 

สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน

หนักใจเรื่องโหวต แต่ก็โหวตให้อ.ยูมิ แล้วค่ะ มีหลายคนที่อยากโหวตให้

อ.สบายดีไหมค่ะ

สวัสดีครับ . ครูแป๋ม

  • นวนิยายเรื่องครูบ้านนอก..ผมเองก็ชอบเหมือนกัน  มีเก็บไว้หลายปก ครับ ถ้าจำไม่ผิดก็น่าจะ 3 ปกได้
  • มีวีซีดีหนังเรื่องนี้ 1 แผ่น  (แต่หาไม่เจอแล้ว)
  • เรื่องของครูบ้านนอก เป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้ผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย  ซึ่งดูจากหนงกลางแปลงที่ฉายในบริเวณวัด
  • พอโตขึ้น  ได้อ่านอย่างจริงจังในตอนเรียนมหาวิทยาลัย ปี 1 ...
  • ผมมีบันทึกเกี่ยวกับเรื่อง ครูบ้านนอกไว้บ้างเหมือนกัน ที่นี่ นะครับ

    http://gotoknow.org/blog/pandin/72964

  • และนี่คือ ส่วนหนึ่งของถ้อยคำที่ผมชื่นชอบจากนวนิยายเรื่อง ครูบ้านนอก...

"หลักสูตรเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมาย  ครูเป็นผู้ใช้เครื่องมือ  ดังนั้นครูจึงเป็นผู้กำหนดดอกผลทางการศึกษา  ประเด็นเกี่ยวกับการใช้หลักสูตร  หรือการจัดการเรียนการสอนของครูมีอยู่สองตอน  ตอนแรก  ครูสอนหรือไม่สอน  ถ้าครูไม่สอนเป็นแต่เพียงนั่งบังเสารับเงินเดือนรอวันเกษียณอายุเพื่อรับบำนาญ  การศึกษาก็พังไปหมดแถบแล้ว  ตอนที่สอง  ถ้าครูสอนก็ต้องถามต่อไปว่า  สอนอย่างไร  สอนโดยวิธีบอก  สอนให้จด  สอนให้จำ  หรือสอนให้ทำ หรือสอนให้รู้จักคิด  การจัดการเรียนการสอนที่พึงประสงค์ คือ สอนคน  ไม่ใช่สอนหนังสือ"

สวัสดีครับ  ทรายชล

  • ดีใจมากเลยครับที่ได้พบเจอกับคนที่ผ่านเวทีกิจกรรมในบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์ของสองสถาบัน
  • วัดบ้านหนองแข้  เป็นวัดไม่ใหญ่นักครับ  ตอนนี้พระสงฆ์อยู่เพียง 2 รูปเท่านั้น
  • แต่วัดดังกล่าว  มีชาวบ้านจำนวนมากเข้าไปใช้บริการ  งานบุญงานทานคนล้นศาลากันทุกครั้ง
  • หมู่บ้านนี้ เป็นอีกหมู่บ้านเมื่อฝนตกหนักจะถูกน้ำท่วมขัง
  • น้ำใต้ดินกร่อย...
  • เมื่อหลายปีที่แล้ว  ผมพานิสิตไปออกค่ายที่นั่น สร้างสนามกีฬาไว้ 2 สนาม  ทุกวันนี้ยังได้ใช้ประโยชน์กันถ้วนหน้า
  • และบางปี ก็พานิสิตไปทอดเทียนพรรษาที่วัดดังกล่าวด้วยเช่นกัน
  • .....
  • ขอบคุณครับ
  • ความดีที่ฝากไว้แก่แผ่นดินเป็นความดีที่ยั่งยืนยิ่งกว่าชีวิตเราอีกค่ะ...ชีวิตมีหมดสิ้น แต่ความดีไม่สิ้นสูญ
  • ขอเป็นกำลังใจการฝากชื่อไว้ในแผ่นดินค่ะ
  • ซาบซึ้งและประทับใจกับความรู้สึกนึกคิดดี ๆ แบบนี้ มันมีค่ามาก แม้ว่าจะทำยังไม่สำเร็จก็ตาม เพราะขอแค่คิด บางทีก็ยังไม่มีใครได้คิดเลยค่ะ

สวัสดีครับ  berger0123

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและมาส่งข่าวเรื่องการโหวต นะครับ...

การโหวตรางวัลสุดคะนึง  ผมทราบดีว่าเป็นกระแสที่คนให้ความสนใจกันมาก  สำหรับผมแล้ว, ..ผมไม่เคยชินที่จะต้องเลือก หรือต้องตัดสินในเรื่องเหล่านี้ และในวีถีการงาน ก็แทบปฏิเสธการเข้าประกวดใดๆ ..

ผมมีเครือข่ายไม่เยอะในเรื่องที่เป็นการงานของตัวเอง  แต่ก็ทราบดีว่าเรื่องที่ผมเขียนถึงนั้น  ก็มีกัลยาณมิตรจำนวนหนึ่งติดตามให้กำลังใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ ..

น้ำใจและมิตรภาพอันดีงามที่ผมได้รับมานั้น ยิ่งใหญ่เกินสิ่งใดเทียบเคียงแล้ว  สิ่งต่างๆ ที่มีการแบ่งปันในโอกาสต่างๆ  คือรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่ผมไม่อาจลืมเลือนไปได้

ผมยังไม่คิดที่จะโหวตให้ใครเกี่ยวกับรางวัลสุดคะนึง,
เพราะเห็นว่า คนที่ผมรักและคนที่ผมชอบ ก็ล้วนได้รับการโหวตไปแล้วแทบทั้งสิ้น  และผมไม่สามารถตัดใครต่อใครออกได้  เพราะแต่ละท่าน  มีมุมมองชีวิตและการงานที่ต่างกันออกไป

จึงได้แต่เฝ้ามอง และชื่นชมวิธีแห่งการส่งเสริมและสนับสนุนกันเข้าสู่รางวัลสุดคะนึงอย่างเงียบๆ ...

และพยายามจะพัฒนาตนเองจากบันทึกของตนเองและกัลยาณมิตรให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้..

....

ขอบคุณอีกครั้ง, ขอบคุณด้วยความสัตย์จริง...


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท