การผลิตครู 5 ปี กับ บทความ "ทบทวนแนวทางการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน"


การผลิตครู 5 ปีของสถาบันการผลิตครูนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นไปตามนโยบายและแนวคิดของรัฐบาลที่ผ่านแล้วที่มีอิทธิพลต่อระบบความคิดของประเทศนี้มาหลายปี จนมีปัญหาความชอบใจและไม่ชอบใจจนถึงปัจจุบัน

การผลิตครู 5 ปีมีความหวังอยู่ที่ "ใบประกอบวิชาชีพครู" ที่เหมือน "ใบประกอบโรคศิลป์" ของคุณหมอ หรือสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ที่เขามีกันมานานแสนนาน

ดังนั้น ครู 5 ปีที่สถาบันผลิตครูออกไป จึงเน้นไปที่สาระการเรียนรู้ทั้ง 8 ส่วนวิชาชีพที่อยู่นอกเหนือไปจากนี้ ถือเป็นสายเทคนิคการศึกษา อาทิเช่น เทคโนโลยีการศึกษา จิตวิทยาและการแนะแนว วัดผลประเมินผล เป็นต้น ซึ่งการรับครูเทคนิคฯ น้อยเต็มที เรียกว่า เรียนจบไป จะไปคาดหวังมีตำแหน่งให้สอบบรรจุจึงเป็นเรื่องยากพอสมควร ต้องผันตัวเองไปทำงานในสายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ครูก็เยอะแยะมากมาย

ปีนี้ คือ ปี 2551 เป็นการฝึกสอนเต็มรูปแบบ 1 ปี ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของครู 5 ปี เริ่มมีการทบทวนและประเมินหลักสูตรกันแล้วว่า มีข้อบกพร่องหรือจุดใดที่จะแก้ไขบ้าง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กลั่นกรองต่อไป

 

อาจารย์สุรชัย เที่ยนขาว แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี ได้เขียนบทความ เรื่อง "ทบทวนแนวทางการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ไว้ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา มีประเด็นเกี่ยวกับวิธีคิดของการผลิตครู 5 ปีที่น่าสนใจหลายประเด็น จึงอยากนำเสนอ ดังนี้

 

**************************************************************************

 

ทบทวนแนวทางการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

โครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี) ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตั้งแต่ปี 2547 ที่มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 50 แห่ง และมีจำนวนนักศึกษาที่รับทุน 2,051 คน จากเป้าหมาย 2,500 คน ซึ่งมีเพียง 1 รุ่นเท่านั้น

โดยบัณฑิตเหล่านี้จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับโครงการผลิตครู 5 ปี ในระยะที่ 2 (พ.ศ.2553 - 2562) กำลังดำเนินการเพื่อรับนักศึกษาทุนรุ่นต่อไป

ในขณะเดียวกันโครงการ สควค. ที่ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถพิเศษ และมีความศรัทธาในอาชีพครู เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

โดยรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ผ่านการสอบคัดเลือกตามเกณฑ์ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกำหนด) เข้าเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ในคณะวิทยาศาสตร์/วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาวิชาเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ เป็นเวลา 4 ปี เมื่อจบการศึกษาแล้ว ต้องศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู อีก 1 ปี หลังจากนั้นจะต้องชดใช้ทุนโดยปฏิบัติงานในโรงเรียนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่รับทุน

การผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี ทั้ง 2 รูปแบบในปัจจุบันจะเห็นว่า ใช้เวลาในการเรียน 5 ปีเท่ากัน

โดยรูปแบบที่ 1 เรียนระดับปริญญาตรี 5 ปี ตลอดหลักสูตร

ส่วนรูปแบบที่ 2 ใช้รูปแบบ 4 + 1 ปี โดยเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี (หลักสูตร วท.บ.) ในสาขาวิชาชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ และเข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูอีก 1 ปี ทั้ง 2 รูปแบบของการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการโดยรัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่ผ่านมา

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาควรนำผลการประเมินโครงการทั้ง 2 โครงการเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาลชุดปัจจุบันเพื่อปรับปรุง/พัฒนารูปแบบการผลิตครูให้มีความเหมาะสมกับบริบทของไทย

 

สำหรับหน่วยงานหลักที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการผลิตครูทั้ง 2 โครงการ ควรมีการทบทวนการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความชัดเจนและต่อเนื่อง โดยนำมาจัดระบบการผลิตครูภายใต้โครงการหลัก คือ โครงการคุรุทายาทและอาจกำหนดทางเลือกในการผลิตครู ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 : หลักสูตรครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 ปี (ระดับปริญญาตรี) โดยรับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 (คัดเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนด) เข้าเรียนหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตหรือศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาที่ขาดแคลนตามที่ต้นสังกัดต้องการ นอกเหนือจากสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี และคอมพิวเตอร์ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับทางเลือกที่ 2 (ครูตามโครงการ สควค.)

ทางเลือกที่ 2 : หลักสูตรครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (4+1 ปี) โดยรับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (เน้นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี) เข้าเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) และประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูเป็นเวลา 1 ปี ที่ตรงกับความต้องการของต้นสังกัด

สำหรับการผลิตครูตามทางเลือกที่ 2 ควรปรับทิศทางการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยผู้ใช้ครูในมิติด้านเวลาของการผลิตให้เร็วขึ้น

โดยการรับบัณฑิตสาขาวิชาเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ (วุฒิ วท.บ.) ให้เข้าเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู การสอน และฝึกปฏิบัติงานในสถานศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

โดยหน่วยผลิต และหน่วยใช้จะต้องมีความตกลงร่วมมือในการผลิตครูให้ได้ตามเป้าหมายที่ขาดแคลนจริง ๆ แต่ละปี มีทุนการศึกษาให้นักศึกษาเข้าเรียน 1 ปี และประกันการมีงานทำ (สำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

ส่วนการคัดเลือกนักศึกษา เพื่อรับทุนของโครงการผลิตครูระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต (ในระบบ 4 + 1 ปี) ควรกำหนดคะแนนเฉลี่ยสะสม ระดับเกียรตินิยมขึ้นไป และผ่านสอบวิชาความถนัดทางวิชาชีพครู เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องชดใช้ทุนตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด

 

การผลิตครูตามแนวนี้จะได้ครูสาขาวิชาขาดแคลนที่มีคุณภาพสูงและมีจำนวนที่เพียงพอให้กับการศึกษาขั้นพื้นฐานในเวลาที่รวดเร็วทันกับความต้องการของหน่วยงาน ใช้ครูสำหรับหน่วยงาน ใช้ครูที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของครู ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักงานบริหารการศึกษาท้องถิ่น

การผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ว่าในโครงการผลิตครูหลักสูตร 5 ปี/การผลิตครูตามโครงการ สควค. หรือแนวทางการผลิตครูในระบบ 4 +1 ปี (รับบัณฑิต ป.ตรี สาขาอื่นนอกเหนือจากครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์) เข้าศึกษาหลักสูตร ป.บัณฑิตวิชาชีพครู/การสอน) ผู้รับผิดชอบหลักสูตร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ควรทบทวนรูปแบบ/ทางเลือกการผลิตครูให้สามารถตอบสนองความต้องการของหน่วยใช้ครู โดยเน้นการผลิตบัณฑิตครูที่มีคุณภาพสูง และมีปริมาณตรงตามที่ขาดแคลนจริง ๆ

ซึ่งอาจใช้ รูปแบบผสม (Hybrid Model) ได้แก่ หลักสูตรครู 5 ปี ในบางสาขาวิชา หลักสูตรครูวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ตามโครงการ สควค. ที่ผลิตเฉพาะครูสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และหลักสูตรครูในระบบ 4 + 1 ปี (รับบัณฑิตสาขาอื่น ๆ นอกจากครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์) เข้าศึกษา ป.บัณฑิตการสอน

ส่วนสถาบันการผลิตครูนั้น รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษอาจหันกลับไปใช้แนวคิดการผลิตครูในอดีตที่มีสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางในการผลิตครู คือ วิทยาลัยวิชาการศึกษา (College of education) โดยจัดตั้งตามภาคภูมิศาสตร์ ภาคละ 1 แห่ง

สถาบันดังกล่าวนี้ควรจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก

ประเด็นนี้คณะทำงานจัดทำโครงการพัฒนาสถาบันฝึกหัดครู สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอาจนำไปพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา เฉพาะทางเพื่อเป็นแหล่งผลิตครูที่มีคุณภาพสูงที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ

การสร้างครูที่มีคุณภาพสูงควรจะเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล หากต้องการประชากรของประเทศที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ในเวทีโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ นโยบายด้านการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานและการสร้างสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง

เพื่อการผลิตครูควรมีความแน่ชัดยั่งยืนและต่อเนื่อง รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการจะต้องมีความมุ่งมั่นสูงในการสร้างครูที่มีคุณภาพสูงสำหรับเป็นเสาหลักของแผ่นดิน

 

**************************************************************************

การผลิตครูทั้ง 4 ปี และ 5 ปี มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา สังคมมักสะท้อนให้สถาบันผู้ผลิตครูว่า ผลิตครูจนล้นตลาด อีกทั้งยังขาดคุณภาพ หรือครูผู้มีภูมิความรู้จริง ๆ ออกไปสู่สังคม ทำให้ "วิกฤตศรัทธา" จึงเกิดกันมาอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุเกิดจากหลายประเด็นใหญ่ ๆ เช่น

  • ระบบไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง,
  • มหาวิทยาลัยกลายเป็น "ธุรกิจศึกษา" สำหรับผู้บริหารบางคน,
  • มาตรฐานวิชาชีพลดต่ำ บางครั้งเปรียบเทียบได้ว่า เป็นการปั้นขี้โคลนขี้เลนให้เป็นดาว มันเหนื่อยยากมาก,
  • การมีรัฐบาลที่ไม่สนใจงานด้านการศึกษา ส่งนักธุรกิจมาเป็น รมต. ติดต่อกันหลายสิบปี
  • คุณภาพของผู้สอนที่รับเข้ามาเป็นอาจารย์ผลิตครู คุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ เรียกว่า หลายคนใช้ระบบอุปถัมภ์เดินทางเข้ามา หรือไม่ก็โอนมาจากระดับสอนเด็กเล็กกว่า ไม่ได้พัฒนาตนเองให้พร้อมสอนเด็กโต
  • ฯลฯ

ดังนั้น การคิดทบทวนระบบการผลิตครูดังกล่าว จึงเป็นประเด็นที่สามารถนำไปลองคิด เพื่อดูสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยได้ว่า เหมาะสมหรือไม่ ต้องปรับปรุงหรือเปล่า หรือปล่อยให้เป็นไปแบบนี้อีก 20 ปี จึงจะค่อยคิดหาหนทางแก้ไข

ขอบคุณแนวความคิดใหม่ ๆ ที่น่าสนใจนี้ ... ช่วยคิดกันได้ครับ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสายการศึกษาก็น่ารับฟัง

บุญรักษา ประเทศไทย และการศึกษาไทย ครับ :)

 

***************************************************************************


แหล่งอ้างอิง

สุรชัย เทียนขาว.  "ทบทวนแนวทางการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน" , หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2551, หน้า 10.

หมายเลขบันทึก: 228764เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2008 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • ผมมองแบบนี้ครับ
  • ตอนเรารับและตอนเขาจบไม่มีการวางแผนที่ดี
  • เพื่อนคุรุทายาทสมัยก่อน
  • บรรจุได้ช้ามากกว่าที่เราเรียนที่ไม่ใช่คุรุทายาท
  • เหมือนกับ
  • ไม่ได้วางแผนกำหนดว่า เขาควรไปบรรจุที่ใด
  • นอกจากนี้ เกณฑ์แบบนี้
  • คับแคบเกินไปไหมครับ
  • ควรกำหนดคะแนนเฉลี่ยสะสม ระดับเกียรตินิยมขึ้นไป
  • ความคิดเห็นของผมนะครับว่า
  • วิชาการสร้างได้ไม่ยาก
  • แต่คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ในการเป็นครูสร้างได้ยากกว่า
  • ในขณะที่กระทรวงพยายามสร้างแต่ วิชาการ
  • เราเลยพบ คนเก่งๆๆออกไปทำงานแล้วมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานมากมาย
  • ขอบคุณครับ

อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง .. คือว่า อยากให้อาจารย์พูดเยอะ ๆ คอมเม้นท์เยอะ ๆ เลยครับ เพราะมันมีประโยชน์มาก ๆ ชอบครับ

ขอบคุณมากครับ :)

สวัสดีค่ะ

  • ขออนุญาตพูดถึงปัญหาที่พบ  ในทางลบและ วิสัยทัศน์สั้น ๆ  แคบ ๆ ค่ะ
  • ปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนได้รับนิสิตฝึกสอน โครงการครู 5 ปี เอกภาษาอังกฤษ เป็นเวลา 1 ภาคเรียน
  • ปัจจุบันที่โรงเรียนขาดครู  แต่พวกเราก็ไม่อยากได้นักศึกษาฝึกสอนอีก 

การผลิตครูทั้ง 4 ปี และ 5 ปี มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา สังคมมักสะท้อนให้สถาบันผู้ผลิตครูว่า ผลิตครูจนล้นตลาด อีกทั้งยังขาดคุณภาพ หรือครูผู้มีภูมิความรู้จริง ๆ ออกไปสู่สังคม ทำให้ "วิกฤตศรัทธา" จึงเกิดกันมาอย่างต่อเนื่อง

  • ดิฉัน...เสียดายเงินงบประมาณที่ลงทุนผลิตนักศึกษาเหล่านี้  มีเงินเดือนในการปฏิบัติการอีก
  • ที่โรงเรียนจ้างครูจบ ป.ตรีมาสอนเดือนละ 4500  บาทโดยใช้เงินนอกงบประมาณ นักศึกษาฝึกสอนฯ มี่รายได้แต่ละเดือนสูงกว่า..อีกนะคะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณ คุณ ครูคิม ครับ สำหรับมุมมองและความคิดเห็นจากประสบการณ์ตรง

เข้าใจว่า นักศึกษาที่มีรายได้ขณะฝึกสอน อยู่ในโครงการ "สหกิจศึกษา" ของรัฐบาล ครับ

คิดให้แง่ดีไหมครับว่า นักศึกษาฝึกสอนเหล่านี้เป็นตัวเราเมื่อสมัยก่อนที่ได้มีโอกาสฝึกสอน หากแต่ศักยภาพอาจจะไม่เท่าเรา เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป จะได้สบายใจขึ้นนะครับ

ขอบคุณมาก ๆ ครับ :)

  • ขอยืนยันว่า เด็กคุรุทายาทเก่งจริง ๆ ครับ (เข้าใจว่าเป็นแบบ 4+1)
  • ตอนนั้นผมคิดจะตั้งบริษัท Software House เคยคิดจะซื้อตัวเด็กคุรุทายาทมาร่วมทีม โดยรับจะชดใช้ทุนให้
  • ผมเสียดายเด็กคุรุทายาทเก่ง ๆ ช่วงนั้นมากที่ฝีมือดี แต่ไม่มีทางเลือกต้องไปเป็นครูอย่างเดียว ถ้าชอบเป็นครูจริง ๆ หลังจากเรียนจบค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตนเองแล้ว มันก็ดีไป แต่ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ผมว่า "เสียโอกาส" มากจริง ๆ
  • แต่ถ้าเป็นยุคนี้สมัยนี้ไม่มั่นใจว่าระบบบจะเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะงานมันเริ่มหายากจริง ๆ
  • ขอยกมือสนับสนุน แนวคิดของ ดร.ขจิต ที่ว่า คุณธรรม จริยธรรม สำคัญไม่แพ้วิชาการ ครับ

สนใจหัวข้อบันทึกนี้มากเลยค่ะ..

โรงเรียนก็ได้เด็กฝึกสอนมาสอนสองคนนะคะ..เค้าเป็นเด็กโครงการครูพันธ์ใหม่4+1 ค่ะ มาสอนเทอมนึง สอนดีมากๆ..ทั้งครูและนักเรียนประทับใจมากค่ะ..ยังชมสถาบันเลยว่าสอนเด็กได้เยี่ยมมากๆทั้งคุณธรรม จริยธรรม ประทับใจจริงๆ..

และก็เห็นด้วยกับอาจารย์ขจิตนะคะ.."คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ในการเป็นครูสร้างได้ยากกว่า

  • ในขณะที่กระทรวงพยายามสร้างแต่ วิชาการ "
  • เห็นด้วยจริงๆ ผลไม่ใช่แค่ว่าคนเหล่านั้นจะทำงานกับคนอื่นยากนะคะ..

    แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือ สงสารเด็กค่ะ..ที่ได้ครูคนเก่งมาจริงๆ..แต่มีคุณลักษณะที่ไม่สามารถจะนำความเก่งที่มีในตัวไปสู่เด็กได้...

    ก็เลยได้ข้อคิดว่า ความรู้ทางวิชาการนั้นก็ดีแต่จะดียิ่งกว่าถ้าสามารถสร้างแรงดึงดูดหรือแรงบันดาลใจในการรักการเรียนรู้ให้กับเด็ก ซึ่งการเรียนรู้นั้นจะเป็นการเรียนที่มีความสุขและสร้างเจตคติที่ดีทั้งต่อวิชาและคุณครูเลยทีเดียว   ซึ่งสิ่งนี้ดิฉันว่าสำคัญมากนะคะ..เพราะเคยเจอจริงๆ..คุณครูท่านนั้นมีความรู้ดีมาก ..แต่เนื่องจากดุและมีบุคลิกและเสียงที่น่ากลัว ..ก็ไม่สามารถดึงดูดเด็กให้อยากเรียนวิชาตนเองได้..ก็เลยน่าเสียดายที่ความเก่งของครูน่าจะได้ประโยชน์กับเด็กมากว่านี้น่ะคะ..

    เพราะฉะนั้นก็เลยอยากให้กระทรวงเน้นการผลิตครูที่มีทั้งความรู้คู่กับคุณธรรม โดยเน้นจิตวิญญาณของความเป็นครูซึ่งสำคัญมาก...

    อย่าเน้นแต่เก่งทางวิชาการแล้วปล่อยเป็นเคราะห์กรรมของเด็กอย่างที่เป็นอยู่นี้เลย..

    ขอบคุณมากค่ะ..สำหรับบันทึกที่ให้ขบคิดจริงจังกับอนาคตของคนเป็นครู..บันทึกนี้..^^

    ขอบคุณสำหรับกำลังใจจากคุณ ใบบุญ มาก ๆ ครับ

    "ปาย" ทำให้ค้นพบสัจธรรมอะไรบ้างหรือไม่คร้าบ :)

    ขอบคุณครับ คุณ ธรรมดา :) ... ได้รับทราบประสบการณ์ตรงครับ

    "การค้นหาตัวเอง" ก่อนที่จะเลือกเรียน จะทำให้ไม่สูญเสียโอกาสนะครับ

    คุณธรรม จริยธรรม ... ในความรู้สึกของผม ไม่ยากนักครับ หากแต่ระบบโดยรวมของอาจารย์ผลิตครูนั้น เป็นเอกภาพมากกว่านี้ ไม่สอนไปเรื่อยเปื่อยตามสไตล์ใครสไตล์มัน ไร้เป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจในทางปฏิบัติ ไม่ได้มุ่งเป้าสร้างครูที่ดี มีคุณธรรมไปในทิศทางเดียว บางครั้งตัวอย่างจากคนเป็นครูเอง ก็ไม่ได้ทำเด็กเกิดความศรัทธา ... หนักใจครับ

    สวัสดีครับ คุณครูแอ๊ว :)

    ครูครับ ... ปัญหาของเด็กเก่งแต่วิชาการ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ดูจะไร้ความสนใจจากผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ นะครับ เท่าที่ได้สัมผัสมา คนที่รับรู้ได้เข้าใจที่สุด คือ อาจารย์ที่ปรึกษาของเด็กเก่งเหล่านี้ครับ อย่างเด็กในโครงการ สควค.

    ผมต้องยอมรับว่า เด็กเก่งมาก ๆ นะครับ ถ้าเด็กไม่เลือกเข้าโครงการนี้ เด็กน่าจะไปอยู่ในคณะที่มีค่านิยมว่า คนเก่งต้องเรียนได้แน่ ๆ

    และได้มีโอกาสได้พูดคุยกับหลาย ๆ คน ก็พบว่า เขาอยากเป็นครูจริง ๆ คือ เริ่มต้นที่ใจ ที่เหลือต้องอยู่ที่ "ระบบการฝึกอบรม" พวกเขา จะสอนให้พวกเขาเป็น "ครูที่ดีมีคุณธรรม" ได้อย่างไร

    อย่างประสบการณ์ที่ผมไม่ประทับใจก็มีครับ ผมเคยบันทึกไว้ที่ รู้ได้ยังไงว่า "สถาบันการศึกษาของตัวเอง" ดีกว่า "สถาบันการศึกษาของคนอื่น" ? ... เจ็บปวดดีแท้ครับ สำหรับคนเก่ง แต่ขี้โกง

    ขอบคุณครับที่ให้ความคิดเห็นได้เต็มที่ทีเดียว ชอบครับ :)

    สวัสดีค่ะอาจารย์

    - เดินตามมาอีกหนึ่งครั้ง....

    - เนื่องจากตัวเองเคยเป็นนักศึกษาฝึกสอน (หลักสูตรเก่า 4 ปี) เนื่องจากว่ามาเรียนครูเพราะ อยากเป็น"ครู" เลยคิดว่าระยะเวลาสี่ปีในการเรียนสายวิชาชีพครู ให้การปลูกฝัง ให้เทคนิค และให้จิตวิญญาณกับตนเองค่อนข้างมาก(บางคนอาจไม่ได้รับเลย)

    การไปฝึกสอน เหมือนไปเป็นครูฝึกหัด แต่ก็ตั้งใจ อยากให้อาจารย์พี่เลี้ยงช่วยดูแลน้องๆให้มากๆ ให้ตักเตือนกันด้วยความหวังดี ติเพื่อก่อ ไม่ใช่ซ้ำเติมเมื่อทำผิดผลาด เพราะสิ่งหนึ่งที่ได้รับและซึมซับมากๆคือครูพี่เลี้ยงขณะฝึกสอน ว่าสอนให้เราเป็นคนทำงานอย่างไร (อ่าได้พี่เลี้ยงดีค่ะ ค่อนข้างเข้มงวด แต่ก็ดีใจ )ทัศนะคติต่อวิชาชีพเกิดตรงนี้ด้วย

    - ประสบการณ์จากเพื่อนหลายๆคน ทั้งที่เรียนครูด้วยกัน ก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไปเป็นธรรมดา บางคนจบไปแล้วไม่คิดอยากจะเป็นครู เบนสายงานไปทำอย่างอื่นก็มีมาก (เพราะตอนสอบตอนเรียนไม่รู้จะไปเรียนอะไร เอาติดไว้ก่อน )พอจบไปก็ยังไม่ชอบ จึงไม่มีความสุขกับงานที่ทำ

    - หลานรหัสเป็นครูพันธ์ใหม่ (หลักสูตร ครู 5 ปี) เคยบอกว่าไม่อยากเป็นครู

    แต่ต้องมาเรียนครู เพราะมีทุนให้เรียนฟรี ฝึกสอนมีเงินเดือน เรียนจบมีงานทำ จริงๆแล้วเค้าอยากเรียนวิศวะ (พ่อแม่ให้เรียนครู)(เพราะนโยบายต้องการให้คนเก่งๆมาเรียนครู ไม่ใช่มีแต่คนไม่รู้จะไปเรียนอะไรมาเรียนครู จึงหาแนวทางในการดึงดูดความสนใจ นั่นคือ...เงินและผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ)ครูพันธ์ใหม่จึงมีแต่คนเก่งๆที่มาเรียน

    ซึ่งก็เป็นผลดีในด้านวิชาการ จึงได้แต่หวังว่าระยะเวลาตลอดหลักสูตร 5 ปี จะช่วยบ่มเพาะความเป็นครูให้แก่น้องๆที่รัก และคิดจะเดินทางมาในสายอาชีพนี้ ให้เป็นคุณครูที่ทั้งเก่งและดี

    - เนื่องจากว่าตนเองเป็นคนที่ไม่ได้เก่งอะไรมากมาย แต่ก็คิดว่าความรู้สามารถเรียนรู้ได้ และพัฒนาได้ (อาจไม่เก่งเท่า สควค. ไม่เก่งเท่าหลักสูตร 5 ปี แต่ก็ดีใจที่มีวันนี้ในสิ่งที่ทำได้และได้ทำ ทุกสิ่งที่ได้หลอมหลวมให้เป็นครู)

    - มีโอกาสได้คุยกับเด็กปี 3 หลักสูตร 5 เมื่อไม่นานมานี้ บอกว่าเค้าไม่เคยคิดอยากเป็นครู แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตอนนี้เค้าเริ่มซึมซับในความเป็นครู คือ เพลง เทียน

    ของคณะ (ร้องทีไรขนลุกซู่ทุกที)

    - มีโอกาสได้คุยกับรุ่นน้องบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น สควค. หลักสูตร 4 ปี หรือหลักสูตร 5 ปี ขอให้อย่าทำตัวเป็นแค่คนสอนหนังสือ แต่ให้ทำตัวเป็นครู (ครุ ที่แปลว่า หนัก) ใครๆก็เป็นคนสอนหนังสือได้ แต่จะทำตัวให้เป็นครูนะยาก และถ้าจะเป็นครูที่ดีแล้วยากยิ่งกว่า คุณธรรม จริยธรรม สำคัญ ไม่แพ้วิชาการ คนเก่งๆในสังคมไทยมีเยอะ

    คนดีๆมีน้อย แต่คนทั้งเก่งทั้งดี ยิ่งน้อยกว่า เลือกเอาว่าเราจะเป็นคนแบบไหน หรือจะเลือกคนที่ทั้งไม่เก่งและไม่ดีเลยก็เลือกเอา...(ชีวิตคุณ คุณกำหนดเอง)

    - ที่สำคัญเป็นครูหรือไม่อยู่ที่ "ใจ"เป็นสำคัญ ว่าเราพร้อมที่จะรับหน้าที่อันหนักหนาและยิ่งใหญ่แค่ไหน เราเรียกร้องบ่อยๆว่าอยากได้ "ใบประกอบวิชาชีพครู" ให้เป็นวิชาชีพขั้นสูง เหมือนอย่างอาชีพอื่นที่ได้มา แต่บ่อยครั้งที่เป็นครูอย่างเราๆท่านๆ ลืมนึกถึงไปคือเรื่องจิตวิญญาณและความศรัทธาในวิชาชีพครู แล้วสิ่งอื่นๆจะตามมา

    (บางคนมองว่าเป็นครูนี่สบายๆ มีปิดเทอม มีวันหยุดชดเชย มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่ไม่ได้มองอย่างอื่นเลย... หุหุหุ คนทำตัวให้สบายก็มี คนทำตัวให้หนักก็มี ตามธรรมดาของคนปะปนกันไป )

    เป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่มี "หัวใจ"เป็นครู : ) นะคะ

    (ขออภัยหากความคิดเห็นนี้มันยาวเกินไป โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน นะคะ)

    จากใจครูน้อย

    วิจารณญาณไม่ต้องใช้กับหัวใจคนที่เป็น "ครู" อย่างน้องคุณครู เทียนน้อย นี่แหละ ... ชื่นชมกับวิธีคิดของครูดีแบบนี้นะครับ อยากให้ความดีซึมซับกันได้ทั้งประเทศ ... คิดเพื่อลูกศิษย์คือความสุขมากกว่าคิดเพื่อตัวเองครับ

    น้องไม่ลองเขียนเป็นบันทึกเลยล่ะครับ ... ยาวใช้ได้นะ เห็นด้วยไหม ซ:)

    หลังจากเข้าไปแวะเยี่ยม ในแต่ละห้อง

    สรุปแล้วค่ะ...อาจารย์ ไม่ธรรมดา !!!!! (ว้าววววว)

    วิสัยทัศน์ แนวคิด อุดมการณ์ ประสบการณ์ของแต่ละคน พูด 2 -3 คำ

    ก็รู้ว่า..เท่าไหร่ หรือไม่เท่าไหร่  ดีใจค่ะที่วงการศึกษายังมีบุญมีคน

    เช่นอาจารย์เป็นพิมพ์ องค์กรที่อาจารย์สังกัด เขาไม่น่าจะทราบ รู้รู้อยู่

     เข้ามา Comment เรื่องการผลิตครู

    น่าจะช้าไปหรือเปล่า 

    แต่..ขอแสดงความเห็นส่วนตัวว่า ไม่มั่นใจว่าฝันของครูพันธุ์ใหม่

    ตื่นมาพบความจริงแล้ว เขาอยากจะฝันตลอดชีวิต..หรือไม่

    เพราะระหว่างหน่วยงานที่ผลิตครู กับหน่วยงานที่ใช้ครู

    ประสานกันชัดเจนหรือยัง  วัฒนธรรมองค์กร วิสัยทัศน์ผู้บริหาร

    องค์คณะบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  เล่นโน๊ตดนตรีคีย์เดียวกันแน่หรือ

    ไม่มั่นใจค่ะ ยิ่งเปลี่ยนแปลงอะไรๆในบ้านในเมืองไปมาก

    เฉพาะภายในองค์กรยังสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง(มหาลัย อ่ะ)

    แล้วจะประสานกันอย่างไร  แม้เบื้องบนกำกับด้วยนโยบาย คำสั่ง..ฯลฯ

    แต่..เชื่อเถอะ  ขนาดเรื่องโอนย้ายข้าราชการ สพฐ.ไปเป็นอาจารย์

    มหาวิทยาลัย  ทำเอา ปางตาย อ่านหนังสือฉบับเดียวกันยังแปลความ

    คนละอย่าง  แบบว่าไม่อ่านหนังสือราชการ แต่..ตีความตาม

    ประสบการณ์ หรือ คอมมั่นเซ้น (บวกอคติอย่างเข้มข้น) 

    จึงกล่าวด้วยความเป็นห่วงมาก ๆ ว่า  เรียนจบแล้ว  ได้เป็นครูแน่หรือ

    ถ้า  ไม่  โห..หลอกเด็กกี่คน  เสียเวลาตั้ง 5 ปี 

     

    เห็นจริงดังอาจารย์ อนงค์ศิริ ว่าครับ ... แนวคิดทุกแนวคิดที่ออกมาจากผู้กำนโยบายหน่วยงาน ออกมาโดยไม่ศึกษาผลกระทบเสียก่อนให้ดี อยากได้สิ่งใดตอนนี้ ก็สั่งทำเลย ... ผลที่ออกมาจึงเหมือนน้ำที่ถูกก้อนหินโยนใส่ น้ำกระเพื่อมไปไกล เกินกว่าจะใช้เวลาในการแก้ปัญหาปีหรือสองปี คงเป็นอีกหลายสิบปีทีเดียวครับ ...

    อีกอย่าง "วัฒนธรรมองค์กร" ที่แตกต่างกัน มุมมองของผู้ร่วมงานจึงมีแนวความคิดที่แตกต่าง ต่างฝ่ายต่างหันหน้าเข้าหากัน ทำความเข้าใจวิธีคิดซึ่งกันและกัน แต่ไม่ใช่เป็นอย่างแดง-เหลือง ... ที่รักบุคคลมากกว่ารักประเทศชาติ แบบนี้ไม่เอาครับ ... หากบุคคลทั้งสองฝ่าย ยอมรับและปรับตัว เปิดวิสัยทัศน์และมุมมองร่วมกันได้เป็นอย่างดี ใช้เหตุผลมาซักค้านกัน ใช้หลักจิตวิทยาอย่างมีศิลป์ องค์กรจะเดินหน้าไปอย่างไกล ครับ

    เสียดายที่ ... คนที่ไม่ปล่อยวางหัวโขน ไม่ยอมคุยกัน ต่างคิดว่าตัวเองถูก ตัวเองดี คิดว่า บทบาทตัวเองถูก ... ดังนั้น การแย่งชิงอำนาจให้ได้กับฝ่ายตัวเองจึงเป็นเรื่องที่เขาคิดว่า จำเป็น

    องค์กรการผลิตครูคงพังพินาศ ... เด็ก 5 ปี เป็นแค่หนูทดลอง ... จบแล้วจะได้เป็นครูในฝันหรือไม่ก็ไม่รู้

    น่าเศร้าครับ :)

    สวัสดีค่ะ อาจารย์น้องชาย

    • ครูอ้อยจะไม่แสดงความคิดเห็นอะไรที่เป็นวิชาการนะคะ
    • แต่จะเล่าประสบการณ์ว่า...นักศึกษาครูที่เป็นกลุ่มสหกิจ ได้มาฝึกปฏิบัติที่โรงเรียน เต็มปีการศึกษา 2 ปีแล้วค่ะ...เฉพาะปฐมวัย...
    • สาขาอื่นๆ เคยมา แต่ถูกดึงกลับไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน 
    • ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่มาเพียง 1 เทอม  วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ  เก่งมากๆ  รับผิดชอบงานดีมากด้วย 
    • หากมีอีก  ต้องการมากๆค่ะ 
    • และสุดท้าย...ครูอ้อยเพิ่งจะเสร็จสิ้นการเป็น กลุ่มตัวอย่าง ในการวิจัย..เกี่ยวกับ เทคนิคการสอน...เพื่อนำไปให้นักศึกษากลุ่มนี้ดู ก่อนจบการศึกษา
    • ส่วนใหญ่ เขาก็ต้องการเป็นครูนะคะ.....นอกจากบางคนที่มีทางเลือก อันมาจากเศรษฐกิจของครอบครัวค่ะ

    จบเพียงนี้ก่อน..ขอให้อาจารย์น้องชายมีความสุขมากๆๆนะคะ

    ขอบคุณสำหรับประสบการณ์ของพี่ ครูอ้อย ครับ ... :)

    เยี่ยมมาก ๆ เลยครับ

    ผมสนใจประโยคที่ว่า
    "เป็นการปั้นขี้โคลนขี้เลนให้เป็นดาว"

    เพราะทุกวันนี้ แทบจะไม่มีให้ปั้นเลยด้วยซ้ำ ที่จะออกไปเป็น บัณฑิต ที่มี
    "คุณธรรมนำความรู้"   ^^

    555 อาจารยตี๋ ครูgisชนบท ครับ ... ผมยังปั้นอยู่นะครับ ขี้เลน เนี่ย 555

    ขอบคุณครับ ;)

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท