"ปัจจัยแห่งความสำเร็จ" ของคุณภาพการศึกษา


"คุณภาพของระบบการศึกษาหนึ่งจะไม่มีวันสูงไปกว่าคุณภาพของครูของระบบการศึกษานั้นไปได้" (The quality of an education system cannot exceed the quality of its teachers)

พ่อกับแม่ได้แวะมาเยี่ยมผมที่บ้านในวันพ่อแห่งชาติที่ผ่านมา พ่อได้ยื่นกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ถูกตัดเป็นสี่เหลี่ยมให้ 1 แผ่น ซึ่งเป็นบทความของ "อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ" เขียนไว้ เรื่อง "ปัจจัยแห่งความสำเร็จของคุณภาพการศึกษา" แต่พ่อไม่ได้เขียนหรือบอกที่มาเอาไว้ให้ทราบ

มุมมองของอาจารย์วรากรณ์ในบทความนี้ นำมาซึ่งแนวความคิดที่น่าสนใจในการพัฒนาวงการการศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ "ครู"

จึงขอนำบทความดังกล่าวนี้มาเขียนไว้ในบันทึกนี้ เพื่อยังประโยชน์ต่อคนที่ต้องการใช้มันให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และวงการการศึกษาบ้านเรา

 

****************************************************************************

 

"ปัจจัยแห่งความสำเร็จ" ของคุณภาพการศึกษา

 

การปฏิรูปการศึกษาเป็นอันดับต้น ๆ ของวาระแห่งชาติของเกือบทุกประเทศในโลก รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ทุ่มเงินรวมกันมหาศาลไม่ต่ำกว่า 2 ล้าน ๆ เหรียญสหรัฐสำหรับการศึกษาในปี 2006 นอกจากนี้ยังพยายามยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ก็น่าประหลาดใจที่คุณภาพการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้ดีขึ้น แต่ละประเทศมีคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันมาก มันน่าจะมีปัจจัยแห่งความสำเร็จบางอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จ

ตัวอย่างของคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกัน ได้แก่ สถิติที่ว่าต่ำกว่าร้อยละ 1 ของเด็กในแอฟริกาและตะวันออกกลางมีผลสัมฤทธิผลทางการศึกษาในระดับเดียวกัน หรือ สูงกว่าสัมฤทธิผลโดยเฉลี่ยของเด็กสิงคโปร์ ทั้ง ๆ ที่สิงคโปร์ใช้จ่ายเงินสำหรับการศึกษาในชั้นประถมศึกษาต่ำกว่า 27 ประเทศ ในสมาชิก 30 ประเทศของกลุ่ม OECD

Mckinsey & Company ได้ทำงานวิจัยระหว่างพฤษภาคม 2006 ถึงมีนาคม 2007 เพื่อค้นหาว่า เหตุใดบางระบบการศึกษาในโลกจึงประสบความสำเร็จอย่างอยู่เหนือระบบการศึกษาของประเทศอื่นๆ ที่ไม่อาจเทียบกันได้

 

ข้อเขียนในวันนี้ขอสรุปสิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ได้ค้นพบ

งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลจากผลการสอบของเยาวชนวัย 15 ปี ในภาษาของตนเองโดยทดสอบความสามารถในการอ่าน ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นการสอบที่จัดโดย OECD และมีประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมสอบด้วย มีชื่อดังที่รู้จักกันว่า PISA (OECD's Programme for International Student Assessment)

งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญกว่าร้อยคน อีกทั้งไปเยี่ยมชมโรงเรียนต่าง ๆ จำนวนมากในทุกทวีป

งานศึกษาพบว่า มีอยู่ 3 สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นระบบการศึกษาทั้งหมด ซึ่งได้แก่

(ก) หาคนที่เหมาะสมมาเป็นครู

(ข) พัฒนาครูเหล่านี้ให้เป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพ และ

(ค) สร้างระบบการศึกษาที่มั่นใจได้ว่า สามารถให้การสอนที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แก่เด็กทุกคน

 

ผู้ศึกษา พบว่า ทั้ง 3 สิ่งนี้เป็นจริงสำหรับทุกวัฒนธรรม สามารถช่วยให้เกิดพัฒนาการให้ด้านคุณภาพอย่างเห็นผลในระยะเวลาสั้นและสามารถช่วยแก้ไขระบบการศึกษาที่ล้มเหลวได้

ในประเด็นแรก คือ หาคนที่เหมาะสมมาเป็นครูนั้น รายงานระบุว่า "คุณภาพของระบบการศึกษาหนึ่งจะไม่มีวันสูงไปกว่าคุณภาพของครูของระบบการศึกษานั้นไปได้" (The quality of an education system cannot exceed the quality of its teachers)

"คุณภาพของครู" คือหัวใจของระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ถ้าครูไม่มีคุณภาพการศึกษาก็ไม่มีคุณภาพ ประเทศตัวอย่างที่รายงานนี้ระบุและผู้เขียนเองเคยไปดูด้วยตาตนเองก็คือ ฟินแลนด์ เด็กในประเทศนี้จะไม่เรียนหนังสือจนกว่าอายุ 7 ขวบ เรียนหนังสือวันละ 4 - 5 ชั่วโมง ตลอด 2 ปีแรกที่เข้าโรงเรียน แต่พอถึงอายุ 15 ปี เด็กฟินแลนด์สอบ PISA ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดของโลกในการสอบวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่านและการคิดแก้ไขปัญหา

ในฟินแลนด์ผู้ที่จะเป็นครูได้ต้องสอบแข่งขันผ่านการคัดกรองมาอย่างดี ได้รับรายได้สูงกว่า หรือทัดเทียมกับวิศวกร ปีหนึ่งทำงาน 9 เดือน แต่ได้รับเงินเดือนเต็ม 12 เดือน แม้แต่ชั้นประถมศึกษา ครูทุกคนต้องจบการศึกษาอย่างน้อยปริญญาโท ห้องหนึ่งจะมีนักเรียนประมาณ 15 - 20 คน ในบางวิชาจะใช้ครู 2 คนช่วยกันดูแลการเขียนหรือทำแบบฝึกหัดของนักเรียน

ระบบการศึกษาชั้นยอดของโลกเช่น ฟินแลนด์ได้คนที่มีคะแนนสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกของผู้เรียนจบมาเป็นครู เกาหลีใต้ได้คนจบ 5 เปอร์เซ็นต์แรก สิงคโปร์และฮ่องกงได้คนจบ 30 เปอร์เซ็นต์แรก ฯลฯ ประเทศเหล่านี้ "หมายหัว" คนเรียนเก่งและมีความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เช่น อุดมการณ์ อุปนิสัยใจคอ อารมณ์ จริยธรรม ฯลฯ

(ค่านิยมของการเป็นครูในประเทศไทยนั้นตรงกันข้ามกับข้อความที่กล่าวมา : ผู้เขียนบันทึก)

รายงานอ้างคำพูดของผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งว่า "คนคนหนึ่งไม่สามารถให้ (ความรู้) ในสิ่งที่เขาไม่มี (ความรู้) ได้" (One cannot give what one does not have.)

 

ประเด็นที่สอง "สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน" นั้น สำคัญที่สุดถ้าต้องการสร้างคุณภาพการศึกษา แม้จะได้คนที่เหมาะสมมาเป็นครูแล้วก็ต้องมีการฝึกฝนให้เป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพด้วย

รายงานระบุว่า ไม่ว่าจะมีหลักสูตรที่เป็นเลิศ มีอาคารโรงเรียนหรือโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเลิศ หรือมีนโยบายการศึกษาที่เป็นเลิศเพียงใดก็ตามที หากไม่มีครูที่ทุ่มเทให้การสอน ไม่เป็นครูที่มีความสามารถในการถ่ายทอดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว คุณภาพการศึกษาไม่มีวันดีขึ้นได้เลย ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายอยู่ทั่วโลก

"สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน" เกิดขึ้นได้จากการทำให้ครูได้เป็นครูอย่างแท้จริง ครูได้รับผลตอบแทนเพียงพอ มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทุ่มเทให้กับนักเรียน ครูมีเวลาเพียงพอต่อการเตรียมตัวสอน สอนอย่างมีคุณภาพ และได้รับรางวัลตอบแทนจากการเป็นครูผู้สอน

(รางวัลตอบแทนผู้สอนในประเทศไทยก็คือ การทำผลงานวิชาการเพื่อเข้าสู่วิทยฐานะ แต่หลาย ๆ ครั้ง กลายเป็นการหากลอุบายที่ให้ตนเองได้วิทยฐานะดังกล่าว : ผู้เขียนบันทึก)

ไม่ใช่จากการเป็น "ครูผู้บริหาร" เพียงอย่างเดียว

 

ประการที่สาม "สร้างระบบการศึกษาที่แน่ใจได้ว่าสามารถให้การสอนที่ดีที่สุดแก่เด็กทุกคน"  เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของระบบการศึกษา

ในสังคมประชาธิปไตยเด็กทุกคนต้องได้รับคุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้อย่างเท่าเทียมกัน ในบางประเทศ เช่น ฟินแลนด์ กฎหมายห้ามมิให้แบ่งเด็กที่มีสัมฤทธิผลทางการศึกษาต่างกันไว้คนละห้อง ห้องเรียนจะต้องคละกันทั้งเด็กเก่งและไม่เก่ง ทั้งนี้เนื่องจากเด็กทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดีที่สุดอย่างเท่าเทียมกัน การแบ่งเด็กอาจทำให้เด็กห้องไม่เก่งถูกละเลยทอดทิ้งได้ ระบบการศึกษาที่ทำให้แน่ใจได้ว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเท่านั้นจึงจะเอื้อให้เกิดคุณภาพขึ้นได้

(เรียกวิธีการสอนแบบนี้ว่า การเรียนแบบร่วมมือ Cooperative Learning : ผู้เขียนบันทึก)

กล่าวโดยสรุป คุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสามสิ่งเกิดขึ้นด้วยกัน ทั้งสามสิ่งนี้แขวนอยู่กับการได้คนที่เหมาะสมมาเป็นครู การพัฒนาครู และเด็กทุกคนได้รับการสอนที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เสมอหน้ากัน

 

รายงาน Mckinsey ยืนยันว่า

"คุณภาพของการศึกษาของโรงเรียนใดก็ตามโดยแท้จริงแล้วก็คือ ผลรวมของคุณภาพการสอนที่ครูทั้งหมดของโรงเรียนนั้นมอบให้แก่นักเรียน"


***************************************************************************

 

"คุณภาพของครู" คือปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จที่มีต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศ ผู้กำหนดนโยบายข้างบน จบเมืองนอกเมืองนามามากมาย ท่านควรจะทำอย่างไรดีครับ

เมื่อวานอ่านหนังสือพิมพ์ สัมภาษณ์ผู้กำหนดนโยบายในกระทรวงศึกษาธิการ หลายท่านให้สัมภาษณ์ว่า นักการเมืองที่จะมาดูแลกระทรวงศึกษาฯ นี้ ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องการศึกษา

สะท้อนใจพิลึกว่า คิดเพื่อตัวเอง หรือ การศึกษาชาติ

เปิดความคิดของผู้ผ่านทางกันครับ แลกเปลี่ยนสิ่งดี ๆ กันนะครับ

ขอบคุณครับ :)

หมายเลขบันทึก: 228215เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2008 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดีค่ะอาจารย์Wasawat Deemarn

  • แวะมาเก็บเกี่ยวความรู้
  • เพียงหวังว่าการศึกษาในประเทศไทยจะนำเอา 3 ข้อนี้ไปใช้นะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณพยาบาล สีตะวัน :)

สบายดีนะครับ ไม่ได้พูดคุยกันนานเหมือนกันนะครับ :)

แนวคิดนี้ น่าตรึกตรองและลองนำไปใช้ครับ ขึ้นอยู่ผู้กำหนดนโยบาย อย่างชัดเจนที่สุดครับ รวมถึง วิธีคิดแบบใหม่ ๆ ของผู้เป็น "ครู" อีกด้วยครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาเป็นท่านแรก :)

บทความ....ยอดเยื่ยมเลยครับ

ขอบคุณ คุณหมอกมล kamolss ที่แวะมาเยี่ยมเยือนครับ :)

สวัสดีค่ะ

* มาส่งความสุขปีใหม่ค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat Deemarn

หนูแวะมาเก็บเกี่ยวความรู้ ข้อคิดดีๆเช่นเคยค่ะ

จะพยายามทำให้ดีที่สุดอย่างพึงเต็มกำลังและความสามารถที่พึงมีนะคะ

1.เป็นครูที่ดีที่เหมาะสม

2.พัฒนาตนเองให้เป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพ และ

3.สร้างระบบการศึกษาที่มั่นใจได้ว่า สามารถให้การสอนที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไป

ได้แก่เด็กทุกคน โดยเท่าเทียมกันและเต็มตามศักยภาพ

ขอบคุณบทความดีๆที่ให้ข้อคิด อย่างน้อยเริ่มต้นที่ตัวเรา

เริ่มต้นที่ตัว "ครู"

- วันหนึ่งมีเด็กคนหนึ่งมาถามหนูว่า ครูค่ะพี่หนูบอกว่าเรียนอะไรก็เป็นครูได้จริงไหมค่ะ ? จริงเหรอใครๆมาเป็นครูก็ได้ ?

เป็นคำถามที่สะเทือนใจหนูมาตั้งแต่สมัยหนูเรียนครู

ไม่ว่าใครต่อใครสมัยนี้ดูเหมือนจะมองอาชีพครูเป็นอาชีพสำรองหรือรองรับ

สอบเรียนอะไรที่ไหนที่ตนเองอยากเรียนไม่ได้ ก็มาเรียน "ครู" พอให้ผ่านไปได้รับ

ใบปริญญามาแปะไว้ที่ข้างฝา แต่ถ้าคนไหนไม่ได้คิดที่จะเป็นครูตั้งแต่แรก แล้วมาเรียนครูเกิดรักและศรัทธาในวิชาชีพครู ทำงานเพื่อเด็กด้วยหัวใจและจิตวิญญาณของครูก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก

แต่ถ้ามาเรียนแล้วไม่ได้เกิดรู้สึกรักในวิชาชีพของตน ความพยายาม ความสนใจ ในการพัฒนาวิชาชีพ พัฒนาตนคงลดน้อยลง เพราะไม่ได้อยู่กับความเป็นครูทั้งตัวและหัวใจ ความรัก ความเมตตาที่มีต่อศิษย์ คงเหือดหาย...การพัฒนาตน

คงน้อยลง

คนเป็น"ครู" หาใช่ครูที่อยู่ในระบบไม่ ในความคิดของหนู ครูนอกคอก

ครูนอกระบบ แต่ทว่ามีหัวใจของ "ครู" เต็มเปี่ยม ที่พร้อมจะเป็นผู้ให้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ผู้ที่มีความรักและความเมตตาต่อศิษย์อย่างแท้จริงต่างหากที่ควรน่ายกย่อง

บางครั้งคนเราก็ปล่อยให้ทุนนิยม ค่านิยมทางสังคมให้กลืนกินเราไปโดยไม่รู้ตัว หากเมื่อเราขัดขืนจึงกลายเป็นคนแปลกที่แตกต่างของคนในสังคมเพราะ....

หากเพราะเชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ ว่า ดีแล้ว ถูกแล้ว ควรแล้ว

เหมาะสมแล้ว เป็นประโยชน์แล้ว ก็ขอทำต่อไป

"เป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่าน ให้เป็นครูดีในดวงใจ ของเด็กๆตลอดไป"

  • แวะมาชื่นชมคุณครูเทียนน้อยค่ะ
  • อนาคตประเทศไทยต้องพัฒนาเท่าเทียมประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาด้านการศึกษาแล้ว ..แน่ ๆ เลยนะคะ

(มีหลานชายกำลังเรียนคณะศึกษาฯ ปี 3 เรียกครูพันธ์ใหม่ที่มข. )

  • ขอเป็นกำใจให้คุณครูทุกคนค่ะ

ขอบคุณครับ คุณครู  พรรณา ผิวเผือก  :)

สวัสดีปีใหม่เช่นกันครับ

สวัสดีครับ คุณครู เทียนน้อย :)

วันนี้ ผมพบ "คุณครูในดวงใจ" อีกท่านหนึ่งแล้วครับ

สิ่งที่คุณครู เทียนน้อย ได้เขียนไว้นั้น คือ สิ่งที่อยากให้คนที่เป็นครทุกคนได้มีเยอะ ๆ ครับ

เรียนจบสายครู..ไม่ยาก แต่หากจะเป็นครูด้วยหัวใจแล้วไซร้ เป็นยากกว่านั้น เพราะต้องใช้เวลาพัฒนาจิตใจของคนเป็นครูอีกหลายปี

กว่าคนที่ประกอบอาชีพ "ครู" จะทราบว่า "ครูที่ดี" ควรเป็นอย่างไรกัน

ด้วยจิตคารวะ คุณครูในดวงใจ ... คุณครู เทียนน้อย

ขอให้กำลังใจครับ :) ... ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยหัวใจของครู ครับ

สวัสดีครับ คุณพยาบาล สีตะวัน :)

เห็นเช่นเดียวกับคุณพยาบาล สีตะวัน ครับ ...

คุณครู เทียนน้อย :) คือ "คุณครูในดวงใจ" ท่านหนึ่งทีเดียวครับ

ขอบคุณมาก ๆ ครับ

สวัสดีค่ะ

   มาร่วมเก็บเกี่ยวความรู้ด้วยคนค่ะ

ทุนนิยม ค่านิยมทางสังคมให้กลืนกินเราไปโดยไม่รู้ตัว หากเมื่อเราขัดขืนจึงกลายเป็นคนแปลกที่แตกต่างของคนในสังคม

   มาลงเสียงตอกย้ำความคิดของคุณเทียนน้อยค่ะ

   อาจารย์คะ..แล้วที่ประเทศฟินแลนด์เนี่ย เค้ามีระบบการสอนนักศึกษาในสายการศึกษา (ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ ฯลฯ) อย่างไรคะ...ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

@ ตามมาเรียนรู้

@ และอีกหนึ่งบทความดีดี "ครู?" โดย ศ.ระพี สาคริก ครับ

@ ทั้งครูและศิษย์ควรจะเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างเป็นธรรมชาติ

ขอบคุณครับ คุณ ครูแม่มด  ... เรื่อง ฟินแลนด์ ยังมีความรู้เท่ากับบทความนี้เลยครับ ... มี สวีเดน ก็ยังไม่ได้อ่านละเอียด ครับ :)

ขอบคุณครับ คุณ ไทบ้านผำ :) ที่ให้เกียรติแวะมาเรียนรู้กัน

Dscf2119

สวัสดีปีใหม่ครับ

สำหรับ "กัลยาณมิตร" แห่งปี

ช่วงนี้ได้พักผ่อนไม่ต้องแบกภาระกลับมาทำที่บ้าน ดีใจที่ได้อ่านบทความที่รู้ซึ้งถึงความเป็นครูดี มืออาชีพ ที่มุ่งเห็นประโยชน์ลูกศิษย์เป็นสำคัญ

เห็ฯด้วยกับครูเทียนน้อยค่ะ ขอบคุณค่ะ

แย่เลย คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ผมเพิ่งจะเห็นอ่ะดิ ... ขอบคุณมากครับ :)

ขอบคุณครับ คุณ krutoi ... นอนดึกเหมือนกันนะครับ :)

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

ขอบคุณครับ คุณ Man In Flame ;) ... สักครู่ครับ

ปาฎิหาริย์ ... ;) มาเจอมิตรเก่าๆ เพียบเลยในบันทีกนี้  ... ไม่มีติ ข้อเสนอแนะอื่นๆ เลยรึคะ อ.เสาเรือ เซียนจับภาพ ;)

ขอบคุณครับ คุณ poo ที่แวะมาพรวนบันทึกอันมีค่าบันทึกนี้

ทำให้ผมได้กลับมาอ่านซ้ำอีกรอบ ... ชอบใจและสุขใจยิ่ง

ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง หรือมีจริงดี ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท