น้ำท่วม ... เอาใจนำพา..เอาศรัทธานำทาง


พยายามทำหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางของการนำพา “ศรัทธา” หลากรูปลักษณ์ของผู้คนไปส่งให้ถึงจุดหมายปลายทางให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

เช้าตรู่ของวันจันทร์ที่  13  ตุลาคม  2551
ผมและทีมงานจำนวนหนึ่ง  มุ่งหน้าไปยังวัดป่าเกาะเกิ้ง  โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อถวายภัตตาหารเช้า  และสิ่งของเครื่องใช้อันจำเป็นในภาวะน้ำท่วม 

 

วัดป่าเกาะเกิ้ง  ตั้งอยู่ในพื้นที่ของบ้านเกิ้ง ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม  มีพระอาจารย์กมล  อตตทโม  เป็นเจ้าอาวาส  ซึ่งเพิ่งก่อสร้างขึ้นได้ไม่ถึง 4  ปี  แต่ห้วงระยะเวลาอันสั้นนี้กลับเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน  ทั้งในมิติของการเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม  สถานที่การอนุรักษ์ป่า  อนุรักษ์สัตว์ และนั่นยังรวมถึงการเป็นสถานที่เพาะบ่มและขัดเกลาเยาวชนให้ตระหนักถึงความผูกพันที่มีต่อบ้านเกิด




(แม่น้ำชี ..ทางเดินเรือที่เรือต้องแล่นตัดผ่านสายน้ำที่ไหลเชี่ยว)

 

เราใช้เวลาเดินทางจากมหาวิทยาลัยไปยังท่าน้ำที่อยู่อีกฟากของวัดในราว ๆ เกือบครึ่งชั่วโมง 
ในช่วงที่รอเรือยนต์เฉพาะกิจจากทางวัดข้ามฟากมารับนั้น  พวกเราต่างสรวลเสเฮฮาถึงเรื่องราวนานาประการของชีวิต  รวมถึงการเพ่งพินิจถึงท้องน้ำแห่งแม่น้ำชีที่ไหลบ่าเร็วและแรงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน
 

 

และความเร็วของสายน้ำที่เคลื่อนไหลไปนั้น  ยังผลให้ทีมงานของผมบางคนถึงขั้นออกอาการหวั่นหวาดที่จะนั่งเรือข้ามฟากไปกับเรา   ซึ่งผมเองก็เข้าใจและเห็นใจเป็นที่สุด  ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครกล้าที่จะถอนตัวออกจากการเดินทางในครั้งนี้ 

 

วัดเกาะเกิ้งเป็นวัดที่กำลังเติบโตอย่างช้า ๆ  ...
ปัจจุบันมีพระจำวัดในเทศกาลเข้าพรรษา
4 รูป   วิถีชีวิตของพระสงฆ์เน้นไปในทางปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด  พร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ป่าในชุมชน  และการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนได้ตระหนักถึงบทบาทและสถานะของพวกเขาที่มีต่อความเป็นชาติและคนของท้องถิ่น

 

 

 

 


ปัจจุบันวัดดังกล่าวนี้  เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างบ้างแล้ว   ในแต่ละเช้าจะมีญาติโยมนั่งเรือข้ามมาตักบาตรวันละไม่เกิน 4 – 5  คน  บางครั้งนั่งเรือมากับพระที่ไปบิณฑบาตร  แต่ส่วนหนึ่งเด็กวัด หรือแม้แต่พระหนุ่มก็จำต้องรับหน้าที่เป็นคนเรือเทียวรับเที่ยวส่งอยู่เป็นประจำ

 

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้ผมเห็นพ้องว่า  ความศรัทธาของคนเรา  มีพลานุภาพอย่างยิ่งใหญ่กับการขับเคลื่อนให้ชีวิตได้ทำในสิ่งที่ชีวิตศรัทธา  ยิ่งในเรื่องราวของศาสนาแล้วยิ่งเห็นได้ชัดว่า  พลังศรัทธานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับความเป็นชีวิตของคนเราอย่างแสนวิเศษ 

 

ขณะที่ผมเองก็อดที่จะถามตัวเองอย่างเงียบ ๆ ไม่ได้ว่า  แล้วที่เรามากันวันนี้ล่ะ  มันเกี่ยวเนื่องกับศรัทธาที่มีต่อศาสนาหรือไม่  หรือมาเพราะต้องการช่วยผู้คนที่กำลังเผชิญชะตากรรมจากภัยน้ำท่วมเท่านั้น

 

 

การเดินทางมาทำกิจกรรมในวันนี้   เรามากันเพียงไม่กี่คน  หากแต่สิ่งของเครื่องใช้และข้าวปลาอาหารนั้น  กลับมากมายอยู่มิใช่น้อย   ยิ่งการเดินทางด้วยเรือที่ต้องแล่นตัดกับสายน้ำเชี่ยวเช่นนี้  ยิ่งพลอยทำให้หัวใจของผมคึกคักเป็นพิเศษ  ประหนึ่งกำลังรู้สึกได้ด้วยตนเองว่า   การงานอันใดก็แล้วแต่ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก  การงานนั้น  ก็ยิ่งควรค่าต่อการลงมือทำเป็นที่สุด  เฉกเช่นการทำบุญ ยิ่งลำบาก ก็ยิ่งน่าจะได้กุศลผลบุญมากขึ้นเท่าตัว ... 

 

ผมคิดเช่นนั้นจริง  
แต่มิใช่คิดเพราะต้องการปลอบประโลมใจตัวเอง  หรือคิดเพราะว่าการทำงานในครั้งนี้  แท้จริงเป็นการเฝ้าฝันว่าจะเป็นบุญหนุนนำชีวิตของตนเองได้ก้าวไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีกว่าปัจจุบันเลยแม้แต่น้อย   แต่ความสัตย์จริงนั้น  ผมและทีมงานทำกันด้วยใจ  ปรารถนาเพียงอย่างเดียวคือต้องการช่วยเหลือผู้คน (วัด)  ที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมเท่านั้นเป็นสำคัญ  หรือในอีกมิติหนึ่ง  ก็พยายามทำหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางของการนำพา
“ศรัทธา” หลากรูปลักษณ์ของผู้คนไปส่งให้ถึงจุดหมายปลายทางให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ -  สิ่งที่ทำอยู่ในขณะนี้  จึงเป็นทั้งภารกิจและพันธกิจที่ผมแตะต้องและสัมผัสได้ด้วยตนเองว่า   ผมทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ .. ทำแล้วสบายใจและมีความสุข  ซึ่งไม่มีอะไรเคลือบแฝง หรือซ่อนเร้นไปมากกว่านี้เลยแม้แต่น้อย

 


 

ในเช้าของวันนั้น...
ขณะที่รอถวายภัตตาหารเช้า   ผมถือโอกาสถลกขากางเกงขึ้นสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ 
จากนั้นก็ตะลุยฝ่าน้ำที่ท่วมขังเข้าไปในบริเวณที่ตั้งของศาลาและกุฏิให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้   แต่จนแล้วจนรอด  ก็เข้าไปได้ไม่ไกลนัก  เพราะระดับน้ำท่วมสูง  พื้นดินใต้น้ำก็หล่มลึกลงเรื่อย ๆ  ทำเอาผมสะดุ้งเป็นระยะ ๆ ... บางคราวก็ย่ำเหยียบเศษไม้และตอไม้  จนต้องร้องเสียงหลงด้วยอาการเจ็บแบบไม่อาย 

และที่สำคัญ  ในใจก็หวาด ๆ อยู่บ้างว่า  จะมีงูเงี้ยวเลื้อยไล่มาบ้างหรือเปล่า  เพราะที่นี่เป็นป่าโดยแท้  มิหนำซ้ำก็ติดกับฝั่งชี  พลัดหลงและลื่นไหล ก็มีสิทธิ์ลอยลับไปกับแม่น้ำชีเป็นแน่ 

 


 

จากสภาพที่พบเห็นภายในบริเวณวัด  แทบจะเรียกได้ว่า บัดนี้อาณาบริเวณเกือบทั้งหมด  แทบจะกลายเป็นท้องน้ำไปจนสิ้น ...   ศาลาและกุฏิสงฆ์ทุกหลังถูกน้ำท่วมขัง  โรงครัวถูกทิ้งร้าง  ขณะที่ไก่บ้านไก่ป่าหลายตัวก็ตะกายปีกไปเกาะตามต้นไม้สูงอย่างน่าเห็นใจ

 

 

 

ผมไม่รู้หรอกว่า  ต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนน้ำถึงจะลด  และวัดถึงจะกลับคืนสภาพปกติได้  แต่ที่แน่ชัดที่สุดก็คือ  หลังน้ำท่วมนั้น  วัดแห่งนี้ต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างหนัก   และขณะนี้ก็น่าเห็นใจอยู่มากโข  เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแล   ผมและทีมงานในนามมหาวิทยาลัยฯ  กลายเป็นกลุ่มแรกที่เดินทางฝ่าสายน้ำเชี่ยวนี้เข้าไปได้

 

 



(กุฏิสงฆ์ในสภาพถูกน้ำท่วม) 

 

 

 

 

 

 

ก่อนเดินทางกลับออกจากวัดในวันนั้น 

เราถวายปัจจัยเป็นเงินสดอีก 5,000  บาท   โดยปรารถนาให้เป็นค่าใช้จ่ายใด ๆ ก็ตามที่ทางวัดเห็นสมควร  แต่ภายหลังพูดคุยกับพระอาจารย์กมลฯ แล้ว  ก็ได้รับรู้ว่า  ขณะนี้การก่อสร้างศาลาโรงครัวได้หยุดชะงักลง  เพราะไม่มีทุนรอนที่จะสร้างต่อ  และโดยความตั้งใจโรงครัวนี้จะใช้เป็นสถานที่ให้ญาติโยมมาพักอาศัยและจัดกิจกรรมในช่วงบุญกฐินที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่  9  พฤศจิกายน  2551

 

ผมกราบนมัสการถามพระคุณเจ้าอย่างตรงไปตรงมาว่า  เฉพาะหลังคาทั้งหมดนั้น  ต้องใช้งบประมาณสักเท่าไหร่ถึงจะแล้วเสร็จลงได้  ซึ่งท่านก็เปรยบอกว่าน่าจะไม่เกิน 20,000  บาท  แต่ท่านก็ไม่วายบอกกล่าวอย่างเข้มแข็งว่า  ถึงแม้จะยังไม่มีปัจจัยมาสร้างต่อเสร็จสมบูรณ์  แต่ก็ไม่มีทางเปลี่ยนใจเลิกล้มบุญกฐินที่กำลังมีขึ้นอย่างแน่นอน

 


(โรงครัว หรือที่พักของญาติโยมที่หยุดชะงักเพราะขาดปัจจัยในการก่อสร้าง)

 

 

เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
บุญกฐินที่ว่านี้  เป็นกฐินแบบโบราณเลยก็ว่าได้  ทำขึ้นกันในวันเดียว  เป็นกฐินสามัคคีที่ไม่เน้นวัตถุเงินตราเหมือนที่พบเห็นอยู่อย่างดารดาษ   ซึ่งที่นี่จะนำผ้าขาวมาย้อมสีเป็นจีวรด้วยเปลือกไม้ที่มีอยู่ในบริเวณวัด  จากนั้นก็จะร่วมแรงกันเย็บจีวรด้วยมือของแต่ละคน  

เรียกได้ว่า  นี่คือ  "
การว่ากันด้วยใจ... และใช้ศรัทธาเป็นเครื่องนำพาไปสู่วิถีบุญ"  ซึ่งสะท้อนภาพวิถีความเชื่อความศรัทธาในศาสนาและความเป็นภูมิปัญญาที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

 

ผมฟังเช่นนั้นก็อดปลื้มปีติไม่ได้ ...
นานและนานมากแล้วที่ผมไม่มีโอกาสได้พบเห็นวิถีกฐินแบบดั้งเดิมของคนเรา   งานนี้จึงกลายมาเป็นวิถีแห่งใจที่ว่ากันด้วยศรัทธาและความพร้อมของแต่ละคนเป็นที่ตั้ง  ซึ่งผมเองก็กราบนิมนต์ไว้ในทำนองว่า  จะนำนิสิตเข้ามาร่วมเรียนรู้ในวิถีกฐินนี้อย่างแน่นอน ... ต่อให้น้ำยังไม่ลด 
เราก็จะมา...”

 

และที่สำคัญก็คือ  ถ้าเป็นได้  บางทีเงินที่เหลืออีก 15,000  นั้น  ทั้งผมและทีมงาน  อาจขันอาสานำพาปัจจัยมาสมทบอย่างเต็มที่เท่าที่เราจะทำกันได้ ....


แต่ถ้ามิ่งมิตรท่านใด   ปรารถนาจะร่วมเป็นเจ้าภาพในกฐินโบราณนี้ด้วยรูปแบบใด ๆ ก็แล้วแต่  ทางผมก็ยินดีที่จะเป็นผู้แทนในการทำหน้าที่นำพาศรัทธาของท่านไปให้ถึงจุดหมายอย่างไม่ตกหล่น

 

 

สำหรับผมแล้ว.. เมื่อพบเจอภาพชีวิตต่าง ๆ ณ ที่ตรงนี้  ผมก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า  ทางเดียวที่จะทำในสิ่งที่คิดว่าต้องทำสำเร็จได้  นั่นก็คือ "เอาใจนำพา..เอาศรัทธานำทาง"  พร้อม ๆ กับการรำพึงรำพันกับตัวเอง ว่า   กฐินโบราณ ...ความทรงจำที่ผมเกือบลืมไปเสียสนิท

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 216566เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2008 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีค่ะ ขอเป็นกำลังใจในการทำงานเพื่อชุมชนน่ะค่ะ

โอโหน้ำท่วมมากเลย ...มาสาธุๆๆๆๆๆ

  • มาให้กำลังใจครับ ขอให้วิกฤษผ่านไปอย่างรวดเร็วครับ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน
  • แถวบ้านป้าแดงก็หนักเหมือนกัน ต้องซ่อมแซมกันยกใหญ่เลย
  • --
  • ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

ขอร่วมอนุโมทนาบุญและร่วมเป็นกำลังใจในการทำงานของคุณแผ่นดินด้วยคนค่ะ...

แวะมาเยี่ยมชมภารกิจสำคัญของอาจารย์ครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

สุขภาพอาจารย์ดีขึ้นแล้วหรือยังคะ

ขอให้อาจารย์และครอบครัว มีความผาสุกนะคะ

กุศลผลบุญท่วมท้นด้วยความดีงามค่ะ

ขอร่วมอนุโมทนาบุญค่ะ

เห็นนำท่วมแล้วใจหาย เป็นกำลังใจค่ะ ดูแลตัวเองด้วยนะคะ

  • ขอร่วมเป็นกำลังใจให้คนทำงาน ทำดี  และผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกท่านค่ะ
  • เด็ก ๆ สบายดีไหมคะ

มาทักทายค่ะพี่แผ่นดิน น้องแดนสบายดีนะค่ะ

น้ำท่วม ก็ยังดีที่มีน้ำใจของคนหลายๆคน

สวัสดีครับอาจารย์

ผมว่าคนเราถ้าอยากหรือตั้งใจทำด้วยตัวเอง

คือทำด้วยความรักและความศรัทธานะครับ

แบบนี้ทำแล้วสุขใจ

ทำได้เท่าไร แค่ไหนเป็นอีกเรื่องครับ

ขอให้มีความสุขครับอาจารย์

เห็นอย่างนี้แล้ว ก็นับถือพระท่านนะคะที่ทนลำบาก ไม่สิ ไม่รู้จะอธิบายว่าอย่างไรที่เห็นพระท่านต้องอยู่ในภาวะแบบนั้น ไม่ใช่แค่ที่นี่ มาคิดหาเหตุผลให้ตัวเองก็สรุปว่า พระคือตัวแทนของศาสนาที่จะช่วยพยุงศรัทธาของชาวพุทธให้อยู่ต่อไป ไม่เสื่อมสลายไปกับวัฒธรรมอันแปลกปลอมที่เข้ามากลืนสังคมไทย

ตัว ญ.ปุ้ย เป็นคนที่นับถือศาสนาคริสต์ค่ะ เพราะทางแม่ถือมาตลอด แต่พ่อเป็นชาวพุทธ ตัวเองก้อเลยไปได้ทั้งสองทาง มีคนว่าบาป... แต่ตัวเราทำแล้วสบายใจก้อเลยพยายามไม่คิดมาก

เอาศรัทธานำทาง...ฟังแล้วดูจะทำให้หลายคนอยากเข้าไปช่วย ยังไงก้อสู้ๆ นะคะ ขอส่งแรงใจแล้วกันนะ อยากติดตามเรื่องนี้จนถึงที่สุด เชื่อว่าคุรแผ่นดินคงจะมาเล่าอีกแน่ๆ

แล้วจะมาเยี่ยมใหม่นะคะ

สวัสดีครับ แผ่นดิน

  • ต้องเชื่อในศรัทธาที่มีอยู่ในหัวใจอย่างเต็มล้น ที่ได้กระทำให้เห็น
  • เป็นแบบอย่างของผู้จรรโลงไว้ ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งที่ยังฝังแน่น อยู่ในห้วงลึกแห่งจิต
  • ขอโมทนา สาธุ ๆ ๆ (3 ครั้ง) นะครับ ขอให้เดินทางกลับ อย่างสุข สงบ สบาย
  • ไม่เห็นชัดเจนว่าการเดินทางไป ใช้ยานพาหนะอะไร (รถม้า หรือเกวียน) ครับ

สวัสดีครับ

ผมมาช่วยเป็นกำลังใจครับ

ตอนนี้ผมกำลังฝึก รด.ที่ขอนแก่น

ขอให้ได้บุญมากๆนะครับ

ผมจะนำมาเป็นแบบอย่างครับ

  • อยากให้บอกเบอร์บัญชีค่ะจะได้โอนเงินตามกำลังศรัทธาไปช่วยพี่บ้าง ไง ๆ ก็เขียนบอกนะคะ แม้จะน้อยนิดแต่เชื่อว่าชาว blogger ทุกคนยินดีค่ะ
  • จะรอนะคะ
นายยุทธพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา

สวัสดีคับ พี่ นัส....... ตี๋ เอง คับ ผม เอาคลิป วีดีโอ มระมวลภาพ น้ำท่วม มาฝากคับตัดต่อเองคับ ไม่ดีเท่าไหร่ แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเข้ากลับเนื้อหาของพี่ใน บอร์ดนี้คับ ยังไง ก็ ลอง เปิดผ่าน URL เลย นะคับ http://video.mthai.com/player.php?id=11M1224148933M0

สั้นๆ คับ....3-5 นาที ประมวลภาพ และความรู้สึกของ ผู้ ร่วมบริจาค คับ ฝากไว้ด้วยคับ....

ยังไง ถ้า ไม่ถูกใจ หรือ มันรบกวน บอร์ด พี่แล้ว ก็ ลบได้เลยนะคับ

นิสิต ช่วยงาน ..........อิอิ

อ่านแล้วให้ความรู้สึกที่ดีมากๆเลยค่ะ เอาใจนำพา เอาศรัทธานำทางโดยไม่ต้องอธิบายอะไรอีก อยากให้คนไทยทุกคนกลับมาเป็นคนไทยเหมือนเดิมค่ะ

สวัสดีครับ คูณ สุนันทา

ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางอันยาวนาน   และวันที่ 9 - 10 พ.ย.นี้ก็คงได้ลงพื้นที่ไปร่วมกฐินโบราณด้วยตนเองอีกรอบ.

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท