บทเรียนจากความจริง กับ ดร.จีระ


เรียนรู้และแลกเปลี่ยนบทเรียนจากความจริง

สวัสดีครับชาว Blog

            วันนี้ผมเปิด Blog บทเรียนจากความจริง กับ ดร.จีระ ซึ่งผมเขียนคอลัมน์ประจำที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า ทุกวันเสาร์ หน้า 5 ในแต่ละสัปดาห์ผมจะวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นรอบตัวเราซึ่งจะเป็นบทเรียนจากความจริงที่จะได้นำมาคิด วิเคราะห์กันต่อไป ผมจึงขอนำมา Share กันที่นี่ด้วย และถ้าสนใจบทความย้อนหลังก็สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.naewna.com ครับ

จีระ หงส์ลดารมภ์

........................................................................................................................................................................

 

เอาใจช่วยนักกีฬาไทยที่ปักกิ่ง

 

            ผมเขียนบทความนี้ช่วงเช้าวันศุกร์ซึ่งอีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะมีพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง สื่อต่าง ๆ ทางวิทยุโทรทัศน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศประโคมข่าวกัน รายการวิทยุ Human Talk ทาง F.M. 96.5 MHz. ซึ่งผมจัดร่วมกับคุณจีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชษฐ ก็จะเน้นเรื่องโอลิมปิก พยายามนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์

olympic2008

 โอลิมปิก 2008 ที่ประเทศจีน

            คอลัมน์ "เรียนรู้จากกีฬา" ของผมที่สยามกีฬารายวัน (ทุกวันพุธ) และรายการ คิดเป็น..ก้าวเป็น กับ ดร.จีระ ทาง True Visions ช่อง 8 (TNN2) (ทุกวันพุธ เวลา 9.30 - 10.30 น. และ เวลา 22.00 - 23.00 น.) ก็คงเพิ่มมีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับโอลิมปิกด้วย

 

            ข่าวแรกที่น่าสนใจเกี่ยวกับโอลิมปิก คือ การเตรียมพิธีเปิด ดูเหมือนว่าประเทศจีนต้องการให้โลกรู้ว่า "ประเทศจีนและชาวจีน คือ ใคร และสำคัญอย่างไร?" จึงวางแผนการจัดโดยเน้นกีฬาคู่ไปกับทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital) ซึ่งผมพูดอยู่เสมอว่าในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ละประเทศจะต้องมีจุดที่เน้นมูลค่าหรือคุณค่าทางวัฒนธรรม และแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เพราะได้รู้ Heritage หรือรากเหง้าของตัวเอง

 

            จีนเชิญผู้นำจากโลกมาร่วมงานพิธีเปิดมากมาย ประธานาธิบดีบุชและภรรยาก็จะไปร่วมด้วย ในอดีตไม่เคยมีประธานาธิบดีของอเมริกาไปร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกนอกประเทศเลย จึงน่าสนใจว่าบุชมีเป้าหมายอะไร?

 

            ไทยเราก็มีผู้ใหญ่ไปร่วมงานกันอย่างคับคั่งสมเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ ก็เสด็จไปร่วมในพิธี นายกฯ สมัคร อดีตนายกฯ ทักษิณ ก็ไปร่วมด้วย

 

            สิ่งที่รัฐบาลจีนยังวิตกมาก คือ เรื่องการต่อต้าน ประท้วง และการก่อการร้าย ซึ่งเป็นจังหวะที่เกิดการคิดแบบสวนทาง (Paradox) ในอีกมุมหนึ่งจีนต้องการจะบอกว่า "ฉันพร้อมเป็นผู้นำของโลกในทุก ๆ เรื่อง" แต่อีกกลุ่มที่ไม่ชอบก็อ้างสาเหตุหลายข้อเพื่อไม่ให้จีนประสบความสำเร็จในระดับโลก เช่น

 * ทิเบต

 * กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเป็นชนกลุ่มน้อยในจีน

 * คนในโลกที่เน้นสิทธิมนุษยชน (Human rights)

            การจัดโอลิมปิกครั้งนี้จึงมีความเสี่ยงมาก ถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงจะดังไปทั่วโลก ซึ่งจะทำให้จีนเสียหน้า จึงต้องบริหารและป้องกันความเสี่ยงกันแบบที่สุด ก็คงต้องดูกันต่อไป ไม่มีใครทายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

 

            สำหรับชาวไทย มี 2 ประเด็นที่ควรจะพิจารณา คือ

            * โอกาสที่ไทยจะจัดโอลิมปิกในอนาคตนั้นมีหรือไม่? ในเอเชีย ประเทศชั้นนำอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น และจีนก็ได้จัดไปแล้ว ไทยจะได้ขึ้นชั้นผู้นำเอเชียและได้จัดหรือเปล่าก็ต้องคิดให้ดี อีก 8 ปีข้างหน้าก็หมดหวังเพราะปี 2012 คือ London แม้ว่า ปี 2016 ยังไม่รู้ว่าใครจะได้จัดแต่ก็ไม่มีประเทศไทยอยู่ใน List และปี 2020 ก็คงไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ดี ผมก็ยังมีความหวัง รัฐบาลไทยเก่งระยะสั้น ไม่เก่งการวางแผนระยะยาว หลาย ๆ เรื่องจึงขาดการฉกฉวยโอกาสที่เหมาะสม

 

* อีกเรื่องหนึ่งก็คือ นักกีฬาไทยพร้อมที่จะได้กี่เหรียญ เหรียญทองเท่าไหร่ ผลเท่ากับครั้งที่แล้วหรือไม่ ได้มากกว่าหรือน้อยกว่า ผมคิดว่าหากคนไทยไม่คาดหวังสูงนักก็จะดี เพราะว่าแต่ละประเทศเตรียมตัวมาดี อย่างเช่น มวยสากลเราก็หวังว่าจะได้เหรียญทอง แต่คู่แข่งก็มากมายและเตรียมพร้อมมาอย่างดี ยกน้ำหนักและเทควันโดก็คงพอจะหวังได้ แต่อย่างที่สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ ทรงให้กำลังใจนักกีฬา "ทำให้ดีที่สุด" และผมก็ขอส่งกำลังใจให้นักกีฬาทุกคน

 

            ท่านสามารถอ่านบทความย้อนหลังได้ทางเว็บไซต์ของแนวหน้าได้อีกทาง คือ www.naewna.com เป็นประโยชน์มากเพราะเว็บของแนวหน้าอ่านง่าย

 

            บทความของผมซึ่งใช้ประกอบการสอนหนังสือด้วย นักศึกษาหลายคนที่ได้อ่านบอกว่าได้ประโยชน์มากเพราะเป็นความรู้ที่สดและตรงประเด็น อย่างเรื่องผู้นำ 8 ประการของ Nelson Mandela ได้นำมาให้กลุ่มข้าราชการ C 5 - 6 วิเคราะห์ ทุกคนบอกว่าได้ความรู้เป็นประโยชน์มาก ผมได้แปลบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษเกือบทุกอาทิตย์ ส่งไปตามสถานทูตต่าง ๆ ซึ่งผมทำงานในนามมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ ซึ่งได้ประโยชน์ต่อชาวต่างประเทศที่สนใจข้อเขียนของผมอีกกลุ่มหนึ่ง

 

            แต่มีอีก 1 วิธี คือ จะขึ้น Blog ใหม่ ๆ ทุกอาทิตย์ ชื่อ บทเรียนจากความจริง กับ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ จะให้สมาชิกที่อ่าน Blog ของผมได้มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์เพิ่มเติมด้วย

 

            ท่านผู้อ่านถ้า มี Feedback ที่ดี เราก็จะตอบใน Blog หรือนำเสนอในบทความซึ่งได้ทำสำเร็จเหมือน Blog "เรียนรู้จากกีฬา" บทความในแนวหน้ามีผู้อ่านประจำอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้สร้างชุมชนการเรียนรู้ทาง Blog และยังไม่ได้ Interact กันอย่างเป็นรูปธรรม ก็ขอเชิญท่านผู้อ่านที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นกับเราได้

 

            เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมภูมิใจมากที่ครูใหญ่โรงเรียนประถมฯ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์มาว่าเป็นลูกศิษย์ของผมทาง Blog มานาน ปรึกษาว่าจะประยุกต์ใช้ทฤษฎี 4 L's หรือ 8K's ในการทำงานของเขาได้อย่างไร? ผมก็ได้อธิบายไป ผมอยากให้ Blog มีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปมากขึ้น ผมต้องการออกไปหา "Outreach"คนไทยในมุมกว้าง และถ้ารู้ว่ามีคนไทยจำนวนมากได้รับประโยชน์ ผมจะมีความสุขมาก

 

            ตอนนี้ระบบที่กำลังมาแรงก็คือ ระบบ Blog Buddy ซึ่งผมคิดว่าผมทำสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ใครที่เป็นลูกศิษย์ผมโดยตรงต้องกระจายข้อมูลไปให้แก่เพื่อน ๆ นอกวงการให้ได้

 

            ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ โครงการปริญญาเอกหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผมขอให้ทำคล้าย ๆ Branding แนวคิดของผม เรื่องการสร้างความรู้และวิธีการเรียนไปให้แก่นักเรียนปริญญาตรีในคณะต่าง ๆ ในมุมกว้าง เช่น วิธีการเรียนในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ถ้าไม่กระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมคิดและสนใจ ประเทศก็จะมีแต่ทุนมนุษย์ที่ขาดทุนทางปัญญา แล้วสังคมในอนาคตจะอยู่อย่างไร? เพื่อนผมเป็นนักธุรกิจอินเดียบอกว่า คนไทย ถ้าคิดก็คือแค่ตัวเองหรือว่าฉันได้อะไร คิดอิจฉาคนอื่น แต่คนอินเดียคิดไกลและคิดเป็นยุทธศาสตร์

 

            ผมคิดว่าอย่าว่าแต่อินเดียเลย แม้แต่คนเขมรก็คิดลึกกว่าเรา เขาวางแผนเรื่องเขาพระวิหาร เขามียุทธศาสตร์ที่เหนือกว่าไทยครับ

 

            สุดท้าย ขอขอบคุณคุณอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และคุณจันทร์ธิดา มีเดช เลขานุการกรมฯ ที่มอบหมายให้ผมและทีมงานจัดหลักสูตร Talent Capital Development ให้แก่ข้าราชการรุ่นใหม่ที่อายุไม่เกิน 40 ปี ผมภูมิใจมากเพราะได้ปลูกฝังผู้นำตั้งแต่รุ่นเด็ก ๆ

1234

บรรยากาศพิธีเปิดหลักสูตรพัฒนาทุนทางความรู้ ทักษะ และทัศนคติของบุคลากรในสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) (Talented Capital Development Program) ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งคุณจันทร์สุดา มีเดช เลขานุการกรมฯ และคณะผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 50 คน ณ ห้องประชุมศรีปลั่ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2551

จีระ หงส์ลดารมภ์

e-mail: [email protected]

www.chiraacademy.com

คำสำคัญ (Tags): #บทเรียน
หมายเลขบันทึก: 199749เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2008 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

ผมเพิ่งดูพิธีเปิดโอลิมปิกจบไปในไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา

อลังการและได้เห็นทุนทางวัฒนธรรมของประเทศจีนชัดเจนมาก

น่าหนักใจแทนประเทศถัด ๆ ไปที่จัดโอลิมปิก

คงจะถูกเปรียบเทียบกับโอลิมปิกปีนี้มากมาย เพราะจีนทำได้สมบูรณ์มาก

สวัสดีครับ อาจารย์

กว่าที่ผมจะมาร่วมแสดงความคิดเห็น

ประเทศไทยก็ได้เหรียญทองแรกแล้ว จากกีฬายกน้ำหนัก

ดีใจด้วยจริงๆ ที่ประเทศเรายังมีคนเก่งๆรุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ

เป็นเพราะเขาหมั่นพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จทั้งแก่ตนเองและประเทศชาติ ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า คนเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดจริงๆครับ

นายอานนท์ จิตอุทัย

กราบเรียนท่านศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ และสวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

                                                          

                                                            แวะมาเยี่ยม เวียนมาชมบทเรียนจากความจริงกับ ดร.จีระ

 

                              ผมมีโอกาสแวะเข้ามาเยี่ยมชม Blog บทเรียนจากความจริงกับ ดร.จีระเป็นครั้งแรก ผ่านทาง Blog แห่งนี้ โดยปกติผมจะได้รับบทเรียนจากความจริงกับดร.จีระ เป็นเอกสารให้เพื่ออ่านในห้องเรียนปริญญาเอกอยู่แล้วครับ ซึ่งท่านดร.จีระเป็นอาจารย์ที่ผมเคารพ และอดที่จะชื่นชมในความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ หรือจะเรียกว่าทุนมนุษย์ในตัวของท่านอาจารย์มิได้ ผมขอส่งกำลังใจให้ท่านอาจารย์ดร.จีระ ในการสร้างสรรค์ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ สดๆ ให้เป็นแหล่งชุมชนเรียนรู้ออนไลน์ ที่มีการแชร์ความรู้ ความคิด ความเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่สังคมฐานความรู้ หรือสังคมแห่งการเรียนรู้ครับ

                              วันนี้ผมคงยังไม่มีอะไรมาแลกเปลี่ยนผ่านทาง Blog แห่งนี้ ผมเพียงแวะมาเยี่ยม ผมได้แหล่งเรียนรู้ใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแหล่งที่ผมจะได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ในเรื่องของสถานการณ์โดยทั่วไปของบ้านเมืองเรา ที่ทางท่านอาจารย์ดร.จีระจะได้แสดงความคิดความเห็นต่อบ้านเมืองนี้ ผ่านทางบทเรียนจากความจริงกับ ดร.จีระ และผู้สนใจท่านอื่นๆ ผ่านทาง Blog แห่งนี้ ผมจะหมั่นเวียนมาชมบ่อยๆ และโอกาสหน้าผมจะขอแชร์ความรู้ด้วยคนครับ...

 

 

                                                                                                                      ขอบคุณครับ

                                                                                                             นายอานนท์  จิตอุทัย

                                                                                         นักศึกษาปริญญาเอก Ph.D. รุ่น 2 (นวัตกรรมการจัดการ)

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2551

Medevev สอบไม่ผ่าน

 

Blog ของผม บทเรียนจากความจริง ดร.จีระ  กับแนวหน้า เริ่มเปิดตัวไปครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่เริ่มให้ความสนใจ สร้างชุมชน Blog ของผมขึ้นมาอีก 1 เรื่อง   ถ้าย้อนกลับไปกว่า 5-10 ปี จะเห็นผลงานของผมทุกอาทิตย์และนำมาใช้ประโยชน์ได้  ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม ที่ผมเขียนมี rating 55 คน และในจำนวนนี้ มี 3 ท่านได้ส่ง ข้อความมา  ผมก็เลยจะสรุปให้ดูว่าคุณ PC  คุณศุภกรณ์ และคุณอานนท์ พูดว่าอย่างไร

คุณ PC เขียนว่า:

ผมเพิ่งดูพิธีเปิดโอลิมปิกจบไปในไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา   อลังการและได้เห็นทุนทางวัฒนธรรมของประเทศจีนชัดเจนมาก    น่าหนักใจแทนประเทศถัด ๆ ไปที่จัดโอลิมปิก   คงจะถูกเปรียบเทียบกับโอลิมปิกปีนี้มากมาย เพราะจีนทำได้สมบูรณ์มาก

คุณศุภกรณ์ เขียนว่า:

 กว่าที่ผมจะมาร่วมแสดงความคิดเห็น   ประเทศไทยก็ได้เหรียญทองแรกแล้ว จากกีฬายกน้ำหนัก

ดีใจด้วยจริงๆ ที่ประเทศเรายังมีคนเก่งๆรุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ   เป็นเพราะเขาหมั่นพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จทั้งแก่ตนเองและประเทศชาติ ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า คนเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดจริงๆครับ

คุณอานนท์ เขียนว่า:

ผมมีโอกาสแวะเข้ามาเยี่ยมชม Blog บทเรียนจากความจริงกับ ดร.จีระเป็นครั้งแรก ผ่านทาง Blog แห่งนี้ โดยปกติผมจะได้รับ เป็นเอกสารเพื่ออ่านในห้องเรียนปริญญาเอกอยู่แล้ว ซึ่งดร.จีระเป็นอาจารย์ที่ผมเคารพ และอดที่จะชื่นชมในความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ หรือจะเรียกว่าทุนมนุษย์ในตัวของท่านอาจารย์มิได้ ผมขอส่งกำลังใจให้อาจารย์ดร.จีระ ในการสร้างสรรค์ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ สดๆ ให้เป็นแหล่งชุมชนเรียนรู้ออนไลน์ ที่มีการแชร์ความรู้ ความคิด ความเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่สังคมฐานความรู้ หรือสังคมแห่งการเรียนรู้ครับ

ผมหวังว่า  rating ของผมในอาทิตย์หน้า คงจะสูงกว่าอาทิตย์แรก เราจะต้องดู feedback ของท่านผู้อ่านด้วย ความจริง Web ของแนวหน้า ก็มีคนอ่านมากอยู่แล้ว

อ่านจากข้อความของคุณ PC  เน้นทุนทางวัฒนธรรม  ต้องขอชมเชยที่สนใจทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันออก ที่ไปมีอิทธิพลต่อตะวันตกมากขึ้น คุณ PC ครับ ผ่านไป 5-6 วันที่โอลิมปิก ยังไม่มีอะไรน่าวิตกแบบตูมตามนะครับ คงต้องดูกันต่อไป คุณPC ช่วยเชิญเพื่อน ๆ ที่สนใจ โดยเฉพาะครูที่ใช้ Internet เป็น เข้ามาร่วมด้วยจะดี  เด็กจะได้มีความรู้ที่กว้าง  คุณศุภกรณ์ก็แสดงความยินดีกับเหรียญทองยกน้ำหนักของคุณ เก๋ ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล   ด้วย ถ้าไทยไม่ได้เหรียญทองเหรียญแรกเร็ว คนไทยคงเซ็งพอควร นี่ก็รอลุ้นว่า ทองที่สองจะเป็นเหรียญอะไร ผมคิดว่ามวยครับ อย่างน้อย ส่ง 8 รุ่น  ได้สัก 2 เหรียญทองก็คงจะดีใจกันมาก

คุณอานนท์ ลูกศิษย์ผม ขนาดยังไม่ได้ส่งข้อมูลมามาก ก็ยังแอบมีคำคม ๆ เช่น ข้อมูลที่สด และทันสมัย และชุมชน online (ชอบ) ครับ ผมคงต้องอดทน เพราะกว่าจะให้ฐานลูกค้า เรากว้างขึ้น และสำคัญ เข้ามาดูกันมาก ผมต้องการ feedback ครับ

ความจริงต้องขอขอบคุณ แนวหน้า ที่ยืนหยัดกับผมมาตลอด จนเกิดชุมชนทาง Internet

สัปดาห์นี้ยังมีบรรยากาศของกีฬาโอลิมปิกเข้มข้นมากขึ้นดูเหมือนว่าจีนคอยคุมสถานการณ์ได้ดี และความมุ่งมั่นที่จะชนะที่หนึ่งเหรียญทอง น่าจะเป็นไปได้เพราะขณะที่ผมเขียนอยู่ก็นำอเมริกาอยู่หลายเหรียญทอง เขาทุ่มเทมาก

แต่อาทิตย์นี้ถ้าไม่พูดเรื่องการเมืองคงไม่ได้ เรื่องใหญ่ที่สุด ก็คือ เรื่องครอบครัวคุณทักษิณไปอยู่กันที่อังกฤษยังมีควันหลงสร้างภาพออกมาว่าสบายดีไม่วิตกอะไร  แถมยังมีแถลงการณ์ส่วนตัวถึงคนไทย

เหตุการณ์การเมืองหลังทักษิณไปอังกฤษ ยังไม่นิ่งหรอกครับ  เพราะไม่ว่าคุณทักษิณจะพูดให้พวกเราฟังกี่ครั้งว่าไม่ยุ่งการเมืองแล้ว แต่จริง ๆ ยังมีส่วนร่วม และมีความสำคัญอยู่ตลอด  โดยเฉพาะที่ท่านเขียนว่า  วันนี้ยังไม่ใช่วันของผม  วันหนึ่งผมจะกลับมา ผู้สนับสนุนผมอดทนหน่อย  ซึ่งก็แสดงว่าการถอยครั้งนี้เป็นการถอยเพื่อตั้งหลัก และถอยเพื่อความอยู่รอดระยะสั้น  ซึ่งนี่แหละ ถ้าคนไทยเข้าใจก็คือ ตัวตนที่แท้จริงของคุณทักษิณ  ซึ่งไม่ว่าจะมีความบอบช้ำอย่างไรก็คงสู้ต่อเพราะท่านผ่านโลกความเจ็บปวดมาก เพียงแต่พลังที่ยิ่งใหญ่ของท่านไม่ได้สู้เพื่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างจริงใจ แต่สู้เพื่อความยิ่งใหญ่ของครอบครัว และพวกพ้องมากว่า  การเมืองก็ต้องดูกันต่อไป

บทเรียนครั้งนี้สอนให้คนไทยต้องคิดเป็น วิเคราะห์เป็นและเรียนรู้ และติดตามดูประเทศของเราจะไปทางไหน

ผลกระทบต่อการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร   คงไม่มีใครทายได้ แต่แน่ ๆ ก็คือ โผทหารที่จะคลอดก็คงทำให้นายกสมัคร และผู้นำ 3 เหล่าทัพ จัดได้สะดวก ขึ้น

อีกมุมหนึ่งที่พูดกันมาก ก็คือ หลังจากงบประมาณผ่านสภาไปแล้ว มีแนวโน้มว่า จะมีการล้างไพ่กันใหม่  อาจจะดูว่าจะจับขั้วใหม่กันอย่างไร

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดูเหมือนว่า บารมีคุณสมัครดูดีขึ้น ประสบการณ์ทางการเมืองที่สะสมไว้นาน ทำให้ท่านแก้เกมส์การเมืองแบบไทยได้ดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์พอควร เช่น การเน้นการเฉลิมฉลองจากวันแม่ไปสู่วันพ่อ 100 กว่าวัน ก็มีกิจกรรมเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ซึ่งจะทำให้คนไทยมีความสามัคคีมากขึ้นและดูจะช่วยการเมืองสงบอย่างดี

ต่อไปก็จะพูดถึงผู้นำระดับนานาชาติที่ผมเฝ้ามอง ซึ่งผมมักจะให้นักศึกษาปริญญาเอกของผม วิเคราะห์ผู้นำระหว่าง Medevev กับ Putin เสมอ การที่รัสเซียบุกขยี้จอร์เจียแบบมันมือครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า Putin  ยังคุมอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ เพราะตามปกติ ประธานาธิบดีควรจัดการเรื่องนโยบายระหว่างประเทศ แต่คราวนี้ดูเหมือน Putin จัดการเองในฐานะนายกรัฐมนตรี  เลยสรุปว่า Medevev ยังสอบไม่ผ่านครั้งแรก ยังไม่ได้แสดงเป็นผู้นำที่เน้นสันติภาพ หรือการประนีประนอม ปล่อยให้ Putin ว่าไปคนเดียว เลยให้สอบตกสำหรับการแก้ปัญหาจอร์เจียเพราะประเทศจอร์เจีย เป็นประเทศที่ฝักใฝ่ตะวันตก แต่พรมแดนติดรัสเซีย ทำให้ Putin โกรธแค้นเป็นพิเศษ

คล้าย ๆ ว่าถ้ารัสเซีย ไปให้ท้ายกับรัฐฮาวาย (Hawaii) ตีท้ายครัวอเมริกัน อเมริกันก็คงไม่ยอม

            สุดท้าย ขอเน้น 3 แนวคิดที่เชื่อมกันเพื่อนำไปปฏิบัติสำหรับภาครัฐ  ภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจ ก็คือ

1.      ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

2.      นวัตกรรม (Innovation)

3.      จิตวิญญาณผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

 

            เรื่อง Creativity กับ Innovation  ผมพูดหลายครั้งแล้ว สำคัญ แต่ต้องมีภาวะผู้ประกอบการด้วย และวันนี้  รู้ว่า 2 แนวคิด ยังไม่พอ จะต้องเสริมด้วย จิตวิญญาณผู้ประกอบการด้วย คืออะไร มีทฤษฎีเป็นพัน ๆ แนวที่เถียงกัน ผมเลยเลือกประสบการณ์ของเพื่อนผมที่ผมรู้จัก เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาให้ผมแปลหนังสือเขาเล่มแรก ชื่อว่าผู้ประกอบการ เขียนโดยคุณ Bill Heinecke ผมลองเลือกแค่ 10 ข้อที่ Bill พูดไว้  เขานำมาทำเลย แล้วสำเร็จในธุรกิจของเขาอย่างมาก ผู้อ่านลองไปทำดูว่าเหมาะสมที่จะนำไปปฏิบัติหรือไม่

-          เห็นช่องว่าง และถมให้เต็ม

-          ทำอะไรต้องทำการบ้านให้ครบถ้วน อย่าทำธุรกิจด้วยอารมณ์

-          สนุกกับงานที่ทำ อย่าทำแบบเครียด และอย่าบ้าแต่กำไร กำไร

-          ทำงานฉลาดต้องใช้สมองคนอื่นช่วย

-          เป้าหมายให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตัวเอง หรือองค์กร

-          ไปให้ถึงขอบฟ้าให้ได้ คือทะเยอทะยาน คิดไกล คิดใหญ่

-          มีภาวะผู้นำ

-          อดทน บริหารความล้มเหลวให้มาเป็นบทเรียน

-          พร้อมจะเปลี่ยนแปลง (Change)

-          สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

หวังว่าผู้อ่านคงจะเอา 3 แนว Creativity, Innovation และภาวะผู้ประกอบการณ์ ไปสร้างให้เกิดประโยชน์ แล้วนำไปทำ พบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ

medevev

                               Medevev ,Russian President

putin

                                 Vladimir Putin

จีระ หงส์ลดารมภ์

 

E-mail : [email protected]

Website : www.chiraacademy.com

Blog : www.gotoknow.org/blog/chiraacademy

www.gotoknow.org/blog/chirakm

 

ถ้าผมเป็นนักเรียนเก่าโยธินบูรณะผมไม่ยอมเด็ดขาด

 

            ขอบคุณทุกท่านที่กรุณาติดตาม บทเรียนจากความจริง ใน Blog ของผมที่ www.gotoknow.org/blog/chiraacademy และ www.gotoknow.org/blog/chirakm

นอกจาก website ของแนวหน้าแล้ว ผมหวังว่า Blog คงจะเป็นประโยชน์ อ่านเฉย ๆ ไม่พอต้องส่งความคิดเห็นมาด้วย เพราะสังคมการเรียนรู้ที่ดีต้องเรียน 2 ทางไม่ใช่ทางเดียว

            มีข่าวที่น่าปลื้มปิติก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่รักของเราได้ทรงมีพระราชดำรัสต่อคณะผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย นำโดย ดร.ธาริษา วัฒนเกส เรื่อง บทบาทของธนาคารชาติ เน้น:

§       รักษาวินัยทางการเงิน อย่าใช้เกินตัว (เศรษฐกิจพอเพียง)

§       รักษาความเป็นอิสระไว้ในนานที่สุด

            ผมจำได้ว่าสมัยพ่อผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ อย่าว่าแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มาแทรกแซงงานของธนาคารชาติ แม้แต่นายกรัฐมนตรี ชื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยังให้อาจารย์ป๋วยดูแลอย่างมีอิสระ และมีความแข็งแกร่ง และมรดกทางความคิดดังกล่าวมีส่วนช่วยให้การเงินและการคลังของประเทศสามารถอยู่รอดในระยะยาว สร้างทุนทางความยั่งยืน หมายความว่าสิ่งที่อาจารย์ป๋วยได้สร้างไว้มิได้ทำลายความน่าเชื่อถือของคนต่อธนาคารชาติในระยะยาว แต่ในทางตรงกันข้ามกับสร้างความเป็นอิสระไว้ และเป็นที่พึงของประชาชน

            ที่น่าสนใจ ก็คือ รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลังพยายามที่จะเข้ามามีบทบาททางนโยบายการเงินเหนือธนาคารชาติ ซึ่งจะเกิดอันตรายเพราะรัฐบาลยุคปัจจุบันมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มองโครงการใหญ่ ๆ มาเพื่อสร้างคะแนนนิยมอยู่เสมอ จึงเป็นที่วิตกของคนไทยที่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ดีอย่างน้อย 2 เรื่อง

§       การบริหารและดูแลกองทุนสำรองซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวนมาก ประมาณกว่า 103.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ  ยุครัฐบาลนายกฯ ทักษิณ และรัฐบาลปัจจุบันฉลาดในนโยบายต่าง ๆ เพราะมีความสามารถในการบริหารนอกกรอบ เล่นแร่แปรธาตุเสมอ อะไรที่เป็นทรัพยากรของชาติ ก็นำการเมืองมาใช้ ประโยชน์โดยมากก็จะเน้นโครงการใหญ่ ๆ (Mega Project) เพื่อประชานิยม

                  มีหลายคนบอกผมว่าการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันมีความมุ่งมั่นที่จะตั้ง      คณะกรรมการธนาคารชาติโดยไม่ฟังเสียงใคร ก็อาจจะเป็นยุทธวิธีแรกที่จะเข้าไปมีส่วนบริหาร        กองทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งต้องดูกันต่อไป

§       ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นห่วง คือ นโยบายการขยายตัวของการใช้จ่ายเกินตัว โดยเฉพาะทำงบประมาณแผ่นดินขาดดุล ซึ่งถึงแม้ว่ารายรับจะมากขึ้น แต่การขาดดุลมาก ๆ กว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว ก็จะสร้างปัญหาในอนาคตได้ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลจะวิตกคะแนนเสียงของคนทุกระดับแทนที่จะช่วยคนจนอย่างเดียว กลับมาลดภาษีสรรพสามิตช่วยคนชั้นกลางและสูง ทำให้ใช้น้ำมันราคาถูกเกินความจริง ทั้ง ๆ ที่ราคาน้ำมันโลกลดลงมากจาก 147 มาอยู่ประมาณ 115 – 120 ดอลล่าร์ต่อบาเรล ผมไม่ประทับใจวิธีการแบบนี้ เพราะทำให้นิสัยคนไทยเคยชินกับการใช้ของถูกและไม่ประหยัดทรัพยากร  

            แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติและผู้บริหารก็คงจะต้องปรับคุณภาพของทุนมนุษย์ของธนาคารชาติซึ่งเป็นนักเรียนทุนมากมาย และผมพูดไว้ว่าระดับรองผู้ว่าฯ เกือบทุกคนเป็นลูกศิษย์ของผมที่ธรรมศาสตร์ การพัฒนาทุนมนุษย์ก็คือ

§       Core Competency (สมรรถนะหลักหรือแก่น) เรื่องการเงิน เศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะต้องทำต่อไป

§       แต่ควรจะมองไปถึง Competency เรื่องอื่น ๆ เช่น

§       Functional Competency ซึ่งอาจจะหมายถึงความรู้ และทัศนคติ หรือการปรับ Mindset

§       Organizational Competency คือ สมรรถนะที่จะอยู่ร่วมกับองค์กร เช่น วัฒนธรรมองค์กร การทำงานเป็นทีม หรือการบริหารความขัดแย้งและการเจรจาต่อรอง

§       และสุดท้ายก็คือ ให้ความเข้าใจถึงนโยบายการเงินที่กระทบต่อสังคมระดับรากหญ้าด้วย เพื่อให้พันธมิตรของธนาคารชาติขยายตัวและเกิดพลังที่แท้จริง

      ประเด็นที่สองที่จะพูดวันนี้ คือ เรื่อง การสร้างที่ตั้งแห่งใหม่ของสภาฯ ซึ่งท่านนายกฯ สมัครก็ได้แสดงภาวะผู้นำได้ดี คือ กล้าตัดสินใจ แต่ผมคิดว่าความกล้ากับการกล้าที่มีการตัดสินใจ (Judgment) ที่เป็นที่ยอมรับของสังคมจะไม่เหมือนกัน

      และยิ่งไปกว่านั้น ยังย้ายโรงเรียนโยธินบูรณะออกไป ถึงแม้ว่าจะบอกว่ามีเงินให้สร้างใหม่แล้วไม่พอใจอีกหรือ?

nn23.8.08_1

            

กลุ่มนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะยืนถือป้ายประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการไม่ยอมให้รัฐบาลใช้สถานที่ของทางโรงเรียนก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ (ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Post)

 

             ท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับ โรงเรียนเก่าของใคร ๆ ก็รัก ผมแปลกใจที่ไม่มีนักเรียนเก่าของโยธินบูรณะกล้าออกมาพูดบ้าง ลองนึกเล่น ๆ ว่า หากมาย้ายโรงเรียนเทพศิรินทร์ของผม เรื่องใหญ่แน่นอน หรือลองคิดเล่น ๆ ว่า คุณสมัครจะย้ายเซนต์คาเบรียลของท่านหรือไปแตะสวนกุหลาบดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม  คงต้องให้กำลังใจน้อง ๆ โยธินฯ ต่อไปว่า ต้องรักษาและหวงโรงเรียนเก่าของเราไว้ ให้มากที่สุด

            ก่อนจบ ผมมีหนังสือดีมาให้พิจารณา

nn23.8.08_2

หนังสือ เรื่อง the new age of Innovation แต่งโดย C.K. Prahalad และ M.S. Krishn

 

§       เรื่องแรก คือ ผมได้รับหนังสือดี ๆ จาก Mc Graw-Hill เสมอ เพื่อมาแนะนำให้แฟนรายการโทรทัศน์ หนังสือเล่มล่าสุด เขียนโดย C.K. Prahalad เกี่ยวกับ Innovation หนังสือเล่มนี้เป็นการวิจัยในตะวันตก แต่ก็มีประโยชน์ต่อคนไทยในหลาย ๆ เรื่อง เช่น

 

                                   ทฤษฎี  N=1, R=G

หมายความว่า Ideas ใหม่ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากองค์กรภายในเท่านั้นแต่เกิดมาจากลูกค้า และไม่ใช่หลาย ๆ ลูกค้า เช่น อาจจะมีลูกค้า 1 คนเท่านั้นที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้า การบริการ หรือการดูแลลูกค้า การบริหารจัดการ  ต้องเป็นสิ่งที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ องค์กรต้องนำมาปฏิบัติ และทำงานคู่กัน  พันธมิตรกัน แต่ Prahalad เรียกว่า Co-Creator คือ คู่คิด ด้วยระบบ Buddy ที่ผมทำอยู่

และอีกแนวหนึ่งก็คือ R=G สิ่งเหล่านี้ดีสำหรับคนไทย G อาจจะถูกมองว่า ระดับระหว่างประเทศ แต่สำหรับผม G คือ ทรัพยากรที่อยู่นอกองค์กรของเรา และเราควรจะนำมาใช้  และอาจจะเชื่อมโยงกับต่างประเทศ Prahalad บอกว่า ทำได้ ในระดับต่างประเทศ เพราะเรามี IT ที่เชื่อมโยงโลกได้ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ คนไทยส่วนมากจะมอง  Inword  looking คือมองข้างใน แต่ไม่ชอบมองข้างนอก เพราะอ่านหนังสือน้อย ขาด Networking ครับ

 

จีระ หงส์ลดารมภ์

ผมไม่ประสงค์จะออกนาม ( จากมหาสารคาม )

      ผมมีโอกาสได้อ่านบทความในแนวหน้าครั้งแรก  ต้องยอมรับว่าผู้ร่วมหลายๆคน ต้องไม่เคยเปิดอ่านดูใน Blog หรือใน Web ของแนวหน้า

      ผมขอชมเชยเรื่องบทบาทของ ดร.ป๋วย ในอดีตและรักษาความเป็นอิสระของธนาคารชาติไว้ ชอบไอเดียอาจารย์ที่ให้คนแบงค์ชาติกว้างข้ามศาสตร์มองชนบทด้วยและเชียร์อาจารย์เรื่องไม่ย้ายโรงเรียนโยธินครับ พวกเราชาวมหาสารคามจะสนับสนุนบทความดีๆครับ เมื่อไหร่จะมาที่มหาสารคามครับ

ผมได้อ่านบทความบทเรียนจากความจริงของวันเสาร์ที่ 23 แล้ว ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ทั้ง 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก ไม่ควรจะสร้างสภาฯ ใหม่โดยใช้ที่โยธินบูรณะและเรื่องพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวให้ระมัดระวังการแทรกแซงธนาคารชาติ

ผมขอเสนอว่าใน Blog ควรจะมีการให้รายระเอียดของผู้อ่านเพิ่มเติมจากข้อมูลเช่น ย้ายโยธินบูรณะมีข้อดีข้อเสียอะไรเป็นข้อมูลและเรื่องรายระเอียดธนาคารชาติว่าอิสระแปลว่าอะไร

ผมกำลังจสร้าง Blog Buddy ให้เพิ่มมากขึ้น อยากให้กำลังใจอาจารย์ที่ทำหน้าที่นักรบ

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

ผมชอบแนวคิดของคุณสุทธิศักดิ์ เรื่องแบงค์ชาติ อยากให้คุณสร้อยสุคนธ์ลูกศิษย์ปริญญาเอก ช่วยให้ข้อมมูลเพิ่มเติมว่า อิสระแปลว่าอะไร

นายศรายุทธ ยิ้มอยู่

ผมติดตามอ่าน Blog ของอาจารย์ขอยอมรับว่าได้ประโยชน์ในหลายๆ เรื่อง เป็นความรู้ใหม่ๆ ที่นำไปเป็นแนวทางในการปฎิบัติได้ในหลาย ๆ เรื่อง ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ จีระ ที่ท่านได้นำสิ่งดี ๆ มาเป็นแนวทางในการเพิ่มความรู้ ผมคิดว่า Blog ของอาจารย์นี้เปรียบได้กับห้องสมุดดีๆ ห้องหนึ่งเลยครับ

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2551

ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง

แต่อยากรู้ความจริงที่ NBT

            เช้าวันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2551 ทุกคนก็รู้กันว่าพันธมิตรมีแผนปฏิบัติการ ไทยคู่ฟ้า ผมก็กำลังเฝ้ามองอยู่ว่า อะไรจะเกิดขึ้นไม่ได้ตกใจอะไรมากนัก เพราะรู้อยู่แล้วว่าการเมืองไทยก็คงจะเป็นแบบนี้

§       การเมืองแบบรัฐสภาฯ

§       การเมืองภาคประชาชน

      ผมอดชมเชยในความอดทนของพันธมิตรที่ต่อสู้อย่างสันติวิธีมาโดยตลอด และยิ่งไปกว่านั้น คือ การขยายวงพันธมิตรไปตามจังหวัดต่าง ๆ ให้ความรู้กับประชาชน  แต่สิ่งที่ไม่ชอบ คือ บางครั้งการใช้คำพูดที่รุนแรงในการปราศรัย การออกอากาศทาง ASTV แต่ก็สร้าง พลัง ได้ดีเป็นการเปิดหูเปิดตาประชาชนอย่างมาก

      แต่เมื่อประมาณตีห้ากว่า ผมเปิดดูข่าวเห็นเหตุการณ์ที่ NBT ทำให้ผมประหลาดใจมาก ที่ชายฉกรรจ์กว่า 80 คน มีอาวุธใช้ความรุนแรงบุกเข้าไปทำท่าจะยึด NBT แต่ลึก ๆ ผมอดคิดไม่ได้ว่าความจริงคืออะไร เพราะดูเหมือนว่าทางฝ่าย NBT มีการเตรียมพร้อม และมีกล้องโทรทัศน์หลายตัวที่ถ่ายตามอย่างละเอียด แต่เมื่อตำรวจได้แจ้งว่ามีการจับกุม มีอาวุธปืนหลายกระบอก ถ้าเป็นความจริงอย่างที่เป็นข่าวก็น่าเสียดายที่กลุ่มพันธมิตรที่เคยรักษาความดีและแสดงความเห็นต่อสู้กับรัฐบาลแบบสันติมาโดยตลอด

      เหตุการณ์ผ่านไปสักพักหนึ่งมีหลายคนบอกผมว่าคงจะต้องพิสูจน์กันให้ชัดว่า อะไรเกิดขึ้น ยิ่งในระหว่างที่ผมกำลังเขียนบทความช่วงเช้าวันพฤหัสบดี รายการจมูกมด ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 ซึ่งเป็นรายการที่น่าสนใจตรงที่ว่าพิธีกรแต่ละคนมีจุดยืนที่ไม่เหมือนกัน และเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสังคม โดยเฉพาะคุณหว่อง พิสิษฐ์ กีรติการกุล ได้พูดในรายการว่ามีข่าวลือมากมายว่าเป็น การจัดฉากที่ NBT” ทำให้ผมและสังคมไทยเลยต้องค้นหาความจริงต่อไปว่าอะไรเกิดขึ้น

      อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ทางการเมืองคงจะดำเนินต่อไปแต่ขอให้ใช้วิธีการที่ปราศจากความรุนแรง หวังว่าภายใน 2 – 3 วันเหตุการณ์ที่หลายคนวิตกว่าจะรุนแรงคงมีทางที่จะประนีประนอม เพราะในประวัติศาสตร์ของไทยเมื่อมีวิกฤตก็ต้องมีโอกาส ต้องพยายามหาทางออกให้ได้

      ผมเลยขอเน้นว่าสังคมไทยปัจจุบันคงต้องใช้สติปัญญามีเหตุผลแก้ปัญหา และหันมาหาทางลดความขัดแย้งให้ได้

      อีกประเด็นที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ การที่คนไทยคิดเป็น วิเคราะห์เป็น และเป็นสังคมการเรียนรู้ สังคมไทยคงจะดีขึ้น ต้องพัฒนาการศึกษาของคนไทยทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการให้ดีขึ้น ก็หวังว่าจะเป็นบทเรียนราคาแพง คนไทยต้องมองในแง่บวกไว้ และอย่าตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ต่าง ๆ จนเกินไป

 

      อาทิตย์นี้ ผมภูมิใจมากที่ได้ทำงานเกี่ยวกับการสร้างทุนมนุษย์ได้อย่างต่อเนื่อง ก็คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ริเริ่มที่จะสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ให้แก่บุคลากรระดับกลางกว่า 4,000 คน (ใช้งบประมาณ 4 ปี รวม 120 ล้านบาท) โดยจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “Learning Organization Awareness” ได้เชิญผมไปบรรยายและเป็นโค้ชในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการทั่วประเทศ รวม 12 ครั้ง ดังต่อไปนี้

·       ครั้งที่ 1 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 จ.เชียงราย

·       ครั้งที่ 2 วันที่ 10 มีนาคม จ.นครนายก

·       ครั้งที่ 3 วันที่ 21 มีนาคม 2551 จ. อุดรธานี

·       ครั้งที่ 4 วันที่ 3 เมษายน 2551 จ.พระนครศรีอยุธยา

·       ครั้งที่ 5 วันที่ 25 เมษายน 2551 จ.ประจวบคีรีขันธ์

·       ครั้งที่ 6 วันที่ 13 พฤษภาคม 2551 จ. นครศรีธรรมราช

·       ครั้งที่ 7 วันที่ 30 พฤษภาคม 2551 จ.หาดใหญ่

·       ครั้งที่ 8  วันที่ 6 มิถุนายน 2551 จ.เพชรบูรณ์   

·       ครั้งที่ 9  วันที่ 10 กรกฎาคม 2551 จ.อุบลราชธานี

·       ครั้งที่ 10  วันที่ 25 กรกฎาคม 2551 จ.นครราชสีมา

·       ครั้งที่ 11 วันที่ 7 สิงหาคม 2551 จ.กาญจนบุรี

·       ครั้งที่ 12   วันที่  27 สิงหาคม  2551 จ.ชลบุรี 

      และเมื่อวันพุธที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา คุณอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาเป็นประธานในพิธีเปิด และรับฟังการสรุปงานทั้งหมดที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าการจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้จะต้อง

§       ความรู้ต้องทันสมัย สด และข้ามศาสตร์

§       ความรู้ต้องมีทั้งประสบการณ์และมีทั้งการหาความรู้ภายนอก

§       ต้องมีบุคลากรต้องมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ คือ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น และแบ่งปันกัน เรียนเป็นทีม ลูกน้องก็กล้าที่จะแสดงออกอย่างสุภาพกับผู้บังคับบัญชา

ผมภูมิใจมากที่สามารถเป็นแนวร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเชื่อว่าการทำงานที่ต่อเนื่องจะช่วยองค์กรได้อย่างดี โดยเฉพาะช่วย

§       การแก้ปัญหาแบบมีการใช้ความรู้อยู่ตลอดเวลา

§       ต่อสู้กับความไม่แน่นอน หรือสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา

§       สามารถช่วยค้นหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจหรือสังคมเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

ที่น่าสนใจก็คือ การทำงานครั้งนี้จะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง (Follow up) คือ ทุกคนที่เรียนจะได้เปิดโลกทัศน์ที่ประเทศจีน และเมื่อกลับมาแล้วต้องมาทำโครงการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ผมมีโอกาสได้เรียนท่านผู้ว่าฯ ว่าผมขอทำหน้าที่ต่อ คือ เป็นผู้ตรวจการความรู้ ซึ่งท่านเห็นชอบด้วย จะเป็นแนวร่วมและประเมินผลเอาบุคคลที่ได้ผ่านการเรียนรู้กับผมและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศต่อไป

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่จะฝากไว้ ก็คือ รายการโทรทัศน์ คิดเป็น..ก้าวเป็น กับ ดร.จีระ ในวันเสาร์เวลา 23.00 – 23.50 น. ทาง TNN 2 (True Visions 08) ตอน Blue Ocean ของธุรกิจแปลหนังสือ ได้เชิญ คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย พูดเรื่องการสร้างอาชีพใหม่ให้คนไทยในเรื่องการแปลซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะการแปลให้ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องเข้าใจและต้องมีแรงบันดาลใจ อาชีพที่เกี่ยวกับการแปลเป็นอาชีพที่น่าสนใจ คุณดนัย ทำเป็นและทำสำเร็จ และน่าจะกระตุ้นให้คนไทยอีกมากมายที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเรียนรู้วิธีการแปลที่ถูกต้องเพื่อเป็นแนวทางไปสู่อาชีพที่น่าสนใจในยุคโลกาภิวัตน์ได้ต่อไป

                                                             ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

สร้อยสุคนธ์ นิยมวานิช

ธนาคารชาติมีอิสระอย่างไร

 

                ดิฉัน นางสร้อยสุคนธ์  นิยมวานิช นักศึกษาปริญญาเอก รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสวนสุนันทา สาขานวตกรรมการจัดการ  ขณะนี้เป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเงินฝากและตราสารหนี้  ปฏิบัติงานที่ ธปท.ตั้งแต่ปี 2512  เป็นเวลารวม 39 ปี การศึกษาปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท การบริหารจัดการภาครัฐและเอกชนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

                จากบทความใน Blog ของ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  หัวข้อ บทเรียนจากความจริง  เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2551  ในส่วนที่กล่าวถึง  ที่น่าปลื้มปิติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่รักของเรา  ได้ทรงมีพระราชดำรัส  ต่อคณะผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย  นำโดย  ดร.ธาริษา วัฒนเกส เรื่อง บทบาทของธนาคารชาติ เช่น

-          รักษาวินัยทางการเงิน อย่าใช้เกินตัว (เศรษฐกิจพอเพียง)

-          รักษาความเป็นอิสระไว้ให้นานที่สุด

ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2551 คุณสุทธิศักดิ์ Blog Buddy ขอให้มีรายละเอียด ธนาคารชาติมีอิสระแปลว่าอะไร

ก่อนอื่นขอเรียนเสนอบทบาทและหน้าที่หลักของ ธปท. ในฐานะธนาคารกลางตาม พรบ.ธปท. พ.ศ.2485 กำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายการเงิน ความมีเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน โดยต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย และความมั่นคงในการบริหารจัดการ ทุนสำรองเงินตรา ตามกฎหมาย ว่าด้วยเงินตราและทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นภารกิจที่มีวัตถุประสงค์หลักส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทย นัยสำคัญของกฎหมายดังกล่าวสรุปได้ดังนี้

1)      เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของการเงินของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการชุดต่าง ๆทำหน้าที่กำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ

2)      เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธนาคารและการบริหารงานมีความโปร่งใส จึงกำหนดให้ผู้ว่าการมีความเป็นอิสระ ในการบริหารจัดการและกำหนดการมีส่วนได้เสีย ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไว้ด้วย

3)      ในการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.ด้วย

4)      เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพและคล่องตัว ให้เพิ่มประเภทเงินสำรอง มีระบบการบัญชี การตรวจสอบและการรายงานที่เหมาะสม

5)      เพื่อให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินยุติบทบาท เมื่อมีกฎหมายว่าด้วย พรบ.คุ้มครองเงินฝากใช้บังคับแล้ว

 ความว่า ธนาคารชาติมีอิสระ  จึงเด่นชัดเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485  อันหมายถึง ผู้ว่าการ ตามมาตรา 28/16

ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ผู้ว่าการมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการ ธปท.  ตามกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ว่าการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการทุกชุดยกเว้นคณะกรรมการ ธปท. ดำรงตำแหน่งรองประธาน และตามมาตรา 7 กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินภารกิจอันพึง เป็นงานของธนาคารกลางที่ต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย

ดังนั้น ความมีอิสระนั้นมีกรอบการบริหารจัดการ ดังนี้

1)           เสถียรภาพทางการเงิน

2)           เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน

3)           กิจการที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามมาตรา 8 และกิจการที่ห้ามกระทำตาม มาตรา 9

4)           ข้อจำกัดบางเรื่องต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การคลัง อาทิเช่น เพิ่มหรือลดทุนของ ธปท. เงินสำรองประเภทอื่น ๆ เป้าหมายนโยบายการเงิน เป็นต้น

ความเห็นส่วนตัว

ตัวอย่างบุคคลที่เด่นชัดในความเป็นอิสระเมื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.  ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็น Talent People และเป็น Visionary Leadership ของ ธปท.ที่ชัดเจน จึงยังเป็น Role Model ของการเป็นผู้ว่าการ ธปท.ที่มีความเป็นอิสระ และเป็นตัวอย่างการประพฤติปฏิบัติตนที่พนักงาน ธปท .ยึดถือเป็น Best Practise ในการปฏิบัติหน้าที่การงานจนถึงปัจจุบันนี้

ความเป็นอิสระภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด ได้แบบอย่างของ ดร.ป๋วย ที่ถือเป็นทุนแห่งความยั่งยืน ที่ส่งทอดเป็นทุนมรดกในการทำหน้าที่เป็นธนาคารกลาง หมายถึง ใช้นโยบายระยะสั้น ที่ไม่มีผลทำลายต่อความเจริญก้าวหน้าในระยะยาว  ผลกระทบของการบริหารจัดการใด ๆ นำไปสู่ระดับประชาชนรากหญ้า ควรจะได้รับการกำกับดูแล พึงให้ความจนกระจุกตัว แต่ความอยู่ดีกินดีกระจายตัวด้วยนโยบายการเงินที่มีเสถียรภาพ ประชาชนระดับรากหญ้าเป็นผู้มีอำนาจทางการเงินต่ำแต่จำนวนประชากรมาก สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ เขาเหล่านั้นเป็นทุนมนุษย์ เป็นทรัพย์สินที่มีค่ายิ่งของแผ่นดิน      

นอกจากนี้ทุนด้านจริยธรรมในการบริหารจัดการด้วยอำนาจอิสระนี้ ถือได้ว่ากฎหมายดังกล่าวให้เกียรติ และยกย่องสถาบันธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นเสาหลัก จึงให้มีความอิสระที่พึงให้การดูแล และคำนึงถึงการอยู่ดีกินดีของประชาชนในวงกว้างนั้นควรได้รับความเป็นธรรมด้วยเช่นกัน ไม่ถูกเบียดเบียน คดโกง โปร่งใส เป็นนโยบายที่สามารถรองรับการค้า การพาณิชย์ ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของยุคศตวรรษที่ 21 หรือโลกไร้พรมแดน คุณภาพชีวิตของคนไทยควรเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมกับชาติที่เจริญทั้งคุณธรรม วัฒนธรรม คุณภาพ Technology ที่เหมาะสม และความมั่งคั่งทางทุนจริยธรรม ทำความดีทั้งในที่ลับ และที่แจ้ง จะนำไปสู่ความเฟื่องฟูที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ และสังคมไทย รูปธรรมของความเชื่อ และความศรัทธาของประชาชนต่อ ธปท. จะเด่นชัดโดยนโยบายก้าวหน้าขับเคลื่อนความอยู่ดีกินดี มีความสุขพอประมาณไปสู่ประชาชนระดับรากหญ้าด้วย  รูปธรรมของความเป็นอิสระหรือไม่อิสระของธนาคารชาติ จึงอาจวัดได้จากสายตาของประชาชนเมื่อได้รับผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ทำให้สังคมส่วนรวมได้รับความเป็นธรรมที่มีคุณธรรม และจริยธรรม ส่งเสริม และสร้างสรรค์ให้ประชาชนเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศในยุค Globalization

พระราชดำรัสของพระองค์ท่านในวันนั้น ย้อนให้คำนึงถึงความเชื่อ และศรัทธาต้องมาจากการสั่งสมบารมีความดีที่เป็นประจักษ์ชัดเจน และยอมรับนับถือในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปกป้องคุ้มครองประชาชนทั่วทุกทิศานุทิศ เป็นแบบอย่างของ Social  Capital และ Net Working  พระองค์ให้แบบอย่าง และให้เครื่องมือเลี้ยงชีวิตโดยพึ่งตนเอง มีวินัยทางการเงิน ประหยัดแบบเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างสังคมให้รู้จักกัน ทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถ่ายทอดความรู้ วิทยาการทั้งเทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย ควบคู่กับการอยู่อย่างไทย กินอย่างไทย ใช้อย่างไทย มีความสุขได้ทั้งกาย และใจอย่างไทย ๆ

 

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 6 กันยายน 2551

 

วิกฤตครั้งนี้ คนไทยใช้เป็นบทเรียน

 

                ช่วง 7 วันที่ผ่านมา สังคมไทยเรียนรู้ เรื่องการเมืองอีกมากมาย บทเรียนเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ในประชาธิปไตยไทยในระยะยาวอย่างน้อย 2-3 เรื่อง

การเมืองภาคประชาชน เริ่มมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ต้องขอบคุณที่มีระบบทักษิณ ทำให้ปลุกจิตสำนึกคนไทยให้ออกมามีบทบาท  สนใจการเมืองเพื่อส่วนรวมมากขึ้น

บทบาทของคนไทยไม่ว่าอยู่ที่ไหนของประเทศเริ่มผนึกกำลังกันมากขึ้น เป้าหมายเพื่อส่วนรวม ดูได้จากกลุ่มที่มาแสดงออก  ทั้งที่มีอันตรายรอบด้าน แต่เขาเหล่านั้นก็ไม่เกรงกลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่จะกระทบถึงชีวิต

คนไทยกลุ่มนี้ ถึงยังไม่มากนัก ออกมาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของประเทศแต่เริ่มกระจายไปในหลายพื้นที่ในหลายจังหวัด หลายอาชีพ และทำให้ประชาชนหลาย ๆ ฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย

คนที่มาชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตร เป็นผู้ที่เข้าใจและเรียนรู้ ต้องการให้บ้านเมืองไปสู่ความเป็นธรรมเน้นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความอดทน กล้าหาญ และเสียสละ 

ผมเริ่มสนใจข่าวการสนใจการเมืองของขบวนการนักศึกษา และขบวนการระดับนักเรียนมัธยมศึกษาที่ออกมามีส่วนร่วมมากขึ้น ทำให้เกิดมีความหวังขึ้น เพราะตั้งแต่ยุคคุณทักษิณเป็นต้น  มาถึงยุคนี้มีแต่เน้นเรื่องวัตถุนิยม มอมเมาให้ประชาชนหลงระเริงไปกับค่านิยมที่ไร้สาระ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นบ้างแล้วว่า คุณค่าของคนไทยส่วนมากจะอยู่ตรงไหน

วันพฤหัสบดี ที่ผมเขียนบทความอยู่ มีข่าวว่าคุณเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ตัดสินใจลาออก

คุณสมัคร จะมาออกรายการวิทยุเพื่อจะพูดกับประชาชน  7 โมงครึ่ง มีกระแสข่าวต่าง ๆ ว่า คุณสมัคร อาจจะถอดใจลาออก แต่พอผมได้ฟังก็เริ่มเข้าใจพฤติกรรมแท้จริงอย่างลึก ๆ ในคุณสมัครมากขึ้น และคงจะต้องขอฟันธงเกี่ยวกับคุณสมัคร อีก 2- 3 ประเด็นสำคัญ

ประเด็นแรก การเมืองของคุณสมัครเป็นการเมืองเพื่อตำแหน่ง อำนาจ เพราะคุณสมัครเองชำนาญเรื่องการโต้วาทีมาก โดยเฉพาะสมัยที่อยู่ธรรมศาสตร์ จึงนำมาใช้เป็นเครื่องมือการเมืองบ่อย ๆ  การพูดของคุณสมัครในเช้าวันพฤหัสบดี จึงใช้ทักษะในการโต้วาทีเป็นส่วนใหญ่แต่ปัจจุบัน ผมต้องเรียนคุณสมัครด้วยความเคารพว่า การจะบริหารประเทศให้รอดพ้นจากปัญหาวิกฤติต่าง ๆ ในอนาคต คงไม่ใช่เน้นว่าใครพูดเก่ง มีแพ้ ชนะ แต่ควรจะพูดน้อย ทำมาก   ต้องเสียสละอดทนที่จะให้ประเทศและส่วนรวมอยู่รอด 

ในความรู้สึกของคุณสมัคร ยังคิดไม่ออกหรือใช่แว่นตาที่มัว   มีเพื่อนนักข่าวคนหนึ่ง ได้ลองเปรียบเทียบคุณสมัคร กับ อดีตนายกฯ บิ๊กจิ๊ว       เห็นได้ชัดว่า     บิ๊กจิ๊วเป็นผู้นำที่เสียสละ เมื่อถูกกดดันจากการเมืองนอกสภา (ซึ่งรุนแรงน้อยกว่ายุคคุณสมัครมาก) ก็ลาออกไป ส่วนคุณสมัคร ก็จะดันทุรังต่อไปถึงจุดอะไรก็ไม่ทราบ พอไม่มีใครเอาด้วย ก็คงจะหาทางออกแน่นอน  เมื่อดูรูปการแล้ว น่าจะอยู่ไม่นาน

ส่วนอีกประเด็นคือ เรื่องภาวะผู้นำ  สิ่งที่คุณสมัครยังไม่เข้าใจคือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งที่มีอำนาจล้นฟ้าก็จริง แต่เป็นตำแหน่งที่เกิดจากกฎหมายที่ให้อำนาจ  แต่ปัจจุบัน ผู้นำยุคใหม่ไม่ใช่มีตำแหน่งทางกฎหมายเท่านั้น   ต้องสร้างความศรัทธาให้เกิดจากหมู่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้คงไม่ใช่แค่มีเสียงข้างมากเท่านั้น ประกอบไปด้วย สมาชิกพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่คุณสมัครต้องเรียนรู้ หรือท่านแก่เกินไปที่จะปรับการเรียนรู้เพราะยุคใหม่ อำนาจ หรือ authority  สำคัญน้อยกว่า “Trust”  ศรัทธา

ในช่วงนี้ ผมมีโอกาสได้คุยกับบุคคลหลาย ๆ กลุ่ม   มีท่านหนึ่งบอกว่าได้ยิน ดร.สารสิน วีระผล  ยกตัวอย่างธุรกิจในยุคใหม่ ว่าจะต้องให้เกียรติผู้ที่มีหุ้นรายย่อยด้วย  ในที่นี้ ไม่ใช่ 20 % ต่อ 80% รายย่อยคนเดียวก็ถือว่าเป็นรายย่อยที่สำคัญ    หากมีเสียงขัดแย้งกับ  ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็ต้องรับฟัง และควรปฏิบัติตาม  

บทเรียนหรือการเรียนรู้ครั้งนี้ คุณสมัครจะต้องปรับวิธีการคิดใหม่ ดังนั้น ผมจึงขอสนับสนุนแนวทางของคุณอภิสิทธิ์ ผู้นำฝ่ายค้าน ที่จะยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง และไม่ควรกลัวจะมีการประท้วงกันอีกรอบหลังเลือกตั้งแล้ว ผมเชื่อว่าการจะสร้างกระแสต่อต้านอะไรให้  ติด ไม่ใช่ของง่าย ๆ ต้องมีประเด็นที่มีเงื่อนไขที่พอดีและเหมาะสม และมีผู้สนับสนุน         พันธมิตรจะทำอะไรต้องมีเหตุผลเช่นกัน ไม่ใช่จะประท้วงตลอดเวลา

อาทิตย์นี้ งานสร้างสังคมการเรียนรู้ต้องมีต่อไป สิ่งแรกคือ กลุ่มพวกเราจะเริ่มรายการทางช่อง TTV ซึ่งเป็นเคเบิ้ลท้องถิ่น ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 22.10 – 23.00 น. ชาวต่างจังหวัดจะได้มีโอกาสได้สัมผัสรายการ คิดเป็น...ก้าวเป็น กับ ดร.จีระ อาทิตย์ละ 3 วัน  ผมภูมิใจที่มีโอกาสได้ทำงานเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น  หวังว่าจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการตอบรับกลับ (Feedback) ว่าท้องถิ่นมีความคิดเห็นอย่างไร

ส่วนงานอื่น  ที่ออก TNN 2 ไปแล้ว ผมสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ระดับสูงหลายคน เช่น ล่าสุด ฯพณฯ พลอากาศเอกกำธน  สินธวานนท์  องคมนตรี  ท่านเป็นบุคคลที่น่านับถือและเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะท่านกรุณาแนะนำทางออกของวิกฤติการเมืองของประเทศไทยว่า

-          ต้องทำอะไรมีเหตุผล

-          หาคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของทุก ๆ ฝ่ายมาประสานผลประโยชน์

-          เน้นการศึกษา  คนไทยที่มีคุณภาพเพื่อให้เกิดสังคมการเรียนรู้ คิดเป็น

ส่วนงานที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือหลักสูตร ผู้นำสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขั้นสูง ซึ่งเป็นองค์กรการออมในระดับชุมชน ผมภูมิใจมากที่รับเกียรติเป็นประธานจัดโครงการ 80 ชั่วโมง และการออกไปเพิ่มความรู้ทัศนศึกษาต่างประเทศที่เกาหลี

ในพิธีเปิด พวกเราที่มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ภูมิใจมากที่ ฯพณฯ อำพล  เสนาณรงค์  องคมนตรี  ได้กรุณามาเปิดงานและกล่าวสุนทรพจน์ ซึ่งท่านได้มองเห็นขบวนการสหกรณ์ของเมืองไทย ด้วยความเข้าใจและเห็นคุณค่าสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้การทำงานของผมกระจายไปสู่รากหญ้าได้อย่างแท้จริง 

 

                                                                        จีระ หงส์ลดารมภ์

สร้อยสุคนธ์ นิยมวานิช

จากบทความคอลัมภ์ Global Vision ของ ดร.ปิยศักดิ์  มานะสันต์

เรื่อง สายตาสั้นของคนบนหอคอย

ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 29  เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กันยายน 2551

 

                ปกติแล้ว นักเศรษฐศาสตร์มหภาคมักถูกเปรียบเปรยว่า อยู่บนหอคอยงาช้าง เนื่องจากเป็นผู้ที่นำข้อมูลทุติยภูมิและตติยภูมิที่มีผู้จัดเก็บมาให้อย่างเหน็ดเหนื่อยมาใช้โดยไม่ต้องเสียเหงื่อสักหยด และนำมาวิเคราะห์โดยใช้โมเดลทางสถิติที่สูงล้ำจนหามีผู้ใดเข้าใจไม่ เพื่อที่จะมากำหนดนโยบายที่ตัดสินความเป็นความตายของประชาชนที่อยู่เบื้องล่าง

                ดังนั้น หากนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ มิได้มีสายตาอันยาวไกล คาดคะเนทิศทางเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง ปราศจากอคติและคำนึงถึงผู้ที่อยู่เบื้องล่างทุกหมู่เหล่าแล้วนั้น นโยบายที่ได้อาจผิดจากความเป็นจริง และแทนที่จะช่วยเศรษฐกิจ อาจทำให้คนบางกลุ่มหรือในบางครั้งทั้งเศรษฐกิจประสบกับภาวะล้มละลายได้          

                แต่ประวัติศาสตร์ก็เป็นตัวตัดสินว่าใครถูก ดูได้จากจีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐ ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ผิดจากที่ตลาดคาดว่าจะชะลอกว่านี้มาก ขณะที่ยุโรปหดตัวถึงร้อยละ 0.8 ต่อไตรมาสขณะที่เงินเฟ้อทั้งสองที่ไม่ต่างกันมากนัก (ที่ร้อยละ 5.6 และ 4.0 ในเดือน ก.ค.)  ซึ่งหากเฟดไม่ลดในครั้งนั้น ทั่วโลกอาจเผชิญ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในระดับฟูลสเกลก็เป็นได้

                สิ่งนี้เป็นการบ่งชี้ถึงระดับสายตาอันยาวไกลของเบอร์นันเก้ (ประธานเฟดผู้สืบทอดตำแหน่งจากอลัน กรีนสแปน)  ในการคาดคะเนเศรษฐกิจล่วงหน้า ว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นเกิดจากต้นทุนการผลิต (Cost-push) อันเกิดจาก น้ำมันแพง ที่เกิดจากการเก็งกำไร เป็นหลัก และหากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น น่าจะทำให้การเก็งกำไรน้ำมันลดลงและทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อลดลงได้ จึงกล้าที่จะลดดอกเบี้ยคราวละมาก ๆ ดังกล่าว พร้อมทั้งเข้าแทรกแซงค่าเงินดอลลาร์ (ด้วยวาจา) ในช่วงที่ผ่านมา

                อนึ่ง บทความดังกล่าวได้วิจารณ์ถึงประเทศที่ใช้นโยบายตรงกันข้ามกับเฟดธนาคารกลางสหรัฐและทิ้งท้ายว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่านโยบายการเงินของทั้งสองธนาคารนั้นบ่งชี้ถึงสายตาที่แตกต่างของนายธนาคารกลางทั้งสองแห่งได้เป็นอย่างดี

 

ความเห็นส่วนตัว

                สายตาสั้นหรือสายตายาวของคนบนหอคอย น่าจะเป็นผลของ Talent Management Team และจิตวิญญาณที่คำนึงถึงโลกใบใหม่ ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนส่วนใหญ่ และประคับประคองเพื่อไม่ให้เกิดการ Slide Landing  หัวทิ่ม โดยหวังเพียงเพื่อให้ตัวเลขต่อต้านภาวะเงินเฟ้อสวยงาม แต่ประชาชนระดับรากหญ้าจะดำรงชีวิตบนโลกใบใหม่ ได้อย่างไร  มีวิธีการใหม่ ๆ Model ใหม่ ๆ ที่ค่อยปรับตัวอย่างไรบ้าง ตนเองคิดไม่ออกแต่ท้าทายนักเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ให้คิด เพื่อที่จะได้ไม่เกิดประวัติซ้ำรอยกันไปเรื่อย ๆ  เช่น รายได้ หรือการค้าขายตกต่ำ ส่งผลให้ค่าเช่าบ้านมีไม่พอจ่าย ฯลฯ รายจ่ายที่สูงขึ้นไม่ใช่เกิดจากการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายใช่หรือไม่ อยากได้รับฟังความคิดเห็นจากมุมมองเพื่อนนักอ่านด้วย

(อ่านบทความเดิมได้จาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 29  เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กันยายน 2551)

 

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 13 กันยายน 2551

 

ผู้นำกับจริยธรรมและความศรัทธา

 

ผมเขียนบทความ หลังจากเมื่อวันอังคารที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสิน 9 : 0 ว่าอดีตนายกฯ สมัคร ทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ต้องออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนไทยหลาย คนรวมทั้งชาวต่างประเทศที่ไม่ได้ติดตามการเมืองไทย อย่างใกล้ชิดก็จะรู้สึกประหลาดใจในเรื่องคดีที่เกิดขึ้น

ภาษาอังกฤษ เขาใช้คำว่า “Cooking Show”  ภาษาไทยเรียกว่ารายการ ชิมไปบ่นไป  ชาวต่างชาติคงงงว่า นายกฯ คนนี้ ทำไมจึงต้องออกจากตำแหน่งเพราะรายการ “Cooking Show”  ในความรู้สึกของเขา คงจะคิดว่าเป็นรายการประเภท แม่บ้าน   แบบที่  Martha  Stewart  ทำอยู่ประจำที่ทีวีสหรัฐฯ

            แต่สำหรับ การเมืองไทย จะรู้ว่า ปัญหาของคุณสมัคร คือเรียนกฎหมายมาก็จริง แต่ก็อาจจะประมาท ไม่ได้อ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 อย่างรอบคอบ  และคิดว่าคงจะเป็นเรื่องเล็ก  หารู้ไม่ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เขาเน้นนักการเมืองที่ชอบประพฤติเพื่อ ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ป้องกันนักการเมืองที่มองการเมืองเหมือนผลประโยชน์ของฉัน ไม่ได้เข้ามาในการเมือง เพื่อส่วนรวม ต้องพึงระวังเป็นพิเศษ

            ความสามารถในการโต้ตอบ แบบโต้วาทีของคุณสมัครกับการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  9 คนวิเคราะห์พิจารณาและพิพากษาที่คุณสมัคร สร้างหลักฐานทางการเงินที่ไม่ตรงกับความจริงเป็นประเด็นที่คนไทยน่าจะวิเคราะห์ให้ดี  หนังสือพิมพ์ฝรั่ง Herald Tribune ฉบับวันพฤหัสบดี ใช้คำว่า

            “There has been an attempt to fabricate the evidence and hide his action”

            ซึ่งคำว่า fabricate แปลคล้ายว่า สร้างหลักฐานเท็จ  เน้นให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แบบนักการเมือง แต่ซีกพลังประชาชน ชอบพูดว่า ไม่ได้ผิดอะไร คือ ผิดแบบไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่าคุณสมัครตั้งใจจะหลีกเลี่ยงกฎหมายรัฐธรรมนูญ

            เป็นจุดที่คนไทย ต้องสนใจว่ายุคการเมืองต่อจากนี้ไปประชาธิปไตยยุคใหม่ ทุก ๆ อย่างจะโปร่งใสขึ้น คนที่ชอบการเมืองแบบเดิม ๆ โดยถือเสียงข้างมาก แต่ขาดคุณธรรม จริยธรรม คงจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

            ส่วนจริยธรรมอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความพยายามที่จะเปิดสภาภายในวันศุกร์ที่ 12 กันยายน เพื่อเลือกนายกฯ คนใหม่ และหลายฝ่ายซีกพลังประชาชนบอกว่าจะเลือกคนเดิมคือ นายสมัครกลับมา

            จุดนี้ประชาชนทั่ว ๆ ไปต้องคิด วิเคราะห์ให้รอบคอบว่าเหมาะสมกับมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมไหม ถึงกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ แต่คุณสมัครจะเหมาะสมหรือไม่

            ผมชอบใจที่ มีนักข่าวหลาย ๆ คนกล้าถามนักการเมืองซีกรัฐบาลบางกลุ่มว่า ในญี่ปุ่น หรือ เกาหลี นักการเมืองเขาก็จะละอายต่อพฤติกรรมที่ขาดจริยธรรม ถึงจะถูกกฎหมาย และไม่ขัดรัฐธรรมนูญ นักการเมืองก็มักจะลาออกไป  เช่นการเมืองในญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่ดี อดีตนายกฯ ฟูกูดะ  ลาออกไปเมื่อเขาคิดว่า คะแนนนิยมประชาชนแคลงใจ   สงสัย และไม่ไว้ใจเขา ขณะที่พรรคของเขายังครองเสียงข้างมาก

            ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับการเมืองไทย การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็คือ การผ่อนคลายของการเมืองที่ร้อน ๆ ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าประเทศไทย มักจะหลุดจากวิกฤติ และมีทางออกไปสู่อนาคตอันสดใสเสมอ

            ขณะเดียวกัน ขอฝากให้พันธมิตรด้วยว่า เมื่อการเมืองมีแนวทางที่สดใสขึ้น  ก็ต้องหาทางพบกันเพื่อเจรจาหาทางออกที่เหมาะสมชนะเล็ก ๆ เพื่อหาทางชนะใหญ่ต่อไป ซึ่งผมพูดหลายครั้ง ว่าอย่าเป็น Win / Lose ควรเน้น Win / Win อย่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้สูงสุด (Maximization)ต้องให้ทุกฝ่ายรับในจุดที่อยู่ได้โดยเน้น (Minimization)

             คนไทย ทั้ง 64 ล้านคน ต้องเรียนรู้ การเมืองยุคนี้เป็นการเมืองที่ประชาชนไม่ใช่แค่เรียนรู้ แต่ต้องคิดคือวิเคราะห์ด้วย ว่าอะไรเป็นอะไร อย่ามองแค่ผิวเผิน ฝรั่งเรียกว่า อย่า React  คืออย่ามีพฤติกรรมแค่สะท้อนในสิ่งที่เกิดขึ้น ต้อง Act เพราะว่า  ฉันก็จะทำเพราะจำเป็นและถูกต้อง ถึแม้จะไม่เร่งด่วน  ต้องไม่ทำเพราะถูกกระตุ้นเท่านั้น

            นอกจากการเมือง องค์กรอย่าง กกต. ต้องเน้นการพัฒนาประชาธิปไตย ให้ความรู้ กับประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ดูแลเฉพาะเลือกตั้ง

            องค์กรอย่าง ปปช. (สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ)  ก็ต้องเน้นการสร้างจิตสำนึกเรื่องการไม่คดโกงเป็นหลักสูตรระดับโรงเรียน ตั้งแต่ประถมศึกษาถึง มัธยมศึกษา

            อาทิตย์นี้ เศรษฐกิจโลก มีความหวัง ขึ้น เพราะกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ตัดสินใจเข้ามาอุ้มสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ ด้านอสังหาริมทรัพย์ คือ Fannie Mae and Freddie Mac ซึ่งมีทรัพย์สินที่ด้อยคุณภาพคือบ้าน และที่อยู่อาศัยเป็นจำนวน Trillion dollar ที่กำลังจะล้มละลาย รัฐบาลเข้ามาสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน โดยการมาอุ้มองค์กรทั้งสองแห่ง

            บทเรียนครั้งนี้ สอนให้เห็นว่า ยุคเศรษฐกิจใหม่ คงจะต้องมี Concepts  4 เรื่องที่จะต้องพิจารณาพร้อมกัน เพื่อสร้างความสมดุลให้สังคม และอยู่อย่างยั่งยืน

1.      บทบาทของตลาด ซึ่งหลักเศรษฐกิจเสรี ยังสำคัญอยู่ แต่ตลาดไม่เคยปราณีใคร บางครั้งก็ต้องระวังไม่ให้การทำงานของตลาดสร้างปัญหาให้มนุษย์และสังคมแบบโหดร้ายจนรับไม่ได้

2.      บทบาทของรัฐ รัฐจะต้องฉลาดในจังหวะ และความเหมาะสมในการแทรกแซง ความหนักหน่วงของการแทรกแซงเช่นครั้งนี้ในสหรัฐ ถ้าไม่แทรกแซงผู้กู้บ้านส่วนใหญ่ที่เป็นลูกค้าชั้นดี  ก็อยู่ไม่ได้ จึงถือว่าจำเป็น

3.      ทุนมนุษย์ ผลกระทบต่อมนุษย์ ความจริงนโยบายเศรษฐกิจทุก ๆ อย่างก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ได้อะไร ถ้านโยบายดี เฉพาะธุรกิจ แต่ไม่ทำให้มนุษย์อยู่รอดก็ไม่มีประโยชน์อะไร

4.      เศรษฐกิจโลกจะต้องมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กำกับเพื่อให้พฤติกรรมของมนุษย์ไม่โลภจนเกินไปมีความรู้คู่คุณธรรมเดินสายกลาง

บทเรียนครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล ระบอบทักษิณ แทรกแซงเพื่อการเมืองมากเกินไปไม่ได้เน้นความสามารถสร้างมนุษย์ในระยะยาว ขาดความสมดุล ไม่เกิดความยั่งยืน

เช่นรัฐบาลยุคคุณสมัคร ยกเลิกภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ที่ราคาน้ำมันลดอย่างรวดเร็ว ลดราคาน้ำมันถูกกว่าความจำเป็น ทำให้รัฐเสียรายได้ ประชาชนกลับมาใช้น้ำมันมากขึ้น โดยไม่ประหยัด

หรือยุคเงินเฟ้อ รัฐบาลอย่ากระตุ้นเศรษฐกิจมากไป  แต่กลับเร่ง Mega Project เพื่อการเมืองและหาเสียง อาจจะสร้างแรงกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

บทบาทของตลาด ยังต้องดูว่าตลาดไปทางไหน รัฐจะแทรกแซง ในจังหวะเวลาที่พอดี เมื่อสำเร็จแล้วก็ถอยออกไป

บทเรียนครั้งนี้ แม้กระทั่งนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ คงไม่ใช่เฉพาะ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่ควรจะสร้างวินัยทางการออมให้ประโยชน์ไปสู่รากหญ้าให้ได้

สัปดาห์นี้ผมไปแสดงความยินดีกับการเปิดตัวของสถานที TNN 24 และ TNN 2 เมื่อวันที่ 9 กันยายน  2551 ประธานฯ คุณธานินทร์ เจียรวนนท์ กล่าวปาฐกถา  มีแขกมากมายจากหลายวงการมาร่วมแสดงความยินดีด้วย  ผมมองเห็น TNN 24 เพราะเป็นสถานีข่าวตลอด 24 ชั่วโมง  ช่อง TNN 2 ก็จะเอาจริงกับสารคดี และรายการวิเคราะห์วิจารณ์ทั่ว ๆ ไป ขอให้ทำให้ดีต่อไป และเป็นกลาง ผมจะเป็นกำลังใจ

ส่วนบทบาทของผมอีกด้านหนึ่ง ได้ไปปฐมนิเทศให้นักศึกษาปี 1 ของ Stamford International University จะเริ่มเรียนเทอม 2 ที่มหาวิทยาลัยแห่งใหม่ที่ พระราม 9 ซึ่งผมภูมิใจที่มีเด็กจะเรียนกับเรามากขึ้น และมีแนวโน้มเป็นระดับ นานาชาติมากขึ้น ผมเน้นว่าให้เกิดสังคมการเรียนรู้ รู้จริง คิดเป็น และออกไปทำงานเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติด้วย

 

 

 

 

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 20 กันยายน 2551

 

ประเทศไทย: พบวิกฤติ 2 ด้าน

            สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เผชิญกับวิกฤต 2 ด้านพร้อมกัน

      เรื่องแรก คือ วิกฤติการเงินโลกซึ่งสร้างความตระหนกตกใจให้แก่โลก เพราะ

§       Lehman Brothers บริษัทวาณิชธนกิจติด 4 อันดับของโลกล้มละลาย ครั้งหนึ่งยังมาซื้อ ปรส. มีสินทรัพย์เจ็ดแสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

§       เมอร์ริล ลินซ์ถูกซื้อไปโดยธนาคารอเมริกา

§       บริษัท Insurance ยักษ์ใหญ่ AIG กำลังจะล้มละลาย เดชะบุญรัฐบาลกลางอุ้มเสียก่อนโดยปล่อยกู้กว่า 8 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งหมดนี้ไม่นับ Fannie May and Freddie Mack  ที่รัฐบาลอุ้มไปอาทิตย์ที่ผ่านมา

ผลกระทบนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดตั้งแต่ 1929 หรือเกือบ 100 ปี กระทบไม่ใช่แค่สหรัฐแต่จะกระทบทั่วโลก และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงเมื่อไหร่ (เลือดจะหยุดไหลเมื่อไหร่) ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยก็หนักหนา และจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่า 5% ที่วางไว้

ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือความโลภของผู้บริหารสถาบันการเงินเหล่านั้น คิดจะมีเครื่องมือทางการเงินที่สามารถทำกำไรกันเป็นกอบเป็นกำแต่ลืมเรื่องการบริหารความเสี่ยงไปอย่างสิ้นเชิง

ความโลภครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่เรียนรู้จากบทเรียนวิกฤติของประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญกับวิกฤติ ต้มยำกุ้ง ปี 1997

การควบคุม หรือ Regulate บทบาท ที่ Wall Street ของรัฐบาลกลางสหรัฐยังทำได้ไม่ดีพอ

ปัญหาหลักมาจาก Sub-prime คือ มีการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ   เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่อาศัยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ผู้กู้ทั้งหลายก็เลยกู้เพิ่มโดยใช้หลักประกันเพิ่ม บริษัทอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้น จึงไปกู้ต่อจากวาณิชธนกิจเช่น Lehman Brothersโดยเอาหลักทรัพย์ที่มูลค่าเพิ่มไปค้ำไว้

แต่เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดอกเบี้ยเริ่มแพง การว่างงานเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มถดถอย ความสามารถในการจ่ายเงินคืนของธนาคารลดลง  ในที่สุดราคาทรัพย์สินที่อยู่อาศัยก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อราคาทรัพย์สินที่อยู่อาศัยลดลง ทุกอย่างก็เป็นวงจรอุบาทว์  เกิด NPL (หนี้เสีย) อย่างมโหฬาร สินทรัพย์มีน้อยกว่าหนี้สินที่กู้ไว้ บริษัทการเงินเหล่านั้นก็อยู่ไม่ได้ เริ่มขาดทุนและขาดสภาพคล่อง เมื่ออยู่ไม่ได้ก็กระทบกันเป็นลูกโซ่

บทเรียนครั้งนี้สอนว่า

§       การแสวงหากำไรสูงสุดก็มีความเสี่ยงสูงสุดเช่นกัน (High risk high return)

§       ไม่มีใครคาดมาก่อนว่าราคาทรัพย์สินทีอยู่อาศัย จะลดลงอย่างมากมาย และยังลดลงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ถ้าจะถามว่ามีทางออกอะไรบ้าง?

§       เรื่องแรกก็คือจะต้องให้รัฐมีบทบาทเข้ามาพยุงและอุ้มธุรกิจบางอย่างเพื่อรักษาเสถียรภาพ

§       บริษัทการเงินต้องใช้นโยบายการเดินสายกลาง ไม่ลงทุนทุกเรื่องที่มีความเสี่ยงสูง ที่ไม่ชำนาญ ทำธุรกิจเฉพาะเรื่องที่ถนัด (Core Business)

§       คาดว่าราคาที่อยู่อาศัยจะลงที่จุดต่ำสุด และค่อย ๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

คำตอบเหล่านี้ ยังไม่ได้บอกว่าการแก้ปัญหาของความอ่อนแอของธุรกิจการเงิน ได้ผลหรือไม่  และจะกระทบเศรษฐกิจภาคการผลิตแท้จริงอย่างไร

แต่ที่แน่ ๆ  การขยายตัวของสินเชื่อของอเมริกาและประเทศอื่น ๆ จะลดลง สภาพคล่องจะลดลง ทำให้การลงทุนชะลอ การจ้างงานจะลดลง

สำหรับประเทศไทย

§       จะมีการดึงเงินทุนออกไปต่างประเทศ กลับไปมากขึ้น

§       การส่งออกไปสหรัฐ และยุโรปจะน้อยลง 

ผมว่าบทเรียนครั้งนี้

§       โลกาภิวัตน์ สร้างโอกาสและการคุกคาม จะต้องบริหารให้ได้

§       ต้องบริหารความเสี่ยงให้ได้

§       ควรนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างฉลาด แต่ฝรั่งบางคนไม่เคยเรียนรู้พระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน คิดว่าหลักวิชาของเขาเพียงพอ

ส่วนวิกฤติการเมืองก็ยังมีอยู่ เพราะถึงแม้จะตั้งคุณสมชาย  วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ด้านพันธมิตรก็ยังไม่ยอม

แต่ทางออกและความหวังก็ยังมีอยู่ คือ

§       หาทางเจรจาต่อรองให้ได้

§       ท่านนายกฯ คนใหม่ใช้ความสุภาพเรียบร้อย บุคลิกของท่านสร้างบรรยากาศตึงเครียดน้อยลง หันหน้ามาหารือ

อาจสรุปได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกดูจะรุนแรงมากกว่าการเมืองไทยในปัจจุบัน

ผมขอพูดเป็นกลาง ๆ ว่า  บุคลิกของนายกฯ คนใหม่ที่ว่า อ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่ใช่เพิ่งมี แต่มีมานานแล้ว ผมสัมผัสด้วยตัวเอง

เมื่อ 4-5 ปี ผมมีโอกาสได้จัดสัมมนาเรื่องภาวะผู้นำให้กรมราชทัณฑ์  ซึ่งช่วงนั้นมีคุณสมชายเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ท่านให้เกียรติมาเปิดงาน และมาแจกประกาศนียบัตร 2 ครั้ง  ผมไม่รู้จักท่านมาก่อน แต่มีความประทับใจในความอ่อนน้อมของท่านและการดำรงชีวิตของท่านดูสบาย ๆ  คงจะต้องให้เวลา และดูต่อไป

ผมเห็นว่า ควรจะหาทางเจรจา และหวังว่า คุณสมชายน่าจะทำสำเร็จ เนื่องจากเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน คงไม่ปกป้องอดีตนายกฯ ทักษิณ และ ไม่เข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

สัปดาห์นี้ ผมจะเล่าถึงงานด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ซึ่งผมทำอยู่

เรื่องแรก ขอแสดงความยินดีกับผู้บริหารระดับ 8 ของกรมวิทยาศาสตร์บริการที่จบหลักสูตร  พัฒนาภาวะผู้นำการบริหารจัดการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  จำนวน 60 ชั่วโมง รุ่นที่ 2

มีสิ่งที่น่าประทับใจก็คือ

§       การทำงานที่เน้นความต่อเนื่อง

§       การทำงานที่เน้นการบูรณาการ คือทางกรมฯ ได้เชิญหน่วยงานอื่น ๆ ในกระทรวงร่วมงานด้วย  และ

§       มีโครงการต่อเนื่องที่จะนำเอากิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ไปช่วยชาวบ้าน โดยเฉพาะที่จังหวัดอ่างทอง 

ผมประทับใจมากที่อธิบดีปฐม แหยมเกตุ และทีมงานของท่านเอาจริงสมกับที่ผมชื่นชมท่านว่าเป็น อธิบดีนักพัฒนาคน

ที่ผมภูมิใจมากเพราะมีความต่อเนื่อง    คิดว่าจะเป็นแนวทางที่ดี คือ ผมเริ่มโครงการพัฒนาสมรรถนะการบริหารจัดการอาชีวศึกษายุคใหม่ รุ่นที่ 1  จำนวน 47 คน ช่วงแรกเป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่เขาค้อ 3 วันเต็ม และช่วงที่ 2 จะไปเรียนกันที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีก 3 วันเต็ม และช่วงสุดท้ายก็จะจบที่กรุงเทพฯ     ทัศนศึกษาดูงาน อีก 4 วัน รวมทั้งสิ้นจำนวน 60 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ผมได้รับเกียรติจากสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษาให้เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและดำเนินการด้านวิชาการโครงการพัฒนาสมรรถนะการบริหารจัดการอาชีวศึกษายุคใหม่ พัฒนาผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ประมาณ 150  คน จัดเป็น 2 รุ่น ผมได้ออกแบบโดยเน้น

§       เรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลง

§       เรื่องการบริหารและพัฒนาคน

§       เรื่องการสร้างผู้นำ และ

§       การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในอาชีวศึกษา

                                               

                                             จีระ  หงส์ลดารมภ์

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2551

Paradox: การเมืองไทย

 

            ผมชอบคำว่า Paradox ที่จะอธิบายบางอย่างให้เห็นชัด  ถ้าจะแปลเป็นไทยก็คือ แนวสวนกัน อยากให้คนไทยคิดว่าทุกวันนี้อะไรเกิดขึ้น จับประเด็น   และนำมาวิเคราะห์ให้ได้ เพราะมีข่าวการเมืองออกมามากมาย เลยจับประเด็นกันไม่ถูกว่าอะไรคืออะไร

            ผมขอฝากแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองที่เกิดแนวสวนกันไว้ 3 – 4 เรื่อง

·       เรื่องแรก คือ คุณภาพของ ครม. ในปี 2551 เปรียบเทียบกับอดีต ยกตัวอย่างสมัยพ่อผม (นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ ) เป็นรัฐมนตรีคลัง เมื่อประมาณกว่า 40 ปีที่แล้ว ท่านเล่าให้ฟังว่า งบประมาณแค่ปีละ 8 พันล้านบาท แต่ ครม. ถึงจะเป็นรัฐบาลที่มีเผด็จการ (สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) แต่คุณภาพไม่ต้องถาม คุณถนัด คอมันตร์ สุนทร หงส์ลดารมภ์ วันนี้คนไทยคงยังจำได้

            ปัจจุบันประเทศเจริญด้านวัตถุมาก งบประมาณปี 2552 มีถึง 1.8 แสนล้าน แต่หารัฐมนตรีว่าการคลังที่ดีไม่ได้ และที่มีอยู่ในปัจจุบันท่านผู้อ่านลองวิเคราะห์ดูแล้วกัน

·       แนวสวนทางเรื่องการเมืองก็คือบทบาทของสื่อมวลชนกับการเสนอข่าวการเมือง

            สิ่งแรกก็คือ  ผมชอบข้อเขียนของ ใต้ฝุ่น จากไทยรัฐว่าประเทศไทยบริโภคข่าวการเมืองมาก  คนไทยได้อะไร? ผมคิดว่าประการหนึ่ง สับสน ประการที่ 2 “เบื่อ ประการที่ 3 “แค้น   ถ้าประเทศไทยเป็นสังคมฐานความรู้ข้อมูลการเมืองก็น่าจะเป็นประโยชน์มาก แต่จะทำให้คนไทยฉลาดหรือเปล่า จึงคิดแนวสวนกัน Paradox ทางการเมืองคือ คนไทยบริโภคสื่อแบบบริโภคนิยม (Consumption) ไม่ใช้เป็น การลงทุน (Investment) สื่อการเมืองก็จะสร้างปัญหาต่อไป

·       Paradox (แนวสวนทาง) การเมือง คนไทยและสื่อจะสนใจเฉพาะก่อนตั้ง ครม. ใครจะมา ใครอยู่มุ้งไหน แต่ไม่เคยมีสื่อเน้นว่าที่เหมาะสมควรเป็นใคร รายการของไทยพีบีเอสโทรถึงผมว่าในระบบธุรกิจเราจะเลือก CEO แบบไหน ก็บอกไปว่า แบบที่ทำให้ธุรกิจของเขาไม่เจ๊ง แต่การเมืองไทยไม่สนเรื่องนี้ มักจะเลือกตามโควตาอยู่เสมอ จึงเป็นที่มาของการเมืองใหม่ที่อยากเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้

            เรื่องเศรษฐกิจโลก นอกจากเรื่องการเงินระหว่างประเทศแล้ว ดู 3 – 4 เรื่อง

·       ราคาน้ำมันเริ่มขยับอีกแล้ว จะขยับแบบไหน ยุค 147 เรียกว่า ยุคฆ่าธุรกิจทุกชนิด  “Demand Destruction” คือ รับไม่ไหว ดูกันให้ดีครับว่าจะขึ้นแค่ไหน

·       ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือ คุณปู่ Warren Buffet ซึ่งผมชื่นชมในความสามารถของท่านที่ลงทุนอะไรรวยแหลก และเป็นตัวแบบที่ ยั่งยืน รวยแล้วช่วยสังคมอย่างมากมาย อย่างน้อยเขามาร่วมช่วยลงทุนในการแก้ปัญหา ตั้ง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐที่ Goldman Sachs พยุงธุรกิจ แสดงว่าอเมริกายังพอมีความหวัง

·       สาม พอมีปัญหาการเงิน คะแนนของ Obama กลับถีบตัวขึ้น น่าสนใจว่าคนอเมริกายังรังเกียจผิวสีอยู่บ้าง แต่มีความมั่นใจว่า Obama น่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจการเงินได้ดีกว่า Mc Cain

·       สี่ กระทบไทย และ เปลี่ยนวิกฤติ เป็นโอกาสได้อย่างไร  Lehman Brothers เคยมาซื้อหนี้ ปรส. คนไทยก็ซื้อของถูกคืนซิครับ ยุคนี้ เอเชียรวยจริง เพราะผ่านความเจ็บปวดมาแล้ว ผมมองปัญหาของโลกแบบ เข้าใจและสร้างมูลค่าเพิ่ม

·       แต่ที่จะต้องระวังก็คือ ความล้มเหลวเรื่องการเงินครั้งนี้ จะนานแค่ไหน ความต้องการของสินค้าจากไทยในอเมริกาจะลดลงแค่ไหน ต้องดูให้ดี    

            ผมอยากจะเล่างานที่น่าสนใจของผม 3 เรื่อง

            ต่อจากคราวที่แล้ว  เขาค้อ เขาค้อเป็นเขาที่ใช้ตากอากาศและจัดสัมมนาได้ดี เพราะมีอากาศบริสุทธิ์มาก  แบบสวิสเซอร์แลนด์เลย  อยากให้ท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปที่ดี ๆ ของประเทศไทย

            ที่ประทับใจมาก คือ ได้ไปฝึกผู้อำนวยการอาชีวะศึกษา 2 รุ่น กว่า 120 คน มีความสุข ที่ได้เห็นภาพที่แท้จริงของระดับ ผอ. อาชีวะ บางคนดูแลเด็กอาชีวะถึง 6 พันกว่าคน บางแห่งมีการเรียนสาขาปิโตรเคมีที่ตลาดต้องการ และทั้ง 120 คนได้ให้ความเป็นกันเองและไว้ใจผมให้เป็นผู้นำในการสร้างให้เขาเกิดความเป็นเลิศอย่างแท้จริง และยั่งยืน

          ผมค้นพบว่า เมืองไทย ยังมีของดี ๆ อยู่มาก สรุปว่า ผอ.อาชีวะ มีศักยภาพที่เรามองไม่เห็น ซึ่งในอนาคต ต้องหาบุคคล หรือ แรงบันดาลใจให้เขาได้ ปลดตัวเขาออกมาจากกล่อง

                เข้าทฤษฎี 4L’s  ของผม คือ Learning Opportunities เพราะบรรยากาศดี ๆ อากาศ บริสุทธิ์ ความรู้ก็จะโลดแล่น   ทั้ง 120 คน ก็จะไปต่อยอดกันที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในเดือนพฤศจิกายน

                นอกจากนี้ ผมขอบคุณ รศ. ไว จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีมงานที่กรุณา เชิญผมไปเป็น Keynote เรื่องพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สรุปได้ว่า

-          ความสำเร็จของพระองค์ท่านเรื่องคน สะสมมากว่า 60 ปี ต่อเนื่อง และต่อเนื่อง

-          พระองค์ท่านมองคนยากจนเป็นหลัก ให้โอกาสส่วนล่างของสังคม  เรียกว่ามองฐานรากของสังคม

-          พระองค์ทรงศึกษาปัญหาอย่างแท้จริง มีการสร้าง ศูนย์พัฒนาหลาย ๆ แห่งและใช้ทฤษฎีทั้งทางวิทยาศาสตร์ มิติทางสังคม และภูมิศาสตร์ ทำให้เกิดการเข้าใจและรู้ถึงปัญหาอย่างจริงจัง

-          พระองค์ทรงสอนให้คนไทยรอบคอบ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ไม่ประมาท และไปสู่ความยั่งยืน

-          พระองค์ท่านทรงเป็นนักการทูตภาคประชาชนในระดับนานาชาติ อย่างแท้จริง ผมรู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้มีโอกาสจัดกิจกรรมเพื่อน้อมนำปรัชญาของพระองค์ท่านเผยแพร่สู่ชาวโลกได้รับทราบ

 

 

 

 

 

 

 

ภาพบรรยากาศการแสดงปาฐกถา เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการ

พัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ณ โรงแรมริชมอนด์

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551 จัดโดย สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัย

ธรรมศาสตร์

งานสุดท้ายของผม คือ โครงการธุรกิจและภาคราชการ ซึ่งเขาเริ่มใช้การ Search ข้อมูลของผมทาง Internet กลุ่ม Exxon Mobil ที่เชิญผมไปพูดให้ IT กว่า 300 คน ใน 2 รุ่น ผมเคยทำงานเครียดในช่วงหนุ่ม ๆ แต่ก็พยายามบริหารลดความเครียดได้สำเร็จ เพราะรู้จักตัวเอง  รู้จักแบ่งเวลา และรู้จักการออกกำลังกาย และมีชีวิตทีสมดุล Work / Life  Balance

คนไทยบางกลุ่มยังปรับตัวไม่ได้ คงจะเครียดต่อ กระทบต่อสุขภาพมากและขาดกำลังใจมาก

ส่วนเรื่องการทำงานอย่างมีความสุข ผมใช้ 12 กฎเหล็กในการทำงานอย่างมีความสุขของจีระ  ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1.      สุขภาพทางร่างกาย และจิตใจพร้อม  ไม่หักโหม

2.      ชอบงานที่ทำ (Passion)

3.      รู้เป้าหมายของงาน (Purpose)

4.      รู้ความหมายของงาน (Meaning)

5.      มีความสามารถที่จะทำให้สำเร็จ

6.      เรียนรู้จากงานตลอดเวลา  

7.      ได้ความรู้จากลูกค้าและผู้ร่วมงาน

8.      เตรียมตัวให้ดี อย่าประมาท (Preperation)

9.      ทำงานในสิ่งที่ถนัดและได้ใช้ศักยภาพเต็มที่

10.  ทำงานเป็นทีม อย่าทำงานคนเดียว

11.  ทำงานที่ท้าทาย

12.  ทำงานที่มีคุณค่า (Enrichment)

ท่านผู้อ่าน ๆ มีกี่ข้อครับ

 

 

ศ. ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ บรรยาย เรื่องทำงานอย่างไรจึงไม่เครียดและมีความสุขกับการทำงานให้แก่บุคลากรของ Exxon Mobil จำนวน 300 คน ที่อาคารหะรินธร สาทรเหนือ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551

 

                                                                                        จีระ หงส์ลดารมภ์

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม2551

การเมือง : เริ่มมีแสงสว่าง 

          การเขียนบทความทุกอาทิตย์ก็สามารถจับกระแสการเมืองร้อน ๆ ได้ว่า มีความหวังหรือหมดโอกาส หลักการเขียนในแต่ละอาทิตย์ก็เป็นเครื่องชี้ว่าประเทศไทย เราจะไปทางไหนกัน

            จุดเริ่มต้นมาจากท่าที ประนีประนอม เกิดขึ้น และเมื่อมีท่าทีที่ดีต่อกัน เริ่มหาทางเจรจา ในยุคคุณทักษิณ และยุคคุณสมัคร ท่าทีเหล่านั้น ยังไม่เกิดหรือยังไม่สำเร็จ ด้วยเหตุผลความความดื้อรั้นหรือความมั่นใจตัวเอง

            ผมมีความมั่นใจลึก ๆ ว่า ดูประวัติศาสตร์การเมืองชาติไทย และพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว น่าจะมีช่องทางได้เสมอ

            7 วันที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายอย่างเป็นท่าทีที่น่าจะหาทางช่วยกันหาทางออก

            เรื่องแรก คือ การเข้าพบประธานองคมนตรี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ของนายกสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา พลเอกเปรม เดินมาส่งนายกสมชายที่หน้าบ้าน เป็นบรรยากาศที่สร้างความสมานฉันท์ได้ดี

            ผมพูดได้อย่างเต็มปาก เพราะเคยเป็นที่ปรึกษาท่านพลเอกเปรมมาตั้งแต่ผมอายุยังไม่ถึง 40 ปี และได้พบปะกับท่านหลายสิบครั้ง หากพลเอกเปรมไม่พอใจหรือไม่ศรัทธาในบุคคลเหล่านั้น ผมพูดได้เลยว่ายากที่จะเข้าพบท่านไม่ใช่ประเภทจัด ฉาก เพื่อเป้าหมายการเมือง ท่านเป็นบุคคลที่ มองชาติเป็นหลัก นายกสมชาย น่าจะใช้บรรยากาศที่ดี ทำดีและรักษา สัญญาที่ดีต่อคนไทยไว้ อย่าบิดเบือนจุดยืนดังกล่าว ความสำเร็จจากการสร้างความรู้สึกที่ดีแก่คนไทยในการพบกันระหว่าง พลเอกเปรมกับนายกสมชาย คงจะติดตามต้องดูต่อไปว่าจะมีอะไรไปสู่ความสามัคคีของคนไทยหรือไม่คนไทย น่าจะอุ่นใจกับการประนีประนอมที่เกิดขึ้น

                  ก่อนหน้านั้นกลุ่มอธิการบดีมหาวิทยาลัยไทยชั้นนำ 24 แห่ง ออกมาแสดงจุดยืนที่จะให้มีกรรมการอิสระ แบบ สสร 3 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ ที่เคยผลักดันโดยพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีท่าทีว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนายกสมชาย จุดเริ่มต้นที่จะแก้รัฐธรรมนูญและบรรลุเป็นนโยบายในการแถลงต่อสภา เพราะรัฐธรรมนูญ 2550  ไม่ได้เปิดให้มี สสร.จึงต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งในยุคของนายกสมชาย อาจจะมีช่องทางที่เป็นไปได้ กลุ่มอธิการบดี 24 ท่าน เป็นจุดที่น่าสนใจเพราะเป็นผู้ที่ดูแลการผลิตมันสมองของเยาวชนและการวิจัยของชาติ และมีความเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมืองมาตลอด

บทบาทของ พ่อใหญ่จิ๋ว ของเรา ถึงแม้จะอายุเกิน 75 ปีแล้ว แต่ก็ยังมี พลัง ที่จะช่วยประเทศไทยได้ ตามข่าวว่า พ่อจิ๋วไป พบ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. แล้วพลเอกอนุพงษ์ก็ไปพบพลเอกเปรม การนัดหมายก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อวันพุธที่ผ่านมาก็หวังว่าอะไรจะดีขึ้น ยิ่งในยามนี้โลกซีกตะวันตกเพลี่ยงพล้ำ ไทยและเอเชียต้องรุกหนักเพราะเป็นยุคที่เอเชียต้องผงาด เพื่อมีบทบาทในเวทีเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

ผมจำได้ว่า ในช่วงที่ไทยมีปัญหาแต่ทางตะวันตกคือ อเมริกาและยุโรป กลับเจริญขึ้น ยุคนี้อเมริกากับยุโรปมีปัญหา เอเชียต้องเปิดแนวรุก เพื่อจะสร้างพลังทางเศรษฐกิจโลกต่อไป

ข่าวคราว ปัญหาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ครั้งนี้มีข้อดีต่อคนไทย อยู่เรื่องหนึ่งคือ คนไทยเริ่มตื่นตัวสื่อทุกแขนงข่าวกันใหญ่ว่าโลกาภิวัตน์กระทบคนไทยอย่างไร ทั้ง

-          ฉกฉวยโอกาส

-          หลีกเลี่ยงปัญหา

แต่ก็ทำได้ ทรัพยากรมนุษย์หรือทุนมนุษย์ของคนไทยและเอเชียต้องเข้มแข็ง ต้องโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ไม่ใช่งุบงิบกันไม่กี่ตระกูล

บทความของผมในวันเสาร์เช้า เป็นโอกาสดีที่ขอเชิญชวน คนกรุงเทพฯไปลงคะแนนเลือกผู้ว่า กทม. ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้นต่อคนกรุงเทพฯ ผมจำได้ว่ายุคแรก ๆ คนกรุงเทพฯ ไปลงคะแนนไม่ถึง 40% แต่วันนี้ไปลงถึง 60 – 70 % คนกรุงเทพฯ ตื่นตัวมากขึ้น

เผอิญผมรู้จักตัวเก็งทั้ง 4 คนพอควรก็เลยจะขอใช้เวลาวิเคราะห์ทั้ง 4 คน ให้ทราบเป็นการเพิ่มเติมข้อมูล

พูดถึงภาพรวมก่อน ทั้ง 4 คนคือ คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ คุณประภัสร์ จงสงวน และดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เป็นคนมีความรู้และมีประสบการณ์ดี ทุกคนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยดี ๆ ดร.เกรียงศักดิ์จบปริญญาเอกจาก Monash University ประเทศออสเตรเลีย จึงพูดได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นใครคนกรุงเทพฯ ก็รับได้การหาเสียงต่างก็มีนโยบายดี ๆ ออกมาช่วยกทม. ให้ดีขึ้นทำให้ผมมั่นใจว่า การเลือกผู้ว่าฯ จังหวัดอื่น ๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นได้แล้ว เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ระนอง นครราชสีมา และขอนแก่น เป็นต้น

ในบรรดา 4 คน คนที่รู้จักน้อยที่สุดกลับกลายเป็นผู้ว่าอภิรักษ์ แต่ช่วงที่หาเสียงครั้งแรกเมื่อ 4 ปี ก็ได้เชิญท่านออกวิทยุ แสดงความเห็นในรายการของผม ผมเป็นเพื่อนกับคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ก็เคยแนะนำนโยบายบางอย่างผ่านคุณหญิงและระหว่างเป็นผู้ว่าฯก็ได้พบกัน 2-3 ครั้ง

ข้อดี ก็คือเป็นผู้นำแบบมี Charisma คือมีคนชอบและรูปลักษณ์ดีไม่พูดจารุนแรง ชอบประนีประนอนเก่งเรื่องการตลาด การสร้างภาพลักษณ์ ฐานคะแนนแน่นจากพรรคประชาธิปัตย์

ข้อเสีย ทีมของรองผู้ว่าฯชุดที่แล้วคุณภาพอ่อนมาก คุณอภิรักษ์คงชอบเป็นเบอร์ 1 ที่ไม่มีใครกล้าทาบ บารมีและเรื่องใหญ่ เช่น การจราจร  เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการศึกษาของโรงเรียน 400 กว่าโรงใน กทม. และเรื่องพัฒนาข้าราชการ 80,000 คนอย่างจริงจัง ทั้ง 4 เรื่องอ่อนแอมาก ผมยกตัวอย่างเรื่องรถไฟฟ้าต่อจากสะพานตากสิน ซึ่ง กทม.รับผิดชอบแค่ 2 กิโลกว่าก็ยังทำไม่เสร็จ

ผมคาดว่าคะแนนของท่านอภิรักษ์คงเยอะ เพราะกระแสประชาธิปัตย์ยังมีอยู่มาก บุคลิกดี ก็คงมีโอกาสสูงแต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องมีลูกหนักมาก ๆ คือ เรื่องจราจร  เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการศึกษา เรื่องพัฒนาบุคลากรของกทม.อย่างจริงจังและหารองผู้ว่าที่มีบารมีมากกว่านี้หน่อย

คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จบปริญญาตรี/โทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสวนสุนันทา เคยเป็นลูกศิษย์ด้วย พูดว่ารู้จักดีเพราะเป็นน้องชายที่เทพศิรินทร์ เป็นคนที่กล้าหาญชาญชัย

ข้อดี คือกล้าและไม่กลัวใคร ได้คะแนนจากผู้คิดแหวกแนวโดยเฉพาะจากวัยรุ่น

ข้อเสีย คงเป็นเรื่องขัดแย้งทุก ๆ จุด เพราะเป็นคนชอบการขัดแย้ง ขนาดอยู่พรรคชาติไทย คุณบรรหารยังกลัวเลย

คุณประภัสร์ จงสงวน  ผมสนิทมากว่า 10 ปี เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่การทางพิเศษ ผมเข้าไปทำเรื่อง Reengineering ช่วงนั้น ท่านผู้ว่าประภัสร์ยังเป็นหัวหน้ากองอยู่เลย

ข้อดี คือมองอะไร Realistic เป็นศิษย์เก่านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ที่ไม่ได้มีแค่อุดมการณ์แต่ดูความอยู่รอดและเน้นการทำงาน ให้สำเร็จเน้นทฤษฎี Execution อยู่ได้ทุกสมัย มีความฉลาด โดยเฉพาะเรียนนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่เข้าใจวิศวะโดยแอบไปเรียนด้วย ประเภทมองทั้งวิทย์ /ศิลป์ ได้ดี

          ข้อเสีย คือตัดสินใจลงครั้งนี้ช้าไปและลงพรรคที่คะแนนนิยมตกในกรุงเทพฯ น่าจะดูว่าคุณประภัสร์จะได้เท่าไหร่ (ชนะคุณชูวิทย์ไหม) เพราะคนของไทยรักไทยเก่งเคยสนับสนุนตัวแทนพรรคในอดีต แค่ปัจจุบันกลไกการเมืองของไทยรักไทย โดยเฉพาะกลุ่มของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์อ่อนแอลงไปมาก ผมยังถามตรงไปตรง ๆ ว่าลงมาทำไม ถ้าไม่ได้จะกลับมาตำแหน่งเดิมได้หรือเปล่า                                        

        ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผมสนิทมากว่า 20 ปี ตัวผมเป็นนักวิชาการที่มาจากกระแสหลักคือ พูดจริง ทำจริง สอนจริงต่อเนื่องมากว่า 30 ปีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ไม่ค่อยยอมรับ อ.เกรียงศักดิ์ เพราะสอนที่มหาวิทยาลับเกษตรศาสตร์ไม่นานแต่ผมให้โอกาสเสมอ

          ข้อดี  คือชอบหาความรู้ ขยันดีมีองค์กรคริสต์ ดูแลและรองรับดี มี Idea ใหม่มากมายและมีบุคลิกที่ประนีประนอม                                                                                               

         ข้อเสีย คือมองการเมืองแบบชอบมีบทบาททางการเมือง คนเก่งจริงในเมืองไทยยังไม่ค่อยยอมรับ ยังหาจุดของตัวเองไม่เจอว่าต้องการอะไร แต่สังคมไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ไม่เข้าใจ คิดว่าน่าจะเก่ง เพราะเคยเขียนหนังสือมาแล้ว 200 เล่ม จริงแล้วมีคนเก่งกว่า ดร.เกรียงศักดิ์ อีกมากมาย ผมรู้จักเป็นส่วนใหญ่ แต่คนกรุงเทพฯก็ควรให้โอกาส ผมเคยเชิญมาออกรายการโทรทัศน์ของผมแต่แล้วแก่นความรู้จริง ๆ ไม่ แน่น คือรู้เยอะแต่ไม่แน่น คุณอภิรักษ์ ถ้าชนะก็น่าจะนำเอา Idea ของดร.เกรียงศักดิ์ไปทำ

                        สุดท้ายขอแสดงความยินดีกับศิษย์เก่า Schiller International University  ที่ได้จัดงานเลี้ยงชุมนุมนักเรียนเก่าครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2551 และได้พบกับ Dr.Geoffrey Bannister อธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่า Schiller International มีในประเทศไทยกว่า 500 คน และประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ

 

                                     จีระ หงส์ลดารมภ์

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม2551

ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดทั้งในไทยและในโลก

 

            ยินดีกับทีมงาน แนวหน้า ที่ได้ไปพักผ่อนต่างจังหวัดในอาทิตย์นี้ ผมเลยต้องส่งต้นฉบับเร็วเป็นพิเศษ ภายในวันอังคารนี้

            การเขียนของผมครั้งนี้จึงมีปัญหาที่ว่าเหตุการณ์ต่างในโลกและในประเทศของเรา กำลังเข้มข้นอย่างมาก

            ในประเทศของเรา ระหว่างที่เขียนเห็นบรรยากาศการ ประนีประนอม จากบทความสัปดาห์ที่แล้วยังมีความผันผวนอย่างมากเพราะคืนวันจันทร์ ที่ 6  วันที่ 7 กลุ่มพันธมิตรก็บุกล้อมรัฐสภา และมีการสลายการชุมนุมของตำรวจรุนแรงมีประชาชนบาดเจ็บกว่า 40 คน เพื่อไม่ให้มีการแถลงนโยบายในสภาของรัฐบาล นายกสมชาย ก็ไม่รู้ว่าการเมืองจะจบอย่างไร

        ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น การหาทางออกของการเมืองไทยจะต้องอดทนและเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป ในที่สุดทุกฝ่ายคงจะมีทางออกร่วมกัน กว่าบทความจะตีพิมพ์ในวันเสาร์คงจะมีการคลี่คลายประเด็นการเมืองไปทิศทางที่มีความหวัง คนไทยทุกคนและภาครัฐก็ต้องช่วยกันประคับประคองให้ชาติของเราเดินไปข้างหน้าได้

            ช่วงนี้เป็นช่วงปรับการเมืองของไทยอีกรอบหนึ่ง ปรับเพื่อดึงเอาการเมืองที่มี มีคุณธรรม จริยธรรม กลับเข้ามาข้อสำคัญการมีส่วนช่วยของภาคประชาชนอย่างแท้จริงและเป็นประโยชน์ในระยะยาว

ระดับระหว่างประเทศยอมรับว่ารุนแรง น่ากลัวมาก คนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่จุดไหน คนไทยควรจะต้องศึกษาและระมัดระวังการใช้ชีวิตอย่าประมาทอย่างมาก ๆ

            เรื่องแรก คือการแก้ปัญหาเรื่อง ระบบการเงิน ที่เริ่มมีปัญหามาจาก Sub-Prime ขณะนี้ลุกลามไปมาก ถึงแม้ว่าจะมีการผ่านกฎหมาย 7แสนล้านเหรียญ ของสภาคองเกรส สหรัฐฯ ให้กระทรวงการคลังนำไปซื้อหนี้เสียแต่ความมั่นใจประชาชนต่อระบบธนาคารของสหรัฐก็ยังมีไม่มาก สิ่งแรกคือ

·       ระบบวาณิชธนกิจสหรัฐฯที่เป็นปัญหาจะกระทบต่อ ธนาคารหลัก ทั่ว ๆ ไปของสหรัฐหรือไม่? การทำงานของธนาคารหลักที่รับเงินฝากและปล่อยกู้ เพื่อดำเนินธุรกิจ Real Sector ทั่ว ๆ ไปของสหรัฐจะมีปัญหาลุกลามมากกว่านี้หรือไม่

·       การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจากปัญหาเหล่านี้จะรุนแรงมากกว่านี้แค่ไหนเช่นคนอเมริกาตกงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปแค่ไหน

·       ภาค Real Sector ยังทำงานได้ดีหรือไม่ และจะลุกลามไปยุโรป เอเชีย ต่อไปอย่างรุนแรง เป็นลูกโซ่หรือไม่

 ประเทศไทยจะปรับตัวในการดูแลเศรษฐกิจของเราอย่างไร ผลกระทบต่อประเทศของเราในระยะสั้น ระยะกลางและยาว จะเป็นอย่างไร การส่งออกจะเป็นอย่างไร และที่แน่ ๆ คือระบบสภาพคล่องของสถาบันการเงินของไทยถูกกระทบจะเป็นอย่างไร?

            ขอให้คนไทย ทุก ๆ คน ตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาทและใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราเป็นที่พึ่ง

            สัปดาห์ที่แล้วผมได้ไปร่วมงาน นวัตกรรมแห่งชาติ  2008 ซึ่ง ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์กรนี้จัดการประชุมประจำปีทุก ๆ ปี และเน้นให้ประเทศของเรามีความสามารถในการดำเนินการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมอยู่เสมอ ปีนี้ก็เลือกหัวข้อเกี่ยวกับการใช้ พลังงานที่มากจาพืช ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหา ราคาของพลังงานของโลกทีขึ้นและลง และช่วยลดภาวะโรคร้อนของโลกไปได้

            ผมเพิ่งทราบว่าไทยไม่ใช่เก่งเฉพาะการเกษตร พลังงาน เช่น ผลิต แก็สโซฮอล

เท่านั้น ประเทศไทยยังมีโอกาสใช้พืชเพื่อทำวัตถุ เช่น พลาสติกได้ด้วยซึ่งสามารถเป็นธุรกิจที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันกับโลกภายนอกได้ ธุรกิจในไทยได้แสดงศักยภาพในเรื่อง Bioplastics ในหลาย ๆ รูปแบบอยู่ในระดับเอเชียได้

            ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการของ UNCTAD ได้เดินทางมาร่วมงานด้วย ผมได้ฟังท่านกล่าวให้เห็นว่า การจะใช้พืชผลิตพลังงานเป็นเรื่องที่ประเทศกำลังพัฒนาในโลก สามารถดำเนินการได้อย่างดีแต่ต้องระมัดระวัง หลายเรื่องอย่างเช่น

·       การใช้ทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

·       การใช้ความรอบคอบในเรื่องความสมดุลระหว่างอาหารและพลังงานไม่ให้ราคาอาหารโลกสูงขึ้นไป สร้างภาวะเงินเฟ้อให้แก่เศรษฐกิจโลก

ผมได้สัมภาษณ์ ดร.ศุภชัย เป็นกรณีพิเศษ ท่านผู้ฟังติดตามได้ในวันเสาร์ที่ 11 ตุลาคมนี้ เวลา 23.00 น. ทางช่อง TNN 2  จะได้เห็นบรรยากาศที่ผมกับ ดร.ศุภชัยได้คุยกันหลายเรื่องในฐานะเพื่อนร่วมรุ่นเศรษฐศาสตร์ ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว

ต้องให้คนไทยระวังเรื่องภาวะวิกฤติการเงินของโลก อาจจะลามมาถึงไทย ดร.ศุภชัย ย้ำว่าเศรษฐกิจพอเพียงในสายตา ของ UN เป็นทางออกที่ดี ดร.ศุภชัย ตั้งข้อสังเกตว่า ทุนนิยมโลกจะไปกันทางไหน และจะทำงานได้ดีและเป็นบทบาทของรัฐบาลในการแทรกแซงตลาด และสนับสนุนให้เกิดนโยบายสาธารณ ดังเช่น การสร้างทุนมนุษย์ หรือการรักษาเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ยังจำเป็น

ท่านเตือนว่าโลกาภิวัตน์ยุคสองที่กำลังมาต้องเป็นโลกาภิวัตน์ ที่เอเชียจะต้องมีบทบาทมากขึ้นกว่าในอดีต และเป็นยุคที่โลกจะพึ่งพาเอเชียมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด

สุดท้ายผมได้ไปสอนหนังสือปริญญาโทภาคพิเศษของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการทำ Workshop กำหนดทิศทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย มี 3 เรื่องที่น่าสนใจ สำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเอาจริง

·       การศึกษาต้องเน้นคุณภาพมากขึ้นและสอดคล้องกับการเพิ่มปริมาณ

·       วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะในโรงเรียนและการพัฒนาชนบท

·       การสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้ทรัพยากรมนุษย์ไทยมากขึ้น

 

                                   จีระ  หงส์ลดารมภ์

 

 

 

 

 

 

 

 

จีระ  หงส์ลดารมภ์     

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม2551

 

ทฤษฎี 3 เด้ง + 1 เด้งใหม่

            สัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย คนไทยจะอยู่รอดอย่างไร ก็คงจะขึ้นอยู่กับการใช้สติปัญญาในการเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น คิดเป็นวิเคราะห์เป็นไม่ใช่แบ่งเป็นพวกและในที่สุดก็ใช้กำลังเข่าต่อสู้กัน แบบที่บางกลุ่มต้องการ

       ผมมั่นใจว่าถ้าคนไทยได้รับการพัฒนากรอบความคิดจะช่วยให้หาหนทางสว่างได้แน่นอน

       ปัญหาใครเป็นคนทำ ทำต่อเนื่อง อดทนมีทรัพยากรพอเพียง ครอบคลุมทุก ๆ จุด ของสังคมหรือมีบุคคลหลายกลุ่มเริ่มคิดคล้าย ๆ กัน

       ท่านแรกก็คือ อ.ประพันธ์พงศ์ เวชาชีวะ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ ในการเมืองเพื่อส่วนรวมมากมายเขียนบทความล่าสุดใน “แนวหน้า” ว่าปฎิรูปการเมือง ต้องปฎิรูปการศึกษาด้วย ท่านคงหมายถึง ปฎิรูปวิธีการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กไทยคิดเป็น ไม่ใช่ปฎิรูป “โครงสร้าง” ที่เป็นอยู่และสร้างความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงให้แก่ ระบบการศึกษาไทย

       ส่วนอีกท่านหนึ่งที่ผมมั่นใจว่าจะทำได้คือ ศ.ดร.สุจิตร บุญบงการ ที่จะทำเรื่อง สภาการเมืองภาคประชาชน คงใช้เวลาให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องประชาธิปไตย แบบไทย ๆ แทนที่จะเป็นประชาธิปไตยแบบ “เงินนำ” และมีหัวคะแนนสนับสนุน ผมอยากให้สภาการเมืองภาคประชาชนเน้นการสร้างจิตสำนึกทางประชาธิปไตยระยะกลางและระยะยาว

และสุดท้ายก็คือ เพื่อนรักของผม ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ถูกถามตรงในรายการคิดเป็น ก้าวเป็น กับดร.จีระ รายาการโทรทัศน์ของผม ว่าการเมืองไทยเป็นอย่างไร บอกว่าดูเหมือนว่าเปลี่ยนแต่จริง ๆ แล้วยังแบบเดิมอยู่มาก แถมบอกว่าการเมืองไม่ใช่ “แค่มรดกยกให้ลูก”

       เรื่อง“มรดก” ยกให้ลูกขอพูดถึง คุณบรรหาร ศิลปะอาชา หวังว่า ท่านคงไม่โกรธ ผมกับท่านบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นมิตรกันอย่างดี แต่ต้องบอกกับท่านบรรหารว่า ช่วงสู้กับ “ระบอบทักษิณ” โดยไม่ยุบพรรคชาติไทยไปรวมกับไทยรักไทย

ขณะนี้ความดีเหล่านั้นหายไปหมดแล้ว เพราะผิดกฎของเพื่อนผมคือ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เพราะ “ทำไมต้องตั้ง คุณวราวุธ”  ลูกชาย เป็นรัฐมนตรีเพื่อแค่เป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูลหรืออย่างไร เพราะประสบการณ์ของคุณท๊อปไม่พอเพียงและสร้างความลำบากใจให้แก่ข้าราชการกระทรวงคมนาคม ที่อายุมาก ๆ เช่น ระดับอธิบดี รองอธิบดี ไม่ใช่ว่าอายุน้อยเท่านั้นผมคิดว่าประสบการณ์ ไม่มีความเป็นผู้ใหญ่พอ แถมยังแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายคมนาคมแบบตื้น ๆ ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ฟัง

       ผมหวังว่า “คำแนะนำ” ของผมจะไม่ทำให้ท่านบรรหารโกรธ และอาจจะมองว่าผมไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนแต่ท่านก็ต้องสร้างมาตรฐานการเมืองใหม่ ไม่อยากให้การเมือง เป็นกิเลสของครอบครัว มาทำให้ท่านเสียชื่อตอนแก่  เพราะ ดร.ศุภชัย เพื่อนรักผมบอกว่าหากใครจะเล่นการเมืองต่อไปต้องถามว่า

-        เคยทำอะไรมาแล้ว เพื่อประชาชนมาบ้าง

-        มาเล่นการเมืองแล้วจะทำอะไรให้แก่ประชาชนบ้าง

อาทิตย์นี้ ผมเลยขอยืมการ์ตูนของ Bangkok Post มาลง ซึ่งแสดงให้เห็นทฤษฎี 3 เด้งของผม

เด้งแรก คือ พันธมิตรและปัญหาการเมือง

เด้งสอง คือ เศรษฐกิจการเงินของโลก

เด้งที่ 3  คือ ชายแดนเขมร ที่น่าสนใจก็คือทั้ง 3 เด้งในการ์ตูน Bangkok Post มีรูปคล้าย ๆ คุณทักษิณอยู่เบื้องหลังจะไม่ให้ผมวิเคราะห์ คุณทักษิณได้อย่างไร เพราะการ์ตูนเขียนเป็นรูปเหลี่ยมไว้ หรือกอาจจะหมายถึง นายกสมชาย วงศ์สวัสดิ์

แถม ยังมีอดีตนายกฯ อานันท์ บอกว่า ปัญหาหลัก ๆ รากเง้าของปัญหามาจากคุณทักษิณ โดยเฉพาะเรื่องการขัดแย้งทางการเมืองซึ่งท่านผู้อ่านต้องไปคิดต่อว่าจริงหรือไม่ สื่อหลายฉบับก็ยังต้องขอสังเกตต่อไปว่า เรื่องเขมรเป็นฝีมือ คุณทักษิณหรือเปล่า ? ผมไม่ฟันธง แต่เคยได้ยินคุณนพดล ปัทมะ ช่วงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คุยว่า ประเทศไทยจะไม่มีทางเสียดินแดน สักตารางนิ้วเดียว ซึ่งจุดนี้ก็ดูเหมือนว่า “ไม่จริง”

เด้งที่ 4 คือเมื่อวันพฤหัสคณะนายทหารทั้ง 5  คือ พล..ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล..อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล...อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล...กำธน พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ และพล...พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รวมตัวกันมาเตือนรัฐบาลให้รับผิดชอบซึ่งเป็นการแสดงออก แบบ “ปฎิวัติแบบใช้สื่อ” เพราะการเมืองยุคปัจจุบันของ ส..ยุคนี้เอาแต่ปริมาณโควต้าและอ้างสิทธิ เป็นประชาธิปไตยหลายกลุ่มตั้งโจทย์ว่า การเมืองแบบนี้เพื่อใคร และทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร

ผมขอให้ท่านติดตามรายการใหม่  รายการ คิดเป็น ก้าวเป็น กับดร.จีระ ออกอากาศ ทาง TTV 2  ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 22.00 . ผมจะตอบคำถามสดให้กับท่านผู้ฟังที่อยู่ทางบ้าน ที่ผ่านมา 2 ครั้ง ผู้ชมทางบ้านให้ความสนใจ โดยเฉพาะคำถามที่เน้น เรื่อง คนหรือทุนมนุษย์ เช่น

·      ทำไม ? คนไทยบ้าปริญญา มากกว่าปัญญา

·      ทำไม? เด็กไทยไม่เรียนอาชีวะ แต่ชอบเรียนปริญญา

·      ทำไม? จบปริญญาตรีเต็มบ้าน เต็มเมือง แต่ประเทศยังไม่เจริญปัญหาเหล่านี้ น่าสนใจ

และสุดท้ายผมกับนักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาร่วมกับมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนานาแสตมฟอร์ดและ Chira Academy ในการจัดสัมมนาเพื่อกระจายข้อมูลสู่ประชาชนในมุมมองกว้างได้ทรารบ เรื่อง การสร้าง “ทุนมนุษย์” ทีดีต้องเก่ง ดี มีคุณธรรมและยั่งยืนครับถึงจะรอดคำถามว่า ทุนมนุษย์เหล่านี้ใครจะสร้างขึ้นมา ?                                                    

                                          จีระ  หงส์ลดารมภ์

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม2551

  

นมัสการสัมภาษณ์หลวงพ่อคูณ เรื่องการศึกษา

            ผมคิดมานานแล้วว่า ศาสนาพุทธกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องเดียวกัน แต่หลายครั้งที่นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการพยายามแยกออกจากกัน

            กรณีศึกษาที่น่าสนใจ สมัยที่ผมเรียนเทพศิรินทร์ ชื่อโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ ได้คุณภาพ จริยธรรมไปด้วย เล่นฟุตบอลให้โรงเรียนต้องไปกราบขอพรจากท่านเจ้าคุณก่อนการแข่งขันทุก ๆ ครั้งก็มีความสงบดี มีสมาธิดี

            คุณพ่อผม นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ ได้ดีก็เพราะเคยเป็นเด็กวัด คุณลุงผมท่านมหากิมซึ่งบวชเป็นพระมาก่อนพาคุณพ่อในวัยเด็กจากอำเภอพยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ มาเป็นเด็กวัดมหาธาตุ เรียนจบที่เทพศิรินทร์และไปต่างประเทศ เท่าที่ทราบท่านนายกชวน หลีกภัยและอีกหลายคนก็เป็นเด็กวัดเป็นส่วนใหญ่

คุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว บอกเมื่อช่วงผมเป็นนายกสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ให้นำชื่อโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์กลับมา

            สัปดาห์นี้นอกจากมีเหตุการณ์มากมายเกี่ยวกับการเมืองและการตัดสินคดีอดีตนายกฯ คุณทักษิณ ชินวัตร ผมยังมีเรื่องจะเล่าหลายเรื่อง

            ผมได้มีโอกาสไปนมัสการหลวงพ่อคุณ ปริสุทโธ ที่วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา และได้สัมภาษณ์ท่านออกรายการคิดเป็น ก้าวเป็นกับดร.จีระ ทาง TNN8  วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน 2551 เวลา  9.10 –10.00  น. และ 22.00 – 22.50 น. เป็นความโชคดีและบุญของผมและทีมงานทีได้เจอและใกล้ชิดหลวงพ่อคูณ นานกว่า 45 นาที

 เหตุผลแรกมาจากโอกาสที่ผมได้ไปฝึกอบรมผู้บริหารอาชีวะอย่างต่อเนื่อง และมีเหตุการณ์ 2 เรื่องบรรจบกันคือ

§       รองผู้อำนวยการประภารัตน์ วงศ์ศักดา ที่วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวนครราชสีมา เป็นลูกศิษย์ สามีของท่านคือ ผ.อ.สำเร็จ วงศ์ศักดา เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

§       ในวันอังคารและพุธที่ผ่านมาผมไปช่วยสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ฝึก Knowledge Camping ความรู้กับเทพศิรินทร์ 10 แห่ง รวมนักเรียนกว่า 200 คน ที่อำเภอมวกเหล็ก เมื่อเสร็จถือโอกาสต่อเนื่องประสานงานท่าน ผ.อ. สำเร็จ วงศ์ศักดาไปนมัสการพระคุณเจ้าหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

ในชีวิตผมประทับใจและซาบซึ้งหลวงพ่อคูณ ในหลายเรื่อง แต่เรื่องสำคัญคือ เรื่องการศึกษา หลวงพ่อคูณได้ลงทุนจัดหาทรัพยากรมากกว่า 500 ล้านบาท สร้างวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธและยกให้เป็นสมบัติของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งได้ทั้งที่ยากจน ที่อำเภอด่านขุนทด ห่างไกลจากตัวเมือง แต่ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยอาชีวะที่มีชื่อเสียงทางด้านสร้างเด็กในอำเภอด่านขุนทดให้มีทักษะ มีวินัย มีคุณภาพ สาขาที่เปิดสอนมีตั้งแต่ ปวช.และปวส. ตั้งแต่ช่างไฟฟ้า ช่างกล ช่างกลึง และวิชาทางด้านบริหารจัดการ ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 2,200 คน

            ผมได้สัมภาษณ์หลวงพ่อคูณว่าทำไม? หลวงพ่อฯ จึงสนใจเรื่องการศึกษา ท่านบอกว่าการพัฒนาคนเป็นเรื่องจำเป็นที่ทำให้หลุดพ้นจากความยากจน หลวงพ่อเคยเล่าให้ครูที่วิทยาลัยฯฟังว่า ที่ดินมีจำกัด แต่สมองมนุษย์ไม่จำกัด

            ผมเองได้มีโอกาสไปช่วยทุนมนุษย์ในภาคอีสานอยู่เสมอและบุคคล 2 ท่านคือ คุณวันชัย ภูนาคพันธุ์ และอาจารย์สิริกร แพงทอง ซึ่งท่านหนึ่งอยู่อำเภอด่านขุนทดเป็นผู้นำเกษตรกรที่มีความรู้สนใจการหาความรู้อย่างต่อเนื่อง และอาจารย์สิริกร ซึ่งปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการอยู่วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณฯ ซึ่งเป็นลูกศิษย์  HR พันธุ์แท้ของผมที่ติดตามแสวงหาความรู้กับผมอย่างต่อเนื่อง จะช่วยกันในการพัฒนาทุนมนุษย์ในภาคอีสานต่อไป

            วิธีการพัฒนาคือจะให้เด็กอีสานและผู้ที่ทำงานไม่เน้นวัตถุนิยม แต่เน้นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมกับความรู้ใหม่ ๆ มากที่สุด

            จุดสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณประสบความสำเร็จ คือมีผู้นำและผู้บริหารดี มีคุณธรรมและทำงานต่อเนื่อง ท่าน ผ.อ.สำเร็จ ได้เข้ามารับใช้หลวงพ่อคูณตั้งแต่การก่อสร้าง กว่า 20 ปี และเป็น ผ.อ.คนเดียวและคนแรก การบริหารจัดการจึงมีความเป็นอาชีพและโปร่งใสปราศจากการเมือง ผมยังได้สัมภาษณ์ท่าน ผ.อ.ในรายการฯของผมด้วย

            ผมตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยมีฐานะอยู่ได้แล้ว  บางกลุ่มอยู่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ ๆจะสนับสนุนการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมแบบนี้จริงหรือไม่? เพราะประเทศไทยอยู่ได้ด้วยการผนึกกำลังกันระหว่างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายเอกชน ฝ่ายประชาชนและฝ่ายศาสนาฯ

            หลายคนที่เป็นศิษย์หลวงพ่อคูณที่เป็นห่วงท่าน ปีนี้ท่านอายุ 85 ปีแล้ว แต่สุขภาพของหลวงพ่อคูณก็ไม่ดีนักอ่อนแอไปมาก แต่ขวัญกำลังใจยังมีอยู่ ท่านกล่าวว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ตายก็รู้เอง

            สัปดาห์ที่แล้วมีการสัมมนาทางวิชาการหลายเรื่องที่อยากนำมาแบ่งปัน เช่น การจัดสัมมนาในโครงการปริญญาเอก สาขานวัตกรรมการจัดการของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีลูกศิษย์ที่เรียนอยู่ 11 คน ช่วยกันจัดฯและนำเสนอแนวคิดที่เรียนมาเพื่อกระจายไปยังกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นลูกศิษย์ ผมเรียกว่า Outreach

            สรุปว่าจะอยู่ในโลกาภิวัตน์ได้ต้องสร้างทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพ

§       คิดเป็น (ทุนทางปัญญา)

§       ทำเป็น (Execution)

§       ทุนแห่งสุข (Happiness Capital)

§       ทุนแห่งความคิดสร้างสรรค์ (Creativity Capital)

มีผู้ทรงคุณวุฒิได้มาร่วมออกความเห็นที่น่าคิดและน่าฟัง  3 ท่าน คือ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย  ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ และ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แต่ละท่านได้ให้มุมมองที่น่าสนใจมาก ผู้อ่านนำไปใช้ได้

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ เน้น Super Human Capital for Globalization ต้องเน้นการสร้างผู้นำด้วย

§        มีปัญญา

§       มีคุณธรรม

§       กล้าตัดสินใจ

§       กล้าหาญ ในสิ่งที่ถูกต้อง

§       มีมารยาท บุคลิกภาพที่เหมาะสม

ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ เน้นและยกตัวอย่างบุคคล 2 คนของโลก 2 คน คือ Obama กับ Ophra Winfrey  คือปรับตัวให้เข้ากับความหลากหลายทางรัฐบาลไปสู่ความเป็นเลิศได้

คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย เน้น

§       คนทำธุรกิจต้องมีคุณธรรม และจริยธรรม

§       เรียนรู้จากภูมิปัญญาของคนไทย และตะวันออกผสมกับตะวันตก

§       องค์กรแห่งการเรียนรู้ ขอเปลี่ยนเป็น Living and Sharing Organization  

§       คุณค่า มีความหมายมากกว่าคำว่า มูลค่า

ส่วน อดีตหัวหน้าพรรคการเมืองอย่าง ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กลุ่มข้างล่างและผู้ตามด้วย

§       มองให้ครบ อย่ามองผู้นำระดับบนเท่านั้น มองล่างด้วย

§       คนไทยเก่งเพราะอะไร ต้องดูความถนัด เช่น เก่งในการบริการและเก่งในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่เก่งในทางคิดอย่างเป็นระบบ และหัวอ่อน

§       คนไทยทั่ว ๆ ไปดีอยู่แล้วแต่ผู้นำบางครั้งไปยัดเยียดของไม่ดี เช่นการเมืองยัดเยียดให้ประชาชนคนไทยแบมือขอนักการเมืองไม่พึ่งตัวเอง

ถ้าแฟน แนวหน้า ต้องการก็ส่งโทรศัพท์ ชื่อและที่อยู่มาถึงคุณเอราวรรณ แก้วเนื้ออ่อน โทรศัพท์ 02-619-0512-3 ผมจะพิมพ์สรุปแบบละเอียดถอดเทปทุกคำพูดประมาณ 100 หน้า มอบให้ผู้สนใจมาจองและจะมี Execution Summary อีก 2- 3 หน้า และจะแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย

สุดท้าย Knowledge Camping ของเทพศิรินทร์ 10 แห่ง ปีนี้เป็นปีที่ 10 แล้ว ผมได้ไปทุก ๆ ปี แต่ปีนี้ไปเป็น Coach 2 วัน 1 คืน ให้เด็กมองอนาคตโลกและประเทศไทยใน 10 ปี มี 5 เรื่องที่สรุปได้

§       เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไรกระทบไทยอย่างไร วิกฤติโลกอาจจะเป็นโอกาสของไทย

§       พลังงานและภาวะโลกร้อน

§       แก้ปัญหาการขัดแย้ง ในระดับโลกและประดับประเทศ จะรุนแรงมากขึ้น แต่ระดับโลก Obama ถ้าได้เป็นอาจจะมีแนวโน้มสมานฉันท์มากขึ้น แต่ในไทยต้องมีการศึกษาคิดเป็นวิเคราะห์เป็น  

§       สร้างคุณธรรม จริยธรรม อย่าโลภ รู้จักพอ อย่าบ้าอำนาจ เน้นเศรษฐกิจพอเพียงต้องเอาจริง

§       สร้างวิธีการเรียนรู้คิดเป็น วิเคราะห์เป็น ดีที่สุดและทุก ๆ ระดับ

              ผมขอฝากให้ผู้อ่านทุกท่านตั้งอยู่ในความไม่ประมาทกับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ต้องตั้งสติให้ดีครับ

 

 

จีระ  หงส์ลดารมภ์

 

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 1  พฤศจิกายน 2551

  

 

คู่กัด 2 คู่ เพื่อแผ่นดินไทยของใคร?

 

            7 วันที่ผ่านมาจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ว่ามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดถึง และกลายเป็นตลกการเมืองประจำสัปดาห์ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง 2 เรื่องใหญ่ ซึ่งเมื่อเขียนเป็นหลักฐานในหนังสือพิมพ์แนวหน้าในอีก 20 – 30 ปีข้างหน้าหรือมากกว่านั้นก็ใช้ในการอ้างอิงได้

            คู่แรกก็คือ คุณรสนา  โตสิตระกูล กับคุณการุณ โหสกุล ในความไม่สำรวมกริยามารยาทของนักการเมืองสมาชิกฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะคุณการุณ ทราบอย่างชัดเจนว่า บุคคลผู้นี้เป็นนักการเมือง เพื่อใครและมีอุปนิสัยเป็นอย่างไร แต่ที่น่าเศร้าก็คือปรากฏภาพและเสียงที่ไม่สมควรออกมาสู่สายตาประชาชน ทำให้ประชาชนและเยาวชนคิดว่าเป็นวัฒนธรรมของการเมืองทำให้เขาเห็นว่า ผู้นำหรือตัวแทนของเขาจะต้องมีบุคลิกดังกล่าวที่น่าคิดต่อคือ

§       ทำแล้ว ทำอีก ไม่จดจำ ไม่อาย

§       ยังไม่รู้จักตัวเองว่า ที่ทำไปนั้นสร้างแบบอย่างที่ไม่ดีให้แก่สังคมไทย  

สุภาษิตฝรั่งเขียนไว้ว่า คนมี 2 ประเภท

§       ประเภท รู้ตัวว่ามีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และพยายามจะแก้

§       อีกประเภทหนึ่ง คือไม่รู้ว่าที่ตัวเองทำไปนั้น ผิด ถูกเป็นอย่างไร? ไม่รู้จะแก้ตรงไหน  จึงไม่รู้ที่จะแก้ไขตัวเอง

การเมืองระบบทักษิณเป็นการเมืองที่เอาปริมาณ ขาดคุณธรรม จริยธรรม ไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพ ขอให้มีสมาชิกสภาเสียงข้างมากก็พอเพียง

อีกคู่หนึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน ระหว่าง คุณประสงค์  โฆษิตานนท์ กับคุณไชยยศ จิรเมธากร  ซึ่งแสดงทาสแท้ของนักการเมืองว่า

§   การเป็นรัฐมนตรีคือสุดยอดของชีวิต ทำประโยชน์ให้ชาติหรือไปเปล่าไม่ทราบ?

§   ประเทศจะบอบช้ำอย่างไรไม่ทราบ ขอตัวเองได้ก่อนโดยเป็นรัฐมนตรี

การวิเคราะห์บุคคล 2 คู่ ถ้าสื่อ ของเราเป็นกลางและเก่งจริง ๆ ก็คงจะสร้างกฎระเบียบของสภาฯในเรื่อง จริยธรรม ทางการหรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Code of Conduct แต่สิ่งที่จะช่วยได้มาก  ที่สุดคือ ประชาชนทั่วไปในการตัดสินใจเลือกบุคคลที่จะมาเป็นตัวแทน ประชาชนต้องคิดเป็น ว่าดีหรือไม่ดีแตกต่างกันอย่างไร สังคมไทยต้องหารูปแบบการเมืองใหม่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่นักการเมืองได้ประโยชน์เท่านั้นอย่างนอดีตที่ผ่านมา

คงจะดูกันว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน เหตุการณ์รุนแรงมากอะไรจะเกิดขึ้น ระหว่างที่ผมเขียนบทความในวันพฤหัสบดีก็มีปรากฏการณ์ความรุนแรง คือการปาระเบิด มีผู้บาดเจ็บกว่า 10 คน ซึ่งวิธีแบบนี้ก็คงอธิบายไม่ยากว่าใครเป็นคนทำ ทำเพื่ออะไรและเพื่อใคร?

ประเทศไทย สะสมความเข้มแข็งมากกว่า 700 ปี ขนาดสู้กับประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศส เรายังสู้ได้ ฉะนั้นคนไทยต้องฉลาดในการดำรงชีวิต คือ

§       รู้ทันโลกและทันการเมืองไทย

§       ติดตามข้อมูลข่าวสารให้สดและนำมาคิดต่อยอด

§       งานที่ทำอยู่ แต่ละบุคคลทำให้ดีที่สุด

เรื่อง งานของแต่ละคน อย่าไปรอว่าการเมืองสงบแล้วจะดี บางเรื่องควบคุมไม่ได้ ผมเอง งานที่ช่วยสังคมไม่ว่า ระดับประเทศหรือระดับในประเทศ ไม่ว่ารากหญ้าหรือระดับส่วนใหญ่ข้ามชาติ ถ้ามีโอกาสก็จะทำให้ดีที่สุดเสมอ และในขณะที่เศรษฐกิจทรุดไม่มีนโยบายลดพนักงาน ไม่เหมือนนักธุรกิจไทยหลาย ๆ กลุ่ม ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกที่เราควบคุมไม่ได้เกิดการปลดคนงานอย่างมโหฬาร

สื่อในเมืองไทย ซึ่งเล่นข่าว เป็นกระแส บางทีก็วิเคราะห์ผิด แต่ก็มีอิทธิพลมากมาย เช่น รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่านหนึ่งออกมาแถลงว่าคำสั่งซื้อของจากต่างประเทศประเภทสินค้าส่งออกอุตสาหกรรมลดลง จะมีการว่างงานเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน ก็พูดกันไปใหญ่โดยไม่วิเคราะห์ให้รอบด้าน ซึ่งในอดีตสมัยผมอยู่ที่สถาบันทรัพยากรมนุษย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การให้ข้อมูลต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง

การเลิกจ้างอาจจะมีในภาคบริการด้วย ซึ่งปัจจุบันในภาคบริการของไทยเป็นผู้จ้างงาน ในระดับปริญญาตรี และอาชีวะอย่างมาก เช่น

§       การแพทย์และสุขภาพของประชาชน

§       สันทนาการและการกีฬา

§       การค้า การขายปลีก ขายส่ง

§       การขนส่ง

§       การท่องเที่ยว

§       การศึกษา

§       โทรคมนาคม

§       บันเทิงและโฆษณา

§       การศึกษา

 

ซึ่งมีการจ้างงานในภาคบริการกว่า 12 – 15 ล้าน ดังนั้นถ้ามีปัญหาเลิกจ้างก็อาจจะเกิดในภาคบริการด้วยไม่ใช่เฉพาะภาคอุตสาหกรรม

ภาคอุตสาหรรมอาจจะไม่ต้องเลิกจ้างทันทีชะลอไว้ก่อน เช่นลดชั่วโมง OT หรือลดชั่วโมงการทำงานลงก็ได้ หรือรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นให้ทันเหตุการณ์ชะลอการเลิกจ้างหรือลดดอกเบี้ย  

ที่ผิดมากก็คือจำนวนแรงงานใหม่ที่เข้ามาสู่ตลาดแรงงานต่อปี ฐานตัวเลขใหม่ไม่เกิน 500,000 คน  ไม่ใช่ 700,000 คนอย่างที่พูดกัน เพราะประเทศไทยลดประชากรมามากแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ทัศนคติของนายจ้างที่

§       นายจ้างมองคนงานแบบใช้เป็นเครื่องมือการทำกำไร ไม่ได้เน้น HRDS คือ

 1. Happiness  คือความสุขในการทำงานร่วมกัน

 2. Respect  คือ ต้องนับถือ ผู้ร่วมงานทุกคน

 3. Dignity คือ ต้องมองมนุษย์ทุก ๆ คน ว่ามีศักดิ์ศรี

 4. Sustainability คือ ต้องอยู่รอดอย่างยั่งยืน

§       ช่วงนายจ้างมีเงินและมีกำไรแต่ไม่พัฒนาทักษะหรือความสามารถในการจัดการ เลยทำให้แรงงานงานไม่มีคุณภาพ ลงทุนในการพัฒนาฝีมือแรงงานหรือจัดการมีการทำเฉพาะในธุรกิจใหญ่เท่านั้น

 และประเด็นสุดท้ายเรื่องแรงงานต่างด้าวมาเมืองไทยซึ่งประเทศไทยอนุญาติให้จดทะเบียนทำงานทำให้มาแย่งงานคนไทยไป

สุดท้ายผมฟันธงว่าอาทิตย์หน้า มีประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐแล้ว คาดว่าเป็น Obama อาจจะชนะขาดลอย เมื่อนั้นอเมริกาและโลกก็จะหันมาช่วยคิด ช่วยทำให้โลกยุคใหม่ที่ทุนนิยมแบบคนรวยระดับ Superclass  6,000 คนควบคุมโลกค่อย ๆ หายไปเพราะเป็นยุคที่ทุกคนในโลกมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

                      จีระ หงส์ลดารมภ์

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 8  พฤศจิกายน 2551

 

Obama : ขอแสดงความยินดีและให้กำลังใจทำงาน

            หลังจากคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จบลงเรียบร้อย มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ

§       เรื่องแรก ไม่มีการพลิกล็อก เป็นไปตามคาด Obama ชนะขาดลอย

§       มีประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา

§       ประเด็นการตัดสินใจของคนอเมริกัน ส่วนมากก็คือคนอเมริกันไม่มีความหวังกับปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหา      เรื่องการว่างงาน

§       Obama ชนะในรัฐที่พรรคเดโมเครตไม่เคยชนะมาก่อน เช่น  อินเดียน่าและเวอจิเนียร์ และที่สำคัญชนะ ฟลอริดา โอไฮโอ

แต่ก็มีประเด็นอีกหนึ่งที่เป็นมุมมองก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้

§       ถ้าไม่มี  George Bush 8 ปี ก็คงไม่มี Obama เพราะความล้มเหลวของ Bush ทั้งเศรษฐกิจและการทหาร ทั้งการตัดสินใจที่ผิดพลาดสร้างความล้มเหลวตกต่ำให้อเมริกาได้รวดเร็วและชัดเจนภายใน 8 ปี

§       คู่แข่งคุณ Obama จริง ๆ ไม่ใช่ Mc Cain แต่เป็น Hillary Clinton เพราะการเอาชนะนักการเมืองหญิงที่คร่ำหวอดมีคะแนนนิยมในหมู่สตรีและกลุ่มอื่นๆ ย่อมเป็นประเด็นที่คนในโลกต้องวิเคราะห์ว่า  Obama ชนะ Hillary ได้อย่างไร?

§       วิธีการเลือกตั้งของ Obama โดยใช้ Internet และใช้ชุมชนรากหญ้าของสหรัฐเป็นฐานเสียง โดยเฉพาะคะแนนการเลือกตั้งรอบแรก (Primary) ที่ Obama ชนะรัฐเล็ก ๆ หลายรัฐ เปรียบเทียบกับการชนะรัฐใหญ่ไม่กี่รัฐของ Hillary ทำให้การเมืองยุคใหม่ของอเมริกาจะเปลี่ยนไปอย่างมาก

จากนี้ไปไม่ว่าคุณ Obama จะทำอะไร ก็จะถูกวิเคราะห์ วิจารณ์อย่างละเอียด ก่อนเป็นประธานาธิบดีจะถูกวิเคราะห์ แบบหนึ่ง แต่พอเป็นแล้วก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

ระหว่างที่ผมเขียนก็ผ่านไปแค่ไม่ถึง 30 ชั่วโมง แต่ข่าวสดจาก CNN หรือแหล่งอื่น ๆ ก็เริ่มวิเคราะห์อนาคตและบทความของ Obama หลายเรื่อง

§       จะแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐได้จริงหรือเปล่า?  Change หาเสียงเลือกตั้งก็อย่างหนึ่งแต่  Change ทำให้เกิดผลที่เกิดขึ้นหลังเลือกตั้งไม่ง่ายนัก

§       การจัดการอย่างไร? กับธุรกิจใหญ่ ๆ ซึ่งมีการ Lobby มากมาย จะหลุดพ้นจากอำนาจการเงินจริงหรือเปล่า?

§       ปัญหา Iraq กับ Afghanistan จะจัดการอย่างไร?

§       ใครจะมาเป็นคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ผสมกับทุกๆฝ่าย ทุกพรรคเดียว ตามที่คนอเมริกันคาดหวังหรือไม่?

แต่แน่ๆ ก็มีข่าวออกมาว่า Obama ตั้งเลขาธิการสำนักประธานาธิบดีเรียบร้อยไปแล้ว ซึ่งมีคุณ Rahm Emanuel ซึ่งมีประวัติน่าสนใจ

§       อดีตเคยเป็นที่ปรึกษาของ Bill Clinton

§       ปัจจุบัน เขาอายุแค่ 49  เป็นดาวรุ่งในสภาผู้แทนของรัฐ Illinois

§       แต่มีคนพูดว่า เป็นคนที่มีบุคลิกค่อนข้างรุนแรง และทำอะไรจริงจัง

§       สำนักข่าว CNN บอกว่า ดีหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ เพราะคุณ Rahm แกเป็นคนที่ใกล้ชิดกับพรรคเดโมแครตและครอบครัว Clinton คนที่รู้จัก Washington ดี เลยไม่แน่ใจว่าเป็นการเมืองใหม่อย่าง Obama ต้องการหรือเปล่า? ก็ต้องดูกันต่อไป

§       ส่วนเรื่องเล็กๆแต่พูดถึงมากก็คือการแต่งตัวของ Michelle ภรรยา Obama ในตอนแถลงข่าว เมื่อรู้ว่า คะแนนคณะเลือกตั้งเกิน 270 แล้ว ว่าเป็นการแต่งตัวแบบไม่เป็นทางการและไม่ค่อยสุภาพ สื่อว่าควรแต่งให้ formal กว่านี้

ผมเห็นใจนักการเมือง เลือกตั้งเพื่อทำงาน 4 ปีแต่หาเสียงอย่างยาวนาน

กว่า 2 ปี เป็นระบบเลือกตั้งแต่ละรัฐก็โบราณและไม่เหมือนกัน เลือกตั้งวันอังคารไม่ใช่วันเสาร์หรืออาทิตย์ หลายเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ปรับได้ อย่านึกว่าอเมริกาจะดีทุกๆเรื่อง

              ผมเองก็จะศึกษาเรื่องภาวะผู้นำ Style ของ Obama มากขึ้น และก็ดูย้อนกลับไปยังบทความที่ผมเขียนไว้ 5-6 เดือนที่แล้ว พูดถึงคุณอภิสิทธิ์, Medvedev แห่งรัสเซียและ Obama ซึ่งอายุใกล้กันและเป็นการเมืองรุ่นใหม่ 2 ใน 3 คน ก็ไปถึงฝั่งแล้ว คุณอภิสิทธิ์ซึ่งคาดว่าจะไปที่สูงสุดด้วย ยังไปไม่ถึง ประเทศไทยจะมีนักการเมืองรุ่นหนุ่มที่ไม่ได้ฐานการเงินมากมายอย่างคุณอภิสิทธิ์ไปสู่จุดสูงสุดในประเทศไทยได้หรือไม่?

            การเมืองของอเมริกา ยุค Obama สอนไว้เรื่องหนึ่งว่า การใช้ Internet สำคัญและการสร้าง Network ระหว่างคนรุ่นใหม่กระตุ้นให้สนใจการเมือง และการเมืองยุคใหม่ต้องทำเพื่อส่วนรวม ไม่รับใช้กลุ่มผลประโยชน์ ต้องมีความเก่งและมีคุณธรรมคู่กันไป

 เมื่อไหร่ ประเทศไทยจะปรับไปถึงยุคนั้น ไทยปรับได้ช้า และขาดการเร่ง เพราะขาดวิธีการการศึกษาที่จะให้ประชาชนคิดเป็น

            ผมมีเรื่องรายงานกิจกรรมด้านทุนมนุษย์ หลายเรื่อง

§       ผมกำลังเขียนบทความที่ภูเก็ต ไม่ได้มาหลายปี ผมเคยผลักดันภูเก็ตให้เป็น Phuket Cyberport หลายปีแล้ว มาคราวนี้เห็นว่า ภูเก็ตยังเป็นเสน่ห์กับนักท่องเที่ยวของโลกอยู่ ปรับตัวเองหลังจากสึนามิได้ดี โดยจะครบ 4 ปี สึนามิในเดือนหน้า มีร่องรอยของความล้มสลายมาก ระบบการเงินของโลกกระทบการท่องเที่ยวของภูเก็ต

§       เช่น โรงแรม Holiday Inn ที่พักอยู่ เดือนพฤศจิกายน ห้องพักมีแขกไม่เต็ม มีระดับ 60% เท่านั้น ทุกปีจะ 100 % แล้ว

§       นักท่องเที่ยวที่หายไปมากกว่ากลุ่มอื่นๆ คือ ออสเตรเลีย ค่าเงินของเขาอ่อนไป 30% เมื่อเทียบกับไทย

§       อีกชาติที่หาย คือรัสเซีย เคยมีเครื่องบินเช่าเหมาลำมากัน 1 ลำหรือ 2 ลำ ต่ออาทิตย์ ตอนนี้หายไปเลย เพราะเศรษฐกิจโลกกระทบรัสเซียรุนแรง

§       แต่ผมเห็นนักท่องเที่ยวจากอินเดียมากขึ้น ก็ยังเป็นเรื่องที่ดี

            สรุปได้เลยว่า การท่องเที่ยวมีผลกระทบแน่นอนและรุนแรง ปีหน้าไม่ทราบจะเป็นอย่างไร?

§       การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น อบต. เทศบาลและอบจ.ในภูเก็ตมีปัญหามาก  เพราะคุณภาพนักการเมืองท้องถิ่นไม่ดี การพัฒนาบุคลากรของนักการเมืองท้องถิ่นยังเป็นเรื่องจำเป็น

            วันนี้ผมได้รับเกียรติ จากบริษัททัวร์ Kuoni จาก Swiss มาพูดเรื่องการพัฒนาคนกับการท่องเที่ยว เน้นการสร้างบทบาทของสังคม (Corporate Social Responsibility) จัดให้เป็นการบริการแก่ลูกค้าของเขา

            อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ผมได้ไปร่วมการสัมมนาของสภาพยาบาลแห่งประเทศไทยกว่า 300 คนเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้พบว่า

§       องค์กรพยาบาลเป็นองค์กรที่เป็นวิชาชีพที่เข้มแข็ง

§       ความภูมิใจของพยาบาลในยุคใหม่มีมากขึ้น มีพยาบาลเรียนจบ Ph.D. และปริญญาโท

§       พยาบาลไทยขาดแคลนมากกว่า 30,000 คน เป็นอาชีพที่ไม่ตกงาน เพื่อบรรเทาการขาดแคลน ต้องพัฒนาศักยภาพให้ดีขึ้น และช่วยการบริหารจัดการ เช่น การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ การสร้างภาวะผู้นำ สร้างการทำงานเป็นทีม พยาบาลต้องเน้นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพครับ

                     จีระ หงส์ลดารมภ์

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 15  พฤศจิกายน 2551

 

ส่งเสด็จสู่สวรรค์คาลัย

          สัปดาห์นี้ ชาวไทยทุกหมู่เหล่าทั้ง 63 ล้านคน รวมใจกัน ไว้อาลัยสักการะพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ส่งเสร็จพระองค์ท่านสู่สวรรค์คาลัย

            ที่เหลือไว้คือความทรงจำคนไทยได้รำลึกถึงในพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่ทรงงานเพื่อพสกนิกรชาวไทย

            ช่วงที่พระองค์ท่านสิ้นพระชนน์ใหม่ ๆ บทความของผมได้กล่าวถึงในหลายโอกาสที่ได้ถวายงานพระองค์ท่านในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วงที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงมีพระเมตตาสนับสนุนงานระดับนานาชาติหลายครั้ง ซึ่งเป็นที่ปราบปลื้มในพระกรุณาธิคุณต่อพวกเราเป็นอันมาก ท่านเสด็จเปิดงาน ที่สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นเกียรติและเป็นศิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างยิ่ง

            นอกจากนั้น รายการ คิดเป็น ก้าวเป็น ทาง TNN8 ได้สัมภาษณ์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในมุมมองหลายด้านที่คนไทยหลายกลุ่มอาจจะได้รับทราบ เช่น

§       ทรงใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบสามัญชน

§       พระองค์ทรงเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาฝรั่งเศสที่ธรรมศาสตร์ทรงมีพระปรีชาสามารถและทรงตั้งพระทัยอย่างเต็มที่ เช่น

ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระองค์ท่านทรงหาทุนจากต่างประเทศให้แก่อาจารย์ในภาควิชาภาษาฝรั่งเศสและทรงเอาใจใส่เยี่ยมเยียนนักเรียนทุน ประทานกำลังใจให้ประสบความสำเร็จ  ทั้งช่วงที่เรียนอยู่และเอาพระทัยใส่ติดตามผล ช่วงที่กลับมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาฯ นั้น ๆ

พิธีพระราชทานเพลิงพระศพครั้งนี้ คนไทยทุกคนก็คงจะต้องจดจำและเรียนรู้เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงจัดให้อย่างสมพระเกียรติตามธรรมเนียมราชประเพณี เก่าแก่ของคนไทยซึ่งคนไทยทุกคนจะได้ทราบถึงรากเง้าของประเพณีไทย ที่หาดูที่ไหนไม่ได้และชาวต่างประเทศก็คงมีโอกาสได้เห็นการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วโลก

เรื่องอื่นๆ ที่พวกเราทุก ๆ คนจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและติดตามดูว่า การเมืองไทยจะไปทางไหน จะมีทางออกอย่างไร?

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับการต่อสู้ทางการเมือง คนไทยด้วยกันต้องหาทางใช้สันติวิธีและการหลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกรูปแบบ

§   กลุ่มที่ต่อสู้กันหากทำได้ ลดการใช้ภาษาที่สร้างความรู้สึกที่เจ็บปวดต่อฝ่ายตรงข้ามทุก ๆ ฝ่าย ซึ่งก็คงไม่มีใครเชื่อเพราะแต่ละกลุ่มต้องการกระตุ้นปลุกเร้าให้ผู้สนับสนุนแต่ละฝ่าย เพื่อไปสู่ชัยชนะ

การเมืองยุคนี้คงไม่มีใครชนะแบบเด็ดขาด เพราะคงต้องหาทางที่จะประนอมกัน แบบรับขั้นต่ำได้ทั้งสองฝ่าย เพราะการเจรจาต่อรอง ถ้าจะมีก็คงจะต้องถอยกันคนละก้าว

การที่ทางการรัฐบาลอังกฤษยกเลิกไม่ให้วีซ่าแก่อดีตนายกทักษิณ - คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ก็เป็นปรากฎการณ์อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะวิเคราะห์ลึก ๆ เพราะอะไร ว่าจะจบและลงเอยที่จุดใด?

การที่กลุ่มสีแดงยังต้องการแสดงพลัง ทั้งที่มีสิทธิ์ทำได้ตราบใดก็ตามที่ไม่มีความรุนแรง

เรื่อง ปปช. ที่ชี้มูลความผิดของผู้ว่าฯอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งสร้างความประหลาดใจ ให้แก่ผู้คนในวงการ เพราะผู้ว่าฯอภิรักษ์เพิ่งชนะการเลือกตั้งครั้งที่สองของการเป็นผู้ว่าฯ กทม. และก็ไม่มีชื่อเสียทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งท่านมีสปิริตอย่างน่าชมเชยที่ประกาศลาออกอย่างรวดเร็ว เป็นการสร้างบรรทัดฐานการเมืองใหม่ที่น่าชื่นชม

เรื่องคุณอภิรักษ์ มี 2 ประเด็น

เรื่องแรก กลุ่มที่เคยยึด ปปช. ว่าเป็นของอำนาจเก่าคงต้องทบทวน โดยเฉพาะ ส.ส. กลุ่มพลังประชาชนที่บอก ปปช. ไม่ชอบธรรม

ผมว่าความโปร่งใสของ ปปช. น่าจะดีกว่า ของอัยการหรือการทำงานของ DSI ด้วย

การเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ใหม่ น่าจะพิสูจน์ได้ว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งมาจะเป็นใคร และคะแนนนิยมยังพอเพียงที่จะรักษาฐานเสียงเดิมได้หรือเปล่า?

ผมเองอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์ไปสร้างฐานเสียงในภาคอีสานและภาคเหนือด้วย แต่การรักษาฐานเสียงเดิมใน กทม. ก็จำเป็นเพราะขนาด Obama ยังเปลี่ยนได้ ต้องพยายามทำให้สำเร็จ

เมื่อพูดถึง Obama ตัวจริงชนะผ่านไปอาทิตย์กว่า หน้าปกนิตยสารยักษ์ใหญ่ เช่น Economist

เห็นว่า “Great  Expectation คือคนในโลกคาดหวังสูงไปหรือเปล่า?  Time Magazine เน้นว่า Change เกิดขึ้นในอเมริกาแล้ว และหลายประเทศบอกว่า Change เกิดขึ้นประเทศของฉันด้วย

ในช่วงแรก ๆ ผมเชื่อว่า Obama คงสะดุดทางการเมืองบ้าง เพราะยุค Clinton ก็เจอปัญหามากมายแต่ Obama ก็ต้องหาทางแก้ไขให้ได้

จุดที่น่ากลัวก็คือ เศรษฐกิจกการเงิน สหรัฐฯยังไม่มีท่าทีว่าจบลงได้ง่าย ๆ การเลือกเฟ้น รัฐมนตรีการคลัง คนใหม่ของ Obama ก็จำเป็นต้องทำให้ดี

ที่ทำสำเร็จแน่ๆ ก็คือ

§       อเมริกาต้องเข้ามาอุ้มสถาบันการเงิน โดยใช้เงินของรัฐเข้ามามากมาย

§        แต่ที่อุ้มไม่สำเร็จก็คือความมั่นใจของผู้บริโภคสหรัฐฯที่ลดลง ผู้บริโภคของสหรัฐยังขาดความมั่นใจ

กลับมาที่เมืองไทย น่าเสียดายที่งบกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปี 100,000 ล้านของรัฐบาล นายกฯสมชาย วงฺศ์สวัสดิ์ มุ่งเน้นการเมืองมากเกินไป ยังมีบางส่วนดีที่ทุ่มไปที่ภาคการท่องเที่ยว แต่ถ้าทุ่มไปในการสร้างทักษะหรือพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศก็น่าจะได้ประโยชน์ เช่น

การพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการในต่างจังหวัด

§             ลงทุนในการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตลาดต้องการ

§             พัฒนาครูประถมและมัธยมทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษา

§             ลงทุนการสร้างศักยภาพของข้าราชการพันธุ์ใหม่ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

            ถ้ารัฐบาลไม่ทำ ผมจะทำและรายงานให้ท่านผู้อ่านทราบ

§                   เรื่องแรกได้รับเชิญจาก Asia Business Forum ไปพูดให้ระดับผู้ช่วย CEO ฟังถึงการสร้างศักยภาพในการทำงานเป็นทีมซึ่งผมฝากแนวคิดการทำงานแบบเป็นทีมไว้ 10 ข้อ

1. มีทีมไปเพื่ออะไร

2. จุดแข็งคืออะไร

§             หลีกเลี่ยงงานประจำ

3. จำนวนคน / คุณภาพและความสามารถต้องแตกต่างกันจึงจะทำสำเร็จ

4.ทีมต้องมีผู้นำหรือ Team Leader

5. คนที่จะอยู่ในทีมต้องมีความตั้งใจจริง willing หลีกเลี่ยงคนที่ไม่ชอบทำงานเป็นกลุ่ม

6. Experience ที่มีมาแล้ว สำคัญ

§             จุดสำเร็จ

§              จุดอ่อน

7.      Team ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละแห่ง

8.      คุณภาพของทีมที่ดี

§              มีคนที่มีความรู้ด้านเทคนิค

§              มีคนมีความรู้เรื่องคน

§              มีคนมีความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Conflict)

§              มีความสามรถในการจุดประกาย

§              รับฟังและการเสนอ ความคิดแนวใหม่ ๆ

§              ต้องมี feedback จากกลุ่มตลอดเวลา

9.      ทำแล้วได้อะไร?

§       แรงจูงใจทางการเงิน

§       การเรียนรู้

§       ความภาคภูมิใจ

10. ทีมต้องแยก

§       ทีมที่มีอยู่แล้ว

§       ทีมที่ตั้งขึ้นมาใหม่

ผู้ฟังซึ่งเป็นระดับเลขาฯยุคใหม่ ช่วย CEO ได้มากจะเป็นบทบาท Partner กับนายมากขึ้นช่วยกระตุ้นให้ลูกน้องและทีมอื่นๆในการทำงานขององค์กรและประเทศไทยทำสำเร็จเลขายุคใหม่ต้องปรับตัวเองให้ทำงานเชิงรุก ใฝ่รู้และคิดเป็นยุทธศาสตร์ มองอะไรกว้างเสนอความคิดใหม่ ๆ ให้นายเห็นและทำงานให้สำเร็จ Get Thing Done น่าสนใจที่คนฟังเป็นคนไทยรุ่นใหม่พูดเป็นภาษาอังกฤษได้ดีมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย

ส่วนอีกเรื่องเป็นงานที่ผมไปร่วมแสดงความยินดีและเซ็นสัญญาร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพกับโรงเรียนเตรียมอุดมน้อมเกล้าสมุทรปราการ ซึ่งมีผู้อำนวยการกิตติศักดิ์ ชาญอักษร และลูกศิษย์ผมชื่ออาจารย์ปรารถนา ศรีสุข ผมเป็นที่ปรึกษามากว่า 5 ปี ชอบใจที่อาจารย์ปรารถนา และท่านผู้อำนวยการกิตติศักดิ์ ชาญอักษร กล้าที่จะทำงานเชิงรุก โดยพึ่งตัวเองและสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ในวันนั้น น่าชมเชยที่ท่านนายกสภา คุณศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์.และอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์เฉลิม มัติโก มาร่วมเซ็นสัญญา และท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา มาร่วมงานด้วย

น่าชื่นชมของโรงเรียนมัธยมเล็ก ๆ แต่เอาจริงกับการพัฒนาการศึกษา ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กไทยระดับมัธยมมีความเป็นเลิศเพิ่มขึ้นทั้งด้านวิชาการและด้านวิชาชีพ

                         จีระ หงส์ลดารมภ์

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2551

 

พิธีพระราชทานเพลิงพระศพ :  ภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรมของชาติไทย

 

        การเขียนบทความทุกอาทิตย์จะเป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาติดตามว่าอะไรเกิดขึ้นกับประเทศและสังคมของเรา บทความของผมพยายามมองไปที่ทรัพยากรมนุษย์และเอาความจริงมาพูดกัน

           คนไทยทั้ง 64 ล้านคนรวมทั้งชาวโลกได้ร่วมในพระราชพิธิด้วย ผมเห็น BBC และสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งกระจายไปได้มุมกว้าง

          ในช่วงชีวิตของผมและปวงชนชาวไทยได้เห็น แต่ต้องคิดไปด้วย ก็จะได้เรียนรู้มากมาย เช่น

§      ในช่วงชีวิตของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เจอแต่กระแสโลกาภิวัตน์แบบตะวันตกทุกวัน อาจจะมองวัฒนธรรมประเพณี เป็นเรื่องเก่า ๆ น่าเบื่อและไม่สนใจ

§      กลุ่มประชาชนไทยหลากหลายทั้งเชื้อชาติและศาสนาในทุก ๆ ภาคของประเทศไทยไม่ว่า เหนือ ใต้ อีสาน หรือกรุงเทพมหานคร จะรวมเป็น หนึ่งเดียว ความคิดแตกต่างได้ แต่จุดที่หลอมรวมความสามัคคีของความเป็นไทย คือประเพณี ระบบกษัตริย์ที่ถ่ายทอดกันมาเป็นเวลานาน เพราะถ้าจะย้อนต้องไปถึงยุคสุโขทัย กว่า 800 ปีมาแล้ว

ที่น่าสนใจมากก็คือพระราชพิธีดังกล่าว ประเทศซึ่งไม่มีประเพณีลอกเลียนไม่ได้ ซึ่งผมมักจะเรียกว่าเป็นทุน เพราะได้สะสมบ่มความดีและลงทุนมานาน การเน้นทุนทางวัฒนธรรม ดังกล่าวจะเพิ่มให้มีคุณค่า หรือเรื่องมูลค่าอย่างไร?

ซึ่งเป็นเรื่องที่ นักธุรกิจไทยและเยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษากันอย่างถ่องแท้ว่า ทุนทางวัฒนธรรมนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่า ที่ดินหรือโรงงานอุตสาหกรรม

ทุนทางวัฒนธรรมของชาติไทย ยังมีอีกมากมาย ซึ่งบางเรื่องก็อยู่ข้างในของคนไทยหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Tacit  คือยังขุดออกมาไม่พบ แต่ถ้าเราเปิดเวทีให้คนไทยที่มีทุนทางวัฒนธรรมอยู่พบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ค้นหาสิ่งที่มีมูลค่า ประเทศของเราจะมีมูลค่าเพิ่ม ทางสังคมและธุรกิจเป็น แสน ๆ ล้าน ได้เช่นนี้

§      สินค้า OTOP ที่รัฐบาลสนันสนุนก็ควร เสริมวัฒนธรรมของไทยต่าง ๆ มาเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างความพอใจของผู้บริโภค

§      การท่องเที่ยวยุคใหม่เชิงรุกก็คงจะต้องมีวัฒนธรรมเสริม เรื่องการเกษตร ด้านศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม ด้านเพลง ด้านวรรณกรรมต่างๆ เกิด Cultural Tourism ขึ้นมา

สุดท้ายคือ แนวที่เน้นอุตสาหกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น บวกกับเทคโนโลยีและการจัดการตลาดสมัยใหม่ ก็จะสร้างลูกค้าในโลกได้มากมายและอาจเป็นทางออกที่ดีของอนาคตเศรษฐกิจไทยที่จะสร้างศักยภาพการแข่งขันได้ในยุควิกฤติเศรษฐกิจโลก

          พอจบพระราชพิธี ความขัดแย้งทางการเมืองก็ปะทุเกิดความรุนแรงจากระเบิดขึ้นอีก การเสียชีวิตของคุณเจนจิต กลัดสาคร และผู้บาดเจ็ดอีก 23 คน ของกลุ่มพันธมิตร  กลุ่มพันธมิตรก็แถลงข่าวว่าจะชุมนุมใหญ่ปิดล้อมรัฐสภาฯในวันอาทิตย์ที่ 23 นี้ การเมืองของไทยก็ร้อน เช่นเคย ทำให้ผมคิดต่อไปว่า

§      ร้อนแล้วจะเย็นได้หรือไม่?

§      เคยมีประสบการณ์เจ็บปวดรุนแรงมาแล้วเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 บทเรียนจะเป็นอย่างไร? ต้องตามดูกันต่อไป

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจไทยก็เริ่มมีสัญญาณอันตรายต่อเนื่องในปีหน้า

§      GDP น่าจะขยายไม่เกิน 3% ก็ยังดีถ้าแย่สุดน่าจะอยู่ 2 % ต่ำกว่านี้คงลำบาก ผมคาดว่าอยู่ในระหว่าง 2 – 3% และค่อย ๆ กระเตื้องขึ้นในปลายปี 2552

§      การส่งออก มีปัญหาแน่นอนรัฐบาลต้องอัดเม็ดเงินเข้ามาทดแทนการส่งออก แต่ขอให้เน้นขยายการจ้างงาน และขยายการให้ความรู้มากกว่าหาเสียงเท่านั้น

§      แต่ที่ระวัง คือ การเก็บภาษีปีหน้า ไม่ได้ตามเป้า ทำให้ขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันขาดดุลอยู่แล้ว

แต่ในวิกฤติก็มีโอกาส :

§      น้ำมันลดลงอย่างมาก อุดหนุนภาษีสรรพสามิต สมัยคุณสมัคร ยกเลิกได้แล้วครับ รัฐไม่ต้องอุดหนุนเรื่องน้ำมันแล้ว

§      ของฟรีต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา เลิกได้แล้วเพราะเงินเฟ้อลดอย่างมากมาย

§      ขอชมเชย ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี อย่างน้อยท่านมองเศรษฐกิจครบวงจร มองการว่างงาน เรื่องการศึกษาด้วย เพราะท่านเคยเป็นนายกสภาฯของมหาวิทยาลัยชินวัตร ผมขอชมเชย

ข่าวดีปิดท้าย ประเทศไทยยังมีความหวัง :

เรื่องแรก ขอขอบคุณ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ที่กรุณามาเป็นสักขีพยานลงนามร่วมสัญญาร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพกับโรงเรียนเตรียมอุดมน้อมเกล้าสมุทรปราการ ทราบว่าท่านมีรายการวิทยุ และออก Website ด้วย คุณภาพของโรงเรียนแห่งนี้และขอบคุณที่ท่านเห็นว่าคนข้างนอกอย่างผมก็มาช่วยโรงเรียน ผู้นำ แต่ละโรงเรียนต้องกล้าที่จะทำงานร่วมกันทำจริงและอย่าทำแบบขอไปที  แบบ  3 ต. ต่อเนื่อง ต่อเนื่อง และต่อเนื่อง กรณีของโรงเรียนเตรียมอุดมน้อมเกล้าสมุทรปราการ เป็นกรณีที่น่าสนใจเพราะเกิดจากพลังของคนที่อยู่ข้างในที่กล้าทำ

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่น่าชมเชยคือ งานของปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ คุณพีรพล ไตรทศาวิทย์

§      ท่านเป็นปลัดฯ ที่มองกว้างไกลและนำภูมิปัญญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้

§      ท่านมีนโยบายให้ผู้ว่าฯทุกคนสนใจความรู้เรื่องศูนย์ศึกษาการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมี 6 แห่ง คือ

1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี

2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา

3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี

4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากราชดำริ จ.เชียงใหม่

5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร

6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส 

เมื่อเปิดโครงการโดยการจัดสัมมนา ได้เชิญองคมนตรี 2 ท่าน คือ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย และท่านอำพล เสนาณรงค์ ซึ่งเป็นบุคคลที่เน้นการดำเนินงานด้านการเกษตรและแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ศ.นพ.เกษม ได้พูดว่า กศน กับกลุ่มชาวนา ชาวไร่ ควรจะจับมือร่วมกันเพื่อให้ชาวนา ชาวไร่ได้มีความรู้ในด้านการจัดการ เทคโนโลยีทางการเกษตรและการเงิน การตลาดที่ทันสมัย จะทำให้ชาวนา ชาวไร่ ทันโลก และฉกฉวยโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้ ผมว่า เป็นการทำงานที่สุดยอด แต่ฝากปลัดฯ คนปัจจุบันว่าทำจริงหรือไม่?  ทำอย่างจริงใจ ไม่ใช่ตีปี๊บ

ผมจะดูต่อไปว่ามีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจริงหรือไม่?

 

                       จีระ หงส์ลดารมภ์

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2551

 

ประเทศไทย : ทางออกภายใน 48 ชั่วโมง

 

            สัปดาห์นี้คงเป็นสัปดาห์ที่การเมืองไทย ร้อน อย่างสุดขีด ประเทศไทยคงจะมีเวลาอีกไม่เกิน 48 ชั่วโมง เวลาที่ผมเขียนที่จะหาทางเข้าถึงปัญหาการเมืองโดยเฉพาะการยุติการประท้วงครั้งสำคัญครั้งนี้ ทำให้ทุกจุดของเศรษฐกิจและอำนาจรัฐหยุดดำเนินการอย่างสิ้นเชิง

          ล่าสุดเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกแถลงการณ์มติ ค.ร.ม.ทางทีวี ที่เชียงใหม่จะออกพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ให้ทหารเป็นผู้รักษากฎนี้ แต่ไปมอบให้ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ ผ่านไปกว่า 12 ชั่วโมงแล้วตำรวจก็ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างได? ในการสลายผู้ชุมนุมอำนาจรัฐจริง ๆ  มีพอที่หน่วยงานเหล่านี้จะดำเนินการหรือเปล่า ? และทำแล้วอะไรจะเกิดขึ้น มีข่าวลือทั้งวันว่าทหารจะปฎิวัติ ในช่วงวันพฤหัสฯ

          ประเด็นก็คือใครคือผู้มีอำนาจ สั่งการและใช้อำนาจรัฐกันแน่ในสถานการณ์ปัจจุบันเพราะรัฐบาลชุดนี้ หมดความชอบธรรมและแม้กระทั่งตำรวจเองก็ต้องคิดถึงประชาชนและเมื่อสั่งการไม่ได้แล้วรัฐบาลจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร?

                 ขณะเดียวกันข่าวลือว่าจะปลด ผบ.ทบ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาเป็นละลอก ทหารเริ่มมีพันธมิตรเป็นพวกนักวิชาการ โดยเฉพาะอธิการบดีต่าง ๆและหัวหน้าหน่วยราชการ นักธุรกิจมากขึ้น ต่างก็เสนอให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ณ เวลาที่ผมเขียนก็ยังไม่มีการตอบรับจากนายกฯสมชาย ส่วนพันธมิตรก็มีประชาชนให้การสนับสนุนมากมายและไม่มีท่าทีว่าจะสลายการชุมนุม ไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับกลุ่มพันธมิตรในระยะยาว แต่ที่แน่ๆ ก็คือ กลุ่มงานเสวนาของคุณหมอวันชัย วัฒนศัพท์  อาจจะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทอย่างแท้จริงในระยะยาวที่สร้างผลึกต่อรอง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน วันพฤหัสฯ ผมได้รับโทรศัพท์จากคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ขอให้ผมไปร่วมการสานเสวนาระหว่างหมอวันชัย วัฒนศัพท์ และคุณดนัย จันทร์เจ้าฉายและผมที่ออฟฟิตคุณดนัย ในวันจันทร์ช่วงบ่าย 2 โมง ซึ่งผมก็จะไปร่วมด้วย

          ประเด็นสุดท้ายก็คือ เมื่อเหตุการณ์ครั้งนี้สงบลงคงจะต้องมีวิธีการที่เยี่ยวยาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ความเข้าใจของนักลงทุนต่างประเทศไม่ว่าการท่องเที่ยวหรือการส่งออก เพื่อให้ชาวโลกได้เข้าใจเหตุการณ์ที่แท้จริง แต่อย่างไรก็ตามผมมั่นใจว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ยังคงจะยืดเยื้อออกไปนานกว่านี้ คงไม่ได้จบภายใน 48 ชั่วโมง

          กลุ่มนักธุรกิจก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งจะมีส่วนร่วม ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้หยุดลงอย่างใด อย่างหนึ่ง และขณะนี้มูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยที่เสียหาย อยู่ในจำนวนที่มหาศาล

          การทายว่าอะไรจะเกิดขึ้นและจะแก้ปัญหาอย่างไร ของการเมืองไทยก็จะเป็นจุดที่ผมและท่านผู้อ่านจะได้เรียนรู้และเร่งให้สังคมส่วนใหญ่เข้าใจการเมืองได้มากกว่าเดิม

          แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ผมเชื่อว่าระยะยาวคนไทยก็คงจะมีความเข้าใจในระดับหนึ่งและรอดพ้นจากปัญหาต่างๆได้ เพราะการเรียนรู้ที่สำคัญ คนไทยผ่านอะไรมามากแล้วและพร้อมที่จะปรับตัวเองให้ประเทศอยู่รอดอย่างยั่งยืน

          อาทิตย์นี้ทั้งๆ ที่มีเหตุการณ์หลาย ๆ อย่าง งานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของผมดำเนินต่อ ทำให้ผมเริ่มมีความหวังว่าการให้ความรู้กับประชาชนผ่านสื่อต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้ว เช่น TTV2 หรือ TNN2 ให้คิดเป็นวิเคราะห์เป็น ทำให้คนไทยเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้น

          เรื่องแรกมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีพิธีเปิดมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ที่กรุงเทพฯโดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จมาทรงเปิดงาน ซึ่งผมมีโอกาสไปรับเสด็จในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยฯ  พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงสนพระทัยการทำงานของมหาวิทยาลัยฯอย่างมากและได้ทอดพระเนตรนิทรรศการและเยี่ยมชมห้องสมุด เช่น

§   ทำไม จึงมีนักเรียนต่างประเทศมาเรียนกว่า 20 ประเทศ พระองค์ตระหนักดีว่านักเรียนต่างประเทศมาเมืองไทยและเรียนที่เมืองไทยทำให้ได้เข้าใจวัฒนธรรมของประเทศไทยอย่างแท้จริง

§   ทำไม นักเรียนเก่ามหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ที่จบไปแล้วมีคุณภาพดี

  และพระองค์ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลาและสนพระทัยในการศึกษาอย่างมาก ในนามของพวกเรามหาวิทยาลัยฯจึงซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น

          ผู้อ่านที่มีลูกหลานหรือมีเพื่อนฝูงก็ลองมองมหาวิยาลัยเล็ก ๆ แต่มีคุณภาพ เช่นมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ปัจจุบันไม่ต้องไปเรียนไกลถึงหัวหินแล้ว เพราะมีแคมปัสที่กรุงเทพฯ ออกแบบทั้งข้างนอกข้างในอย่างสวยงามมีคณาจารย์ที่มีคุณภาพระดับนานาชาติมาก บรรยากาศการเรียนก็เป็นเลิศ มีห้องเรียนที่ไม่แออัดเพราะจำนวนนักเรียนต่อครูไม่เกิน 30 คน ทำให้นักเรียนได้เรียนแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีการแลกเปลี่ยนความคิดกันอยู่ตลอดเวลา

          ขณะนี้ผมเขียนอยู่ที่โรงแรมเมธาวลัย ชะอำ วันศุกร์เช้าและทั้งวัน ผมก็จะCoach พนักงานระดับกลางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกประมาณ 240 คน เรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 16 ครั้งเกือบ 4,000 คน ท่านผู้ว่าฯอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ มีนโยบายที่จะทำให้พนักงานการไฟฟ้าฯทุกระดับเป็นผู้ที่ใฝ่รู้และนำความรู้ไปสร้างสังคมการเรียนรู้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นผลสำเร็จให้ได้ การทำงานก็เน้นการทำงานอย่างต่อเนื่อง การปรับใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเพื่อรองรับการแข่งขัน โดยเฉพาะในปี 2009 ก็จะมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจกระทบมาจาก Sub prime ของอเมริกาต่อเนื่องและปัจจัยทางการเมือง การแบ่งปันความรู้กันในโอกาสต่อไปก็ช่วยให้องค์กรค้นพบทางออกที่เหมาะสม

          สุดท้ายขอขอบคุณ มล.ชาญโชติ ชมพูนุช และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณวีรชัย วงศ์บุญสิน TMA ได้จัดสัมมนากับมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศระดมความคิดเรื่องทุนมนุษย์ในธุรกิจการท่องเที่ยวมีเจ้าของและนักธุรกิจการท่องเที่ยวเข้ามาร่วมกว่า 100 แห่ง มีข้อสรุปที่จะทำต่อไปเพราะต้องการเกิดแนวร่วมทุก ๆ กลุ่ม ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโดยใช้คนเป็นยุทธศาสตร์ (ระยะยาวประเทศไทยยังอยู่ได้ครับ)

 

                                 จีระ  หงส์ลดารมภ์

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2551

 

Team of Rivals : ไทยและสหรัฐ

 

            ช่วงอาทิตย์นี้การเมืองไทยกำลังจะเดินไปถึงจุดเปล่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งหนึ่งคือ หลังจากยุบพรรคแล้ว ก็มีการสลับขั้วทางการเมือง คาดว่าจะมีการเลือกนายกคนที่ 27 วันจันทร์ที่ 15 นี้ อย่างแน่นอน ถ้าเป็นไปตามที่คาดไว้คือเพื่อนเนวิน และพรรคร่วมรัฐบาลเก่านำโดย พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์  ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล คงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจและควรจะติดตามอย่างใกล้ชิด

            เหตุการณ์การเมืองครั้งนี้น่าจะวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้

§       การเมืองไทยไม่มีมิตรหรือศัตรูถาวร โดยเฉพาะต้องขอชมเชยความกล้าหาญ คุณเนวินและเพื่อนเนวินที่กล้าชนกับคุณทักษิณและยอมรับว่าการเลือกตั้งของกลุ่มเนวินในอนาคตในภาคอีสานอาจจะลำบาก แต่ถ้าไม่มีกลุ่มเพื่อนเนวินก็คงจะจัดตั้งรัฐบาลลำบากจึงพูดได้ว่าสิ่งที่ไม่คาดถึง แต่ก็เกิดเป็นความจริงได้ นักวิชาการฝรั่ง งง

§       เรื่องที่สองย้อนกลับไปบทความของผมเมื่อปลายปี 2550 ที่พูดถึง Medvedev  Obama และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าเป็นผู้นำรุ่นใหม่ ที่มีการศึกษาดีและไปสู่จุดสูงสุดทางการเมืองเพราะมีความรู้ เป็นการเมืองใหม่ ไม่ใช่เป็นผู้นำเพราะเงินหรือ พวกมากลากไป ช่วงที่คุณอภิสิทธิ์ยังไม่มีโอกาสไปเป็นนายก สองคนผู้ได้เป็นผู้นำสูงสุดไปแล้ว ถ้าคุณอภิสิทธิ์ ได้รับเลือกวันที่ 15 ธันวาคม คำทำนายผมถูกหมด

§       และจะทำนายต่อไปด้วยว่าจะมีอีก ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ในอังกฤษมีดาวรุ่งคนใหม่ ชื่อ Cameron Davisซึ่งรุ่นหลังคุณอภิสิทธิ์ ที่ Oxford และ First class honor แบบคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ อาจจะขึ้นมาเป็นนายกของอังกฤษกลายเป็น 4 ผู้นำหนุ่มในโลกที่มีอายุเลข 4

§       เรื่องที่สามก็คือ บทบาทของคุณทักษิณ ซึ่งท่านเคยประกาศไว้ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง วันนี้ท่านผู้อ่านคงเห็นฤทธิเดช แล้วว่าท่านอยู่นอกประเทศไหน? ก็บริหารประเทศได้ แถมยังมีเงินมากมาย อย่างที่ผมเน้นในบทความ ถ้าลำพังบารมีหรือนโยบายของคุณทักษิณหากไม่มีเงินมากมาย อาจจะไม่สร้างความยิ่งใหญ่ให้คุณทักษิณ ให้คนไทยนึกถึงท่านหรือเปล่า? ก็คงจะดูต่อไปว่าคุณทักษิณจะทำอะไรต่อ แต่ที่แน่ ๆ ก็คงสู้ แต่จะสู้แบบไหน?  สู้แบบถอยและตั้งหลักหรือสู้แบบรู้แพ้รู้ชนะ เพราะบรรดาขุนพลที่เป็นกำลังให้คุณทักษิณก็ดูเหมือนว่ามีคุณภาพด้อยลงไปเรื่อย ๆ ในขณะที่สังคมไทยเปิดกว้าง ทันคุณทักษิณมากขึ้น

§       สองประเด็นสุดท้ายสำคัญมากก็คือ การปรับตัวของคุณอภิสิทธิ์ซึ่งอาจจะต้องรับฟัง มองอะไรให้กว้างขึ้นอ่อนน้อมถ่อมตน นอบน้อมตัวเองลงไปหาทุกกลุ่ม พลังต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานของคนไทยให้โดยเฉพาะรากหญ้ามากขึ้น ผมฟังคุณอภิสิทธิ์พูดในระดับนานาชาติ หลายครั้งก็ชื่นชมและประทับใจเสมอ แต่สิ่งที่คุณอภิสิทธิ์ยังขาดก็คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อวัฒนธรรมการเมืองของไทย ๆ ที่จะมองเห็น ความจริงมากขึ้น ถ้าได้เป็นนายกแล้วจะสร้างความสามัคคีในหมู่คนเสื้อแดงอย่างไร? เพราะเขาเหล่านั้น อาจจะต้องการนายกฯที่มีความเข้าใจความยากจนและวิถีชีวิตของเขามากขึ้น ทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือ

§       แต่จุดแข็งของคุณอภิสิทธิ์คือ ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาโลก ที่มองว่าเป็นนักการเมืองหนุ่มที่ซื่อสัตย์และมีคุณธรรม มีวิสัยทัศน์กว้างไกลซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยในสายตาโลก ดีขึ้นอย่างมาก เช่น คุณอภิสิทธิ์ไปประชุมผู้นำ APEC ได้แสดงวิสัยทัศน์ในระดับโลกผมว่า ผมเชื่อว่าคนไทยภูมิใจอย่างมาก คล้าย ๆ คุณอานันท์ ปันยารชุน  แต่ประสบการณ์นี้คุณอภิสิทธิ์ ยังมีไม่พอคงจะต้องอดทนและฝึกฝนต่อไป แต่เมื่อได้เป็นนายกฯ พักหนึ่งคุณอภิสิทธิ์คงจะมีประสบการณ์มากขึ้น

§       ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจก็คือมีบทความของ Henry Kessinger เขียนใน Herald Tribune ฉบับวันที่ 7 ธันวาคม 2551 ว่าการเมืองในอเมริกาคือมี Team แบบใหม่ ทีมของคู่แข่งหรือ Team of  Rivals เมื่อคุณ Henry ชม Obama ฉลาดขึ้นเอา Hillary Clinton  ดึงคู่แข่งมาทีมเดียวกันเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ระวังในระยะยาวอาจทำงานไม่เข้าขากัน เกิดความขัดแย้งได้ในอนาคต

เช่นเดียวกันกับไทย ถ้าคุณอภิสิทธิ์ต้องพึ่งคุณเนวินในการตั้งรัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ก็ต้องรู้ว่าอาจจะมีช่วงที่ความเป็นคุณเนวินจะกลับมาขัดแย้งได้ ท่านผู้อ่านก็จะดูต่อไปว่า Team of Rivals มีความราบรื่นหรือขัดแย้งอย่างไร? คือจะตัดคำว่า Team ออกไปเหลือแต่ Rivals  สรุปก็คือการเมืองยุคใหม่ จะเป็นการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเชื่อมโยงเป็นจังหวะของการเมือง ศัตรูอาจจะเป็นมิตรก็ได้ หรือมิตรอาจจะเป็นศัตรูในการเมืองก็ได้ ก็ขอให้ระมัดระวังด้วย

      เป็นโอกาสที่ดีได้เขียนในจุดหักเหของประเทศไทย แต่ทั้งหมดก็คงขึ้นอยู่กับฤทธิเดชของคุณทักษิณว่าท่านยังมีพลังมากมายแบบคนไทยคิดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งในประวัติศาสตร์ของโลกผู้นำ โดยเฉพาะประเทศไทย ผมว่าน่าจะทุก ๆ 100 ปีหรือ 200 ปีหรือมากกว่านั้น ทำให้คนไทยหลาย ๆ กลุ่มได้แสดงศักยภาพออกมาต่อสู้ เรียกว่าคุณทักษิณสร้างศัตรูให้เป็นผู้นำ แต่ผู้นำแบบคุณทักษิณผิดทฤษฎี คือไม่สร้างลูกน้องให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ ๆ เลย มีแต่ทำลายลงไปที่ละคน ในที่สุดก็เลยเป็นผู้นำอยู่คนเดียว และที่เหลือก็คือ ผู้ตาม ไร้คุณภาพและลูกน้อง มีคำถามว่า คุณทักษิณ ทำไปเพื่ออะไร?  เพื่อจุดยืนหรืออุดมการณ์ของเขาหรือถ้าเงินหมดจะเกิดพลังเหล่านี้หรือไม่?

ผมสนใจศึกษาประวัติผู้นำของทุก ๆประเทศอยู่ ผมก็เลยได้ความรู้จากการศึกษาผู้นำแบบ คุณทักษิณ

วันนี้มีเวลาพูดเรื่องงานอื่นๆ ของผมน้อยไปหน่อย เอาไว้เขียนครั้งหน้าครับ

                                 จีระ  หงส์ลดารมภ์

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 20  ธันวาคม 2551

นิวอภิสิทธิ์

ถ้าได้อ่านบทความครั้งนี้ในร่วม 10 ปีข้างหน้า ก็จะทราบว่าอาทิตย์นี้ การเมืองเริ่มมี  Hope ขึ้นอีกแล้ว เพราะแค่ช่วงเวลานานที่นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกคนที่ 27 ของประเทศไทยได้รับโปรดเกล้า ได้แสดงอะไรบางอย่างให้ชาวไทยทั้งประเทศได้เห็นว่า ผู้นำคนใหม่ของคนไทยมีความสามารถเป็นภาวะผู้นำได้ เช่น

การแสดงจุดยืนว่าเป็นนายกของคนไทยทั้งชาติ ไม่มีภาคนิยมและแถมยังวางแผน พูดถึงประสบการณ์ของคุณอภิสิทธิ์ในสมัยหาเสียงภาคอีสาน ยกตัวอย่างกรณีของ คุณยายเนียม ที่ …..จังหวัดอุบลราชธานี มอบแหวนที่คุณยายหวงแหนให้กับคุณอภิสิทธิ์ว่า อยากให้คุณอภิสิทธิ์ให้ความสนใจเอาใจใส่คนอีสานและ รากหญ้า และมองคนอีสานแบบเป็นพันธมิตร ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ผมเห็นแล้วว่า นายกของคนไทยต้องโชว์ความสามารถให้ชาวต่างประเทศได้เห็น คุณอภิสิทธิ์ ยังแถลงข่าวเป็นภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งภาษาและท่าทาง (ดีกว่า) คุณทักษิณหลายเท่า ต้องมีผู้เปรียบเทียบหลายคนคิดเป็น คุณทักษิณเป็นผู้นำระดับโลกได้คนเดียว ซึ่งไม่จริง ผมรู้จักคุณอภิสิทธิ์ดี ถ้ามีโอกาสก็ได้แสดงก็ทำได้ดี และการโต้ตอบผู้สื่อข่าว CNN ซึ่งอาจจะได้รับข้อมูลผิด ๆ ไม่ถูกต้องจากทีมประชาสัมพันธ์ของอดีตนายกฯ และท่านนายกฯ คนใหม่ก็สามารถโต้ตอบคำต่อคำกับผู้สื่อข่าว CNN ได้อย่างดีและเป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ จากนี้ไปพวกเราชาวไทยก็ต้องให้กำลังใจนายกฯ คนใหม่ให้นำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

ผมเคยบอกแล้วว่า ถ้านายกอภิสิทธิ์ อยู่ในตำแหน่งนายกฯได้นานระดับหนึ่งก็จะสะสมบารมีที่พอเพียงที่จะเป็นตัวอย่างผู้นำรุ่นใหม่ของคนไทย

และผู้นำอย่างคุณอภิสิทธิ์ระหว่างที่ไม่มีโอกาสกับมีโอกาสเป็นนายกฯ แล้ว จะแตกต่างกันสิ้นเชิงโอกาสของคุณอภิสิทธิ์เปิดแล้วและผมมั่นใจว่าประสบการณ์ดังกล่าว ก็จะช่วยให้คุณอภิสิทธิ์ดึงเอาความเป็นเลิศของตัวท่านเองและของคนไทยทุกสาขา ทุกกลุ่มอายุ ทุกภาคมาเป็นฐานทางการเมืองที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพและคุณธรรมจริยธรรมต่อไป และถ้าจะมีอุปสรรคบ้างก็ขอให้คุณอภิสิทธิ์อดทน เพราะระบอบทักษิณก็คนจะเจาะทุกเรื่อง เพื่อให้คุณอภิสิทธิ์มีอุปสรรค  แต่ในยุคที่สังคมข่าวสารเปิดกว้างประชาชนก็จะเริมเข้าใจว่า คนที่หนุ่มมีพลังพร้อมกับความรู้คุณธรรมสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดได้

ระยะสั้นภายใน 3 – 4 เดือนข้างหน้า ท่านนายกฯ คนใหม่ ก็ต้องดูกันให้ดีหลาย ๆ เรื่อง

§   ความมั่นคงทางการเมือง จะมีการเลือกตั้งซ่อมกันอีกหลาย ๆ ที่ คะแนนของฝ่ายรัฐบาลจะเพิ่มหรือลด ถ้าลดไปก็จะเกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง แต่ถ้าเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม จะทำให้มั่นคงมากขึ้น

§   ปัญหาความสมานฉันท์ของประเทศ ผมพูดอยู่เสมอคนไทยให้โอกาส ผู้นำเสมอ ถ้าออกไปพบปะเยี่ยมเยียนมีโครงการฯที่ปฏิบัติได้ในภาคต่าง ๆ และแสดงจุดยืน เน้นความเป็นธรรมและจริยธรรม ก็อาจจะช่วยได้มาก

§   ปัญหาเศรษฐกิจของเราแน่ ๆ ก็คือ 2 เด้ง เศรษฐกิจโลก ปัญหาการปิดสนามบินและการสร้างความเข้าใจของประชาคมโลก เรื่องปิดสนามบิน ผมเชื่อว่า ถ้ามีการระดมทุกฝ่ายให้ความช่วยเหลือเรื่องการท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศที่หายไปก็คงจะเน้นการท่องเที่ยวภายประเทศให้ทดแทนได้

§   สุดท้าย เป็นรัฐบาลที่สร้าง ศรัทธา ให้ทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต้องดูแลเรื่องผมประโยชน์ให้แต่ละกลุ่ม อย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง

สุดท้ายถ้ามี

 

จีระ  หงส์ลดารมภ์

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 27  ธันวาคม 2551

                         นิวอภิสิทธิ์ไม่พอ ต้องอึกและอดทน

 

            คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯผ่านไปได้แค่ 7 วันก็เห็นแล้วว่าปัญหาของนายกฯรุมเร้าอย่างมาก ขนาดอดีตขุนพลกับนักการเมืองรุ่นเก่าอย่างคุณสุวัจน์ ยังบอกว่ารัฐบาลอยู่ได้ไม่เกิน 2 เดือน ผมบอกได้เลยว่าถ้าจะให้ชาติอยู่รอด ต้องขอให้รัฐบาลอภิสิทธิ์อยู่เป็นผู้นำระยะหนึ่ง และถ้าดูจากประวัติศาสตร์ของสมัย 1 หรือ 2 ซึ่งนายกฯอภิสิทธิ์ช่วยอยู่ ก็เห็นว่าน่าจะประคับประคองไปได้ระยะหนึ่ง ตัวช่วยคือ ศรัทธา ไม่ใช่คะแนน

                     สิ่งแรกคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกต่อใหม่ มีการยุบสภาใหม่ หานายกฯ ใครก็ได้ไม่มีวันแก้ได้ เพราะลึกและรุนแรงมาก แต่ภายใต้การทำงานของนักเศรษฐศาสตร์ Oxford  และรัฐมนตรีฯกระทรวงการคลัง คุณกรณ์ จาติกวณิช รองนายกรัฐมนตรีกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ดูเหมือนว่ามีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีและเน้นความจริง อย่างเช่น งบกลางปี 100,000 ล้านไม่พอขอเพิ่มเป็น 300,000 ล้านและการกระตุ้นที่เน้น เงิน + ความรู้ + ความสามารถในการจัดการ + คุณธรรม คือ

            กองทุนเศรษฐกิจพอเพียงของท่านนายกฯ คนใหม่ก็น่าจะดี เพราะ มีมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริงและถ้าเศรษฐกิจฟื้นก็พร้อมที่จะขยับขยายให้ GDP สูงขึ้นแบบยั่งยืน เพราะสิ่งที่สำคัญในเศรษฐกิจของชาวบ้านคือ

§       สร้างจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ

§       ภูมิปัญญาท้องถิ่น

§       การเพิ่มการศึกษานอกระบบ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น เน้นการตลาดและการเงิน เทคโนโลยีทันสมัย บริหารคนให้ ธกส. มีสินเชื่อมาร่วมงานด้วย

§       ดึงเอาบัณฑิตตกงาน ไปช่วยทำ Project น่าจะไปได้ระดับหนึ่ง

ส่วนเรื่อง ตกงาน  ก็ต้องเป็นวาระแห่งชาติสมัยผมอยู่เป็นประธาน APEC  HRD มีโครงการฯ  Retaining (ฝึกซ้ำ ๆ) ให้คนตกงาน แต่การนำ Retaining ต้องเน้นทักษะ + ความคิด + ปัญญา + ทัศนคต่อที่ดี  ใฝ่รู้      

หาความรู้อย่างต่อเนื่องไม่ใช่ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มหาวิทยาลัยหรืออาชีวะ ทำเท่านั้น ใช้หน่วยราชการ และเอกชนช่วยกันทำ เน้นแบบ  Peter Drucker ว่าไว้คือ Results + Results + Results น่าจะไปได้ผมอยากให้นโยบาย Retraining กับ Target Group ของผู้ทำจริง แต่อย่าทำแบบไร้คุณภาพ อย่าใช้บทเรียนที่เจ็บปวด สมัยมิยาซาวาของชวน 2 ให้ดี เน้นจำนวน เน้นคุณภาพ อดทนหน่อย

พยายามสร้างสังคมการเรียนรู้มี Case Study เน้น Get ting done มากกว่าสอนตามตำรา

ท่านนายกฯ คงจะต้องเร่งเรื่องการดูแลภาคแรงงานทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม มีความเข้าใจที่ดีกับขบวนการแรงงาน โดยเฉพาะการสร้าง Network กับผู้นำแรงงานซึ่งพรรคฯ ทำอยู่แล้ว

ดีใจที่ทีมงานของพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้สถานที่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย นี่ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรจะดึงเขามาช่วยรัฐบาลฯเพราะมีสมาชิกทุกสหกรณ์ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 6 ล้านคน ภายใต้การนำของคุณมงคลัตถ์ พุกะนัดด์ ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยและคุณวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ได้สร้างผู้นำแบบจริงจังและพร้อมที่จะทำงานเป็น partner กับชาวสหกรณ์ ท่านนายกก็รู้จักสหกรณ์ สหกรณ์ Credit Union เคยไปร่วมงานกับกลุ่มนี้ เขายังจำได้ดี

อาทิตย์นี้จึงขอพูดถึงกฎ 9 ข้อที่นายกอภิสิทธิ์ให้แก่ค.ร.ม.ไว้ เยาวชนรุ่นหลังนำมาใช้

1. ให้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการสร้างความสุขให้กับประชาชน 
            2. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
            3. นโยบายของรัฐบาลถือเป็นเป้าหมายร่วมกัน
            4. ภายใต้ภาวะวิกฤติ การทำงานของรัฐบาลต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ต้องไม่เป็นรัฐบาลแบ่งพรรค ต้องรับผิดชอบร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ 
            5. ให้คณะรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมสภาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับฟังความเห็นของ ส.ส. และตอบกระทู้ถามสด 
            6. รัฐมนตรีทุกคนเป็นบุคคลสาธารณะและในภาวะที่มีทั้งปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้งในสังคมสูง ขอให้ปฏิบัติตน โดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน ไม่อยากให้มีเหตุการณ์นำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นไม่ศรัทธา 
            7. เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโยบายต่างๆ
                        8. พร้อมรับการตรวจสอบ และไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางการตรวจสอบรมทั้งให้ใช้เหตุผลชี้แจง
            9. ให้ถือความรับผิดชอบทางการเมืองสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย

ซึ่งผมคิดว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่า คุณอภิสิทธิ์คิดก่อนพูด และฝากแนวคิดคือคำขวัญวันเด็กได้ดี ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี

ซึ่งจะเห็นได้ว่าแค่ภายในไม่ถึงอาทิตย์ ก็เริ่มจุดประกายได้ดีให้คนไทยได้มีความหวังได้ดี แต่ที่จะฝากเป็นส่งท้ายปีเก่า ขึ้นปี 2552 จะขอให้รัฐบาลอดทนและสู้ ก็คือความอดทนและการใช้ความสามารถในขณะ ผู้นำ...ก็คงจะมีมากมายอยู่แล้วแต่เพื่อเป็นการเสริมในจุดบางจุด ผมก็เลยไปเอาข้อเขียนของผมในปีที่แล้วที่แนวหน้าคือกฎผู้นำ 8 ข้อ Mandela ซึ่งหนังสือ Times ได้นำมาตีพิมพ์

 

กฎ 8 ข้อ ของ Mandela

1. ความกล้าหาญ ไม่ใช่ ไม่มีความกลัว แต่เป็นความสามารถที่จะจุดประกายให้คนอื่นสามารถไปสู่จุดของความเป็นเลิศได้

2. การเป็นผู้นำอยู่ข้างหน้า ก็จำเป็น แต่อย่าเปิดแนวหลังให้มีความอ่อนแอ

3. การนำอยู่ข้างหลัง จะต้องแน่ใจว่า คนที่เรายกย่องให้มีบทบาทอยู่ข้างหน้า ต้องให้เขามีความรู้สึกว่า เขาได้นำอย่างน่าภูมิใจ และสมศักดิ์ศรี

4. ถ้าจะจัดการบริหารศัตรู ต้องรู้จักเขาดีว่า เขาชอบอะไร

5. การจะอยู่อย่างผู้นำควรใกล้ชิดกับเพื่อนแน่นอน แต่กับคู่แข่ง หรือคนที่เราไม่ชอบ ต้องใกล้ชิดมากกว่า

6. ผู้นำต้องมีภาพลักษณ์ที่ดี ต้องปรากฏตัวตามที่ต่าง ๆ อย่างมีเกียรติและสง่างามเสมอ

7. การเป็นผู้นำแนว Mandela อย่าไปเน้น ถูกหรือผิด แบบ 100%

8. การเป็นผู้นำที่ดี ต้องรู้ว่าจังหวะไหน จะ "พอ" หรือ จะ "ถอย"

 

 

อย่างข้อที่ 1 ไม่ต้องแนะนำคุณอภิสิทธิ์มีมาก ผมว่า จะเป็นนายกที่จุดประกายได้ดีคนหนึ่ง อย่างคำขวัญวันเด็ก จุดประกายคำขวัญคือเป็นจุดที่น่าสนใจ เยาวชนบางคนยังไม่รู้จักตัวเองว่าต้องการอะไรในชีวิต เด็กมหาวิทยาลัยบางคนเรียนสาขาที่พ่อแม่ให้เรียน แต่ไม่ชอบ เขาทำงานเพราะเงิน ไม่ได้ชอบหรือมี passion จริงๆ

แต่ข้อสอง คุณอภิสิทธิ์ต้องเรียนรู้ว่า อย่ารุกข้างหน้า เท่านั้น ดูหลังให้ดี ยิ่งคุณสุวัจน์แนะนำว่าระวังระยะสั้น 2-3 เดือนอย่าให้ข้างหลังโหว่ อย่าประมาท ปัญหาอะไรแก้ให้ทันเหตุการณ์

ข้อ 4 ก็ดีคือ ต้องบริหารศัตรูตลอด อย่าบริหารแค่บริวารประเภทเดินตาม ล้อมหน้า ล้อมหลัง ต้องศึกษาศัตรูว่า เขาคิดอะไร บางครั้ง ศัตรูอาจจะเป็นมิตรก็ได้

และสุดท้าย ก็คือ ข้อ 7 บริหารความขัดแย้งด้วยความรอบคอบ รู้เขารู้เรา ไม่ใช่หลักการแบบขาวดำเท่านั้นโดยไม่ดูความอยู่รอดต้องประนีประนอม สร้างสังคมไทยให้ไปรอดในภาวะไม่ปกติเพราะอย่างที่ผมพูด ถ้าได้เป็นกับเกือบเป็นนายกของคุณอภิสิทธิ์ จะไม่เหมือนกัน จะได้เป็นนานหรือได้เป็นประเดี๋ยวประด๋าว ก็จะแตกต่างกัน สะสมประสบการณ์ครับและอดทน

 

                  จีระ หงส์ลดารมภ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท