เกษตรกรคนเก่ง : สมหมาย พลอาจ


มีการจดบันทึกข้อมูลแล้วนำมาศึกษาจนได้ตำรามาเล่มหนึ่ง เป็นตำราที่ได้จากประสบการณ์


สมหมาย พลอาจ

เรื่องเล่าของคุณสมหมาย พลอาจ คุณกิจยอดเยี่ยมเดือนพฤษภาคม 2549 ของ สคส.คุณสมหมาย พลอาจ ได้เล่าให้กับนักส่งเสริมการเกษตรในวันสัมมนานักส่งเสริมการเกษตรว่า ตนเองนั้นได้ออกทำแผนชุมชนในทุกหมู่บ้านในตำบลคุยบ้านโอง ซึ่งผลของการร่วมเวทีชุมชน พบว่า ปัญหาของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำการเกษตร ก็คือ ต้นทุนการผลิตสูง"

แนวทางในการทำงานเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านก็คือ การลดต้นทุน" แต่เมื่อถามชาวบ้านต่อไปว่าต้นทุนของเราคืออะไร ผลก็คือสามารถระดมกันเขียนต้นทุนการผลิตได้เต็มหน้ากระดาษฟาง แต่พอย้อนถามว่ารายได้คืออะไร คำตอบก็คือขายปีละ 1 ครั้ง (แต่เวลาจ่ายเต็มหน้า) ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาก็ต้องใช้เวลา ค่อยๆ แก้ไปทีละอย่าง ต้องหาทางแก้โดยชาวบ้าน หากจะลดต้นทุนก็ทำปุ๋ยใช้เอง หรือหากไม่มีความรู้ก็จะเข้าทางเราคือให้ความรู้ แนวทางที่จะได้ความรู้นั้นทุกหน่วยงานก็ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว

แต่ในการทำการสอนเรื่องการทำปุ๋ย-ยา ที่ผ่านมาของภาคราชการมักไม่สำเร็จ จึงได้เริ่มต้นทำด้วยตัวเองก่อน ทำมาหลายปีตั้งแต่ปี 2543 จนเกิดความเชื่อมั่น เรียนรู้จากโรงเรียนเกษตรกร มีการจดบันทึกข้อมูลแล้วนำมาศึกษาจนได้ตำรามาเล่มหนึ่ง เป็นตำราที่ได้จากประสบการณ์

เมื่อเริ่มต้นในการทำงานตั้งกลุ่มยังไม่ได้เพราะเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ จึงต้องเริ่มที่ผู้นำ ผู้นำต้องเปลี่ยนผู้นำต้องจับมือกัน เริ่มแรกก็ยังไม่สำเร็จ ต่อมา ยิ่งทำยิ่งรู้" เจอปัญหาเราหาทางแก้ แก้ไม่ได้ก็ถามผู้รู้โดยตนเองก็ได้ไปเรียนรู้มาจากหลายๆ ที่ เมื่อได้เรียนรู้แล้วก็นำมาปฏิบัติแล้วก็ได้ออกไปตระเวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในการลดต้นทุนของชาวบ้านทั้งปุ๋ยและยา ต้องเริ่มตรงปุ๋ยก่อน เช่น ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ขี้วัว ขี้เป็ด ขี้ไก่หรือแกลบรำ เป็นต้น ไปสอนเขาทำตัดปุ๋ยเคมีเลยทันทียังไม่ได้แต่ลดได้ จากนั้นปัญหาของแมลงชาวบ้านต้องรู้ช่วงเวลาการปลูก และหากว่าอยากรู้ให้ชัดต้องมีการจดบันทึก ยกตัวอย่างตนเองว่าบทเรียนมาจากการบันทึก การปฏิบัติจริง แต่เกษตรกรทำอย่างเดียว ไม่บันทึก ถ้าบันทึกก็เหมือนการสงครามเราเหมือนแม่ทัพ ถ้าเรารู้เรารบชนะแน่ หากเราไม่รู้ก็ต้องหาพ่อค้า เหมือนวิ่งเข้าหากองไฟ

เริ่มแรกเก็บขี้วัวขายหมด พวกเรายังโง่ของดีเก็บขาย แต่ของเสียกลับซื้อเข้ามา แต่ตรงกันข้ามกับฝรั่งของดีเก็บไว้ส่วนของเสียเช่นยาฆ่าแมลงส่งไปขายให้ที่อื่น ปัจจุบันรถที่เข้ามาซื้อขี้วัวไม่มีแล้ว บางครั้งต้องหักดิบด้วยการพูดแรงๆ แรกๆ ก็เกรงเหมือนกัน แต่ปัจจุบันชาวบ้านรู้แล้ว สำหรับเกษตรกรก็เริ่มลดการใช้ปุ๋ยใช้ยามากแล้ว ดูจากกากน้ำตาลซึ่งต้องใช้ถึงปีละ 3 ตัน และเริ่มมีการใช้สิ่งทดแทนกากน้ำตาล เช่น น้ำซาวข้าว เหล้าขาว เป็นต้น

ทุกสิ่งทุกอย่างต้องค่อยๆ เป็นค่อยไป ต้องแก้ไปทีละเปราะๆ เริ่มจากปุ๋ยจากยา ก็มาลดการไถการปั่น ทำนาพร้อมๆ กันจะเกิดความคุ้มค่าโดยใช้การทดฝาย เพราะเป็นนาในเขตชลประทาน ต่างจากในอดีตที่ต่างคนต่างทำ ซึ่งหัวใจของการลดต้นทุนนั้นเกษตรกรจะต้องรู้ว่าต้นทุนเกิดจากอะไร แต่หากเราชี้นำเพราะเคยลองทำแล้วไม่ได้ผล อยู่ในชุมชนจึงรู้จักชุมชนถ้าได้ผลก็จะยอมรับ ต้องทำไปสักพักเมื่อเขาได้คิดและเริ่มรู้ตัวก็จะหันมาทำเอง

ปัจจุบันเกษตรกรสามารถรับบริการของหลายๆ หน่วยงาน ทั้งจากเกษตร ธกส. กศน. พัฒนาที่ดิน ฯลฯ และชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกในสิ่งที่ควรปลูก เช่น ของกิน ของใช้ เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน เป็นการลดรายจ่ายทั้งในการเกษตรและในครัวเรือน เราทำเพื่อชุมชน เพราะหากชุมชนดีขึ้น ตัวเราก็จะได้ขึ้นด้วย และขณะนี้ได้ทำงานนอกชุมชนด้วย แต่ขณะเดียวกันการดูแลการเกษตรของตนเองก็ได้อาศัยความรู้ที่มีอยู่ การดูแลก็จะขึ้นอยู่กับจังหวะ แต่การดูแลก็น้อยลง เพราะชาวบ้านทำมากขึ้นธรรมชาติก็กลับมาจึงทำให้การดูแลน้อยลง

บันทึกมาเพื่อการ ปลรร. ครับ

วีรยุทธ สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 40483เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2015 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • น่าสนใจมากครับ
  • อยากกลับไปทำนาบ้างครับ จะถูกทางบ้านว่าไหมครับเนี่ย

พี่สิงห์ป่าสัก

เรื่องของการส่งเสริมเกษตรที่ทวนกระแส เกษตรที่เป็นเกษตรทางเลือก อาจต้องใช้เวลา พี่วีรยุทธี่ทราบดีอยู่แล้ว

อยากยิ่งกว่าคือ การให้เกษตรกรหันไปใช้ปุ๋ยชีวภาพ ทำเกษตรปลอดสาร

ปัญหาที่แม่ฮ่องสอนก็มีมากมายครับ กลุ่มชาติพันธุ์ที่นี่ทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก มีพื้ชเศรษฐกิจไม่กี่ตัวกลุ่มนี้ทำรายได้งามทีเดียวครับในหนึ่งปี

เคยมีความพยายามที่จะมีการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เกษตรอินทรีย์ ปรากฏว่า ผลผลิตได้น้อย แมลงรบกวนเยอะ ชาวบ้านบอกว่า "ไม่ได้แล้ว" ทำอย่างนี้ตายแน่ๆ มันก็จริงของเขาครับถ้าในช่วงปรับเปลี่ยน

ที่แม่ฮ่องสอนเราก็เลยทำเป็นกลุ่มๆไป ส่วนมากเป็นงานวิจัย ทำดีแล้วขยายผล ปัจจุบันเรามีเครือข่ายเกษตรแม่ฮ่องสอนทำเรื่องนี้อยู่

เป็นงานวิจัยครับพี่ เรามีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ดังนั้น การที่เราค่อยๆโต และสานเป็นเครือข่ายเกษตร ถือว่าเป็นจุดเริ่มที่น่าสนใจ

เรามีงานวิจัยที่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อยู่หลายๆโครงการ สิ่งสำคัญที่ผม เห็นคือ การพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็น และฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องก็รณรงค์(เกษตร สาธารณสุข มหาดไทย กลาโหม ศึกษา)ร่วมด้วย ได้ผลที่น่าพอใจครับ

เรามีเวทีเกษตรจังหวัด ที่มีผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรจัดขึ้น และ สกว.เป็นผู้ดูแลเรื่องวิชาการ

นำมาแลกเปลี่ยนครับ 

ผมชอบบันทึกนี้มากครับ    สมแล้วที่ได้รับรางวัลคุณกิจดีเด่น

เป็นแนวคิดที่ดีครับ และผมกำลังศึกษาอยู่ในเขตพื้นที่อีสานใต้ จะติดตามข้อมูลกับพี่ต่อไปครับ

ขอบคุณครับ

เรียน อาจารย์ขจิต

  • ขอบพระคุณมากครับที่สนใจ
  • หากไม่ทำนาก็นำแนวคิดนี้ไปเผยแพร่บอกต่อให้คนอื่นได้ปฏิบัติต่อก็ยังดีนะครับ

เรียน คุณจตุพร

  • ขอบคุณมากครับที่นำประสบการณ์มา ลปรร.
  • คงต้องค่อยๆ ปรับเหมือนกับที่คุณสมหมายบอกว่าต้องแก้ทีละเปราะๆ ครับ

เรียน อาจารย์หมอวิจารณ์

  • กราบขอบพระคุณมากครับที่ติดตามและให้กำลังใจ
  • ผมก็ชอบเนื้อหาของบันทึกนี้มากเช่นกันครับ เพราะได้ทั้งความรู้และเทคนิคการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอนดีมาก
  •  ผมฝึกบันทึกเรื่องเล่าโดยไม่ได้ตีความ เพียงแต่เชื่อมประเด็นสำคัญที่จับได้จากการเล่า คุณสมหมายเขาถ่ายทอดได้ดีมากครับ

 

เรียน คุณอันพิมพ์

  • ขอบพระคุณมากครับที่ติดตาม
  • ยินดีที่จะได้ ลปรร.ต่อไปครับ

 

บันทึกนี้เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ และได้จดบันทึกใว้แล้ว  นำไปใช้ที่บ้านค่ะ

ขอขอบพระคุณค่ะ

พิไล

 

         ยินดีมากครับที่บันทึกนี้จะเกิดประโยชน์ต่อสังคม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท