การบรรยาย KM เพื่อ “ปูพื้น” แบบ “ปูพรม”


.... นี่ขนาด “เล่นตัว” นะครับ แต่พอถึงวัน (สัมมนา) จริง ผมกลับรู้สึกเหมือนถูก “ฟันแล้วทิ้ง” อยู่บ่อยๆ...

        ประเด็นนี้เคยคุยกันไปบ้างแล้วหลายครั้งหลายคราด้วยกัน ผมเองก็ไม่ถึงกับปฏิเสธการเป็นวิทยากรเสมอไป คงรับไว้พิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ....เร็วๆ นี้ก็เพิ่งได้รับจดหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ และเห็นว่าน่าสนใจดี เพราะคงจะตรงใจหลายๆ ท่านที่ต้องเกี่ยวพันกับเรื่อง KM ในหน่วยงาน ลองอ่านจดหมายดูก่อน แล้วค่อยคุยกันในตอนท้ายครับ...

เรียน อาจารย์ประพนธ์

ขณะนี้ ได้เสนอความคิดกับผู้รับผิดชอบงาน KM ของหน่วยงาน (ก.พ.ร. กรม) ตามที่อาจารย์แนะนำแล้ว  ซึ่งทาง ก.พ.ร. กรม ก็เพิ่งเปลี่ยนผู้ที่ดูแลเรื่องนี้ (เริ่มทำปี 47 ถึงปัจจุบัน เปลี่ยนปีละคน)  และกำลังจะทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ KM ของหน่วยงานชุดใหม่  จากนั้นก็คงต้องมาคุยรายละเอียดของโครงการกันอีกครั้ง 

        เท่าที่ได้คุยกับบรรดาผู้รับผิดชอบ KM ในหน่วยงานต่างๆ เห็นได้ชัดว่า KM ของหน่วยงานยังตามหลังกรมอื่นๆ อยู่ เพราะเนื่องจาก KM ของหน่วยงานเริ่มต้นด้วยการทำเพียงเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ของ ก.พ.ร. เท่านั้น เวลาผ่านมา 2 ปี จนถึงขณะนี้บางทีพอพูดถึง KM คนก็ยังนึกถึงแค่เว็บไซต์ KM เท่านั้น (ยังไม่ได้เรียนอาจารย์ว่า เกณฑ์บังคับเมื่อปลายปีงบประมาณ 2549 คือ ให้มีเว็บไซต์ KM ของหน่วยงาน และให้ทุกหน่วยงานในสังกัดนำความรู้ขึ้นเว็บไซต์นี้ อย่างน้อย 1 เรื่อง  ปรากฏว่าบางหน่วยงานก็ scan คำสั่ง กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เอามาใส่ไว้ ใส่อะไรๆ ก็ได้ ขอให้มี  1 เรื่อง...)

        ขอเรียนถามอาจารย์ว่า  หากจะเริ่มต้นใหม่  โดยครั้งแรกจะเชิญอาจารย์มาปูพื้นให้ก่อน  โดยที่ยังไม่จำกัดกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง  แต่จะเน้นให้มีผู้บริหารอยู่ด้วย (ซึ่งก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเข้าฟังกันแค่ไหน) และแกนนำของหน่วยงานต่างๆ  รวมทั้งคนอื่นๆ ที่สนใจให้เข้ามาในครั้งแรกนี้   จากนั้นการจัดครั้งที่สอง ก็จะทำในลักษณะที่เป็น workshop โดยระบุกลุ่มเป้าหมายว่าเฉพาะผู้ที่เป็นแกนนำ KM ของแต่ละหน่วยงาน   ...แบบนี้จะได้หรือเปล่าคะ?

ผมถือโอกาสนี้ตอบจดหมาย เพื่อจะได้เปิดประเด็นนี้อีกครั้งครับ...

ผมชอบจดหมายในลักษณะนี้ เพราะรู้สึกว่าผู้ที่เขียนมานั้นมีความเป็นห่วงเป็นใยในหน่วยงานของตน อยากเห็นหน่วยงานได้รับประโยชน์จากการทำ KM อย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำไปเพราะถูกสั่ง ส่วนที่จะเริ่มต้นด้วยการเชิญผม (หรือวิทยากรคนอื่น) ไปบรรยาย ปูพื้น (ให้ความรู้เบื้องต้น) แก่คนในหน่วยงานแบบ ปูพรม ก่อนนั้น... จำเป็นหรือไม่?

ใน สคส. เราได้พูดเรื่องนี้กันมาพอสมควร เพราะจากประสบการณ์ของหลายๆ คนที่ สคส. ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าการบรรยายในลักษณะนี้ ไม่ค่อยจะได้ผล เป็นเพราะคนส่วนใหญ่เข้ามาฟังแบบ ไม่ได้ตั้งใจ หัวหน้าสั่งให้มาก็มา ไม่ใช่ ใจสั่งมา ถ้าไม่ได้มาด้วยใจ ไม่ได้ต้องการจะเรียนรู้ มานั่งฟังอยู่ชั่วโมงสองชั่วโมง ก็ไม่มีประโยชน์อันใด ทำให้เปลืองค่าแอร์ เปลืองค่าน้ำชา-กาแฟไปเปล่าๆ แถมบางครั้งก็พบคนนั่งหลับจำนวนมาก ดูแล้วรู้สึกรันทดใจ เพราะในวิสัยทัศน์หน่วยงานดันเขียนไว้ซะสวยหรูว่าต้องการจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ LO

ที่ผมอดสงสารไม่ได้คือผู้ที่ถูกมอบหมายให้จัดงาน(การสัมมนา) นี้ เพราะเป็นผู้ที่ต้องรับบทหนักในหลายๆ เรื่อง ....ไหนจะต้องติดต่อทาบทามวิทยากร ไหนจะต้องเขียนโครงการเสนอผู้ใหญ่เพื่อให้อนุมัติงบดำเนินการ บางโครงการก็เขียนไว้ค่อนข้าง เวอร์ เช่น ระบุว่าจะมีคนเข้าสัมมนา 200-300 คน แต่พอจัดเข้าจริงๆ ปรากฏว่ามีมาไม่ถึงร้อย... เรื่องการจัดแบบ ปูพรม นี้ ผมพอจะเข้าใจอยู่ครับว่าวัฒนธรรมแบบไทยๆ ถ้าเชิญไปแล้วไม่ทั่วถึง บางทีก็กลายเป็นการสร้างปัญหาที่ยิ่งใหญ่ภายในองค์กร

เรื่องนี้ผมไม่ได้ว่าอะไรหรอกครับ จะจัดเล็กจัดใหญ่ ไม่เป็นไร ขอให้บรรดาผู้บริหารมาเข้าร่วมด้วยก็แล้วกัน เพราะไม่มีอะไรจะอันตรายเท่ากับการที่ลูกน้องรู้ว่า KM ที่แท้จริงนั้นคืออะไร ...ทำอย่างไร ในขณะที่บางทีผู้บริหารยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ KM  อยู่ ผมมักจะใช้เรื่องที่จะต้องให้ผู้บริหารเข้าร่วยมนี้เป็นข้อต่อรอง ...พูดง่ายๆ ก็คือถ้าไม่มี ผู้ใหญ่ เข้า ผมก็จะไม่รับบรรยาย หน่วยงานที่ไม่เข้าใจก็อาจนึกว่าวิทยากรของ สคส. มักจะ เล่นตัว

นี่ขนาด เล่นตัว นะครับ แต่พอถึงวัน (สัมมนา) จริง ผมกลับรู้สึกเหมือนถูก ฟันแล้วทิ้ง อยู่บ่อยๆ ครับ เพราะที่ตกปากรับคำกันนั้น ดูท่าเอาจริงเอาจัง แต่พอถึงวันสัมมนาจริง ผู้บริหารอยู่กันไม่ครบหรอกครับ เหตุผลส่วนใหญ่ที่รับแจ้งในวันนั้นก็คือ หลายท่านติดประชุม บางท่านต้องเข้ากระทรวง บางท่านต้องไปอีกงานหนึ่งซึ่งบังเอิญจัดวันเดียวกัน.... และอีกสารพัดเหตุผล ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของผู้จัด (ซี่งเป็นข้าราชการตัวเล็กๆ)

ถ้าให้เลือกได้ ผมพอใจที่จะใช้พลังไปกับการจัด Workshop มากกว่าครับ จริงๆ แล้วการจัด Workshop นั้น ต้องเตรียมการมากกว่าการบรรยายหลายเท่า แต่จากประสบการณ์ของผมถ้าเลือกผู้เข้าร่วมดีๆ โอกาสที่จะผลักดันเรื่อง KM นี้ มีโอกาสสำเร็จสูงกว่าครับ
คำสำคัญ (Tags): #km#การบรรยาย
หมายเลขบันทึก: 68604เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

 Ball Drop เรียนท่านอาจารย์ ดร.ประพนธ์ ที่นับถือ

 ขอแจมด้วยครับ

 ทีมงานศูนย์บริการวิชาการ มีประสบการณ์ครับ เช่นเดียวกัน บ่อยครั้งทำเพื่อคะแนน บางครั้งนำไปเลื่อนซี เป็นผลงาน อีกหลายๆเรื่องครับ

 มองอีกด้านหนึ่ง ระบบที่ถูกกำหนดขึ้นมาโดย ก...ร. ทำให้ทุกคนต้องเป็นเช่นนั้นกระมังครับ

 สงสาร KM ใช้เป็นเหยื่อ..ครับ

เรียนท่าน อ.ดร.ประพนธ์ ที่นับถือ 

อาการอย่างนี้น่าจะเกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐหลายๆ แห่งครับ ...สำหรับเรื่องนี้ผมแสดงความเห็นไว้ในบันทึก KM ? ศรัทธาหรือว่าเหตุผล

ขอบคุณครับ
วิชิต

                   คงเพราะจิตใจเขาคงมืดบอด แล้วไม่มาอ่านที่เขียนนี้  ที่สำคัญมีเงินให้บริหาร  เลยทำแบบไม่ค่อยคำนึงถึง  คุณค่า คุณภาพ และวันข้างหน้าครับอาจารย์ 

                  ขอให้ท่านอย่าได้เจอบ่อย ๆ  ให้เขาจิตใจไม่มืดบอด ให้มีวิสัยทัศน์กว้าง และขยันอ่านติดตาม ที่สำคัญ  ขอนึกถึงความรู้สึกที่ดี ความตั้งใจดีของผู้ไปบรรยายบ้าง

อาจารย์ครับ ขอแชร์ด้วยคนครับ

  ถึงผู้ถามลองดูวิธีนี้ดีไหมครับ

  1. ประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงว่าจะมีการบรรยายเกี่ยวกับ KM รับจำนวนจำกัด โดยจะทำการคัดเลือกจากใบสมัคร (เพี่อให้ดูมีคุณค่า)
  2. ในใบสมัครนอกจากจะมีข้อมูลส่วนตัวแล้ว ขอให้มีคำถามสัก 4-5 ข้อ เช่น เหตุผลที่ต้องการเข้าร่วม ความคาดหวังที่ต้องการ ปัญหา KM ในขณะนี้ จะนำความรู้ที่ได้ไปทำอะไร เป็นต้น (เพื่อจะได้เจอตัวจริง ประเภทใจสั่งมา)
  3. ติดต่อเจ้ากรมขอความเมตตา กรุณา จากท่านได้โปรดมาเป็นประธานในการสัมนา กล่าวเปิดงานและกล่าวปิดงานพร้อมทั้งมอบของที่ระลึก (เพื่อให้ ผ.อ. อยู่ทั้งวัน) หรือหากมีกำลังภายในพอจะเรียนเชิญระดับเจ้ากระทรวงก็จะยอดเยี่ยมมาก (ทีนี้แหละทั้งเจ้ากระทรวงและรองจะอยู่กันทั้งวัน) หากมีระดับ BIG ๆ มากันเยอะ ๆ อาจารย์จะได้จัดรายการเจาะใจใส่KM

 ว่าแต่ว่า...ผู้บริหารระดับสูงของท่านใส่ใจกับ KM เพียงใดครับ หากไม่เป็นระดับน้อง ๆ แฟนพันธ์แท้แล้ว เปลี่ยเป็นแผน 2 ครับ คือทำจากล่างขึ้นบน เหนื่อยแน่ครับแต่ก็เป็นไปได้หากใจสู้

ผมเคยใช้ได้ผลมาแล้ว

     เข้าใจชัดเจน และน่าเห็นใจครับ
การทำเพราะ "ต้องทำ" โดยยังไม่ "อยากทำ" เพระไม่รู้ว่า "ทำไมต้องทำ" สุดท้ายก็ไม่พ้น เข้าสู่ร่องเดิมๆ ในลักษณะที่ .. เป้าหมายเลือนลาง  โครงสร้างสับสน  ผู้คนเบื่อหน่าย ... สุดท้ายเลิกรา  วิทยากรก็อกหักซ้ำแล้วซ้ำอีก
    แต่อาจารย์ครับ ถ้าผู้บริหารจำนวนกว่าครึ่งร้อยได้รวมกลุ่มกันเพื่อเรียนรู้ตามหลักสูตรหนึ่ง เพื่อพัฒนาผู้บริหาร แล้วอาจารย์ได้มีโอกาสพบปะเพื่อชี้ทาง เล่าเรื่องราวแบบ ฉายหนังตัวอย่าง สักครั้ง ผมมั่นใจว่าประโยชน์จะต้องมีแน่นอน ส่วนจะก่อผลเป็นรูปธรรมได้เร็ว หรือมากน้อยแค่ไหนก็คงต้องทำใจยอมรับตามที่มันเป็น ... ผมเชื่อว่าการที่ผู้บริหารได้เข้าใจ และศรัทธา KM  เพราะเล็งเห็นประโยชน์อย่างชัดแจ้ง ก็เป็นเสมือนเราได้ปักหมุดหรือตอกเสาเข็ม ไว้รองรับกระแส KM ที่เป็นตัวแท้ .. จังหวะและโอกาสเหมาะ ศรัทธาและความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะช่วยหนุนเสริมให้ความสำเร็จเกิดได้มากยิ่งขึ้นเป็นแน่

ดร.ประพนธ์ค่ะ

ดิฉันเจอคำถามบ่อยๆ จาก user ว่า จะเอาบล็อกไปทำ KM ต้องทำอย่างไรบ้าง :)

ก็ต้องเขียนอธิบายกันไปพอสมควรค่ะ ว่าการทำ KM นั้นไม่จำเป็นต้องใช้บล็อกค่ะถ้าเจอหน้ากันทุกวันในองค์กรอยู่แล้ว

หลายคนยังงงและคิดว่า KM คือ ระบบสารสนเทศค่ะแล้วก็บอกให้ดิฉันไปช่วย :)

เทคโนโลยีไม่ใช่ประเด็นแรกและประเด็นเดียวของการจัดการความรู้ เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องช่วยในการขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยให้ความสะดวกในการเก็บเป็นคลังความรู้

และก็ได้แนะนำให้อ่านบล็อกใน GotoKnow โดยเฉพาะรวมบล็อกของ สมาชิก สคส. และ ผู้ได้รับรางวัลสุดคะนึง ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

บทความนี้...สะใจ...ดิฉันมากค่ะ

  • ทั้งๆที่รู้ว่า Blog เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้...ก็ยังคาดหวังผลงานจาก Blog มากเกินไป
  • ใครบันทึกลงblogมากๆ..บอกว่าป็น"เจ้าแม่KM"..ดิฉันว่า...ไม่ใช่..
  • คนยังขาดความเข้าใจอีกมาก...เรื่องKM...BlogGotoKnow...ค่ะ

อาจารย์คะ

  • ในส่วนหนึ่ง KM เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้โดย ก.พ.ร. เพื่อเป็นตัววัดการทำงานของหน่วยงานราชการ ด้วยกระบวนการวัด ที่มีขอบเขตมาก ... นี่เป็นเหตุให้ราชการต้องทำ KM ... ข้อนี้ผู้ที่มีความรับผิดชอบ ก็ต้องดิ้นรนทำกันให้ออกมาให้ได้
  • KM เข้าใจไม่ยาก แต่ก็เข้าถึงไม่ง่ายนะคะ นอกจากลงมือทำ ... ซึ่ง style ราชการ ต้องทำอะไร ที่เป็น short cut เพื่อให้ได้ output ทันเวลา (... ทำกันมานานแล้ว)
  • ดิฉันเห็นว่า ... เราต้องสร้างสังคม KM ค่ะ เหมือนกันที่ GotoKnow ได้สร้างสังคมเสมือนแล้ว แต่สังคมที่คนกลุ่มใหญ่ยังต้องการ คือ ประสบการณ์จริง ... จุดนี้ เราคงต้องหาทายาท เผยแพร่ความรู้ KM อยู่กระมังคะ

ดิฉันเป็นข้าราชการคนหนึ่ง ที่ทำ KM ในบริบทของราชการ ... ให้ความซึมซับ KM กับเพื่อนร่วมงาน ท่ามกลางการทำงานที่เร่งรัด ด้วยกระบวนการวัดของราชการค่ะ 

 

เหมือนที่ผมพูดไว้ในงานมหกรรม KM ครั้งที่ 3 นั่นแหละครับว่า ....การเรียนรู้ระดับที่ 1 จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเปิดรับ คือต้องฟังอย่างตั้งใจ จึงจะได้สิ่งที่เราเรียกว่า สุตตมยปัญญา หรือ ปัญญาที่มาจากการฟัง ....การเรียนรู้ระดับที่ 2 เกิดจากใช้สมองคิด ไม่ใช่แค่จำและทำทุกอย่างเหมือนกับที่ได้ฟังมา หากแต่ว่ามีการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตน ...เป็นการต่อยอดความคิดจากของเดิม มีการเติมแต่ง ไม่ใช่แค่รู้จำ แต่เป็นการรู้จริง ...ทางพระเรียกว่าเป็น จินตมยปํญญา ....ส่วนการเรียนรู้ระดับที่ 3 ถือว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงของตนเอง ไม่ใช่แค่ฟังเขามา หรือคิดเข้าใจเอาเอง แต่เป็น "การเห็น" ได้ด้วยตนเอง เป็นประสบการณ์ตรง ซึ่งไม่สามารถเรียนได้ด้วยการฟัง หรือการคิด ในทางธรรมเรียกว่า ภาวนามยปัญญา

การเรียนรู้เรื่อง KM ในสังคมไทย ตอนนี้มีทั้งสามระดับครับ บางท่าน (แห่ง) ก็แค่ "รู้จำ" บางท่านก็ไปถึงขั้น "ทำเป็น" บางท่านก็เกิดปิ๊งแวบด้วยตัวเอง ผมเรียกว่าถึงขั้น "เห็นจริง" ....แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งครับ ยังไม่ยอมเปิดรับใดๆ ทั้งสิ้น .....คงต้องช่วยกันเท่าที่พอจะช่วยกันได้นะครับ

 Count Down ตามมาเสริมท้ายอีกครั้งครับ

 ผู้บริหาร ผู้บริคูณ ท่านมักกล่าวว่า "อ้อ Km หรือ ทำมานานแล้ว ปล่อยให้เด็กๆเขาทำเถอะ"

 "รู้จำ..ทำเป็น..เห็นจริง...อย่าทิ้งแต่เด็กๆทำ..ผู้นำต้องนำไปถูกทาง"

ขออนุญาติอาจารย์ JJ  ผ่านอาจารย์ประพนธ์ beyondKM นำไปเพิ่มคำเท่ห์ๆ "รู้จำ..ทำเป็น..เห็นจริง...อย่าทิ้งแต่เด็กๆทำ..ผู้นำต้องนำไปถูกทาง" ที่นี่ คำเท่ห์ๆ จากการ ลปรร. นะคะ

ถูกใจจริงๆค่ะ..ท่าน อ.JJ

...โป๊ะเชะ....

ทำKMที่กรมโดยที่ผู้บริหารไม่ค่อยเข้าใจKMมากนักแต่เราก็มีการใช้เครื่องมืออื่นๆซึ่งงานก็สำเร็จบ้าง     ดิฉันเคยเห็นหมอสมศักดิ์ ผอที่ สคร ที่อุบลมาเสนองานการรักษาวัณโรคโดยมีการใชEmwoverment หน่วยงานต่างๆโดยไม่ได้เอ่ยถึงKMทำให้เสียดายที่เราไม่ได้นำมาบันทึกไว้

ดิฉันเห็นใจผู้บริหารระดับรองและอธิบดีที่ระบบทำให้เป็นแบบนี้ค่ะ     เห็นใจวิทยากรที่ตั้งใจและมุ่งมั่นของสคส.ค่ะ     เห็นด้วยที่จะช่วยเรื่องworkshop มากกว่าไปบรรยายค่ะ    

ถ้าอาจารย์ต่อรองโดยให้มีทีมที่ส่งหัวปลาให้อาจารย์ก่อนและมีหัวปลาย่อยๆน่าจะดีขึ้นค่ะ

เรียน อาจาร์ยประพนธ์ครับ 

ขอแชร์ด้วยคนนะครับ แต่เป้นมุมมองของผมเองนะครับ

 ผมคิดว่าจัดแบบwork shop ดีกว่า สัมนนา แต่อยากเสริมการบรรยายเล็กๆ เพื่อ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในองค์กรนั้น  

    ผมคิดว่าการทำอะไรมันยาก ในฐานะคุณอำนวย ถ้าไม่เริ่มจาก จุดไฟในองค์กรก่อน หมายถึงการสร้างแรงบันดาลใจ  ไม่ใช่ว่าเขาต้องรู้และเข้าใจทุกเรื่อง

ผมเองก็ไม่เข้าใจคำว่า แรงบันดาลใจ หรือไม่เข้าใจว่ามันสำคัญอย่างไร  จนเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ พยายามดันให้องค์กร คิดและปรับเปลี่ยน เรื่องทัศนคติในการจัดการความรู้ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท