Happy Workplace – สวรรค์ในที่ทำงาน


.....สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ พนักงานต้องมีความสุขก่อน จึงจะให้บริการที่ดีแก่ลูกค้าได้ และในทางตรงกันข้าม ถ้าพนักงานไม่มีความสุข การทำงานและการให้บริการก็จะทำได้ไม่ดีนัก....

          เมื่อเช้านี้ผมได้มีโอกาสร่วมประชุมเตรียมงาน เวทีนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะในสถานประกอบการอุตสาหกรรม ของ สสส. ในการจัดเวทีครั้งแรกนี้ทาง สคส. (โดยคุณฉันทลักษณ์ และคุณพันธุ์บุณย์)  รับจะเป็นผู้ดำเนินการให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อที่ทีมงานและผู้รับผิดชอบโครงการของ สสส. จะได้นำไปใช้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งต่อไปได้

          การสร้างเสริมสุขภาวะในสถานประกอบการ หรือ “Happy Workplace” ที่พูดถึงนี้ อาจจะมีผู้ตีความไปต่างๆ นานา  แต่จากการศึกษาโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงานจังหวัดชลบุรี ของ สสส. ได้มีการวางกรอบไว้กว้างๆ เป็น “Happy 8” ดังนี้ครับ:

     1. Happy Body    มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและจิตใจ

     2. Happy Heart   มีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน

     3. Happy Society มีความรักสามัคคีเอื้อเฟื้อต่อชุมชนที่คนทำงานและพักอาศัย มีสังคมที่ดี

     4. Happy Relax   รู้จักผ่อนคลายต่อสิ่งต่างๆ

     5. Happy Brain   มีการศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองตลอดเวลาจากแหล่งต่างๆ นำไปสู่การเป็นมืออาชีพและ ความมั่นคงก้าวหน้าในการทำงาน

     6. Happy Soul    มีความศรัทธาในศาสนาและมีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต

     7. Happy Money มีเงิน รู้จักเก็บรู้จักใช้ ไม่เป็นหนี้

     8. Happy Family  มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง

          ผมมองว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้ง 8 ประเด็นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ใช้ชี้วัดคุณภาพชีวิตของผู้ที่ทำงาน (Quality of Work Life หรือ QWL) ได้ แน่นอนครับ เป้าหมายของผู้ประกอบการก็คือการทำกำไร  แต่ในหลักการบริหารสมัยใหม่ได้พิสูจน์แล้วว่าต้องมุ่งเน้นที่ลูกค้า (Customer Focus) เป็นอันดับแรก ต้องทำให้ลูกค้าพึงพอใจ (Customer Satisfaction) ให้ได้ก่อน  กำไรที่ได้จึงจะยั่งยืน และสิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ  พนักงานต้องมีความสุขก่อน จึงจะให้บริการที่ดีแก่ลูกค้าได้  และในทางตรงกันข้าม ถ้าพนักงานไม่มีความสุข การทำงานและการให้บริการก็จะทำได้ไม่ดีนัก....

          จากการที่ได้มีโอกาสคลุกคลีกับผู้ที่ปฏิบัติงานในหลายองค์กร ผมพยายามเรียนรู้อยู่เสมอว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้คนทำงานได้อย่างมีความสุข ...และจะขอสรุปประเด็นหลักๆ ไว้ดังนี้:

     1. ตัวเนื้องานเอง....มีความท้าทายอยู่ในเนื้องานหรือไม่?.....งานนี้เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้แสดงศักยภาพหรือไม่?..... ทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าหรือไม่?

     2. วัฒนธรรมการทำงาน.... เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้ตัดสินใจ ได้มีส่วนร่วม มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) หรือไม่?

     3. ปัจจัยแวดล้อม.... สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยหรือไม่?.... ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างไร?

     4. ภาวะผู้นำ.... ส่งเสริมการทำงานหรือไม่? .....มีการให้ทิศทางที่ชัดเจนหรือไม่? ..... สามารถสร้างขวัญและกำลังใจได้ดีเพียงใด?

          ประเด็นสุดท้าย (ข้อ 4) นี่แหละครับ  ที่ผมสนใจมากที่สุด เพราะเป็นประเด็นที่ไปเกี่ยวข้องกับทั้งสามประเด็นข้างต้นอย่างแยกไม่ออก  และในหลายๆ หน่วยงาน  พนักงานมักจะพูดออกมาคล้ายๆ กันว่า  ถ้า หัวหน้า มีภาวะผู้นำ หรือแค่ปรับเปลี่ยน พฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์บางอย่างได้  แค่นี้พนักงานก็แสนจะสุขใจ และได้ Happy Workplace ขึ้นมาแบบทันตาเห็นเลยทีเดียว !!

คำสำคัญ (Tags): #ความสุข#qwl#workplace#happy
หมายเลขบันทึก: 58183เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2006 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

Happy  จริง ๆ ครับที่ได้เข้ามาเรียนรู้ ขอบคุณครับ

ขอขอบพระคุณอาจารย์ประพนธ์...

  • จริงอย่างที่อาจารย์ดิศกุลท่านว่าเลยครับ...
  • ใครอ่านบันทึกนี้ อย่างน้อยก็มี happy learning ไปเยอะแล้ว

  สวัสดีครับ

  • ขอบพระคุณที่มีบันทึกดีๆให้อ่าน
  • พอข้อ 4 ไม่มี 1-2-3 ก็แทบหมดความหมาย
  • พิสูจน์อักษรให้ครับ ตกไปหน่อยนึง ... (Customer Satisfaction)

สวัสดีค่ะอาจารย์..

  • ครูอ้อยอ่านแล้วได้ความรู้เยอะเลยค่ะ 
  • และเก็บไว้ด้วยค่ะ 
  • ขอบคุณมากนะคะ Happy Memories ค่ะ

แฮปปี้เมื่อได้อ่านครับ ขอบคุณมากครับ

       ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรื่องภาวะผู้นำค่ะ....ดิฉันเชื่อว่าผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้มีคุณธรรมค่ะ....จึงจะช่วยเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เพื่อนร่วมงานได้

                                     สักวาผู้นำดีดูที่ไหน
                             ดูที่ใจมีธรรมประจำจิต
                             หนึ่งอดทนยิ้มแย้มแจ่มเป็นนิตย์
                             สองมีคิดริเริ่มเสริมตื่นตัว
                             สามเป็นผู้ขยันหมั่นทำกิจ
                             สี่พินิจมอบงานการให้ทั่ว
                             ห้ามีเมตตาธรรมประจำตัว
                             หกตรวจทั่วงานที่มอบชอบธรรมเอย

              คุณธรรมทั้งหกที่ว่า คือ
                       1. ขมา - อดทน
                       2. ชาคริยะ - ตื่นตัว
                       3. อุฏฐานะ - ขยัน
                       4. สังวิภาคะ - มีความเอื้อเฟื้อ รู้จักแบ่งงาน
                       5. ทยา - มีเมตตากรุณา
                       6. อิกขณา - ตรวจสอบ ตรวจตรา ติดตามผลงาน

  • ขออนุญาตต่อยอดค่ะอาจารย์
  • หนูว่าการจะเราคาดหวังให้หัวหน้าจะเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้.ยากส์....และเราก็อาจเสียความรู้สึกได้ ถ้าไม่เป็นดังหวัง และเพราะคนเราชอบคาดหวังให้คนโน้นเปลี่ยน เราจึงไม่ happy ไงคะ
  • เราต้องเปลี่ยนตัวเองค่ะ เพื่อให้เรามีความสุข I am very happy

มีความรู้สึกว่า ที่อาจารย์บันทึกมาคราใด มันไปเกี่ยวกับงานในที่ทำงานทุกที ตอนนี้ กรมอนามัยกำลังทำ Heathy Workplace กันค่ะ ขออนุญาตนำข้อเขียนของอาจารย์ไป ติดบอร์ด "เสาให้" ที่ ทป. ต่อนะคะ

ขอบคุณทุกๆ ท่านครับ คุณศุภลักษณ์ตีได้ตรงจุดมาก....

....เพราะคนส่วนใหญ่ (พนักงาน) มัก "โทษ" ไปที่คนอื่น (ผู้บริหาร ผู้ร่วมงาน) ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ "ตน" ไม่เป็นสุข และมักจะรอคอยให้ "คนอื่นเปลี่ยนแปลง" ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และ Control ไม่ได้

....ที่น่าจะเปลี่ยนได้ทันทีคือ "เริ่มที่ตนเอง" ....ถ้าทุกคนเห็น "จุดบอด" ของตนเอง แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุง ....แค่นี้ก็ดีหลายนะครับ

เข้ามาอ่านBlog ของอาจารย์ เช้านี้ มีความสุขมากเป็น Happy time มีแรงขับเคลื่อนตัวเองในการทำงานอีกเยอะเลยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

แวะมาอ่านอีกคน...เก็บเกี่ยวไปแล้ว ขอบคุณค่ะอาจารย์

ที่ภาควิชาพยาธิ มอ. ก็เน้นการสร้างเสริมสุขภาพกายและใจของคนทำงานเช่นกัน บันทึกนี้ ช่วยขยายกรอบความคิดที่จะทำงานต่อไป  ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ
ขอบคุณสิ่งดีๆค่ะ   ดิฉันเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามคิดว่าคงต้องอาศัยทั้งสองอย่าง     แต่ผู้นำน่าจะเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญค่ะ   

ได้อ่านแล้วถูกใจคนทำงานจริงๆค่ะ  ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ในโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรฯ  คนทำงานจะได้ เก่ง ดี  มีสุข   ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

เห็นแบบนี้แล้ว...ก็ชื่นใจค่ะ...อย่างน้อยก็มีอาจารย์ที่พยายามหาแนวคิดมาปลอบใจผู้ปฏิบัติตัวน้อยๆ......

ดิฉันว่า ถ้าผู้นำไม่อ่าน...ในงานก็คงเหมือนเดิม

ถ้าผู้น้อยนำไปติดบอร์ด...ผู้นำ(หรือผู้แนะข้างหู)อาจมองว่าเอามาเหน็บแนม (พวกมองเป็นลบยังมีในองค์กรค่ะ)

ทำอย่างไรผู้นำจึงจะเปิดใจกว้างไม่ฟังผู้แนะ(ข้างหู)มากเกินไปคะ

...........ดิฉันกำลังพยายามที่จะเอาความรู้ใหม่ที่ได้สู่การปฏิบัติจริงค่ะ..........เข้าใจ

ทำได้ครบก็ได้เวลา  Happy Time

ขอมองต่างมุมนิดหน่อยนะครับ ผมคิดว่า happy learning น่าจะสื่อที่สุดมากกว่าที่จะทำให้ครบทุกอย่าง และสำคัญมากกว่าอย่างอื่นทั้งหมดที่กล่าวมา และควรมีวิธีการกำหนดแนวทาง learning to be happy ในสถานะการณ์ที่เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากนัก (หลังจากพยายามเต็มที่แล้วนะ) ไม่ว่าตัวเองหรือ หัวหน้า หรือลูกน้อง เผื่อทุกอย่างจะค่อยๆดีขึ้น ตามธรรมชาติ (ไตรลักษณ์)โดยอาศัย หลักความป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา) ไม่งั้นคนจะคาดหวังมากเกินไปและผิดหวังได้ง่าย จนไม่สัมฤทธิ์ผล happy learning ซักทีนะครับ แสวง ๑๔ พย ๔๙
นาย รวีศักดิ์ วัดแสง

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์หมออย่างยิ่งครับ แต่ประเด็นสำคัญก็อย่างที่บอกครับว่า การที่จะทำเรื่องจากแนวคิดให้เป็นรูปธรรมคงต้องอาศัยกำลังภายในกันหลายขุม องค์กรต้องร่วมปฏิสัมพันธ์ในแนวทางนี้ด้วย การวางแผนที่จะให้ทุกอย่างมันสัมพันธ์กันก็ต้องใช้เวลาหน่อย ผมเองก็จะเริ่มที่บริษัทโดยคงต้องมานั่งกำหนดก่อนว่าอะไรควรที่จะเริ่มเป็นลำดับต้นๆ ขอบคุณครับอาจารย์หมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท