อนุทินล่าสุด


Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

เดินทางต่อมาที่ปัญหาการค้ามนุษย์และการกงสุล

 

         หลังจากที่บทความที่แล้วได้กล่าวถึงความหมายของการค้ามนุษย์ว่ามีความหมายในลักษณะกว้างว่าเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากตัวบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือการยินยอมเป็นไปโดยการข่มขู่ ขู่เข็ญ คุกคามหรือกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายอย่างใดๆ  ในบทความนี้จะกล่าวถึงประเด็นของงานกงสุลในปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเริ่มจากแนวคิดว่าด้วยการกงสุลและความสัมพันธ์ทางการกงสุลระหว่างรัฐ (consular relations) ตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ ไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างงานกงสุลกับการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์เพื่อเป็นพื้นฐานในการพิจารณาการดำเนินงานทางกงสุลของไทยและของต่างประเทศในการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งจะทำการพิจารณาในบทความต่อไป

            ผู้เขียนขอขอบพระคุณ รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ในการจุดประเด็นการค้ามนุษย์ให้กับผู้เขียนสามารถต่อยอดงานบทความชิ้นนี้ - คณาจารย์ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทุกท่านที่ให้การอบรมสั่งสอนความรู้ทั้งในและนอกวิชากฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดี - ผศ.พิรุณา ติงศภัทิย์ ผู้จุดประกายในเส้นทางสายนี้แก่ผู้เขียนและให้ข้อคิดความรู้แก่ผู้เขียนเป็นอย่างดีตลอดมา - ดร.จารุประภา รักพงษ์ อาจารย์ที่ปรึกษาผู้บ่มเพาะความเพียรพยายามในการศึกษา รวมถึงแบ่งปันทริปส์ในการอ่านภาษาอังกฤษให้ได้อย่างรวดเร็วแก่ผู้เขียน - และอาจารย์ พัชยา น้ำเงิน อาจารย์ผู้ซึ่งให้คำปรึกษาและคำแนะนำดีๆแก่ผู้เขียนมาโดยตลอด - หากมีข้อผิดพลาดประการใดในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนกราบขออภัยมา ณ ที่นี้และขอน้อมรับคำชี้แจงเพื่อใช้ในการปรับปรุงงานเขียนในครั้งต่อไป ขอขอบพระคุณที่ให้ความสนใจในงานเขียนค่ะ :) 

 

 

แนวคิดว่าด้วยการกงสุลและความสัมพันธ์ทางการกงสุลระหว่างรัฐ (consular relations) 

          ในตำราพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศได้กล่าวถึงแนวคิดว่าการกงสุลอย่างเดียวกันว่าหมายถึง ผู้แทนของรัฐ (consuls) ที่มีบทบาทและหน้าที่โดยทั่วไปซึ่งมิใช่ในทางการเมือง (non-political functions)[1] อาทิ หน้าที่ในการปกป้องประโยชน์ของรัฐผู้ส่งและคนชาติของรัฐผู้ส่ง (the protection of the interests of the sending state and its nationals) หน้าที่ในการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและสังคม (the development of economic and cultural relations) หน้าที่ในการออกหนังสือเดินทางและวีซ่า (the issuing of passports and visas) หน้าที่ในการรับจดทะเบียนครอบครัว การจดทะเบียนคนเกิด การจดทะเบียนตาย (the registration of births, deaths and marriages) รวมถึงหน้าที่ในการดูแลยานพาหนะของรัฐผู้ส่ง ได้แก่ เรือและอากาศยาน โดยในปัจจุบันงานการกงสุลได้ขยายตัวไปถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจ (ad hoc diplomacy or special missions) เพื่อปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินงานในกรณีอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ ได้แก่ ผู้แทนในการเจรจาทางการค้าของรัฐเพื่อเป้าหมายในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้า หรือ ผู้แทนการต่างประเทศในการติดต่อสัมพันธ์และดำเนินงานกับบุคลากรในต่างประเทศเป็นต้น[2] 

          แม้กงสุลจะมีสถานะเป็นผู้แทนของรัฐเช่นเดียวกันกับกรณีของทูต(diplomatic agents)  แต่บุคคลการทางกงสุลหรือการดำเนินงานในทางกงสุลนั้นจะไม่ได้รับประโยชน์จากความคุ้มกัน(immunity)ในลักษณะเดียวกันกับทูต หากแต่จะได้รับความคุ้มกันในลักษณะของความคุ้มกันของรัฐ (state immunity) ตามสถานะความเป็นผู้แทนของรัฐและความคุ้มกันตามข้อตกลงของรัฐผู้รับ (receiving state) ในการอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานทางด้านกงสุลของรัฐผู้ส่ง ส่วนกรณีของผู้แทนเฉพาะกิจ (ad hoc) จะได้รับความคุ้มกันในลักษณะเดียวกัน คือ ความคุ้มกันของรัฐจากสถานะผู้แทนของรัฐและความคุ้มกันในกรณีทั่วไปตามสถานะของคนต่างด้าวในดินแดน ซึ่งรวมถึงความคุ้มกันเป็นกรณีพิเศษตามหลักเกณฑ์ของรัฐผู้รับเช่นกัน 

          แนวคิดว่าด้วยการกงสุลในทางระหว่างประเทศก่อตัวขึ้นจากทางปฏิบัติระหว่างรัฐเป็นการทั่วไป (general usage) ได้แก่ การให้สถานะเจ้าหน้าที่ของรัฐและความคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษ อาทิ หลักการล่วงละเมิดมิได้ในกงสุล เอกสารและรายงานในทางกงสุล(the consular, the consular archives and documents are not inviolable ) ความคุ้มกันของกงสุลและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทางกงสุลจากเขตอำนาจทางบริหารและเขตอำนาจในการพิจารณาคดีของรัฐผู้ส่ง (immunity from the jurisdiction of the judicial and administrative authorities of the receiving states) รวมถึง ข้อยกเว้นในทางภาษีและหน้าที่พลเมืองของกงสุลและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในทางกงสุล ซึ่งภายหลังทางปฏิบัติของรัฐเช่นนี้ได้รับการจัดทำเป็นความตกลงระหว่างรัฐ(bilateral agreement) และพัฒนากลายเป็นประมวลหลักเกณฑ์ลายลักษณ์อักษรตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุลในเวลาต่อมา (Vienna Convention on Consular Relations,1963 )

 

 

การดำเนินงานการกงสุลในปัญหาการค้ามนุษย์  

          เมื่อการค้ามนุษย์มีลักษณะของการข้ามดินแดนของบุคคลซึ่งมีสัญชาติหนึ่งไปยังดินแดนของรัฐหนึ่ง โดยการจัดหาเหยื่อหรือบุคคลในรัฐต้นทาง (origin state) เพื่อทำการส่งไปยังรัฐปลายทาง (final state)  การดำเนินงานในเรื่องของการค้ามนุษย์จึงอาจแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ การดูแลคนต่างด้าวผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในดินแดนของรัฐปลายทาง กับ การดูแลคนซึ่งมีสัญชาติของรัฐต้นทาง ซึ่งหากพิจารณาตามหลักการว่าด้วยการกงสุลตามแนวคิดในทางระหว่างประเทศในข้างต้นจะพบว่า การดำเนินงานในเรื่องของการค้ามนุษย์ตกอยู่ภายใต้ขอบเขตของการกงสุลอย่างชัดเจน กล่าวคือ อำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ซึ่งสัญชาติของรัฐในต่างแดนนั้นย่อมเป็นอำนาจของกงสุลของรัฐเจ้าของสัญชาติ ในขณะเดียวกันก็เป็นอำนาจหน้าที่ของกงสุลของรัฐเจ้าของดินแดนที่มีสถานะเป็นรัฐปลายทางของกระบวนการค้ามนุษย์ในการดูแลคนต่างด้าวที่พำนักอาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐดังกล่าวเช่นกัน 

          ในคู่มืองานสัมมนาเจ้าหน้าที่ทางการทูตและการกงสุลเพื่อการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ (Handbook for diplomatic and consular personnel on how to assist and protect victims of human trafficking) ของคณะมนตรีระหว่างรัฐในทะเลบอลติก (Council of the Baltic Sea States (CBSS))[3] ได้นำเสนอแนวคิดว่าด้วยบทบาททางการทูตและการกงสุลในการช่วยเหลือบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจว่า เจ้าหน้าที่ทางการทูตและการกงสุลนั้นมีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ เนื่องจากเป็นบุคคลผู้ซึ่งดำเนินการปกป้องคุ้มครองบุคคลผู้ซึ่งมีสัญชาติของรัฐ อีกทั้งมีบทบาทสำคัญต่อการช่วยเหลือคนต่างด้าวที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในรัฐดังกล่าว โดยการอาศัยอำนาจหน้าที่ในฐานะของเจ้าหน้าที่ในทางการทูตและการกงสุลสามารถดำเนินการเพื่อช่วยเหลือบุคคลซึ่งตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์ใน 3 แนวทาง ได้แก่ 

         1. การป้องกันมิให้บุคคลตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ (prevent persons from being trafficked) โดยอาศัยโครงสร้างการดำเนินงานทางด้านการกงสุลที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การคัดกรองบุคคลผ่านกระบวนการออกหนังสือเดินทางหรือวีซ่าของคนชาติ โดยอาศัยการสอบถามถึงเหตุผลในการยื่นขอหนังสือเดินทางหรือวีซ่าในกรณีดังกล่าว การอำนวยความสะดวกในการร้องขอความช่วยเหลือ(request for assistance) รวมถึงการเสริมสร้างความสามารถในการดำเนินงานขององค์กรอิสระ (NGOs) และหน่วยงานขององค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการดำเนินงานด้านการมนุษย์ทั้งในรัฐต้นทางและรัฐปลายทาง เพื่อการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลซึ่งกำลังจะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

          2. การให้ความคุ้มครองแก่บุคคลซึ่งเป็นเหยื่อ (protect victims of trafficking ) อาทิ การให้ความช่วยเหลือในด้านการสื่อสาร การให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในด้านเฉพาะ เช่น ความช่วยเหลือในทางสุขอนามัย ความช่วยเหลือในทางสังคม และความช่วยเหลือในทางกฎหมาย

          3. การดำเนินคดีกับผู้ที่ค้ามนุษย์ (prosecute the traffickers) การแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้ามนุษย์ ที่ได้รับความยินยอมจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย(Share information, where appropriate and when you have the informed consent from the victim, with law enforcement agencies) รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดการค้ามนุษย์ โดยในคู่มือการดำเนินงานฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นถึง หลักเกณฑ์การกงสุลตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล (The Vienna Convention on Consular Relations) ในบทบาท อำนาจและหน้าที่ของกงสุล ทั้งอำนาจและหน้าที่ในการดูแลคุ้มครองคนชาติของรัฐผู้ส่งผ่านอำนาจในการคัดกรองเพื่อการออกหนังสือเดินทาง รวมถึงอำนาจในการให้ความช่วยเหลือคนชาติของรัฐผู้ส่งและอำนาจในการคุ้มครองดูแลคนชาติซึ่งหย่อนความสามารถในการดำเนินงานต่างๆ

 

            โดยสรุปจากการพิจารณาในเบื้องต้นพบว่า งานกงสุลมีบทบาทในด้านต่างๆที่มีความแตกต่างและหลากหลาย โดยบทบาทที่สำคัญประการหนึ่งของการกงสุลได้แก่ อำนาจและหน้าที่ในการดูแลคุ้มครองผลประโยชน์ของคนชาติในต่างแดน และหน้าที่ในการดูแลคนต่างด้าวที่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งบทบาทของกงสุลทั้งสองประการนี้เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์โดยชัดเจน เพราะโดยเนื้อหาอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลซึ่งมีลักษณะของการข้ามแดน (transnational) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการค้ามนุษย์ที่มีลักษณะของการขนส่งบุคคลซึ่งมีสัญชาติของรัฐผู้รับไปยังอีกรัฐปลายทาง ส่งผลให้งานการกงสุลมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเพื่อจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือบุคคลซึ่งตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ในบทความต่อไป ผู้เขียนมีความตั้งใจจะเขียนถึง บทบาท อำนาจและหน้าที่ของกงสุลไทยและกงสุลต่างประเทศในการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ค่ะ 

 

 

[1] Akehurst. Modern introduction to international law.seventh revised edition. Routledge : United States, 1997.p127

[2] Ian Brownlie. Principle of Public International law. seventh edition. Oxford university press : United States, 2008.pp 364-367.

[3] Council of the Baltic Sea States. “Handbook for diplomatic and consular personnel on how to assist and protect victims of human trafficking.”http://ec.europa.eu/anti-trafficking/download.action;jsessionid=9ZF1SGRQ3DrpwppwdH5MSrK7VHhLynsQQkYb1WGMKnPGnq64rM4L!-1181792443?nodePath=%2FPublications%2FCBSS+Handbook+for+Diplomatic+Personnel+2011_en.pdf&fileName=CBSS+Handbook+for+Diplomatic+Personnel+2011_en.pdf&fileType=pdf" target="_blank" rel="nofollow">http://ec.europa.eu/anti-trafficking/download.action;jsessionid=9ZF1SGRQ3DrpwppwdH5MSrK7VHhLynsQQkYb1WGMKnPGnq64rM4L!-1181792443?nodePath=/Publications/CBSS+Handbook+for+Diplomatic+Personnel+2011_en.pdf&fileName=CBSS+Handbook+for+Diplomatic+Personnel+2011_en.pdf&fileType=pdf, 2011.

 

บันทึกโดย นางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.57 เวลา 0.27 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

เริ่มต้นการเดินทางในปัญหาการค้ามนุษย์..นิยามของการค้ามนุษย์..

          เนื่องจากผู้เขียนกำลัง(ปั่น)ทำวิทยานิพนธ์ในประเด็นปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการบังคับใช้กฎหมายภายในเกี่ยวกับการควบคุมการทำประมงของประเทศไทยทั้งในและนอกน่านน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงประเด็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการใช้แรงงานบนเรือประมงโดยผิดกฎหมายที่ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจำกัดทางการค้าในหลายกรณี ประกอบกับคำแนะนำของท่านอาจารย์รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ผู้สอนวิชาในวิชาปัญหาการทูตและการกงสุลในการเริ่มต้นศึกษาในประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ในความสัมพันธ์กับการดำเนินงานระหว่างประเทศ จึงกลายเป็นบันทึกเริ่มต้นการเดินทางของผู้เขียนในครั้งนี้      บันทึกเริ่มแรกว่าด้วยข้อความคิดทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอข้อความคิดพื้นฐานว่าด้วยนิยามของการค้ามนุษย์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญต่อการกำหนดขอบเขตของประเด็นปัญหาและหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ โดยนำเสนอนิยามของ การค้ามนุษย์ อันถือเป็นการกระทำอันเป็นอาญกรรมประเภทหนึ่งตามพิธีสารเพื่อป้องกันและปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children) รวมถึงกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิยามของการค้ามนุษย์ตามกฎหมายไทย คือ พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551   

    

ความสำคัญของปัญหาการค้ามนุษย์

 

            ปัญหาการค้ามนุษย์ (trafficking in persons) เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของประเทศไทยที่กำลังถูกจับตามองโดยสังคมระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอย่างมากทั้งในฐานะรัฐต้นทาง(origin) รัฐกลาง(transit) และรัฐปลายทาง(destination)ในกระบวนการการค้ามนุษย์ตามรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ((United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)) และรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์โดยสหรัฐอเมริกาซึ่งประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นกลุ่มประเทศที่ 2 ในฐานะประเทศที่ต้องจับตามอง ประกอบกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยตามอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (UN Convention on Transnational Organized Crime)  พิธีสารเพื่อป้องกันและปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children) รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ส่งผลให้ประเทศไทยมีความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 นิยามของการค้ามนุษย์

 

            พิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children, supplementing the United Nations Convention against Transnational Organized Crime) ได้บัญญัติความหมายของการค้ามนุษย์ (Trafficking in persons) ไว้ในมาตรา 3 (Article 3) ว่า..

 

            (a) “Trafficking in persons.” shall mean the recruitment, transportation, transfer, harbouring or receipt of persons, by means of the threat or use of force or other forms of coercion, of abduction, of fraud, of  deception, of the abuse of power or of a position of vulnerability or of the  giving or receiving of payments or benefits to achieve the consent of a  person having control over another person, for the purpose of exploitation.  Exploitation shall include, at a minimum, the exploitation of the prostitution of others or other forms of sexual exploitation, forced labour or

services, slavery or practices similar to slavery, servitude or the removal of

organs;

             (b) The consent of a victim of trafficking in persons to the  intended exploitation set forth in subparagraph (a) of this article shall be  irrelevant where any of the means set forth in subparagraph (a) have been  used;

            (c) The recruitment, transportation, transfer, harbouring or receipt  of a child for the purpose of exploitation shall be considered “trafficking in  persons” even if this does not involve any of the means set forth in  subparagraph (a) of this article;...”

 

            โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ((United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)) ในฐานะองค์กรผู้ดูแลการปฏิบัติตาม (the guardian)อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรและพิธีสารที่เกี่ยวข้อง ได้จำแนกองค์ประกอบของการค้ามนุษย์ตามนิยามในมาตรา 3 ของพิธีสาร ฯ ดังกล่าวออกเป็น 3 ประการได้แก่

            1.ลักษณะของการกระทำ (act) ได้แก่ การจัดหา การส่งหรือแลกเปลี่ยน การกักขังหน่วงเหนี่ยวและการรับบุคคลใด

            2.วิธีการกระทำ (method) ได้แก่ การข่มขู่ หรือการใช้กำลัง การคุกคาม การลักพาตัว การฉ้อฉล การหลอกลวง การใช้อำนาจโดยมิชอบ การอาศัยเงื่อนไขของความอ่อนแอในทางจิตใจ (vulnerability)* รวมถึงการให้เงินหรือประโยชนแก่ผู้ปกครองบุคคลดังกล่าว

            3.เป้าหมายของการกระทำ (purpose) เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อาทิ การแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่น การใช้แรงงาน การใช้แรงงานทาสและการกระทำอื่นใดในลักษณะอย่าง

เดียวกัน รวมถึงการแสวงประโยชน์จากการขายอวัยวะของบุคคลอื่น

            โดยในคำอธิบายของสำนักงานฯ ได้เน้นถึงลักษณะของการให้ความยินยอม (consent) ของบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นข้อแตกต่างประการสำคัญระหว่างการกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์ กับ การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยหลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลไม่ได้ให้ความยินยอม(consent)หรือการให้ความยินยอมของบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อภายใต้สถานการณ์อันจำกัด อาทิ การข่มขู่ การคุกคามหรือการใช้กำลังอย่างใดๆเพื่อให้บุคคลดังกล่าวให้ความยินยอม ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวให้ความยินยอมแต่อย่างใด เนื่องจากการให้ความยินยอมในลักษณะดังกล่าวนั้น ไม่ได้เป็นการให้ความยินยอมอย่างแท้จริง เพราะเหตุที่เสรีภาพในการกำหนดเจตจำนงเพื่อกระทำการอย่างใดๆของบุคคลดังกล่าวได้เสียไปเนื่องจากสถานการณ์อันจำกัด (self-determined decision) อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยความยินยอมของบุคคลไม่บังคับใช้ในกรณีที่เหยื่อของการค้ามนุษย์เป็นเด็ก (child) อายุต่ำกว่า 18 ปีตามหลักเกณฑ์ใน มาตรา 3 (c) ประกอบกับ (d)

            “... (c) The recruitment, transportation, transfer, harbouring or receipt  of a child for the purpose of exploitation shall be considered “trafficking in  persons” even if this does not involve any of the means set forth in  subparagraph (a) of this article;

            (d) “Child” shall mean any person under eighteen years of age...”

            โดยสรุป การค้ามนุษย์ จึงหมายถึง การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการจัดหา การส่งหรือแลกเปลี่ยน การกักขังหน่วงเหนี่ยวและการรับบุคคลใด โดยปราศจากการความยินยอมของบุคคลดังกล่าว หรือโดยการใช้กำลัง การคุกคาม การลักพาตัว การฉ้อฉล การหลอกลวง การใช้อำนาจโดยมิชอบ การอาศัยเงื่อนไขของความอ่อนแอในทางจิตใจและการให้เงินหรือประโยชนแก่ผู้ปกครองบุคคลดังกล่าว

 

ข้อแตกต่างระหว่างการค้ามนุษย์ (Trafficking in persons) กับ การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิด กฎหมาย (migrant smuggling)

            ตามรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพย์ติดและอาชญากรรมแห่งชาติ ได้จำแนกข้อแตกต่างระหว่าง การค้ามนุษย์ กับ การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (migrant smuggling) ใน 4 ประการ ดังนี้[1]

            1.ความยินยอม (consent) – ในกรณีของการค้ามนุษย์ โดยส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏว่ามีความยินยอมของบุคคล หรือหากมีความยินยอมก็จะเป็นไปภายใต้การข่มขู่ การคุกคามหรือการใช้กำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจะเป็นไปด้วยความสมัครใจ

            2.การแสวงประโยชน์ (exploitation) – ในกรณีของการค้ามนุษย์มีเป้าหมายในการแสวงประโยชน์จากเหยื่อผู้ถูกกระทำ ในขณะที่เป้าหมายของการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเป็นไปเพื่อการเข้าเมืองของผู้หลบหนีคนดังกล่าว

            3.ลักษณะของการข้ามชาติ (transnationality) – ในกรณีของการค้ามนุษย์ แม้โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะของการกระทำข้ามชาติ โดยเหยื่อของการค้ามนุษย์จะถูกส่งไปยังประเทศปลายทาง แต่กรณีอาจมีการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศได้เช่นกัน แต่ในกรณีของการหลบหนีเพื่อเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจะมีลักษณะของการข้ามแดน (transnational) เสมอ

            4.แหล่งที่มาของประโยชน์ (source of profits) – ประโยชน์จากการค้ามนุษย์จะมีที่มาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ แต่หากเป็นกรณีของประโยชน์จากการหลบหนีเพื่อเข้าเมืองจะได้จากกำไรหรือเงินจากการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

            อย่างไรก็ตาม การจำแนกความแตกต่างระหว่างการค้ามนุษย์ กับ การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในบางครั้งอาจกระทำได้ยากและมีความซับซ้อน โดยในบางกรณีอาจมีลักษณะที่ซ้อนทับกัน เช่น กรณีที่บุคคลสมัครใจที่จะหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หากแต่ภายหลังถูกบังคับขู่เข็ญให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์จากการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายดังกล่าว อาทิ การถูกบังคับให้ใช้แรงงานโดยได้รับค่าจ้างในอัตราที่ต่ำ (being forced to work for extraordinary low wages to pay for the transportation)

         ในทางปฏิบัติ เนื่องจากไม่ปรากฏแนวทางที่ชัดเจนในการตีความขอบเขตของนิยามการค้ามนุษย์ตามหลักเกณฑ์ในทางระหว่างประเทศหรือตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปแต่อย่างใด ส่งผลให้ในทางปฏิบัติยังคงปรากฏข้อถกเถียงในขอบเขตของนิยามของการค้ามนุษย์และเกิดความแตกต่างในการปรับใช้อย่างชัดเจนจากความแตกต่างของนิยามการค้ามนุษย์ตามกฎหมายภายในว่าด้วยการกระทำความผิดฐานการค้ามนุษย์ ซึ่งประเด็นปัญหาความชัดเจนและความแน่นอนในขอบเขตของนิยามการค้ามนุษย์มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากขอบเขตของนิยามการค้ามนุษย์นั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงอำนาจและหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กล่าวคือ ขอบเขตของการค้ามนุษย์จะมีความกว้างหรือแคบเพียงใดนั้นเป็นพื้นฐานของหลักเกณฑ์ว่าด้วยอำนาจรัฐในการดำเนินการเพื่อติดตามตรวจสอบผู้กระทำความผิด รวมถึงอำนาจในการให้ความช่วยเหลือบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ (victims) ดังนั้นการขาดแนวทางการปรับใช้และการตีความขอบเขตของนิยามการค้ามนุษย์ที่มีความชัดเจนแน่นอนจะส่งผลให้เกิดการตีความและการปรับใช้ที่มีความเคร่งครัดที่แตกต่างกันเช่นในปัจจุบัน และอาจนำไปสู่ปัญหาการอาศัยช่องว่างจากมาตรฐานการปฏิบัติของรัฐที่แตกต่างกันตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายภายในเพื่อกระทำการอันถือเป็นการค้ามนุษย์ได้เช่นกัน

นิยามของการค้ามนุษย์ตามกฎหมายไทย

 

            ในกรณีของประเทศไทย มาตรา ๖ ประกอบมาตรา ๔ ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑  ได้บัญญัตินิยามของการค้ามนุษย์โดยมีสาระสำคัญอย่างเดียวกันกับนิยามของการค้ามนุษย์ตาม Article 3 ของพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ดังนี้

            “ มาตรา ๖ ..

            ผู้ใดเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

            (๑) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้นเพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล หรือ

            (๒) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขังจัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็กผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์..”

            โดยความหมายของ “การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ...”  มาตรา ๔ บัญญัติว่า

            “...“แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีการผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้าหรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม..”

            เมื่อพิจารณาความหมายของนิยามการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๖ ประกอบมาตรา ๔ จะเห็นได้ว่ามีสาระสำคัญที่ไม่แตกต่างจากนิยามของการค้ามนุษย์ตาม Article 3 ของพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก หากแต่ต้องพิจารณาในทางปฏิบัติรวมถึงการปรับใช้และตีความเพื่อกำหนดขอบเขตการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐในทางปฏิบัติว่ามีแนวทางการดำเนินงานอย่างไร

 

อ้างอิง

1. Human Trafficking FAQs. http://www.unodc.org/unodc/en/human-trafficking/faqs.html#How_is_human_trafficking_different_to_migrant_smuggling">http://www.unodc.org/unodc/en/human-trafficking/faqs.html#How_is_human_trafficking_different_to_migrant_smuggling

2. กระทรวงต่างประเทศ.การค้ามนุษย์. http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9894%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C.html">http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9894%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C.html

3. UNODC on human trafficking and migrant smuggling. http://www.unodc.org/unodc/en/treaties/CTOC/index.html

4. United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)Trafficking in Persons:Global Patterns.https://www.unodc.org/documents/human-trafficking/HT-globalpatterns-en.pdf.April 2006   

บันทึกโดยนางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.57 เวลา 0.15 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

คาบเรียนสุดท้ายในห้องเรียนวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2556

          ในคาบเรียนสุดท้ายของห้องเรียนปัญหากฎหมายการทูตและการกงสุล ท่านอาจารย์แหวว ได้ชักชวนให้นศ.ทั้งสามคนได้แก่ พี่ปลาทอง ผู้เขียน และน้องแบงค์ คิดถึงความสอดคล้องกันระหว่างห้องเรียนกับลักษณะของการเรียนสอนตามแนวคิด “ทักษะครูเพื่อศิษย์ไทย ในศตวรรษที่ ๒๑”[1] ของอาจารย์วิจารณ์ พานิช 5 ประการ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า ห้องเรียนวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุลมีความสอดคล้องกันกับแนวคิดดังกล่าวใน 3 ประการ ดังจะมีรายละเอียดดังนี้

 

          1.การสอนที่ไม่เน้นการถ่ายทอดความรู้ แต่ออกแบบการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวก (facilitate)การเรียนรู้ ให้นักเรียนเรียนรู้จากการเรียนแบบลงมือทำ หรือปฏิบัติ เรียกว่า PBL (Project-Based Learning)

          PBL (Project-Based Learning) ในความเห็นของอาจารย์วิจารณ์ พานิช หมายถึง การออกแบบห้องเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียน สามารถเรียนรู้โดยอาศัยกระบวนการคิด ไตร่ตรองและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง มิใช่อาศัยความรู้จากการเรียนการสอนในชั้นเรียนแต่เพียงอย่างเดียว

          ดังจะเห็นได้จากการเผยแพร่รายงานและรูปภาพจากการลงพื้นที่ที่อำเภออุ้มผาง– อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2556  ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการออกแบบห้องเรียนนอกสถานที่ให้แก่นักศึกษา เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักการเสาะแสวงหาความรู้นอกชั้นเรียนอันเกิดจากการเข้าไปสัมผัสกับประเด็นปัญหาในทางข้อเท็จจริง อันเป็นที่มาของบทเรียนซึ่งใช้ในการเรียนการสอน รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาของและชี้ให้เห็นถึงแนวทางของหลักเกณฑ์ในทางกฎหมายซึ่งปรับใช้ในแต่ละกรณี อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ของนศ.ด้วยตนเองจากการประสบกับข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นปัญหาของความไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งเป็นฟันเฟืองหนึ่งในบริบททางการทูตการกงสุล ในฐานะปัจเจกชนที่รัฐจำต้องให้ความคุ้มครองในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงจะได้รับ รวมถึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการเจรจาหรือดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ความคุ้มครองกับเอกชนภายใต้อำนาจรัฐดังกล่าว

 

          2.การเรียนแบบตั้งคำถามที่ถูกต้องซึ่งสำคัญกว่าการหาคำตอบ ฝึกฝนทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

          การชักชวนให้นักศึกษาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการคิดและแสดงความเห็นที่มีต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ท่านอาจารย์แหววใช้ในการเรียนการสอน กล่าวคือ ในการเรียนแต่ละครั้ง อาจารย์แหววจะกำหนดขอบเขตหรือเรื่องที่จะศึกษาล่วงหน้าก่อนเข้าชั้นเรียน เพื่อให้นศ.ได้ทำการหาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อจะนำมาแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นระหว่างกัน โดยในระหว่างการเรียนการสอน อาจารย์แหววมักจะตั้งคำถามในประเด็นหรือข้อมูลที่นศ.ได้ไปทำการศึกษามาก่อนล่วงหน้า รวมถึงการชักชวนในขบคิดถึงประเด็นปัญหาจากข้อมูลดังกล่าว อาทิ การกำหนดให้นศสำรวจเว็ปไซด์ของสถานทูตและสถานกงสุลของประเทศต่างๆที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และเว็ปไซด์ของสถานทูตและสถานกงสุลของไทยซึ่งตั้งอยู่ที่ต่างประเทศ พร้อมชักชวนให้ฉุกคิดถึงการนำเสนอประเด็นที่แตกต่างกันในแต่ละเว็บไซด์ รวมถึงให้ร่วมกันคิดวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งในชั้นเรียนมีความเห็นร่วมกันว่า ประเด็นปัญหาหรือข่าวสารที่ปรากฎแตกต่างกันไปตามแต่ละเว็ปไซด์เป็นไปตามภารกิจในงานการทูตและการกงสุลที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ  อาทิ เว็ปไซด์ของสถานทูตประเทศพม่าประจำประเทศไทยจะปรากฏข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทำวีซ่าของนักท่องเที่ยวหรือผู้ใช้แรงงานที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย หรือกรณีเว็ปไซด์ของสถานทูตไทยประจำยุโรปก็จะปรากฎเนื้อหาในประเด็นทางการค้าต่างๆของไทย เป็นต้น

 

          3. การสร้างให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้

          สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนได้รับจากห้องเรียนปัญหาการทูตและการกงสุล ไม่จำกัดแต่เฉพาะความรู้ความเข้าใจในกลไกของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชน ที่จำต้องให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาดังกล่าวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความสัมพันธ์ทางการเมือง การค้าและการลงทุนระหว่างรัฐ แต่ยังรวมถึงทักษะในการคิดไต่ตรองถึงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่รอบตัวตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และทักษะในการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง นำมาเรียงร้อยเป็นบันทึกเล็กๆ ซึ่งผู้เขียนเองสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าได้รับการพัฒนาทักษะในการสื่อสาร ทั้งการพูดในชั้นเรียนและการเขียน โดยการทำบันทึกเผยแพร่ใน Facebook และ Gotoknow

          ลักษณะเช่นนี้เองที่เป็นเป้าหมายสำคัญในชั้นเรียนที่อาจารย์แหววได้กล่าวกับนศ.ในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนากลายเป็นความรู้และองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต การทำบันทึกเล็กๆน้อยๆและทำการเผยแพร่ ไม่เพียงแต่จะเป็นการทบทวนความรู้ความเข้าในในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้เขียน หากแต่ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดความรู้ของผู้เขียนเอง กับทั้งผู้อื่นที่ได้แวะเวียนเข้ามาชมบันทึกของผู้เขียน ประโยชน์เช่นนี้เองถือเป็นหัวใจสำคัญซึ่งผู้เขียนได้รับจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนวิชาปัญหาการทูตและการกงสุลในภาคการศึกษานี้

 

บทส่งท้าย

          สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอขอบพระคุณรองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร หรืออาจารย์แหววเป็นอย่างสูงที่ได้สละเวลามาออกแบบห้องเรียนและร่วมเรียนรู้ไปในห้องเรียนที่ทั้งสนุกสนานและอบอุ่น และขอขอบพระคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิรุณา ติงศภัทิย์ ในความกรุณาแนะนำประเด็นปัญหา กับทั้งคอยกระตุ้นให้ผู้เขียนตระหนักถึงหน้าที่และบทบาทในฐานะนักศึกษากฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดีตลอดมา

          ผู้เขียนขอขอบพระคุณพี่น้องผู้ร่วมชั้นเรียน พี่ปลาทอง ศิวนุช สร้อยทอง และน้องแบงค์ ธนภัทร ชาตินักรบ ผู้ซึ่งมีความตั้งใจอย่างสูงที่จะเปิดห้องเรียนวิชาปัญหาการทูตและการกงสุล อันเป็นที่มาของห้องเรียนดังกล่าวนี้

          ท้ายที่สุด ผู้เขียนขอขอบพระคุณมวลมิตรทางวิชาการที่ให้ความสนใจและติดตามผลงานของผู้เขียนทั้งใน Facebook และใน gotoknow ตลอดมา

 

[1]วิจารณ์  พานิช. “วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21.” http://www.noppawan.sskru.ac.th/data/learn_c21.pdf. 22 มี.ค.57

 

บันทึกโดยนางสาวนฤตรา  ประเสริฐศิลป์

นักศึกษาชั้นปีที่ 2 นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ

คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.57  เวลา 23.15 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

การทูตเพื่อสาธารณสุข (Global health diplomacy)

 

          ความจำเป็นในการแก้ไขจัดการปัญหาด้านการสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบไปยังรัฐต่างๆอย่างไม่จำกัด ในขณะที่รัฐกลับมีความสามารถอย่างจำกัดในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐเพื่อการดำเนินการและแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุขซึ่งตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวนี้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  

          โดยหลักของความร่วมมือระหว่างรัฐเกิดขึ้นภายใต้การเจรจาระหว่างผู้แทนของรัฐ หรือการดำเนินงานทางการทูต ในความหมายของการเจรจาระหว่างผู้แทนของรัฐเพื่อนำไปสู่การก่อตั้งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในหลากหลายรูปแบบ ทั้งความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีและความสัมพันธ์ในระดับพหุภาคี จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการผนวกนโยบายการสาธารณสุขที่มีความสำคัญหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขจัดการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศของรัฐ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการทูตเพื่อการสาธารณสุข (Global Health Diplomacy) เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและการดำเนินการแก้ไขจัดการปัญหาการสาธารณสุขดังกล่าว รวมถึงเพื่อนำไปสู่การดำเนินงานด้านสาธารณสุขตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (the health-related Millennium Development Goals) ได้แก่ เป้าหมายในการต่อสู้โรคเอดส์ มาเลเรีย และโรคสำคัญอื่นๆ (Combat HIV / AIDS, malaria and other diseases) เป็นต้น

 

ความสัมพันธ์ระหว่างการทูตกับนโยบายด้านสาธาณสุขและแนวทางในการดำเนินการทูตเพื่อการสาธารณสุข

          การทูตเพื่อการสาธารณสุข (Global Health Diplomacy) หรือการผนวกประเด็นปัญหาด้านสาธารณสุขเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัฐ เป็นไปโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขกับนโยบายการต่างประเทศของรัฐที่ต่างสนับสนุนการดำเนินงานของกันและกัน ดังปรากฏในรายงานของสำนักเลขาธิการองค์การอนามัยโลกตามข้อมติที่ 63/33 โดยรัฐอาศัยการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุขเฉพาะเรื่องที่มาแต่เดิม กลายเป็นการดำเนินนโยบายการสาธารณสุขในลักษณะของการดำเนินนโยบายพื้นฐานของรัฐอันจะนำไปสู่พัฒนาการในทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงของรัฐ ขจัดความยากจนของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไปถึงการพัฒนาบริการทางสาธารณสุขอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญ  ในขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายการสาธารณสุขดังกล่าวส่งผลเป็นการขยายขอบเขตของการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ไม่จำกัดแต่เฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีมาแต่เดิม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงของรัฐในด้านต่างๆ อาทิ ความมั่นคงทางสังคมจากพัฒนาการบริการสาธารณสุข หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจจากการขยายตัวทางการค้าและการลงทุน เนื่องจากระบบการสาธารณสุขที่ดีและตอบสนองต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

          นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าวยังปรากฎแนวทางในการนำนโยบายด้านการสาธารณสุขเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศของรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ ได้แก่

          การกำหนดให้ปัญหาด้านการสาธารณสุขเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อความมั่นคงแห่งรัฐและความมั่นคงระหว่างประเทศ อาทิ กรณีของโรคไข้หวัด H1N1 ที่จำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคดังกล่าว อันเนื่องมาจากการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างเอกชนที่เป็นไปโดยง่ายดาย ประกอบการเดินทางของเอกชนระหว่างรัฐต่างๆ ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่รัฐอื่น  จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคดังกล่าว หรือ

          การให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือในการพัฒนาการสาธารณสุขของรัฐอื่นๆให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมระหว่างกัน โดยอาจให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขหรือให้ความช่วยเหลือทางด้านความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือบุคลากร รวมถึง

          การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานด้านสาธารณสุขร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมและผลักดันประเด็นปัญหาด้านสาธารณสุขต่างๆให้เป็นที่ตระหนักในการประชุมระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

 

กรอบความร่วมมือ Foreign Policy and Global Health Initiative

          นอกเหนือจากการดำเนินการภายใต้กรอบที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก (WHO) กรณียังมีกรอบความร่วมมือ Foreign Policy and Global Health Initiative ระหว่าง 7 ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ บราซิล ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย เซเนกัล แอฟริกาใต้และไทย ที่ให้ความสำคัญต่อการผลักดันให้เกิดการนำนโยบายการสาธารณสุขเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัฐ โดยเน้นที่การให้ความสำคัญต่อการสาธารณสุขพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเป็นไปอย่างเท่าเทียมกันซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานประการหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

          กลไกของการทูตเพื่อสาธารณสุขภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวนี้อาศัยการดำเนินนโยบายต่างประเทศหรือการทูตที่ขยายขอบเขตมากกว่าการเป็นผู้แทนของรัฐในการปกป้องประโยชน์ของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างรัฐและหน่วยงานขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาและการสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขร่วมกัน อันจะนำไปสู่ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความมั่นคงของรัฐในด้านอื่นๆ อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร (food security) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันในระหว่างรัฐอันเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศหรือการทูตของรัฐเช่นกัน

          ตัวอย่างของการทูตเพื่อการสาธารณสุขภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวนี้ ได้แก่ การสาธารณสุขในสถานการณ์ภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของภัยธรรมชาติหรือวิกฤตอย่างใดๆ โดยอาศัยความร่วมมือในทางการทูตระหว่างรัฐและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือเอกชนผู้ประสบภัยให้สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ อีกทั้งความร่วมมือระหว่างรัฐเพื่อช่วยเหลือในการฟื้นฟูระบบการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาใช้การได้อีกครั้ง ซึ่งการดำเนินงานต่างๆเหล่านี้จำต้องอาศัยการทูตในแง่ของความร่วมมือระหว่างรัฐผู้ประสบภัยและรัฐผู้ให้ความช่วยเหลือ ในความยินยอมที่จะให้ผู้แทนของรัฐอื่นรวมถึงเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศเข้าไปดำเนินการภายในรัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เอกชนผู้ประสบภัยดังกล่าว

          บทบาทที่สำคัญของไทยภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว คือ การผลักดันประเด็นเรื่องการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage - UHC) เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมและเป็นธรรมในทุกกลุ่มชนชั้นของสังคมอย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่เพียงแต่ประชาชนของรัฐที่จะได้ประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพ หากแต่ยังรวมถึงประโยชน์ในการลดความยากจน และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานของสหประชาชาติ  ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่อผลักดันประเด็นดังกล่าวนี้ในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ กิจกรรมคู่ขนานระหว่างการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific-ESCAP) เรื่อง Universal Health Coverage: sharing Thai experiences and driving UHC agenda และ กิจกรรมคู่ขนานเรื่อง Promoting the Right to Health through Universal Health Coverage ในระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council – HRC) สมัยที่ 23 ในวันที่ 29 พ.ค. 2556

 

บทส่งท้าย

          ความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุขโดยอาศัยกลไกของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศผ่านผู้แทนทางการทูตของรัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบไปยังรัฐต่างๆอย่างจริงจัง ถือเป็นพัฒนาการในทางการทูตที่ไม่จำกัดแต่เฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐผ่านผู้แทนทางการทูตเพื่อปกป้องประโยชน์ของรัฐและให้ความคุ้มครองแก่คนชาติแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่เป็นการทูตในฐานะผู้แทนของรัฐในการเจรจาเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขจัดการปัญหาการสาธารณสุขซึ่งแต่ละรัฐต่างมีเป้าหมายในการดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทางสาธารณสุขร่วมกัน แนวทางเช่นนี้เองไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อประชาชนของรัฐที่จะได้รับบริการทางสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่ดีอย่างเท่าเทียม หากแต่ยังเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกด้านอย่างไม่จำกัด นับแต่พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของรัฐต่อไป

           

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

1. Ministers of Health of the Foreign Policy and Global Health (FPGH). “Ministerial Communique Foreign Policy and Global HealthInitiative Geneva.” http://www.regjeringen.no/pages/38338764/joint_communique_wha66.pdf.  21 May 2013

2.Secretary-General. “Global health and foreign policy: strategic opportunities and challenges.”Sixty-fourth session .Agenda item 123.Global health and foreign policy.23 September 2009.http://www.who.int/trade/foreignpolicy/FPGH.pdf?ua=1

3. WHO. “Foreign Policy and Global Health.” http://www.who.int/trade/foreignpolicy/en/

4.Ministers of Foreign Affairs of Brazil, France, Indonesia, Norway, Senegal, South Africa, and Thailand. “Oslo Ministerial Declaration—global health: a pressing foreign policy issue of our time.”http://www.who.int/trade/events/Oslo_Ministerial_Declaration.pdf?ua=1

5.กระทรวงการต่างประเทศ. “ประเทศไทยกับงานด้านสาธารณสุขในกรอบอาเซียน.”http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/other-20121203-163657-810094.pdf

6.กระทรวงการต่างประเทศ. “การทูตเพื่อสาธารณสุข (Health Diplomacy)”http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9897-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82-(Health-Diplomacy).html">http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9897-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82-(Health-Diplomacy).html

7.UNICEF Thailand. “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs).” http://www.unicef.org/thailand/tha/overview_5963.html

 

บันทึกโดย นางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 19 มี.ค.57 เวลา 21.50 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

ท่าทีของต่างประเทศที่มีต่อสถานการณ์ของประเทศไทย

    นอกเหนือจากถ้อยแถลงของรัฐบาลและผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็มีถ้อยแถลงจากนานาประเทศต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีเนื้อหาสำคัญเรียกร้องให้มีการแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการอย่างสันติบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ โดยปรากฏถ้อยแถลงของประเทศต่างๆ ซึ่งในที่นี้จะขอยกมากล่าวถึงเพียงบางส่วน ได้แก่ ถ้อยแถลงของประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์

    อนึ่ง การนำเสนองานเขียนชิ้นนี้เป็นแต่เพียงการรวบรวมการแสดงความเห็นและท่าทีของต่างประเทศที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศไทย เพื่อประกอบการพิจารณาในการแสดงออกทางความเห็นทางการเมืองโดยสันติวิธีระหว่างกัน

 

1. ถ้อยแถลงถึงท่าทีของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ

          1.1      ถ้อยแถลงถึงสถานการณ์การชุมนุมประท้วงของประเทศไทยในวันที่ 25 พ.ย. 2556[1] แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงความรุนแรงและหันมาใช้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยความสันติ พร้อมทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรงเข้ายึดสถานที่ราชการว่าไม่ใช่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดหลักการสากลในการประกันเสรีภาพและความปลอดภัยของสื่อด้วยเช่นกัน

          1.2      ถ้อยแถลงถึงสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศไทยในวันที่ 9 ธ.ค.2556[2]

สนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและกระบวนการประชาธิปไตย ภายหลังจากการประกาศของนายกรัฐมนตรีที่จัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทย[3]

 

2.       ถ้อยแถลงถึงท่าทีของสหภาพยุโรป

          2.1      ถ้อยแถลงถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยของโฆษกประจําผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป แคธรีน แอชตัน ในวันที่ 26 พ.ย. 2556[4] แสดงความกังวลต่อการบุกยึดสถานที่ราชการของกลุ่มผู้ชุมนุมและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ โดยคำนึงถึงหลักนิติรัฐและระบอบประชาธิปไตยเป็นสำคัญ

          2.2      ถ้อยแถลงระหว่างสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยร่วมกับคณะเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปในวันที่ 2 ธ.ค.2556[5] แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงแสดงความกังวลต่อการเข้ายึดสถานที่ราชการการ สถานีโทรทัศน์และการคุกคามสื่อมวลชน โดยเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติภายใต้หลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

 

3.       ถ้อยแถลงถึงท่าทีของประเทศออสเตรเลียโดยเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยในวันที่ 26 พ.ย. 2556 ตระหนักถึงความพยายามในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาของรัฐบาล โดยเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะอย่างสันติซึ่งเป็นหลักการสำคัญตามระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกันกับการเคารพในสาธารณะสมบัติและทรัพย์สินส่วนบุคคล โดยประเทศออสเตรเลียจะให้การสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐต่อไป[6]

 

4.       ถ้อยแถลงถึงท่าทีของประเทศญี่ปุ่น โดยโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นในวันที่ 26 พ.ย. 2556 [7] ถึงการติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองอย่างใกล้ชิดที่มีการเข้ายึดสถานที่ราชการที่สำคัญต่างๆ โดยสนับสนุนให้ทุกฝ่ายอาศัยวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติและหลีกเลี่ยงความรุนแรง ซึ่งประเทศญี่ปุ่นหวังว่าจะมีการเจรจาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวและกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติในเร็ววัน

 

5.       ถ้อยแถลงถึงท่าทีของประเทศนิวซีแลนด์โดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของประเทศนิวซีแลนด์ในวันที่ 10 ธ.ค.2556 [8] ตระหนักถึงสถานการณ์ความรุนแรงของความขัดแย้งภายในประเทศไทยที่มีความเสี่ยงต่อการนำไปสู่การนองเลือดและการสูญเสีย โดยชมเชยต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยความอดทน อดกลั้นของรัฐบาลของประเทศไทยและหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างสันติ อีกทั้งยังมีความเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นวิธีการที่แสดงออกถึงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยได้อย่างดีที่สุดและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญต่อกระบวนการเลือกตั้งเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว

 

          หากพิจารณาจากถ้อยแถลงถึงท่าทีของประเทศต่างๆในข้างต้นพบว่า ท่าทีของนานาประเทศที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยมีความกังวลต่อการขยายตัวของสถานการณ์ความรุนแรงซึ่งอาจนำไปสู่ความสูญเสีย โดยเรียกร้องให้มีการเจรจาและการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีตามครรลองของหลักการตามระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐอันเป็นหลักการที่มีการยึดถือกันในระดับสากล

          นอกจากนี้ภายหลังการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรี และการกำหนดวันเลือกตั้ง ได้มีแถลงการณ์เพิ่มเติมของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศนิวซีแลนด์ในข้างต้นสนับสนุนถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการตามระบอบประชาธิปไตย โดยประเทศนิวซีแลนด์โดยรัฐมนตรีต่างประเทศได้กล่าวอย่างชัดเจนถึงการสนับสนุนการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีความเห็นว่าเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติตามหลักการประชาธิปไตยและเป็นเครื่องมือที่แสดงออกถึงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยได้เป็นอย่างดี

 

[1]Statement by Jen Psaki. Department Spokesperson. Protests in Thailand.http://bangkok.usembassy.gov/112513_statements.html. 11 / 12 /2013

[2] [2]Statement by Jen Psaki. Department Spokesperson. Political Tensions in Thailand. http://bangkok.usembassy.gov/120913_statements.html. 11 / 12 /2013

[3] Jen Psaki Department Spokesperson. “Political Tensions in Thailand.”http://bangkok.usembassy.gov/120913_statements.html . 11 / 12 /2013

[4] แคธรีน แอชตัน.แถลงการณ์ต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย.http://eeas.europa.eu/delegations/thailand/documents/news/131126_01_hr_vp_spokesperson_statement_on_pol_situation_th.pdf. 11/12/2013

[5] แถลงการณ์ร่วมระหว่างสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยกับคณะเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป.http://eeas.europa.eu/delegations/thailand/documents/news/131202_eu_homs_statement_on_pol_situation_th.pdf. 11/12/2013 

[6] แถลงการณ์จากเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย.http://www.thailand.embassy.gov.au/bkok/Press_Release_26_Nov_13_Thai.html. 11/12/2013

[7] Statement by Ministry of Foreign Affairs of Japan on the large-scale demonstrations in Thailand.http://www.mofa.go.jp/press/release/press4e_000104.html. 11/12/2013

[8] Murray McCully. Respect the democratic process.http://beehive.govt.nz/release/respect-democratic-process-mccully?utm_source=feedburner&utm_medium=feed&utm_campaign=Feed%3A+beehive-govt-nz%2Fportfolio%2Fforeign-affairs+%28Foreign+Affairs+-+beehive.govt.nz%29.11/12/2013

 

เพิ่มเติม สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย. รัฐมนตรีต่างประเทศนิวซีแลนด์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย และชื่นชมทางการไทยที่แสดงออกด้วยความอดทน อดกลั้นในการแก้ปัญหา.http://thainews.prd.go.th/centerweb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=WNPOL5612100020019  

 

 

บันทึกโดยนางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 18 มี.ค.57 เวลา 2.00 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

บันทึกแนวคิดว่าด้วยการทูต(diplomacy)และกฎหมายว่าด้วยการทูต (Diplomatic law)

 

            สืบเนื่องจากในห้องเรียนวิชาปัญหากฎหมายการทูตและการกงสุล ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เป็นอาจารย์เจ้าของวิชาได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นเกี่ยวกับคำนิยามและขอบเขตของกฎหมายการทูตและการกงสุลในระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับนักศึกษา เมื่อผู้เขียนมีสถานะเป็นนักศึกษาในห้องเรียนดังกล่าว จึงมีความคิดที่จะรวบรวมแนวคิดว่าด้วยการทูตและกฎหมายว่าด้วยการทูตบางส่วนและนำเสนอแนวคิดพร้อมทั้งความเห็นของผู้เขียนออกมาในรูปแบบของบันทึกเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติม รวมถึงเพื่อการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้ที่สนใจเพื่อเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจของผู้เขียนต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเห็นของนักศึกษาอีกท่านหนึ่งในห้องเรียนวิชานี้ คือ นายธนภัทร ชาตินักรบ ได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts/561246

 

แนวคิดว่าด้วยการทูต(diplomacy)และกฎหมายว่าด้วยการทูต (Diplomatic law)

          ในแง่มุมของ Eileen Denza ที่ปรากฏในบทนำของหนังสือ Diplomatic Law A Commentary on the Vienna Convention on Diplomatic Relations[1] มีความเห็นว่ากฎหมายการทูต หรือ Diplomatic law หมายถึงกฎหมายที่เป็นกรอบของกระบวนการในการก่อให้เกิดกฎหมายระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (diplomatic law in a sense constitutes the procedural framework for the construction of international law and international relations) ซึ่งประกันประสิทธิภาพและความมั่นคงของเครื่องมือของรัฐที่ใช้ในความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เพราะหากปราศจากกฎเกณฑ์เช่นนี้แล้ว เครื่องมือหรือกระบวนการที่รัฐใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์ย่อมไม่อาจก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันได้

          โดยกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตของรัฐเป็นไปโดยกลไกของธรรมชาติ  เพราะเหตุที่เมื่อกฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบของรัฐในยุคสมัยใหม่ได้รับการพัฒนาขึ้น ข้อกำหนดว่าการแลกเปลี่ยนหรือการปฏิบัติต่อทูต (envoy) ได้กลายเป็นเรื่องพื้นฐานของรัฐไปโดยปริยาย ส่วนบทบาท อำนาจหรือหน้าที่ของรัฐบาลในปัจจุบันในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้า การท่องเที่ยวหรือการติดต่อสื่อสารระหว่างกันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่ได้รับการพัฒนาจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีมาแต่เดิมที่อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางการทูต อันมีบทบาทหลักในภารกิจทางการทูต (diplomatic mission) คือ การเป็นผู้แทนของรัฐผู้ส่งและปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและคนชาติของรัฐผู้ส่ง หน้าที่ในการเจรจากับรัฐผู้รับ สืบสวนและจัดทำรายงานสถานการณ์ภายในของรัฐผู้รับ ซึ่งภาระหน้าที่หรือบทบาทพื้นฐานในภารกิจทางการทูตในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเช่นนี้ยังคงมีอยู่จนกระทั่งในปัจจุบัน

          ในกรณีความเห็นของ Malcolm N. Shaw [2] เห็นว่าการทูตถือเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร(communication) ระหว่างรัฐภาคีฝ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณและกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่เข้ามารองรับความสัมพันธ์เช่นว่านั้นเป็นเพียงผลของการพัฒนาทางปฏิบัติของรัฐเท่านั้น เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลจากความคุ้มกันในอำนาจอธิปไตยของรัฐ (asa consequence of sovereign immunity) เอกราชและความเท่าเทียมกันระหว่างรัฐเท่านั้น เพียงเพราะโดยสภาพที่รัฐจะดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศอื่นใดได้ก็แต่ด้วยอาศัยผู้แทนทางการทูต เมื่อบุคคลเหล่านั้นมีสถานะเป็นผู้แทนของรัฐ ย่อมได้รับประโยชน์จากหลักเกณฑ์ทางกฎหมายว่าด้วยรัฐ อีกทั้งเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน

          ความสัมพันธ์ทางการทูตในยุคเดิมนั้นดำเนินโดยอาศัยเอกอัครราชทูต(themedium of ambassadors) และคณะผู้แทนทางการทูตที่ได้รับการแต่งตั้ง แต่เมื่อสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มมีการค้าพาณิชย์ระหว่างกัน รวมถึงมีการตั้งกงสุลและมีการขยายขอบเขตของภารกิจในทางการทูต ส่งผลให้เกิดภารกิจทางการทูตเฉพาะ (special missions) ที่มีการส่งผู้แทนของรัฐหรือผู้แทนของรัฐให้มีอำนาจหน้าในการปฏิบัติภารกิจการทางการทูตเฉพาะอย่างเพื่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ เมื่อมีการพัฒนาการสื่อสารให้สามารถติดต่อกันได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น บทบาททางการทูตในแบบดั้งเดิมนั้นก็ได้ลดบทบาทความสำคัญลง แต่ทูตและกงสุลยังคงมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมข้อมูลของประเทศที่ไปประจำอยู่ อีกทั้งยังมีบทบาทในการเจริญความสัมพันธ์ระหว่างรัฐผู้ส่งและรัฐผู้รับ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในทางการค้าและในทางเศรษฐกิจ   

          James Crawford[3] ได้กล่าวถึงแนวคิดของการทูตว่าเป็นวิธีการต่างๆรัฐใช้ในการก่อตั้งหรือรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ รวมถึงใช้ในการติดต่อสัมพันธ์และการดำเนินการในทางการเมืองและกฎหมายผ่านผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐ โดยการทูตนี้อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติหรือในสถานการณ์ของความขัดแย้งได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่แนวคิดว่าด้วยการทูตนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์อย่างเป็นมิตรหรือศัตรูมากกว่ารูปแบบของเนื้อหาว่าเป็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจหรือเป็นความขัดแย้งทางทหาร

          โดยหลักความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐเป็นไปโดยการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตและภารกิจทางการทูต ทั้งอย่างถาวรหรือเป็นประจำ โดยผู้แทนการทางทูตของรัฐมีความสำคัญในฐานะผู้แทนของรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะภาคีสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนทางการทูตเฉพาะกิจ (ad hoc diplomacy) ที่มีภารกิจพิเศษในฐานะผู้แทนของรัฐในการประชุมต่างๆ ในส่วนของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐ เป็นเพียงผลผลิตจากทางปฏิบัติระหว่างรัฐที่ปรากฏในสนธิสัญญาและกฎหมายภายใน รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลซึ่งได้รับการประมวลสาระสำคัญไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต (the Vienna Convention on Diplomatic Relations (VCDR)) นั่นเอง

          ส่วนในกรณีของ Michael Hardy[4] นั้นมีความเห็นว่า การทูตในมุมอย่างกว้างนั้นหมายถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐ (execution of foreign policy) แต่ในมุมมองที่แคบกว่าและเทคนิคกว่าคือ วิธีการในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ นอกจากนี้การทูตในบริบทของปัจจุบันยังอาจหมายถึงการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศผ่านผู้แทนของรัฐ ซึ่งกฎหมายการทูตย่อมมีความหมายว่ากฎหมายว่าด้วยการดำเนินการของรัฐและสถานะของผู้แทนของรัฐ

 

ความเห็นของผู้เขียน

          ดังจะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์สำคัญในงานเขียนว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตหรือกฎหมายการทูตจะกล่าวถึงกระบวนการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งแต่เดิมรัฐได้อาศัยการแต่งตั้งและแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตเป็นวิธีการในการก่อตั้งและดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ กฎหมายการทูตซึ่งว่าด้วยกรอบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐแต่เดิมจึ่งหมายถึงกฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งตั้ง แลกเปลี่ยน การกำหนดภารกิจรวมถึงเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูตซึ่งได้พัฒนากลายเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศและได้รับการประมวลเป็นหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตค.ศ.1961  

          อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีความหลากหลายทางเนื้อหาและรูปแบบความสัมพันธ์ ในส่วนเนื้อหาของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไม่จำกัดแต่เพียงความสัมพันธ์ในทางการเมืองการปกครองเท่านั้น หากแต่รวมถึงความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจ หรือความสัมพันธ์ในทางสังคม ดังจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียนซึ่งมีเป้าหมายในเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนอาเซียนเข้าด้วยกันตามนโยบาย ASEAN Connectivity ส่วนรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมีการขยายขอบเขตออกไปเป็นความสัมพันธ์ที่มากกว่า 2 รัฐหรือที่เรียกว่าความสัมพันธ์หลายฝ่ายผ่านกรอบความร่วมมือระดับพหุภาคีหรือองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ผู้แทนของรัฐที่ทำหน้าที่ดำเนินความสัมพันธ์ของรัฐยังไม่จำกัดแต่เพียงผู้แทนทางการทูต หากแต่รวมถึงผู้แทนของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินความสัมพันธ์หรือการเจรจาเฉพาะกรณีหรือเฉพาะเรื่อง

          ดังนั้นในความเห็นของผู้เขียนจึ่งมีความเห็นว่า การทูตเป็นเรื่องของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่อยู่บนกรอบของจารีตประเพณีระหว่างประเทศประกอบกับหลักเกณฑ์ทางกฎหมายการทูตที่ว่าด้วยกรอบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทั้งในเรื่องของวิธีการในดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ สิทธิและหน้าที่ของแต่ละรัฐ รวมถึงหลักเกณฑ์ของผู้แทนของรัฐ ซึ่งแต่เดิมอาศัยวิธีการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตในฐานะผู้แทนของรัฐไปปฏิบัติภารกิจเจริญสัมพันธไมตรีในประเทศต่างเป็นวิธีการในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ

          อย่างไรก็ตาม เมื่อปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างรัฐได้ขยายขอบเขตไปนอกเหนือจากการก่อตั้งและการคงอยู่ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีมาแต่ดั้งเดิม ขอบเขตของกฎเกณฑ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตอันจะหมายถึงกฎเกณฑ์ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจึงไม่อาจจำกัดแต่หลักเกณฑ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตในเชิงของการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตระหว่างรัฐ แต่ยังหมายรวมถึงกฎเกณฑ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอื่นใดที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบของความตกลงหรือกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐประเภทต่างๆ อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community (AEC))[5] ที่ปรากฏกรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศให้มีการดำเนินงานในทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันตามเป้าหมายที่กำหนดใน AEC Blueprint อาทิ การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียวกัน หรือการเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารในการแข่งขังสูง เป็นต้น

 

บทส่งท้าย

          แนวคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือแนวคิดว่าด้วยการทูตมีที่มาจากการก่อตัวของรัฐสมัยใหม่ที่ริเริ่มดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐผ่านวิธีการแต่งตั้งผู้แทนทางการทูตของรัฐไปปฏิบัติภารกิจในรัฐต่างๆ ในลักษณะของความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในรูปแบบเช่นนี้ยังคงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเครื่องแสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือการทูตในปัจจุบันได้ขยายขอบเขตไปมากกว่าความสัมพันธ์ในลักษณะของทวิภาคีผ่านการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูต แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ในลักษณะพหุภาคีหรือความสัมพันธ์หลายฝ่ายผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ส่งผลให้หลักเกณฑ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือกฎเกณฑ์การทูตจึงขยายขอบเขตออกไปมากกว่าความสัมพันธ์ผ่านทางผู้แทนทางการทูตระหว่างรัฐ ซึ่งรัฐในยุคปัจจุบันจำต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากฎเกณฑ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ผ่านผู้แทนทางการทูตที่มีมาแต่เดิม

 

บันทึกโดย นางสาว นฤตรา ประเสริฐศิลป์
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาบัณฑิตสาขากฎหมายระหว่างประเทศ
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 57 เวลา. 17.55 น.

 

[1] Eileen Denza.Diplomatic Law A Commentary on the Vienna Convention on Diplomatic Relations. 2nd edition.New York : Clarendon press,1998.

[2] Malcolm N. Shaw. International law.6th edition. New York : Cambridge University Press,2008.pp.750-752

[3]James Crawford. Brownlie’s principles of public international law.8th edition. Oxford University Press : UK, 2012.p.395

[4] Michael Hardy. Modern Diplomatic Law. Oxford: Manchester University Press,1968.pp.1-2.

[5]องค์ความรู้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC). “AEC คืออะไร.” http://www.thai-aec.com/41. 26 ก.พ.57



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

พื้นที่ทางการทูตภายใต้กรอบความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน

 

     ภายหลังจากที่ผู้ทำบันทึกได้มีโอกาสศึกษาในห้องเรียนวิชาปัญหาการทูตและการกงสุลถึงลักษณะของพื้นที่ทางการทูตระหว่างรัฐที่มีมาแต่เดิมและลักษณะของการเจรจาระหว่างรัฐในปัจจุบันที่พัฒนาไปเป็นการเจรจาภายใต้กรอบของการเจรจาพหุภาคีมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเจรจาภายใต้กรอบของความร่วมมือในองค์การระหว่างประเทศ ประกอบกับความสนใจของผู้ทำบันทึกในการบริหารจัดการภัยพิบัติซึ่งในปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการยกร่าง Protection of persons in the event of disasters ของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (The International Law Commission (ILC))ผู้ทำบันทึกจึงมีความสนใจในความร่วมมือในการบริหารจัดการด้านภัยพิบัติของอาเซียนซึ่งจะทำการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป โดยในบทความนี้จะเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลการบริหารจัดการภัยพิบัติของอาเซียนในเบื้องต้นเพื่อนำมาปรับใช้กับความรู้ความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับบทบาทการเจรจาทางการทูตระหว่างรัฐภายใต้บริบทของความร่วมมือในอาเซียนเท่านั้น 

 

ความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน 

     ความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติของอาเซียนได้ริเร่ิมขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อครั้งเกิดแผนการจัดตั้งประชาคมอาซียนในปี 2558 ในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียนฉบับ ที่ ๒ หรือ ข้อตกลงบาหลี ๒ (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) ซึ่งประกอบไปด้วยความร่วมมือหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง และความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม โดยความร่วมมือในการจัดหาภัยพิบัติปรากฎในเสาหลักด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ข้อ B5 และเสาหลักด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนข้อ B7 

     ภายหลังต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management) หรือ ACDM เพื่อดำเนินความร่วมมือในการบริหารจัดการภัยพิบัติร่วมกันของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคณะกรรมการอาเซียนได้รับการพัฒนามาจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติของประเทศ (ASEAN Experts Group on Natural Disasters) ในปี ค.ศ.1971และเปลี่ยนชื่อเป็น ASEAN Experts Group on Disaster Management (AEGDM)  และท้ายที่สุดได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ในการประชุมครั้งที่ 12 เมื่อปี ค.ศ. 2002 เป้าหมายหลักของการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ หรือ ACDM เป็นไปเพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการด้านภัยพิบัติร่วมกันของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยกำหนดให้มีการให้มีการประชุมประจําปี และการดำเนินการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติอย่างรอบด้าน นับแต่ การป้องกัน การเตรียมความพร้อมการตอบโต้ การบรรเทาและฟื้นฟูโดยอาศัยความช่วยเหลือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

     ภารกิจสำคัญของคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ หรือ ACDM คือ การผลักดันให้เกิดการจัดทำ ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response (AADMER))  ภายหลังการเกิดเหตุแผ่นดินไหวและเกิดเหตุสึนามิหลายแห่งในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศพม่า และประเทศไทย เพื่อการส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติอย่างรอบด้าน นับแต่ก่อนการเกิดภัย ในขณะการเกิดภัย และ ภายหลังการเกิดภัย ตลอดจนความร่วมมือทางด้านวิชาการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติของแต่ละประเทศ โดยเน้นไปที่การบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติภายในของแต่ละประเทศเสียก่อน แล้วจึงอาศัยความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากประเทศอื่นภายใต้กรอบของ AADMR กลไกสำคัญในการบริหารจัดการภัยพิบัติภายใต้กรอบความตกลง AADMR ได้แก่ ระบบเตรียมพร้อมเพื่อบรรเทาภัยพิบัติและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน (ASEAN Standby Arrangement for Disaster Relief and Emergency Response) ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.) มาตรฐานวิธีปฏิบัติในการดําเนินการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามข้อ 8  และ 2.) บัญชีรายการสินทรัพย์และศักยภาพ   การฝึกซ้อมแผนเผชิญภัยพิบัติฉุกเฉินในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Disaster Emergency Simulation Exercises ) หรือ ARDEX รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนตามข้อ 20 และการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อการจัดการภัยพิบัติและบรรเทาภัยฉุกเฉิน (ASEAN Disaster Management and Emergency Relief) หรือ AADMER Fund ตามข้อ 24

 

 

พื้นที่ทางการทูตและการกงสุลภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน

     หากพิจารณาจากกรอบความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติในเบื้องต้นจะพบว่า การเจรจาระหว่างรัฐสมาชิกในอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติเป็นไปในลักษณะของการปรึกษาหารือทางการทูตร่วมสมัย โดยอาศัยกลไกของที่ประชุมอาเซียนอันถือเป็นกลไกการเจรจาในระดับพหุภาคีเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ หรือ ACDM เพื่อส่งเสริมและกำหนดกรอบความร่วมมือทางด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติในอาเซียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีแนวทางที่ชัดเจน 

     นอกจากนี้ รัฐสมาชิกของอาเซียน โดยเฉพาะรัฐที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปีค.ศ. 2004 ยังอาศัยเวทีการเจรจาภายใต้กรอบของการดำเนินการของคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติอีกทอดหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการจัดทำความตกลงว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ หรือ AADMER เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือและการดำเนินการของรัฐในการจัดการด้านภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ ความร่วมมือในการจัดมาตรฐานทางปฏิบัติสำหรับเพื่อเตรียมความพร้อมและประสานงานในการปฏิบัติร่วมกันของอาเซียนเพื่อบรรเทาภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ((Standard Operating Procedures for Regional Standby Arrangement and Coordination of Joint Disaster Relief and Emergency Response Operations) หรือ SASOP ซึ่งมีลักษณะเป็นคู่มือปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียน หรือ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management) หรือ AHA centre เพื่อการประสานงานระหว่างรัฐสมาชิกในการดำเนินการเพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากภัยพิบัติในกรณีต่างๆ รวมถึงเพื่อประสานงานในการขอความช่วยเหลือจากองค์การและประเทศนอกกลุ่มอาเซียนเพื่อการบริหารงานและการจัดการภัยพิบัติในอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

บทสรุป

     เพราะเหตุที่ประเทศสมาชิกของอาเซียนยังไม่มีความสามารถเพียงพอในการบริหารจัดการภัยพิบัติให้เป็นไปอย่างประสิทธิภาพ รวมถึงขาดการประสานงานร่วมกันระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภัยพิบัติ ส่งผลให้การดำเนินการจัดการภัยพิบัติแต่เดิมที่ต่างดำเนินการภายในประเทศนั้นเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการเพื่อเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากเหตุภัยพิบัติ โดยมิได้มีการดำเนินการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการอาศัยเวทีการประชุมอาเซียนเพื่อผลักดันประเด็นปัญหาการจัดการภัยพิบัติให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการริเริ่มดำเนินการจัดการปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐสมาชิกของอาเซียนเพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนอย่างหนึ่งเช่นกัน

 

บันทึกโดย นางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 เวลา 17.22 น. แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 20.12 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ (3)

 

8. หน่วยงานด้านคมนาคม: สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงคมนาคม[1]

 

          สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ดังนี้

          (๑) จัดทำยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับความร่วมมือและความช่วยเหลือกับต่างประเทศด้านการขนส่ง และจราจร

          (๒) กำหนดบทบาทในการประชุม เจรจา และจัดทำความตกลงระหว่างประเทศด้านการขนส่งและจราจร รวมทั้งวิเคราะห์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

          (๓) ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวง

          (๔) ติดต่อและประสานงานกับองค์การและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศด้านการขนส่งและจราจร

          (๕) เป็นศูนย์กลางประสานงานและจัดทำฐานข้อมูลความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการขนส่งและจราจร

          (๖) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

          โดยสรุปของอำนาจหน้าที่ของสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงคมนาคมเป็นเพียงหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เสริมบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานหลักในการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ โดยมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูล ศึกษาและวิเคราะห์นโยบายว่าด้วยการขนส่งระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และอาจเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการขนส่งในบางกรณี

 

 

9. หน่วยงานด้านสาธารณสุข: สำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (Bureau of International Health)[2]

          นอกเหนือจากหน่วยงานทางการค้าที่มีอำนาจหน้าที่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยังมีหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข คือ สำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศที่มีบทบาทในความร่วมมือทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยการดำเนินความร่วมมือทางวิชาการและจัดหาทรัพยากรจากต่างประเทศมาสนับสนุนการพัฒนาการสาธารณสุขของไทยโดยเฉพาะความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน ซึ่งมีภารกิจหลัก 4 ประการ ได้แก่(1) บริหารจัดการกระบวนการความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับต่างประเทศ (2)นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับต่างประเทศมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม (3) เสริมสร้างโอกาสให้บุคลากรสาธารณสุขได้รับการพัฒนาศักยภาพ (4) เชื่อมโยงเครือข่ายและบูรณาการความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับต่างประเทศ

          บทบาทการดำเนินงานของสำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ การเป็นผู้แทนเพื่อเข้าร่วมการเจรจาเพื่อความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในระดับภูมิภาค ในการการประชุมระดับรัฐมนตรีทางด้านสาธารณสุขของอาเซียนครั้งที่ 11 และในความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศในภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศจีนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานทางด้านสาธารณสุขในการยกระดับความเป็นอยู่ รวมถึงคุณภาพชีวิตทางด้านสุขภาพของคนในระดับภูมิภาค

          นอกจากนี้ สำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศยังมีบทบาทสำคัญในความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขในระดับสากล อาทิ การเข้าร่วมอภิปรายของผู้แทนในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 66[3] ขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีบทบาทในการเสนอความเห็นต่อการปรับปรุงแผนการดำเนินนโยบายขององค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะการปรับปรุงแผนการเงินการคลัง ซึ่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความสามารถในการใช้สอยงบประมาณที่ต้องอาศัยความมั่นคงทางการเงินในระดับหนึ่งจึงสนับสนุนให้เพิ่มสัดส่วนของเงินสมทบจากประเทศสมาชิกเพื่อให้การดำเนินงานขององค์การเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้แทนของไทยยังได้ติดตามกระบวนการพิจารณา อภิปรายเพื่อปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการระดับโลกเพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังปี 2556-2563 รวมถึงเสนอข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมในประเด็นเรื่อง indoor air pollution ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของความร่วมมือในอาเซียนด้วยเช่นกัน

 

 10. หน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: สำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[4]

         สำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการดำเนินความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค ได้แก่ ความร่วมมืออาเซียน (ASEAN), ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวะดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Aeyawadee-Chaopraya-Mekong Economic Coorperation: ACMECS) หรือโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง. Greater Mekong Subregion (GMS) ในระดับอนุภูมิภาค ในระดับระหว่างประเทศในระดับทวิภาคีและในระดับพหุภาคี เช่น ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-จีน ไทย-นิวซีแลนด์ หรือไทย-ยุโรป รวมถึงการดำเนินความร่วมมือในองค์การระหว่างประเทศ อาทิ องค์การสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก เป็นต้น

          นอกจากนี้ สำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศยังมีหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขานุการของหน่วยงานกลางในการปฏิบัติงาน (National Operational Focal Point) ของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ( Global Environment Facility, GEF) โดยมีหน้าที่เป็นส่วนกลางประสานการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานกลางเชิงนโยบาย (National Political Focal Point) ของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ในการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก รวมถึงดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูล และเสริมสร้างสมรรถนะของหน่วยงานต่างๆในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก อีกทั้งยังมีหน้าที่จัดทำแผนการดำเนินงานภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกของประเทศไทยให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแผนงานที่กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกและดำเนินการติดตามประเมินผลการบริหารงานและงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก

 

 

11. หน่วยงานด้านวัฒนธรรม: สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม[5]

          บทบาทหลักของสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ การบริหารจัดการและส่งเสริมร่วมมือทางด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการศึกษา วิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ รวมถึงประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างหน่วยงานภายในของประเทศไทย และเครือข่ายวัฒนธรรมในต่างประเทศ

          ในปัจจุบันมีความพยายามผลักดันให้มีการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งทูตวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการเพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศในต่างประเทศ โดยเฉพาะในหมู่ประเทศอาเซียนเพราะเหตุที่วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานความสัมพันธ์อันดีงามต่อกัน ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ปรากฏงานวิจัยของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม[6]ถึงบทบาทของการทูตไทยในต่างประเทศ โดยมีความเห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นในการอาศัยกลไกของผู้แทนวัฒนธรรมหรือทูตวัฒนธรรมในการเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศไทยให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจของคนโดยทั่วไป โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแต่งตั้งบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว

 

 

 12. หน่วยงานด้านแรงงานไทยในต่างประเทศ : สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน[7]

          เป้าหมายหลักของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ คือ การปกป้องและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยและครอบครัว โดยการควบคุม ดูแล และตรวจสอบการจัดส่งแรงงานไทยเพื่อไปทำงานในต่างประเทศของผู้รับอนุญาตจัดหางานให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังช่วยเหลือและดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งได้มีการจัดตั้งสำนักแรงงานประจำประเทศต่างๆ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฮ่องกง มาเลเซีย สิงค์โปร บรูไน อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลี และเยอรมัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศร่วมกันกับการดำเนินงานของกรมกงสุล 

          นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการเสริมความเข้มแข็งให้กับตลาดแรงงานของไทยในต่างประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลระบบบริหารแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศและทะเบียนคนหางานที่จะไปทำงานต่างประเทศ

 

13. หน่วยงานด้านการศึกษา: สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ

          สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศมีบทบาทหลักในการดำเนินงานด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศของกระทรวงศึกษาธิการ โดยทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดทำแผนการดำเนินนโยบายและงบประมาณทางด้านการศึกษาต่างประเทศ อีกทั้งยังมีความรับผิดชอบในความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศและมีสถานะเป็นผู้แทนของไทยในฐานะสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม (national commission for UNESCO) ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานความร่วมมือและการดำเนินงานต่างๆร่วมกันระหว่างรัฐและองค์การ

 

 

14.หน่วยงานอื่นๆ       

          นอกเหนือไปจากบทบาทของผู้ช่วยทูตฝ่ายการพาณิชย์และผู้ช่วยฝ่ายการทหาร รวมถึงสำนักงานทางด้านการค้าระหว่างประเทศและการส่งเสริมการลงทุน ยังคงมีหน่วยงานของรัฐที่สำคัญอีก 3 องค์กรซึ่งมีบทบาทในการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน ได้แก่ สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

          14.1.  สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Office of Science and Technology – OSTC)

          สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัคราชทูตมีบทบาทหลักในการทำหน้าที่ประสานงานเพื่อความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ทั้งความร่วมมือระหว่างสถาบันการวิจัยและความร่วมมือกับนักวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ตลอดจนรวบรวมข้อมูล ข่าวสารและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายเพื่อการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยให้ทันสมัยต่อสถานการณ์ของโลก

          ในปัจจุบันประเทศไทยมีสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัคราชทูตของไทย 2 แห่งได้แก่ สถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยมและสถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

          ผลงานจากการดำเนินงานของสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[8] ได้แก่ การติดตาม วิเคราะห์และจัดทำรายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอแนะนโยบายจำนวน 9 เรื่อง, การจัดทำแนวทางการจัดตั้งสถาบันเพื่อความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีของไทยในประเทศสหรัฐ (Thailand-US Science and Technology Cooperative Foundation (TUSCO)), การผลักดันให้เกิดโครงการร่วมวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาฉุกเฉินของประเทศ (Rapid) อาทิ โครงการร่วมวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของน้ำภายใต้หัวข้อเรื่อง Stagnant Flood Water Quality Improvement : Role of Sediment and Interactions between Effectiveness Microorganism and Indigenous Microorganism เป็นต้น 

 

อ้างอิง :  สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

http://ostc.thaiembdc.org/

 

 

         14.2.   สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          สำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศมีบทบาทในฐานะผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการประชุมเจรจาความร่วมมือทางด้านการเกษตรโดยการติดตาม ศึกษา รวบรวมและวิเคราะห์นโยบายการเกษตรของต่างประเทศ เพื่อทำการจัดทำข้อเสนอแนะหรือแผนงานตามนโยบายด้านการเกษตรต่างประเทศ อีกทั้งยังมีบทบาทในฐานะผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเจรจาและการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเกษตรระหว่างประเทศ เพื่อเปิดตลาดการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศไทย รวมถึงหน้าที่ในการสร้างความร่วมมือทางด้านการเกษตรและอาหารในระดับระหว่างประเทศและในระดับภูมิภาค  

          ในปัจจุบัน สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศมีสำนักงานทั่วโลกทั้งหมดจำนวน 7 ประเทศ[9]ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม จีน (กรุงปักกิ่งและนครกวางโจว) อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และอิตาลี และมีแนวโน้มจะขยายสำนักงานในอีกหลายประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าในสินค้าเกษตร[10] เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เนื่องจากมีการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารฮาลาลที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงการขยายสำนักงานที่ปรึกษาไปยังประเทศต่างๆในอาเซียนด้วยเช่นเดียวกัน

        ผลงานจากการดำเนินงานของสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ[11] ได้แก่ การดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการเกษตรต่างๆ เช่น แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย(IMT-GT : Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA), การเจรจาแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรและอาหารในประเทศต่างๆ เช่น การขึ้นบัญชี Holding Order กุ้งสุกทั้งตัว อาหารทะเลผสมของประเทศออสเตรเลีย ปัญหาการส่งออกหอมแดงไปยังประเทศอินโดนีเซีย การแก้ไขปัญหาการจับกุมเรือประมงและลูกเรือประมงไทย รวมถึงผลักดันการเปิดตลาดสินค้าไทยในประเทศต่างๆ อาทิ การเปิดตลาดสินค้าประมงประเภทกุ้งและปลาแซลมอนให้ประเทศออสเตรเลีย การขยายตลาดสินค้าประมงและปศุสัตว์ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

 

         

 

[1] กระทรวงคมนาคม.“อำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒.” http://vigportal.mot.go.th/portal/site/PortalMOT/about/ops/

 

[2]http://www.bihmoph.net/

 

[3] สำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.รายงานการประชุมสมัยที่ 66 และถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข.ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ((World Health Assembly) ครั้งที่ 66. http://www.bihmoph.net/userfiles/file/Summary%20Report%20WHA66.pdf">http://www.bihmoph.net/userfiles/file/Summary%20Report%20WHA66.pdf

 

[4]สำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ.http://oic.mnre.go.th/main.php?filename=index

 

[5] สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. http://www.m-culture.go.th/international/

 

[6] ฉันทนา จันทร์บรรจง. “บทบาททูตวัฒนธรรมต่างประเทศในประเทศไทย และแนวทางการดำเนินงานทูตวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ.” http://research.culture.go.th/index.php?option=com_flexicontent&view=item&cid=16:research&id=14:2012-08-23-04-48-14&Itemid=104

 

[7]สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน.http://www.overseas.doe.go.th/index1.html

 

[8] รายงานผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555.

 

http://www.ostc.thaiembdc.org/test2012/sites/default/files/OSTC_Annual_Report_2012-small.pdf. 9 / 12 /2013.

 

[9] สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. http://moacdc.thaiembdc.org/htmls/aboutus_THA.html.9/12/2013

 

[10] “รัฐมนตรีฯยุคล” มอบนโยบายทูตเกษตรฯ ในต่างประเทศ 8 แห่ง เชื่อมข้อมูลสินค้าเกษตรไทย. http://www.moac.go.th/ewt_news.php?nid=10966.9/12/2013

 

[11] สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.สำนักงานที่ปรึกษา ณ ต่างประเทศ และประเทศที่มีความสัมพันธ์ด้านการเกษตรกับไทย.http://www.opsmoac.go.th/ewt_news.php?nid=4376&filename=index . 9/12/2013

 

 

บันทึกโดยนางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.57 เวลา 21.54 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ (2)

4.หน่วยงานด้านการปกครอง: กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย[1]

 

          กองการต่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่หลัก ในการให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ เชิงยุทธศาสตร์และเชิงนโยบายด้านการต่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศแก่ส่วนราชการ รวมถึงประสานงานกับองค์การหรือหน่วยงานด้านความช่วยเหลือและร่วมมือทางด้านกิจการชายแดน อีกทั้งยังมีสถานะเป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยในการประชุมเจรจาระหว่างประเทศและดำเนินความร่วมมือตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทย โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

          1.กลุ่มงานความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านมีหน้าที่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ ติดตาม ประสานงานกับหน่วยงานด้านความช่วยเหลือและร่วมมือทวิภาคี กับ 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว สหภาพพม่า และมาเลเซีย ส่งเสริมการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีในระดับกระทรวงกับประเทศเพื่อนบ้านและขับเคลื่อนการดำเนินงานกลไกความร่วมมือพหุภาคี GMS ACMECS JCCCN IMT GT MRC และสามเหลี่ยมมรกต

          นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการพัฒนาพื้นที่ด่านชายแดนในส่วนของกระทรวงมหาดไทย การกลั่นกรองและจัดระเบียบการผ่านชายแดนระหว่างจุดต่างๆ รวมถึงการประสานกับประเทศเพื่อนบ้านในการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณแนวชายแดนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย

          2.กลุ่มงานกิจการต่างประเทศ มีหน้าที่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงดำเนินงานความร่วมมือตามกรอบภารกิจของกระทรวงมหาดไทยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี

          3.กลุ่มงานประสานนโยบายผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมือง มีหน้าที่ในการประสานนโยบายและแผนเกี่ยวกับผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมือง ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานกระบวนการสอบสวนแยกประเภทผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมือง การจัดทำแผนงบประมาณ การจัดทำแผนอัตรากำลังกำหนดมาตรฐานในการบริหารงานของพื้นที่ การประสานองค์การระหว่างประเทศในการจัดทำแผนการขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเกี่ยวกับผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมืองและงานติดตามประเมินผลนโยบายด้านผู้อพยพ เป็นต้น

          4.กลุ่มอาเซียน ดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายและภาพรวมของอาเซียนที่อยู่ในภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ประสานงานเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจนโครงข่ายรองรับทางสังคม อาชญากรรมข้ามชาติ สิทธิมนุษยชน มิติด้านความมั่นคง และอื่น ๆ ภายใต้ ภารกิจของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดของกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะ

 

5. หน่วยงานด้านความมั่งคง : กระทรวงกลาโหม[2]

 

          งานด้านการทหารในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ในความดูแลของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร(Defence Attache)ของกองทัพไทย ได้แก่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ทหารเรือและทหารอากาศ ซึ่งเป็นผู้แทนของกระทรวงกลาโหมในการติดต่องานทางการทูต  โดยมีอำนาจหน้าที่หลักในการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาของเอกอัครราชทูตด้านความมั่นคง กำกับดูแลการดำเนินการด้านความร่วมมือและความช่วยเหลือทางการทหารต่างๆ รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือทางการทหารระหว่างรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างกัน

          อำนาจหน้าที่ของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปรากฏตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการทูตฝ่ายทหาร พุทธศักราช ๒๕๒๗ ข้อ ๒๔  ระบุหน้าที่ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร และผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเหล่าทัพดังนี้[3]

          ๑. เป็นผู้แทนทางทหารของกองทัพไทยในต่างประเทศ

          ๒. เป็นที่ปรึกษาของเอกอัครราชทูต อัครราชทูต หรืออุปทูต เกี่ยวกับกิจการทางทหาร

          ๓. เป็นผู้แทนของกองทัพต้นสังกัดในพิธีต่าง ๆ

          ๔. เป็นผู้สังเกตการณ์และประสานงานด้านกิจการทหาร กับเจ้าหน้าที่ทางทหารของประเทศนั้น

          ๕. ควบคุม ดูแล และช่วยเหลือบุคคลสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่ไปศึกษาหรือดูกิจการ ณ ประเทศที่ตนประจำอยู่ ให้เป็นไปตามนโยบายของกองทัพหรือที่กระทรวง

            กลาโหมกำหนด

          ๖. ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพของประเทศที่ตนประจำอยู่

          ๗. เชื่อมความสัมพันธ์กับผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารของประเทศอื่น ๆ ที่ประจำอยู่ ณ ประเทศนั้น

          ๘. เป็นผู้แทนของกองทัพหรือกระทรวงกลาโหม ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และสิ่งของตามความต้องการของกองทัพหรือกระทรวงกลาโหม เมื่อได้รับมอบหมาย

          ๙. อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ทางทหารที่จะเข้าไปยังประเทศที่ตนประจำอยู่ ตามความเหมาะสม

          ๑๐. ติดต่อประสานในการขอหรือให้ความช่วยเหลือทางทหาร ในกรณีที่ไม่มีหน่วยติดต่อช่วยเหลือทางทหารประจำอยู่ ณ ประเทศนั้น

          ๑๑. อำนวยการและกำหนดระเบียบในสำนักงานให้สอดคล้องกับนโยบายของกองทัพ และกองบัญชาการทหารสูงสุด

          ๑๒. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

 

6. หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม

          เช่นเดียวกันกับหน่วยงานของรัฐในส่วนอื่นที่มีการขยายตัวและเพิ่มบทบาทการต่างประเทศตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางสังคมระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมได้มีการจัดสรรหน่วยงานเพื่อให้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการประสานงานระหว่างหน่วยงานของต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศกับหน่วยงานภายในด้วยเช่นกัน

โดยหน่วยงานหลักที่มีส่วนสำคัญในความร่วมมือระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุดและกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

          6.1      สำนักงานต่างประเทศ   สำนักงานอัยการสูงสุด[4]

 

          อำนาจและหน้าที่หลักของสำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด คือ ความรับผิดชอบในความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ได้แก่ การดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน การสอบสวนคดีความผิดนอกราชอาณาจักร การโอนตัวนักโทษ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การดำเนินการเรื่องการลักพาเด็กข้ามชาติ การต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยดำเนินการร่วมกันกับกองการต่างประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงติดต่อประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศหรือหน่วยงานต่างประเทศทีเกี่ยวข้อง

          นอกจากนี้สำนักงานต่างประเทศยังมีหน้าที่ในการประชุม เจรจา และให้ความเห็นเกี่ยวกับอนุสัญญา สนธิสัญญา และความตกลงระหว่างประเทศในทางอาญา ตอบข้อหารือและให้ข้อมูลตามที่ต่างประเทศร้องขอ จัดการประชุมระหว่างประเทศรวมถึงจัดแปลหนังสือและเอกสารภาษาต่างประเทศและทำรายงานตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

          หน่วยงานภายในของสำนักงานต่างประเทศที่สำคัญได้แก่ ศูนย์พันธกิจประชาคมอาเซียนซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559 ที่มีเป้าหมายในการผลักดันการดำเนินงานระดับกระทรวง ให้ทุกหน่วยงานให้มีการจัดตั้งกลุ่มงานหรือส่วนงานที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนโดยตรง (ASEAN Unit) โดยมีสถานะเป็นกลไกของสำนักงานอัยการสูงสุดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กรอบประชาคม ในการประสานงาน (Focal Point) เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการดำเนินงานทั้งภายในประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศพันธมิตรนอกกลุ่มประชาคมอาเซียน โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกับสำนักงานอัยการประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อกำหนดกรอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามการคุกคามรูปแบบใหม่  (Non Traditional Security Threats) เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติรวมถึงการรณรงค์ สร้างเสริมศักยภาพบุคลากรและพัฒนาเผยแพร่ความรู้ ให้คำปรึกษากฎหมายอาเซียน ตลอดจนเข้าร่วมและจัดโครงการกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับอาเซียน

 

          6.2      กองการต่างประเทศ     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ[5]

         

          ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552[6] ได้แบ่งส่วนราชการกองอำนวยการ ฝ่ายกิจการต่างประเทศ ให้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการงานกิจการต่างประเทศ ได้แก่ งานพิธีการ การรับรองและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานของต่างประเทศ การดำเนินงานเกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศ งานแปลและงานล่าม รวมถึงงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ได้แก่  

          1. ฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค ๑ – ๓ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการดำเนินงานเพื่อการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การติดต่อกับตำรวจสากลในภูมิภาคต่างๆเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติและยาเสพย์ติด โดยอาศัยข้อมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

          2. ฝ่ายสนธิสัญญาและกฎหมาย ทำหน้าที่ประสานงานและดูแลการดำเนินงานของประเทศไทยภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารโครงการประสานความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (PATROL)

          3. ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานและให้ความร่วมมือทางด้านการยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่น การส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อไปอบรมและดูงานในต่างประเทศ

          นอกจากนี้ยังมีฝ่ายบริหารงาน ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายแปลและล่าม และฝ่ายพิธีการรับรอง ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการเสริมการบริหารงานและการติดต่อประสานงานกับต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 7. หน่วยงานด้านเศรษฐกิจการคลัง: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง[7]

 

          7.1      สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ[8]

 

          สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          1. ศึกษา วิเคราะห์ เสนอแนะและออกแบบนโยบาย รวมทั้งวางกลยุทธ์ในเชิงรุก เพื่อกำหนดท่าทีและมาตรการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ด้านการเงิน การคลัง ให้เป็นไปตามข้อผูกพันและความตกลงระหว่างประเทศ และร่วมเจรจาระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

          2. จัดทำแผนการลดภาษีตามข้อผูกพันและความตกลงระหว่างประเทศรวมทั้งศึกษา วิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางการสนับสนุนกลไกดำเนินการตามข้อผูกพันและความตกลงระหว่างประเทศ โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

          3. เป็นศูนย์ข้อมูลและเผยแพร่ผลงานวิจัยและการดำเนินการภายใต้กรอบการเปิดเสรีทวิภาคีและพหุภาคี และกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง รวมทั้งประสานงานด้านเศรษฐกิจกับหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

          4. ศึกษา และวิเคราะห์เพื่อเสนอแนะและออกแบบนโยบายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการเงิน การคลังกับประเทศเพื่อนบ้าน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และกลุ่มเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคอื่น รวมทั้งการเข้าร่วมประชุมเจรจา

          5. ปฏิบัติงานในฐานเป็นหน่วยระวังภัย (National Surveillance Unit) ของประเทศไทย ในการจัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลเชิงวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศรวมทั้งระบบระวังภัยและสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจ

          6. กำกับดูแล ศึกษา วิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการต่างๆ ภายใต้เงินช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และให้คำปรึกษาการดำเนินงานโครงการแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบข้อบังคับของสถาบันการเงินผู้ให้ความช่วยเหลือรวมทั้งดูแลการเบิกจ่ายเงิน

          7. เป็นหน่วยงานกลางของกระทรวงการคลังในการประสานงานกับคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)

 

          7.2      ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังในต่างประเทศ[9]

 

          ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังในต่างประเทศมีสถานะเป็นผู้แทนของประเทศไทยในการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจและการคลัง โดยในปัจจุบันมีสถานที่ทำการ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังในต่างประเทศกรุงวอชิงตัน สหราชอาณาจักรและยุโรป และกรุงโตเกียว มีอำนาจหน้าที่หลักในการเป็นผู้แทนของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจการเงิน และการคลัง ตลอดจนติดต่อประสานงานกับหน่วยงานและสถาบันต่างๆในต่างประเทศ

อาทิ การประชุมประจำปีของสภาผู้ว่าการธนาคารโลก การประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เป็นผู้แทนกระทรวงในคณะผู้แทนไทยในการเจรจาสัญญากู้เงิน สัญญาค้ำประกันและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินของรัฐบาลและรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่ขอกู้เงินจากรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินเอกชน

 

[1]กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย. http://fad.moi.go.th/index1.htm

[2] สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประเทศไทย . “หน้าที่ของฝ่ายทหาร.” http://www.ambafrance-th.org/article1000

[3] ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก/ทหารไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก. “หน้าที่และการปฏิบัติงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเหล่าทัพ. ”http://moscow.rta.mi.th/index.html

[4] สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด.http://www.inter.ago.go.th/

[5] กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ . http://foreign.central.police.go.th/index.php

[6] ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552. http://www.pknowledge.in.th/P4.pdf

[7] หมายเหตุ. ในส่วนของกระทรวงการคลังยังปรากฏหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศโดยตรงในแต่ละส่วนงานและในแต่ละกรม อาทิ สำนักแผนและการต่างประเทศ กรมศุลกากร เป็นต้น

[8] สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. “สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ.” http://www.fpo.go.th/FPO/index2.php?mod=Category&file=categoryview&categoryID=CAT0000018

[9] สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง.“ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังในต่างประเทศ.” http://www.fpo.go.th/FPO/index2.php?mod=Category&file=categoryview&categoryID=CAT0000539

 

บันทึกโดยนางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.57 เวลา 21.49 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ (1)

 

          นอกเหนือจากหน่วยงานและกรมกองในกระทรวงการต่างประเทศ ยังพบว่ามีหน่วยงานราชการส่วนอื่นที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาทิ การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเฉพาะของต่างประเทศเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและแนวนโยบายในการดำเนินงานของประเทศไทย การเข้าร่วมการเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศเฉพาะด้านตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ รวมถึงการเป็นผู้แทนของหน่วยงานรัฐของประเทศไทยในการดำเนินความสัมพันธ์เฉพาะด้าน อาทิ ความสัมพันธ์ทางด้านการทหาร หรือเศรษฐกิจการเกษตร เป็นต้น ซึ่งอำนาจหน้าที่และบทบาทของหน่วยงานในส่วนราชการเหล่านี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของหน่วยงานของรัฐในส่วนอื่นที่เข้ามามีบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นตามการขยายตัวของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่จำกัดแต่เฉพาะด้านความมั่นคง หากแต่ยังรวมถึงความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้า รวมถึงความร่วมมืออื่นที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

 

1.หน่วยงานด้านการค้า : กระทรวงพาณิชย์

 

          1.1      กรมการค้าต่างประเทศ [1]

          กรมการค้าต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้ากับต่างประเทศ นับตั้งแต่การจัดระเบียบการนำเข้าส่งออกสินค้า ส่งเสริมและกำกับดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า – ส่งออก โดยการกำหนดมาตรฐานสินค้าส่งออกบางประเภทเพื่อควบคุมคุณภาพของสินค้าส่งออกให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดระหว่างประเทศ  อาทิ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ.๒๕๔๙ หรือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง พ.ศ. ๒๕๕๔ รวมถึงแก้ไขปัญหา อุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้าต่างๆ โดยดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและตอบโต้ทางการค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของภาคเอกชนของไทยในการค้ากับต่างประเทศ เช่น การดำเนินการบริหารโควตานำเข้าสินค้าเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อบริหารโควตาการนำเข้าเหล็กกล้าซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมของไทยให้เพียงพอต่อความต้องการและคำนึงถึงการช่วยเหลือการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของประเทศไทยในการปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ

          นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้แทนของภาคเอกชนของไทยในการเจรจาทางการค้ากับต่างประเทศ อาทิ บทบาทในการรักษาและขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ โดยการจัดคณะผู้แทนเดินทางไปเจรจาเพื่อขยายตลาดการค้าและจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าประเภทข้าวของไทยในต่างประเทศ รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของต่างประเทศในโอกาสต่างๆ เช่น การจัดคณะผู้แทนเดินทางไปเจรจาขยายตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยและผลิตภัณฑ์ข้าวไทยในงาน แสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติ SIAL Middle East ๒๐๑๑ ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ ในกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในคูหา Thailand Pavilion อีกทั้งการเข้าหารือกับผู้นำเข้าข้าวไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อรับทราบถึงปัญหาในการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย และหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการไทยใน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงสถานการณ์การบริโภคข้าวจากประเทศไทย เป็นต้น

 

         1.2  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 

          เนื่องจากการดำเนินการค้าในปัจจุบันได้ขยายขอบเขตความสัมพันธ์ทางการค้าจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศในลักษณะการเจรจารายประเทศ กลายเป็นความสัมพันธ์ทางการค้าในกรอบของการเจรจาทางการค้าพหุภาคี รวมถึงการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีที่มีมาแต่เดิมให้มีลักษณะทางการค้าเสรีเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น กรณีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เฉพาะอย่างในการเจรจาทางการค้า ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจและการค้าเป็นการเฉพาะ รวมถึงมีความสามารถในการดำเนินการเจรจาทางการค้าที่เอื้อต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ กับประเทศต่างๆ อันเป็นที่มาของการจัดตั้งกรมเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับการปรับปรุงจากกรมสารสนเทศที่มีอยู่แต่เดิม

          กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหน้าที่หลักในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในทุกระดับ นับแต่การเจรจาทวิภาคี การเจรจาระดับภูมิภาค จนกระทั่งการเจรจาในระดับพหุภาคี รวมถึงมีหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดการยุทธศาสตร์และท่าทีในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้าในกรณีต่างๆ โดยในปัจจุบันกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้าสินค้าและบริการ และการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือของอาเซียน รวมถึงในการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายตลาดการค้าและลงทุนและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย โดยการดำเนินนโยบายในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น

 

           1.3      ผู้แทนการค้า

         

          แม้ผู้แทนทางการค้าจะไม่ถือเป็นหน่วยงานของรัฐ หากแต่เป็นเพียงผู้แทนของนายกรัฐมนตรีซึ่งในปัจจุบันกำลังมีบทบาทสำคัญในการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาทางการค้ากับในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้ากับกลุ่มประเทศอื่น เช่น สหภาพยุโรป เป็นต้น

          ผู้แทนทางการค้าของประเทศไทยแต่เดิมมีลักษณะเป็นคณะผู้แทนของรัฐบาลเพื่อไปปฏิบัติภารกิจทางการค้าทางการลงทุนเป็นรายกรณี ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นการแต่งตั้งคณะผู้แทนทางการค้าไปเยือนประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้า โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยลาว ประเทศจีน และประเทศอินเดีย ต่อมาภายหลังในปี พ.ศ.2545[2]  คณะรัฐมนตรีมีมติให้แต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยซึ่งมีสถานะเทียบเท่ารัฐมนตรีในลักษณะของหน่วยงานบริหารประจำที่ไม่ใช้ลักษณะของคณะผู้แทนการค้าเป็นรายกรณีเฉพาะคราวอีกต่อไป

          ผู้แทนการค้าของไทย มีตำแหน่งคราวละ 2 ปี และมีจำนวนที่ไม่แน่นอนตามแต่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีการแต่งตั้ง โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีในการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศและการเจรจาทางการค้าขององค์การระหว่างประเทศ รวมถึงการเจรจาเรื่องอื่นที่มีความเกี่ยวเนื่องทางการค้า ทั้งการเจรจาในระดับรัฐมนตรีและในระดับอื่น รวมถึงส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศและดำเนินการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ยังมีมติจัดตั้งสำนักงานผู้แทนการค้าไทย ในสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รับผิดชอบงานด้านธุรการและวิชาการ และประสานงานข้อมูลเพื่อการวางแผนเจรจาและกำหนดท่าทีทางการค้าสนับสนุนการดำเนินงานของผู้แทนทางการค้าต่อไป

          อย่างไรก็ตาม ในปีพ.ศ.2550[3]  คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกตำแหน่งผู้แทนการค้าไทยและสำนักงานผู้แทนทางการค้าไทย ด้วยเหตุผลที่การดำเนินงานของผู้แทนการค้าไทยในลักษณะดังกล่าวมีหน่วยงานอื่นเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอยู่ก่อนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนของอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินงาน รวมถึงเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติยกเลิกตำแหน่งหน้าที่ของผู้แทนทางการค้าไทย

          แต่ภายหลังในปี พ.ศ. 2552[4]  คณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดตั้งผู้แทนการค้าไทยขึ้นใหม่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินการตามนโยบายทางการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยในจำนวนไม่เกิน 5 คนซึ่งแตกต่างจากแต่เดิมที่ไม่มีการกำหนดจำนวนที่แน่ชัด ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของผู้แทนการค้าไทยที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นในภายหลังมีขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่คล้ายคลึงกันกับตำแหน่งของผู้แทนการค้าไทยแต่เดิม มีเพียงข้อกำหนดในลักษณะที่เน้นย้ำสถานะของผู้แทนการค้าไทยในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางด้านการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากกว่ามีสถานะเป็นผู้แทนทางการค้าพิเศษของนายกรัฐมนตรีอย่างเช่นที่ผ่านมา

          บทบาทสำคัญของผู้แทนการค้าของไทย ได้แก่ การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (FTA) โดยผู้แทนการค้าฝ่ายไทย คือ ดร.โอฬาร ชัยประวัติ เพื่อเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการและการลงทุน ให้เป็นไปอย่างสอดคล้องในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบ การเจรจาเพื่อลดการดำเนินมาตรการที่มีลักษณะของการจำกัดการค้า และพัฒนาระบบข้อมูลการค้าให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้แทนของกรมการค้าระหว่างประเทศ และผู้แทนภาคเอกชน เพื่อการเจรจาที่ตอบสนองต่อประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น คณะผู้แทนการค้าไทยเยือนสหภาพเมียนมาร์ โดยมีเป้าหมายการดำเนินการค้าในเชิงรุกเพื่อการขยายการค้าการลงทุนไปยังกรุงย่างกุ้ง และเมืองมะริด ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่ยังขาดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในการแปรรูปอาหารและพลังงาน โดยมีแผนจัดงาน Thailand - Myanmar Business Forum and Business Matching เพื่อแสดงศักยภาพและแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน รวมทั้งการเยี่ยมชมกิจการโดยนักธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์การลงทุนในเมืองมะริด เพื่อแนะนำและถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ผู้ประกอบการไทย

 

 

 2. หน่วยงานด้านการเกษตร : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

          2.1      สำนักการเกษตรต่างประเทศ[5]

          สำนักการเกษตรต่างประเทศ อยู่ภายใต้สังกัดของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศในด้านความช่วยเหลือและความร่วมมือทางการเกษตรและการค้าสินค้าเกษตร โดยเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการเกษตรของประเทศต่างๆ และประชาสัมพันธ์ผลงานด้านการเกษตรต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเวทีนานาชาติ รวมถึงมีหน้าที่ในการให้การสนับสนุนและประสานงานกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศจำนวน 7 แห่ง ดังที่จะได้กล่าวถึงในหัวข้อ 1.3 ถัดไป

 

          2.2      สำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ[6]

          สำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศมีบทบาทหลักในการดำเนินการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการจัดทำเขตการค้าเสรีและการเจรจาสินค้าเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก โดยมีหน้าที่ศึกษา ติดตามและวิเคราะห์ เศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศเพื่อเสนอแนะนโยบาย แนวทางการดำเนินงานของรัฐ อีกทั้งยังมีบทบาทในการเข้าร่วมการเจรจาทางการค้าและความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีภูมิภาคและพหุภาคี

 

3.         หน่วยงานด้านสินค้านำเข้า – ส่งออก

         

          3.1    สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและ  สหกรณ์[7]

         

          สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่หลักในการดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด ทั้งหลักเกณฑ์ภายในและหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศ รวมถึงมีบทบาทในความร่วมมือและการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในการนำเข้าและส่งออกของไทยในระดับระหว่างประเทศ ดังนั้นในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศคือบทบาทในการร่วมเจรจาเพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้าอาหารและเกษตรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรฐานสินค้าอาหารและเกษตรของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และบทบาทในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศต่างๆ เช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น รวมถึงบทบาทในฐานะหน่วยงานกลางในการประสานงานระหว่างองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยและคุณภาพของอาหารกับหน่วยงานภายในของประเทศไทย

 

          3.2    สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)[8]

 

          สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่หลักในการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทคล้ายคลึงกันกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกอช.) โดยมีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดและให้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทย เช่น มาตรฐานระบบคุณภาพงาน (ISO 9001) มาตรฐานระบบจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) อีกทั้งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจให้การรับรองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามมาตรฐานของประเทศอื่น เช่น มาตรฐานการรับรองของประเทศญี่ปุ่น (JIS MARK) หรือ การตรวจผลกับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (SABS) นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการเข้าร่วมเจรจาเพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ อาทิ การเข้าร่วมประชุมขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) หรือการเข้าร่วมประชุมของอาเซียนด้านมาตรฐานของสินค้า (ACCSQ) เป็นต้น

 

[1] กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. http://www.dft.go.th.

[2] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2545. เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 22 ง. ราชกิจจานุเบกษา.11 มี.ค.2545

[3] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐในตรี ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2545 พ.ศ.2550 . เล่ม 124 ตอนพิเศษ 109 ง. 5 กันยายน 2550.

[4] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2552. เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 14 ง. ราชกิจจานุเบกษา.28 มกราคม 2552.

[5]สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.สำนักการเกษตรต่างประเทศ.http://www.opsmoac.go.th/ewt_news.php?nid=1452

[6] สำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ. http://www2.oae.go.th/biae/index.html

[7] สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “อำนาจ(ตามกฎกระทรวง).”http://www.acfs.go.th/responsibilities.php

[8] สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม.http://www.tisi.go.th/

 

บันทึกโดยนางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.57 เวลา 21.41 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

บันทึกทบทวนข้อเท็จจริงและมุมมองต่อพื้นที่การเจรจาในระหว่างการลงพื้นที่ ณ อำเภออุ้มผาง – อำเภอแม่สอด ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2556      

 

          เนื่องจากผู้ทำบันทึกได้มีโอกาสติดตามท่านอาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ไปลงพื้นที่ในโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2556 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดและติดตามโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/archanwell/media_set?set=a.477946211424.255385.739031424&type=1

ประกอบกับผู้ทำบันทึกกำลังศึกษาในวิชาปัญหากฎหมายการทูตและการกงสุลซึ่งมีท่านอาจารย์พันธุ์ทิพย์เป็นเจ้าของวิชา ผู้ทำบันทึกจึงใคร่ขอนำเสนอความเห็นและมุมมองที่มีต่อพื้นที่การเจรจา ทั้งที่เคยเกิดขึ้นและที่กำลังจะเกิดขึ้นตามความเห็นความเข้าใจของผู้ทำบันทึกที่ได้ประสบในข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่ ดังจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

  1. พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก

 

          พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยมเกิดขึ้นจากการรวมกันของพื้นที่พักพิงบ้านห้วยกะโหลกกับพื้นที่พักพิงบ้านมอเกอร์ยางเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกลอบโจมตีและเผาที่พักอาศัยบริเวณดังกล่าว โดยในปัจจุบันพื้นที่พักพิงชั่วครางบ้านอุ้มเปี้ยมเป็นสถานที่รองรับผู้หนีภัยความตายจากเหตุสงครามและครอบครัวของผู้หนีภัยความตายซึ่งติดตามเข้ามาในภายหลัง[1]

          ในการลงพื้นที่ไปยังหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม คณาจารย์และเหล่าคณะนักศึกษาได้มีโอกาสได้ทำการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคุณปลัดสันติ ปลัดประจำพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยมถึงความเป็นอยู่ของบุคคลในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ซึ่งจากการสอบถามจากคุณปลัดก็พบว่า หน่วยงานทางปกครองของประเทศไทยที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อการดูแลพื้นที่พักพิงชั่วคราว คือ กระทรวงมหาดไทย ได้ให้การดูแลบุคคลในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทั้งในเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่บุคคลย่อมมีสิทธิในการได้รับการรับรองสถานะความเป็นบุคคล โดยการจัดทำทะเบียนประวัติของเหล่าบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งยังได้ออกบัตรประจำตัวผู้อาศัยในค่ายพักพิง รวมถึงการจัดให้บุคคลภายในพื้นที่พักพิงนั้นได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ สิทธิในการสาธารณสุข โดยจัดให้มีสถานที่ซึ่งคล้ายกันกับสถานีอนามัยภายในค่ายเพื่อการให้บริการทางสาธารณสุข สิทธิในการศึกษา โดยจัดให้มีการศึกษานอกโรงเรียน รวมถึงการสอนภาษาไทยแก่เหล่าคนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

          ข้อน่าสังเกตว่า การจัดการภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราวเป็นไปโดยอาศัยการเจรจาและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลายฝ่าย นับแต่ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ของรัฐไทยในการดูแลจัดการพื้นที่พักพิง องค์การระหว่างประเทศ เช่น UNHCR หรือ IRC รวมถึงหน่วยงานอิสระที่ไม่แสวงหากำไร อาทิ Save the children ที่เข้าไปดูแลเรื่องของสวัสดิภาพของเด็กในพื้นที่ค่ายพักพิงชั่วคราว หรือ IRC ที่เข้าไปช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแห่งนี้เป็นไปบนพื้นฐานของการเจรจาเพื่อก่อความร่วมมือในการดำเนินการ เพราะหากหน่วยงานของรัฐไทยซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่ในดินแดนของประเทศไทยไม่ยินยอมให้มีการเจรจาหรือไม่ยินยอมให้หน่วยงานอื่นนอกเหนือไปจากหน่วยงานของรัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวในการให้ความช่วยเหลือ หรือเข้ามาร่วมการจัดการพื้นที่พักพิงชั่วคราว การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆเพื่อให้ความช่วยเหลือบุคคลในพื้นที่พักพิงย่อมไม่สามารถกระทำหรือแม้จะกระทำได้ก็ไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านั้น หากการให้ความช่วยเหลือเป็นไปบนความขัดแย้ง ก็จะยิ่งทำให้การบริหารจัดการพื้นที่พักพิงนั้นประสบปัญหามากยิ่งขึ้น

          ผู้ทำบันทึกมีความเห็นว่า ประเทศไทยอาจอาศัยกรณีที่ประเทศเมียนมาร์มีสถานะเป็นประธานอาเซียนในปัจจุบันเพื่อเปิดพื้นที่การเจรจาทางการทูตระหว่างรัฐไทยและรัฐเมียนมาร์ในการบริหารจัดการพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ รวมถึงการผลักดันประเด็นการจัดการในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณแนวชายแดนให้ได้รับความสนใจและได้รับการตอบสนองจากประเทศเมียนมาร์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การแก้ไขจัดการพื้นที่พักพิงชั่วคราวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การกลับคืนสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยและสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายของบุคคลในพื้นที่พักพิงชั่วคราวต่อไป

 

  1. เวทีประชุมสัมมนา ณ ที่ว่าการอำเภออุ้มผาง จ.ตาก

 

          การประชุมสัมมนา ณ ที่ว่าการอำเภออุ้มผางเป็นไปเพื่อนำเสนอโครงการศึกษาวิจัยชายแดนไทย-พม่าศึกษาของคณาจารย์แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เป็นเจ้าของโครงการทั้งสามท่าน ได้แก่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา และ อ. ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน รวมถึงการเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นที่มีต่อโครงการวิจัยดังกล่าว

          ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ผู้บันทึกเห็นในการสัมมนาครั้งนี้ คือ ประเด็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปัญหาของสถานะบุคคล อาทิ ปัญหาการรับรองสถานะบุคคลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งนำไปสู่การจัดบริการทางสาธารณสุขพื้นฐานที่อาศัยข้อมูลดังกล่าวนั้นมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง หรือประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงกรณีของน้องแจ็คที่เป็นผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ส่งผลต่อสิทธิในการได้รับการศึกษา รวมถึงประเด็นปัญหาของแรงงานข้ามชาติซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานต่างชาติหรือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกรณีเป็นประเด็นปัญหาทั้งในเรื่องของสิทธิเข้าเมือง สิทธิอยู่อาศัยไปจนกระทั่งถึงสิทธิการทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายซึ่งล้วนมีพื้นฐานจากการรับรองสถานะบุคคลโดยถูกต้องตามกฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคลทั้งสิ้น

          สืบเนื่องจากประเด็นปัญหาในข้างต้น ผู้บันทึกได้เห็นถึงพื้นที่ในการเจรจาที่ได้ดำเนินการมาแต่เดิมในเรื่องของการเจรจาเพื่อแก้ไขจัดการปัญหาการรับรองสถานะทางบุคคล ทั้งการเจรจากับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เกิดการรับรองสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการเจรจากับประเทศเจ้าของตัวบุคคลเพื่อทำการพิสูจน์สัญชาติและรับการรับรองสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคล นอกจากนี้ผู้บันทึกยังเห็นถึงพื้นที่การเจรจาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ในประเด็นของการเจรจาในทางกงสุล คือ การเจรจาเพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคคลข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย ทั้งจากการพัฒนาสถานะบุคคลจากผู้ที่เคยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวหรือเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทย เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นที่บุคคลพึงจะได้รับ ได้แก่ สิทธิในบริการทางสาธารณสุข หรือสิทธิในการศึกษา ซึ่งประเด็นที่ผู้บันทึกมีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ คือ ประเด็นของสิทธิในการศึกษา โดยในปัจจุบันได้มีมติค.ร.ม.ขยายสิทธิทางการศึกษาให้ครอบคลุมถึงผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้ได้รับการศึกษาที่ทัดเทียมกับคนไทย[2] แต่ยังคงมีประเด็นปัญหาในเรื่องของการรับรองวุฒิทางการศึกษาให้กับคนข้ามชาติที่ได้รับการศึกษานอกโรงเรียนหรือกศน. รวมถึงบุคคลที่ได้รับการศึกษาภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้ได้รับการรับรองวุฒิการศึกษาเพื่อพัฒนาสิทธิการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นหรือเพื่อรับรองวุฒิการศึกษาเพื่อใช้ในการทำงานต่อไป

 

  1. เวทีประชุมสัมมนา ณ โรงแรมควีนพาเลส อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

 

          เช่นเดียวกันกับในเวทีการประชุมสัมมนา ณ ที่ว่าการอำเภออุ้มผาง ในเวทีการประชุมสัมมนานี้ ผู้ทำบันทึกได้เห็นพื้นที่การเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาที่มีต่อโครงวิจัยชายแดนไทยพม่าศึกษา ซึ่งเน้นไปที่สิทธิในสุขภาพของเด็กข้ามชาติ รวมถึงบุคคลผู้ซึ่งไม่ได้รับการรับรองสถานะทางทะเบียน โดยผู้ทำบันทึกได้เห็นเวทีการเจรจาในทางกงสุลที่เคยเกิดขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่คนต่างด้าวที่อาศัยในประเทศไทยจากประเด็นปัญหาของสิทธิในสุขภาพของบุคคลผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนที่พึงได้รับการบริการทางสาธารณสุขอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลโดยไม่จำกัดสัญชาติ ซึ่งภายหลังต่อมาได้กลายเป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มีนาคม 2553 เรื่อง การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ[3] ทำให้บุคคลผู้ประสบปัญหาทางสถานะสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทางสาธารณสุขได้อย่างครอบคลุมเช่นเดียวกันกับบุคคลตามปกติ รวมถึงพื้นที่การเจรจาในประเด็นของหลักประกันสุขภาพของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นที่มาของมติค.ร.ม.ในวันที่ 15 ม.ค.2556[4] อนุมัติให้คนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถซื้อสิทธิในบัตรประกันสุขภาพ เพื่อให้ได้รับการบริการทางสาธารณสุขอย่างเต็มที่ต่อไป

          ในขณะเดียวกัน ผู้ทำบันทึกได้เห็นถึงการอาศัยเวทีของการประชุมสัมมนาแห่งนี้ในการเจรจาเพื่อการขอความคุ้มครองแก่เด็กข้ามชาติด้อยสิทธิอันเนื่องมาจากปัญหาสถานะทางทะเบียนของคุณแม่ทัศนีย์ คีรีประณีต เจ้าของสถานพักพิงบ้านทัศนีย์ซึ่งเป็นสถานที่ที่รับอุปการะเด็กชาติพันธุ์ผู้ด้อยโอกาส โดยคุณแม่ทัศนีย์ได้อาศัยเวทีการประชุมสัมมนาเพื่อนำเสนอปัญหาความด้อยสิทธิของเด็กชาติพันธุ์ในหลักประกันสุขภาพ ทั้งจากเงินทุนสนับสนุนและการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักประกันสุขภาพตามมติค.ร.ม.วันที่ 15 ม.ค.2556 ในขณะเดียวกันผู้ทำบันทึกได้เห็นการอาศัยเวทีการประชุมสัมมนาในการให้ข้อมูลเพื่อการใช้สิทธิในหลักประกันสุขภาพตามมติค.ร.ม.ฉบับดังกล่าวของคุณรุ่งเพชร รุ่งมิตร นักสังคมสงเคราะห์แห่งโรงพยาบาลแม่สอด เพื่อให้บุคคลผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพตามมติค.ร.ม.สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้ตามเป้าหมายของการคุ้มครองสิทธิทางสุขภาพของมติค.ร.ม.ฉบับดังกล่าว

          อีกหนึ่งประเด็นที่มีความน่าสนใจในความเห็นของผู้บันทึกคือ สิทธิในภาษาของแรงงานข้ามชาติ ทั้งในแง่ของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในการเรียนรู้ภาษาไทยและในแง่ของแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศเพื่อนบ้านในการเรียนรู้ภาษาของประเทศที่ตนไปทำงาน ซึ่งผู้ทำบันทึกมีความเห็นว่าควรได้รับการพัฒนาเพื่อเปิดพื้นที่การเจรจา ทั้งในระดับการเจรจาทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการเจรจาในทางกงสุลเพื่อผลักดันให้หน่วยงานของประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญของสิทธิในภาษาของแรงงานข้ามชาติดังกล่าว

 

  1. บทสรุป

 

          ในการลงพื้นที่ภายใต้โครงการชายแดนไทยพม่าศึกษาในครั้งนี้ ผู้ทำบันทึกเห็นการเจรจาทั้งในระดับทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการดำเนินนโยบายเพื่อจัดการประชากรบริเวณชายแดนและประชากรชาติพันธุ์บางส่วนซึ่งยังคงประสบปัญหาการรับรองสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผลทำให้บุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาความด้อยสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับบริการสาธารณสุขพื้นฐาน รวมถึงสิทธิทางการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ทำบันทึกยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้ความคุ้มครองแก่คนต่างด้าวซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นบุคคลสัญชาติไทยพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเหตุที่คนต่างด้าวเหล่านี้ต่างมีสถานะเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกันกับคนสัญชาติไทย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการรับรองสถานะและได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิทางสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน

          อย่างไรก็ตาม ผู้ทำบันทึกได้เห็นถึงความสำคัญของการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประเด็นปัญหาอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา ซึ่งมีความสำคัญต่อการแก้ไขจัดการปัญหา รวมถึงความสำคัญต่อการเปิดพื้นที่การเจรจาทางการทูตหรือการกงสุลที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะหากปราศจากการเจรจาในข้อเท็จจริงและประเด็นปัญหาที่ชัดเจนจะส่งผลทำให้การเจรจาทางการทูตหรือการกงสุลนั้นไม่อาจกระทำได้ตามเป้าหมายในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการเจรจาเพื่อกำหนดประเด็นปัญหาและข้อเท็จจริงก่อนการนำไปสู่การเจรจาทางการทูตหรือการกงสุลจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการเปิดพื้นที่การเจรจาทางการทูตและการกงสุลของรัฐเพื่อเป้าหมายในการให้ความคุ้มครองแก่คนชาติในต่างแดนหรือคนต่างชาติในดินแดนเช่นกัน

 

บันทึกโดย นางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2557 เวลา 12.12 น.

 

[1] รายงานโครงการทัศนศึกษาเพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และสภาพปัญหาผู้ด้อยโอกาสซึ่งเป็นคนชาติพันธุ์ข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนตะวันตกของประเทศไทย ณ อำเภออุ้มผางและอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตลอดจนบ้านก้อเชอ ประเทศเมียนมาร์ จัดทำโดยนักศึกษามหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.https://www.facebook.com/media/set/?set=a.742164129142119.1073741874.100000456171906&type=1

[2] มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ... (การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย).วันที่  5 ก.ค.2548.http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=204015&key_word=&owner_dep=&meet_date_dd=05&meet_date_mm=07&meet_date_yyyy=2548&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=#

[3] มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ. วันที่ 23 มี.ค.2553 . http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=223265&key_word=&owner_dep=&meet_date_dd=23&meet_date_mm=03&meet_date_yyyy=2553&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=

[4] มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การให้การดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม. วันที่ 15 ม.ค.2556. http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99306607&key_word=&owner_dep=&meet_date_dd=15&meet_date_mm=01&meet_date_yyyy=2556&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

การจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของประเทศไทย

 

 

 

  1. ข้อความคิดทั่วไป[1]

          รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review (UPR)) ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในคำว่า รายงาน UPR  เป็นรายงานตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐภายใต้กลไกของสหประชาชาติโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nation Human Rights Council (UNHRC)) ผ่านกระบวนการจัดทำและนำเสนอรายงาน UPR  ของแต่ละรัฐสมาชิกต่อที่ประชุมคณะทำงานการจัดทำรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

          กระบวนการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) เกิดขึ้นเมื่อครั้งสมัยประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ในวันที่ 15 มี.ค.2006 โดยข้อมติที่ 60/251 [2]กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะมนตรีแห่งสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกของสหประชาชาติและมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่ในการริเริ่มกระบวนการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐสมาชิกเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐให้เป็นไปตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนและคำมั่นของรัฐในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อกัน

          ในการจัดทำรายงาน UPR  กำหนดให้ประเทศสมาชิกของ[3]สหประชาชาติจำนวน 192 ประเทศจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์การดำเนินงานของรัฐด้านสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุมบนพื้นฐานของพันธกรณีตามกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง พันธกรณีของรัฐที่มีตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐเป็นภาคี รวมถึงคำมั่นโดยสมัครใจของรัฐ โดยในเนื้อหารายงาน UPR  ของแต่ละรัฐจะต้องประกอบไปด้วย รายงานของประเทศที่ถูกทบทวนจำนวน 20 หน้า รายงานจากกลไกประจำอนุสัญญา (treaty bodies) กลไกพิเศษ (special Procedures) และเอกสารสหประชาชาติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) จำนวน 10 หน้าและรายงานข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนจากภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องจำนวน 10 หน้า

          นอกจากการจัดทำรายงาน UPR  แต่ละรัฐสมาชิกยังมีหน้าที่ในการนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเพื่อทำการรับรองต่อไป โดยการนำเสนอรายงานนั้นจะใช้เวลาครั้งละ 3 ชม. ประกอบด้วยการนำเสนอรายงานของประเทศและการอภิปรายตอบโต้ (Interactive Dialogue) เพื่อทำการตอบข้อซักถามและเสนอแนะความเห็นของที่ประชุมต่อการรายงานดังกล่าว ซึ่งภายหลัง 2 วันนับแต่การนำเสนอรายงานจะมีการพิจารณาและลงมติรับรองข้อสรุปผลการทบทวนและข้อเสนอแนะ รวมถึงการประกาศท่าทีและข้อตอบรับของรัฐที่จัดทำรายงานการทบทวนที่มีต่อข้อเสนอแนะของที่ประชุมด้วยเช่นกัน

 

 

  1. กระบวนการจัดทำรายงาน UPR ของประเทศไทย[4]

          คณะรัฐมนตรีมีมติ[5]รับทราบและเห็นชอบในการจัดทำรายงาน UPR ของประเทศไทย โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำรายงาน UPR ของประเทศไทย โดยเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่นของรัฐ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและหน่วยงานทางสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปรายเพื่อจัดทำร่างรายงาน UPR  ด้วยเช่นกัน โดยกระทรวงการต่างประเทศได้จัดการหารือกลุ่มย่อยจำนวน 14 ครั้ง เพื่อพิจารณาเนื้อหาของรายงาน โดยได้เชิญภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้แทน NGOs ร่วมหารือกับผู้แทนภาครัฐเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นต่อร่าง UPR ของประเทศไทย

 

3.เนื้อหาในรายงาน UPR ของประเทศไทย

          ในกระบวนการจัดทำและนำเสนอรายงาน UPR ของประเทศไทย คณะผู้ทำงานได้เน้นไปที่ประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของไทยที่อยู่ในความสนใจของประชาคมระหว่างประเทศ รวม 15 ประเด็น ได้แก่  (๑)    ความคืบหน้าในการสอบสวนกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓  โดย

(๒)     กรณีการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ โดยเฉพาะคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร 

(๓)      กรณีการซ้อมทรมาน  โดยเฉพาะคดีของนายยะผา  กาเซ็ง

(๔)      กรณีปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดต่อครูและเด็กๆ   นักเรียน 

(๕)      กรณีการเสียชีวิตของชาวมุสลิมในเหตุการณ์ยิงมัสยิดอัลฟูรกันและกรณีกรือเซะ/ตากใบ 

(๖)      โทษประหารชีวิต

(๗)     การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยบังคับ 

(๘)      การศึกษาความเป็นไปได้ที่ไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน         โยกย้ายถิ่นฐานและครอบครัว

(๙)      การถอนข้อสงวนต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนฉบับต่างๆ  

(๑๐)    การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะฉบับที่  ๘๗  และ  ๙๘   (๑๑)        การปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าว

(๑๒)    กรณีฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด

(๑๓)    เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  และเสรีภาพในการชุมนุม

(๑๔)    การประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร และ   จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ

(๑๕)    การปฏิบัติต่อผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าและผู้ลักลอบเข้าเมือง

 

4. การนำเสนอรายงาน UPR ของประเทศไทย

          คณะรัฐมนตรีได้มีมติลงวันที่ 13 ก.ย. 2554[6]เห็นชอบแต่งตั้งให้นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการนำเสนอรายงานทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ในฐานะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทย โดยในเนื้อหาของคำแถลงก่อนเริ่มกระบวนการนำเสนอรายงานของนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ได้กล่าวถึงเนื้อหารายงาน UPR ของประเทศไทยโดยสรุปว่า[7]   ในปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งหมด 7 ฉบับ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อเข้าเป็นภาคีเพิ่มเติม รวมถึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวนเพื่อถอนข้อสงวนบางประการในอนุสัญญาฉบับต่างๆ

          รัฐบาลของไทยได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของภาครัฐ ได้แก่ นโยบายการขจัดความยากจน นโยบายทางด้านสิทธิการศึกษาฟรี 15 ปี นโยบายประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง รวมถึงความพยายามดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเฉพาะกลุ่มต่างๆ เช่น สิทธิเด็ก สตรีและคนพิการ รวมถึงสิทธิของคนชายขอบ อาทิ กลุ่มคนไร้รัฐและแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ยอมรับว่ายังคงมีปัญหาการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการที่ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินการ ได้แก่ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบ ปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นปัญหาทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล ปัญหาการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและกลุ่มคนชาติพันธุ์ในการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิในสุขภาพซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อจดทะเบียนแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและดำเนินการส่งเสริมความสามารถในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว

          ภายหลังการนำเสนอรายงาน UPR ของประเทศไทย ผู้แทนของประเทศต่างๆในที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมต่อการทำรายงาน UPR ของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ในขณะเดียวกันได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของไทยเพื่อแก้ไขปัญหา โดยผู้แทนของหลายประเทศได้กล่าวชื่นชมถึงความพยายามในการดำเนินงานของประเทศไทยในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเพื่อขจัดความยากจนของประเทศไทย  ในขณะเดียวกัน ผู้แทนของหลายประเทศได้ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นปัญหาการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยพร้อมทั้งเสนอข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของประเทศไทยในหลายประการ อาทิ การพัฒนาระบบความโปร่งใสในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม การเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม การปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกันกับหลักเกณฑ์และนิยามตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) การเร่งการดำเนินงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การพัฒนาการให้ความคุ้มครองความเสมอภาคทางเพศแก่สตรีและส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของคนพิการ รวมถึงการอนุญาตให้คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของต่างประเทศเข้าถึงกระบวนการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งผู้แทนของประเทศไทยได้ประกาศยอมรับข้อเสนอแนะบางส่วน และขอรับข้อเสนอแนะอีกส่วนหนึ่งเพื่อกลับมาพิจารณาและประกาศท่าทีต่อไป โดยข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ให้การยอมรับเพื่อนำกลับมาปรับปรุงการดำเนินงานของประเทศไทย ได้แก่ การให้ความคุ้มครองกับกลุ่มบุคคลชายขอบและกลุ่มบุคคลที่เปราะบาง อาทิ แรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน โดยประเทศไทยอยู่ในระหว่างการพัฒนาและกำหนดนโยบายเพื่อให้ความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของกลุ่มบุคคลดังกล่าว การส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสิทธิในสุขภาพระหว่างบุคคลอย่างเท่าเทียมและไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะบุคคลยากจนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของบุคคลให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรมให้มีความโปร่งใสและสามารถเข้าถึงกระบวนการได้โดยง่ายและเท่าเทียม เป็นต้น

          นอกจากนี้ผู้แทนของประเทศไทยยังได้ประกาศคำมั่นในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติม[8] ได้แก่ การเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (the Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 เรื่องเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และฉบับที่ 98 เรื่องสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง การถอนข้อสงวนต่อข้อ 16 ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ การถอนถ้อยแถลงตีความต่อข้อ 6 และ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อ 18ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับและการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองเด็กและสตรีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          อีกทั้งประเทศไทยยังได้ให้คำมั่นต่อที่ประชุมว่าจะเพิ่มความพยายามในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย การคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและป้องกันการค้ามนุษย์โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการตรวจแรงงาน ส่งเสริมสิทธิด้านการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มชายขอบ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของการปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ประกาศเชื้อเชิญให้กลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเยือนไทย

 

5.พื้นที่ทางการทูตในการนำเสนอรายงาน UPR ของประเทศไทย 

          ในการนำเสนอรายงาน UPR ของประเทศไทยจะเห็นได้ว่า ทั้งประเทศไทยและรัฐอื่นที่เข้าร่วมในที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเพื่อพิจารณารายงาน UPR ต่างอาศัยกระบวนการในการนำเสนอรายงาน UPR ในการเจรจาประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐให้ความสำคัญ ดังเช่นในรายงาน UPR ของประเทศไทยที่เน้นให้เห็นถึงการดำเนินงานของไทยในการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้เปราะบาง ทั้งสิทธิเด็ก สตรี คนพิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมไปถึงประเด็นปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน (migrant workers) ที่กำลังเป็นที่จับตามองจากหลายๆประเทศ

          ในทางกลับกัน รัฐอื่นที่เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณารายงาน UPR ของประเทศไทยได้อาศัยกระบวนการนำเสนอรายงาน UPR ของไทยเพื่อเปิดพื้นที่การเจรจาในประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐดังกล่าวให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน เช่น ผู้แทนประเทศเมียนมาร์ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรายงาน UPR ของประเทศไทย โดยเน้นถึงความพยายามในการประกันและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้โยกย้ายถิ่นฐานและแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะการส่งเสริมความปลอดภัยและสวัสดิการของกลุ่มคนงานต่างด้าว ซึ่งการเสนอความเห็นของผู้แทนเมียนมาร์เช่นนี้เองที่สะท้อนให้เห็นการอาศัยกระบวนการรายงาน UPR ในการเปิดพื้นที่การเจรจาเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนสัญชาติเมียนมาร์ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักสิทธิขั้นพื้นฐานโดยถูกต้อง

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการจัดทำรายงาน UPR ในเริ่มแรกนั้นเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลและกรณีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐ โดยอาศัยกลไกในการจัดทำรายงาน UPR และกระบวนการนำเสนอรายงาน UPR ในครั้งต่อไปในการพิจารณาตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐต่อประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนตามรายงาน UPR ฉบับแรกของรัฐ ส่งผลโดยหลักของการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของแต่ละรัฐ จึงยังเป็นไปตามภายใต้อำนาจดำเนินการตามความสมัครใจของแต่ละรัฐซึ่งสะท้อนออกมาเป็นเนื้อหาในรายงาน UPR ครั้งถัดไปเท่านั้น 

 

6. บทสรุป

          ประเทศไทยได้จัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ หรือรายงาน UPR ตามกลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) โดยมีเนื้อหาทบทวนการดำเนินงานของรัฐในด้านสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา รวมถึงแสดงให้เห็นถึงประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคระหว่างกลุ่มบุคคลในประเทศไทย โดยผู้แทนของไทยนั้นได้ประกาศน้อมรับข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานของรัฐทางด้านสิทธิมนุษยชนและแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนตามการนำเสนอรายงานของประเทศไทย อีกทั้งยังได้ประกาศคำมั่นว่าจะดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนในเรื่องอื่นๆเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากข้อเสนอแนะของนานาประเทศในที่ประชุมเพื่อพิจารณารายงานของประเทศไทยอีกเช่นกัน

          การที่ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศตามกลไกการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (universal periodic review) หรือรายงาน UPR ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการดำเนินนโยบายทางด้านสิทธิมนุษยชนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นกลไกหนึ่งที่ก่อให้เกิดโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและภาคเอกชนอย่างเต็มที่และมีบทบาทอย่างแท้จริงในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยการเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของภาคประชาสังคมประกอบกับรายงานของภาครัฐ ซึ่งกลไกการจัดทำรายงาน UPR ที่กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเช่นนี้เองที่ช่วยเสริมสร้างบทบาทของภาคประชาสังคมให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ผลกระทบเหล่านี้เองที่เป็นเหมือนแรงกระตุ้นให้ภาครัฐหันมาใส่ใจกับการดูแลและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่คนทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่พลเมืองที่เป็นหน้าที่โดยพื้นฐานของรัฐ หากรวมถึงกลุ่มบุคคลชายขอบ กลุ่มคนชาติพันธุ์และครอบครัว รวมถึงแรงงานต่างชาติที่โยกย้ายถิ่นฐานให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมเท่าที่ควรจะได้ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศใด

          

 

[1]UNHRC. Universal Periodic Review. http://www.ohchr.org/EN/HRBodies/UPR/Pages/UPRmain.aspx

[2] Resolution adopted by the General Assembly on 15 March 2006. A/RES/60/251. Sixtieth session

Agenda items 46 and 120. 60/251. Human Rights Council. http://daccess-dds-ny.un.org/doc/UNDOC/GEN/N05/502/66/PDF/N0550266.pdf?OpenElement

[3] สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาค . “ กระบวนการ UPR (UPR Process in Thailand).” http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/upr.pdf

[4] กระทรวงต่างประเทศ. “ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ หรือ รายงาน UPR.” http://www.mfa.go.th/humanrights/upr/83-uprbackground

[5] มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21/12/2553 . เรื่องการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ . โดยกระทรวงการต่างประเทศ. http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99226024&key_word=UPR&owner_dep=&meet_date_dd=&meet_date_mm=&meet_date_yyyy=&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=

[6] มติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 13 ก.ย. 2554 เรื่อง การแต่งตั้งผู้แทนรัฐบาลสำหรับการนำเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ . http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2554/992284081.pdf. 16 ก.ย.2554

[7] Report of the Working Group on the Universal  Periodic Review Thailand. Agenda item 6. Human Rights Council

Nineteenth session. http://daccess-dds-ny.un.org/doc/UNDOC/GEN/G11/172/64/PDF/G1117264.pdf?OpenElement.

[8] Sihasak Phuangketkeow. “Statement byH.E. Mr. Sihasak PhuangketkeowAmbassador and Permanent Representative of Thailandand Special Envoy of the Royal Thai Governmentat the Adoption of  the UPR Working Group Report on Thailand12th Session of the Working Group on Universal Periodic Review7 October 2011.” http://www.mfa.go.th/humanrights/upr/statement-during-upr-process/164-statement-at-the-adoption-of-the-upr-working-group-report-on-thailand-12th-session-of-working-group-on-upr-7-october-2011

 

บันทึกโดยน.ส.นฤตรา ประเสริฐศิลป์

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2557 เวลา 00.47 น. 
แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2557 เวลา 11.32 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

Climate Summit 2014 

 

climate_summit_2014

 

http://summit.sites.unicnetwork.org/">http://summit.sites.unicnetwork.org/

        ในปัจจุบัน ประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางอากาศของโลก หรือ climate change issue นั้นได้รับความสนใจจากบรรดานานาประเทศ ทั้งในระดับผู้นำของรัฐ ภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนในความร่วมมือเพื่อแก้ไขจัดการปัญหาดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือในการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างรัฐอย่างไม่เป็นทางการตามนโยบายของแต่ละรัฐ รวมถึงการผลักดันการดำเนินงานภาครัฐโดยองค์กรภาคสังคมและ NGOs เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง 

       อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการแก้ไขจัดการปัญหาสภาวะโลกร้อนที่มีมาแต่เดิมนั้นประสบปัญหาการไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐมากพอที่จะก่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ส่งผลให้เกิดความพยายามในการเรียกร้องของภาคเอกชน ภาคสังคม รวมถึงการผลักดันการดำเนินงานของสหประชาชาติ อันเป็นที่มาของการจัดประชุม climate summit 2014 ที่จะได้กล่าวถึงในรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

จุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างรัฐเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก – ในปีค.ศ.1992 รัฐภาคีแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ United Nation ได้ร่วมกันลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือย่อเป็น UNFCCC หรือ FCCC) เพื่อร่วมกันผลักดันความร่วมมือระหว่างรัฐในการดำเนินการเพื่อคงสภาวะอากาศของโลกไม่ให้มีอุณหภูมิที่สูงจนเกินไปซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยต่อมาในปีค.ศ.1995 ได้เกิดความร่วมมือเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างจริงจัง อันเป็นผลให้เกิดการบังคับใช้ “พิธีสารโตเกียว 1997 (Kyoto Protocol 1997)” ที่มีผลผูกพันให้เหล่าประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน หรืออุณหภูมิโดยรวมของโลกสูงขึ้นจากการประกอบอุตสาหกรรมเป็นหลัก ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินมาตรการนับแต่ปี 2008 ถึงปี 2012

         อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากความผูกพันทั้งสองฉบับในข้างต้นมีผลบังคับใช้ผูกพันกลับเกิดกรณีปัญหาที่รัฐผู้ลงนามผูกพันนั้นไม่ให้ความร่วมมือเพื่อดำเนินการตามข้อผูกพันอย่างจริงจังแต่อย่างใด ส่งผลให้ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

Climate Summit 2014 คืออะไร  – การประชุมครั้งนี้เป็นไปเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงเป้าหมายของความตกลงทั้งสองฉบับได้แก่ UNFCCC และ Tokyo Protocol ในการคงอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นจนเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยอาศัยการประชุมในระดับผู้นำและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆที่สำคัญทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและเสริมสร้างเจตนารมณ์ในทางการเมืองจากผู้นำของรัฐเพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

          “....The Summit is intended to be a solutions-focused Summit that is separate from, but complementary to, the UNFCCC negotiating process. It aims to provide evidence that leaders across sectors and at all levels are taking action, thus expanding the reach of what is possible today, in 2015, and beyond....”

          ข้อแตกต่างระหว่างการประชุมครั้งนี้กับการประชุมครั้งอื่น คือ การประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือต่างๆทั้ง UNFCCC และกรอบของ Tokyo Protocol ไม่ใช่กรณีการประชุมเพื่อพิจารณาถึงสภาพปัญหาหรือแนวทางความร่วมมือแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้เองมีเป้าหมายส่วนหนึ่งในการรวบรวมเจตนารมณ์ทางการเมือง(Political will) ในการดำเนินงานตามเป้าหมายในการบรรเทาสภาวะปัญหาโลกร้อนและเข้าร่วมในความตกลงว่าด้วยการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน(a global climate agreement)ที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 ต่อไป

 

สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน Climate Summit 2014  – ในการแถลงข่าวการจัดประชุม Climate Summit 2014 โดยเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ นายบัน คีน มูน เรียกร้องให้ผู้แทนแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการประชุม รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในภาครัฐอื่น รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคมจัดเตรียมคำประกาศอย่างเป็นทางการแสดงเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมโครงการเพื่อการลดอุณหภูมิของโลกและแนวทางการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการประชุมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงการดำเนินงานของภาครัฐรวมถึงส่วนอื่นๆเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของการบรรเทาปัญหาสภาวะอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงและการคงอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงจนก่อให้เกิดอันตรายแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์ในอนาคต



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท