อนุทิน 133579


Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ (3)

 

8. หน่วยงานด้านคมนาคม: สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงคมนาคม[1]

 

          สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ดังนี้

          (๑) จัดทำยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับความร่วมมือและความช่วยเหลือกับต่างประเทศด้านการขนส่ง และจราจร

          (๒) กำหนดบทบาทในการประชุม เจรจา และจัดทำความตกลงระหว่างประเทศด้านการขนส่งและจราจร รวมทั้งวิเคราะห์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

          (๓) ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวง

          (๔) ติดต่อและประสานงานกับองค์การและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศด้านการขนส่งและจราจร

          (๕) เป็นศูนย์กลางประสานงานและจัดทำฐานข้อมูลความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการขนส่งและจราจร

          (๖) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

          โดยสรุปของอำนาจหน้าที่ของสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงคมนาคมเป็นเพียงหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เสริมบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานหลักในการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ โดยมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูล ศึกษาและวิเคราะห์นโยบายว่าด้วยการขนส่งระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และอาจเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการขนส่งในบางกรณี

 

 

9. หน่วยงานด้านสาธารณสุข: สำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (Bureau of International Health)[2]

          นอกเหนือจากหน่วยงานทางการค้าที่มีอำนาจหน้าที่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยังมีหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข คือ สำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศที่มีบทบาทในความร่วมมือทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยการดำเนินความร่วมมือทางวิชาการและจัดหาทรัพยากรจากต่างประเทศมาสนับสนุนการพัฒนาการสาธารณสุขของไทยโดยเฉพาะความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน ซึ่งมีภารกิจหลัก 4 ประการ ได้แก่(1) บริหารจัดการกระบวนการความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับต่างประเทศ (2)นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับต่างประเทศมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม (3) เสริมสร้างโอกาสให้บุคลากรสาธารณสุขได้รับการพัฒนาศักยภาพ (4) เชื่อมโยงเครือข่ายและบูรณาการความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับต่างประเทศ

          บทบาทการดำเนินงานของสำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ การเป็นผู้แทนเพื่อเข้าร่วมการเจรจาเพื่อความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในระดับภูมิภาค ในการการประชุมระดับรัฐมนตรีทางด้านสาธารณสุขของอาเซียนครั้งที่ 11 และในความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศในภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศจีนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานทางด้านสาธารณสุขในการยกระดับความเป็นอยู่ รวมถึงคุณภาพชีวิตทางด้านสุขภาพของคนในระดับภูมิภาค

          นอกจากนี้ สำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศยังมีบทบาทสำคัญในความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขในระดับสากล อาทิ การเข้าร่วมอภิปรายของผู้แทนในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 66[3] ขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีบทบาทในการเสนอความเห็นต่อการปรับปรุงแผนการดำเนินนโยบายขององค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะการปรับปรุงแผนการเงินการคลัง ซึ่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความสามารถในการใช้สอยงบประมาณที่ต้องอาศัยความมั่นคงทางการเงินในระดับหนึ่งจึงสนับสนุนให้เพิ่มสัดส่วนของเงินสมทบจากประเทศสมาชิกเพื่อให้การดำเนินงานขององค์การเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้แทนของไทยยังได้ติดตามกระบวนการพิจารณา อภิปรายเพื่อปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการระดับโลกเพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังปี 2556-2563 รวมถึงเสนอข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมในประเด็นเรื่อง indoor air pollution ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของความร่วมมือในอาเซียนด้วยเช่นกัน

 

 10. หน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: สำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[4]

         สำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการดำเนินความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค ได้แก่ ความร่วมมืออาเซียน (ASEAN), ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวะดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Aeyawadee-Chaopraya-Mekong Economic Coorperation: ACMECS) หรือโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง. Greater Mekong Subregion (GMS) ในระดับอนุภูมิภาค ในระดับระหว่างประเทศในระดับทวิภาคีและในระดับพหุภาคี เช่น ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-จีน ไทย-นิวซีแลนด์ หรือไทย-ยุโรป รวมถึงการดำเนินความร่วมมือในองค์การระหว่างประเทศ อาทิ องค์การสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก เป็นต้น

          นอกจากนี้ สำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศยังมีหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขานุการของหน่วยงานกลางในการปฏิบัติงาน (National Operational Focal Point) ของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ( Global Environment Facility, GEF) โดยมีหน้าที่เป็นส่วนกลางประสานการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานกลางเชิงนโยบาย (National Political Focal Point) ของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ในการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก รวมถึงดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูล และเสริมสร้างสมรรถนะของหน่วยงานต่างๆในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก อีกทั้งยังมีหน้าที่จัดทำแผนการดำเนินงานภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกของประเทศไทยให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแผนงานที่กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกและดำเนินการติดตามประเมินผลการบริหารงานและงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก

 

 

11. หน่วยงานด้านวัฒนธรรม: สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม[5]

          บทบาทหลักของสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ การบริหารจัดการและส่งเสริมร่วมมือทางด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการศึกษา วิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ รวมถึงประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างหน่วยงานภายในของประเทศไทย และเครือข่ายวัฒนธรรมในต่างประเทศ

          ในปัจจุบันมีความพยายามผลักดันให้มีการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งทูตวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการเพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศในต่างประเทศ โดยเฉพาะในหมู่ประเทศอาเซียนเพราะเหตุที่วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานความสัมพันธ์อันดีงามต่อกัน ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ปรากฏงานวิจัยของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม[6]ถึงบทบาทของการทูตไทยในต่างประเทศ โดยมีความเห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นในการอาศัยกลไกของผู้แทนวัฒนธรรมหรือทูตวัฒนธรรมในการเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศไทยให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจของคนโดยทั่วไป โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแต่งตั้งบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว

 

 

 12. หน่วยงานด้านแรงงานไทยในต่างประเทศ : สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน[7]

          เป้าหมายหลักของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ คือ การปกป้องและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยและครอบครัว โดยการควบคุม ดูแล และตรวจสอบการจัดส่งแรงงานไทยเพื่อไปทำงานในต่างประเทศของผู้รับอนุญาตจัดหางานให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังช่วยเหลือและดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งได้มีการจัดตั้งสำนักแรงงานประจำประเทศต่างๆ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฮ่องกง มาเลเซีย สิงค์โปร บรูไน อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลี และเยอรมัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศร่วมกันกับการดำเนินงานของกรมกงสุล 

          นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการเสริมความเข้มแข็งให้กับตลาดแรงงานของไทยในต่างประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลระบบบริหารแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศและทะเบียนคนหางานที่จะไปทำงานต่างประเทศ

 

13. หน่วยงานด้านการศึกษา: สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ

          สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศมีบทบาทหลักในการดำเนินงานด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศของกระทรวงศึกษาธิการ โดยทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดทำแผนการดำเนินนโยบายและงบประมาณทางด้านการศึกษาต่างประเทศ อีกทั้งยังมีความรับผิดชอบในความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศและมีสถานะเป็นผู้แทนของไทยในฐานะสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม (national commission for UNESCO) ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานความร่วมมือและการดำเนินงานต่างๆร่วมกันระหว่างรัฐและองค์การ

 

 

14.หน่วยงานอื่นๆ       

          นอกเหนือไปจากบทบาทของผู้ช่วยทูตฝ่ายการพาณิชย์และผู้ช่วยฝ่ายการทหาร รวมถึงสำนักงานทางด้านการค้าระหว่างประเทศและการส่งเสริมการลงทุน ยังคงมีหน่วยงานของรัฐที่สำคัญอีก 3 องค์กรซึ่งมีบทบาทในการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน ได้แก่ สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

          14.1.  สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Office of Science and Technology – OSTC)

          สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัคราชทูตมีบทบาทหลักในการทำหน้าที่ประสานงานเพื่อความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ทั้งความร่วมมือระหว่างสถาบันการวิจัยและความร่วมมือกับนักวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ตลอดจนรวบรวมข้อมูล ข่าวสารและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายเพื่อการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยให้ทันสมัยต่อสถานการณ์ของโลก

          ในปัจจุบันประเทศไทยมีสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัคราชทูตของไทย 2 แห่งได้แก่ สถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยมและสถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

          ผลงานจากการดำเนินงานของสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[8] ได้แก่ การติดตาม วิเคราะห์และจัดทำรายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอแนะนโยบายจำนวน 9 เรื่อง, การจัดทำแนวทางการจัดตั้งสถาบันเพื่อความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีของไทยในประเทศสหรัฐ (Thailand-US Science and Technology Cooperative Foundation (TUSCO)), การผลักดันให้เกิดโครงการร่วมวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาฉุกเฉินของประเทศ (Rapid) อาทิ โครงการร่วมวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของน้ำภายใต้หัวข้อเรื่อง Stagnant Flood Water Quality Improvement : Role of Sediment and Interactions between Effectiveness Microorganism and Indigenous Microorganism เป็นต้น 

 

อ้างอิง :  สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

http://ostc.thaiembdc.org/

 

 

         14.2.   สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          สำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศมีบทบาทในฐานะผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการประชุมเจรจาความร่วมมือทางด้านการเกษตรโดยการติดตาม ศึกษา รวบรวมและวิเคราะห์นโยบายการเกษตรของต่างประเทศ เพื่อทำการจัดทำข้อเสนอแนะหรือแผนงานตามนโยบายด้านการเกษตรต่างประเทศ อีกทั้งยังมีบทบาทในฐานะผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเจรจาและการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเกษตรระหว่างประเทศ เพื่อเปิดตลาดการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศไทย รวมถึงหน้าที่ในการสร้างความร่วมมือทางด้านการเกษตรและอาหารในระดับระหว่างประเทศและในระดับภูมิภาค  

          ในปัจจุบัน สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศมีสำนักงานทั่วโลกทั้งหมดจำนวน 7 ประเทศ[9]ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม จีน (กรุงปักกิ่งและนครกวางโจว) อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และอิตาลี และมีแนวโน้มจะขยายสำนักงานในอีกหลายประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าในสินค้าเกษตร[10] เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เนื่องจากมีการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารฮาลาลที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงการขยายสำนักงานที่ปรึกษาไปยังประเทศต่างๆในอาเซียนด้วยเช่นเดียวกัน

        ผลงานจากการดำเนินงานของสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ[11] ได้แก่ การดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการเกษตรต่างๆ เช่น แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย(IMT-GT : Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA), การเจรจาแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรและอาหารในประเทศต่างๆ เช่น การขึ้นบัญชี Holding Order กุ้งสุกทั้งตัว อาหารทะเลผสมของประเทศออสเตรเลีย ปัญหาการส่งออกหอมแดงไปยังประเทศอินโดนีเซีย การแก้ไขปัญหาการจับกุมเรือประมงและลูกเรือประมงไทย รวมถึงผลักดันการเปิดตลาดสินค้าไทยในประเทศต่างๆ อาทิ การเปิดตลาดสินค้าประมงประเภทกุ้งและปลาแซลมอนให้ประเทศออสเตรเลีย การขยายตลาดสินค้าประมงและปศุสัตว์ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

 

         

 

[1] กระทรวงคมนาคม.“อำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒.” http://vigportal.mot.go.th/portal/site/PortalMOT/about/ops/

 

[2]http://www.bihmoph.net/

 

[3] สำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.รายงานการประชุมสมัยที่ 66 และถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข.ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ((World Health Assembly) ครั้งที่ 66. http://www.bihmoph.net/userfiles/file/Summary%20Report%20WHA66.pdf">http://www.bihmoph.net/userfiles/file/Summary%20Report%20WHA66.pdf

 

[4]สำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ.http://oic.mnre.go.th/main.php?filename=index

 

[5] สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. http://www.m-culture.go.th/international/

 

[6] ฉันทนา จันทร์บรรจง. “บทบาททูตวัฒนธรรมต่างประเทศในประเทศไทย และแนวทางการดำเนินงานทูตวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ.” http://research.culture.go.th/index.php?option=com_flexicontent&view=item&cid=16:research&id=14:2012-08-23-04-48-14&Itemid=104

 

[7]สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน.http://www.overseas.doe.go.th/index1.html

 

[8] รายงานผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555.

 

http://www.ostc.thaiembdc.org/test2012/sites/default/files/OSTC_Annual_Report_2012-small.pdf. 9 / 12 /2013.

 

[9] สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. http://moacdc.thaiembdc.org/htmls/aboutus_THA.html.9/12/2013

 

[10] “รัฐมนตรีฯยุคล” มอบนโยบายทูตเกษตรฯ ในต่างประเทศ 8 แห่ง เชื่อมข้อมูลสินค้าเกษตรไทย. http://www.moac.go.th/ewt_news.php?nid=10966.9/12/2013

 

[11] สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.สำนักงานที่ปรึกษา ณ ต่างประเทศ และประเทศที่มีความสัมพันธ์ด้านการเกษตรกับไทย.http://www.opsmoac.go.th/ewt_news.php?nid=4376&filename=index . 9/12/2013

 

 

บันทึกโดยนางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.57 เวลา 21.54 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท