อนุทิน 133578


Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ (2)

4.หน่วยงานด้านการปกครอง: กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย[1]

 

          กองการต่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่หลัก ในการให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ เชิงยุทธศาสตร์และเชิงนโยบายด้านการต่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศแก่ส่วนราชการ รวมถึงประสานงานกับองค์การหรือหน่วยงานด้านความช่วยเหลือและร่วมมือทางด้านกิจการชายแดน อีกทั้งยังมีสถานะเป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยในการประชุมเจรจาระหว่างประเทศและดำเนินความร่วมมือตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทย โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

          1.กลุ่มงานความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านมีหน้าที่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ ติดตาม ประสานงานกับหน่วยงานด้านความช่วยเหลือและร่วมมือทวิภาคี กับ 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว สหภาพพม่า และมาเลเซีย ส่งเสริมการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีในระดับกระทรวงกับประเทศเพื่อนบ้านและขับเคลื่อนการดำเนินงานกลไกความร่วมมือพหุภาคี GMS ACMECS JCCCN IMT GT MRC และสามเหลี่ยมมรกต

          นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการพัฒนาพื้นที่ด่านชายแดนในส่วนของกระทรวงมหาดไทย การกลั่นกรองและจัดระเบียบการผ่านชายแดนระหว่างจุดต่างๆ รวมถึงการประสานกับประเทศเพื่อนบ้านในการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณแนวชายแดนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย

          2.กลุ่มงานกิจการต่างประเทศ มีหน้าที่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงดำเนินงานความร่วมมือตามกรอบภารกิจของกระทรวงมหาดไทยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี

          3.กลุ่มงานประสานนโยบายผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมือง มีหน้าที่ในการประสานนโยบายและแผนเกี่ยวกับผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมือง ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานกระบวนการสอบสวนแยกประเภทผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมือง การจัดทำแผนงบประมาณ การจัดทำแผนอัตรากำลังกำหนดมาตรฐานในการบริหารงานของพื้นที่ การประสานองค์การระหว่างประเทศในการจัดทำแผนการขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเกี่ยวกับผู้อพยพและหลบหนีเข้าเมืองและงานติดตามประเมินผลนโยบายด้านผู้อพยพ เป็นต้น

          4.กลุ่มอาเซียน ดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายและภาพรวมของอาเซียนที่อยู่ในภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ประสานงานเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจนโครงข่ายรองรับทางสังคม อาชญากรรมข้ามชาติ สิทธิมนุษยชน มิติด้านความมั่นคง และอื่น ๆ ภายใต้ ภารกิจของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดของกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะ

 

5. หน่วยงานด้านความมั่งคง : กระทรวงกลาโหม[2]

 

          งานด้านการทหารในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ในความดูแลของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร(Defence Attache)ของกองทัพไทย ได้แก่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ทหารเรือและทหารอากาศ ซึ่งเป็นผู้แทนของกระทรวงกลาโหมในการติดต่องานทางการทูต  โดยมีอำนาจหน้าที่หลักในการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาของเอกอัครราชทูตด้านความมั่นคง กำกับดูแลการดำเนินการด้านความร่วมมือและความช่วยเหลือทางการทหารต่างๆ รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือทางการทหารระหว่างรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างกัน

          อำนาจหน้าที่ของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปรากฏตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการทูตฝ่ายทหาร พุทธศักราช ๒๕๒๗ ข้อ ๒๔  ระบุหน้าที่ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร และผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเหล่าทัพดังนี้[3]

          ๑. เป็นผู้แทนทางทหารของกองทัพไทยในต่างประเทศ

          ๒. เป็นที่ปรึกษาของเอกอัครราชทูต อัครราชทูต หรืออุปทูต เกี่ยวกับกิจการทางทหาร

          ๓. เป็นผู้แทนของกองทัพต้นสังกัดในพิธีต่าง ๆ

          ๔. เป็นผู้สังเกตการณ์และประสานงานด้านกิจการทหาร กับเจ้าหน้าที่ทางทหารของประเทศนั้น

          ๕. ควบคุม ดูแล และช่วยเหลือบุคคลสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่ไปศึกษาหรือดูกิจการ ณ ประเทศที่ตนประจำอยู่ ให้เป็นไปตามนโยบายของกองทัพหรือที่กระทรวง

            กลาโหมกำหนด

          ๖. ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพของประเทศที่ตนประจำอยู่

          ๗. เชื่อมความสัมพันธ์กับผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารของประเทศอื่น ๆ ที่ประจำอยู่ ณ ประเทศนั้น

          ๘. เป็นผู้แทนของกองทัพหรือกระทรวงกลาโหม ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และสิ่งของตามความต้องการของกองทัพหรือกระทรวงกลาโหม เมื่อได้รับมอบหมาย

          ๙. อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ทางทหารที่จะเข้าไปยังประเทศที่ตนประจำอยู่ ตามความเหมาะสม

          ๑๐. ติดต่อประสานในการขอหรือให้ความช่วยเหลือทางทหาร ในกรณีที่ไม่มีหน่วยติดต่อช่วยเหลือทางทหารประจำอยู่ ณ ประเทศนั้น

          ๑๑. อำนวยการและกำหนดระเบียบในสำนักงานให้สอดคล้องกับนโยบายของกองทัพ และกองบัญชาการทหารสูงสุด

          ๑๒. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

 

6. หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม

          เช่นเดียวกันกับหน่วยงานของรัฐในส่วนอื่นที่มีการขยายตัวและเพิ่มบทบาทการต่างประเทศตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางสังคมระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมได้มีการจัดสรรหน่วยงานเพื่อให้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการประสานงานระหว่างหน่วยงานของต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศกับหน่วยงานภายในด้วยเช่นกัน

โดยหน่วยงานหลักที่มีส่วนสำคัญในความร่วมมือระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุดและกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

          6.1      สำนักงานต่างประเทศ   สำนักงานอัยการสูงสุด[4]

 

          อำนาจและหน้าที่หลักของสำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด คือ ความรับผิดชอบในความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ได้แก่ การดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน การสอบสวนคดีความผิดนอกราชอาณาจักร การโอนตัวนักโทษ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การดำเนินการเรื่องการลักพาเด็กข้ามชาติ การต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยดำเนินการร่วมกันกับกองการต่างประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงติดต่อประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศหรือหน่วยงานต่างประเทศทีเกี่ยวข้อง

          นอกจากนี้สำนักงานต่างประเทศยังมีหน้าที่ในการประชุม เจรจา และให้ความเห็นเกี่ยวกับอนุสัญญา สนธิสัญญา และความตกลงระหว่างประเทศในทางอาญา ตอบข้อหารือและให้ข้อมูลตามที่ต่างประเทศร้องขอ จัดการประชุมระหว่างประเทศรวมถึงจัดแปลหนังสือและเอกสารภาษาต่างประเทศและทำรายงานตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

          หน่วยงานภายในของสำนักงานต่างประเทศที่สำคัญได้แก่ ศูนย์พันธกิจประชาคมอาเซียนซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559 ที่มีเป้าหมายในการผลักดันการดำเนินงานระดับกระทรวง ให้ทุกหน่วยงานให้มีการจัดตั้งกลุ่มงานหรือส่วนงานที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนโดยตรง (ASEAN Unit) โดยมีสถานะเป็นกลไกของสำนักงานอัยการสูงสุดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กรอบประชาคม ในการประสานงาน (Focal Point) เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการดำเนินงานทั้งภายในประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศพันธมิตรนอกกลุ่มประชาคมอาเซียน โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกับสำนักงานอัยการประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อกำหนดกรอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามการคุกคามรูปแบบใหม่  (Non Traditional Security Threats) เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติรวมถึงการรณรงค์ สร้างเสริมศักยภาพบุคลากรและพัฒนาเผยแพร่ความรู้ ให้คำปรึกษากฎหมายอาเซียน ตลอดจนเข้าร่วมและจัดโครงการกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับอาเซียน

 

          6.2      กองการต่างประเทศ     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ[5]

         

          ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552[6] ได้แบ่งส่วนราชการกองอำนวยการ ฝ่ายกิจการต่างประเทศ ให้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการงานกิจการต่างประเทศ ได้แก่ งานพิธีการ การรับรองและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานของต่างประเทศ การดำเนินงานเกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศ งานแปลและงานล่าม รวมถึงงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ได้แก่  

          1. ฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค ๑ – ๓ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการดำเนินงานเพื่อการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การติดต่อกับตำรวจสากลในภูมิภาคต่างๆเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติและยาเสพย์ติด โดยอาศัยข้อมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

          2. ฝ่ายสนธิสัญญาและกฎหมาย ทำหน้าที่ประสานงานและดูแลการดำเนินงานของประเทศไทยภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารโครงการประสานความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (PATROL)

          3. ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานและให้ความร่วมมือทางด้านการยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่น การส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อไปอบรมและดูงานในต่างประเทศ

          นอกจากนี้ยังมีฝ่ายบริหารงาน ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายแปลและล่าม และฝ่ายพิธีการรับรอง ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการเสริมการบริหารงานและการติดต่อประสานงานกับต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 7. หน่วยงานด้านเศรษฐกิจการคลัง: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง[7]

 

          7.1      สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ[8]

 

          สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          1. ศึกษา วิเคราะห์ เสนอแนะและออกแบบนโยบาย รวมทั้งวางกลยุทธ์ในเชิงรุก เพื่อกำหนดท่าทีและมาตรการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ด้านการเงิน การคลัง ให้เป็นไปตามข้อผูกพันและความตกลงระหว่างประเทศ และร่วมเจรจาระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

          2. จัดทำแผนการลดภาษีตามข้อผูกพันและความตกลงระหว่างประเทศรวมทั้งศึกษา วิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางการสนับสนุนกลไกดำเนินการตามข้อผูกพันและความตกลงระหว่างประเทศ โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

          3. เป็นศูนย์ข้อมูลและเผยแพร่ผลงานวิจัยและการดำเนินการภายใต้กรอบการเปิดเสรีทวิภาคีและพหุภาคี และกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง รวมทั้งประสานงานด้านเศรษฐกิจกับหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

          4. ศึกษา และวิเคราะห์เพื่อเสนอแนะและออกแบบนโยบายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการเงิน การคลังกับประเทศเพื่อนบ้าน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และกลุ่มเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคอื่น รวมทั้งการเข้าร่วมประชุมเจรจา

          5. ปฏิบัติงานในฐานเป็นหน่วยระวังภัย (National Surveillance Unit) ของประเทศไทย ในการจัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลเชิงวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศรวมทั้งระบบระวังภัยและสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจ

          6. กำกับดูแล ศึกษา วิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการต่างๆ ภายใต้เงินช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และให้คำปรึกษาการดำเนินงานโครงการแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบข้อบังคับของสถาบันการเงินผู้ให้ความช่วยเหลือรวมทั้งดูแลการเบิกจ่ายเงิน

          7. เป็นหน่วยงานกลางของกระทรวงการคลังในการประสานงานกับคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)

 

          7.2      ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังในต่างประเทศ[9]

 

          ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังในต่างประเทศมีสถานะเป็นผู้แทนของประเทศไทยในการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจและการคลัง โดยในปัจจุบันมีสถานที่ทำการ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังในต่างประเทศกรุงวอชิงตัน สหราชอาณาจักรและยุโรป และกรุงโตเกียว มีอำนาจหน้าที่หลักในการเป็นผู้แทนของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจการเงิน และการคลัง ตลอดจนติดต่อประสานงานกับหน่วยงานและสถาบันต่างๆในต่างประเทศ

อาทิ การประชุมประจำปีของสภาผู้ว่าการธนาคารโลก การประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เป็นผู้แทนกระทรวงในคณะผู้แทนไทยในการเจรจาสัญญากู้เงิน สัญญาค้ำประกันและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินของรัฐบาลและรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่ขอกู้เงินจากรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินเอกชน

 

[1]กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย. http://fad.moi.go.th/index1.htm

[2] สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประเทศไทย . “หน้าที่ของฝ่ายทหาร.” http://www.ambafrance-th.org/article1000

[3] ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก/ทหารไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก. “หน้าที่และการปฏิบัติงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเหล่าทัพ. ”http://moscow.rta.mi.th/index.html

[4] สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด.http://www.inter.ago.go.th/

[5] กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ . http://foreign.central.police.go.th/index.php

[6] ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552. http://www.pknowledge.in.th/P4.pdf

[7] หมายเหตุ. ในส่วนของกระทรวงการคลังยังปรากฏหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศโดยตรงในแต่ละส่วนงานและในแต่ละกรม อาทิ สำนักแผนและการต่างประเทศ กรมศุลกากร เป็นต้น

[8] สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. “สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ.” http://www.fpo.go.th/FPO/index2.php?mod=Category&file=categoryview&categoryID=CAT0000018

[9] สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง.“ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังในต่างประเทศ.” http://www.fpo.go.th/FPO/index2.php?mod=Category&file=categoryview&categoryID=CAT0000539

 

บันทึกโดยนางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.57 เวลา 21.49 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท