อนุทิน 134080


Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

บันทึกแนวคิดว่าด้วยการทูต(diplomacy)และกฎหมายว่าด้วยการทูต (Diplomatic law)

 

            สืบเนื่องจากในห้องเรียนวิชาปัญหากฎหมายการทูตและการกงสุล ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เป็นอาจารย์เจ้าของวิชาได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นเกี่ยวกับคำนิยามและขอบเขตของกฎหมายการทูตและการกงสุลในระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับนักศึกษา เมื่อผู้เขียนมีสถานะเป็นนักศึกษาในห้องเรียนดังกล่าว จึงมีความคิดที่จะรวบรวมแนวคิดว่าด้วยการทูตและกฎหมายว่าด้วยการทูตบางส่วนและนำเสนอแนวคิดพร้อมทั้งความเห็นของผู้เขียนออกมาในรูปแบบของบันทึกเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติม รวมถึงเพื่อการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้ที่สนใจเพื่อเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจของผู้เขียนต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเห็นของนักศึกษาอีกท่านหนึ่งในห้องเรียนวิชานี้ คือ นายธนภัทร ชาตินักรบ ได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts/561246

 

แนวคิดว่าด้วยการทูต(diplomacy)และกฎหมายว่าด้วยการทูต (Diplomatic law)

          ในแง่มุมของ Eileen Denza ที่ปรากฏในบทนำของหนังสือ Diplomatic Law A Commentary on the Vienna Convention on Diplomatic Relations[1] มีความเห็นว่ากฎหมายการทูต หรือ Diplomatic law หมายถึงกฎหมายที่เป็นกรอบของกระบวนการในการก่อให้เกิดกฎหมายระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (diplomatic law in a sense constitutes the procedural framework for the construction of international law and international relations) ซึ่งประกันประสิทธิภาพและความมั่นคงของเครื่องมือของรัฐที่ใช้ในความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เพราะหากปราศจากกฎเกณฑ์เช่นนี้แล้ว เครื่องมือหรือกระบวนการที่รัฐใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์ย่อมไม่อาจก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันได้

          โดยกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตของรัฐเป็นไปโดยกลไกของธรรมชาติ  เพราะเหตุที่เมื่อกฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบของรัฐในยุคสมัยใหม่ได้รับการพัฒนาขึ้น ข้อกำหนดว่าการแลกเปลี่ยนหรือการปฏิบัติต่อทูต (envoy) ได้กลายเป็นเรื่องพื้นฐานของรัฐไปโดยปริยาย ส่วนบทบาท อำนาจหรือหน้าที่ของรัฐบาลในปัจจุบันในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้า การท่องเที่ยวหรือการติดต่อสื่อสารระหว่างกันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่ได้รับการพัฒนาจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีมาแต่เดิมที่อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางการทูต อันมีบทบาทหลักในภารกิจทางการทูต (diplomatic mission) คือ การเป็นผู้แทนของรัฐผู้ส่งและปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและคนชาติของรัฐผู้ส่ง หน้าที่ในการเจรจากับรัฐผู้รับ สืบสวนและจัดทำรายงานสถานการณ์ภายในของรัฐผู้รับ ซึ่งภาระหน้าที่หรือบทบาทพื้นฐานในภารกิจทางการทูตในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเช่นนี้ยังคงมีอยู่จนกระทั่งในปัจจุบัน

          ในกรณีความเห็นของ Malcolm N. Shaw [2] เห็นว่าการทูตถือเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร(communication) ระหว่างรัฐภาคีฝ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณและกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่เข้ามารองรับความสัมพันธ์เช่นว่านั้นเป็นเพียงผลของการพัฒนาทางปฏิบัติของรัฐเท่านั้น เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลจากความคุ้มกันในอำนาจอธิปไตยของรัฐ (asa consequence of sovereign immunity) เอกราชและความเท่าเทียมกันระหว่างรัฐเท่านั้น เพียงเพราะโดยสภาพที่รัฐจะดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศอื่นใดได้ก็แต่ด้วยอาศัยผู้แทนทางการทูต เมื่อบุคคลเหล่านั้นมีสถานะเป็นผู้แทนของรัฐ ย่อมได้รับประโยชน์จากหลักเกณฑ์ทางกฎหมายว่าด้วยรัฐ อีกทั้งเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน

          ความสัมพันธ์ทางการทูตในยุคเดิมนั้นดำเนินโดยอาศัยเอกอัครราชทูต(themedium of ambassadors) และคณะผู้แทนทางการทูตที่ได้รับการแต่งตั้ง แต่เมื่อสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มมีการค้าพาณิชย์ระหว่างกัน รวมถึงมีการตั้งกงสุลและมีการขยายขอบเขตของภารกิจในทางการทูต ส่งผลให้เกิดภารกิจทางการทูตเฉพาะ (special missions) ที่มีการส่งผู้แทนของรัฐหรือผู้แทนของรัฐให้มีอำนาจหน้าในการปฏิบัติภารกิจการทางการทูตเฉพาะอย่างเพื่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ เมื่อมีการพัฒนาการสื่อสารให้สามารถติดต่อกันได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น บทบาททางการทูตในแบบดั้งเดิมนั้นก็ได้ลดบทบาทความสำคัญลง แต่ทูตและกงสุลยังคงมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมข้อมูลของประเทศที่ไปประจำอยู่ อีกทั้งยังมีบทบาทในการเจริญความสัมพันธ์ระหว่างรัฐผู้ส่งและรัฐผู้รับ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในทางการค้าและในทางเศรษฐกิจ   

          James Crawford[3] ได้กล่าวถึงแนวคิดของการทูตว่าเป็นวิธีการต่างๆรัฐใช้ในการก่อตั้งหรือรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ รวมถึงใช้ในการติดต่อสัมพันธ์และการดำเนินการในทางการเมืองและกฎหมายผ่านผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐ โดยการทูตนี้อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติหรือในสถานการณ์ของความขัดแย้งได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่แนวคิดว่าด้วยการทูตนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์อย่างเป็นมิตรหรือศัตรูมากกว่ารูปแบบของเนื้อหาว่าเป็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจหรือเป็นความขัดแย้งทางทหาร

          โดยหลักความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐเป็นไปโดยการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตและภารกิจทางการทูต ทั้งอย่างถาวรหรือเป็นประจำ โดยผู้แทนการทางทูตของรัฐมีความสำคัญในฐานะผู้แทนของรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะภาคีสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนทางการทูตเฉพาะกิจ (ad hoc diplomacy) ที่มีภารกิจพิเศษในฐานะผู้แทนของรัฐในการประชุมต่างๆ ในส่วนของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐ เป็นเพียงผลผลิตจากทางปฏิบัติระหว่างรัฐที่ปรากฏในสนธิสัญญาและกฎหมายภายใน รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลซึ่งได้รับการประมวลสาระสำคัญไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต (the Vienna Convention on Diplomatic Relations (VCDR)) นั่นเอง

          ส่วนในกรณีของ Michael Hardy[4] นั้นมีความเห็นว่า การทูตในมุมอย่างกว้างนั้นหมายถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐ (execution of foreign policy) แต่ในมุมมองที่แคบกว่าและเทคนิคกว่าคือ วิธีการในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ นอกจากนี้การทูตในบริบทของปัจจุบันยังอาจหมายถึงการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศผ่านผู้แทนของรัฐ ซึ่งกฎหมายการทูตย่อมมีความหมายว่ากฎหมายว่าด้วยการดำเนินการของรัฐและสถานะของผู้แทนของรัฐ

 

ความเห็นของผู้เขียน

          ดังจะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์สำคัญในงานเขียนว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตหรือกฎหมายการทูตจะกล่าวถึงกระบวนการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งแต่เดิมรัฐได้อาศัยการแต่งตั้งและแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตเป็นวิธีการในการก่อตั้งและดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ กฎหมายการทูตซึ่งว่าด้วยกรอบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐแต่เดิมจึ่งหมายถึงกฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งตั้ง แลกเปลี่ยน การกำหนดภารกิจรวมถึงเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูตซึ่งได้พัฒนากลายเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศและได้รับการประมวลเป็นหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตค.ศ.1961  

          อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีความหลากหลายทางเนื้อหาและรูปแบบความสัมพันธ์ ในส่วนเนื้อหาของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไม่จำกัดแต่เพียงความสัมพันธ์ในทางการเมืองการปกครองเท่านั้น หากแต่รวมถึงความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจ หรือความสัมพันธ์ในทางสังคม ดังจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียนซึ่งมีเป้าหมายในเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนอาเซียนเข้าด้วยกันตามนโยบาย ASEAN Connectivity ส่วนรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมีการขยายขอบเขตออกไปเป็นความสัมพันธ์ที่มากกว่า 2 รัฐหรือที่เรียกว่าความสัมพันธ์หลายฝ่ายผ่านกรอบความร่วมมือระดับพหุภาคีหรือองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ผู้แทนของรัฐที่ทำหน้าที่ดำเนินความสัมพันธ์ของรัฐยังไม่จำกัดแต่เพียงผู้แทนทางการทูต หากแต่รวมถึงผู้แทนของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินความสัมพันธ์หรือการเจรจาเฉพาะกรณีหรือเฉพาะเรื่อง

          ดังนั้นในความเห็นของผู้เขียนจึ่งมีความเห็นว่า การทูตเป็นเรื่องของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่อยู่บนกรอบของจารีตประเพณีระหว่างประเทศประกอบกับหลักเกณฑ์ทางกฎหมายการทูตที่ว่าด้วยกรอบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทั้งในเรื่องของวิธีการในดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ สิทธิและหน้าที่ของแต่ละรัฐ รวมถึงหลักเกณฑ์ของผู้แทนของรัฐ ซึ่งแต่เดิมอาศัยวิธีการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตในฐานะผู้แทนของรัฐไปปฏิบัติภารกิจเจริญสัมพันธไมตรีในประเทศต่างเป็นวิธีการในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ

          อย่างไรก็ตาม เมื่อปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างรัฐได้ขยายขอบเขตไปนอกเหนือจากการก่อตั้งและการคงอยู่ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีมาแต่ดั้งเดิม ขอบเขตของกฎเกณฑ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตอันจะหมายถึงกฎเกณฑ์ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจึงไม่อาจจำกัดแต่หลักเกณฑ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตในเชิงของการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตระหว่างรัฐ แต่ยังหมายรวมถึงกฎเกณฑ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอื่นใดที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบของความตกลงหรือกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐประเภทต่างๆ อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community (AEC))[5] ที่ปรากฏกรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศให้มีการดำเนินงานในทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันตามเป้าหมายที่กำหนดใน AEC Blueprint อาทิ การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียวกัน หรือการเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารในการแข่งขังสูง เป็นต้น

 

บทส่งท้าย

          แนวคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือแนวคิดว่าด้วยการทูตมีที่มาจากการก่อตัวของรัฐสมัยใหม่ที่ริเริ่มดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐผ่านวิธีการแต่งตั้งผู้แทนทางการทูตของรัฐไปปฏิบัติภารกิจในรัฐต่างๆ ในลักษณะของความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในรูปแบบเช่นนี้ยังคงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเครื่องแสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือการทูตในปัจจุบันได้ขยายขอบเขตไปมากกว่าความสัมพันธ์ในลักษณะของทวิภาคีผ่านการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูต แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ในลักษณะพหุภาคีหรือความสัมพันธ์หลายฝ่ายผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ส่งผลให้หลักเกณฑ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือกฎเกณฑ์การทูตจึงขยายขอบเขตออกไปมากกว่าความสัมพันธ์ผ่านทางผู้แทนทางการทูตระหว่างรัฐ ซึ่งรัฐในยุคปัจจุบันจำต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากฎเกณฑ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ผ่านผู้แทนทางการทูตที่มีมาแต่เดิม

 

บันทึกโดย นางสาว นฤตรา ประเสริฐศิลป์
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาบัณฑิตสาขากฎหมายระหว่างประเทศ
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 57 เวลา. 17.55 น.

 

[1] Eileen Denza.Diplomatic Law A Commentary on the Vienna Convention on Diplomatic Relations. 2nd edition.New York : Clarendon press,1998.

[2] Malcolm N. Shaw. International law.6th edition. New York : Cambridge University Press,2008.pp.750-752

[3]James Crawford. Brownlie’s principles of public international law.8th edition. Oxford University Press : UK, 2012.p.395

[4] Michael Hardy. Modern Diplomatic Law. Oxford: Manchester University Press,1968.pp.1-2.

[5]องค์ความรู้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC). “AEC คืออะไร.” http://www.thai-aec.com/41. 26 ก.พ.57



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท