ต่อสู้กับขีดจำกัด: ขอบเขตของการนิยาม “การทูต” และ “งานทางการทูต” ในปัจจุบัน


ต่อสู่กับขีดจำกัด: ขอบเขตของการนิยาม “การทูต” และ “งานทางการทูต” ในปัจจุบัน

 

ความเห็นของผู้เขียนต่อขอบเขตของการทูตในปัจจุบัน ในประเด็นเรื่อง การนิยามคำว่า “การทูต” และ “งานทางการทูต” ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ในยุคปัจจุบัน

โดย นายธนภัทร ชาตินักรบ

 

บทความเพื่อการถอดบทเรียนวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขียนเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๒๐.๒๑ น.

แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๔๖ น.

http://www.gotoknow.org/posts/561246

https://www.facebook.com/notes/thanapat-chatinakrob/ต่อสู้กับขีดจำกัด-ขอบเขตของการนิยาม-การทูต-และ-งานทางการทูต-ในปัจจุบัน/819945724697578

----------------------------------------------------------------------

 

--------------------------------------

๑. บทนำ

--------------------------------------

 

            บันทึกฉบับนี้ ผู้เขียนต้องการนำเสนอความหมายของ “การทูต” ในปัจจุบันว่า มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยขอเปรียบเทียบขอบเขตของการทูตซึ่งผู้เขียนแบ่งกลุ่มด้วยตนเอง ออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ (๑) การทูตดั้งเดิม (๒) การทูตสมัยใหม่ และ (๓) การทูตก้าวหน้า???: การทูตภาคประชาชน

            อนึ่ง ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจในการทำบันทึกฉบับนี้มาจากการศึกษาวิชาปัญหากฎหมายการทูตและการกงสุล ภายใต้หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบกับการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน และผ่านการไตร่ตรองจากประสบการณ์ของผู้เขียน จนเกิดมาเป็นบันทึกฉบับนี้ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

 

--------------------------------------

๒. การทูตดั้งเดิม

--------------------------------------

 

            เนื่องด้วย ผู้เขียนไม่สามารถให้คำนิยามได้เองอย่างชัดเจนมากนัก จึงขอหยิบยกนิยามความเป็นการทูตและขอบเขตงานด้านการทูตโดยสรุปจากหนังสือเรื่อง “การทูตและการระหว่างประเทศ” ของท่าน ศ.ดร.อรุณ ภาณุพงศ์ซึ่งเขียนไว้ในโครงการบรรยายพิเศษ ดิเรก ชัยนาม ปี ๒๕๒๙ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ โดยได้รับอุปการคุณมาจากพี่หมี ชญา ภัทราชัย ต้องขอขอบคุณพี่หมี มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

๒.๑ ความหมายของการทูตดั้งเดิม [๑] 

            สำหรับความหมายของการทูต ที่ให้ไว้โดยศ.ดร.อรุณ ภาณุพงศ์นั้น แบ่งออกเป็น ๒ ความหมาย

            ความหมายอย่างกว้าง หมายความคลุมถึงการต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการดำเนินการในทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งอาจไม่จำกัดเฉพาะงานของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น

            ความหมายอย่างแคบ หมายถึง การดำเนินการโดยใช้การเจรจาและวิธีการชักจูง เพื่อที่จะให้ประเทศอื่นยอมรับท่าทีนโยบายของเรา เฉพาะงานของกระทรวงการต่างประเทศเป็นหลัก

 

๒.๒ ขอบเขตของงานการทูตดั้งเดิม [๒] 

            งานการทูตหมายถึง งานการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งงานในทางการเมืองเพื่อรักษาประโยชน์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ และมีเรื่องทางเทคนิค เช่น เรื่องของวิทยาศาสตร์ ปรมาณู การสาธารณสุข ประมง ป่าไม้ ศาสนา เป็นต้น รวมอยู่ในเรื่องของงานการทูตด้วย หากมีการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศอยู่ด้วย เช่น ผ่านการกระชุมในทางระหว่างประเทศต่างๆ โดยสามารถแยกงานทางการทูตที่สำคัญออกได้เป็น ๔ ประการด้วยกัน ได้แก่

            ๑) งานด้านการเป็นตัวแทนของประเทศ ซึ่งหมายถึง การเป็นตัวแทนของประเทศในส่วนรวม ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาติ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในทางพิธีการและทางสังคม รวมถึงงานด้านเกียรติภูมิของประเทศ ซึ่งหมายถึงการรักษาเกียรติภูมิของประเทศ หากเกียรติภูมิของประเทศถูกเข้าใจไปในทางที่ผิด ก็มีหน้าที่ต้องชี้แจงว่า เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ได้รับการยอมรับนับถือและความเชื่อถือจากต่างประเทศ

            หากมองในแง่การเมือง ผู้ที่เป็นตัวแทนมีหน้าที่ต้องอธิบายหรือทำให้ประเทศอื่นเข้าใจ และหากเป็นไปได้ให้ประเทศนั้นๆสนับสนุนนโยบายหรือการดำเนินการของประเทศของเรา หากมีความขัดแย้ง ก็ต้องพยายามที่จะปกป้องหรือรักษานโยบายของประเทศของะเราให้ประเทศอื่นยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นการประชุมในระดับองค์การระหว่างประเทศซึ่งมักจะเป็นการประชุมทางเทคนิค ไม่ว่าผู้แทนจะไปจากหน่วยงานใด ก็ต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนทางการทูต และเป็นตัวแทนของประเทศ ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่แทนหน่วยงานนั้นๆ

            ๒) งานด้านการเจรจาทางการทูต เป็นหัวใจสำคัญของงานทางการทูต จนมีคำกล่าวว่า “การทูตนั้นเป็นวิทยาการและศิลปของการเจรจา” ซึ่งการเจรจานั้น ไม่แค่เป็นเพียงการพูดจาเฉยๆ หรือการอภิปรายโต้เถียงกัน แต่เป็นกระบวนการติดต่อระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย การตั้งข้อเสนอของแต่ละฝ่าย และการต่อรอง หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ สิทธิหน้าที่และพันธะกรณีบางประการ เพื่อให้บรรลุถึงความตกลง บางครั้งการเจรจาก็ไม่ได้อาศัยหลักกฎหมาย หรืออาศัยข้อคารมมาเป็นเกณฑ์ แต่สิ่งสำคัญคือ การทำให้เขายอมตามเรา ไม่ว่าจะด้วยหนทางใดก็แล้วแต่  และการเจาจามิใช่ว่าทุกครั้งทุกประเทศกระทำกันเพื่อให้บรรลุการตกลงเสมอไป เพราะบางครั้งอาจหวังผลข้างเคียงอื่น (side effect) ซึ่งหมายถึง การต้องการเปิดช่องว่างในการติดต่อไว้เท่านั้นเอง หรือเพียงต้องการจะทราบเรื่องเพื่อที่ต้องการรู้เรื่องบางประการเท่านั้น หรือแม้แต่ การเจรจาซึ่งเป็นกลลวงเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือโลกภายนอกเห็นว่า ตนเองเป็นฝ่ายรักสงบ และผลักภาระเรื่องการปฏิเสธ

            งานเจรจาอาจทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือหนังสือด้วยก็ได้ หรือบางครั้งอาจมีการบันทึกในรูปแบบต่างๆ เช่น บันทึกช่วยจำ โทรเลข บันทึกภาพและเสียง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความสำคัญของการเจรจาด้วย นอกจากนั้น การเจรจามักใช้กันในกรณีที่มีการขัดแย้งกัน ต้องการความร่วมมือ ต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษจากการติดต่อที่มีอยู่แล้ว ต้องการผลประโยชน์ร่วมกัน หรือ เพื่อผลข้างเคียงซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะมาก

            ๓) งานด้านการข่าวสาร ซึ่งหมายถึง ต้องมีการข่าวสารเข้ามามากกว่าการข่าวสารออก ได้แก่ การที่เราเอาข่าวในประเทศออกไปนอกประเทศซึ่งหมายถึงการประชาสัมพันธ์ประเทศ การข่าวสารยังหมายรวมถึงการหาข่าวสาร หรือใช้ข่าวสารเพื่อประกอบการกำหนดและการดำเนินนโยบาย ซึ่งเป็นอีกงานด้านการทูตที่สำคัญมาก เพราะเป็นวัตถุดิบของการดำเนินนโยบายและการตัดสินใจ

            การหาข่าวที่เป็นงานการทูต แตกต่างจากการให้ข่าวสารตามหนังสือพิมพ์ วิทยุ อินเตอร์เน็ท เนื่องจากผู้ที่ให้ข่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ และอินเตอร์เน็ท กับผู้ให้ข่าวในฐานะที่เป็นงานการทูต ย่อมมองแตกต่างกันออกไปและมีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือแตกต่างกัน นอกจากนั้น คำว่า “ข่าว” ในแง่การทูตนั้น แบ่งได้หลายประเภท เช่น ข่าวเกี่ยวกับสภาพการณ์ ซึ่งหมายถึงข้อมูลต่างๆทุกๆด้านเกี่ยวกับประเทศ ข่าวสารเกี่ยวกับบุคคลสำคัญๆของต่างประเทศ ข่าวสารประเภทสถานการณ์ซึ่งหมายถึง ความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวภายในประเทศ เพื่อการประเมินความสงบและความมั่นคงประเทศประเทศรวมไปถึงการเคลื่อนไหวต่างๆของสถานการณ์ของตัวบุคคล โดยเอามาจากตัวบุคคลที่น่าเชื่อถือ จากสื่อมวลชน จากเอกสารที่มีการพิมพ์เผยแพร่ รวมไปถึงจากการสังเกตการณ์ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องผ่านการรวบรวม ประเมิน วิเคราะห์ รายงานด้วยก่อนที่จะออกมาเป็นข่าวสารที่นำเสนอต่อไป

            ๔) งานด้านการคุ้มครอง ปกปักรักษา และส่งเสริมผลประโยชน์ของคนในชาติ และของประเทศในส่วนรวม ซึ่งเป็นเรื่องการคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนชาติในต่างประเทศและประโยชน์ของคนส่วนรวม เนื่องจากมีคนที่ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการคุ้มครองประโยชน์ของคนเหล่านั้น ซึ่งหมายถึง ประโยชน์ทั่วไปของประเทศ ประโยชน์ที่มีอยู่ตามกฎหมาย ประโยชน์ที่มีอยู่ตามสนธิสัญญา และประโยชน์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง

 

--------------------------------------

๓. การทูตสมัยใหม่

--------------------------------------

 

            เพื่อความถูกต้องของข้อมูลและให้สอดรับกับความเป็นจริงของการทูตสมัยใหม่ ผู้เขียนขอหยิบยกประเด็นเรื่องการทูตสมัยใหม่จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในงานด้านการทูต ในมุมมองที่มองต่อการทูตปัจจุบันจากวิสัยทัศน์และพันธกิจ ประกอบกับนโยบายการต่างประเทศของประเทศไทยเพื่อให้เห็นงานด้านการทูตอย่างแท้จริง

 

๓.๑ ความหมายของการทูตสมัยใหม่  

            ผู้เขียนเห็นว่า วิสัยทัศน์และพันธกิจ กระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึง การนิยามการทูต ในปัจจุบันของประเทศไทยว่ามอง “การทูต” เป็นอย่างไร ดังจะหยิบยกได้ดังต่อไปนี้[๓]

 

            วิสัยทัศน์ 

            “เป็นองค์กรนำในการเสริมสร้างสถานะและบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศอย่างมีเกียรติและสมศักดิ์ศรี ทั้งทางด้านเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง ศักยภาพความเจริญทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางสังคม ตลอดจนนำโอกาสจากกระแสโลกาภิวัตน์มาสู่สังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

            พันธกิจ 

            ๑) ปกป้อง รักษา และส่งเสริมสถานะและผลประโยชน์ของไทยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

            ๒) เป็นตัวแทนรัฐบาลในการเจรจาระหว่างประเทศ

            ๓) ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ นโยบาย และกลยุทธ์ด้านการต่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ

            ๔) สร้างนักการทูตที่มีจิตสำนึกและมีความเข้าใจสังคมไทย ตลอดจนมีความเชี่ยวชาญและรอบรู้ในด้านต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนในการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยในต่างประเทศ

            ๕) ให้ความคุ้มครอง ส่งเสริม และดูแลสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ ตลอดจนการให้บริการแก่ประชาชนด้านการกงสุล

            ๖) ให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนทั้งในประเทศและต่าง ประเทศเกี่ยวกับการดำเนินงานเชิงรุกด้านการต่างประเทศของไทยที่เป็นผล ประโยชน์แห่งชาติ และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทยให้ประชาคมโลกได้รับทราบ

            ๗) ดำเนินงานเกี่ยวกับพิธีการ ระเบียบแบบแผน ที่สนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ

            ๘) บูรณาการและประสานการดำเนินภารกิจต่างประเทศกับทุกภาคส่วน

            ๙) ดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

 

            จากการพิจารณาจากวิสัยทัศน์และพันธกิจของกระทรวงการต่างประเทศแล้วนั้น ผู้เขียนพอจะสรุปได้ว่า การให้นิยามความหมายของคำว่า “การทูต” ของกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน ยังอยู่ในขอบเขตของการเป็นตัวแทนของประเทศในการเจรจาในทางระหว่างประเทศ (จากข้อ ๒ ของพันธกิจ) ในลักษณะของความหมายอย่างกว้างตามแนวของการทูตดั้งเดิม ซึ่งเป็นความหมายที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “กระทรวงการต่างประเทศ” เท่านั้น แต่หมายรวมถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลในการเจรจาในระดับระหว่างประเทศ เพื่อปกป้อง รักษา และส่งเสริมสถานะและผลประโยชน์ของประเทศในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (จากข้อ ๑ ของพันธกิจ) ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานราชการใดๆที่กระทำในฐานะของตัวแทนประเทศไทยในการเจรจาในระดับระหว่างประเทศ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น แต่ให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นสื่อกลางและเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการนำในเวทีระหว่างประเทศ (จากวิสัยทัศน์)

            ทั้งนี้ ท่านศ.ดร.อรุณ ภาณุพงศ์ได้กล่าวไว้เช่นกันในส่วนของมิติทางการทูตในปัจจุบันว่า เป็นการทูตแผนใหม่ ที่แบ่งการทูตเรื่อง การทูตโดยตัวบุคคล (Personal diplomacy) ออกเป็น ๓ ประเภท [๔]

            (๑) การทูตโดยผู้รับผิดชอบทางด้านบริหารที่สูงที่สุด (Summit diplomacy) มีการใช้เป็นครั้งแรกโดย วินสตัน เชอร์ชอล โดยเห็นว่า เป็นการทูตโดยตัวบุคคลที่รับผิดชอบด้านการบริหารสูงที่สุดซึ่งในประเทศไทย ได้แก่ นายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ดี การทูตโดยผู้รับผิดชอบทางด้านบริหารที่สูงสุดนี้ มีจุดอ่อนอยู่มาก  เพราะเงื่อนไขของความสำเร็จอยู่ที่การเตรียมการ ซึ่งหากมีการประชุมและเตรียมตัวไม่ดี ก็อาจเกิดผลเสียขึ้นได้

            (๒) การทูตในระดับรัฐมนตรี (Sub-Summit diplomacy) หมายถึง การทูตในระดับรัฐมนตรีซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทางการทูต ซึ่งมีปัญหาพอสมควรในเรื่องของการไปราชการยังต่างประเทศ ที่ต้องอาศัยการเตรียมการและทีมงานประจำที่แข็งมาก และนอกจากนั้น รัฐมนตรีอื่นๆที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องมีการประชุมด้วย เพื่อเจรจาหาข้อสรุปร่วมกัน

            (๓) การทูตเฉพาะกิจ (Ad  hoc diplomacy) เป็นการทูตเฉพาะที่บุคคลได้รับมอบหมายโดยเฉพาะเจาะจงให้ไปทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งบุคคลดังกล่าวอาจไม่ได้ดำรงตำแหน่งนักการทูตโดยทั่วไป

            โดยสรุป จึงอาจกล่าวได้ว่า การทูตสมัยใหม่ นอกจากจะหมายถึง ตัวแทนประเทศในการเจรจาในระดับระหว่างประเทศในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศแล้วนั้น ยังรวมถึงบุคคลต่างๆที่ทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเจรจาในระดับระหว่างประเทศซึ่งไม่จำกัดอยู่ในเฉพาะส่วนของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น และรวมถึงการทูตโดยตัวบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ในทางการบริหารหรือเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่ในการเจรจาในระหว่างประเทศ

 

๓.๒ ขอบเขตของงานการทูตสมัยใหม่  

            หากจะค้นหาขอบเขตของงานด้านการทูตในปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังทำและให้ความสำคัญ ต้องพิจารณาจากนโยบายด้านการต่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ควรพิจารณาจากนโยบายการต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นหลัก

 

            นโยบายการต่างประเทศ [๕]

            ๑. เร่งส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่งเสริมความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและความใกล้ชิดระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน การส่งเสริมการท่องเที่ยว การขยายการคมนาคมขนส่ง และความร่วมมือด้านอื่นๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน

            ๒. สร้างความสามัคคีและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนและส่งเสริมความร่วมมือกับ ประเทศอื่นๆ ในเอเซียภายใต้กรอบความร่วมมือด้านต่างๆ และเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และความมั่นคง

            ๓. เสริมสร้างบทบาทที่สร้างสรรค์และส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติในองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเวทีสหประชาชาติและองค์กรระดับภูมิภาคต่างๆ เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคง ส่งเสริมกระบานการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนร่วมมือในการแก้ไขประเด็นปัญหาข้ามชาติทุกด้านที่ส่งผลกระทบต่อความ มั่นคงของมนุษย์

            ๔. กระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศ กลุ่มประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลก เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในประเทศไทย พร้อมกับการสร้างภูมิคุ้มกันและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย

            ๕. สนับสนุนการเข้าถึงในระดับประชาชนของนานาประเทศพร้อมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ประชาชน รัฐบาล และประชาคมระหว่างประเทศ มีทัศนคติในทางบวกต่อประชาชนและประเทศไทย

            ๖. ส่งเสริมการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงในโลกที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เพื่อก่อให้เกิดฉันทามติในการกำหนดนโยบายและดำเนินนโยบายต่างประเทศ

            ๗. สนับสนุนการทูตเพื่อประชาชน คุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทย ดูแลคนไทยและแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่ประกอบอาชีพละมีถิ่นฐานในต่างประเทศ ส่งเสริมบทบาทและความแข็งแกร่งของชุมชนชาวไทยในการรักษาเอกลักษณ์และความเป็นไทย

            ๘. ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายคมนาคมขนส่งในภูมิภาคอาเซียนและอนุภูมิภาค ให้เป็นประโยชน์ต่อการขยายฐานเศรษฐกิจทั้งการผลิตและการลงทุน โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่อยู่ตามแนวระเบียง

            ๙. ประสานการดำเนินงานของส่วนราชการในต่างประเทศ ตามแนวทางนโยบายทีมประเทศไทยเพื่อให้การดำเนินงานด้านการต่างประเทศมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีคุณภาพ

            ๑๐. ส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศมุสลิมและองค์กรอิสลามระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าประเทศไทยกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ในฐานะปัญหาภายในประเทศที่มีความสำคัญด้วยหลักการตามแนวพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

 

            เมื่อพิจารณาจากขอบเขตของนโยบายการต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า ยังมีรูปแบบของการทูตดั้งเดิมอยู่ในงานด้านการทูตสมัยใหม่พอสมควร โดยผู้เขียนขอจัดกลุ่มโดยอิงงานการทูตแบบดั้งเดิมไว้ ดังนี้

            ๑) งานด้านการเป็นตัวแทนของประเทศ ได้แก่ ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ประชาชน รัฐบาล และประชาคมระหว่างประเทศ มีทัศนคติในทางบวกต่อประชาชนและประเทศไทย (ข้อ ๕) ประสานการดำเนินงานของส่วนราชการในต่างประเทศ (ข้อ ๙)

            ๒) งานด้านการเจรจาทางการทูต ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน (ข้อ ๑) การสร้างความสามัคคีและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน (ข้อ ๒) เสริมสร้างบทบาทที่สร้างสรรค์และส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติในองค์การระหว่างประเทศ (ข้อ ๓) กระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศ กลุ่มประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลก (ข้อ ๔) ส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศมุสลิมและองค์กรอิสลามระหว่างประเทศ (ข้อ ๑๐)

            ๓) งานด้านการข่าวสาร ได้แก่ สนับสนุนการเข้าถึงในระดับประชาชนของนานาประเทศ (ข้อ ๕) ส่งเสริมการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงในโลกที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย (ข้อ ๖) สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าประเทศไทยกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย (ข้อ ๑๐)

            ๔) งานด้านการคุ้มครอง ปกปักรักษา และส่งเสริมผลประโยชน์ของคนในชาติ และของประเทศในส่วนรวม ได้แก่ สนับสนุนการทูตเพื่อประชาชน คุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทย ดูแลคนไทยและแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่ประกอบอาชีพละมีถิ่นฐานในต่างประเทศ (ข้อ ๗) ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายคมนาคมขนส่งในภูมิภาคอาเซียนและอนุภูมิภาค ให้เป็นประโยชน์ต่อการขยายฐานเศรษฐกิจทั้งการผลิตและการลงทุน (ข้อ ๘)

            สังเกตได้ว่า ขอบเขตของงานด้านการทูตนั้นยังอยู่ในขอบเขตของการทูตดั้งเดิมอยู่พอสมควร เพียงแต่จะมีการเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเน้นในเรื่องของงานด้านการเจรจาทางการทูต และงานด้านการข่าวสาร ซึ่งจะให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะสังเกตได้ว่า งานด้านการทูตยังจำกัดขอบเขตเฉพาะเรื่องในทางระหว่างประเทศและทำโดยบุคคลที่เป็นตัวแทนจากประเทศเท่านั้น

 

--------------------------------------

๔. การทูตก้าวหน้า???: การทูตภาคประชาชน

--------------------------------------

 

            เป็นที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมากว่า การทูตก้าวหน้ามีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการเจรจาเท่านั้น ก่อนที่จะอ่านเนื้อหาในส่วนนี้ คงต้องเปิดใจให้กว้างสักเล็กน้อย เพื่อดึงออกมาจากกรอบของการทูตแบบที่ยึดติดอยู่กับนักการทูตหรือบุคคลที่มีการเจรจาในระดับระหว่างประเทศเท่านั้น

            อนึ่ง ผู้เขียนไม่ได้สนับสนุนหรือต่อต้านแนวคิดทางการทูตก้าวหน้า เพียงแต่ขอนำเสนอมุมมองอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งมีการพูดถึงพอสมควรในปัจจุบัน กล่าวคือ การทูตก้าวหน้า หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การทูตภาคประชาชน [๖]

            การทูตภาคประชาชน (public diplomacy หรือ people to people diplomacy) เป็นรูปแบบหนึ่งของการเจรจาเพื่อการสร้างสัมพันธ์ที่ดีในระหว่างประเทศซึ่งเน้นการสื่อสารกับภาคประชาชนในอีกประเทศหนึ่งหรือทั่วโลก เน้นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐผ่านสื่อสาธารณะ องค์กรเอกชน พรรคการเมือง บริษัท ตัวแทนการค้า สหภาพแรงงาน สถาบันการศึกษา องค์กรทางศาสนา กลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งบุคคลที่มีอิทธิพล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ ดังนั้น การทูตภาคประชาชนจึงเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่รัฐให้การสนับสนุนหรือไม่ก็ได้ [๗]

            แนวคิดการทูตภาคประชาชนเน้น “นโยบายต่างประเทศที่ยึดติดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (population-centric foreign affairs)” ซึ่งถือว่าประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยในปี ๒๕๕๖ มีนโยบายที่จะเพิ่มบทบาทของการทูตภาคประชาชนให้มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาค โดยการดึงเอาภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชน เข้ามาสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศผ่านประชนชนของประเทศเหล่านั้น เพื่อเสริมสร้างการทูตแบบทางการ เช่น การส่งทูตกีฬา ทูตวัฒนธรรม หรือดนตรี ไปแสดงตามประเทศต่างๆ [๘]

            ยกตัวอย่างเช่น การลงพื้นที่ของผู้เขียนภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) ตามเกณฑ์ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ตามเกณฑ์สมศ. ที่ ๘ และ ๙ นั้น เป็นการดำเนินการในลักษณะทีเรียกว่า “การทูตภาคประชาชน” หรือไม่ (ผู้ที่สนใจโปรดดูเพิ่มเติมโครงการนี้ได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts/560504) ผู้เขียนขอแยกอธิบายดังนี้

            หากมองตามแนวของการทูตดั้งเดิมหรือตามแนวของการทูตสมัยใหม่ ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่เป็นเรื่องของการทูต แต่อาจมองเป็นเพียงการเจรจาอย่างหนึ่ง เนื่องจากไม่ได้กระทำในนามของเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของรัฐในการเจรจาในลักษณะที่เป็นระหว่างประเทศ รวมถึงไม่ใช่บุคคลที่ทำหน้าที่ในทางบริหาร

            แต่หากมองตามแนวของการทูตภาคประชาชน ซึ่งหากยอมรับว่ามีอยู่จริง ก็เป็นประเด็นที่น่าคิดว่า การลงพื้นที่ที่ผ่านมาเป็นการเจรจาทางการทูตภาคประชาชนหรือไม่ เนื่องจากมีการจัดทำเป็นโครงการที่มีรายละเอียดให้เห็นชัดเจน และมีวัตถุประสงค์หนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับท้องถิ่น อันได้แก่ พื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์ ควบคู่ไปกับการดำเนินงานของส่วนกลาง ได้แก่ ภาครัฐจากอำเภอ เทศบาล สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตาก ฯลฯ และจากภาคเอกชน ได้แก่ เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ ทั้งในส่วนของ องค์กรInternational Rescue Committee (IRC) องค์กร Save the Children องค์กร The Border Consortium (TBC) องค์กร Committee for Protection and Promotion of Child Rights (Burma) (CCPR) ฯลฯ เป็นต้น

 

--------------------------------------

๕. สรุป

--------------------------------------

 

            การนิยามความหมายของการทูตและการให้ขอบเขตของงานด้านการทูตในปัจจุบัน นับว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างยากและซับซ้อนพอสมควร เนื่องจาก หากมองการทูตให้แคบมากจนเกินไปถึงขนาดการทูตแบบดั้งเดิมเท่านั้นว่าเป็นการทูต ก็อาจเกิดปัญหาในเรื่องของระบบว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในยุคลโลกาภิวัตน์อย่างในปัจจุบันได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศล้าหลัง แต่ทั้งนี้ จะให้มองเกินไปมากนักถึงขนาดที่ว่า ทุกอย่างที่เป็นเรื่องของการเจรจาเป็นเรื่องการทางการทูตเสมอไป ก็อาจจะทำให้เรื่องของการทูตไม่มีขอบเขต และอาจไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างคำว่า “การทูต” และ “การเจรจา” ออกจากกันได้

 

 

[๑] อรุณ ภาณุพงศ์, การทูตและการระหว่างประเทศ, โครงการบรรยายพิเศษ ดิเรก ชัยนาม ปี ๒๕๒๙ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่สอง, พ.ศ. ๒๕๓๑, น. ๓.

 

[๒] เพิ่งอ้าง, น. ๑๒๙ – ๑๔๒.

 

[๓] กระทรวงการต่างประเทศ, นโยบายการต่างประเทศ: วิสัยทัศน์และพันธกิจ, สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗, จาก http://www.mfa.go.th/main/th/policy/9867-วิสัยทัศน์และพันธกิจ.html

 

[๔] อรุณ ภาณุพงศ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๑, น. ๑๒๒ – ๑๒๗.

 

[๕] กระทรวงการต่างประเทศ, นโยบายการต่างประเทศ: วิสัยทัศน์และพันธกิจ, สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗, จาก http://www.mfa.go.th/main/th/policy/9868-นโยบายการต่างประเทศ.html

 

[๖] เสาวภา พรสิริพงษ์, “การทูตภาคประชาชน: จากพรมแดนรัฐชาติสู่พรมแดนวัฒนธรรม” Journal of Mekong Societies, ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ กันยายน – ธันวาคม ๒๕๕๖, น. ๑๐๑ – ๑๒๒.

สุภาสินี ขมะสุนทร, รายงานการศึกษาส่วนบุคคล เรื่อง การทูตรัฐสภากับการกอบกู้วิกฤติศรัทธาไทย, ในการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริการการทูต รุ่นที่ ๒ ปี ๒๕๕๓ จากสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ, น. ง. – ซ.

จีระ หงส์ลดารมภ์, เปิดบันทึก Chira – การทูตภาคประชาชน, สืบค้นเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗, จาก http://www.gotoknow.org/posts/373216

 

[๗] เสาวภา พรสิริพงษ์, เพิ่งอ้าง, น. ๑๐๖.

 

[๘] เสาวภา พรสิริพงษ์, เพิ่งอ้าง, น. ๑๐๖ – ๑๐๗.

หมายเลขบันทึก: 561246เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2014 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2014 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท