มุมมองทางการทูตและทางการกงสุลจากการลงพื้นที่ ณ อำเภอแม่สอดและอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก


มุมมองทางการทูตและการกงสุลจากการลงพื้นที่ ณ อำเภอแม่สอดและอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

 

มุมมองทางการทูตและทางการกงสุลจากการลงพื้นที่ ณ อำเภอแม่สอดและอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖ 

โดย นายธนภัทร ชาตินักรบ

 

บทความเพื่อการถอดบทเรียนวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล

ตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขียนเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๒.๑๑ น.

แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๔๙ น.

http://www.gotoknow.org/posts/560504

https://www.facebook.com/notes/thanapat-chatinakrob/มุมมองทางการทูตและทางการกงสุลจากการลงพื้นที่-ณ-อำเภอแม่สอดและอำเภออุ้มผาง-จังหวั/812703755421775

----------------------------------------------------------------------

 

 --------------------------------------

๑. บทนำ

--------------------------------------

 

            บันทึกฉบับนี้  ผู้เขียนต้องการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับกฎหมายการทูตและกฎหมายทางกงสุลจากการพื้นที่เพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และสภาพปัญหาผู้ด้อยโอกาสซึ่งเป็นคนชาติพันธุ์ข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนตะวันตกของประเทศไทย ณ จังหวัดตาก

            อนึ่ง การลงพื้นที่ในครั้งที่ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย ในฐานะของคณะทำงานกลุ่มทำงานนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการสังเกตและศึกษาวิธีการดำเนินงานของทีมคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทำงานจากโรงพยาบาลอุ้มผาง คณะทำงานจาก International Rescue Committee (IRC) คณะทำงานจาก Save the Children คณะผู้ร่วมเสวนาในพื้นที่อำเภออุ้มผางและอำเภอแม่สอดซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ รวมไปถึงการทำงานของนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

 

--------------------------------------

๒. มุมมองทางการทูตและการกงสุล

--------------------------------------

 

            ๒.๑ การลงพื้นที่วันที่หนึ่ง (๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗): การประชุมซักซ้อมแผนการทำงานระหว่างคณะนักวิจัยและเจ้าหน้าที่จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยอ.แหวว (รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร) คณะทำงานจากโรงพยาบาลอุ้มผาง นำโดยหมอตุ่ย (นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์) และพี่แมว (นางสาวจันทราภา จินดาทอง) คณะทำงานจาก IRC นำโดยพี่เย๊าะ นางสาวคอรีเยาะ มานุแช ในการซักซ้อมและสื่อสารความเข้าใจกับนักศึกษาระดับชั้นปริญญาโท และปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ร้านขนมจีนขยุ้มคุณน้อย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

 

            การซักซ้อมแผนการทำงาน เริ่มจากการที่อ.แหววได้เปิดเจรจาเพื่อทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่ทางการทูตและการกงสุลกับนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาตรี ว่ามีวัตถุประสงค์หลักอยู่ ๓ ประการ

            (๑) เปิดโลกกว้าง ซึ่งหมายถึงการเปิดหูเปิดตาต้อนรับสิ่งใหม่ๆที่จะเข้ามาในชีวิต

            (๒) สนุก แม้ว่าเราจะลงพื้นที่เพื่อทำวิจัยและการเรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และสภาพปัญหาผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ชายแดนบริเวณจังหวัดตากก็ตาม แต่ก็ต้องสนุกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า

            (๓) รับใช้ประชาชน เมื่อเราเป็นนักศึกษา มีความรู้จากการเรียนในห้องเรียนแล้วนั้น ก็ถึงเวลาที่จะนำความรู้ในห้องเรียนมาใช้ในชีวิตจริงเพื่อช่วยเหลือประชาชน คนผู้ด้อยโอกาสซึ่งยังมีอยู่มากในสังคม เพื่อออกกำลังสมอง กระตุ้นความคิดให้เกิดการพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

            หากถามว่าเป็นเรื่องของการทูตและการกงสุลอย่างไรนั้น คงต้องเปิดใจให้กว้างก่อนว่า ประเด็นเรื่องของการทูตและการกงสุลในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องระดับผู้แทนรัฐอีกต่อไป แต่เรื่องของการทูตสมัยใหม่ เป็นเรื่อง “การเจรจา” ซึ่งไม่ได้จำกัดว่า ต้องเป็นผู้แทนรัฐหรือไม่ สิ่งที่อ.แหววกำลังพยายามแสดงให้เห็นในชั้นนี้ คือ การส่งเสริมและกระตุ้นให้นักศึกษามีความรู้สึกว่าตนเองเป็นทูตซึ่งหมายถึง ผู้แทนหรือตัวแทนจากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการเป็นหน้าตาของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกไปภายนอก ซึ่งผู้เขียนถือว่าเป็นการกระตุ้นที่ประสบความสำเร็จจากการให้ความสนใจของนักศึกษาในการซักถามและแสดงความคิดเห็นในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ค่ายอุ้มเปี้ยมซึ่งจะกล่าวให้ทราบต่อไป

 

ขอบคุณภาพประกอบจากรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ขอบคุณภาพประกอบจากรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

 

             ๒.๒ การลงพื้นที่วันที่หนึ่ง (๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗): การเรียนรู้การจัดการสิทธิเด็กและเยาวชนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระ จังหวัดตาก นำโดยปลัดสันติ อินทนิล (ปลัดอำเภอผู้ดูแลพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม) และคุณอัจฉรา (เจ้าหน้าที่ LAC Manager) ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระ จังหวัดตาก

 

            พื้นที่เจรจาทางการทูตในส่วนนี้ เริ่มจากการที่คุณปลัดสันติแนะนำความเป็นมา ประวัติของพื้นที่พักพิงบ้านอุ้มเปี้ยมโดยสรุป ตลอดจนปัญหาต่างๆที่พบในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีทั้งเรื่องของปัญหาด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา การจัดทำทะเบียน การเดินทาง การประกอบอาชีพของผู้หนีภัยความตายในพื้นที่พักพิงดังกล่าว รวมไปถึงหน่วยงานที่เข้ามาจัดการปัญหาในภาพรวม ซึ่งมีทั้งภาครัฐและเอกชน

            แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วัตถุประสงค์หลักของการลงพื้นที่เพื่อวิจัยในครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้และการจัดการถึงปัญหาเฉพาะอันได้แก่ การจัดการสิทธิเด็กและเยาวชนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม ดังนั้น คณะผู้วิจัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมุ่งประเด็นในการซักถามข้อสงสัยถึงประเด็นเรื่องเด็กและเยาวชนในพื้นที่พักพิงดังกล่าว ในการนี้ คุณอัจฉรา เจ้าหน้าที่จาก LAC Manager ได้ให้คำตอบของคำถามและข้อสงสับเป็นหลัก

            ด้วยความเคารพ ในชั้นนี้ ผู้เขียนเห็นถึงพื้นที่ทางการเจรจาที่ค่อนข้างสำคัญมาก นั่นก็คือ ท่าทีและบทบาทการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ที่ให้ความรู้ได้ดีที่สุด คือ เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในพื้นที่นั้นที่มาจาก International Rescue Committee หรือ IRC เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยตรง มีการเตรียมเจรจากับคณะผู้วิจัยและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดีพอสมควร ทั้งนี้ เนื่องจากคุณปลัดสันติ อาจเกรงว่า ตนอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวไม่นานนัก จึงนำผู้เชี่ยวชาญจาก LAC Manager อย่างคุณอัจฉราเข้ามาเป็นผู้เจรจาเป็นหลักเพื่อให้ทีมผู้วิจัยและคณะนักศึกษาได้รับข้อมูลที่ถูกต้องอย่างเพียงพอ

            พื้นที่ในแง่ของการกงสุลในการซักถามในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม อยู่ในรูปของการให้ข้อมูลพื้นฐานถึงสิทธิตามกฎหมายทะเบียนราษฎร์ การรับรองสถานะบุคคลแก่ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่พักพิงฯ รวมไปถึงการดำเนินการของหน่วยงานราชการจากวิทยากรจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้คณะนักวิจัยและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทราบถึงขั้นตอนในทางปฏิบัติของรัฐบาล

นอกจากนั้น ผู้แทนจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากที่ได้รับคำแนะนำและแรงกระตุ้นเพื่อเปิดโลกทัศน์ สนุก และรับใช้ประชาชน จากอ.แหวว ในช่วงซักซ้อมแผนการทำงาน ณ ร้านขนมจีนขยุ้มคุณน้อย แล้วนั้น ก็สามารถแสดงบทบาทของความเป็นผู้แทนจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อย่างดีเยี่ยม

 

ขอบคุณภาพประกอบจากนางสาววาดน้ำ จันทร์พวง

ขอบคุณภาพประกอบจากนางสาววาดน้ำ จันทร์พวง

 

             ๒.๓ การลงพื้นที่วันที่หนึ่ง (๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗): ถอดบทเรียนการลงพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ระหว่างคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และนางสาวศิวนุช สร้องทอง (ผู้ช่วยวิจัย) ณ พื้นที่ทำกิจกรรม โรงแรมตูกะสู อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

 

            การสรุปงานและนำเสนอในครั้งนี้เป็นการถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันระหว่างทีมนักวิจัย นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาตรี จากการลงพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระ จังหวัดตาก แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่มเจรจาตามความสมัครใจ โดยใช้วิธีการระดมสมองและนำเสนอโดยตัวแทนของแต่ละวงเจรจา ซึ่งในชั้นของการนำเสนอ มีการนำเสนอวงเจรจาละ ๒ คน โดยที่จะเริ่มจากการนำเสนอความประทับใจ ๑ คน และนำเสนอข้อที่ควรปรับปรุง ๑ คน ผ่านการดำเนินรายการของพี่ปลาทอง (นางสาวศิวนุช สร้อยทอง) และสรุปปิดท้ายโดยอ.แหวว (รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร)

            สิ่งที่นักศึกษาในแต่ละกลุ่มเจรจานำเสนอ ต่างมุ่งไปสู่ข้อสรุปที่ได้มาจากการประเมินสถานการณ์ที่พบเห็นภายใต้ระยะเวลาจำกัดเพียงไม่กี่ชั่วโมง ดังนั้น จึงส่งผลให้มีการใส่ความคิดปรุงแต่งลงไปของนักศึกษา ซึ่งทำให้อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด ในการนี้ ท่านอ.แหววได้แนะนำให้นักศึกษาซึ่งมาทำงานในฐานะผู้แทนนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการเจรจากับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนว่า ไม่ควรด่วนตัดสินใจและหาข้อสรุปโดยทันที แต่ควรพิจารณาจากตลอดระยะเวลาในการลงพื้นที่ รวมไปถึงการติดตามผลภายหลังการลงพื้นที่ด้วย เพราะหากด่วนตัดสินใจ อาจเกิดความคลาดเคลื่อนในการนำเสนอข้อมูลออกไปภายนอก แต่ทั้งนี้ ในชั้นนี้ นักศึกษาควรจะสรุปสถานการณ์เด่นที่พบเห็นในแต่ละวันได้ว่าเป็นอย่างไรจากการเก็บข้อมูลในเบื้องต้น

            นอกจากนั้น ในระหว่างการถอดบทเรียน พี่ปลาทอง ได้เพิ่มวัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่ในครั้งนี้อีก ๑ ประการ นอกเหนือจากที่ท่านอ.แหววได้เสนอเรื่อง การเปิดโลกกว้าง สนุก และรับใช้ประชาชน กล่าวคือ ต้องการให้แบ่งปันประสบการณ์จากการลงพื้นที่ดังกล่าวให้ทราบกันโดยทั่วไปด้วย โดยอ.แหววได้เสริมว่า ควรประมวลภาพที่แต่ละคนประทับใจจากการลงพื้นที่ดังกล่าว

 

ขอบคุณภาพประกอบจากรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ขอบคุณภาพประกอบจากรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

 

             ๒.๔ การลงพื้นที่วันที่สอง (๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗): เสวนาวิชาการเพื่อปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กข้ามชาติด้อยโอกาสและครอบครัว นำโดยคณะนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อ.ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน และอ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภออุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

 

            พื้นที่ทางการทูตที่เกิดขึ้นในเช้าวันนี้ เริ่มจากการสรุปสถานการณ์สำคัญเกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยและผูกพันรัฐไทย ในการจัดการปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชนข้ามชาติจากพม่า โดยผ่าน ๑๕ กรณีศึกษาหลักและกรณีศึกษาในสถานการณ์เดียวกันที่เสนอโดยเจ้าของปัญหาเองและคนทำงานในภาคประชาสังคม ในชั้นนี้ ผู้เขียนได้เห็นการสรุปภาพรวมของเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทั้งหมดของการลงพื้นที่เพื่อทำวิจัยในครั้งนี้ภายในเวลาเพียง ๑ ชั่วโมง ประกอบกับได้พบเห็นเจ้าของปัญหาที่แท้จริงที่เข้ามารับฟังการเสวนาด้วย ประกอบไปด้วย คุณซันดาซึ่งเป็นคุณแม่น้องซันเมี๊ยะไมทา น้องโลตัสและคุณพ่อ รวมไปถึงคุณเอ คุณแม่ของน้องชินจัง และตัวแทนจากโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม โรงพยาบาลอุ้มผาง ผู้บังคับการกองร้อย ตชด. ๓๔๗ และหน่วยงานด้วยเอกชนมากมาย โดยที่การดำเนินการเสวนาในครั้งนี้ เป็นไปด้วยการดูแลของพี่แมว คุณจันทราภา จินดาทอง ในการให้ข้อมูลเบื้องต้นและจัดการเสวนาให้เป็นไปอย่างราบรื่น

            การเจรจาทางการทูตได้เกิดขึ้นภายในห้องเสวนาดังกล่าว หลังจากที่น้องแจ็ค เดินเข้ามาในห้อง เพื่อขอความช่วยเหลือจากนักวิจัยและคณะทำงาน ที่มีปัญหาเรื่องอยากเรียนต่อทางด้านวิชาชีพพยาบาล แต่ไม่สามารถเรียนต่อได้เนื่องจากไม่มีหนังสือรับรองการเกิด รวมไปถึงท่าทีของนายอำเภอและปลัดอำเภอ ตลอดจนท่าทีจากหน่วยงานทางภาคเอกชนอย่าง Save the Children

            พื้นที่ทางการกงสุลในห้องเสวนา คือการเจรจาเพื่อนำเสนอถึงกรณีศึกษาเพื่อช่วยเหลือปัญหาใน ๑๕ กรณีศึกษาผ่านการใช้กฎหมายการกงสุล เพื่อรับรองสิทธิในสถานะของบุคคล การใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และการปรับใช้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นกับกรณีศึกษา

            ผู้เขียนสังเกตได้ว่า เกิดความเปลี่ยนไปของบทบาทของนักศึกษาในห้องเสวนา สังเกตได้ว่า จะอยู่ในส่วนของการเก็บข้อมูลในการเสวนาเป็นจำนวนมาก โดยไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็นในชั้นนี้ อาจเป็นเพราะอยากรับฟังข้อมูลพื้นฐานในเบื้องต้นเพื่อการลงพื้นที่ในช่วงบ่าย

 

ขอบคุณภาพประกอบจากรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ขอบคุณภาพประกอบจากรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

 

             ๒.๕ การลงพื้นที่วันที่สอง (๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗): การรับฟังปัญหาความด้อยโอกาสจากเด็กและเยาวชน การเยี่ยมผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง (หมอตุ่ย คุณหมอวรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์) ณ โรงพยาบาลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

 

            การลงพื้นที่ในช่วงบ่ายของวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ เพื่อรับฟังปัญหาความด้อยโอกาสจากเด็กและเยาวชน ซึ่งมีการแบ่งออกเป็น ๓ คณะเดินทาง

            (๑) คณะที่ ๑ นำโดยรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ลงพื้นที่เยี่ยมผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ณ โรงพยาบาลอุ้มผาง เพื่อศึกษาปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชนข้ามชาติจากพม่าในพื้นที่การสาธารณสุข

            (๒) คณะที่ ๒ นำโดย อ.ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน ลงพื้นที่เยี่ยมนายอำเภออุ้มผาง ณ ที่ว่าการอำเภออุ้มผาง เพื่อศึกษาปัญหาความด้อยโอกาสจากเด็กและเยาวชนข้ามชาติจากพม่าในพื้นที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            (๓) คณะที่ ๓ นำโดย อ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา ลงพื้นที่เยี่ยมพื้นที่บ้านก้อเชอ ในประเทศเมียนมาร์ เพื่อศึกษาปัญหาความด้อยโอกาสเด็กและเยาวชนข้ามชาติจากพม่าในพื้นที่เศรษฐกิจ/คุณภาพชีวิต โดยได้ศึกษากรณีน้องแอสะโม่แคร

ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปกับคณะที่ ๑ ของท่านอ.แหวว ในการลงพื้นที่เยี่ยมผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ณ โรงพยาบาลอุ้มผาง เพื่อศึกษาปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชนข้ามชาติจากพม่าในพื้นที่การสาธารณสุข โดยในการนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมคลินิกกฎหมายอุ้มผาง ณ โรงพยาบาลอุ้มผางด้วย

            พื้นที่เจรจาทางการทูต เริ่มจากการเจรจาระหว่างทีมนักวิจัยจากธรรมศาสตร์ คืออ.แหวว (รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร) ในการเจรจากับผู้มีอำนาจหลักในการบริหารจัดการพื้นที่ คือ หมอตุ่ย นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง) ซึ่งมอบอำนาจหน้าที่ให้หัวหน้างานประกันสุขภาพ ได้แก่ พี่อู๊ด (นางนุตนาต วงษ์เจริญ) ผ่านนักกฎหมายในคลินิกกฎหมายอุ้มผาง ได้แก่ พี่แมว (นางสาวจันทราภา จินดาทาง) และพี่เวช (นายเวช ว่องไววาณิชย์) ซึ่งเน้นในเรื่องของสิทธิในสุขภาพ ผ่าน ๖ กรณีศึกษา ได้แก่ กรณีน้องชินจัง น้องซันเมี๊ยะมทา น้องโลตัส น้องแอฟ น้องแอสะโม่เคร และน้องเอวิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องชินจังที่ประสบปัญหาโรคขาปูด และขาดสิทธิในสุขภาพ ซึ่งท่านอ.แหวว ได้ลงมือเจรจาและดำเนินการโดยทันที ทั้งนี้ ได้มีการประสานงานให้กับพี่ยุ้ย (นางสาววรางคณา มุทุมูล) จาก Save the Children ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อซื้อหลักประกันสุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรี

            พื้นที่ทางการกงสุล เป็นการอธิบายถึงสิทธิพื้นฐานที่เด็กและเยาวชนพึงได้รับ เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องความด้อยโอกาสทางสุขภาวะ รวมไปถึงการดำเนินการให้เด็กได้รับรองสถานะทางทะเบียน ซึ่งเป็นการกล่าวถึงข้อกฎหมายที่ทั้งทางโรงพยาบาลอุ้มผาง และหน่วยงานเอกชนที่เข้ามาช่วยเหลือควรทราบ เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

            ผู้เขียนเห็นว่า การลงพื้นที่เจรจากับทางโรงพยาบาลอุ้มผางในครั้งนี้ค่อนข้างเกิดประโยชน์ เนื่องจากเป็นการทำความเข้าใจร่วมกันถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการใช้ข้อกฎหมายตามมา อีกทั้ง ในการนี้ ทางโรงพยาบาลอุ้มผางได้เชิญนักศึกษาแพทย์มาร่วมเวทีในการเจรจาด้วยในครั้งนี้

 

 

            ๒.๖ การลงพื้นที่วันที่สอง (๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗): ล้อมวงฟังคุณหมอตุ่ย นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ และคณะ เล่าเรื่องความฝันเกี่ยวกับคลินิกอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชนในโรงพยาบาลอุ้มผาง ณ ห้องประชุมโรงแรมตูกะสู อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

 

            เวทีนี้ ผู้เขียนไม่ขอเรียกว่าเวทีในการเจรจาทางการทูตและทางการกงสุลเสียทีเดียว แต่ขอหยิบยกช่วงเวลานี้ขึ้นมา เพราะเป็นช่วงของการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริง เป็นช่วงที่คณะทำงานจากโรงพยาบาลอุ้มผาง นำโดยคุณหมอตุ่ย นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง) พี่อู๊ด นางนุตนาถ วงษ์เจริญ (หัวหน้างานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลอุ้มผาง) พี่โอ๊ย (ฝ่ายสื่อสารกับชุมชนด้านองค์กร โรงพยาบาลอุ้มผาง) พี่แมว นางสาวจันทราภา จินดาทอง (นักจัดการงานทั่วไป โรงพยาบาลอุ้มผาง) และพี่เวช นายเวช ว่องไววาณิชย์ (นักกฎหมายคลินิกอุ้มผาง) ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ด้วยกันกับคณะนักวิจัยและนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาตรี

            จากการรับฟังโดยภาพรวม อำเภออุ้มผางเป็นอำเภอที่เงียบเหงามาก จนขนาดมีวลีเด็ดที่ว่า “เหงาจนได้ยินเสียงต้นหญ้างอก” แต่หากจะถามว่า ทำไมแม้เหงาขนาดนั้น เป็นที่ประหลาดใจว่าทำไมมีคนมาอาศัยและทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่ ผู้เขียนแนะนำว่า ให้ลองมาทำงานในพื้นที่แล้วจะรัก ผู้เขียนได้ยินประโยคหนึ่งของหมอตุ่ย ตอนพูดที่โรงพยาบาลอุ้มผางเมื่อช่วงบ่ายว่า “ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะสะใจเวลารักษาคนไข้หาย เขามาป่วยมาหาเรา เราก็ทำให้เค้ากลับไปได้อย่างปกติ” ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากกับการทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อสังคมของคุณหมอตุ่ยและทีมงาน

 

ขอบคุณภาพประกอบจากรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ขอบคุณภาพประกอบจากรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

  

            ๒.๗ การลงพื้นที่วันที่สาม (๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗): เสวนาวิชาการเพื่อปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กข้ามชาติด้อยโอกาสและครอบครัว ดำเนินการเสวนาโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุมโรงแรมควีนพาเลส อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

 

            การดำเนินการเสวนาในวันนี้ เป็นการเจรจาที่ยิ่งใหญ่มาก เนื่องจากประกอบด้วยคณะทำงานจำนวนมากจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ประกอบไปด้วย คณะนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ คณะนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทำงานจากโรงพยาบาลอุ้มผาง คณะทำงานจาก International Rescue Committee (IRC) คณะทำงานจาก Save the Children คณะทำงานจากภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลแม่สอด  อำเภอแม่สอด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตาก  สถานีตำรวจภูธรจังหวัดตาก เป็นต้น รวมไปถึงคณะทำงานจากภาคเอกชน เช่น CCPR มูลนิธิไลฟ์ อิมแพค สถานพักพิงบ้านทัศนีย์ เป็นต้น และคณะทำงานภาควิชาการด้วย

            พื้นที่เจรจาทางการทูต เริ่มด้วยการกล่าวถึงแนวคิดของการทำงานของโครงการวิจัยเพื่อสิทธิของเด็กข้ามชาติด้อยโอกาส โดยรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันก่อนที่จะเปิดการเจรจาต่อไป ตามด้วยการนำเสนอของคุณโรยทราย วงศ์สุวรรณ ผู้ประสานงานหลักจาก IRC ในการแสดงถึงแนวคิดเกี่ยวกับการทำงาน รวมไปถึงการสรุปข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชนข้ามชาติในด้านต่างๆ

            ความเข้มข้นของการเปิดพื้นที่ทางเจรจาทางการทูตเริ่มขึ้น เมื่อมีการส่งกรณีศึกษาเพื่อขอความช่วยเหลือระหว่างการเสวนาในครั้งนี้ จากสถานพักพิงบ้านทัศนีย์ และท่าทีจากหน่วยงานต่างๆที่สำคัญเริ่มชัดเจนในจุดยืนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากคณะทำงานของโรงพยาบาลแม่สอด หรือคณะทำงานจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตาก ดังนั้น บทบาทของนักวิจัยจากธรรมศาสตร์จึงต้องมีมากขึ้นเพื่อควบคุมการเสวนาให้เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

            พื้นที่ทางด้านการกงสุล เริ่มลงลึกในทางปฏิบัติมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการรับรองสถานะของเด็กและเยาวชน ซึ่งนำไปสู่เรื่องของการขาดหลักประกันในสุขภาพ การเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน ตลอดจนการรับมือกับปัญหาของการทอดทิ้งเด็ก หน่วยงานที่มีบทบาทโดยตรงในประเด็นดังกล่าว คงหนีไม่พ้น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีหน้าที่ประสานงานหลักหลายกรณี

            การเจรจาในรอบนี้ ค่อนข้างเป็นการเจรจาที่เป็นทางการมาก บทบาทของนักศึกษาระดับชั้นปริญญาโทและปริญญาตรีจึงทำหน้าที่ในการรับรองและเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ ทั้งข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ตลอดจนการดำเนินการต่างๆในทางปฏิบัติ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อหน่วยงานที่มาร่วมในการเสวนาในครั้งนี้

 

ขอบคุณภาพประกอบจากนางสาววาดน้ำ จันทร์พวง

ขอบคุณภาพประกอบจากนางสาววาดน้ำ จันทร์พวง

 

             ๒.๘ การลงพื้นที่วันที่สาม (๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗): แลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยรุ่นพี่ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่มีประสบการณ์ทำงานกับองค์การระหว่างประเทศในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ดำเนินการเสวนาโดยอ.ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน และนางสาวศิวนุช สร้อยทอง ณ สวนอาหาร อ.กุ้งเผา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

 

            การลงพื้นที่ในครั้งนี้ คณะนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาตรีได้มีโอกาสรับฟังประสบการณ์ทำงานจากศิษย์เก่าที่จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนมาก ทั้งที่อยู่ระหว่างการเรียนปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ที่ต่างประเทศแต่ลงพื้นที่เพื่อทำวิจัย รวมไปถึงรุ่นพี่ที่เข้ามาจากโครงการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) อีกทั้งยังได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นรวมถึงขั้นตอนในการทำงานในระบบของงานรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ ผ่านพี่โรยทราย วงศ์สุวรรณ และพี่เย๊าะ คอรีเยาะ มานุแช เล่าถึงงานของ IRC

            การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของรุ่นพี่ในครั้งนี้ อาจดูไม่เหมือนงานการทูตหรืองานกงสุลมากนัก แต่ผู้เขียนประทับใจและอยากแบ่งปันประสบการณ์ในส่วนนี้ให้ทราบโดยทั่วกัน

 

ขอบคุณภาพประกอบจากนางสาววาดน้ำ จันทร์พวง

ขอบคุณภาพประกอบจากนางสาววาดน้ำ จันทร์พวง

 

             ๒.๙ การลงพื้นที่วันที่สี่ (๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗): ถอดบทเรียนร่วมกันตลอดการลงพื้นที่เพื่อการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย-พม่า ณ อำเภอแม่สอดและอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และบ้านก้อเชอ ประเทศเมียนมาร์ร่วมกัน และชวนคุยเกี่ยวกับความฝันของแต่ละคน ระหว่างคณะนักวิจัย นักศึกษาปริญญาโท และนักศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุมย่อยโรงแรมควีนพาเลส อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

 

            การเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองในช่วงแรก เปิดโดยอ.ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน โดยให้นักศึกษาเล่าถึงความฝันและประสบการณ์ที่ได้รับจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ตามด้วยการดำเนินการเสวนาแบบเรียบง่ายโดยรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ในการนำทีมนักวิจัยและนักศึกษาแสดงความคิดเห็นต่อการจัดการการลงพื้นที่ในครั้งนี้พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการลงพื้นที่ในครั้งต่อไป และหลังจากนั้น คณะนักศึกษาจึงเดินทางเพื่อไปเรียนรู้วิถีชีวิตคนชาติพันธุ์ชายแดนตะวันตก และเรียนรู้การจัดการเด็กด้อยโอกาสของภาคประชาสังคมจังหวัดตาก

 

ขอบคุณภาพประกอบจากนางสาววาดน้ำ จันทร์พวง

ขอบคุณภาพประกอบจากนางสาววาดน้ำ จันทร์พวง

  

--------------------------------------

๓. สรุป

--------------------------------------

 

            ประเด็นเรื่องการทูตและการกงสุลในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก กล่าวคือ ไม่ได้จำกัดอยู่ในระดับเวทีระหว่างผู้แทนรัฐเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “การเจรจา” ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจะต้องเรียนรู้ที่จะแสดงบทบาทของตนเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ดังที่ท่านอ.แหววพร่ำสอนอยู่ตลอดเวลาว่า ให้พึงระลึกอยู่เสมอว่า เรากำลังทำอะไร ทำหน้าที่อะไร มีหน้าที่อะไรก็ต้องทำให้สมกับที่ได้รับมอบหมายมา

            ศาสตร์ของการเจรจาก็เป็นวิชาอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า “Science” ซึ่งประกอบด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้ (Knowledge)” และ “ความเป็นระบบ (Systematic)” ซึ่งหมายถึง การนำความรู้มาใช้อย่างเป็นระบบ การเจรจาก็เช่นกัน เมื่อเป็นวิชา การเจรจาจึงเป็นการนำความรู้ที่เราศึกษามาปรับใช้อย่างเป็นระบบในการลงพื้นที่จริง ซึ่งผู้เขียนมองว่า การเจรจา เป็นเรื่องของการใช้ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทยพม่า ซึ่งแม้นักศึกษาอาจยังไม่มีองค์ความรู้ที่เพียงพอในการปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้อย่างเป็นระบบ แต่ก็สามารถสรุปสถานการณ์เด่นในเบื้องต้นได้โดยการนำความรู้ที่มีอยู่มาใช้อย่างเท่าที่จะสามารถทำได้

หมายเลขบันทึก: 560504เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2014 00:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2014 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท