อนุทิน 134405


Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

การทูตเพื่อสาธารณสุข (Global health diplomacy)

 

          ความจำเป็นในการแก้ไขจัดการปัญหาด้านการสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบไปยังรัฐต่างๆอย่างไม่จำกัด ในขณะที่รัฐกลับมีความสามารถอย่างจำกัดในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐเพื่อการดำเนินการและแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุขซึ่งตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวนี้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  

          โดยหลักของความร่วมมือระหว่างรัฐเกิดขึ้นภายใต้การเจรจาระหว่างผู้แทนของรัฐ หรือการดำเนินงานทางการทูต ในความหมายของการเจรจาระหว่างผู้แทนของรัฐเพื่อนำไปสู่การก่อตั้งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในหลากหลายรูปแบบ ทั้งความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีและความสัมพันธ์ในระดับพหุภาคี จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการผนวกนโยบายการสาธารณสุขที่มีความสำคัญหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขจัดการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศของรัฐ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการทูตเพื่อการสาธารณสุข (Global Health Diplomacy) เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและการดำเนินการแก้ไขจัดการปัญหาการสาธารณสุขดังกล่าว รวมถึงเพื่อนำไปสู่การดำเนินงานด้านสาธารณสุขตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (the health-related Millennium Development Goals) ได้แก่ เป้าหมายในการต่อสู้โรคเอดส์ มาเลเรีย และโรคสำคัญอื่นๆ (Combat HIV / AIDS, malaria and other diseases) เป็นต้น

 

ความสัมพันธ์ระหว่างการทูตกับนโยบายด้านสาธาณสุขและแนวทางในการดำเนินการทูตเพื่อการสาธารณสุข

          การทูตเพื่อการสาธารณสุข (Global Health Diplomacy) หรือการผนวกประเด็นปัญหาด้านสาธารณสุขเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัฐ เป็นไปโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขกับนโยบายการต่างประเทศของรัฐที่ต่างสนับสนุนการดำเนินงานของกันและกัน ดังปรากฏในรายงานของสำนักเลขาธิการองค์การอนามัยโลกตามข้อมติที่ 63/33 โดยรัฐอาศัยการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุขเฉพาะเรื่องที่มาแต่เดิม กลายเป็นการดำเนินนโยบายการสาธารณสุขในลักษณะของการดำเนินนโยบายพื้นฐานของรัฐอันจะนำไปสู่พัฒนาการในทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงของรัฐ ขจัดความยากจนของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไปถึงการพัฒนาบริการทางสาธารณสุขอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญ  ในขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายการสาธารณสุขดังกล่าวส่งผลเป็นการขยายขอบเขตของการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ไม่จำกัดแต่เฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีมาแต่เดิม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงของรัฐในด้านต่างๆ อาทิ ความมั่นคงทางสังคมจากพัฒนาการบริการสาธารณสุข หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจจากการขยายตัวทางการค้าและการลงทุน เนื่องจากระบบการสาธารณสุขที่ดีและตอบสนองต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

          นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าวยังปรากฎแนวทางในการนำนโยบายด้านการสาธารณสุขเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศของรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ ได้แก่

          การกำหนดให้ปัญหาด้านการสาธารณสุขเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อความมั่นคงแห่งรัฐและความมั่นคงระหว่างประเทศ อาทิ กรณีของโรคไข้หวัด H1N1 ที่จำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคดังกล่าว อันเนื่องมาจากการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างเอกชนที่เป็นไปโดยง่ายดาย ประกอบการเดินทางของเอกชนระหว่างรัฐต่างๆ ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่รัฐอื่น  จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคดังกล่าว หรือ

          การให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือในการพัฒนาการสาธารณสุขของรัฐอื่นๆให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมระหว่างกัน โดยอาจให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขหรือให้ความช่วยเหลือทางด้านความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือบุคลากร รวมถึง

          การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานการดำเนินงานด้านสาธารณสุขร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมและผลักดันประเด็นปัญหาด้านสาธารณสุขต่างๆให้เป็นที่ตระหนักในการประชุมระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

 

กรอบความร่วมมือ Foreign Policy and Global Health Initiative

          นอกเหนือจากการดำเนินการภายใต้กรอบที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก (WHO) กรณียังมีกรอบความร่วมมือ Foreign Policy and Global Health Initiative ระหว่าง 7 ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ บราซิล ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย เซเนกัล แอฟริกาใต้และไทย ที่ให้ความสำคัญต่อการผลักดันให้เกิดการนำนโยบายการสาธารณสุขเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัฐ โดยเน้นที่การให้ความสำคัญต่อการสาธารณสุขพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเป็นไปอย่างเท่าเทียมกันซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานประการหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

          กลไกของการทูตเพื่อสาธารณสุขภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวนี้อาศัยการดำเนินนโยบายต่างประเทศหรือการทูตที่ขยายขอบเขตมากกว่าการเป็นผู้แทนของรัฐในการปกป้องประโยชน์ของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างรัฐและหน่วยงานขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาและการสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขร่วมกัน อันจะนำไปสู่ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความมั่นคงของรัฐในด้านอื่นๆ อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร (food security) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันในระหว่างรัฐอันเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศหรือการทูตของรัฐเช่นกัน

          ตัวอย่างของการทูตเพื่อการสาธารณสุขภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวนี้ ได้แก่ การสาธารณสุขในสถานการณ์ภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของภัยธรรมชาติหรือวิกฤตอย่างใดๆ โดยอาศัยความร่วมมือในทางการทูตระหว่างรัฐและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือเอกชนผู้ประสบภัยให้สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ อีกทั้งความร่วมมือระหว่างรัฐเพื่อช่วยเหลือในการฟื้นฟูระบบการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาใช้การได้อีกครั้ง ซึ่งการดำเนินงานต่างๆเหล่านี้จำต้องอาศัยการทูตในแง่ของความร่วมมือระหว่างรัฐผู้ประสบภัยและรัฐผู้ให้ความช่วยเหลือ ในความยินยอมที่จะให้ผู้แทนของรัฐอื่นรวมถึงเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศเข้าไปดำเนินการภายในรัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เอกชนผู้ประสบภัยดังกล่าว

          บทบาทที่สำคัญของไทยภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว คือ การผลักดันประเด็นเรื่องการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage - UHC) เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมและเป็นธรรมในทุกกลุ่มชนชั้นของสังคมอย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่เพียงแต่ประชาชนของรัฐที่จะได้ประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพ หากแต่ยังรวมถึงประโยชน์ในการลดความยากจน และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานของสหประชาชาติ  ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่อผลักดันประเด็นดังกล่าวนี้ในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ กิจกรรมคู่ขนานระหว่างการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific-ESCAP) เรื่อง Universal Health Coverage: sharing Thai experiences and driving UHC agenda และ กิจกรรมคู่ขนานเรื่อง Promoting the Right to Health through Universal Health Coverage ในระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council – HRC) สมัยที่ 23 ในวันที่ 29 พ.ค. 2556

 

บทส่งท้าย

          ความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุขโดยอาศัยกลไกของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศผ่านผู้แทนทางการทูตของรัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาด้านการสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบไปยังรัฐต่างๆอย่างจริงจัง ถือเป็นพัฒนาการในทางการทูตที่ไม่จำกัดแต่เฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐผ่านผู้แทนทางการทูตเพื่อปกป้องประโยชน์ของรัฐและให้ความคุ้มครองแก่คนชาติแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่เป็นการทูตในฐานะผู้แทนของรัฐในการเจรจาเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขจัดการปัญหาการสาธารณสุขซึ่งแต่ละรัฐต่างมีเป้าหมายในการดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทางสาธารณสุขร่วมกัน แนวทางเช่นนี้เองไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อประชาชนของรัฐที่จะได้รับบริการทางสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่ดีอย่างเท่าเทียม หากแต่ยังเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกด้านอย่างไม่จำกัด นับแต่พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของรัฐต่อไป

           

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

1. Ministers of Health of the Foreign Policy and Global Health (FPGH). “Ministerial Communique Foreign Policy and Global HealthInitiative Geneva.” http://www.regjeringen.no/pages/38338764/joint_communique_wha66.pdf.  21 May 2013

2.Secretary-General. “Global health and foreign policy: strategic opportunities and challenges.”Sixty-fourth session .Agenda item 123.Global health and foreign policy.23 September 2009.http://www.who.int/trade/foreignpolicy/FPGH.pdf?ua=1

3. WHO. “Foreign Policy and Global Health.” http://www.who.int/trade/foreignpolicy/en/

4.Ministers of Foreign Affairs of Brazil, France, Indonesia, Norway, Senegal, South Africa, and Thailand. “Oslo Ministerial Declaration—global health: a pressing foreign policy issue of our time.”http://www.who.int/trade/events/Oslo_Ministerial_Declaration.pdf?ua=1

5.กระทรวงการต่างประเทศ. “ประเทศไทยกับงานด้านสาธารณสุขในกรอบอาเซียน.”http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/other-20121203-163657-810094.pdf

6.กระทรวงการต่างประเทศ. “การทูตเพื่อสาธารณสุข (Health Diplomacy)”http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9897-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82-(Health-Diplomacy).html">http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9897-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82-(Health-Diplomacy).html

7.UNICEF Thailand. “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs).” http://www.unicef.org/thailand/tha/overview_5963.html

 

บันทึกโดย นางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 19 มี.ค.57 เวลา 21.50 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท