อนุทิน 133577


Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ (1)

 

          นอกเหนือจากหน่วยงานและกรมกองในกระทรวงการต่างประเทศ ยังพบว่ามีหน่วยงานราชการส่วนอื่นที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาทิ การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเฉพาะของต่างประเทศเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและแนวนโยบายในการดำเนินงานของประเทศไทย การเข้าร่วมการเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศเฉพาะด้านตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ รวมถึงการเป็นผู้แทนของหน่วยงานรัฐของประเทศไทยในการดำเนินความสัมพันธ์เฉพาะด้าน อาทิ ความสัมพันธ์ทางด้านการทหาร หรือเศรษฐกิจการเกษตร เป็นต้น ซึ่งอำนาจหน้าที่และบทบาทของหน่วยงานในส่วนราชการเหล่านี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของหน่วยงานของรัฐในส่วนอื่นที่เข้ามามีบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นตามการขยายตัวของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่จำกัดแต่เฉพาะด้านความมั่นคง หากแต่ยังรวมถึงความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้า รวมถึงความร่วมมืออื่นที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

 

1.หน่วยงานด้านการค้า : กระทรวงพาณิชย์

 

          1.1      กรมการค้าต่างประเทศ [1]

          กรมการค้าต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้ากับต่างประเทศ นับตั้งแต่การจัดระเบียบการนำเข้าส่งออกสินค้า ส่งเสริมและกำกับดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า – ส่งออก โดยการกำหนดมาตรฐานสินค้าส่งออกบางประเภทเพื่อควบคุมคุณภาพของสินค้าส่งออกให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดระหว่างประเทศ  อาทิ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ.๒๕๔๙ หรือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง พ.ศ. ๒๕๕๔ รวมถึงแก้ไขปัญหา อุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้าต่างๆ โดยดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและตอบโต้ทางการค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของภาคเอกชนของไทยในการค้ากับต่างประเทศ เช่น การดำเนินการบริหารโควตานำเข้าสินค้าเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อบริหารโควตาการนำเข้าเหล็กกล้าซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมของไทยให้เพียงพอต่อความต้องการและคำนึงถึงการช่วยเหลือการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของประเทศไทยในการปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ

          นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้แทนของภาคเอกชนของไทยในการเจรจาทางการค้ากับต่างประเทศ อาทิ บทบาทในการรักษาและขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ โดยการจัดคณะผู้แทนเดินทางไปเจรจาเพื่อขยายตลาดการค้าและจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าประเภทข้าวของไทยในต่างประเทศ รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของต่างประเทศในโอกาสต่างๆ เช่น การจัดคณะผู้แทนเดินทางไปเจรจาขยายตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยและผลิตภัณฑ์ข้าวไทยในงาน แสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติ SIAL Middle East ๒๐๑๑ ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ ในกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในคูหา Thailand Pavilion อีกทั้งการเข้าหารือกับผู้นำเข้าข้าวไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อรับทราบถึงปัญหาในการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย และหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการไทยใน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงสถานการณ์การบริโภคข้าวจากประเทศไทย เป็นต้น

 

         1.2  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 

          เนื่องจากการดำเนินการค้าในปัจจุบันได้ขยายขอบเขตความสัมพันธ์ทางการค้าจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศในลักษณะการเจรจารายประเทศ กลายเป็นความสัมพันธ์ทางการค้าในกรอบของการเจรจาทางการค้าพหุภาคี รวมถึงการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีที่มีมาแต่เดิมให้มีลักษณะทางการค้าเสรีเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น กรณีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เฉพาะอย่างในการเจรจาทางการค้า ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจและการค้าเป็นการเฉพาะ รวมถึงมีความสามารถในการดำเนินการเจรจาทางการค้าที่เอื้อต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ กับประเทศต่างๆ อันเป็นที่มาของการจัดตั้งกรมเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับการปรับปรุงจากกรมสารสนเทศที่มีอยู่แต่เดิม

          กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหน้าที่หลักในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในทุกระดับ นับแต่การเจรจาทวิภาคี การเจรจาระดับภูมิภาค จนกระทั่งการเจรจาในระดับพหุภาคี รวมถึงมีหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดการยุทธศาสตร์และท่าทีในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้าในกรณีต่างๆ โดยในปัจจุบันกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้าสินค้าและบริการ และการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือของอาเซียน รวมถึงในการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายตลาดการค้าและลงทุนและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย โดยการดำเนินนโยบายในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น

 

           1.3      ผู้แทนการค้า

         

          แม้ผู้แทนทางการค้าจะไม่ถือเป็นหน่วยงานของรัฐ หากแต่เป็นเพียงผู้แทนของนายกรัฐมนตรีซึ่งในปัจจุบันกำลังมีบทบาทสำคัญในการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาทางการค้ากับในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้ากับกลุ่มประเทศอื่น เช่น สหภาพยุโรป เป็นต้น

          ผู้แทนทางการค้าของประเทศไทยแต่เดิมมีลักษณะเป็นคณะผู้แทนของรัฐบาลเพื่อไปปฏิบัติภารกิจทางการค้าทางการลงทุนเป็นรายกรณี ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นการแต่งตั้งคณะผู้แทนทางการค้าไปเยือนประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้า โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยลาว ประเทศจีน และประเทศอินเดีย ต่อมาภายหลังในปี พ.ศ.2545[2]  คณะรัฐมนตรีมีมติให้แต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยซึ่งมีสถานะเทียบเท่ารัฐมนตรีในลักษณะของหน่วยงานบริหารประจำที่ไม่ใช้ลักษณะของคณะผู้แทนการค้าเป็นรายกรณีเฉพาะคราวอีกต่อไป

          ผู้แทนการค้าของไทย มีตำแหน่งคราวละ 2 ปี และมีจำนวนที่ไม่แน่นอนตามแต่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีการแต่งตั้ง โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีในการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศและการเจรจาทางการค้าขององค์การระหว่างประเทศ รวมถึงการเจรจาเรื่องอื่นที่มีความเกี่ยวเนื่องทางการค้า ทั้งการเจรจาในระดับรัฐมนตรีและในระดับอื่น รวมถึงส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศและดำเนินการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ยังมีมติจัดตั้งสำนักงานผู้แทนการค้าไทย ในสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รับผิดชอบงานด้านธุรการและวิชาการ และประสานงานข้อมูลเพื่อการวางแผนเจรจาและกำหนดท่าทีทางการค้าสนับสนุนการดำเนินงานของผู้แทนทางการค้าต่อไป

          อย่างไรก็ตาม ในปีพ.ศ.2550[3]  คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกตำแหน่งผู้แทนการค้าไทยและสำนักงานผู้แทนทางการค้าไทย ด้วยเหตุผลที่การดำเนินงานของผู้แทนการค้าไทยในลักษณะดังกล่าวมีหน่วยงานอื่นเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอยู่ก่อนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนของอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินงาน รวมถึงเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติยกเลิกตำแหน่งหน้าที่ของผู้แทนทางการค้าไทย

          แต่ภายหลังในปี พ.ศ. 2552[4]  คณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดตั้งผู้แทนการค้าไทยขึ้นใหม่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินการตามนโยบายทางการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยในจำนวนไม่เกิน 5 คนซึ่งแตกต่างจากแต่เดิมที่ไม่มีการกำหนดจำนวนที่แน่ชัด ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของผู้แทนการค้าไทยที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นในภายหลังมีขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่คล้ายคลึงกันกับตำแหน่งของผู้แทนการค้าไทยแต่เดิม มีเพียงข้อกำหนดในลักษณะที่เน้นย้ำสถานะของผู้แทนการค้าไทยในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางด้านการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากกว่ามีสถานะเป็นผู้แทนทางการค้าพิเศษของนายกรัฐมนตรีอย่างเช่นที่ผ่านมา

          บทบาทสำคัญของผู้แทนการค้าของไทย ได้แก่ การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (FTA) โดยผู้แทนการค้าฝ่ายไทย คือ ดร.โอฬาร ชัยประวัติ เพื่อเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการและการลงทุน ให้เป็นไปอย่างสอดคล้องในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบ การเจรจาเพื่อลดการดำเนินมาตรการที่มีลักษณะของการจำกัดการค้า และพัฒนาระบบข้อมูลการค้าให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้แทนของกรมการค้าระหว่างประเทศ และผู้แทนภาคเอกชน เพื่อการเจรจาที่ตอบสนองต่อประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น คณะผู้แทนการค้าไทยเยือนสหภาพเมียนมาร์ โดยมีเป้าหมายการดำเนินการค้าในเชิงรุกเพื่อการขยายการค้าการลงทุนไปยังกรุงย่างกุ้ง และเมืองมะริด ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่ยังขาดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในการแปรรูปอาหารและพลังงาน โดยมีแผนจัดงาน Thailand - Myanmar Business Forum and Business Matching เพื่อแสดงศักยภาพและแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน รวมทั้งการเยี่ยมชมกิจการโดยนักธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์การลงทุนในเมืองมะริด เพื่อแนะนำและถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ผู้ประกอบการไทย

 

 

 2. หน่วยงานด้านการเกษตร : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

          2.1      สำนักการเกษตรต่างประเทศ[5]

          สำนักการเกษตรต่างประเทศ อยู่ภายใต้สังกัดของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศในด้านความช่วยเหลือและความร่วมมือทางการเกษตรและการค้าสินค้าเกษตร โดยเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการเกษตรของประเทศต่างๆ และประชาสัมพันธ์ผลงานด้านการเกษตรต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเวทีนานาชาติ รวมถึงมีหน้าที่ในการให้การสนับสนุนและประสานงานกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศจำนวน 7 แห่ง ดังที่จะได้กล่าวถึงในหัวข้อ 1.3 ถัดไป

 

          2.2      สำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ[6]

          สำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศมีบทบาทหลักในการดำเนินการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการจัดทำเขตการค้าเสรีและการเจรจาสินค้าเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก โดยมีหน้าที่ศึกษา ติดตามและวิเคราะห์ เศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศเพื่อเสนอแนะนโยบาย แนวทางการดำเนินงานของรัฐ อีกทั้งยังมีบทบาทในการเข้าร่วมการเจรจาทางการค้าและความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีภูมิภาคและพหุภาคี

 

3.         หน่วยงานด้านสินค้านำเข้า – ส่งออก

         

          3.1    สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและ  สหกรณ์[7]

         

          สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่หลักในการดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด ทั้งหลักเกณฑ์ภายในและหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศ รวมถึงมีบทบาทในความร่วมมือและการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในการนำเข้าและส่งออกของไทยในระดับระหว่างประเทศ ดังนั้นในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศคือบทบาทในการร่วมเจรจาเพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้าอาหารและเกษตรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรฐานสินค้าอาหารและเกษตรของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และบทบาทในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศต่างๆ เช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น รวมถึงบทบาทในฐานะหน่วยงานกลางในการประสานงานระหว่างองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยและคุณภาพของอาหารกับหน่วยงานภายในของประเทศไทย

 

          3.2    สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)[8]

 

          สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่หลักในการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทคล้ายคลึงกันกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกอช.) โดยมีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดและให้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทย เช่น มาตรฐานระบบคุณภาพงาน (ISO 9001) มาตรฐานระบบจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) อีกทั้งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจให้การรับรองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามมาตรฐานของประเทศอื่น เช่น มาตรฐานการรับรองของประเทศญี่ปุ่น (JIS MARK) หรือ การตรวจผลกับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (SABS) นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการเข้าร่วมเจรจาเพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ อาทิ การเข้าร่วมประชุมขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) หรือการเข้าร่วมประชุมของอาเซียนด้านมาตรฐานของสินค้า (ACCSQ) เป็นต้น

 

[1] กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. http://www.dft.go.th.

[2] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2545. เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 22 ง. ราชกิจจานุเบกษา.11 มี.ค.2545

[3] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐในตรี ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2545 พ.ศ.2550 . เล่ม 124 ตอนพิเศษ 109 ง. 5 กันยายน 2550.

[4] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2552. เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 14 ง. ราชกิจจานุเบกษา.28 มกราคม 2552.

[5]สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.สำนักการเกษตรต่างประเทศ.http://www.opsmoac.go.th/ewt_news.php?nid=1452

[6] สำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ. http://www2.oae.go.th/biae/index.html

[7] สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “อำนาจ(ตามกฎกระทรวง).”http://www.acfs.go.th/responsibilities.php

[8] สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม.http://www.tisi.go.th/

 

บันทึกโดยนางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.57 เวลา 21.41 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท