อนุทิน 134479


Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

เริ่มต้นการเดินทางในปัญหาการค้ามนุษย์..นิยามของการค้ามนุษย์..

          เนื่องจากผู้เขียนกำลัง(ปั่น)ทำวิทยานิพนธ์ในประเด็นปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการบังคับใช้กฎหมายภายในเกี่ยวกับการควบคุมการทำประมงของประเทศไทยทั้งในและนอกน่านน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงประเด็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการใช้แรงงานบนเรือประมงโดยผิดกฎหมายที่ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจำกัดทางการค้าในหลายกรณี ประกอบกับคำแนะนำของท่านอาจารย์รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ผู้สอนวิชาในวิชาปัญหาการทูตและการกงสุลในการเริ่มต้นศึกษาในประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ในความสัมพันธ์กับการดำเนินงานระหว่างประเทศ จึงกลายเป็นบันทึกเริ่มต้นการเดินทางของผู้เขียนในครั้งนี้      บันทึกเริ่มแรกว่าด้วยข้อความคิดทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอข้อความคิดพื้นฐานว่าด้วยนิยามของการค้ามนุษย์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญต่อการกำหนดขอบเขตของประเด็นปัญหาและหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ โดยนำเสนอนิยามของ การค้ามนุษย์ อันถือเป็นการกระทำอันเป็นอาญกรรมประเภทหนึ่งตามพิธีสารเพื่อป้องกันและปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children) รวมถึงกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิยามของการค้ามนุษย์ตามกฎหมายไทย คือ พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551   

    

ความสำคัญของปัญหาการค้ามนุษย์

 

            ปัญหาการค้ามนุษย์ (trafficking in persons) เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของประเทศไทยที่กำลังถูกจับตามองโดยสังคมระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอย่างมากทั้งในฐานะรัฐต้นทาง(origin) รัฐกลาง(transit) และรัฐปลายทาง(destination)ในกระบวนการการค้ามนุษย์ตามรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ((United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)) และรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์โดยสหรัฐอเมริกาซึ่งประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นกลุ่มประเทศที่ 2 ในฐานะประเทศที่ต้องจับตามอง ประกอบกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยตามอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (UN Convention on Transnational Organized Crime)  พิธีสารเพื่อป้องกันและปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children) รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ส่งผลให้ประเทศไทยมีความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 นิยามของการค้ามนุษย์

 

            พิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children, supplementing the United Nations Convention against Transnational Organized Crime) ได้บัญญัติความหมายของการค้ามนุษย์ (Trafficking in persons) ไว้ในมาตรา 3 (Article 3) ว่า..

 

            (a) “Trafficking in persons.” shall mean the recruitment, transportation, transfer, harbouring or receipt of persons, by means of the threat or use of force or other forms of coercion, of abduction, of fraud, of  deception, of the abuse of power or of a position of vulnerability or of the  giving or receiving of payments or benefits to achieve the consent of a  person having control over another person, for the purpose of exploitation.  Exploitation shall include, at a minimum, the exploitation of the prostitution of others or other forms of sexual exploitation, forced labour or

services, slavery or practices similar to slavery, servitude or the removal of

organs;

             (b) The consent of a victim of trafficking in persons to the  intended exploitation set forth in subparagraph (a) of this article shall be  irrelevant where any of the means set forth in subparagraph (a) have been  used;

            (c) The recruitment, transportation, transfer, harbouring or receipt  of a child for the purpose of exploitation shall be considered “trafficking in  persons” even if this does not involve any of the means set forth in  subparagraph (a) of this article;...”

 

            โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ((United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)) ในฐานะองค์กรผู้ดูแลการปฏิบัติตาม (the guardian)อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรและพิธีสารที่เกี่ยวข้อง ได้จำแนกองค์ประกอบของการค้ามนุษย์ตามนิยามในมาตรา 3 ของพิธีสาร ฯ ดังกล่าวออกเป็น 3 ประการได้แก่

            1.ลักษณะของการกระทำ (act) ได้แก่ การจัดหา การส่งหรือแลกเปลี่ยน การกักขังหน่วงเหนี่ยวและการรับบุคคลใด

            2.วิธีการกระทำ (method) ได้แก่ การข่มขู่ หรือการใช้กำลัง การคุกคาม การลักพาตัว การฉ้อฉล การหลอกลวง การใช้อำนาจโดยมิชอบ การอาศัยเงื่อนไขของความอ่อนแอในทางจิตใจ (vulnerability)* รวมถึงการให้เงินหรือประโยชนแก่ผู้ปกครองบุคคลดังกล่าว

            3.เป้าหมายของการกระทำ (purpose) เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อาทิ การแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่น การใช้แรงงาน การใช้แรงงานทาสและการกระทำอื่นใดในลักษณะอย่าง

เดียวกัน รวมถึงการแสวงประโยชน์จากการขายอวัยวะของบุคคลอื่น

            โดยในคำอธิบายของสำนักงานฯ ได้เน้นถึงลักษณะของการให้ความยินยอม (consent) ของบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นข้อแตกต่างประการสำคัญระหว่างการกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์ กับ การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยหลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลไม่ได้ให้ความยินยอม(consent)หรือการให้ความยินยอมของบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อภายใต้สถานการณ์อันจำกัด อาทิ การข่มขู่ การคุกคามหรือการใช้กำลังอย่างใดๆเพื่อให้บุคคลดังกล่าวให้ความยินยอม ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวให้ความยินยอมแต่อย่างใด เนื่องจากการให้ความยินยอมในลักษณะดังกล่าวนั้น ไม่ได้เป็นการให้ความยินยอมอย่างแท้จริง เพราะเหตุที่เสรีภาพในการกำหนดเจตจำนงเพื่อกระทำการอย่างใดๆของบุคคลดังกล่าวได้เสียไปเนื่องจากสถานการณ์อันจำกัด (self-determined decision) อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยความยินยอมของบุคคลไม่บังคับใช้ในกรณีที่เหยื่อของการค้ามนุษย์เป็นเด็ก (child) อายุต่ำกว่า 18 ปีตามหลักเกณฑ์ใน มาตรา 3 (c) ประกอบกับ (d)

            “... (c) The recruitment, transportation, transfer, harbouring or receipt  of a child for the purpose of exploitation shall be considered “trafficking in  persons” even if this does not involve any of the means set forth in  subparagraph (a) of this article;

            (d) “Child” shall mean any person under eighteen years of age...”

            โดยสรุป การค้ามนุษย์ จึงหมายถึง การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการจัดหา การส่งหรือแลกเปลี่ยน การกักขังหน่วงเหนี่ยวและการรับบุคคลใด โดยปราศจากการความยินยอมของบุคคลดังกล่าว หรือโดยการใช้กำลัง การคุกคาม การลักพาตัว การฉ้อฉล การหลอกลวง การใช้อำนาจโดยมิชอบ การอาศัยเงื่อนไขของความอ่อนแอในทางจิตใจและการให้เงินหรือประโยชนแก่ผู้ปกครองบุคคลดังกล่าว

 

ข้อแตกต่างระหว่างการค้ามนุษย์ (Trafficking in persons) กับ การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิด กฎหมาย (migrant smuggling)

            ตามรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพย์ติดและอาชญากรรมแห่งชาติ ได้จำแนกข้อแตกต่างระหว่าง การค้ามนุษย์ กับ การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (migrant smuggling) ใน 4 ประการ ดังนี้[1]

            1.ความยินยอม (consent) – ในกรณีของการค้ามนุษย์ โดยส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏว่ามีความยินยอมของบุคคล หรือหากมีความยินยอมก็จะเป็นไปภายใต้การข่มขู่ การคุกคามหรือการใช้กำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจะเป็นไปด้วยความสมัครใจ

            2.การแสวงประโยชน์ (exploitation) – ในกรณีของการค้ามนุษย์มีเป้าหมายในการแสวงประโยชน์จากเหยื่อผู้ถูกกระทำ ในขณะที่เป้าหมายของการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเป็นไปเพื่อการเข้าเมืองของผู้หลบหนีคนดังกล่าว

            3.ลักษณะของการข้ามชาติ (transnationality) – ในกรณีของการค้ามนุษย์ แม้โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะของการกระทำข้ามชาติ โดยเหยื่อของการค้ามนุษย์จะถูกส่งไปยังประเทศปลายทาง แต่กรณีอาจมีการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศได้เช่นกัน แต่ในกรณีของการหลบหนีเพื่อเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจะมีลักษณะของการข้ามแดน (transnational) เสมอ

            4.แหล่งที่มาของประโยชน์ (source of profits) – ประโยชน์จากการค้ามนุษย์จะมีที่มาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ แต่หากเป็นกรณีของประโยชน์จากการหลบหนีเพื่อเข้าเมืองจะได้จากกำไรหรือเงินจากการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

            อย่างไรก็ตาม การจำแนกความแตกต่างระหว่างการค้ามนุษย์ กับ การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในบางครั้งอาจกระทำได้ยากและมีความซับซ้อน โดยในบางกรณีอาจมีลักษณะที่ซ้อนทับกัน เช่น กรณีที่บุคคลสมัครใจที่จะหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หากแต่ภายหลังถูกบังคับขู่เข็ญให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์จากการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายดังกล่าว อาทิ การถูกบังคับให้ใช้แรงงานโดยได้รับค่าจ้างในอัตราที่ต่ำ (being forced to work for extraordinary low wages to pay for the transportation)

         ในทางปฏิบัติ เนื่องจากไม่ปรากฏแนวทางที่ชัดเจนในการตีความขอบเขตของนิยามการค้ามนุษย์ตามหลักเกณฑ์ในทางระหว่างประเทศหรือตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปแต่อย่างใด ส่งผลให้ในทางปฏิบัติยังคงปรากฏข้อถกเถียงในขอบเขตของนิยามของการค้ามนุษย์และเกิดความแตกต่างในการปรับใช้อย่างชัดเจนจากความแตกต่างของนิยามการค้ามนุษย์ตามกฎหมายภายในว่าด้วยการกระทำความผิดฐานการค้ามนุษย์ ซึ่งประเด็นปัญหาความชัดเจนและความแน่นอนในขอบเขตของนิยามการค้ามนุษย์มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากขอบเขตของนิยามการค้ามนุษย์นั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงอำนาจและหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กล่าวคือ ขอบเขตของการค้ามนุษย์จะมีความกว้างหรือแคบเพียงใดนั้นเป็นพื้นฐานของหลักเกณฑ์ว่าด้วยอำนาจรัฐในการดำเนินการเพื่อติดตามตรวจสอบผู้กระทำความผิด รวมถึงอำนาจในการให้ความช่วยเหลือบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ (victims) ดังนั้นการขาดแนวทางการปรับใช้และการตีความขอบเขตของนิยามการค้ามนุษย์ที่มีความชัดเจนแน่นอนจะส่งผลให้เกิดการตีความและการปรับใช้ที่มีความเคร่งครัดที่แตกต่างกันเช่นในปัจจุบัน และอาจนำไปสู่ปัญหาการอาศัยช่องว่างจากมาตรฐานการปฏิบัติของรัฐที่แตกต่างกันตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายภายในเพื่อกระทำการอันถือเป็นการค้ามนุษย์ได้เช่นกัน

นิยามของการค้ามนุษย์ตามกฎหมายไทย

 

            ในกรณีของประเทศไทย มาตรา ๖ ประกอบมาตรา ๔ ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑  ได้บัญญัตินิยามของการค้ามนุษย์โดยมีสาระสำคัญอย่างเดียวกันกับนิยามของการค้ามนุษย์ตาม Article 3 ของพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ดังนี้

            “ มาตรา ๖ ..

            ผู้ใดเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

            (๑) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้นเพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล หรือ

            (๒) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขังจัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็กผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์..”

            โดยความหมายของ “การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ...”  มาตรา ๔ บัญญัติว่า

            “...“แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีการผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้าหรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม..”

            เมื่อพิจารณาความหมายของนิยามการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๖ ประกอบมาตรา ๔ จะเห็นได้ว่ามีสาระสำคัญที่ไม่แตกต่างจากนิยามของการค้ามนุษย์ตาม Article 3 ของพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก หากแต่ต้องพิจารณาในทางปฏิบัติรวมถึงการปรับใช้และตีความเพื่อกำหนดขอบเขตการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐในทางปฏิบัติว่ามีแนวทางการดำเนินงานอย่างไร

 

อ้างอิง

1. Human Trafficking FAQs. http://www.unodc.org/unodc/en/human-trafficking/faqs.html#How_is_human_trafficking_different_to_migrant_smuggling">http://www.unodc.org/unodc/en/human-trafficking/faqs.html#How_is_human_trafficking_different_to_migrant_smuggling

2. กระทรวงต่างประเทศ.การค้ามนุษย์. http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9894%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C.html">http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9894%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C.html

3. UNODC on human trafficking and migrant smuggling. http://www.unodc.org/unodc/en/treaties/CTOC/index.html

4. United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)Trafficking in Persons:Global Patterns.https://www.unodc.org/documents/human-trafficking/HT-globalpatterns-en.pdf.April 2006   

บันทึกโดยนางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.57 เวลา 0.15 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท