อนุทิน 133563


Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

บันทึกทบทวนข้อเท็จจริงและมุมมองต่อพื้นที่การเจรจาในระหว่างการลงพื้นที่ ณ อำเภออุ้มผาง – อำเภอแม่สอด ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2556      

 

          เนื่องจากผู้ทำบันทึกได้มีโอกาสติดตามท่านอาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ไปลงพื้นที่ในโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2556 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดและติดตามโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/archanwell/media_set?set=a.477946211424.255385.739031424&type=1

ประกอบกับผู้ทำบันทึกกำลังศึกษาในวิชาปัญหากฎหมายการทูตและการกงสุลซึ่งมีท่านอาจารย์พันธุ์ทิพย์เป็นเจ้าของวิชา ผู้ทำบันทึกจึงใคร่ขอนำเสนอความเห็นและมุมมองที่มีต่อพื้นที่การเจรจา ทั้งที่เคยเกิดขึ้นและที่กำลังจะเกิดขึ้นตามความเห็นความเข้าใจของผู้ทำบันทึกที่ได้ประสบในข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่ ดังจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

  1. พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก

 

          พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยมเกิดขึ้นจากการรวมกันของพื้นที่พักพิงบ้านห้วยกะโหลกกับพื้นที่พักพิงบ้านมอเกอร์ยางเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกลอบโจมตีและเผาที่พักอาศัยบริเวณดังกล่าว โดยในปัจจุบันพื้นที่พักพิงชั่วครางบ้านอุ้มเปี้ยมเป็นสถานที่รองรับผู้หนีภัยความตายจากเหตุสงครามและครอบครัวของผู้หนีภัยความตายซึ่งติดตามเข้ามาในภายหลัง[1]

          ในการลงพื้นที่ไปยังหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม คณาจารย์และเหล่าคณะนักศึกษาได้มีโอกาสได้ทำการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคุณปลัดสันติ ปลัดประจำพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยมถึงความเป็นอยู่ของบุคคลในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ซึ่งจากการสอบถามจากคุณปลัดก็พบว่า หน่วยงานทางปกครองของประเทศไทยที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อการดูแลพื้นที่พักพิงชั่วคราว คือ กระทรวงมหาดไทย ได้ให้การดูแลบุคคลในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทั้งในเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่บุคคลย่อมมีสิทธิในการได้รับการรับรองสถานะความเป็นบุคคล โดยการจัดทำทะเบียนประวัติของเหล่าบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งยังได้ออกบัตรประจำตัวผู้อาศัยในค่ายพักพิง รวมถึงการจัดให้บุคคลภายในพื้นที่พักพิงนั้นได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ สิทธิในการสาธารณสุข โดยจัดให้มีสถานที่ซึ่งคล้ายกันกับสถานีอนามัยภายในค่ายเพื่อการให้บริการทางสาธารณสุข สิทธิในการศึกษา โดยจัดให้มีการศึกษานอกโรงเรียน รวมถึงการสอนภาษาไทยแก่เหล่าคนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

          ข้อน่าสังเกตว่า การจัดการภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราวเป็นไปโดยอาศัยการเจรจาและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลายฝ่าย นับแต่ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ของรัฐไทยในการดูแลจัดการพื้นที่พักพิง องค์การระหว่างประเทศ เช่น UNHCR หรือ IRC รวมถึงหน่วยงานอิสระที่ไม่แสวงหากำไร อาทิ Save the children ที่เข้าไปดูแลเรื่องของสวัสดิภาพของเด็กในพื้นที่ค่ายพักพิงชั่วคราว หรือ IRC ที่เข้าไปช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแห่งนี้เป็นไปบนพื้นฐานของการเจรจาเพื่อก่อความร่วมมือในการดำเนินการ เพราะหากหน่วยงานของรัฐไทยซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่ในดินแดนของประเทศไทยไม่ยินยอมให้มีการเจรจาหรือไม่ยินยอมให้หน่วยงานอื่นนอกเหนือไปจากหน่วยงานของรัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวในการให้ความช่วยเหลือ หรือเข้ามาร่วมการจัดการพื้นที่พักพิงชั่วคราว การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆเพื่อให้ความช่วยเหลือบุคคลในพื้นที่พักพิงย่อมไม่สามารถกระทำหรือแม้จะกระทำได้ก็ไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านั้น หากการให้ความช่วยเหลือเป็นไปบนความขัดแย้ง ก็จะยิ่งทำให้การบริหารจัดการพื้นที่พักพิงนั้นประสบปัญหามากยิ่งขึ้น

          ผู้ทำบันทึกมีความเห็นว่า ประเทศไทยอาจอาศัยกรณีที่ประเทศเมียนมาร์มีสถานะเป็นประธานอาเซียนในปัจจุบันเพื่อเปิดพื้นที่การเจรจาทางการทูตระหว่างรัฐไทยและรัฐเมียนมาร์ในการบริหารจัดการพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ รวมถึงการผลักดันประเด็นการจัดการในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณแนวชายแดนให้ได้รับความสนใจและได้รับการตอบสนองจากประเทศเมียนมาร์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การแก้ไขจัดการพื้นที่พักพิงชั่วคราวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การกลับคืนสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยและสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายของบุคคลในพื้นที่พักพิงชั่วคราวต่อไป

 

  1. เวทีประชุมสัมมนา ณ ที่ว่าการอำเภออุ้มผาง จ.ตาก

 

          การประชุมสัมมนา ณ ที่ว่าการอำเภออุ้มผางเป็นไปเพื่อนำเสนอโครงการศึกษาวิจัยชายแดนไทย-พม่าศึกษาของคณาจารย์แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เป็นเจ้าของโครงการทั้งสามท่าน ได้แก่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา และ อ. ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน รวมถึงการเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นที่มีต่อโครงการวิจัยดังกล่าว

          ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ผู้บันทึกเห็นในการสัมมนาครั้งนี้ คือ ประเด็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปัญหาของสถานะบุคคล อาทิ ปัญหาการรับรองสถานะบุคคลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งนำไปสู่การจัดบริการทางสาธารณสุขพื้นฐานที่อาศัยข้อมูลดังกล่าวนั้นมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง หรือประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงกรณีของน้องแจ็คที่เป็นผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ส่งผลต่อสิทธิในการได้รับการศึกษา รวมถึงประเด็นปัญหาของแรงงานข้ามชาติซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานต่างชาติหรือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกรณีเป็นประเด็นปัญหาทั้งในเรื่องของสิทธิเข้าเมือง สิทธิอยู่อาศัยไปจนกระทั่งถึงสิทธิการทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายซึ่งล้วนมีพื้นฐานจากการรับรองสถานะบุคคลโดยถูกต้องตามกฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคลทั้งสิ้น

          สืบเนื่องจากประเด็นปัญหาในข้างต้น ผู้บันทึกได้เห็นถึงพื้นที่ในการเจรจาที่ได้ดำเนินการมาแต่เดิมในเรื่องของการเจรจาเพื่อแก้ไขจัดการปัญหาการรับรองสถานะทางบุคคล ทั้งการเจรจากับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เกิดการรับรองสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการเจรจากับประเทศเจ้าของตัวบุคคลเพื่อทำการพิสูจน์สัญชาติและรับการรับรองสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคล นอกจากนี้ผู้บันทึกยังเห็นถึงพื้นที่การเจรจาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ในประเด็นของการเจรจาในทางกงสุล คือ การเจรจาเพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคคลข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย ทั้งจากการพัฒนาสถานะบุคคลจากผู้ที่เคยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวหรือเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทย เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นที่บุคคลพึงจะได้รับ ได้แก่ สิทธิในบริการทางสาธารณสุข หรือสิทธิในการศึกษา ซึ่งประเด็นที่ผู้บันทึกมีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ คือ ประเด็นของสิทธิในการศึกษา โดยในปัจจุบันได้มีมติค.ร.ม.ขยายสิทธิทางการศึกษาให้ครอบคลุมถึงผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้ได้รับการศึกษาที่ทัดเทียมกับคนไทย[2] แต่ยังคงมีประเด็นปัญหาในเรื่องของการรับรองวุฒิทางการศึกษาให้กับคนข้ามชาติที่ได้รับการศึกษานอกโรงเรียนหรือกศน. รวมถึงบุคคลที่ได้รับการศึกษาภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้ได้รับการรับรองวุฒิการศึกษาเพื่อพัฒนาสิทธิการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นหรือเพื่อรับรองวุฒิการศึกษาเพื่อใช้ในการทำงานต่อไป

 

  1. เวทีประชุมสัมมนา ณ โรงแรมควีนพาเลส อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

 

          เช่นเดียวกันกับในเวทีการประชุมสัมมนา ณ ที่ว่าการอำเภออุ้มผาง ในเวทีการประชุมสัมมนานี้ ผู้ทำบันทึกได้เห็นพื้นที่การเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาที่มีต่อโครงวิจัยชายแดนไทยพม่าศึกษา ซึ่งเน้นไปที่สิทธิในสุขภาพของเด็กข้ามชาติ รวมถึงบุคคลผู้ซึ่งไม่ได้รับการรับรองสถานะทางทะเบียน โดยผู้ทำบันทึกได้เห็นเวทีการเจรจาในทางกงสุลที่เคยเกิดขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่คนต่างด้าวที่อาศัยในประเทศไทยจากประเด็นปัญหาของสิทธิในสุขภาพของบุคคลผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนที่พึงได้รับการบริการทางสาธารณสุขอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลโดยไม่จำกัดสัญชาติ ซึ่งภายหลังต่อมาได้กลายเป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มีนาคม 2553 เรื่อง การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ[3] ทำให้บุคคลผู้ประสบปัญหาทางสถานะสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทางสาธารณสุขได้อย่างครอบคลุมเช่นเดียวกันกับบุคคลตามปกติ รวมถึงพื้นที่การเจรจาในประเด็นของหลักประกันสุขภาพของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นที่มาของมติค.ร.ม.ในวันที่ 15 ม.ค.2556[4] อนุมัติให้คนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถซื้อสิทธิในบัตรประกันสุขภาพ เพื่อให้ได้รับการบริการทางสาธารณสุขอย่างเต็มที่ต่อไป

          ในขณะเดียวกัน ผู้ทำบันทึกได้เห็นถึงการอาศัยเวทีของการประชุมสัมมนาแห่งนี้ในการเจรจาเพื่อการขอความคุ้มครองแก่เด็กข้ามชาติด้อยสิทธิอันเนื่องมาจากปัญหาสถานะทางทะเบียนของคุณแม่ทัศนีย์ คีรีประณีต เจ้าของสถานพักพิงบ้านทัศนีย์ซึ่งเป็นสถานที่ที่รับอุปการะเด็กชาติพันธุ์ผู้ด้อยโอกาส โดยคุณแม่ทัศนีย์ได้อาศัยเวทีการประชุมสัมมนาเพื่อนำเสนอปัญหาความด้อยสิทธิของเด็กชาติพันธุ์ในหลักประกันสุขภาพ ทั้งจากเงินทุนสนับสนุนและการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักประกันสุขภาพตามมติค.ร.ม.วันที่ 15 ม.ค.2556 ในขณะเดียวกันผู้ทำบันทึกได้เห็นการอาศัยเวทีการประชุมสัมมนาในการให้ข้อมูลเพื่อการใช้สิทธิในหลักประกันสุขภาพตามมติค.ร.ม.ฉบับดังกล่าวของคุณรุ่งเพชร รุ่งมิตร นักสังคมสงเคราะห์แห่งโรงพยาบาลแม่สอด เพื่อให้บุคคลผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพตามมติค.ร.ม.สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้ตามเป้าหมายของการคุ้มครองสิทธิทางสุขภาพของมติค.ร.ม.ฉบับดังกล่าว

          อีกหนึ่งประเด็นที่มีความน่าสนใจในความเห็นของผู้บันทึกคือ สิทธิในภาษาของแรงงานข้ามชาติ ทั้งในแง่ของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในการเรียนรู้ภาษาไทยและในแง่ของแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศเพื่อนบ้านในการเรียนรู้ภาษาของประเทศที่ตนไปทำงาน ซึ่งผู้ทำบันทึกมีความเห็นว่าควรได้รับการพัฒนาเพื่อเปิดพื้นที่การเจรจา ทั้งในระดับการเจรจาทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการเจรจาในทางกงสุลเพื่อผลักดันให้หน่วยงานของประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญของสิทธิในภาษาของแรงงานข้ามชาติดังกล่าว

 

  1. บทสรุป

 

          ในการลงพื้นที่ภายใต้โครงการชายแดนไทยพม่าศึกษาในครั้งนี้ ผู้ทำบันทึกเห็นการเจรจาทั้งในระดับทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการดำเนินนโยบายเพื่อจัดการประชากรบริเวณชายแดนและประชากรชาติพันธุ์บางส่วนซึ่งยังคงประสบปัญหาการรับรองสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผลทำให้บุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาความด้อยสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับบริการสาธารณสุขพื้นฐาน รวมถึงสิทธิทางการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ทำบันทึกยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้ความคุ้มครองแก่คนต่างด้าวซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นบุคคลสัญชาติไทยพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเหตุที่คนต่างด้าวเหล่านี้ต่างมีสถานะเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกันกับคนสัญชาติไทย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการรับรองสถานะและได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิทางสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน

          อย่างไรก็ตาม ผู้ทำบันทึกได้เห็นถึงความสำคัญของการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประเด็นปัญหาอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา ซึ่งมีความสำคัญต่อการแก้ไขจัดการปัญหา รวมถึงความสำคัญต่อการเปิดพื้นที่การเจรจาทางการทูตหรือการกงสุลที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะหากปราศจากการเจรจาในข้อเท็จจริงและประเด็นปัญหาที่ชัดเจนจะส่งผลทำให้การเจรจาทางการทูตหรือการกงสุลนั้นไม่อาจกระทำได้ตามเป้าหมายในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการเจรจาเพื่อกำหนดประเด็นปัญหาและข้อเท็จจริงก่อนการนำไปสู่การเจรจาทางการทูตหรือการกงสุลจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการเปิดพื้นที่การเจรจาทางการทูตและการกงสุลของรัฐเพื่อเป้าหมายในการให้ความคุ้มครองแก่คนชาติในต่างแดนหรือคนต่างชาติในดินแดนเช่นกัน

 

บันทึกโดย นางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2557 เวลา 12.12 น.

 

[1] รายงานโครงการทัศนศึกษาเพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และสภาพปัญหาผู้ด้อยโอกาสซึ่งเป็นคนชาติพันธุ์ข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนตะวันตกของประเทศไทย ณ อำเภออุ้มผางและอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตลอดจนบ้านก้อเชอ ประเทศเมียนมาร์ จัดทำโดยนักศึกษามหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.https://www.facebook.com/media/set/?set=a.742164129142119.1073741874.100000456171906&type=1

[2] มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ... (การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย).วันที่  5 ก.ค.2548.http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=204015&key_word=&owner_dep=&meet_date_dd=05&meet_date_mm=07&meet_date_yyyy=2548&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=#

[3] มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ. วันที่ 23 มี.ค.2553 . http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=223265&key_word=&owner_dep=&meet_date_dd=23&meet_date_mm=03&meet_date_yyyy=2553&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=

[4] มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การให้การดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม. วันที่ 15 ม.ค.2556. http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99306607&key_word=&owner_dep=&meet_date_dd=15&meet_date_mm=01&meet_date_yyyy=2556&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท